หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2548

การบินไทยเปิดเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก

การบินไทยเปิดเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์กใช้เวลาบินเพียง 16.50 ชม.  


การบินไทยเปิดจุดบินใหม่ กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก สัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน ยกเว้นวันจันทร์ด้วยเครื่องใหม่ทั้งหมดแบบแอร์บัส 340-500 โดยจะใช้เวลาการบิน 16.50 ชม. ใช้เวลาบินไปนิวยอร์กเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 การบินไทยเปิดจุดบินใหม่ โดยจะทำการบินในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก สัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน ยกเว้นวันจันทร์ ด้วยเครื่องใหม่ทั้งหมดแบบแอร์บัส 340-500 โดยจะใช้เวลาการบิน 16.50 ชม. โดยนับเป็นสายการบินที่ใช้เวลาบินไปนิวยอร์กเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภายในเครื่องบินจะตกแต่งด้วยเอกลักษณ์ใหม่และอุปกรณ์สาระบันเทิง ซึ่งผู้โดยสารสามารถเลือกชมได้ด้วยตัวเอง ผ่านจอวิดีโอส่วนตัวทุกที่นั่ง


นายกนก กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายจะมีนักท่องเที่ยวและนักเดินทางจากสหรัฐเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น จากปีละ 450,000 คน เป็นประมาณ 650,000 คนต่อปี และในช่วงปีแรกจะมีผู้โดยสารประมาณร้อยละ 70 ต่อไฟล์ และจนถึงปีที่ 2 จะมีผู้โดยสารประมาณร้อยละ 75-80 ต่อไฟล์ สำหรับการแบ่งชั้นที่นั่งเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก จะแบ่งเป็น 3 ชั้น รวม 215 ที่นั่ง คือ ชั้นรอยัลซิล หรือชั้นธุรกิจ 60 ที่ ราคา 111,000 บาทต่อที่นั่ง ชั้นพรีเมียม อีโคโนมี 42 ที่นั่ง ราคา 45,000 บาทต่อที่นั่ง และชั้นประหยัด 113 ที่นั่ง ราคา 34,000 บาท

“การบินไทยมั่นใจว่าเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก จะได้รับความสนใจจากนักเดินทาง เนื่องจากตั้งเป้าหมายว่า จะดึงนักเดินทางจากรอบกรุงเทพฯ เส้นฮานอย โฮจิมินห์ และจุดอื่นๆ ในภูมิภาคมาใช้บริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นเที่ยวบินที่ใช้เวลาสั้นที่สุดในภูมิภาคนี้ และยังมีที่นั่งชั้นประหยัดประมาณครึ่งต่อครึ่งกับรอยัลซิล และอีโคโนมี ซึ่งจะทำให้กำไรต่อที่นั่งการบินไทยอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าเที่ยวบินปกติ” นายกนก กล่าว

@Manager Online
21 เมษายน 2548
--------------------------------------------------

การบินไทยเปิดตัวมโหฬารสายตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก


นิวยอร์ก 17 พ.ค. – การบินไทย จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการเพื่อโปรโมตเที่ยวบินสายตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ที่ House of Jazz, Lincoln Center ในแมนฮัตตัน นิวยอร์ก เมื่อ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา

ผู้บริหารระดับสูงบริษัทการบินไทย (มหาชน) จำกัด อาทิเช่น ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นายวสิงห์ กิตติกุล และสุนัที อิศวพรชัย ได้บินจากเมืองไทยมาร่วมงาน โดยได้เรียนเชิญ กษิต ภิรมณ์ เอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตันดี.ซี และแขกผู้มีเกียรติจากทั่วสหรัฐอเมริกา

แขกรับเชิญ สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจไปร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 500 คน

ในงานเปิดตัว มีการจัดแสดงนาฏศิลป์ไทยชุด “พิมานแก้วรัถยาน” และมีการจับรางวัลมอบตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พัก 4 รางวัล ให้แก่แขกที่มาร่วมงาน

เที่ยวบินที่เปิดใหม่ของการบินไทยนี้ จะบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก โดยใช้เวลาบิน 16.50 ชั่วโมง มีเที่ยวบิน 6 วันต่อสัปดาห์ยกเว้นวันจันทร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวไทย อเมริกัน และชาวเอเชีย และจะกลายเป็นศูนย์กลางการบินจากสหรัฐอเมริกาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2548

ภูฎาน

ภูฏาน “มังกรแห่งสันติ” ณ มหาคีรีหิมาลัย
จุดประกาย

เท่าที่ผ่านมาภูฏานเป็นรัฐอิสระ มีกษัตริย์ปกครองเหมือนไทย และมีสัมพันธภาพทางการทูตที่ดีต่อกัน แต่เนื่องจากมีพลเมืองเพียงสามแสนคน คนไทยจึงไม่ค่อยรู้จักชาวภูฏานมากนัก ทวีวัฒนา ทุนคุ้มทอง-เชริง ทอปไกย เสนอภาพน่าสนใจของอาณาจักรเล็กๆ นี้



ดวงอาทิตย์ทอแสงขึ้นทางทิศตะวันออกในยามเช้า ให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่โลกและอำลาจากไปเมื่อยามเย็นย่ำเป็นนิจศีล ขณะที่โลกและสรรพสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลาที่ล่วงไป ผู้คนทั่วโลกที่อาศัยแสงสว่างของดวงอาทิตย์เพื่อการดำเนินชีวิต ต่างต้องเรียนรู้และปรับตัวตามสภาพการณ์ที่ผันเปลี่ยนไป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือในเมือง ทุกวันนี้ล้วนแตกต่างไปจากอดีตที่เคยเป็นมา

จากยุคเกษตร สู่ยุคอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่สามถาโถมสู่ทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าเราจะอยู่แห่งใดล้วนสามารถสดับรับฟังและรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในซีกโลกอีกด้านแทบจะทันควัน ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารอันทันสมัย พร้อมไปกับการมุ่งหน้าสู่สายธารแห่งกระแสโลกาภิวัตน์ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิมมากมายถูกกลืนหายไปในวิถีชีวิตสมัยใหม่ อาทิ การปรุงอาหารให้อร่อยและประดับประดาให้น่ารับประทานถูกทดแทนด้วยวัฒนธรรมอาหารจานด่วนที่รับประทานกันตาย โดยไม่ต้องคำนึงถึงอรรถรสใดๆ การติดต่อสื่อสารด้วยจดหมายกระดาษเปลี่ยนเป็นอีเมล ส่งผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อความสะดวกรวดเร็ว นวัตกรรมที่ทะลักล้นมาจากซีกโลกตะวันตก

กระนั้นก็ตามในบางพื้นที่ความเจริญทางวัตถุสามารถแทรกตัวเข้าไปได้อย่างไม่รวดเร็วนัก

ตามรอยมังกรแห่งหิมาลัย

ในดินแดนเล็กๆ อันเงียบสงบที่อยู่ท่ามกลางขุนเขาสูงตระหง่านของมหาคีรีหิมาลัย ที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนในฤดูหนาว เปลี่ยนสู่ความเขียวชอุ่มของยอดไม้แรกผลิในฤดูใบไม้ผลิ ติดตามมาด้วยสีสันอันฉูดฉาดของมวลไม้ที่ผลัดเปลี่ยนสีอีกครั้งเมื่อใกล้ปลิดปลิวร่วงหล่น เพื่อทับถมเป็นธาตุอาหารของพื้นดินยามเมื่อฤดูใบไม้ร่วงมาเยือน "ภูฏาน" อาณาจักรเล็กๆ ที่มีกำเนิดย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อราวประมาณ 1,300 ปีก่อน แทรกตัวอยู่อย่างสงบเสงี่ยมระหว่างเขตแดนของจีนและอินเดีย ดินแดนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นอู่อารยธรรมของโลก แต่ภูฏานจะมีความใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนด้านความคิด ความเชื่อและวัฒนธรรมกับทางเอเชียใต้มากกว่า

ทั้งประเทศมีเนื้อที่รวมกันเพียง 47,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดเล็กกว่าประเทศไทยประมาณ 10 เท่า ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน พืชพันธุ์ที่มีให้พบเห็นทั่วไปคือไม้สนและไม้ที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นแปรปรวนของภูเขาบนที่สูงได้เป็นอย่างดี

ผู้คนส่วนใหญ่ยังต้องแต่งกายด้วยชุดประจำชาติที่เป็นเสื้อคลุมตัวยาวสำหรับบุรุษ เรียกว่า "โก" (Gho) ซึ่งยาวถึงเข่า ส่วนของสตรี เรียกว่า "คิรา" (Kira) ซึ่งยาวคลุมถึงข้อเท้า

อาชีพหลัก ยังคงเป็นการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ทางภาคเหนือส่วนใหญ่เลี้ยง "ยัค" เนื่องจากเป็นสัตว์ที่อยู่ได้ดีในพื้นที่สูงระดับเกิน 3,000 ฟุตขึ้นไป ส่วนทางตอนกลางลงมาเลี้ยงสัตว์ประเภทวัวควาย นอกจากนี้ชาวบ้านที่นี่ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าและปั้นเครื่องปั้นดินเผาด้วย

ผลผลิตส่วนมากเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ส่วนเกินเช่น ผลไม้ส่งออกไปยังอินเดียและบังกลาเทศ เพื่อแลกกับ "เกลือ" ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีในพื้นดินของภูฏาน ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ในพื้นที่ชนบทระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้ายังคงปรากฏให้เห็นได้ทั่วไป

ขณะที่จำนวนประชากรจีนทะยานขึ้นเป็นกว่า 1,200 ล้านคน อินเดียมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน ทั่วโลกมีชาวภูฏานอยู่ทั้งสิ้นราว 650,000 คน ในรายงานของยูเอ็นดีพีจัดให้ประเทศนี้อยู่ในอันดับที่ 162 จาก 176 ประเทศทั่วโลก เมื่อปี 2537 พิจารณาจากดัชนีชี้วัดความสามารถในการบรรลุถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Index : HDI) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การเป็นประเทศที่ยากจนและมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าระดับมาตรฐานสากล หากแต่ในมุมมองของชาวภูฏาน กลับเห็นว่าการมีเงินทองมากมายหรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานของตะวันตก หาใช่สิ่งสำคัญไม่ ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) ซึ่งเป็นเกณฑ์เฉพาะของชาวภูฏานสำหรับชี้วัดสภาพการดำเนินชีวิตมีความหมายต่อประชากรที่นี่มากกว่า ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Gross National Product) ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามมาตรฐานสากล

ภูฏาน มีจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกอยากไปสัมผัส คือความเป็นเอกภาพทั้งในแง่ความเงียบสงบด้วยภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์งดงามเฉพาะตัว และความรุ่มรวยในวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่สะท้อนถึงความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวดรุ๊กปายึดถือเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายของพวกเขาตลอดมา

ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

ตามประวัติศาสตร์ของภูฏาน ผู้คนในบริเวณนี้รวบรวมตัวกันในลักษณะที่เป็นแคว้นอิสระ เมื่อราวศตวรรษที่ 17 โดยพระชาวทิเบตนามว่า ชับดรุง นาวัง นัมเยิล (Zhabdrung-เป็นคำนำหน้าชื่อเพื่อแสดงความเคารพ มีความหมายถึง เราสยบแทบเท้าท่านด้วยความเคารพ) เป็นผู้นำในการรวบรวมผู้คนในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของภูฏานเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นแคว้นอิสระชื่อว่า ดรุ๊ก ยุล หรือดินแดนของชาวภูฏาน ซึ่งตามความหมายของภาษาท้องถิ่น คือ ดินแดนของมังกรแห่งสันติผู้ยิ่งใหญ่ หรือ ภูฏาน ที่ชาวโลกรู้จักในปัจจุบันนี่เอง

ชาวภูฏาน หรือ ดรุ๊กปา (Drukpa) ประกอบด้วยชนพื้นเมืองชาวโบธี 80% ชาวเนปาล 15% และชาวเขาเผ่าต่างๆ อีกประมาณ 5% นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานมาเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นพุทธศาสนิกชนราว 75% เป็นชาติที่นำหลักคำสอนและความเชื่อต่างๆ ทางศาสนามาปฏิบัติให้เห็นในวิถีชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน รองลงมาคือ ศาสนาฮินดู มีผู้นับถือประมาณ 25% ชาวดรุ๊กปาส่วนมากรักความสงบและไม่สันทัดในเรื่องการค้าขายเท่าชาวอินเดียและเนปาล
ในช่วงปลาย ค.ศ.ที่ 17 (หลังปี ค.ศ.1890) เขตแดนต่างๆ ภูฏาน มีการแย่งชิงอำนาจกัน จึงมีการรวบรวมกลุ่มอำนาจต่างๆ เข้าด้วยกันอีกครั้งโดยบุรุษนามว่า จิ๊กมี่ นัมเยิล (Jigme Namgyel) เป็นผู้นำในการสร้างเอกภาพขึ้นใหม่ในประเทศ
ราวปี พ.ศ.2450 (ค.ศ.1907) มีการสถาปนาพระเจ้า อูเกน วังชุก (Ugyen Wangchuck) โอรสของจิ๊กมี่ นัมเยิล ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของภูฏาน
กษัตริย์พระองค์ต่อมา คือพระเจ้าจิ๊กมี่ วังชุก ทรงปรับปรุงประเทศให้มีความทันสมัยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
พระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี วังชุก สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ทรงเป็นนักปฏิรูป และได้ทรงโปรดให้มีการสภานิติบัญญัติขึ้นในปี 2495 และต่อมายังทรงวางรากฐานการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2511 เมื่อเสด็จสวรรคต ลงในปี พ.ศ.2515 พระโอรสของพระองค์ คือ เจ้าชายจิ๊กมี่ ซิงยี่ วังชุก ขึ้นเถลิงราชสมบัติปกครองประเทศต่อทั้งที่ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา ซึ่งแม้ว่าพระองค์จะได้รับการศึกษาจากตะวันตกมาบ้าง แต่ยังคงยึดนโยบายการพัฒนาประเทศที่ต้องดำเนินไปอย่างสุขุมรอบคอบ

พ.ศ.2541 พระเจ้าจิ๊กมี่ ซิงยี่ วังชุก ทรงสละพระราชอำนาจบริหารให้สภานิติบัญญัติรวมถึงบทบาทในการเป็นผู้นำรัฐ หลังจากปกครองประเทศมานาน 25 ปี ทั้งยังทรงจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นครั้งแรก ปัจจุบันฝ่ายนิติบัญญัติกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นเพื่อใช้เป็นกฎหมายแม่บทปกครองประเทศ

สายธารแห่งการเปลี่ยนแปลง

ตลอดเวลาหลายร้อยปี ภูฏานใช้ระบบการปกครองที่เดินตามความเชื่อทางศาสนาก่อนที่จะเริ่มใช้ระบอบกษัตริย์ปกครองประเทศ ผู้นำทางศาสนาคือองค์ชับดรุง มีสมณศักดิ์เท่ากับองค์ทะไลลามะ และสืบต่ออำนาจกันโดยผ่านร่างของชับดรุงองค์ก่อนที่จะกลับชาติมาเกิดใหม่ เช่นเดียวกับความเชื่อในทิเบต เกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิดขององค์ทะไลลามะ ในทิเบต

เมื่อการเปลี่ยนแปลงรุกถึงเขตแดนของชาวภูฏาน ผู้ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีแบบดั้งเดิมที่ยึดถือปฏิบัติมาหลายร้อยปี แม้จะเป็นประทศเล็กๆ และมีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองมาช้านานก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากแต่พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยย่างก้าวที่ระมัดระวัง เห็นได้จากนโยบายการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เดินตามแบบตะวันตกอย่างเต็มตัวโดยฉับพลัน หากแต่เลือกเฉพาะส่วนที่จะตอบสนองความจำเป็นของประชาชน เช่น ในเรื่องสาธารณูปโภค และการสื่อสาร การนำระบบสาธารณสุข แนวทางรักษาพยาบาลสมัยใหม่มาใช้อันช่วยให้อัตราเกิดมีชีวิตของทารก มารดาคลอดบุตรและมีสุขภาพอนามัยดีสูงขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของประชากรยาวนานขึ้น ขณะที่ในด้านสังคมยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมตามที่เคยปฏิบัติมาเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

สู่ประชาธิปไตยและความทันสมัย

คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันของภูฏาน ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อปี 2541 อันนำไปสู่การกระจายอำนาจการปกครองออกเป็นหลายระดับสูงสุด ระดับภาคคือ เลงเก (Lhrngye) รองลงไปเป็นระดับเขต หรือ ซงกั๊ก (Dhongkhag) และระดับย่อยที่สุดคือ เกียว (Geog)

รัฐบาลของภูฏานยังคงตระหนักดีถึงจุดอ่อน ในเรื่องการขาดประสบการณ์ จึงเลือกที่จะใช้นโยบายการพัฒนาประเทศด้วยความระมัดระวัง กำหนดแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความสามารถของประเทศและความจำเป็นที่มีอยู่ เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย ขณะเดียวกันก็เพื่อหลีกเลี่ยงจากความผิดพลาดต่างๆ ดังที่มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในหลายประเทศ ที่มุ่งเร่งรัดการพัฒนาโดยขาดความตระหนักถึงผลกระทบที่ไม่ได้คาดหวังที่อาจเกิดขึ้นได้อันนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การเสื่อมสภาพหรือสิ่งแวดล้อมถูกทำลายและรบกวน

**ข้อมูลสำหรับล้อมกรอบ
ขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อของชุมชนแบบดั้งเดิมยังคงหยั่งรากลึกอยู่ในทุกอณูของสังคมชาวภูฏาน ยืนหยัดต่อสู้กับแนวคิดใหม่ที่เกิดจากการเปิดประตูให้โลกภายนอกคืบคลานเข้าไป

ทีวี ซึ่งเคยเป็นสิ่งต้องห้าม เพิ่งได้รับการยอมรับในปี 2542

อินเทอร์เน็ตคาเฟ่แห่งแรกเปิดให้บริการในนครทิมปู เมืองหลวงของภูฏาน เมื่อปี 2543

ภูฏาน ยอมออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ ปีพ.ศ.2517 แต่จำกัดจำนวนไว้ราว 5,000 คนต่อปีมา จนถึงเมื่อปีที่แล้วที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6,000 คน ในการออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เคร่งครัด นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ซื้อทัวร์จากบริษัทตัวแทนท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลภูฏานยากจะเดินทางไปได้ ยกเว้นแต่ได้รับเชิญเป็นแขกของเจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลภูฏานเท่านั้น สายการบินแห่งชาติ คือ ดรุ๊ก แอร์ เป็นสายการบินเดียวในปัจจุบันที่มีเที่ยวบินตรงถึงท่าอากาศยานพาโร ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองทิมปูออกไป 65 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถราว 2 ชั่วโมง เพราะสภาพภูมิประเทศที่คดเคี้ยว นอกจากนี้ ยังมีอีกเส้นทางที่จะเดินทางเข้าไปยังภูฏานได้คือ จากท่าอากาศยานกรุงเทพ นั่งเครื่องไปลงที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย และโดยสารสายการบินภายในประเทศของอินเดียไปลงที่เมืองบักโดรา ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแคว้นเบงกอล ประเทศอินเดีย เพื่อต่อไปยังเมืองฟินโชลิง ซึ่งใช้เวลานั่งรถยนต์โดยสารประมาณ 4 ชั่วโมง และต่อรถยนต์อีก 6 ชั่วโมง สู่เมืองหลวงทิมปู นครหลวงของภูฏาน ซึ่งค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าไปทางเครื่องบินมาก

**ล้อมกรอบท้ายเรื่อง
ผู้เขียนร่วม เชริง ทอปไกย
ผู้จัดการด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารเพื่อการพัฒนาการเงินแห่งภูฏาน

http://www.bangkokbiznews.com/2003/01/07/jud/index.php?news=jud1.html

จาก : HKT - 04/06/2005 16:54

# 1

พูนลาภ

จาก : Ben - - MeW_47@thaimail.com - 29/11/2005 15:27

# 2

รู้จัก "ภูฏาน" เพื่อนบ้าน BIMSTEC



ต้นเดือนกันยายน ระหว่างการเดินทางข้ามภูเขาแล้วลัดเลาะเลียบริมลำน้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงแผ่นดินภูฏาน ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำพาโร ทิมพู หรือปูนาซัง เพื่อนร่วมทางของเราตั้งข้อสังเกตว่าผ่านมาก็หลายลำน้ำแล้ว ไม่มีคนหาปลาให้เห็น (อย่างที่ควรจะได้เห็น)


ได้ยินว่าคนประเทศนี้เขาธรรมมะธัมโมไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตกันเลย ผมเลยเปรยแบบทีเล่นทีจริงบ้างว่า สงสัยเขากลัวความหนาวมากกว่า เพราะถึงแม้จะสดับคำร่ำลือถึงขีดขั้นจริยธรรมที่สูงพอๆ กับคุณภาพชีวิตของพลเมืองภูฏานมานาน แต่ก็รู้สึกว่าออกจะเกินเลยไปกระมัง ถ้าถึงขั้นไม่จับปลากิน


กระทั่งมีจังหวะเหมาะได้ร่วมโต๊ะอาหารกับข้าราชการระดับสูงของกรมวัฒนธรรมภูฏาน จึงได้คำตอบที่คาดไม่ถึง ว่าการล่าสัตว์และจับปลาถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายของประเทศนี้ ซึ่งในความเป็นจริงชาวภูฏานก็เกรงกลัวต่อบาปเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับไม่กินปลา


ทว่าจะจับกินกันในครัวเรือน โดยจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐ และละเว้นจับปลาในฤดูวางไข่ ส่วนเนื้อหมู วัว ไก่ ก็ไม่ผิดที่จะฆ่าเพื่อรับประทานในครอบครัว มีน้อยมากที่จะฆ่าเพื่อขาย ดังนั้น 90% ของเนื้อสัตว์ในตลาดซึ่งคนในเมืองและนักท่องเที่ยวบริโภค เป็นเนื้อที่ชำแหละและนำเข้าจากอินเดีย ว่ากันว่าพ่อแก่แม่เฒ่าบางคนไม่ดื่มชา เพราะกระบวนการผลิตชาต้องทำลายชีวิตหนอนและแมลงบางชนิด


น้ำเสียงท่านอธิบดีกรมวัฒนธรรมดำเนินไปอย่างเรียบเรื่อย ไม่ไยดีว่าคนฟังกำลังออกอาการอึ้ง แต่ความเรียบเรื่อยก็สะท้อนว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของประเทศนี้ เหมือนการที่ภูฏานรักษาป่าไม้ไว้ได้ถึง 66% จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ไม่ให้เกินปีละแค่ 8,000 คน ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่การซื้อขายและสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีช่องมวยปล้ำ แฟชั่นทีวี และเอ็มทีวี ในสถานีโทรทัศน์ซึ่งควบคุมโดยรัฐ กางเกงยีนไม่ห้าม แต่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการต้องสวมชุดประจำชาติไปโรงเรียนและไปทำงานเท่านั้น


"ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเราคือใคร เราจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อเราถูกขนาบข้างด้วยประเทศใหญ่ที่เป็นต้นรากวัฒนธรรมอย่างจีนและอินเดีย ทั้งยังถูกรุกเร้าด้วยกระแสวัฒนธรรมตะวันตก เราเชื่อว่าศาสนานำพาความสุขมาให้เรามากกว่าลัทธิบริโภคนิยม เราจึงมุ่งให้ประชาชนภูฏานตระหนักว่าคุณภาพชีวิตอยู่ที่จิตใจ ไม่ใช่วัตถุ"


บางตอนจากปาฐกถาที่เข้มข้นของรัฐมนตรีมหาดไทยและวัฒนธรรมภูฏาน ดังก้องขึ้นในความทรงจำ นี่คือแนวนโยบายพัฒนาประเทศโดยคำนึงถึง "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" (G.N.H.-Gross National Happiness) มากกว่าจะคำนึงแต่ "ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ" (G.N.P.-Gross National Products) ซึ่งในเมืองไทยก็เห็นจะมีแต่ศาสตราจารย์ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่รณรงค์เรื่องนี้อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางกระแสสังคมบริโภคนิยมที่เชี่ยวกราก


ในขณะที่รัฐบาลแห่งกษัตริย์ภูฏานถือ G.N.H. เป็นแนวนโยบายหลักของชาติ ควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน ก็ให้เด็กๆ เรียนภาษาอังกฤษกับภาษาภูฏานในสัดส่วนถึง 50:50 ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน


"แน่นอน เพราะเรารู้ตัวว่าเป็นประเทศเล็ก ที่สำคัญคือ เราไม่มีทางออกทะเล ภาษา อังกฤษจะช่วยเราในการติดต่อกับโลก พร้อมๆ กับการปกปักรักษาวิถีวัฒนธรรมของตนเองไว้ เราจึงเห็นควรจำกัดทีวี.บางช่องที่คิดว่าไม่เหมาะสม และเลือกที่จะไม่รับนักท่องเที่ยวให้มากเกินไป"


หากคำถามและคำตอบคือ สัญลักษณ์ของใจที่ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา คำถามและคำตอบมากมายหลายประเด็นเกี่ยวกับภูฏาน ก็คือที่มาของโครงการ "รู้จักสมาชิกใหม่บิมสเทค" ซึ่งกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้น โดยนำผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมหลากหลายสาขาของไทย ทั้งกวี จิตรกร นักวัฒนธรรม นักโบราณคดี สื่อมวลชน ไปเยือนภูฏานในฐานะสมาชิกใหม่ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperative - ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลว่าด้วยความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ระหว่าง ไทย พม่า ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล) เมื่อวันที่ 5-10 กันยายนที่ผ่านมา


เพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชนไทยและภูฏาน ซึ่งคล้ายคลึงกันเพราะต่างมีพระมหากษัตริย์เป็นหลักของชาติ แต่ก็แตกต่างกันในหลายเรื่อง และถึงแม้จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในระดับพระราชวงศ์ของสองประเทศ แต่ในระดับประชาชน ยังมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันน้อยเหลือเกิน จนเชื่อได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่นึกไม่ออก ว่าภูฏานอยู่ตรงจุดไหนของแผนที่โลก


พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูฏานเป็นที่ราบสูงกว่า 2,000 เมตร และภูเขาสูงชันกว่า 7,000 เมตร จึงเป็นที่มาของชื่อ "ภูฏาน" ซึ่งแปลว่าดินแดนบนที่สูง หรืออาณาจักรบนฟ้า แต่ชาวภูฏานเรียกประเทศตนเองว่า "ดรุกยุล" หรือดินแดนแห่งมังกรผู้รักสันติ และเรียกเผ่าพันธุ์ตนว่า "ดรุกปา" หรือชาวมังกรสันติ จึงไม่น่าแปลกใจที่สายการบินประจำชาตินี้มีชื่อว่า "ดรุกแอร์"


ทั้งนี้ ภูฏานตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างทิเบต หรือตะวันตกของจีน กับแคว้นอัสสัม หรือตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีพื้นที่เพียง 47,000 ตารางกิโลเมตร (ประมาณโคราชกับเชียงใหม่รวมกัน) มี "ทิมพู" เป็นเมืองหลวง และ "พาโร" เป็นที่ตั้งท่าอากาศยาน มีประชากรราว 700,000 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธสายวัชรยาน หรือพุทธแบบทิเบต และมีภาษา "ซอง" (Dzong) เป็นภาษาราชการ ปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล


คืนวันในดินแดนแห่งมังกรผู้รักสันติ ทำให้เราตระหนักว่าการพัฒนาประเทศแบบคำนึงถึง "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ใกล้เคียงยิ่งนักกับแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพระราชทานให้คนไทยยึดเป็นแนวปฏิบัติ เพียงแต่เราประจักษ์แจ้งว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ปรากฏเป็นจริงแล้วบนแผ่นดินที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น "The Last Shangri-la" แห่งนี้นี่เอง


ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก



จาก : @ - 13/06/2006 22:26

# 3

"เจ้าชายวังชุก" พระราชอาคันตุกะ ผู้ทำให้ 'ภูฏาน' เด่นชัดบนแผนที่โลก



ภาพความยิ่งใหญ่ของประมุขจากนานาประเทศ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ตราตรึงเข้าไปอยู่ในหัวใจปวงชนชาวไทยแล้ว ประชาชนชาวไทยต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญ พระจริยวัตรอันงดงามแห่งสายเลือดสีน้ำเงิน ของแต่ละพระองค์อย่างหมดใจ


โดยเฉพาะ มกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน คือเจ้าชายที่โดดเด่นที่สุด ณ เวลานี้! ด้วยพระพักตร์ขาวสะอาด พระวรกายผึ่งผายในชุดฉลองพระองค์ประจำชาติแบบแปลกตา ที่สะดุดใจยิ่งนักคือพระจริยวัตรอันนอบน้อม...ท่ามกลางท่าทีอันเรียบง่ายไม่ถือพระองค์ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ยังที่ใด ภาพที่ประชาชนคนไทยเห็น คือทรงยกพระหัตถ์พนมไหว้แบบชาวพุทธอย่างงดงาม กอปรกับที่ทรงมีพระชนมายุเพียง 26 พรรษาเท่านั้น! ยิ่งทำให้เจ้าชายหนุ่มจากโลกตะวันออกพระองค์นี้ โดดเด่นสะดุดชาวไทยที่เฝ้าอยู่หน้าจอทีวียิ่งขึ้นไปอีก!!

"เจ้าชายวังชุก" แห่งภูฏาน กลายเป็นเจ้าชายในฝัน (สาวไทย) ไปในพริบตา หลายคนบอกว่าหล่อสไตล์เอเชียแบบพระเอกเกาหลี แล้วถ้าเข้าไปดูในเวบไซด์เวลานี้ ก็จะเห็นทั้งพระฉายาลักษณ์ และพระราชประวัติของพระองค์ที่ถูกเหล่านักท่องโลกไซเบอร์นำมาโพสต์เอาไว้ทุกอิริยาบถ!! "ได้เห็นองค์จริงแล้วบอกได้เลยว่าทรงพระสิริโฉมมาก ถ้าพูดอย่างภาษาสามัญก็ต้องบอกว่าเป็น 'หนุ่มหล่อ' เลยทีเดียว แต่สิ่งที่เหนืออื่นใด คือบุคลิกสง่างาม และพระราชอัธยาศัย วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อพระองค์ท่านอย่างมาก"

จักรภพ เพ็ญแข รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะทำงานฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี ซึ่งมีหน้าที่ทำงานถวายงานรับพระราชอาคันตุกะครั้งนี้ กล่าวถึงข้อมูลที่หลายคนกำลังกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ว่า "ความนอบน้อมถ่อมตนของพระองค์ เป็นไปอย่างไม่เสียพระกิริยา ทรงงามอย่างพระราชา และทรงเป็นต้นแบบสุดยอดความสง่าโดยแท้จริง ใครอยากมีบุคลิกสมาร์ทโดยไม่เป็นการเย่อหยิ่งให้ดูมกุฎราชกุมารภูฏานเป็นแบบอย่าง" รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว จักรภพ อธิบายเพิ่มว่า เจ้าชายพระองค์นี้คือว่าที่พระมหากษัตริย์คนต่อไปของราชอาณาจักรภูฏาน เพราะพระราชบิดา คือ สมเด็จพระราชาธิบจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงมอบราชสมบัติให้แล้ว โดยในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินภูฏาน ด้วยพระชนมายุเพียง 28 พรรษาเท่านั้น

จากการที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับคนรอบข้าง จักรภพ บอกว่า จึงได้รู้ว่าทรงสนพระทัยเรื่องศิลปวัฒนธรรม รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยวว่าบริหารจัดการอย่างไร ที่จะไม่ทำลายทรัพยากรของประเทศ ภูฏานเป็นประเทศเล็กมาก มีพื้นที่เพียง 47,000 ตร.กม. จึงทรงมีพระราชประสงค์ส่งเสริมให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญพระองค์ทรงมีพระราชดำริตามรอยพระราชบิดา ซึ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงภูฏานให้เป็นสังคมสมัยใหม่ แต่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทรงใช้หลักความสุขมวลรวมของชาติ แทนการวัดการพัฒนาเป็นค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของภูฏานเป็นสังคมเกษตรกรรมที่เรียบง่าย ดำรงตามวิถีทางพุทธศาสนานิกายมหายาน และยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากพระราโชบายของสมเด็จพระราชาธิบดีวังชุก ซึ่งต้องการให้อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของภูฏานไว้ นอกจากนี้ นโยบายการคัดเลือกและจำกัดนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศ โดยคิดค่าเข้าประเทศ 250 ดอลลาร์สหรัฐ! ทำให้มีแต่นักท่องเที่ยวคุณภาพดีเท่านั้น!! และภูฏานยังมีนโยบายจำกัดสื่อ จึงเพิ่งเริ่มที่จะมีโทรทัศน์ เมื่อปี 2542 และมีเพียงสถานีแห่งชาติสถานีเดียวเท่านั้น

"ฉลองพระองค์" คืออีกเรื่องที่น่าติดตราต้องใจอย่างมาก จักรภพเล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังอย่างละเอียด "เป็นชุดประจำชาติ เรียกว่า 'โกะ' ภูฏานเป็นรัฐบนภูเขาอากาศจึงหนาวเย็น ชุดนี้มีความพิเศษตรงผืนผ้าที่คลุมพระอังสาปลดลงมาคลุมพระวรกายได้ แล้วถึงจะเป็นชุดที่ดูคล้ายนักรบ เพราะทรงสวมรองเท้าแบบบู๊ท แต่ก็ใส่ได้ทุกโอากส ผ้าคลุมพระอังสาสีเหลืองที่ทรงออกราชพิธีดูคล้ายเหมือนจีวรพระ คล้ายผ้าไหม แต่ไม่ได้มีสีนี้สีเดียวนะครับ สีเขียวก็มี ซึ่งเข้าใจว่าการทรงสีเหลืองเพื่อเฉลิมฉลองแด่องค์ในหลวง เหมือนที่คนไทยสวมเสื้อเหลืองกันเวลานี้" ชื่อประเทศภูฏานอ่านว่า พู-ตาน หรือ พู-ต๋าน ก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะเรียกว่า พู-ถาน ก็ไม่ผิด จักรภพแจกแจง แล้วความรู้จากห้องเรียน ประเทศภูฏานเป็นประเทศยากจนที่สุดในโลก โดยมีรายได้ประชากรต่อหัวน้อยที่สุด เรื่องนี้ จักรภพ แสดงความคิดเห็นว่า "เงินไม่ใช่ปัจจัยวัดความสุขของคนเสมอไป ประเทศลาวคนมีเงินในกระเป๋าน้อยมาก แต่คนมีหน้าตาอิ่มเอิบ สุขใจ แต่งตัวมีเครื่องเงินเครื่องทองประดับงดงาม 'ความรวย' จึงไม่ได้วัดกันที่เงินเท่านั้น วัดที่ความสุขก็ได้ วัดที่ความมีวัฒนธรรมประเพณีที่รุ่มรวย อย่างภูฏาน เป็นต้น"

ฟังอย่างนี้นักท่องเที่ยวไทยคงอยากแบ็กแพ็คเกอร์ไปท่องเที่ยวประเทศนี้กันใหญ่แล้ว! "คงต้องบอกว่า 'เจ้าชายวังชุก' ทรงทำหน้าที่สัญลักษณ์ของประเทศได้ดีที่สุด ฐานะกษัตริย์จากภูฏาน เพราะประมุขต้องทรงเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศนั้น เพราะฉะนั้นการเสด็จฯ มาไทย แล้วเรามีความรู้สึกประทับใจในพระองค์ท่าน จนรักประเทศนั้น อยากไปประเทศนั้น ก็ถือว่าทรงทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ" จักรภพ ว่า พร้อมอธิบายประเด็น "กษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ" เพิ่มเติมว่าถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด ด้วยทรงเป็นประมุขที่ต้องไปเยี่ยมเยือนผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี หากแต่กษัตริย์มีความสำคัญกว่านั้นอีกมาก เช่น ทรงเป็นองค์ผู้นำในการรักษาไว้ซึ่งจารีตประเพณี สิ่งที่ทรงแสดงออกจึงต้องเป็น "สิ่งดีที่สุด" ของประเทศนั้นๆ อีกด้วย

นอกจากเจ้าชายองค์นี้ จักรภพ ยังพูดถึง พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา ทรงเป็นสัญลักษณ์ประเทศเฉกเช่นเดียวกัน ทรงมีภูมิหลังเป็นเอกลักษณ์ โดยทรงมีความชำนาญเฉพาะทาง 2 ด้านด้วยกัน คือ การเป็นนักนาฏศิลป์ คล้ายกับพระราชบิดา คือ สมเด็จสีหนุ ทั้งศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ การร่ายรำ ทรงเป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับ และอีกด้าน คือ การทำงานระหว่างประเทศ โดยทรงเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเนสโกมาก่อน ความรู้ของพระองค์จึงรอบด้าน เพราะยูเนสโกทำงานทั้งทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และศิลปะ ซึ่งปัจจัยทั้งสามนี้จะขับเคลื่อนให้สังคมพัฒนาได้มากที่สุด โดยจักรภพเชื่อมั่นว่า "พระบรมนาถสีหมุนี" จะกลายเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความสำคัญมากของกัมพูชา เนื่องจากประเทศได้ผ่านพ้นยุคสงครามแล้ว ต่อไปคือยุคกัมพูชาใหม่ที่พระองค์จะเป็นผู้นำในการฟื้นฟูชาติ และฟื้นฟูรากเหง้าเดิมของกัมพูชา สถาบันกษัตริย์จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเอเชียโดยแท้ เป็นความอิ่มตาอิ่มใจของชาวไทยที่ได้ชื่นชมพระบารมี "เจ้าชายวังชุก" ที่ทรงประทับอยู่เมืองไทยถึงวันที่ 15 มิถุนายน

นอกจากนี้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า "ทรงมีราชประสงค์อยากนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ดีในอนาคต โดยทรงสนพระทัยโครงการหลวง และโครงการพระราชดำริต่างๆ มาก ด้วยทรงมีพระราชปณิธานต้องการเป็น 'กษัตริย์ของประชาชน' เฉกเช่นเดียวกับองค์ภูมิพล" จึงเป็นคำบอกเล่าที่ทำให้เรารักเจ้าชายจากภูฏานพระองค์นี้ยิ่งขึ้นไปอีก

ราชอาณาจักรภูฏาน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับทิเบต 470 กิโลเมตร และอาณาเขตด้านอื่นๆ ติดกับอินเดีย 605 กิโลเมตร ไม่มีทางออกทะเล พื้นที่ 47,000 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง กรุงทิมพู เมืองสำคัญต่างๆ เมืองพาโร เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ เมืองพูนาคา เป็นเมืองที่มีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของพระราชวังฤดูหนาว และเป็นที่ราบสำหรับทำการเกษตร ประชากร คน 752,693 คน ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ ได้แก่ Sharchops (ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยภาคตะวันออก) Ngalops (ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตก) และ Lhotshams (ชนเชื้อสายเนปาล ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้) ศาสนา พุทธมหายาน นิกาย Kagyupa (มีลามะเช่นเดียวกับทิเบต) ภาษา ซองข่า (Dzongkha) เป็นภาษาราชการภาษาอังกฤษใช้เป็นสื่อกลางในสถาบันการศึกษาและในการติดต่อ ธุรกิจภาษาทิเบตและภาษาเนปาลมีใช้บางส่วนในทางภาคใต้ของประเทศ ประมุข องค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบจิกมี ซิงเย วังชุก ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2515 เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก


จาก : @ - 16/06/2006 18:22

# 4

ภูฏาน หนึ่งเดียวในโลกที่ห้ามคนสูบบุหรี่

คนไทยรู้จักประเทศภูฏานดีว่าเป็นเมืองในฝัน อยู่กลางหุบเขาหิมาลัยที่สวยงามเป็นธรรมชาติ ใครได้เข้าไปในประเทศเหมือนกับได้เกิดใหม่ เพราะไม่ใช่ว่า ทุกๆ คนที่ตั้งใจจะไปจะได้ไปเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวเข้าที่นี่มีการจำกัดจำนวนไม่เกิน 2 พันคนเท่านั้น แต่ละคนต้องเสียเงินวันละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ เรียกว่าเหมาจ่ายไปเลย

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลภูฏานตัดสินใจห้ามประชาชนทั้งประเทศสูบบุหรี่ เพราะถือว่าเป็นภัยต่อสุขภาพ ตามจริงตลาดที่นี่เล็กนิดเดียว มีคนไม่ถึง 3 แสนคน มีคนสูบบุหรี่ไม่มากเท่าไร แต่บังเอิญรัฐบาลที่นี่เอาจริงเอาจังกับประชาชนซึ่งเป็นชาวพุทธ ภูฏานตอนนี้เลยดังใหญ่ เพราะเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่สูบบุหรี่ไม่ได้

ตอนนี้นักข่าวต่างประเทศได้หลั่งไหลเข้าไปภูฏานเพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับการห้ามสูบบุหรี่ สำหรับประเทศเอเชียด้วยกันแล้ว เรื่องสูบบุหรี่เก่งเป็นที่หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวยังสูบได้ ส่วนคนภูฏานถ้าสูบภายในบ้านก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงเกือบ 200 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการลดความอยากสูบนั่นเอง

พระเจ้าแผ่นดินภูฏานตือจิเม ซิงเย หวังชุง เป็นคนที่ได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษ มีความคิดทันสมัย และต้องการให้ประเทศของตนเจริญก้าวหน้า แต่ยังคงความเป็นภูฏานให้มากที่สุด เพราะถ้าขาดสิ่งนี้ ประเทศนี้ก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ยอมให้กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาบดบังกลไกวัฒธรรมท้องถิ่น

นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศเป็นกลุ่มแรก ฉะนั้นรัฐบาลมีมาตรการคุมเข้มมาก เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยนักท่องเที่ยวเข้ามามากๆ จะมีผลต่อความสวยงามของธรรมชาติ 3 ปีก่อนรัฐบาลได้แนะนำให้ประชาชนใช้อินเทอร์เน็ตติดต่อกับโลกภายนอก

รัฐบาลภูฏานไม่เหมือนกับประเทศอื่น ที่ใช้ผลผลิตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคมเป็นเครื่องวัด เพราะประเทศนี้ใช้ความสุขของประชาชาติเป็นเกณฑ์ (gross national happiness) เล่นเอาองค์การระหว่างประเทศ เช่น ยูเอ็น งงเป็นไก่ตาแตก ว่ามันเป็นไปได้อย่างไร

ภูฏานยังถือเป็นประเทศยากจนประเทศหนึ่ง มีเพียงการท่องเที่ยวที่สามารถทำเงินเข้าประเทศ ในประเทศมีหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียว ชื่อ "คุนเซล" เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ที่รายงานความเคลื่อนไหวในสังคม รวมทั้งข่าวต่างประเทศ

ภูฏานได้เป็นสมาชิกของบิมเท็คเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ประเทศนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และเอเชียใต้ ซึ่งทุกวันยิ่งทวีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ภูฏานได้สอนให้ประเทศอื่นรู้ว่าการมีชีวิตอยู่อย่างเพียงพอแบบประหยัดนั้น มีความหมายอย่างไรบ้าง สำหรับบางประเทศนั้นเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่

ที่มา : คมชัดลึก 24 มิถุนายน 2548


จาก : @ - 18/06/2006 20:12

# 5

ภูฏาน เมืองบนฟ้า
เรื่อง/ละออ ศิริบรรลือชัย
ภาพ/ธรรมนูญ ประภากมล

มังกรสายฟ้าสีส้มจัดที่ปลายหาง ตัดกับสีสดของท้องฟ้า เบื้องล่างปรากฏแม่น้ำสายยาวพาดคดเคี้ยว มองดูราวงูยักษ์ตัวทมึนดำ
กัปตันชาวภูฏานประกาศให้ผู้โดยสารที่นั่งริมหน้าต่างด้านซ้ายเตรียมตัวยลโฉมเทือกเขาหิมาลัย ฉันชะโงกหน้าตามอย่างว่าง่าย ฉับพลันป่าเขียวและสายน้ำแปรเปลี่ยนเป็นยอดเขาสูงชัน
..................
จุดหมายที่ปลายฟ้า
พ้นจากแม่น้ำพรหมบุตร ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย เครื่องบินขนาด 70 ที่นั่ง ถือสัญชาติภูฏาน (Royal Bhutan Airline) หรืออีกชื่อหนึ่งว่าดรุกแอร์ (Druk Air) เริ่มเบนเข้าหาแนวเขา หิมะขาวล้อแสงตะวันวาววับ สภาพกัดเซาะของน้ำแข็งที่จับแน่นบนผาสูงบ่งบอกถึงอายุธรรมชาติที่ทับถมกันมาชั่วนาตาปี
ระหว่างแนวเขาน้อยใหญ่แห่งหิมาลัย ประเทศประชาธิปไตยเล็กๆ ปกครองด้วยระบบกษัตริย์ ที่มีพื้นที่ 47,000 ตารางกิโลเมตร ซ่อนตัวอยู่ทางตอนใต้ของทิเบต และเหนืออินเดีย นาม "ภูฏาน" มาจากคำสมาสในภาษาสันสกฤต ภู-อุทาร อันมีความหมายว่า "แผ่นดินบนที่สูง"
หลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่มีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวแล้ว ด้วยความอยากรู้อยากเห็นฉันจึงเอ่ยปากถาม ได้ความว่า เดิมนั้นมี 2 คนด้วยกัน แต่เพื่อนร่วมงานเป็นไส้ติ่ง เสียชีวิตไปไม่นาน และทางการยังหาคนมาแทนใหม่ไม่ได้ คิวจึงยาวเหยียดและเสียเวลานานอยู่ไม่น้อย
"ขวามือที่เห็นกำลังสร้างอยู่นั้นคือโรงพยาบาล แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศ" เสียงบรรยายของอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ วิทยากรของการเยือนภูฏานคราวนี้ดังขึ้นขณะเดินทางจากเมืองพาโร สู่ทิมปู เมืองหลวง ทำให้ฉันคลายสงสัยเรื่องเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองลง
พาโร (Paro) เป็นเมืองใกล้เมืองหลวงที่สุดที่มีที่ราบพอจะสร้างสนามบินได้ เราจึงต้องนั่งรถอีกราว 2 ชั่วโมงบนทางคดเคี้ยว 65 กิโลเมตรเพื่อตรงไปยังทิมปู (Thimphu) ประเทศภูฏานเพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2517 โดยสายการบินแห่งชาติ (ดรุกแอร์) เพียงสายเดียว บินระหว่างอินเดีย บังคลาเทศ เนปาล และไทย ในวันที่อากาศดีโดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคมถึงเมษายน คนเดินทางสามารถมองเห็นหิมาลัยถึง 9 ยอด ทั้งนี้นับรวมเอเวอร์เรสต์ จุดสูงสุดของโลกอีกด้วย (Ganesh Himal, Cho Oyu, Everest, Lhotese, Makalu, Kanchenjunga, Chomolhari, Gangkar Phunsum, Kula Kangri)
แม้ภูฏานจะเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ แต่ด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์สูงสุด หรือ เจเคนโป (Je Khenpo) จึงมีบทบาทไม่แพ้กษัตริย์ในการบริหารแผ่นดินเช่นกัน จนบางครั้งหลายคนอาจเข้าใจว่าภูฏานปกครองโดยผู้นำทางศาสนาเหมือนกับทิเบตก็เป็นได้
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประวัติศาตร์ของภูฏาน จะปรากฏออกมาในแนวปาฏิหาริย์โดยอิงศาสนาเป็นส่วนใหญ่
สืบเนื่องมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้สูญหายไปในกองเพลิง เมื่อคราวไฟไหม้ปูนาคา ซองถึง 2 ครั้งเมื่อปีพ.ศ.2371 และ พ.ศ.2375 ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีกในพ.ศ.2439 นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ภูฏานเลยทีเดียว ซากความเสียหายที่หลงเหลือจึงย้อนอดีตไปได้เพียงช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 เมื่อคุรุปัทมสัมภวะ เป็นผู้นำพุทธศาสนาสู่ดินแดนลึกลับแห่งนี้ เชื่อกันว่า ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว 12 ปี จะมีบุรุษนามว่าปัทมะ จุงเน ผู้เกิดในดอกบัว ที่ทะเลชื่อว่าดิเมโกษะ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอุกเยนยูล (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) จะมาสอนรหัสแห่งพุทธศาสนา และเป็นราชาของศาสนจักรทั้งปวง
เมื่อโบราณกาล ครั้งที่ประเทศภูฏานยังไม่ถือกำเนิดนั้น ดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัย เป็นที่อาศัยของชนภูเขาหลายเผ่า หนึ่งในนั้นมีเมืองพุมทัง ปกครองโดยพระเจ้าสินธุ หรือจักกยาลโป ทรงทำศึกสงครามอยู่กับพระเจ้านวเชจนเสียพระราชโอรสนาม ตาละเมบาร์ พระเจ้าสินธุทรงเสียพระทัยมากพานโทษเทพยดา หาว่าไม่คุ้มครองพระโอรสของตน และประกาศให้ประชาชนเลิกพิธีบวงสรวงทั้งปวง สร้างความโกรธเคืองให้แก่เทพผู้พิทักษ์เมือง ถึงกับดลบันดาลให้พระเจ้าสินธุประชวรหนัก เหล่าข้าราชบริพารได้ออกค้นหาผู้มีความสามารถ และพบกับคุรุปัทมสัมภวะ ในประเทศเนปาล จึงได้นิมนต์มาช่วยเหลือบ้านเมืองจนพ้นภัยในที่สุด
เมื่อทุกอย่างจบลงด้วยดี คุรุปัทมสัมภวะ ได้เรียกกษัตริย์ทั้ง 2 ฝ่ายให้เจริญสัมพันธไมตรีต่อกัน และแสดงธรรมอันเรียกว่า "ตันตระ" เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายยอมเป็นมิตรกันแล้วจึงสถาปนาพุทธศาสนานิกายตันตระขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติสืบมา ส่วนตัวท่านเองได้ออกจาริกไปยังเมืองต่างๆ ในภูฏาน ซึ่งสถานที่เหล่านั้นได้กลายเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหมดถึง 20 แห่งด้วยกัน และแต่ละแห่งยังปรากฏรอยพระบาทเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบัน
คุรุปัทมสัมภวะ อันมีความหมายว่า ผู้เกิดแต่ดอกบัว จึงนับเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 ตามความเชื่อของชาวภูฏาน
ราว 1,000 ปี ต่อมา ได้มีลามะจากทิเบตนามว่า นาวังนัมเกล (Ngawang Ngumygel) ธุดงภ์มาถึงภูฏานพร้อมด้วยพระสารีริธาตุที่แอบซ่อนมาจากทิเบต และได้สร้างซอง (Dzong-มีความหมายถึงวัดและป้อมปราการในอดีต) ไว้มากมาย
นาวังนัมเกลเป็นลามะผู้มีปรีชาสามารถมาก ได้รวบรวมเมืองต่างๆเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน ในปีพ.ศ.2182 ทรงสร้างซองขึ้นไว้ที่เมืองปูนาคา (Phunakha) ชื่อว่า ปูนาคา ซอง แล้วสถาปนาปูนาคาขึ้นเป็นเมืองหลวง จากนั้นทรงวางรากฐานการปกครองที่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างกษัตริย์และพระสงฆ์ เรียกว่า "โลทริมมิลุทริม-กฎหมายทางใจ" และ"ซาลุงมิลุลุง-กฎหมายทางโลก" ด้วยคุณงามความดีเหล่านี้เอง ท่านได้รับสมญานามนำหน้าว่า "ชับดรุง-Shubdrung" อันมีความหมายว่า "ผู้ที่ทุกคนต้องสยบแทบเท้า"
เมื่อสิ้นสมัยแห่งชับดรุง นาวังนัมเกล บ้านเมืองเริ่มระส่ำระสายอีกครั้งชนชาติดรุกปา (Drukpa) หรือผู้สืบเชื้อสายมาจาก "มังกร" ก็แตกฉานซ่านเซน แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ มีที่มั่นอยู่ที่เมืองพาโร และตองสา (Tongsa)
ผู้ครองเมืองตองสา นามว่า อุกเยน วังชุก (Ugyen Wangchucka) มีนโยบายนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาค จึงพยายามเป็นพันธมิตรกับทิเบตและอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นอังกฤษเข้ายึดรัฐอัสสัม ของอินเดียไว้แล้ว ผลปรากฏว่าฝ่ายเมืองตองสาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามจนได้ชัยชนะ และรวมประเทศภูฏานกลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยปรีชาสามารถดังกล่าวอุกเยน วังชุกจึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งประเทศภูฏาน ในปีพ.ศ.2450
นับว่าประวัติศาสตร์ชาติสมัยใหม่ของภูฏานได้ถือกำเนิดขึ้นเช่นกัน
พระเจ้าอุกเยน วังชุกครองราชย์ต่อมาได้เพียง 19 ปี ก็เสด็จสวรรคต พระเจ้าจิกมี วังชุก (Jigmi Wangchuck) ราชโอรสขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาและสามารถนำประเทศผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างปลอดภัย จนถึงปีพ.ศ.2495 ก็สวรรคต โดยมีพระเจ้าจิกมี ดอร์จิ (Jigme Dorji) เถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบต่อมา รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์วังชุกผู้นี้นับเป็นผู้มีความคิดก้าวหน้าอย่างมาก พระองค์ทรงเปิดประเทศภูฏานสู่สายตาชาวโลก ด้วยการเป็นสมาชิกกลุ่มแผนโคลัมโบ (Columbo Plan) จนได้รับสมญานามว่า "องค์บิดาแห่งภูฏานยุคใหม่"
ด้วยความที่พระเจ้าจิกมี ดอร์จิเป็นกษัตริย์ที่ทรงประชวรอยู่เสมอ จึงได้เตรียมพระราชโอรสไว้ให้พร้อมสำหรับปกครองบ้านเมืองต่อไป และในปีพ.ศ.2515 บัลลังก์แห่งราชวงศ์วังชุกจึงตกอยู่กับพระเจ้าจิกมี ซิงเย วังชุก (Jigne Singye Wangchuck) องค์รัชทายาทผู้มีพระชนมายุเพียง 17 ชันษาเท่านั้น
ปัจจุบันภูฏานยังคงปกครองโดยพระเจ้าจิกมี ซิงเย และพระราชินี 4 พระองค์

ปูนาคา ภาพอดีต
การเดินทางสู่ประเทศภูฏานครั้งนี้ ฉันและช่างภาพร่วมเดินทางไปพร้อมกับคณะทัวร์จากท่องโลกศิลปและวัฒนธรรม โดยคุณรสสุคนธ์ บุญมี และอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือเป็นผู้นำบรรยาย และเนื่องจากนโยบายการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ให้ปีหนึ่งๆมีเพียง 5,000 คนเท่านั้น การเข้าประเทศภูฏานจึงยุ่งยากกว่าปกติเล็กน้อย ใช่ว่านักท่องเที่ยวทุกคนจะสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วหิ้วกระเป๋าออกจากบ้านได้เลย หากต้องการจะเยือนประเทศนี้ ควรจะเริ่มต้นจากการสอบถามบริษัททัวร์ที่มีรายละเอียดการจัดทัวร์ในประเทศภูฏานเสียก่อน เพื่อเป็นผู้ติดต่อมายังตัวแทนการท่องเที่ยวของประเทศภูฏานในการขอวีซ่าและออกตั๋วเครื่องบินในที่สุด การเข้าประเทศภูฏานทางรัฐบาลยังมีภาษีเข้าประเทศคิดเป็นรายวันอีกด้วย

ที่มา : ลุงแจ่มตอบปัญหา คมชัดลึก

จาก : @ - 18/06/2006 20:22

# 6

ภูฏาน : ความเร่งรีบที่หายไป


ลองนึกดูเล่นๆ เท่านั้นเองว่า ถ้าหากเมืองไทยอยู่ใกล้ต้นน้ำใหญ่ที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยเช่นประเทศภูฏาน เราจะปฏิบัติตัวอย่างไร

เราจะคิดเหมือนผู้นำประเทศนี้ไหม ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง ไม่มีทางออกสู่ทะเล ติดต่อทำมาค้าขายกับโลกภายนอกลำบาก มีเขื่อนพลังน้ำอันเป็นแหล่งรายได้สินค้าออกเพียงอย่างเดียวที่นำรายได้เป็นกอบเป็นกำมาสู่ประเทศ แต่กระนั้นก็ยังจำกัดการสร้างเขื่อนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม จำกัดป่าไม้ที่จะใช้สอย จำกัดจำเขี่ยไปเสียหมดแม้ช่วงเวลาแพร่ภาพโทรทัศน์ซึ่งประเทศภูฏานเพิ่งจะยอมรับให้เข้ามาในประเทศเมื่อหกเจ็ดปีนี้เอง

เราคนไทยฉลาดกว่าหรือเปล่าหากจะทำแบบที่เราทำกับทรัพยากรทางน้ำของเราว่า ไหนๆ เราก็โชคดีมีทรัพยากรชั้นหนึ่งของโลกซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศจะมี ดังนั้นเราก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์สูงสุด อย่างเช่นแนวปะการังใต้น้ำที่ทะเลอันดามันบริเวณหมู่เกาะพีพี หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งเป็นทรัพยากรความงามระดับชั้นหนึ่งของโลก เราก็คิดใช้มันให้ทำรายได้ท่องเที่ยวสูงสุดอย่างไม่หยุดยั้ง

หลังสึนามิหนึ่งปี เราได้ทำอะไรกับโอกาสที่เราเคยหวังว่าจะทำให้เราได้หยุดคิดและปรับอัตรานักท่องเที่ยวกับพื้นที่ปะการังที่ตลอดมาไม่ได้สัดส่วนกันเสียจนน่าเป็นห่วงว่าธรรมชาติจะรับไหวหรือ &งานรำลึกหนึ่งปีสึนามิที่เพิ่งผ่านไปของเราก็คือการนับห้องพักที่นักท่องเที่ยวจองไว้ (โดยที่ทางโรงแรมส่วนใหญ่ยังมิได้สร้างระบบเตือนภัย) การเฉลิมฉลองคนไปเที่ยว หาใช่การระลึกถึงภัยพิบัติอย่างมีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะยอมรับการใช้สอยอย่างจำกัดจำเขี่ยแต่อย่างใด มีคนรีบไปเที่ยวไปกินไปชม ยิ่งมากยิ่งดี

ภูฏานตั้งเพดานจำกัดแม้กระทั่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าประเทศให้มีประมาณต่ำกว่าเก้าพันคนต่อปี จะได้สมดุลกับจำนวนประชากรของเขาที่มีประมาณห้าแสนห้าหมื่นคน ทั้งนี้ ก็เพื่อจะไม่ได้ไป ท่องและเที่ยวโบราณสถานต่างๆ ของเขาตลอดจนไปย่ำไปปีนไปเดินหุบเขาเทือกเขาต่างๆ จนทนรอยตีนและขยะไม่ไหว

จำนวนจำกัดของนักท่องเที่ยวก็จึงส่งผลถึงความจำกัดของสายการบินและอื่นๆ ด้วยตามๆ กันไป เช่น มีสายการบินของรัฐสายการบินเดียว มีเครื่องบินสี่ลำ เป็นต้น

จริงๆ นะ กลับมาจากภูฏานได้หลายวันแล้ว แต่ในใจยังได้ยินความเงียบสงบของบ้านเมืองที่นั่น ในทุกอิริยาบถและลมหายใจได้ยินความเป็นเขตปลอดเสียงและความเร่งรีบจากวัฒนธรรมแดกด่วนรวยด่วนของที่นั่น โดยเฉพาะการเดินไปไหนมาไหน การพูดกันเบาๆ ผู้คนแม้ในเมืองหลวงยังมีเวลาแวะไปวัดได้ทุกเวลาตั้งแต่เช้าจนค่ำทุกวันเพื่อไปทำทักษิณาวรรตรอบสถูป

ชาวภูฏานอยู่กินในชีวิตประจำวันอย่างจำกัดจำเขี่ยเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่เห็นมาแม้แต่ลาวเป็นต้น ทำให้เกิดความรู้สึกเบาสบาย เหมือนกลับมาจากสถานปฏิบัติธรรมสักแห่ง ทั้งๆ ที่มิได้ไปจำศีลหรือปฏิบัติกิจทางศาสนาแต่อย่างใดที่นั่น ก็ไปเที่ยวไปกินไปนอนธรรมดาๆ นี่เอง

ชาวชนบทในภูฏานยังคงความเป็นการผลิตแบบยังชีพ เช้าวันหนึ่งที่เราเดินทางไปที่วัดของพระมหายานผู้ได้รับฉายาว่า พระบ้าๆ บอๆ ซึ่ง ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ นอกเมืองปูนาคา อันเป็นเมืองหลวงเก่าและเป็นที่ตั้งพระราชวังประทับในฤดูหนาวของพระสังฆราชา เราเดินไปบนคันนาบ้าง พื้นดินแดงแห้งๆ บ้าง ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง

ชาวบ้านและบ้านเรือนบ้านช่องก็คล้ายๆ กับชนบทเล็กๆ บ้านเรา เรือนหลังเล็กๆ หลังคามุงด้วยใบจากใบหญ้าแห้ง อิฐแผ่น สังกะสีบ้างตามที่รัฐแจกทดแทนให้เพื่อลดการตัดไม้มาผูกทำหลังคาแบบโบราณ ส่วนกำแพงบ้านชั้นล่างมักเป็นดินโคลนแห้ง ทั้งหมู่บ้านประมาณยี่สิบหลังคาเรือนมีถังไบโอแก๊สใช้ร่วมกันหนึ่งแห่ง

ด้วยอากาศค่อนข้างเย็นเพราะเข้าหน้าหนาว หลายคนกำลังนั่งตากแดด หญิงสาวกลุ่มหนึ่งกำลังย้อมผมด้วยเฮนน่าจากอินเดียให้กัน แม่ลูกอ่อนบางคนนั่งให้นมจากเต้าแก่ทารกน้อยของตน หลายคนกำลังนำข้าวเปลือกมาตากแดดบนแผ่นพลาสติกปูพื้นเพื่อไล่ความชื้น ถามไถ่ได้ความว่าเป็นข้าวจ้าวเม็ดสั้นพันธุ์ญี่ปุ่นที่ปลูกได้ดีในพื้นที่นั้น

ชาวบ้านที่นี่ได้เคยปลูกข้าวทำนาสองครั้งเพราะน้ำท่าอุดม แต่ในที่สุดก็เลิกทำ ขอปลูกเพียงครั้งเดียวเพราะว่าหากทำสองครั้ง ก็ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่มีเวลาฉลองงานเทศกาลต่างๆ

ฟังแล้วก็อดนึกถึงชนบทไทยไม่ได้ นักพัฒนาและเราชาวเมืองนิยมจะไปกล่าวหาชาวนาว่าขี้เกียจ ทำนาได้สองครั้งไม่รู้จักทำ หมดหน้านาแล้วก็อยู่ 'เฉย ๆ' มีแต่งานฉลองงานบุญงานบวชนาคงานโน้นงานนี้ทั้งฤดูนอกทำนา มีแต่สังสรรค์เมาเหล้าเมายาไปเรื่อย สมควรแล้วที่จะยากจนค่นแค้น นโยบายพัฒนาของเราจึงพยายามทำให้ชาวนาชาวไร่ทำงานทั้งปี สร้างผลผลิตไม่หยุด ต้องหารายได้ทุกฤดูแบบงานคือเงิน เงินคืองาน แต่จะบันดาลสุขหรือเปล่าก็ยากจะกล่าว

การทิ้งถิ่นออกมาหาเงินในเมืองของเราทำให้ชาวไร่ชาวนากลายเป็นชาวพลัดถิ่นสิ้นความเป็นชาวชนบทและไร้ความเป็นชาวเมือง ไม่นับว่าได้ทิ้งครอบครัวคือเด็กและคนแก่ไว้ในหมู่บ้านจนน่าตกใจขนาดไหน เห็นชนบทในภูฏานแล้วจึงยิ่งระลึกได้ถึงสิ่งที่ชนบทไทยสูญเสียไปโดยบัดนี้...ก็ไม่รู้ว่าได้อะไรตอบแทนมาคุ้มค่าหรือไม่

ไม่ได้คิดหรอกค่ะว่า ภูฏานเป็นแบบอย่างให้เราเอาเยี่ยง เพียงแต่ได้เห็นถึงวิถีชีวิตอีกอย่างหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการวางแผนการกำหนดนโยบายอีกอย่างหนึ่งของอีกประเทศหนึ่ง ก็ทำให้รู้สึกได้ลึกซึ้งและฉุกคิดว่าอะไรคือความพอเพียงซึ่งดูเหมือนว่ามันจะไม่ใช่อย่างเดียวกันนักกับความจำกัดจำเขี่ย ด้วยว่าความพอเพียงขึ้นลงผันแปรได้ตามความพอเพียงของแต่ละคนแต่ละสถานภาพ

แต่ความจำกัดจำเขี่ยดูจะมีเพดานจำกัดชัดเจนกว่า แม้ว่าทั้งความพอเพียงและความจำกัดจำเขี่ยก็มีอะไรร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือการที่มีกำหนดอะไรอย่างหนึ่งตั้งไว้ เป็นการกำหนดจากตัวของตัวเอง เป็นตัวกำหนดที่แต่ละคนตั้งไว้ตามมาตรฐานของตัว ไม่ปล่อยไปตามกระแส

ประเทศเล็กๆ ที่ยังอยู่ในวิถีการผลิตเพื่อยังชีพ อาจจะเข้าข่าย 'ล้าหลังยากจน' อย่างภูฏาน กำลังริเริ่มแนวคิด ความสุขประชาชาติ (Gross National Happiness GNP) มาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาแทนที่จะเดินตามแนวคิดรายได้ประชาชาติ( Gross National Product GNP )อย่างเดียว นับว่าน่าจับตามองและเอาใจช่วย.

ที่มา : ร้อยแปดวิถีทัศน์ กรุงเทพธุรกิจ 5 มกราคม 2549

จาก : @ - 18/06/2006 20:23

# 7

ไทย-ภูฏาน เพื่อนบ้านชาวพุทธ


ความเจริญทางวัตถุอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับภูฏาน พวกเขานึกถึงความสุขของชีวิตมากกว่าเรื่องอื่นใด เพราะรากฐานวัฒนธรรมและพุทธศาสนาอันแข็งแกร่ง


ประกอบกับพระมหากษัตริย์ มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีความสุขมากกว่าการเน้นผลผลิตรวมของประชาชาติ เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ นำเสนอบางแง่มุมของความสัมพันธ์ไทย-ภูฏาน


ถ้าจะกล่าวว่า ภูฏาน (เดิมชื่อภูฐาน) เป็นดินแดนแห่งความลี้ลับ ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย หากใครคิดจะเดินทางไปเที่ยวภูฏาน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากประเทศตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน และประเทศนี้จะคัดสรรนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ต้องใช้บริการการท่องเที่ยวของภูฏานเท่านั้น ค่าใช้จ่ายแพ็คเกจทัวร์ต่อคนวันละ 200 เหรียญสหรัฐ เป็นอัตราเหมาจ่ายทุกอย่างรวมทั้งไกด์ด้วย ถ้าไม่ผ่านส่วนนี้ทางการจะไม่ออกวีซ่าอนุญาตให้เข้าประเทศได้

วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด และพระมหากษัตริย์ของภูฏานวัย 50 ปีเศษได้พยายามวางรากฐานให้ชาวภูฏานมีความสุขในการดำเนินชีวิตมากกว่าความเจริญทางวัตถุ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงประกาศต่อชาวโลกว่า จะสละราชสมบัติให้มกุฎราชกุมาร ในปีพ.ศ. 2551 รวมถึงจัดให้มีการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครั้งแรก

เหตุผลที่กล่าวมา...ทำให้ภูฏานกลายเป็นประเทศเล็กที่มีความน่าสนใจของนานาประเทศ


1.

ภูฏานไม่ใช่อื่นไกล เป็นชาวพุทธเหมือนคนไทย เพียงแต่ชาวภูฏานนับถือพุทธศาสนาสายมหายาน และเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงนับถือนิกายตันตระเป็นศาสนาประจำชาติ ลัทธิตันตระบางคนอาจไม่ค่อยคุ้นเคยนัก ในอดีตทิเบตก็นับถือนิกายนี้เช่นเดียวกับภูฏาน ลัทธิตันตระเน้นความสำคัญของเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิง ในคติความเชื่อแบบตันตระจะพบว่าเทพเจ้าหรือพระพุทธรูปจะมีคู่ครองสวมกอดอยู่ตามแบบศิลปะตันตระ

พุทธศาสนานิกายตันตระได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า การตรัสรู้เป็นผลรวมของปัญญาและกรุณา โดยเพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา ฝ่ายชายเป็นกรุณา เรื่องเพศเป็นวิถีทางหรืออุบายในการเดินทางไปสู่การตรัสรู้

ประเทศนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยเช่นเดียวกับเนปาลและทิเบต แต่การเดินทางไปภูฏานยากยิ่งกว่า เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน โดยเฉพาะในฤดูหนาวหิมะจะโปรยปรายปกคลุมภูเขาลูกแล้วลูกเล่า การคมนาคมจึงเป็นเรื่องลำบากสำหรับชาวภูฏาน เพราะแทบจะไม่มีพื้นที่ราบเลยก็ว่าได้ จึงเป็นเรื่องยากลำบากในการสำรวจประชากร และคาดคะเนว่า ภูฏานมีพื้นที่ประมาณ 46,500 ตารางกิโลเมตร ประชากรมีราวๆ กว่า 7 แสนคน

พวกเขาเรียกตัวเองว่า ดรุก ยูล แปลว่า ดินแดนมังกร จำนวนประชากรกว่า 70 % นับถือพุทธศาสนา และเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจพอเพียงขนานแท้ เพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน แต่ก็มีนโยบายแข็งก้าวในการปกป้องวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมให้ภูฏานพ้นจากเงื้อมมือทุนนิยม

ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มดรุกปาส ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ พวกเชื้อสายทิเบต รูปร่างหน้าตาคล้ายคนไทย และพวกซังลา เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากและส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ ส่วนอีกกลุ่มเป็นเนปาลีอยู่ทางทิศใต้ของประเทศ และปัจจุบันรัฐบาลภูฏานพยายามผลักดันกลุ่มเนปาลีกลับไปยังถิ่นเดิมคือ ประเทศเนปาล

นอกจากบ้านเรือนชาวภูฏานจะตั้งอยู่บนภูเขาสูงแล้ว ยังไม่มีทางออกทะเล ทิศเหนือติดกับจีนและทิเบตและทิศใต้ติดกับอินเดีย ทั้งประเทศตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย มียอดเขาที่มีความสูงกว่า 7,000 เมตร มากกว่า 8 ยอด

แม้กระทั่งเมืองหลวง กรุงทิมปู ของภูฏาน ก็ตั้งอยู่ในที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกราวๆ 2,350 เมตร เป็นอีกเมืองที่มีความสวยงาม ถนนหนทางมีความสูงต่ำต่างกันไป ชาวภูฏานจะใช้ภาษาซองก้า (Dzongkha) แต่เดิมเป็นภาษาท้องถิ่นแถบตะวันตกของภูฏาน ต่อมากลายเป็นภาษาประจำชาติ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในสถาบันการศึกษาและติดต่อธุรกิจ และไม่ต้องแปลกใจที่คนภูฏานจะพูดอังกฤษได้คล่องแคล่วเหมือนคนอินเดีย

ถ้าใครอยากรู้ว่า ความสูงของพื้นที่ในภูฏานมากเพียงใด ลองนึกถึงยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกคือ เอฟเวอเรสต์ ซึ่งมีความสูงถึง 8,848 เมตร และอยู่ไม่ไกลจากภูฏาน ระดับความสูงที่ต่ำสุดของภูฏานอยู่ทางใต้ของประเทศอินเดียคือ ระดับ 300 เมตร และสูงสุดคือ ยอดเขาโจโมลาจิสูงถึง 7,341 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ลักษณะภูมิประเทศทำให้ภูฏานเสมือนหนึ่งประเทศปิด คนภูฏานห่างไกลจากความเจริญ ไม่ค่อยมีโอกาสพบปะชาวต่างชาติบ่อยนัก พวกเขามีรอยยิ้มที่จริงใจ มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และมักจะแต่งกายชุดประจำชาติตามปกติในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ภูฐาน ก็ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดประจำชาติ

ภูฏานเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ลึกล้ำที่คนต่างชาติอยากเดินทางมาสัมผัสวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่รัฐบาลได้วางมาตรการการท่องเที่ยวไว้อย่างเข้มงวด รวมถึงมีสายการบินเดียวเท่านั้นที่บินมาภูฏาน คือสายการบินแห่งชาติภูฏาน (ดรุ๊กแอร์ )


2.

ภูมิประเทศของภูฏาน น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศในหุบเขาลึก ไม่เคยตกเป็นเมืองอาณานิคมของประเทศใด

ในศตวรรษที่ 17 ก่อนที่ภูฏานจะมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศ นักบวชซับดุง นาวัง นำเยล ได้รวบรวมภูฏานให้เป็นปึกแผ่น แล้วก่อตั้งเป็นประเทศ บริหารประเทศสองระบบคือ แยกเป็นฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์

พอเข้าศตวรรษที่18 บริษัทเอเชียตะวันออกของอังกฤษได้พยายามสนับสนุนให้ราชาผู้ครองรัฐพิหารรุกรานภูฏาน แต่ในที่สุดพบว่า ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ จึงล่าถอยไปและทิ้งให้ภูฏานเป็นรัฐในอารักขาของราชาแห่งพิหารประเทศ จนในปี ค.ศ.1865 หลังสงครามดูอาร์ อังกฤษยอมรับเอกราชของภูฏานในสนธิสัญญาซินชูลา และปล่อยให้ภูฏานปกครองตัวเอง

หลังจากนั้นภูฏานเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างสองนครกลางหุบเขาปาโรและตองชา จนในที่สุด ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) พระราชาธิบดีอูเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck) ขณะนั้นเป็นผู้ปกครองเมืองตองซา พระองค์ทรงมีลักษณะผู้นำและเป็นผู้นำที่เคร่งศาสนาและมีความตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ได้รวบรวมประเทศเข้าด้วยกัน และพระองค์ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของภูฏาน ปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล

ส่วนประมุขของประเทศองค์ปัจจุบัน ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2517 (ค.ศ.1974 ) เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก มีนามว่า พระราชาธิบดีจิกเม ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck)

ในปี ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) ทรงมีพระราโชบายเปลี่ยนแปลงระบอบการบริหารราชการแผ่นดินภูฏาน โดยการกระจายอำนาจและลดการรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองภูฏาน และพระมหากษัตริย์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกต่อไป

รัฐบาลภูฏานชุดปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ และการปฏิรูปไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2550) โดยมีเป้าหมายในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกเม ซิงเย วังชุก ทรงริเริ่มปรัชญาในการพัฒนาประเทศที่นานาประเทศรู้จักดีคือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ เน้นการพัฒนาให้ประชาชนมีความสุขและความพึงพอใจ มากกว่าการวัดการพัฒนาด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

แม้ภูฏานพยายามจะเปิดประเทศให้มีการลงทุนจากนักธุรกิจต่างชาติมากขึ้น แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าต้องเป็นการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของประเทศ เพราะภูฏานเป็นสังคมเกษตรกรรมเรียบง่าย ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ จึงต้องสั่งซื้อสินค้าจากประเทศใกล้เคียง

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายควบคุมสื่อ ภูฏานเพิ่งมีโทรทัศน์เมื่อปี 2542 และมีเพียงสถานีแห่งชาติแห่งเดียวเท่านั้น ตอนนั้นมีการเผยแพร่ภาพฟุตบอลโลกคู่ชิงชนะเลิศที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกในโทรทัศน์ และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา สื่อบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยิ่งคนภูฏานเรียนรู้โลกมากเท่าใด ก็ยิ่งสูญเสียวัฒนธรรมของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น


3.

ภูฏานได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2548 ได้ศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ กว่า 150 ประเทศ รวมทั้งของไทยด้วย และในปี 2551 ภูฏานจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นปีที่ภูฏานมีการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครบ 100 ปี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2548 พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า พระองค์จะสละราชบัลลังก์ให้กับมกุฎราชกุมารจิกเม เคเซอร์ นัมเยล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) ในปี 2551 ซึ่งได้สร้างความตะลึงให้กับชาวภูฏานอย่างมาก เพราะพวกเขาศรัทธาและเชื่อมั่นในพระมหากษัตริย์ และเกรงว่าประชาธิปไตยอาจก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายและฉ้อราษฎร์บังหลวงเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน

แม้การเปลี่ยนแปลงทางการของภูฏานจะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโลก แต่ชาวภูฏานก็ยังยึดมั่นในองค์พระมหากษัตริย์ พุทธศาสนาและวัฒนธรรมอย่างเหนียวแน่น

“พระมหากษัตริย์ภูฏานเป็นที่เคารพรักของประชาชนมาก เหมือนในหลวงของเรา กษัตริย์ที่นั่นอุทิศตัวเพื่องานของบ้านเมืองอย่างมาก ไม่ถือพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีและมีนิสัยประหยัด ดูแลประชาชนอย่างจริงใจ ทุกบ้านในภูฏานจะมีรูปพระมหากษัตริย์ติดไว้ จุดนี้เองทำให้คณะรัฐมนตรีถวายงานกับพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ มีความตั้งใจเพื่อความสุขประชาชน ผมคิดว่าการคอร์รัปชันที่นี่ค่อนข้างน้อย”

สุรวีร์ วาณิชเสณี ช่างภาพอิสระที่เคยเข้าไปถ่ายภาพในภูฏาน ปัจจุบันเขาทำหน้าที่ประสานงานการฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมให้ภูฏาน เล่าถึงพระมหากษัตริย์ภูฏาน เพราะเขาเองมีเพื่อนเป็นข้าราชการชาวภูฏาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการสละราชสมบัติของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของภูฏาน ทั้งๆ ที่พระองค์มีพระชนมายุกว่า 50 พรรษา แต่พระองค์ต้องการให้เส้นทางประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศ และทรงเป็นผู้วางรากฐานการพัฒนาประเทศ โดยเน้นที่ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross Nation Happiness)

แม้แนวคิดนี้จะดูเป็นนามธรรมเกินไป แต่หลายคนที่เคยมาเยือนภูฏาน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ประชาชนมีอัธยาศัยดี มีน้ำใจ พวกเขาปะทะสังสรรค์กับโลกภายนอกน้อยมาก

นอกจากนโยบายการดูแลเรื่องการท่องเที่ยวภูฏานอย่างเคร่งครัด ยังมีนโยบายการปลูกป่าทดแทน ทำให้ภูฏานยังมีป่าและสภาพแวดล้อมอันงดงามให้ชื่นชมกว่า 70 % พวกเขาไม่ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทำลายความบริสุทธิ์ของป่าเขาหรือความเงียบสงบของวัด

เมื่อปีที่แล้วมีผู้เล่าว่า เคยมีหมู่บ้านหนึ่งติดตั้งไฟฟ้าทุกบ้าน แต่แล้วก็เกิดเหตุนกกระเรียนหลายตัวบินไปติดสายไฟฟ้าถูกไฟช็อตตาย ชาวบ้านก็เลยพร้อมใจถอนเสาไฟฟ้าออกหมด แล้วหันมาใช้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แทน

นอกจากนี้ภูฏานยังติดอันดับประเทศยากจนแห่งหนึ่งของโลก เมื่อปีที่แล้วมีรายได้ต่อหัวเดือนละไม่ถึง 5,000 บาท แต่ชาวภูฏานทุกคนจะมีที่ดินทำกินที่รัฐบาลจัดสรรให้ 10 ไร่

สุรวีร์ ให้ความเห็นว่า แม้กษัตริย์องค์ปัจจุบันจะเห็นว่า ตัวเลขและความเจริญทางวัตถุเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความสุขในชีวิตย่อมสำคัญกว่า

“เพื่อนผมบอกว่า พระมหากษัตริย์ของเขา ไม่นิยมใช้ชีวิตหรูหรา เขามีบ้านเล็กๆ อยู่ในป่า พอพระองค์ประกาศว่าจะสละราชสมบัติ ประชาชนก็เศร้า ไม่อยากให้ทรงลงจากพระราชอำนาจ แต่พระองค์เห็นว่า ถึงเวลาจะต้องพักผ่อน พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ไม่ค่อยเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนองค์หญิงของภูฏานก็เคยเดินทางมาเมืองไทยเป็นการส่วนพระองค์ คนภูฏานก็ชอบเดินทางมาเมืองไทย ส่วนใหญ่มารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลบ้านเรา”

4.

ราชอาณาจักรภูฏานปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศและเป็นศูนย์รวมจิตใจเช่นเดียวกับประเทศไทย เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 และรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ ดูแลราชอาณาจักรภูฏานอีกแห่ง และภูฏานได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตภูฏานประจำประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540

แม้กษัตริย์องค์ปัจจุบันของภูฏานจะไม่เคยเสด็จมาเยือนประเทศไทย แต่เชื้อพระวงศ์ของภูฏานก็เคยเสด็จมาเยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์

“ภูฏานเป็นประเทศเล็กๆ พวกเขามีทัศนคติที่ดีกับคนไทยมาก แม้กษัตริย์ของเขาจะไม่เคยมาเยือนเมืองไทย แต่ตอนที่คุณพุ่มเสียชีวิต ราชวงศ์ภูฏานก็ส่งสาสน์มาแสดงความเสียใจ หรือวันครบรอบวันประสูติของในหลวง ก็มีสาสน์แสดงความยินดี พระโอรสและพระธิดาในราชวงศ์ปัจจุบันก็เคยเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เคยมารักษาพยาบาลในเมืองไทย และมาท่องเที่ยว” วิชัย ศักดิ์เกรียงไกร ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงาน สถานเอกอัครราชทูตภูฏาน กล่าว

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เคยเสด็จเยือนประเทศภูฏาน แต่สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เคยเสด็จฯ เยือนภูฏานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2531 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯทรงเสด็จเยือนภูฏานเมื่อเดือนมิถุนายน 2534 รวมถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเคยเยือนภูฏานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2548

ทางฝ่ายรัฐบาลภูฏานเคยส่ง ฯพณฯ ลียอนโป จิกมี เยาเซอร์ ตินลีย์ ( Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley) นายกรัฐมนตรีภูฏาน พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอด BIMSTEC เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังภูฏาน ได้รับเชิญจากผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม RTM for Bhutan รอบที่ 9 ที่นครเจนีวา เมื่อเดือนมกราคม 2549

นอกจากความสัมพันธ์ของไทย-ภูฏานแล้ว พระมหากษัตริย์ภูฏานยังทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับหลายชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย

สุรวีร์บอกว่า ทางเหนือสุดของภูฏานติดกับจีนเป็นภูเขาสูง เดินทางค่อนข้างยากลำบาก จึงเหลือเพียงเส้นทางอินเดีย ในทางการเมืองภูฏานเองก็หวั่นเกรงจีน กลัวว่ามาเข้ายึดดินแดนพวกเขาเหมือนทิเบต เพราะนี่เป็นเรื่องระบบโลก

“ภูฏานก็เลยเจริญสัมพันธไมตรีกับอินเดียไว้อย่างแน่นแฟ้น อินเดียให้การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมกับภูฏาน และสินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากอินเดีย ประหนึ่งว่าภูฏานเป็นน้องอินเดีย”

ที่มา : จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ 2 พฤษภาคม 2549

จาก : @ - 18/06/2006 20:25

# 8

ว่าที่กษัตริย์เนื้อหอม แห่งภูฏานพระจริยาวัตรโดนใจสาวไทย



บุคลิกสุดเนี้ยบ และกิริยาถ่อมเนื้อถ่อมตนของ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน โดนใจสาวไทยเข้าอย่างแรงๆๆ!! ถึงขนาดระบาดกลายเป็น “จิกมีฟีเวอร์” คลั่งไคล้ความอ่อนน้อมไปมาลาไหว้ของ “เจ้าชายตี๋หล่อ” จากแดนมังกรอสุนีกันทั้งเมือง (กรี๊ดๆๆ)!!

ความน่ารักและสุภาพเรียบร้อยหมดจดของ “มกุฎราชกุมารจิกมี” ยังได้รับการยืนยันจากผู้หลักผู้ใหญ่ในวัง ระหว่างเสด็จเยือนไทยครั้งนี้เช่น กันว่า “เจ้าชายจิกมี” ทรงฉลาดมาก และทรงมีพระอัธยาศัยดีน่ารัก!!




ไม่เพียงแต่จะถูกใจสาวไทยตรงความเป็นหนุ่มตี๋หน้าตาอินเทรนด์เท่านั้น แต่ “เจ้าชายจิกมี” ยังทรงพร้อมไปด้วยสติปัญญาความรู้, ทรงมีความคิดอ่านที่ดี และทรงห่วงใยประเทศชาติเหนือกว่าสิ่งอื่นใด โดยทรงถือคติประจำพระองค์ว่า ประโยชน์ส่วนรวมย่อมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน... ความปรารถนาและเป้าหมายสูงสุดในชีวิตขออุทิศให้ประเทศชาติ




มกุฎราชกุมารจิกมี พระชนมายุเพียง 26 ชันษา ทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตของ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ประมุขแห่งภูฏาน กับพระมเหสีองค์ที่สาม “สมเด็จพระราชินีอาชิ เชริง ยางดอน วังชุก” ทรงมีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดาอย่างละพระองค์ พระภคินีต่างพระมารดา 1 พระองค์ พระขนิษฐาต่างพระมารดา 3 พระองค์ และพระอนุชาต่างพระมารดาอีก 3 พระองค์ ส่วนการศึกษา ทรงจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก่อนจะทรงเข้าคอร์สศึกษาหลักสูตรการป้องกันประเทศจากวิทยาลัยการทหารแห่งชาติ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และเพิ่งคว้าปริญญาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ จากเคนเนดี้ สคูล ออฟ กอเวอร์แนนส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2548

ไม่ว่าใครจะลือผิดลือถูกว่า เจ้าชายจิกมีของพวกเรา ทรงมีแฟนเป็นสาวไทย หรือเกินเลยไปใหญ่ถึงขั้นว่า ทรงมีนางสนมถึง 4 องค์ และทุกองค์บินมาเที่ยวภูเก็ตด้วย เพื่อร่วมสัมผัสความสวยงามของท้องทะเลไทย!! แต่ราชเลขาส่วนพระองค์ของมกุฎราชกุมารภูฏาน ยืนยันแล้วยืนยันอีกกับทีมข่าวสตรีไทยรัฐว่า ล้วนแต่ขี้จุ๊ ข้อมูลมั่วซั่วทั้งนั้น ที่จริงคอนเฟิร์มได้ว่า องค์พระราชบิดาคือ “สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก” ต่างหากที่ทรงมีพระมเหสี 4 พระองค์ และล้วนแต่เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน!! ส่วน “เจ้าชายจิกมี” นั้น ยังทรงโสดสนิท และไม่มีวี่แววจะอภิเษกสมรสในเร็วๆนี้!! เพราะทรงหายใจเข้าออกเป็นงาน...งาน และงาน โดยอุทิศพระองค์เพื่อการพัฒนาราชอาณาจักรภูฏานทุกวินาที!!




ที่จริงก็ทรงมีสเปกสาวในดวงใจอยู่เหมือนกัน โปรดผู้หญิงที่เฉลียวฉลาด และมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ถ้าจะให้ตรงใจที่สุด ก็น่าจะเป็นสาวเอเชียมากกว่าฝรั่งผมทอง...สาวใดไปรอเฝ้าที่ภูเก็ต เพราะอยากเห็น “เจ้าชายตี๋หล่อ” ทรงพาราเซลลิ่งแอนด์อาบแดด คงจะโล่งใจแล้วสิ!!

ตามปกติแล้ว เจ้าชายภูฏานพระองค์นี้ จะทรงตื่นเช้ามาก และทรงงานจนดึกดื่นกว่าจะทรงเข้าบรรทม หากจะพักผ่อนก็โปรดการอ่านหนังสือ, ถ่ายภาพ, วาดภาพ หรือไม่ก็ทรงกีฬากลางแจ้ง อย่างเช่น จักรยาน, ตกปลา และพาราเซลลิ่ง นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยเรื่องการพัฒนาชนบทเป็นพิเศษ โดยเคยเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง และได้มีโอกาสทอดพระเนตรโครงการหลวงที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมกับเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์




ด้วยความที่ทรงใส่ใจในทุกข์สุข และรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน อย่างจริงจัง จึงทรงเป็นที่รักของชาวภูฏานทุกคน ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดง จนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ โดยจะตามเสด็จพระราชบิดาออกเยี่ยมเยือนประชาชนทั่วทุกมุมของประเทศ นอกจากนี้ยังทรงติดดินมาก และดำเนินชีวิตอย่างสมถะเช่นเดียวกับพระราชบิดา ซึ่งทรงมุ่งมั่นนำพาประเทศไปสู่ การพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอนุรักษ์ ประเทศไว้ให้เป็นดินแดนเล็กๆ ที่มีอัตราการเจริญเติบโตของความสุขเป็นเครื่องวัดความเจริญ มากกว่าจะใช้ค่าจีดีพีเป็นดัชนีชี้วัด

และเพื่อเป็นแบบอย่างอันดีแก่ประชาชนในการ อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของประเทศ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีภูฏาน ซึ่งได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลแห่งปี 2006 ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลก “เจ้าชายจิกมี” และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ จึงทรงฉลอง พระองค์ชุดประจำชาติทุกครั้งที่ปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะ พร้อมทั้งทรงสนับสนุนการใช้ภาษาประจำชาติในการสื่อสาร และทรงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพื้นเมืองของภูฏานเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการแข่งชักเย่อ, ขี่ม้าส่งเมือง และพิลโลว์ ไฟท์ สร้างความประทับใจแก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง




การเตรียมความพร้อมให้ประชาชนชาวภูฏาน เข้าใจถึงการเปลี่ยน แปลงการปกครองประเทศ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2551 ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญเร่งด่วนของ “เจ้าชายจิกมี” ในขณะนี้ พระองค์เคยรับสั่งถึง เรื่องนี้ว่า เป็นหน้าที่ของพวกเราและประชาชนทุกคน ที่จะต้องมา นั่งพูดคุยกันถึงรายละเอียดทุกแง่มุมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อค้นหาแนวทางที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติของเรามากที่สุด

การเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศของภูฏาน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2541 เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีภูฏานพระราชทานอำนาจ ในการบริหารประเทศรายวันให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี และในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ทรงสร้างความตกตะลึงครั้งใหญ่ ด้วยการประกาศว่า จะสละราชสมบัติในปี 2551 เพื่อทรงเปิดทางให้มกุฎราชกุมารจิกมี เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์แรกของประเทศ พร้อมกับจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ นำพาภูฏานไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ!!




ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่ถึงสองปีนี้ ทั้งพระประมุขภูฏานองค์ปัจจุบัน และว่าที่พระประมุข “เจ้าชายจิกมี” ต่างช่วยกันคนละไม้ละมือเสด็จตระเวนไปทั่วประเทศ เพื่อทรงให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

และไม่ว่าโฉมหน้าของประเทศภูฏานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มกุฎราชกุมารจิกมีก็ยังทรงให้คำมั่นว่า สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก จะไม่มีวันละทิ้งประชาชนของพระองค์ โดยจะทรงอยู่เบื้องหลังคอยดูแลภาพ รวมการปกครองประเทศ...“ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถาบันพระมหากษัตริย์จะยิ่งต้องมีบทบาท สำคัญในการปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ ตั้งแต่เราศึกษารัฐธรรมนูญมามากมายหลายฉบับ เรายังไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใดจะให้สิทธิแก่ ประชาชนครอบคลุมอย่างกว้างขวางเท่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ของภูฏาน”




การเจริญรอยตามพระราชบิดาเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนัก และเข้าถึงหัวใจของประชาชนอย่างแท้จริง คือสิ่งที่มกุฎราชกุมารจิกมีทรงตั้งพระปณิธานไว้...“ประเทศของเรา คงจะไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใด จะยิ่งใหญ่ไปกว่าพระราชบิดาของเรา และในประวัติศาสตร์ของภูฏาน คงไม่มีพระประมุขพระองค์ใดจะเสมอเหมือนกับสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก...สำหรับเราแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นพระประมุขของเรา, ทรงเป็นครูผู้เป็นแบบอย่าง, ทรงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ และทรงเป็นกูรูผู้หยั่งรู้ในสรรพสิ่ง”




“ภูฏาน” อาจเป็นเพียงประเทศเล็กๆขนาด 3 หมื่นกว่าตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ติดกับทิเบตและอินเดีย มีประชากรเพียง 6 แสนกว่าคน แต่อนาคตของดินแดนมังกรอสุนีแห่งนี้ น่าจะเจริญรุ่งเรืองไม่น้อยหน้าใคร เพราะได้ว่าที่พระประมุของค์ใหม่ ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยเสน่ห์ และมีศิลปะแห่งการครองใจคน!!

ที่มา : ข่าวสังคม-สตรี ไทยรัฐ 18 มิถุนายน 2549

จาก : @ - 18/06/2006 23:07

# 9

มากกว่าคำว่า “เจ้าชายรูปงาม” เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก



ณ นาทีนี้เห็นไม่มีใครที่จะไม่พูดถึง เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก องค์รัชทายาทหนุ่มน้อยแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ดินแดนแห่งหุบเขาไกลโพ้น จากพระจริยวัตรที่งดงามเป็นที่ประทับใจต่อผู้พบเห็น ที่ทรง “บังคม” ถวายพระบรมวงศ์ของไทย และยังพนมมือ “ไหว้” ต่อผู้อาวุโสอย่างไม่มีอาการเคอะเขิน ที่ทรงแสดงออกบ่อยครั้งอย่างเป็นธรรมชาติ



ประกอบกับพระพักตร์ที่ “งาม” เข้าสมัย พระเกศาดำมัน พระวรกายสูงโปร่ง พระฉวีขาวใส พระปรางเป็นสีชมพูอ่อน แสดงถึงพระพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ทรงกลายเป็นเจ้าชายที่ถูกบรรดาตากล้องและช่างภาพของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ พากันกระหน่ำรัวยิงภาพจนเสียงชัตเตอร์ดังราวกับข้าวตอกแตก สลับด้วยแสงแฟลชที่วูบวาบไม่ขาดสาย ด้วยทรงถูกฉายภาพยิ่งกว่าเจ้าชายพระองค์ใดที่เสด็จมาร่วมในงานพระราชพิธีฯในครั้งนี้


จาก : manager online 1 - 19/06/2006 16:35

# 10



ด้วยพระชันษาเพียง 26 ปี แต่ยังทรงดูเยาว์วัยกว่าพระชันษาจริงเสียอีก ซ้ำยังเสด็จพระราชดำเนินมาเพียงลำพัง ไม่มีวี่แววของคู่หมั้นคู่หมายแม้แต่น้อย ยามแย้มพระสรวลก็ยิ่งทำให้พระพักตร์เพิ่มความ “น่าเอ็นดู” เป็นที่สุด เล่นเอาหัวใจของเหล่าสตรีเพศที่จ้องมองอยู่ออกอาการปลื้มสุดๆ ชนิดหลายคนเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่แทบอยากจะร้องกรี๊ดๆ ยามเมื่อที่ทรงแย้มพระสรวลให้ผู้มารอเฝ้าฯ ขนาดล่าสุดได้ยินมาว่าเริ่มมีแฟนคลับของเจ้าชายขึ้นมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีสาวๆ มากกว่าหนุ่มๆ แน่




หลายคนอาจจะเพิ่งเคยยลโฉมเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ เป็นครั้งแรกในการเสด็จมาถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ความจริงนั้นเจ้าชายทรงคุ้นเคยกับเมืองไทยมากเพราะเสด็จมาประทับตั้งแต่ทรงพระเยาว์แล้ว โดยปกติจะประทับห้องสวีทของโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซา กรุงเทพฯ ประจำ ใครที่เคยเข้าเฝ้าองค์รัชทายาทมาแล้วต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าทรงสุภาพอ่อนน้อม ทรงไหว้ทุกคนที่เฝ้ารับเสด็จ และจะวางพระองค์ง่ายๆ ไม่ชอบพิธีรีตองมากมาย


จาก : manager online 2 - 19/06/2006 16:43

# 11



เรามักจะคุ้นเคยกับฉลองพระองค์เป็นชุดประจำชาติที่ทรงอยู่เกือบตลอด แต่ยามปกติพระองค์ก็จะทรงกางเกงยีนส์และเสื้อแจ็กเกตสีดำเฉกเช่นหนุ่มๆ ทั่วไป และที่น่าดีใจอีกอย่าง คือ ทรงโปรดเสวยอาหารไทยมาก และทรงยึดถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแบบอย่างอีกด้วย ทรงมีความชำนาญในกีฬายิงธนูอันเป็นกีฬาประจำชาติเป็นอย่างยิ่ง และยังสามารถเล่นบาสเกตบอลได้อย่างดี ทั้งสองชนิดคือกีฬาทรงโปรดของพระองค์


จาก : manager online 3 - 19/06/2006 16:45

# 12



สำหรับพระราชประวัติส่วนพระองค์นั้น เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระรามาธิบดี จิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน กับพระราชินีองค์ที่ 3 คือ สมเด็จพระราชินี อาชิ เชอริง ยางดน วังชุก โดยสมเด็จพระรามาธิบดีทรงอภิเษกสมรสกับพระราชินี 4 พระองค์ตามโบราณราชประเพณี ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาอย่างละพระองค์ พระอนุชาต่างพระมารดาสามพระองค์ และพระขนิษฐาต่างพระมารดาอีกสามพระองค์



จาก : manager online 4 - 19/06/2006 16:46

# 13



ประสูติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1980 และทรงได้รับการศึกษาชั้นต้นในราชอาณาจักร จากนั้นเมื่อเจริญพระชันษาจึงได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ Cushing Academy ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำสหศึกษาที่มีชื่อเสียงของมลรัฐ แมสซาชูเซตต์ มีอายุกว่า 100 ปีและทรงศึกษาต่อที่ Wheaton Collage ที่ชิคาโก ก่อนที่จะเสด็จมาศึกษาต่อในขั้นอุดมศึกษาที่ Magdalen Collage,Oxford University ประเทศอังกฤษ ในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสาขาวิชารัฐศาสตร์ ชึ่งระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่นี่ ทรงใช้รถจักรยานเป็นพระพาหนะในการเสด็จพระดำเนินในบริเวณมหาวิทยาลัยและที่ประทับ



เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ได้เสด็จกลับสู่มาตุภูมิทรงโปรดเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในฐานะองค์รัชทายาทหลายครั้ง โดยเสด็จเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี ค.ศ.2002 และอีกครั้งในปีถัดมา เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีและเพื่อที่จะศึกษาขนบธรรมเนียมและประเพณีของมิตรประเทศ รวมไปถึงการดูงานเรื่องการศึกษา และเศรษฐศาสตร์ อันจะเป็นประโยชน์สำหรับพระองค์เองในอนาคต



จาก : manager online 5 - 19/06/2006 16:47

# 14



ราชอาณาจักรภูฏานยังคงอยู่ใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระราชบิดาทรงเป็นองค์พระประมุข และกำลังอยู่ในช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ด้วยพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้องค์มกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ฯ เสด็จขึ้นครองราชย์แทน และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้นำเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองแทนระบอบเดิม ที่ทรงเห็นว่าจะเป็นการนำราชอาณาจักรของพระองค์ไปสู่ความก้าวหน้าเฉกเช่นอารยประเทศและมิตรประเทศอื่นๆ

ดังนั้น ปัญหาที่ต้องแก้ไขเป็นปฐมบทก็คือ เรื่องของการศึกษาอันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ประชากรชายชาวภูฏานมีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศที่อ่านออกเขียนได้ ส่วนประชากรหญิงมีเพียงประมาณหนึ่งในสี่เท่านั้น ซึ่งองค์มกุฎราชกุมารพระองค์นี้ทรงเป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชน โดยเน้นถึงความสำคัญของการศึกษาแผนใหม่ ซึ่งก็ได้มีการพยายามที่จะร่างแผนพัฒนาการศึกษาที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก

สิ่งสำคัญที่พระราชบิดาทรงมีพระราชดำรัสในวันชาติของภูฏานเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่เมืองทิมพู ก็คือ การพัฒนาความเป็นอยู่และความคิดของชาวภูฏานให้สอดคล้องและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตของยุคโลกาภิวัตน์ นั่นก็หมายความถึงพระภาระอันหนักอึ้งของราชอาณาจักรที่ตกเป็นของเจ้าชายหนุ่มน้อยพระองค์นี้ ที่ต้องทรงใช้พระสติปัญญาในการนำประชาชนไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

ส่วนสาวใดที่สนใจอยากจะไปภูฏานนั้นให้รู้ไว้ด้วยว่าภูฏานเป็นเพียงดินแดนเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัย ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีสนามบินเพียงแห่งเดียวซึ่งเป็นสนามบินขนาดเล็กที่มีความยาวของรันเวย์จำกัด เนื่องจากมีพื้นราบที่จะสร้างได้เพียงเท่านั้น ซ้ำรันเวย์ยังถูกกระหนาบด้วยแนวภูเขาทั้งสองข้าง ดังนั้น กัปตันผู้นำเครื่องบินลงจอดต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ

และด้วยขนาดของรันเวย์นี้เองที่เป็นข้อกำหนดขนาดของเครื่องบิน สายการบินของภูฏานเป็นเพียงสายการบินเดียวที่มีจำนวนเที่ยวบินเข้าออกจากโลกภายนอกมากที่สุด รองลงมาเป็นสายการบินของเนปาล ที่มีเที่ยวบินนำผู้โดยสารเข้าออกจากกรุงกาฐมัณฑุ

ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใน 3 เมืองหลัก คือ พาโร ทิมพู และปูนาคาซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า เส้นทางสัญจรระหว่างเมืองต่างๆเป็นถนนลาดยางสายเล็กๆที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขา เป็นเส้นทางผ่านดงต้นโรโดเดนดรอนที่เป็นไม้ป่า มีเต็มทั่วทั้งหุบเขาให้ดอกสีแดงและชมพูสะพรั่ง สวยงามมากในฤดูใบไม้ผลิ



จาก : manager online 6 - 19/06/2006 16:49

# 15

รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ที่ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องชำระค่าวีซ่าถึงคนละ 40 ดอลลาร์อเมริกันต่อวัน และจำนวนที่นั่งของเที่ยวบินในแต่ละปีมีจำนวนไม่มากนัก จึงทำให้ภูฏานติดอันดับของแหล่งท่องเที่ยวประเภท “UNSEEN” ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้ต้องเป็นผู้มีฐานะ จึงเห็นแต่นักท่องเที่ยวจากโลกตะวันตก ญี่ปุ่น และผู้ประกอบธุรกิจจากอินเดีย และเนปาล

ประชาชนส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธในแบบมหายาน นิกายตันตระ ที่ทุกคนต้องสวดมนต์ที่ศาสนสถานให้ได้คนละ 108 จบในแต่ละวัน บทสวดมนต์ขึ้นต้นด้วยคำว่า “โอม มุนี ปัทเม ฮุม” ผู้สวดทุกคนต้องสวดในท่าหมอบราบ ไถลตัวขนานไปกับพื้นดิน และต้องหมุนวงล้อให้ครบตามจำนวนบทที่สวด

อาชีพส่วนใหญ่คืออาชีพเกษตรกรและเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกกระทำได้เพียงปีละครั้ง เป็นปัญหาสำคัญของชนพื้นเมืองที่ผลผลิตคงเก็บไว้เพียงบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ในยามว่างผู้ชายจะออกมาฝึกซ้อมยิงธนูอันเป็นกีฬาประจำชาติ ส่วนผู้หญิงทำงานบ้าน เลี้ยงลูก และเย็บปักถักร้อย โดยปกติชายชาวภูฏานสามารถมีภรรยาได้ถึงสี่คน

ในวันที่ได้รับพระราชทานรางวัลจากพระราชบิดา ที่พระราชวัง ซามเทลลิ่ง เป็นผ้าพันคอสีแดง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ทรงรับสั่งว่า “ใม่มีสิ่งใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของพระราชบิดา การบำรุงอาณาประชาราษฎร์และบำบัดทุกข์เพื่อให้ประชาชนชาวภูฏานได้รับประโยชน์สุขสูงสุดโดยทั่วถึงกัน”

***หมายเหตุ***

ข้อมูลจากสายการบิน Druck Air ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติภูฏาน บอกว่า เมื่อไม่นานมานี้ ทางประเทศภูฏานมีกฏสำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศว่า จะกำหนดค่าใช้จ่ายคนละ 200 ดอลลาร์ ต่อวัน และจะต้องอยู่ในประเทศภูฏานเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 วัน ( ถ้าอยู่เกิน 10 วันจะได้ลดอีก 10 % ) ซึ่งเงินจำนวนนี้จะต้องชำระล่วงหน้า หลังจากนั้นจะออกใบรับรองค่าใช้จ่ายเพื่อนำใบนี้ไปแสดงตอนขอวีซ่าเมื่อถึงสนามบินของประเทศภูฏานในราคา 20 ดอลลาร์

สำหรับค่าใช้จ่ายที่กำหนดวันละ 200 ดอลลาร์นั้นหมายถึงช่วง high season แต่ในช่วง low season ซึ่งอากาศหนาวอยู่นานถึง 6 เดือนนั้นจะลดราคาให้เสียค่าใช้จ่ายคนละ 165 ดอลลาร์ต่อวัน

****************************


ที่มา : MetroLife ผู้จัดการออนไลน์

จาก : manager online End - 19/06/2006 16:52

# 16

very very smart :)

จาก : pimjai - - pimjai@chicchannel.com - 21/06/2006 13:38

# 17

ราชอาณาจักรภูฏานKingdom of Bhutan



ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับทิเบต 470 กิโลเมตร และอาณาเขตด้านอื่นๆ ติดกับอินเดีย 605 กิโลเมตร ไม่มีทางออกทะเล ( land – locked country )
พื้นที่ 47,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงทิมพู (Thimphu)
เมืองสำคัญต่างๆ เมืองพาโร (Paro) เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ เมืองพูนาคา (Punaka)เป็นเมืองที่มีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของพระราชวังฤดูหนาว และเป็นที่ราบสำหรับทำการเกษตร
ประชากร คน 752,693 คน
อัตราการเพิ่มของประชากรร้อยละ 2.14 (ปี 2546) ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ ได้แก่ Sharchops(ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยภาคตะวันออก)
Ngalops(ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตก) และ Lhotshams (ชนเชื้อสายเนปาล ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้)
ศาสนา ศาสนาพุทธมหายาน นิกาย Kagyupa (มีลามะเช่นเดียวกับทิเบต) ร้อยละ 75 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติ Sharchops และ Ngalops) และศาสนาฮินดูร้อยละ 25 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติ Lhotshams)
ภาษา ซองข่า (Dzongkha) เป็นภาษาราชการภาษาอังกฤษใช้เป็นสื่อกลางในสถาบันการศึกษาและในการติดต่อ ธุรกิจภาษาธิเบตและภาษาเนปาลมีใช้บางส่วนในทางภาคใต้ของประเทศ
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือโดยรวม ร้อยละ 42.2
อัตราการรู้หนังสือในเพศชายร้อยละ 56.2 และเพศหญิงร้อยละ 28.1
วันชาติ 17 ธันวาคม (พ.ศ. 2450 หรือ ค.ศ. 1907) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนา สมเด็จพระราชาธิบดี Ugyen Wangchuck ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของภูฏาน
ระบบการปกครอง ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล
จนเมื่อปี 2541 (ค . ศ .1998) สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้ทรงมีพระราโชบายเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินภูฏาน ซึ่งถือเป็นจุด เปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองภูฏานเป็นการกระจายอำนาจและลดการรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว และมีสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ทำหน้าที่ผ่านกฎหมายแต่งตั้งสมาชิกระดับสูงของคณะรัฐบาลและให้คำแนะนำข้อราชกาารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปีมีสมาชิก 150 คน ประกอบด้วยผู้แทนประชาชน 105 คน ผู้แทนจากคณะรัฐบาล(ได้รับการเสนอชื่อจากกษัตริย์)35 คน และผู้แทนจากองค์กรทางศาสนา
10 คน
ประมุข ประมุขของประเทศองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบจิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) ขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2515 (ค.ศ.1972) เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ Wangchuck
หัวหน้าฝ่ายบริหาร ตามพระราชกฤษฎีกาที่ได้ผ่านการรับรองโดยสมัชชาแห่งชาติภูฏานเมื่อ พ.ศ. 2541(ค.ศ.1998)
ระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกต่อไป ตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล (Head of Government)คือ ประธานสภาคณะมนตรี
(Chairman of the Council of Ministers)ซึ่งคัดเลือกจากสมาชิกสภาคณะมนตรี หรือเทียบเท่ารัฐมนตรีต่างๆ จำนวน 10 คน (จากเดิม 6 คน)หมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งประธานสภาคณะมนตรี คราวละ 1 ปี และสมาชิกสภาคณะมนตรีอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประธานสภาคณะมนตรีและหัวหน้ารัฐบาล (Chairman of the Council of Ministers and Head of Government) หรือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ เลียนโป สังเก นิวดุบ (Lyonpo Sangay Ngedup) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรด้วย เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน 2548 (ค.ศ. 2005)
รัฐมนตรีต่างประเทศ เลียนโป คันดุ วังชุก Lyonpo Khandu Wangchuk เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2546

จาก : mfg.go.th - 23/06/2006 11:28

# 18

ท่องไปกับใจตน : "ภูฏาน" บนทางโค้งสู่ปลายฟ้า



สำหรับประเทศที่มีประชากรเพียง 700,000 ล้านคน ภูมิประเทศถูกขนาบข้างด้วยอภิมหาอำนาจทั้งสองของเอเชีย อินเดีย (ประชากรพันกว่าล้าน) และจีน (1,200 กว่าล้าน) การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศขนาดเล็กที่เคร่งศาสนาและมีภูมิทัศน์งดงามอย่าง "ภูฏาน" ในอีกสองปีข้างหน้า เป็นสิ่งที่น่าจับตามองยิ่งนัก


พุทธศักราช 2551 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเก วังชุก ทรงประกาศที่จะสละราชสมบัติให้องค์มกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พร้อมๆ กับเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญเยี่ยงนานาอารยประเทศ สิ่งที่น่าแปลกใจ คือทันทีที่ข่าวสำคัญนี้แพร่ไปในหมู่ชาวภูฏาน พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญที่พระราชาธิบดีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แจกจ่ายให้ประชาชนทั่วทุกตำบลหมู่บ้านได้รับรู้ แทนที่จะเป็นความยินดีปรีดา กลับกลายเป็นความวิตกกังวลอยู่ลึกๆ ของประชาชน

ผมถามชาวภูฏานในงานเทศกาลรำหน้ากากเมืองพาโร เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? "เชริง ดอร์จิ" เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าแห่งพาโรตอบผมว่า ชาวภูฏานผูกพันกับสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับคนไทย จึงไม่แน่ใจว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว ผู้นำในระบอบประชาธิปไตยจะเที่ยงธรรมเหมือนกษัตริย์หรือไม่? จะมีปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือขัดแย้งแก่งแย่งกันเหมือนอย่างที่ชาวภูฏานรับรู้จากเพื่อนบ้านอย่างเนปาล อินเดีย หรือแม้กระทั่งไทยหรือเปล่า?

หรือว่าชาวภูฏานยังไม่มั่นใจในองค์มกุฎราชกุมาร? ผมลองตั้งคำถาม พิทักษ์ป่าหนุ่มยืนยันว่าชาวภูฏานส่วนใหญ่ยอมรับองค์มกุฎราชกุมาร ด้วยทรงใกล้ชิดประชาชนเฉกเช่นพระราชบิดา แต่ก็ยังปรารถนาให้พระราชาอยู่เคียงข้าง ประชาชนจึงทูลขอให้พระองค์ชะลอการเปลี่ยนแปลง ทว่า ทรงมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า เปลี่ยนเสียแต่วันนี้ ดีกว่าจำต้องเปลี่ยนในวันหน้า และการเปลี่ยนแบบนี้พระองค์ยังทรงให้คำชี้แนะแก่พระราชาองค์ใหม่ และคณะรัฐบาลในระบอบใหม่ได้ด้วย

อันเป็นหลักประกันว่าแนวพระราชดำริและพระราโชบายของพระองค์ ซึ่งชาวภูฏานส่วนใหญ่ยอมรับ จะยังคงได้รับการสืบสานอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราโชบายเรื่องดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ที่พระองค์ทรงเลือกที่จะใช้ดัชนี "GNH" (Gross National Happiness) หรือความสุขมวลรวมของประชาชน มากกว่าจะวัดด้วย "GNP" (Gross National Products) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ อย่างที่ประเทศต่างๆ ยึดถือ

ปรัชญา "ความสุขมวลรวมประชาชน" อันลือลั่นของพระราชาธิบดีภูฏาน มิได้กล่าวถึงแต่เพียงเสาหลักทั้งสี่ คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งตนเอง 2.มุ่งเน้นอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.อนุรักษ์และเสริมสร้างวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าภาคภูมิใจ และ 4.ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล แต่พระราโชบายเรื่อง "GNH" ยังลงลึกไปถึงขั้นที่ว่า "...คุณสมบัติต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความเมตตา ความรัก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้อภัย ความมีน้ำใจ เกียรติยศ การเสียสละ และความเจียมตน กำลังถูกกัดเซาะโดยสนิมที่เกิดจากความโลภและตัณหา คุณสมบัติเหล่านี้ควรนำกลับมาเป็นค่านิยมในกระแสหลักอีกครั้ง..."

น่าอาจเป็นคำตอบว่า เหตุใด มกุฎราชกุมารภูฏาน-เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระชนมพรรษา 26 พรรษา จึงทรงมีพระจริยวัตรงดงาม อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นที่น่าประทับใจของพสกนิกชาวไทย โดยเฉพาะสาวๆ ทั้งๆ ที่คนไทยจำนวนไม่น้อย นึกไม่ออกว่าภูฏานอยู่ตรงไหนในแผนที่โลก กระทั่งบางคนยังงงๆ ว่ามีประเทศนี้อยู่ในโลกด้วยหรือ?

ทรงจบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์จากมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และฮาร์วาร์ด ทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเก วังชุก กับมเหสีองค์ที่ 3 ในจำนวนมเหสีทั้งหมด 4 พระองค์ ซึ่งล้วนเป็นพี่น้องกัน กรณีนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่สังคมภายนอกมักตั้งคำถามถึงเหตุผล ซึ่งพระราชาธิบดีภูฏานทรงมิได้ตอบโดยตรง แต่ทรงให้ตราไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับประกาศใช้ปี 2551 ว่า กษัตริย์แห่งภูฏานพึงมีพระมเหสีพระองค์เดียว อันอาจตีความได้ว่าพระองค์ไม่โปรดที่จะให้ยึดถือพระองค์เป็นแบบอย่าง ทั้งๆ ที่สังคมภูฏานยอมรับการที่ผู้ชายจะมีภรรยามากกว่า 1 คน ในกรณีที่สามารถเลี้ยงดูได้ แต่พระองค์ก็โปรดที่จะให้ชาวภูฏานในอนาคตยึดถือหลักจริยธรรมสากลอันดีงาม เฉกเช่นที่พระองค์ทรงทำให้ภูฏานเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกวันนี้ ที่กำหนดให้การสูบและซื้อขายบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว

บางคนมองว่าจำนวนประชากรน้อยนิดของภูฏาน เป็นเงื่อนไขให้จัดการปกครองได้ง่าย โดยลืมไปว่ามีประเทศขนาดเล็กอีกมากในโลกนี้ ที่ผู้ปกครองมิได้ยึดธรรมาภิบาล และมีแนวนโยบายในการพัฒนาประเทศที่เป็นตัวของตัวเองเช่นนี้ แบบอย่างของพระราชาธิบดีภูฏาน ทำให้นึกถึงบทกวีที่ อ.พิสมัย จันทวิมล อดีตข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเดินทางไปสร้างสัมพันธไมตรีกับชาวภูฏาน พรรณนาถึงความประทับใจในหลักธรรมาภิบาลของกษัตริย์ภูฏาน ที่ว่า... "อำนาจควรจักรักษา ใช่ว่าจะใช้ไปสิ้น เก็บไว้ใกล้ชิดติดดิน คนไม่ติฉินนินทา/หากใช้อำนาจบาตรใหญ่ สุดแล้วแต่ใจปรารถนา คงมีวันหนึ่งถึงครา วาสนาตกต่ำลำเค็ญ/เก็บงำอำนาจนี้ไว้ ไม่ใช้ให้คนทุกข์เข็ญ เป็นที่ชื่นชมร่มเย็น ใครเห็นย่อมค้อมยอมเรา"

ยกมาเอ่ยอ้างด้วยความเชื่อมั่นว่าองค์มกุฎราชกุมารภูฏาน จะทรงยึดแนวทางของพระราชบิดา ในการนำพาภูฏานผ่านจุดโค้งแห่งความเปลี่ยนแปลง มุ่งสู่ความเป็นเมืองแมนที่ปลายฟ้า สมคำร่ำลือว่าภูฏานนั้น คือ "The Last Shangri-la" ที่ทุกคนใฝ่ฝันหา


ที่มา : ไลฟ์สไตล์ คมชัดลึก
ธีรภาพ โลหิตกุล teeraparb85@hotmail.com


จาก : @ - 24/06/2006 10:20

# 19

การเขียนและอ่านชื่อ ประเทศภูฏาน

จากกรณีที่มีผู้สอบถามมายังราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับเรื่อง ความสับสนในการเขียนและการอ่านออกเสียงชื่อประเทศ Bhutan ว่าที่ถูกต้องเขียนและอ่านอย่างไรนั้น ราชบัณฑิตยสถานขอชี้แจงว่า การเขียนชื่อประเทศ Bhutan ดังกล่าว ที่ถูกต้องเป็นทางการให้ใช้ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง (ฉบับแก้ไขปรับปรุง, พิมพ์ครั้งที่ ๒ : ๒๕๔๕) คือ

Bhutan : Kingdom of Bhutan
ภูฏาน : ราชอาณาจักรภูฏาน
ซึ่งคำว่า ภูฏาน อ่านว่า พู–ตาน

ทั้งนี้ การกำหนดให้ใช้ชื่อประเทศ Bhutan ว่า ภูฏาน มีมาตั้งแต่การจัดพิมพ์เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และเกาะ ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ และได้จัดพิมพ์ซ้ำมาหลายครั้งจนถึงการพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๕๔๕

การกำหนดการเขียนชื่อประเทศ Bhutan ว่าจะใช้อย่างไรนั้น ราชบัณฑิตยสถานได้ยึดตามการถ่ายเสียงจากอักษรเทวนาครีที่ประเทศภูฏานใช้ ซึ่งการถ่ายเสียงจากอักษรเทวนาครีมาเป็นอักษรโรมัน เขียนได้ว่า Bhūtฺān [Bh = ภ, ū = –ู , tฺ = ฏ, ā = –า, n = น] แต่ในการพิมพ์มักไม่เคร่งครัดในการใช้เครื่องหมายพิเศษ

ราชบัณฑิตยสถานจึงขอแจ้งให้เข้าใจและใช้เป็นระเบียบเดียวกันว่า ชื่อประเทศ Bhutan ที่เขียนอย่างถูกต้องเป็นทางการคือ ภูฏาน ซึ่งอ่านว่า พู–ตาน.

http://www.royin.go.th/th/news/news-content.php?ID=196

หมายเหตุ มีเปลี่ยนแปลงการเขียนชื่อประเทศ Bhutan จาก ภูฐาน เป็น ภูฐาน ตาม "ประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี และ ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" เมื่อปี ๒๕๔๔

http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/418_9506.pdf
http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/419_1494.pdf


จาก : @ - 24/06/2006 11:57

# 20

เสน่ห์ภูฏาน..เสน่ห์แห่งเจ้าชายน้อย



ว่ากันว่า เสน่ห์ของภูฏาน คือคลื่นทิวเขาอันสลับซับซ้อน ยอดเขาสูงเสียดฟ้าห่มคลุมด้วยหิมะชั่วนาตาปี ป่าสนสูง สลับทุ่งกว้างกลางหุบเขา
ว่ากันว่า เสน่ห์ของภูฏาน คือแว่นแคว้นแดนหิมาลัย ที่ซึ่งมิติแห่งกาลเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า

ว่ากันว่า ในชั่วโมงนี้สำหรับพสกนิกรชาวไทย เสน่ห์ของภูฏาน คือ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน

0 0 0

อันเนื่องมาจากพระราชอาคันตุกะ 25 ราชวงศ์ เสด็จฯ เข้าร่วมเฉลิมฉลองครบ 60 ปี การครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ปรากฏว่า คนไทยปลาบปลื้มในพระจริยวัตรของเจ้าชายหนุ่มที่เรียบง่ายและไม่ถือพระองค์ อย่างมิรู้ลืม

เชื่อว่ามีชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่เพิ่งรู้จัก 'ราชอาณาจักรภูฏาน'!

ราชอาณาจักรภูฏาน ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย มีพื้นที่ประมาณ 47,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 7 แสนคน 75 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ฝ่ายตันตระ-วัชระยานแบบทิเบต 25 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาฮินดู

เมืองหลวงชื่อ ทิมพู ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใน 3 เมืองหลัก คือ พาโร ทิมพู และปูนาคา ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า

ปกครองในระบอบราชาธิปไตย แต่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงประกาศเมื่อปี 2548 ว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และจะทรงสละราชบัลลังก์ในปี 2551 ให้กับมกุฎราชกุมารจิกมี

มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี อชิ เชอริง ยังดอน วังชุก เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2523 ยังไม่ทรงอภิเษกสมรส

ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการอบรมด้านการทูต รัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันประเทศจากสาธารณรัฐอินเดีย และหลักสูตรนวัตกรรมการปกครองจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา

โปรดศิลปะ การวาดภาพ การถ่ายภาพ กีฬา การอ่านหนังสือ และโครงการพัฒนาต่างๆ สนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทของราชอาณาจักรภูฏาน โดยเสด็จฯ ไปยังท้องถิ่นชนบทเพื่อดูแลทุกข์สุข และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

คติประจำพระองค์ คือ "อำนวยประโยชน์ผู้อื่นก่อนประโยชน์ตน" และ "ความปรารถนาอันแรงกล้าและเป้าหมายของข้าพเจ้า คือสิ่งเดียวกับความปรารถนาและเป้าหมายของประเทศ"

ไทยและภูฏาน สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2532

เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ ทรงคุ้นเคยกับเมืองไทยมาก เพราะเสด็จฯ มาประทับตั้งแต่ทรงพระเยาว์แล้ว โดยปกติจะประทับห้องสวีทของโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซา กรุงเทพฯ ประจำ

นอกจากนี้ พระองค์ทรงโปรดเสวยอาหารไทยมาก และทรงยึดถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นแบบอย่างอีกด้วย

ด้วยกระแสชื่นชอบในพระจริยวัตรของมกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน จึงทำให้เจ้าชายหนุ่มทรงออกแถลงการณ์ส่วนพระองค์ ผ่านกรมสารนิเทศ ขอบคุณคนไทยที่ให้การต้อนรับพระองค์อย่างอบอุ่น โดยในแถลงการณ์ดังกล่าว สรุปความได้ดังนี้

"ตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ ทรงได้ยินได้ฟังและอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาตลอด พระองค์เสด็จมาเยือนประเทศไทยหลายครั้งแล้ว และทรงได้รับรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงชื่นชมและยกย่องในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นอย่างยิ่ง

"ในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนของชาวภูฏานทั้งประเทศ ร่วมถวายความยินดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย เนื่องในมหามงคลวโรกาสการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ถือเป็นวโรกาสมหามงคลสมัยพิเศษ เป็นเหตุการณ์ที่งดงามและควรค่าแก่การจดจำมากที่สุดสำหรับพระองค์ และทรงขอบคุณประชาชนชาวไทยทุกคนที่ให้การต้อนรับพระองค์อย่างอบอุ่น และเปี่ยมด้วยอัธยาศัยไมตรีจิตอันดี ไม่เฉพาะแต่ในการเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งนี้ แต่ยังรวมถึงการเสด็จมาเมืองไทยในครั้งที่ผ่านๆ มาด้วย"

นี่ก็เป็นเสน่ห์ภูฏาน ที่ทำให้คนไทยหลายคนอยากไปเยือนดินแดนแห่งมังกรวัชระ!

แต่ด้วยข้อจำกัดของนโยบายคัดเลือกและจำกัดนักท่องเที่ยวของภูฏาน ซึ่งต้องติดต่อผ่านบริษัททัวร์เพื่อดำเนินการขอวีซ่า โดยจ่ายคนละ 200 ดอลลาร์ต่อวัน และจะต้องอยู่ในประเทศภูฏานเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 วัน (ถ้าอยู่เกิน 10 วันจะได้ลดอีก 10%) นั้น คงส่งผลถึงการตามรอยเจ้าชายน้อยแห่งเทือกเขาหิมาลัยอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ภาพพระอิริยาบถ พระจริยวัตรอันงดงามของเจ้าชายจิกมีในวาระต่างๆ บนผืนแผ่นดินสยาม ยามที่มีสุขทั้งชาติ จะยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยไปอีกนานแสนนาน!

ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549

จาก : @ - 26/06/2006 11:00

# 21

ตามรอยเจ้าชาย “จิกมี่”.... ภูฎานแดนสวรรค์ที่ “ยาก”สัมผัส



การกำหนดให้ใช้ ความสุขรวมของประชาชาติ หรือ GNH (Gross National Happiness)มาเป็นตัววัดความเจริญประเทศของกษัตริย์ภูฏาน จิกมี ซิงเย วังชุก แทนการวัดด้วย ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP (Gross National Product)ทำให้ภูฎานเป็นประเทศที่ไม่เหมือนใคร เต็มไปด้วยธรรมชาติและรักษาวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาที่หาดูได้ยากในสังคมปัจจุบัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวคนไทยจำนวนมากต้องการไปสัมผัสแผ่นดินที่มี อาณาเขตติดกับเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้

ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับการเดินทางเข้าประเทศภูฏาน ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณความต้องการของนักท่องเที่ยวไทยมากสักเพียงใด แต่ด้วยข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากและยังไม่ชัดเจนส่งผลให้การตามรอย เจ้าชาย “จิกมี่”มุ่งสู่ภูฎานของนักท่องเที่ยวไทยเริ่มส่อแววสะดุด หากจะดูจากโควตาจำนวนนักท่องเที่ยวที่ถูกจำกัดทั้งประเทศไม่เกิน 5,000 คนต่อปี โดยมีคนไทยไปเที่ยวปีหนึ่งไม่ถึง 100 คน ขณะที่สายการบินที่เปิดให้บริการระหว่างกรุงเทพ-พาโร มีเพียง 2 ไฟต์ต่อสัปดาห์เท่านั้น หรือแม้แต่ค่าเหยียบแผ่นดินที่ถูกกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อคนและต้องอยู่ท่องเที่ยวในประเทศต่อคนไม่ต่ำกว่า 10 วัน ข้อจำกัดดังกล่าวสร้างความลำบากใจให้กับบริษัทนำเที่ยวของไทยในการวางแผนโปรแกรมนำเที่ยวภูฎานเป็นอย่างมาก

อเนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า ภูฏานเป็นประเทศปิดและไม่เปิดให้เข้าไปท่องเที่ยวได้อย่างอิสระ และทุกครั้งในการท่องเที่ยวต้องขออนุญาตกับทางรัฐบาลก่อน เพราะรัฐบาลจะหวงแหนรักษาธรรมชาติและวัฒนธรรมในประเทศมาก

ดังนั้น การทำการตลาดโดยตรงเพื่อขนคนเข้าประเทศภูฏานจึงค่อนข้างลำบาก ประกอบกับการเดินทาง และพิธีการผ่านเข้า-ออกประเทศรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกจึงไม่สะดวกเหมือนประเทศท่องเที่ยวทั่วไป ไม่มีรถยนต์ให้บริการจะมีก็แค่เพียงการเดิน และขี่ม้า จึงทำให้ไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก แต่เมื่อเจ้าชายจิกมีได้เสด็จฯมาร่วมงาน จึงทำให้ชื่อภูฏานเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นและมีประชาชนหลายกลุ่ม เริ่มสอบถามรายละเอียดจากบริษัททัวร์ ถึงการเดินทางไปเที่ยวในภูฏานกันมาก



“การติดต่อเพื่อขอข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับภูฏานทางสมาคมฯดำเนินการแล้วอย่างเต็มที่ในทุกๆด้าน แต่ยังไม่ได้รับความชัดเจนใดๆออกมาจากประเทศภูฎานเอง แม้แต่สถานทูตที่ประจำในประเทศไทยก็แทบไม่ได้ข้อมูลอะไรเลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคาดว่าค่อนข้างลำบากสำหรับการวางแผนการตลาดเพื่อโปรโมตให้คนเดินทางไปท่องเที่ยว”อเนก กล่าว

ขณะเดียวกันขวัญชัย เมืองจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทฮอลิเดย์ ไลฟ์ แทรเวล แอนด์ ทัวร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดทัวร์ไปยังแถบเอเชียใต้เช่นเนปาล ภูฏานและทิเบต กล่าวถึงอนาคตอันใกล้ได้เตรียมวางแผนโปรแกรมท่องเที่ยวไว้แล้วโดยมีกำหนดไม่เกิน 3 คืน 4 วันเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริงที่รัฐบาลภูฎานต้องการให้พักอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 วันต่อคน

“หากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ทางบริษัทก็จำเป็นต้องปรับแผนโปรแกรมท่องเที่ยวใหม่ อาจจะเปลี่ยนสถานที่พักเป็นประเทศใกล้เคียงและใช้ภูฎานเป็นเพียงแค่การแวะเข้าไปเยี่ยมชมเท่านั้น”ขวัญชัย กล่าว

แม้ว่าเส้นทางตามรอยเจ้าชาย “จิกมี่”จะยุ่งยากลำบากสักเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่โดนใจทำให้นักท่องเที่ยวไทยอยากไปสัมผัสดินแดนภูฎานแห่งนี้สักครั้งในชีวิตคือแง่คิดของเจ้าชายที่ว่า “ความสุขมวลรวมของคนในประเทศสำคัญกว่าสิ่งใดๆทั้งปวง” ด้วยเหตุผลนี่เองคือที่มาของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน รวมทั้งการอนุรักษ์และส่งเสริมค่านิยมทางวัฒนธรรมตามด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ พร้อมส่งเสริมความเที่ยงธรรมและธรรมาภิบาล คือจุดขายอันโดดเด่นในแง่ของแหล่งท่องเที่ยวที่ประเทศภูฏานแห่งนี้ได้ถูกสรรสร้างขึ้นมาด้วยความตั้งใจ เพียงเพราะต้องการให้ประชาชนภายในประเทศมีความสุขอย่างแท้จริง

นี่คือ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ของ “ในหลวง” ของเรานั่นเอง เป็นหลักปรัชญาพัฒนาประเทศที่อยู่ตรงกันข้ามกับ “โลกทุนนิยม” ที่มุ่งใช้ “ความโลภ” เป็นตัวกระตุ้นในการพัฒนา เพื่อ “กระตุ้นความโลภ” ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไม่มีที่สิ้นสุด

ขณะเดียวกันความพอเพียง ไม่ใช่ความยากจน แต่เป็นความสุข เพราะไม่ต้องไปดิ้นรนจนเป็นหนี้เป็นสิน เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดจากความโลภอันไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งถ้าคนไทยทุกคน รู้จักนำ “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ใน การดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจ หรือใช้ในการพัฒนาประเทศ รับรองว่า คนไทยจะมีความสุขอย่างเหลือล้น โดยไม่ต้องสนใจว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงกี่เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน.

ขณะเดียวกันความเป็นประเทศปิดเพื่อรักษาวัฒนธรรมประจำชาติให้คงไว้ โดยไม่ต้องการให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต้องถูกทำลายไป อีกทั้งข้อมูลทุกอย่างถูกปิดกั้นห้ามนำเสนอ ดังนั้นการทำตลาดเพื่อโปรโมตให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังภูฏานของผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยจึงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย...ทำให้แผนการนำเสนอเส้นทางตามรอยเจ้าชาย “จิกมี่”จึงเป็นเพียงแค่ความฝัน...แต่นักท่องเที่ยวคนไทยต่างก็ภาวนาให้ความฝันนั้นกลับกลายเป็นจริงขึ้นมาโดยเร็ว...ถึงแม้จะต้องรอนานสักเท่าไรก็ตาม...

ที่มา : ผู้จัดการรายสัปดาห์ ผู้จัดการออนไลน์


จาก : @ - 01/07/2006 13:44

# 22

ท่องไปกับใจตน : ภูฏาน...ควันหลงเมื่อไข้สร่าง
ธีรภาพ โลหิตกุล



แม้อาการ "ไข้จิกมี" (Jigme Fever) ที่เกิดจากพระจริยวัตรอันงดงามของมกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน-เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก จะสะท้อนให้เห็นอาการวูบไหวของสังคมไทย ที่ยึดติดกับเปลือกหรือรูปลักษณ์ภายนอก จนลืมค้นหาแก่นสารสาระที่เป็นเนื้อแท้ของสิ่งนั้นหรือคนคนนั้น


กระทั่งมีการฉกฉวยนำพระฉายาลักษณ์ที่เจ้าชายทรงฉายกับสาวคนหนึ่งมาตีพิมพ์ เพราะรู้ว่า "ต้องจริต" คนไทย ที่เมื่อรักหลงอย่างวูบไหวแล้วก็มักตามมาด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ไปจนกระทั่ง "หึงหวง" เหมือนอาการไข้ที่เกิดกับดารานักร้อง "ซูเปอร์สตาร์" มานับไม่ถ้วนราย

แต่กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกด้านหนึ่ง "ไข้จิกมี" ได้จุดประกายให้สังคมไทยบางส่วนหันมาสนใจความเป็นมาเป็นไปของประเทศเล็กๆ ที่ดูลี้ลับบนเทือกเขาหิมาลัยอย่างภูฏานมากขึ้น

โดยเฉพาะพระราโชบายเด็ดเดี่ยวหนึ่งเดียวในโลกของพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเก วังชุก พระราชบิดาของเจ้าชาย ที่ประกาศใช้ "ความสุขมวลรวมของประชาชน" (GNH-Gross National Happi ness) เป็นดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศ ชนิดผ่าหมากจากแนวทางของตะวันตก ที่มุ่งใช้ดัชนี "ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ" (GNP-Gross National Products) เป็นหลัก

อันทำให้ใครก็ตามที่ได้ไปเยือนภูฏาน จะตระหนักว่าพระจริยวัตรงดงามของเจ้าชาย มิใช่ "บุคลิกภาพส่วนพระองค์" แต่เป็น "บุคลิกของชาติ" เพราะปรัชญา GNH ที่พระราชาภูฏานทรงประกาศใช้หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี 2515 นั้น มิได้มีแต่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมอย่างยั่งยืน

การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่น และการส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล เท่านั้น แต่ยังลงลึกไปถึงเรื่อง การเสียสละ การให้อภัย การอ่อนน้อมถ่อมตน กระทั่งการเจียมตน ว่าเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ไม่ควรละทิ้งไปเสีย

ที่น่าสนใจ คือในท่ามกลางบุคลิกภาพที่สงบนิ่ง อ่อนน้อม และเป็นมิตรของชาวภูฏาน ซึ่งเราพบเห็นได้ไม่ยากเวลาเดินตามท้องถนนในเมือง แต่หากเราหลงทาง แล้วไปถามทางกับชาวภูฏานในวัย 40 ลงมา คนหนุ่มสาวหรือนักเรียนที่สวมชุดประจำชาติเป็นเครื่องแบบไปโรงเรียนและไปทำงาน จะอธิบายทางเป็นภาษาอังกฤษให้เราเข้าใจอย่างคล่องแคล่ว

เพราะพระราโชบายให้พสกนิกรเรียนภาษาอังกฤษในสัดส่วนเท่ากับภาษาภูฏาน นับแต่วันแรกที่เข้าเรียนชั้นอนุบาล สะท้อนว่าภูฏานนั้นไม่ได้จมปลักอยู่กับภาคภูมิใจในตัวตน จนลืมที่จะเปิดตามองดูโลก

ควันหลงเมื่ออาการ "ไข้จิกมี" ในสังคมไทยสร่างลง จึงมีการพูดถึงปรัชญา GNH กันอย่างกว้างขวาง ประจวบเหมาะกับที่เรากำลังระดมความเห็นในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านสนับสนุนให้บรรจุปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ตามแนวพระราชดำริ ลงใน "แผน 10" ด้วย

อีกทั้งการวัดผลความก้าวหน้าของประเทศ ก็ควรพิจารณา "คุณภาพชีวิต" คนไทย ควบคู่ไปกับการขยายตัวของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)

สอดคล้องกับสิ่งที่ ศ.น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส แสดงทัศนะไว้นานแล้วว่า ปรัชญา GNH กับเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีหัวใจเดียวกัน โดยท่านได้เน้นย้ำอีกครั้งในที่ประชุม เรื่อง "ตัวชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ : กรณีศึกษาภูฏาน" ซึ่งศูนย์คุณธรรม (ผู้รณรงค์ "ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว") จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า

ถ้าเราพัฒนาประเทศด้วยคำถามเก่าๆ แบบทุนนิยมว่า "ทำอย่างไรจึงจะรวย?" ก็ยากที่คนไทยจะหายจน เพราะคำตอบคือต้องเอารัดเอาเปรียบกัน แต่ถ้าถามใหม่ว่า "ความดีคืออะไร?" คำตอบคือความขยัน ความซื่อสัตย์สุจริต ความพอดี รู้จักประมาณตน ความประหยัด ความมีน้ำใจ การรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะนำมาซึ่งความสุขและหายจนได้ ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง ความสุข ความดี จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่า ปรัชญาของเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก คือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด สำหรับความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีขีดจำกัด แต่ปรัชญาเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ

ซึ่งท่านพุทธทาสเสนอไว้นานแล้ว สอดคล้องอย่างยิ่งกับปรัชญา GNH และหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือเมื่อรู้ว่าทรัพยากรมีจำกัด ก็จำกัดความโลภ ความอยากของมนุษย์ กินอยู่อย่างพอดี ให้ความสำคัญกับจิตใจมากกว่าวัตถุ

ขณะที่ น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้ชาวภูฏาน ที่ไปเรียนต่อเมืองนอกนับหมื่นคน มีสถิติกลับมาทำงานพัฒนาประเทศเกือบ 100% เพราะเขามีความภูมิใจในความเป็นชาติสูงมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีการปลูกฝังปรัชญา GNH ที่ให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ มากกว่าจะยึดถือเงินเป็นพระเจ้า เช่นเดียวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

แต่ในขณะที่ GNH เป็นยุทธศาสตร์ชาติภูฏาน ทว่า เศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ใช่ เพราะชนชั้นกลางและสูงของไทยยังถือเป็นเรื่องไกลตัว เวลานี้คนไทยกำลังสนใจ GNH ของภูฏานจากกระแส "จิกมี ฟีเวอร์" ถ้าผลักดันให้ "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นนโยบายสาธารณะก็จะมีพลังยิ่ง ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ แต่ถ้าค่านิยมสังคมไทยยังวิ่งสวนทางกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ประเภทโฆษณาโหมกระหน่ำให้...กิน ดื่ม โทร รูด (บัตร) กันให้มากๆ ก็ถือเป็นงานหนักมาก เพราะ "จิกมี ฟีเวอร์" นั้นแค่ไข้หวัด แต่อาการฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมนั้น น้องๆ หวัดนกทีเดียวครับ

ชมรมท่องอุษาคเนย์ ขอเชิญร่วมเดินทาง "ท่องภูฏาน วิมานมังกรสันติ" วันที่ 1-5 ก.ย. มุ่งสู่ ธิมพู ปูนาคา ชมระบำหน้ากาก และ "ท่องอารยธรรมเส้นทางสายไหม" วันที่ 16-25 ก.ย. นำชมโดย ธีรภาพ โลหิตกุล สำรองที่นั่งโทร. 0-2637-7321-2, 0-1823-7373

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐


ที่มา : ไลฟ์สไตล์ คมชัดลึก

จาก : ๑ - 09/07/2006 09:32

# 23



แก่นแท้แห่งภูฏาน ที่มาแห่ง 'พระจริยวัตร' อันงดงาม
โดย ภาวินี อินเทพ

เอ่ยพระนามของ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก คนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี จนเรียกว่า แทบไม่มีใครในประเทศนี้ไม่รู้จักก็ว่าได้
แต่สำหรับ 'ภูฏาน' บ้านเกิดเมืองของมกุฎราชกุมารหนุ่มพระองค์นี้แล้ว ยังมีน้อยคนนักที่ได้ยินยลและสัมผัสถึงแก่นแท้ ว่าแท้จริงเป็นเช่นใด

ธีรภาพ โลหิตกุล ช่างภาพและคอลัมนิสต์อิสระชื่อดัง ได้สัมผัสถึงบรรยากาศเหล่านั้นแล้ว เพราะนอกจากได้ไปเยือนดินแดนมังกรสันติแห่งนี้ถึง 3-4 ครั้งด้วยกันแล้ว เขายังได้กลับมาเผยแพร่เรื่องราวความงดงามออกมาเป็นทั้งข้อเขียนและภาพอันน่าประทับใจอีกด้วย

"ภูฏาน ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก"

0 0 0

ภูฏาน (Bhutan) ออกเสียงว่า พู-ตาน หรือ พู-ต๋าน หรือ พู-ฐาน นั้น หากนับพื้นที่ถือเป็นประเทศเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาหลายๆ หุบเขารวมกัน แต่ละเมืองตั้งอยู่ตามซอกเขาเล็กๆ เหล่านั้น ชื่อเมืองก็มาจากชื่อของหุบเขานั้นๆ

ในประเทศแบ่งเป็น 3 ภาค คือ ตะวันตก กลาง และตะวันออก โดยมีเขตพื้นที่ตะวันตกเป็นที่รู้จักมากที่สุด ด้วยเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงคือ ทิมพู รวมถึง 2-3 เมืองหลักๆ ที่นักท่องเที่ยวไปเยือนบ่อยครั้ง อย่าง ปูนาคา และพาโร

ว่ากันว่า ทัศนียภาพของภูฏาน ไม่มีใครปฏิเสธถึงความงามของประเทศนี้ได้

ด้วยแต่ละหุบเขาเล็กๆ แห่งนั้น เขียวสะพรั่งไปด้วยป่าไม้ สลับกับสีสันจัดจ้านของสถาปัตยกรรมแบบเฉพาะตัว อันมีต้นรากจากทิเบตอย่างลงตัว ส่วนลูกหลานมังกรวัชระ ต่างก็ยิ้มแย้มแจ่มใสดี

นักเดินทางที่เคยไปสัมผัส อดไม่ได้ที่จะเปรียบเปรยตามๆ กันด้วยความอิ่มเอมใจว่า ภูฏานคือแชงกรี-ลา แห่งสุดท้าย

อีกทั้งภูฏานมีเอกลักษณ์เป็นที่สุดหลายด้าน

นอกจากเป็นประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่พระมหากษัตริย์ประกาศให้ 'ความสุข' เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศแล้ว

ยังมีประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ นั่นคือ สามารถรักษาความเป็น 'เอกราช' ของประเทศไว้ได้

และเป็นประเทศเดียวที่มีการนับถือศาสนาพุทธสายวัชรยาน เหนียวแน่นที่สุด พร้อมบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจด้วยการแสดงออกทุกด้าน นับตั้งแต่ ตราประเทศ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ไปจนถึงการแต่งกายและวิถีชีวิตประจำวัน

ราคาที่ต้องจ่ายแม้แพงแสนแพง จึงมิอาจกั้นความสนใจของนักเดินทางที่อยากไปสัมผัสเอกลักษณ์ดังกล่าวของภูฏานได้แม้แต่น้อย!!

กำเนิดภูฏาน

นับอายุแล้ว ภูฏานเริ่มกำเนิดเมื่อ 300 กว่าปีนี่เอง เมื่อกล่าวถึงภูฏานแล้ว ต้องเอ่ยถึงทิเบต และ ศาสนาพุทธสายวัชรยาน-ตันตระ ควบคู่ไปด้วย เพราะประเทศนี้เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมาได้ด้วยการที่มีพระลามะจากทิเบตเดินทางเข้ามาในดินแดนภูฏาน ซึ่งเดิมเป็นเขตที่เรียกว่า โล-มอน ก็คือ ทิเบตใต้ นั่นเอง โดยพระรูปนั้นชื่อ ซับดรุง งาวัง นัมเกล

ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า เมื่อจักรวรรดิทิเบตมีความขัดแย้งแก่งแย่งอำนาจกัน ทาง งาวัง นัมเกล ก็พาสาวกหนีการไล่เข่นฆ่ามายังโล-มอน ที่ทางบรรพบุรุษได้ลงรากปักฐานไว้ล่วงหน้าแล้ว และได้ตั้งชื่อไว้แต่ครั้งโบราณนานมาว่า 'นัมดรุก' ซึ่งแปลว่า 'มังกรสายฟ้า'

จากนั้น จึงได้รวบรวมแว่นแคว้นเล็กแว่นแคว้นน้อยที่ตั้งอยู่ตามซอกเขาต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ทิศเหนือของหุบเขาทิมพู ด้วยการตั้งวัดขึ้นแห่งหนึ่งชื่อ เชริ ดอร์ เจ เดน ต่อมาถูกรุกรานจากพระนิกายอื่น ก็หนีไปตั้งหลักอีกครั้งที่หุบเขาปูนาซังชู บริเวณแม่น้ำสองสายที่ชื่อ โม-ชู ไหลมาบรรจบกัน แล้วจึงสร้างดรุก พุน ถัง เด วา เชน ปี ขึ้น เป็น 'ซอง' (Zhong) แห่งใหม่อีกครั้ง ซึ่ง 'ซอง' หมายถึงวัด ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นป้อมปราการเวลาถูกข้าศึกรุกรานด้วย

ปี ค.ศ.1637 จึงได้ย้ายจากวัดเดิมมาอยู่ที่ใหม่ และเรียกชื่อใหม่ว่า ปูนาคา ซอง จากนั้นปีถัดมาก็ไปสร้างซองบนหน้าผาสูงอีกแห่งชื่อ วังดีโพดราง ซอง ซึ่งแต่ละแห่งสร้างตามนิมิตของพระบรรพบุรุษทั้งสิ้น และสถาปนาเป็นอาณาจักรดรุกยุลขึ้นมา โดยมี งาวัง นัมเกล เป็นปฐมสังฆราชา

และเมื่อสักร้อยกว่าปีมานี้ ประมาณศตวรรษที่ 18 อาณาจักรดรุกยุลเข้มแข้งมาก ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่จักรวรรดิอังกฤษเข้ามายึดชมพูทวีปเป็นอาณานิคมด้วย มีการตั้งบริษัทชื่อ บริทิช อีสต์ อินเดีย คอมพานี จึงเกิดกรณีพิพาท เกิดสงครามแย่งแคว้นสิกขิมขึ้น สุดท้ายอาณาจักรดรุกยุล ยอมจำนนเสียดินแดนให้กับอังกฤษ ภายใต้สนธิสัญญาซินชูล่า

จากกรณีพิพาทนั่นเอง การเมืองในดรุกยุล ถูกแบ่งเป็นสองขั้ว จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างหุบเขาพาโร กับตรองสะ สุดท้ายหุบเขาตรองสะ ซึ่งมี อุจ์เยน วังชุก เป็นผู้นำก็เป็นฝ่ายชนะ

ราชวงศ์วังชุก จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ใน ค.ศ.1907 ระหว่างทางโลกกับทางธรรม จึงเริ่มแบ่งแยกกันชัดเจนเมื่อ 99 ปีที่ผ่านมานี่เอง

แต่ทางโลกก็ยังยึดถือให้ศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน-ตันตระ (หรือเรียกกันทั่วไปนิกายวัชรยาน) เป็นศาสนาประจำชาติและธงนำของวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวดรุกอยู่ นับแต่นั้นมา ภูฏาน จึงถือว่า เป็นประเทศที่ประกาศตนเป็นชาวพุทธนิกายวัชรยาน อย่างมั่นคงประเทศเดียวในโลก และเหนียวแน่นที่สุดมากถึง 97%

ศาสนานำทาง

เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า ศาสนาเป็นทั้ง หัวใจ, ธงนำ และกำหนดทุกอย่างของวิถีชีวิตของชาวดรุกมาแต่กาลโบราณ

กล่าวคือ ศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน-ตันตระนี้ เดิมเชื่อว่า ผู้ฝึกฝนสามารถนำกิเลส คือการเสพเมถุนและเมรัย เป็น 'อุบาย' หรือ 'หนทาง' สู่การบรรลุธรรมได้ ดังนั้น ผู้ฝึกฝนจึงสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองได้ โดยแต่ละครั้งของพิธีฝึกฝนนั้น จะมีพระพุทธรูปที่มีผู้หญิงเปลือยกายนั่งสวมกอดมาเป็นพระปฏิมาประธาน บางคนไม่เข้าใจก็ถือว่าลบหลู่ศาสนา จึงเกิดการปรับครั้งใหญ่ ที่สุดภาพดังกล่าวจึงกลายเป็นเพียง 'สัญลักษณ์' เท่านั้น

"ผู้หญิงที่เปลือยกาย เป็นสัญลักษณ์ของปัญญา ส่วนพุทธเจ้า ที่เป็นผู้ชาย เป็นสัญลักษณ์ของ กรุณา เมื่อกรุณา และปัญญา มาสนธิกัน ก็จะเป็นหนทางไปสู่ธรรม วิธีการปฏิบัติก็คือ มนุษย์ควรจะให้ความกรุณาเมตากับคนอื่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และคนๆ นั้นจะได้รับปัญญากลับมาอย่างไม่สิ้นสุดเช่นกัน"

ธีรภาพ อธิบายความ โดยทุกวันนี้จะเห็นสัญลักษณ์ดังกล่าวมากในเนปาล สิกขิม ทิเขต รวมถึงภูฏานด้วย แต่เป็นเพียง 'สัญลักษณ์' เท่านั้น ไม่มีการปฏิบัติจริงแล้วในยุคปัจจุบัน

ภูฏาน ถือว่าเป็นดินแดนแห่งวัชรยานโดยแท้ ซึ่งดูได้จากทุกอย่างในชีวิตของคนที่นั่น ตั้งแต่วิถีชีวิต สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม การแสดง ฯลฯ

หลักการก็คือ การมุ่งสู่ความสงบ จิตใจมุ่งตรงไปสู่สวรรค์ หรือการหลุดพ้น

เพียงแค่สบตาแรกกับภูฏาน ก็จะเห็นได้ว่าศาสนาอยู่ในวิถีชีวิตแล้ว เพราะมีการแสดงเอกลักษณ์ทางศาสนาออกมาอย่างชัดเจนกันทั้งประเทศ

อย่างแรกคือ 'โดรเจ' วัชระไขว้ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของประเทศ ดั่งคำประกาศที่ธีรภาพ ได้เคยให้ไว้ก็คือ

"ที่นี่ คือดินแดนสุขาวดีของพุทธะวัชระยาน ที่เข้มแข็งดั่งเพชร และนำพาผู้คนสู่แดนดินนิพพานได้รวดเร็วปานสายฟ้าแลบแปลบ"

ถัดมาคือ 'ธงมนตรา' หรือนิยามตามคำของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ว่า 'ธงพร' นั้น เป็นผ้าสีๆ โบกสะบัดพลิ้วไปทั้งหุบเขาไปจนถึงหลังคาบ้าน คล้ายที่เห็นในทิเบต หรือเนปาล เพื่อให้สายลมพัดมนตราไปคุ้มครองผู้คนในประเทศ ในบ้าน แม้กระทั่งผู้คนที่ผ่านทางไปมา ก็จะได้รับพรแห่งความเป็นสิริมงคลนั้นด้วย

อีกอย่างคือ 'กงล้อมนตรา' ที่จะเห็นไม่น้อยไปกว่าธงเลย ทั้งที่วัด บ้าน ช่องทางหุบเขา ในสายน้ำลำธาร หรือแม้กระทั่งแบบมือถือสำหรับเดินทาง ก็มีแสดงให้ถึงการมีความสงบอยู่ในใจตลอดเวลา เพราะขณะที่หมุนกงล้อมนตราไป ก็จะท่องบทสวดมนต์ไปด้วย แต่จะสั้นๆ เพียง 6 คำ คือ โอม มณี ปัทเม หุม หมายความว่า "ขออัญเชิญพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ล้ำเลอค่าอย่างมณี มาสถิตในหัวใจอันบริสุทธิ์ดั่งดอกบัวของเรา"

สัญลักษณ์นี้ปรากฏมากพอๆ กับธงมนตรา โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ของภูฏานนั้น มักจะมีกงล้อมนตราอยู่มือขวา ขณะมือซ้ายก็มีลูกประคำด้วย สะท้อนถึงการมุ่งสู่ความสงบอยู่ทุกวินาทีของชีวิต ขณะเดียวกันก็มีรอยแย้มยิ้มและสงบเย็นให้เห็นอยู่เนืองนิจ

ในความเห็นของธีรภาพแล้วบอกว่า พุทธะนิกายวัชรยานนี้ ในแง่ของการบรรลุธรรมแล้ว ถือว่า 'มีตัวช่วย' เสริมให้ผู้คนไปสู่ความหลุดพ้นได้หลายทาง อีกทั้งนิกายนี้มีพระพุทธเจ้าหลายองค์มากที่จะลงมาช่วยมนุษย์ ดังเช่น พระโพธิสัตว์กวนอิมก็มีหลายองค์ที่มาคอยช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยาก ถึงกับเปรียบว่า 'พระโพธิสัตว์ของวัชรยานนั้น มีมากเท่าเม็ดทรายในห้วงมหรรณพ'

จึงไม่น่าจะแปลกใจที่จะมีคำกล่าวกันอีกว่า "ศาสนาพุทธวัชรยานนั้น ช่วยให้คนบรรลุธรรมได้เร็วปานสายฟ้าแลบแปลบ" กันเลยทีเดียว ดั่งปรากฏในสัญลักษณ์ของประเทศ

ยังมีสัญลักษณ์ทางศาสนาปรากฏอยู่ในทุกอณูของชีวิตด้วยเช่นกัน

เช่น 'ปลาคู่' ที่ถือเป็นสัญลักษณ์มงคลนิยมนำมาประดับบ้าน ถือว่า "ปลาแม้อยู่ในน้ำก็ลืมตาตลอด ฉะนั้นคนเราถ้ามีธรรมะคุ้มครองจิตใจ ก็จะไม่มืดบอด หากเจออุปสรรคใดก็จะสามารถฝ่าฟันผ่านไปได้ด้วยปัญญา"

หรือ 'รูปสุวรรณฉัตร' ก็หมายถึง "หากมีคุณธรรมในจิตใจแล้ว เปรียบดั่งคนเราเวลาออกจากบ้านก็จะมีเครื่องคุ้มแดดคุ้มฝนให้ทุกที่" อย่างนี้เป็นต้น

โดยเฉพาะ 'เทศกาลเตชู' ที่ร่ำลือถึงสีสันของ 'รำหน้ากาก' แล้ว ยังหมายถึงการมารวม 'พลังศรัทธา' ของชาวภูฏานครั้งยิ่งใหญ่ด้วย

วันนั้นของแต่ละเมือง ผู้ชายจะแต่งกายด้วยโกะ ส่วนผู้หญิงจะใส่ชุดกีรา มาในแบบที่สวยที่ดีที่สุด หอบลูกจูงหลานมานั่งดูได้เป็นวันๆ ชนิดไม่กลัวแดดกลัวฝน เพราะรำหน้ากากนั้น ไม่ใช่มหรสพ หากแต่เป็นพิธีกรรมเทิดทูนบูชาพระโพธิสัตว์ ทำหน้าที่เต้นระบำโดยพระหรือเณรที่ฝึกฝนมาเป็นอย่างดี บอกเล่าตำนานและเรื่องราวในพระศาสนา เพื่อการรู้จักพระโพธิสัตว์ในรูปต่างๆ ตามหน้ากากที่สวมใส่ ทั้งยักษ์ ลิง เสือ

"เป็นการบอกเล่าว่าพระโพธิสัตว์จะปรากฏกายในรูปสัตว์ร้ายต่างๆ เพื่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย หากมารู้จักพระโพธิสัตว์ตั้งแต่ที่เรามีชีวิตอยู่ เวลาตายไปแล้ว ถ้ารู้จักท่านไว้ก่อน ก็จะได้เข้าหาท่านแล้วท่านจะชี้ทางให้ไปสวรรค์"

รวมถึงตอนที่กระโปรงเป็นชั้นๆ หลากสีสันของพระหมุนพลิ้วกระจายด้วยแล้ว ก็ยิ่งเชื่อว่า มนตราหรือความเป็นสิริมงคลจะถูกลมพัดมาติดคนที่ไปดูด้วย เหมือนเป็นการล้างบาปและสิ่งที่ไม่ดีที่ทำมาในรอบปีด้วย

กระทั่งมีคำกล่าวที่ว่า 'รำหน้ากากเพียงได้ยลก็หลุดพ้นได้' สะท้อนถึงความมุ่งมั่นสู่การบรรลุธรรมทุกห้วงของชีวิตของชาวภูฏานเป็นอย่างดี อีกพิธีกรรมหนึ่ง

สำหรับเทศกาลเตชูนั้น แต่ละเมืองจะจัดไม่พร้อมกัน จะกระจายไปตามเมืองต่างๆ หรือแม้กระทั่งในโรงละครก็มีการจัดให้ชมด้วย ก็ถือว่า ผู้เต้นระบำนั้นได้บุญไปด้วยเช่นกัน ที่สำคัญในพิธี (จริง) สำคัญนี้ ทุกครั้งจะมีบุคคลสำคัญพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมาประทับในพิธีด้วย ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ มกุฎราชกุมาร พระบรมวงศานุวงศ์ หรือสังฆราชา

0 0 0

จากแนวคิดศาสนาก็จึงกลายเป็นพระราโชบายของประเทศ โดยพระบิดาของมกุฎราชกุมารจิกมี ก็คือ พระราชาธิบดีจิกมี ชิงเก วังชุก จึงได้ประกาศปรัชญา หรือพระราโชบายในการปกครองประเทศที่เรียกว่า การวัดความสำเร็จของประเทศจากความสุขมวลรวมของประชาชน (GNp-Gross National Happiness) ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งเดียวในโลกอีกเรื่องหนึ่ง

อีกทั้งยังลงลึกไปถึงนโยบายการพัฒนาประเทศทั้ง 4 ประการด้วย นั่นคือ

หนึ่ง - เศรษฐกิจพอเพียง สอง - การอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะว่าเป็นแหล่งที่มาของอาหาร สาม - การอนุรักษ์ศิลปวัฒนรรม และสี่ - การมีธรรมาภิบาล

ไม่เพียงเท่านั้น การประพฤติตนอยู่ในศาสนา ยังเห็นได้ทั้งจากตัวคนด้วย ที่สะท้อนเป็นบุคลิกของประชาชาติและของมนุษย์ ด้วย

นั่นคือ ความเจียมตน การให้เกียรติผู้อื่น การให้อภัย และการอ่อนน้อมถ่อมตน

ผลพวงจากพระศาสนาดังกล่าวนี้ หลายคนคงจะเห็นภาพตรงกันแล้ว

"จากพระจริยวัตรของมกุฎราชกุมารจิกมี ดังที่ปรากฏนั้น ผมกล่าวได้ว่าเป็นบุคลิกของประชาชน ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ถูกวางรากฐานมาจากปรัชญาจีเอ็นเอช และปรัชญานี้ก็มีรากฐานมาจากพระศาสนานั่นเอง"

การไหว้ก็เช่นกัน ถือเป็นวัฒนธรรมระหว่างผู้คนนั้นเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะเป็น สัฏฏางคประดิษฐ์ ซึ่งแปลว่า 7 คือ หน้าผากหนึ่ง เขาสอง มือสอง และเท้าสอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของที่ภูฏาน แสดงถึงความคารวะอย่างสูงสุดที่มนุษย์พึงให้ มักจะไหว้กษัตริย์ พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์

"เวลาไปที่ภูฏาน ก็จะเจอคนที่มีบุคลิกเช่นนี้ อ่อนถ่อมตน สงบ มุ่งไปทางสงบ ความแตกต่างจากชนชั้นน้อยมากๆ ไม่มีขอทานเลย"

ธีรภาพยืนยันหลังจากทั้งที่ได้ไปมาแล้ว ทั้งในฐานะได้รับเชิญไปกับโครงการบิมสเทคของกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศในคราวแรกเมื่อเดือนกันยายนปี 2548 และจากนั้นมีโอกาสพาคณะคนไทยไปท่องเที่ยว พร้อมเป็นวิทยากรนำชมอีก 2-3 ครั้ง โดยหลังสุดเพิ่งไปมาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และกำลังจะไปครั้งหน้าในวันที่ 1-5 กันยายนที่จะถึงนี้ด้วย

ด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนก็เช่นกัน จะมีเอกลักษณ์เช่นกัน คือมี 'ซอง' เป็นต้นแบบ เล็กใหญ่ต่างกันไป แต่จะตั้งกระจายอยู่รอบๆ ซอง

สำหรับ 'ซอง' ถือเป็นหัวใจของชาวภูฏานเลยทีเดียว ในอดีตโบราณเป็นป้อมปราการ โดยแบ่งพื้นที่เป็นทั้ง วัดของพระ วังของกษัตริย์ ศาลาว่าการเมือง (ในที่เดียวกัน) เวลานักท่องเที่ยวไปเยือนจึงมีจุดหมายที่ซองหลายๆ แห่งเหล่านี้ แต่จะเปิดให้ชมเฉพาะส่วนเท่านั้น

โดยแต่ละซอง ซึ่งเป็นส่วนของวัดนั้น จะมีภาพพุทธศิลป์ที่สีสวยสะดุดตาและมากด้วยสาระปัญญาอยู่มากมาย จนกระทั่ง ธีรภาพ ในฐานะวิทยากรนำชม ถึงกับยอมรับว่า ต้องเลือกอธิบายจุดสำคัญเป็นจุดๆ ไป ไม่เช่นนั้นเพียงหมุนแค่องศาเดียวก็อาจต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว

มนต์เสน่ห์ภูฏาน

แล้วไปภูฏานไปดูอะไรกัน-หลายคนสงสัย!!

แน่นอนที่สุดอย่างแรกคือ ทัศนียภาพ ภูมิทัศน์ประเทศที่ไม่มีเหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

เพียงแค่ออกจากสนามบินพาโร ก็จะสัมผัสได้ถึงความสงบและเงียบของเมืองเล็กๆ ที่ซ่อนตัวตามหุบเขาต่างๆ จะข้ามไปอีกเมืองก็หมายถึงการนั่งรถไปเขาอีกลูกหนึ่ง ด้านความสูงนั้น คนไทยไม่ต้องห่วงเรื่องอาการแพ้ที่สูง (Attitude Sickness) เพราะที่จะพาไปเที่ยวเวลานี้สูงที่สุดก็คือ เมืองทิมพูสูง ซึ่งใกล้เคียงดอยอินทนนท์

เป้าหมายหลักถัดมา คือ ซอง เพราะภูฏาน คือดินแดนแห่งซอง และวัดวาอารามอย่างแท้จริง แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะน่าเบื่อ เพราะแต่ละซองของแต่ละเมือง ต่างมีจุดเด่นเฉพาะตัว

อย่างพาโรซอง ในเมืองพาโร ซึ่งเป็นเมืองท่าอากาศยาน จะเห็น 'สะพานไม้' ข้ามลำน้ำพาโรสู่ตัวซองอันงามสง่าอย่างที่ไม่เคยเห็นที่ไหน

หรือปูนาคา ซอง นอกจากงดงามโดยที่ตั้ง ที่เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำสองสายรวมกันแล้ว ยังเป็นซองที่มีขนาดใหญ่มาก ว่ากันว่า เคยเกิดไฟไหม้ถึง 6 ครั้ง น้ำท่วมและแผ่นดินไหวอย่างละครั้ง แต่ยังคงความสง่างามมิเปลี่ยนแปร อีกทั้งยังอลังการด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่เล่าเรื่องพุทธประวัติศิลปะภูฏานได้อย่างวิจิตรตระการตาด้วย

หรือ ทิมพู ซอง ในเมืองหลวง ซึ่งมีชื่อทางการว่า ตาชิโช ซอง นั้น ก็เป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ ปัจจุบัน ธีรภาพ บอกว่า แบ่งเป็นพระตำหนักฤดูร้อนพระสังฆราชภูฏาน พระอารามหลวง สำนักพระราชวัง ทำเนียบรัฐบาล ห้องประชุมรัฐสภาแห่งชาติ โดยแบ่งเป็นร้อยกว่าห้อง (แต่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชมเฉพาะบางส่วน)

ดังนั้น ผู้ที่สนใจเรื่องราวและมีพื้นความรู้ด้านพุทธศาสนาน่าจะได้รับความเพลิดเพลินเป็นพิเศษ ด้วยแต่ละวันจะใช้เวลาอยู่ในซองเป็นส่วนใหญ่

นอกสถานที่ (แต่ไม่นอกเส้นทาง) ก็จะเป็นตลาดพื้นเมืองสุดสัปดาห์ของเมืองทิมพู สวนสัตว์ตาคิน ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของภูฏาน รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูฏาน พิพิธภัณฑ์ผ้าทอ และการแสดงวัฒนธรรมประจำชาติ ณ ลานสำนักงานวัฒนธรรมภูฏาน เป็นต้น

จะไปให้ได้อย่างที่เล่าๆ มาอย่างน้อยต้อง 5 วัน แต่จำนวนนี้ก็ยังท่องไม่ทั่ว ได้เพียงเมืองหลักๆ คือ ทิมพู ปูนาคา และพาโรเท่านั้น ถ้าจะให้ดีต้อง 7-8 วัน ถึงจะได้ไปเมืองอื่นๆ ที่สวยงามไม่แพ้กัน

ส่วนของที่ระลึกยอดนิยม เป็น 'แสตมป์' นอกจากเป็นราคาที่พอเป็นของฝากติดไม้ติดมือ (ไม่แพงมากอย่างผ้าทอ) แล้ว ก็ยังงามล้ำค่า และมีการออกแบบเฉพาะตัวอีกด้วย

เหตุที่แพงนั้น บรรดาขาชอปปิงทั้งหลาย ก็ต้อง 'ช้อป' อย่างเข้าใจด้วยว่า ภูฏานนั้นนอกจากมีนโยบายจำกัดนักท่องเที่ยว (ปัจจุบันเพิ่มเป็น 13,000 คน) ด้วยการผ่านบริษัททัวร์ของรัฐบาล (เท่านั้น) แล้ว จำนวนผู้คนในประเทศก็มีไม่มากนัก งานศิลปะต่างๆ จึงเป็นแบบแฮนด์เมด และมีจำนวนน้อย ราคาจึงต้องสูงเป็นเงาตามตัวไปด้วย

อีกทั้งในภูฏาน นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินเที่ยวเองได้ แต่ทุกเส้นทางเหล่านี้จะมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่รู้เส้นทางและชำนาญภาษา คอยนำทางให้เสมอ เวลาเจอชาวภูฏานอายุต่ำกว่า 40 ปีลงมาก็ทักทายเป็นภาษาอังกฤษได้ เพราะที่นั่นมีนโยบายเรียนสองภาษา ซองกา-อังกฤษ ควบคู่กันตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

อยู่ที่ภูฏานไม่ต้องกลัวว่าจะเงียบเหงา เพราะถึงแม้จะดู 'ลี้ลับแต่ไม่ห่างไกลความเจริญ' เลย เพราะมีอินเทอร์เน็ตแล้ว ส่วนเคเบิลทีวีไม่มีขยะ เพราะเลือกรับแต่ช่องเปี่ยมสาระ อาทิ เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก เป็นต้น

สำหรับใครที่จองที่นั่งไปภูฏานพร้อมความวาดหวังมากไปกว่าการสัมผัสทัศนียภาพและการชื่นชมความเป็นอาณาจักรมังกรแห่งสันติแล้วล่ะก็ อาจจะต้องผิดหวัง เพราะถือว่าเพียงแค่จุดประสงค์แรกที่จะไปนั้น-ก็ผิดแล้ว

แต่ถ้าอยากจะสัมผัสถึง 'ที่มา' แห่งพระจริยวัตรอันงดงามของมกุฏราชกุมารจิกมีแล้ว รับรองว่ามีคำตอบให้เห็นทั้งประเทศ

"อยากให้คนไทยชื่นชมและฟีเวอร์ได้ แต่ขอให้เข้าใจถึงเนื้อแท้ของสิ่งเหล่านั้นด้วย เพราะพระจริยวัตรของพระองค์ดังกล่าวนั้น ถือเป็นบุคลิกของประชาชาติ ซึ่งตัวของชาวภูฏานอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนั้นมานานแล้ว เพียงแต่เราไม่เคยเรียนรู้ต่างหาก"

ธีรภาพบอกถึงความรู้สึกที่ติดตามข่าวมาตลอด

หากเชื่อว่าการท่องเที่ยวแท้จริงแล้วเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง มิใช่นำเงินไปทิ้ง หากแต่เป็นการเก็บเกี่ยวนำสาระความรู้ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์กลับมาเพื่อตัวเราเอง หรือการพัฒนาชาติบ้านเมืองแล้ว ภูฏานมีสิ่งที่น่าศึกษาหลายเรื่อง

"ประการหนึ่งคือ การรู้จักตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จักตัวเอง ก็จะมีปัญหาตามมามากมาย และสองคือ การรักษาความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยจิตใจอันเป็นสากลว่า เอกลักษณ์ชาติรักษาไว้ แต่ความเปลี่ยนไปของโลกก็ต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกัน"

แล้วจะรู้ว่า ความแพงนั้น คุ้มค่ายิ่ง สำหรับคนที่รู้ค่า!!

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐


เรื่องจากปก เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 735

จาก : ๑ - 10/07/2006 10:20

# 24

เปิดประตู สู่..."ภูฏาน" (1) ตอน:"ทิมพู"เมืองหลวงทรงเสน่ห์
เรียบเรียงโดย : เหล็งฮู้ชง ผู้จัดการออนไลน์


ทิมพูเมืองหลวงเล็กๆท่ามกลางขุนเขาที่มากไปด้วยเสน่ห์อันน่ายล


ปี พ.ศ. 2517 ภูฏาน...ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า ได้เปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปเที่ยวเป็นครั้งแรกผลปรากฏว่ามีนักผจญภัยเพียง 274 คนเท่านั้นที่ไปเปิดศักราชการท่องเที่ยวของภูฏาน

ปี พ.ศ. 2536 ภูฏาน กลายเป็นเป้าสนใจของนักเดินทางผู้ใฝ่หาในวิถีอันสงบงามขึ้นมาทันที หลังภาพยนตร์เรื่อง "Little Buddha"ที่ส่วนใหญ่ถ่ายทำในประเทศนี้ออกฉายต่อสายตาชาวโลก

เพราะเสน่ห์ต่างๆในภูฏานนั้นมันช่างชวนหลงใหลยิ่งนัก

ภูฏาน งดงามไปด้วยทิวทัศน์ของขุนเขาอันสลับซับซ้อนและป่าเขาลำเนาไพรที่อุดมสมบูรณ์

ภูฏาน เป็นประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบตรันตระเป็นศาสนาประจำชาติ

ภูฏาน มีวัดวาอารามและงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ภูฏาน มีชาวเมืองที่ยังคงดำรงวิถีอยู่ในจารีต วัฒนธรรม และประเพณีที่สืบต่อกันมาแต่โบราณอย่างแนบแน่น

และที่สำคัญก็คือ ชาวภูฏานใช้อย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยรอยยิ้ม ความสุข และอัธยาศัยไมตรี

http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000109496
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000112243





จาก : ๑ - 04/09/2006 20:56

# 25

ขณะนี้หนังสือ A portrait of Bhutan ซึ่งทรงพระนิพนธ์โดย

สมเด็จพระราชินีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ฉบับแปลเป็นภาษาไทย

"ภาพสวรรค์ภูฏาน" ออกวางจำหน่ายแล้วค่ะ ดูรายละเอียดได้ที่

www.ohmygodbooks.com ช่วงนี้หาซื้อในราคาพิเศษได้ที่

บู๊ท W28 โซน เอเทรียม ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติค่ะ



จาก : อมร แสงมณี - - jiwabaharu@yahoo.com - 22/10/2006 09:04

# 26

เลียบริมหิมพานต์ "ภูฏาน" อีกด้านของเหรียญ
ท่องไปกับใจตน ไลฟ์สไตล์ คมชัดลึก



นับจากเดือนมิถุนายน ที่กระแสความสนใจของคนไทยมีต่อประเทศเล็กๆ แถบเทือกหิมาลัยอย่างภูฏาน พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตราบจนวันนี้ ยังปรากฏให้เห็นในรูปลักษณ์รายการทีวี แม้แต่รายการสนทนา อย่าง "วีไอพี"

ก็อุตส่าห์บินลัดฟ้าป่าหิมพานต์ไปทำรายการมาสนองความอยากรู้ของแฟนๆ ยังไม่นับหนังสือเกี่ยวกับดินแดนมังกรสันติที่ออกมาหลายเล่ม สอดรับกระแส "ปฏิรูป" ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต่างชูแนวนโยบาย "เศรษฐกิจพอเพียง" และบอกจะสนใจความผาสุกของประชาชน มากกว่าจะมุ่งไปที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) เหมือนที่ผ่านมา อันเป็นแนวนโยบายที่กษัตริย์ภูฏานประกาศใช้มานานกว่า 30 ปี จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในนาม "ปรัชญาความสุขมวลรวมประชาชาติ" (จีเอ็นเอช)



แต่ก็เป็นธรรมดา ที่เมื่อใคร หรือสถานที่ใดมีคนรัก ก็มักตามมาด้วยความห่วงใย เกรงว่าพอมีคนหลงรักมากๆ เดินทางไปเที่ยวกันมากๆ หรือเมื่อภูฏานเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยในปี 2551 แล้ว เมืองแมนแดนสวรรค์แห่งสุดท้าย (The Last Shangri-La) อย่างภูฏานจะบอบช้ำ จะเปลี่ยนไป วัยรุ่นจะหันมานุ่งยีนแทนชุดประจำชาติ "โกะ" กับ "กีระ" ความทันสมัยจะเข้าไปแทนที่มนต์ขลังของศิลปวัฒนธรรมภูฏานหรือไม่? ซึ่งจะว่าไปก็ออกจะเป็นความห่วงใยที่เห็นแก่ตัวอยู่ไม่น้อย เพราะคนที่ห่วงมักเปลี่ยนตัวเองไปนานแล้ว แต่ไม่อยากให้คนอื่นเปลี่ยน เพื่อเอาไว้ให้ตัวเองได้คิดถึงอย่างอาลัยอาวรณ์ (Nostalgia)

ที่ห่วงใยอย่างมีศิลปะสักหน่อย เห็นจะเป็นหนังสารคดีที่มาฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เรื่อง The Dragon House ผลงานกำกับและเขียนบท โดย Jon Garano จากแดนกระทิงดุ สเปน หนังสี 35 มม.เรื่องนี้ สะท้อนภาพชีวิตบนเส้นขนานของชายหนุ่มภูฏานสองคน คือ "นัมกาย" ซึ่งบวชเรียนมาตั้งแต่เด็ก และเดินตามรอยบาทพระศาสดาอย่างเคร่งครัด ในขณะที่ "จิกมี" (คนละคนกับมกุฎราชกุมารจิกมี เคซาร์-ไม่ใช่เคเซอร์) ซึ่งภูมิใจนักหนากับการเป็น "คนขี่แผ่น" หรือ "ดีเจ" ในผับ คนแรกในประวัติศาสตร์วงการบันเทิงภูฏาน

หนังเดินเรื่องคล้ายสารคดี "คนค้นฅน" ที่เราคุ้นเคย แต่มันสะท้อนภาพที่จริงเพียงส่วนเดียวของภูฏานวันนี้ เพราะหนังให้น้ำหนักกับดีเจจิกมี มากกว่าสามเณรนัมกาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สังคมภูฏานส่วนใหญ่ยังแนบแน่นกับศาสนา ในขณะที่ชีวิตสมัยใหม่ประเภทใส่สายเดี่ยว นุ่งยีน ขี่เก๋ง พกมือถือเข้าไปดิ้นในผับ หรือนั่งแชตในอินเทอร์เน็ต มีอยู่น้อยนิดจริงๆ พูดได้ว่าจำกัดอยู่ในกลุ่มลูกหลานนักธุรกิจที่เมืองหลวงธิมพู ก็ไม่ผิดนัก

ซึ่งจะว่าก็เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน เพราะภูฏานไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน แม้พวกเขาจะรักษาวัฒนธรรมประเพณีไว้ได้ดี แต่ก็เรียนภาษาอังกฤษมาอย่างดี และเรียนรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตะวันตกจากสื่อต่างๆ เช่นกัน จะให้ทุกคนแต่งชุดโกะไว้คอยอวดนักท่องเที่ยวทั้งวันทั้งคืน...มันก็เกินไป และถึงแม้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้จะ "แดนซ์" กันกระจายเพียงใด ก็ยังไม่สั่นคลอนเสาหลักทั้งสี่ที่ค้ำยันสังคมภูฏานให้เข้มแข็งตามปรัชญา "จีเอ็นเอช" จนกลายเป็นปัญหาสังคม นั่นคือเสาแห่งเศรษฐกิจที่พอเพียง เสมอภาคและเป็นธรรม เสาแห่งการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เสาแห่งการส่งเสริมและรักษาวัฒนธรรมประจำชาติ และเสาแห่งธรรมาภิบาล หรือการปกครองที่เป็นธรรม ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลภูฏานผู้ดูแลเสาเหล่านี้ ก็ห่วงใยปัญหาเด็กติดเกมคอมพิวเตอร์ ที่เริ่มมีให้เห็นในเมืองใหญ่ และคำนึงถึงการให้อิสระแต่เด็กในเมือง สามารถดูรายการมวยปล้ำจากเคเบิลทีวีได้ ทั้งๆ ที่แต่เดิมช่องนี้เคยถูก "แบน" มาก่อน

แต่ก็อีกนั่นแหละ เด็กเมืองที่ได้ดูมวยปล้ำแล้วคลั่งไคล้ก็มีอยู่น้อยนิดเหลือเกิน เมื่อคำนึงถึงประชากรกว่า 80% ในชนบทที่ไม่มีเคเบิลจะดู เช่นเดียวกับหนัง The Dragon House ก็บอกเล่าอยู่ในตัวว่า ดีเจจิกมี ไม่ประสบความสำเร็จนัก ในการนำเพลงใหม่ๆ มาแนะนำให้หนุ่มสาวภูฏาน ในขณะที่สามเณรนัมกายยังอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์อย่างมั่นคง แต่กระนั้น หนังก็ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า ไม่มีใครไป "แช่แข็ง" สังคมใดได้ตามใจชอบ เหรียญมีสองด้าน และการเปลี่ยนแปลงมันเป็นสัจธรรมอยู่แล้ว อยู่ที่จะเปลี่ยนอย่างไรมากกว่า

บรรทัดนี้ ขอบอกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม จะมีหนังสือเกี่ยวกับภูฏานวางแผงในงาน "มหกรรมหนังสือระดับชาติ" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ อีกเล่มหนึ่ง คือ "เลียบริมหิมพานต์ เนปาล-ภูฏาน" ซึ่งไม่เหมือนเล่มใดที่ออกมาก่อนเลย เพราะเป็นการรวมข้อเขียน บทกวี และภาพวาด ของนักการทูตและผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมครั้งประวัติศาสตร์ เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญศาสนาเปรียบเทียบ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์ ดร.สมิทธิ ศิริภัทร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศิลป์ ม.ศิลปากร ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินภาพวาดสีน้ำ อ.อานันท์ นาคคง ผู้สร้างสรรค์ดนตรีประกอบหนัง "โหมโรง" ดวงดาว สุวรรณรังษี นักเขียนและช่างภาพชื่อดัง โดยมีผมเป็นบรรณาธิการคัดสรรและร่วมเขียน

นี่คือผลพวงจากการที่กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนไทยชุดนี้ ไปเยือนเนปาลและภูฏาน ในโครงการ "รู้จักสมาชิกใหม่ของบิมสเทค" (Getting to Know the New BIMSTEC Members) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือไทยกับกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล เมื่อเดือนกันยายน 2548 หรือตั้งแต่กระแส "จิกมี ฟีเวอร์" ยังไม่เกิดขึ้น

ท่านที่อยากรู้จักเนปาลและภูฏานในแง่มุมที่หลากหลาย ลองพิจารณาหนังสือเล่มนี้ดูนะครับ เผื่อจะเห็นภาพดินแดนแถบเทือกหิมาลัยชัดเจนขึ้น



จาก : @ - 28/10/2006 09:47

# 27

fl4pll,4,ekfthoklrjgkltr.mr

จาก : pon - 27/11/2006 08:29

# 28

รักเจ้าชายค่ะ


จาก : ฝ้าย - 28/11/2006 20:05

# 29

อยากไปมั่งงะภูฏาน แต่ ปะป๋ากะมามี้ ไม่ให้ไปงะ บอกว่าต้องกลับไปไต้หวันก่อน ก็เราไม่อยากไปนี่นา เฮ่อ กลุ้ม.

จาก : jaaov - - jaaov@yahoo.co.th - 24/03/2007 12:56

# 30


ขอให้พระองค์เจ้าชายจิกมีทรงพระเจริญมีความสุขมากๆ

จาก : ภัทราพรรณ จันทรพิบูลย์ - 12/05/2007 11:47

# 31

ง่าย งาม สไตล์ภูฏาน
ที่มา ทวีวัฒนา ทุนคุ้มทอง กายใจ กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2550



หลายคนต่างรู้ดีว่า ชาวภูฏานใช้ดัชนีแห่งความสุข เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิต นี่คือเรื่องเล่าจากผู้เขียน ที่ได้สัมผัสภูฏานอย่างใกล้ชิด เธอมีความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้ม และความเอื้ออาทรจากทุกๆ เมืองของภูฏาน


"หลบก่อน พระราชินีเสด็จ" ไกด์จำเป็นของเรา ซึ่งเป็นชาวภูฏาน บอกเบาๆ ก่อนจัดแจงขยับผ้าคลุมไหล่ของตนเองให้เรียบร้อย และหลบฉากไปยืนสงบเสงี่ยมอยู่ด้านหนึ่ง

“พระองค์เสด็จมาที่วัดนี้เหรอ ทำไมไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่มาสักคนล่ะ” เราถาม ขณะที่ยืนอยู่ที่ลานวัดแห่งหนึ่งในเมืองทิมปู นครหลวงของประเทศภูฏาน รู้สึกไม่ค่อยเชื่อไกด์เท่าไร เพราะไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่สักคนบอกกล่าวให้คนออกจากพื้นที่

แต่ไม่กี่นาทีต่อมา เราก็เห็นพระองค์เสด็จขึ้นบันไดวัด ฉลองพระองค์ในชุดคีร่า เครื่องแต่งกายประจำชาติของสตรี มีนางกำนัลติดตาม 2 คน มีทหารรักษาพระองค์ 2 นาย

“พระองค์ท่านก็เสด็จกันแบบนี้ทุกทีแหละ พวกเราเห็น ก็จะคอยหลีกทางให้” ไกด์จำเป็นอธิบายเพิ่มเติม เมื่อเห็นเรายังยืนทำหน้าเป็นเครื่องหมายคำถาม หลังจากคณะเสด็จฯ ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว

เราคงยังจำกันได้ดีว่า เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ขณะดำรงพระยศเป็น มกุฎราชกุมารแห่งภูฏานเสด็จฯ เป็นราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ก็ทรงเป็นขวัญใจคนไทยทั้งประเทศจากพระจริยวัตรที่งดงามและความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ ปีนี้พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่แทนพระบิดาซึ่งสละราชสมบัติเร็วกว่ากำหนดหนึ่งปี ปีหน้าภูฏานก็จะจัดพิธีเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วย

นอกจากนี้ ภูฏานยังมีหลายสิ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหา โดยเฉพาะเรื่องราววิถีการดำเนินชีวิตที่ใกล้ชิดและผูกพันกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง และการยืนหยัดอย่างองอาจท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่บีบล้อมเข้าไปทุกด้าน

1.

หลังจากเราได้ ‘คุย’ กับเพื่อนชาวภูฏานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่งจดหมายและ ‘ไฟล์แนบ’ เอกสารสำคัญต่างๆ ที่จำเป็นอยู่พักใหญ่ การขอวีซ่าเข้าเมืองก็สำเร็จเรียบร้อย ก็เป็นอันว่าการตระเตรียมต่างๆ พร้อมแล้วสำหรับการเดินทางครั้งสำคัญที่ฉันตั้งตารอมานานนับเดือน

ฉันกำลังจะได้ไปเยี่ยมเยียน ‘เพื่อนเก่า’ ที่เคยเรียนมาด้วยกัน เพื่อนผู้มาจากแดนไกลในหุบเขาอันงดงาม ผู้มีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ประเทศเล็กๆ ที่ชื่อว่า ภูฏาน ดินแดนแห่งมังกรผู้รักสันติ ณ มหาคีรีหิมาลัย นั่นเอง

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศนี้มามากเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ ‘ดัชนีความสุขมวลรวมประชาติ’ หรือ ที่เรียกกันว่า ดัชนีแห่งความสุข เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิต อันสะท้อนให้เห็นว่าประเทศนี้ เห็นว่าการมีชีวิตที่ดี มีความสุขตามอัตภาพนั้น สำคัญยิ่งกว่าการสร้างผลผลิตหรือหาเงินทองเพิ่มขึ้น อันเป็นมาตรฐานตามแบบที่ประเทศในโลกตะวันตกกำหนดไว้

ตัวแปรในการจัดทำดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) ของภูฏาน จะดูจาก 4 เรื่อง คือ

1. การส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

2. ความสามารถในการรักษาและส่งเสริมคุณค่าของวัฒนธรรม

3. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ

4. การมีธรรมาธิบาล

ซึ่งทั้งหมดนี้อาจถือได้ว่าเป็นทุนเดิมของสังคม ส่วนสิ่งที่ควรทำต่อไปคือพยายามดูแลรักษาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ให้ดีเหมือนเดิม ตามสายตาของคนภายนอก เราอาจจะเห็นว่าภูฏานเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่ยากจน ตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่ยิ่งใหญ่สองแห่งคือ จีนและอินเดีย แต่เมื่อเราได้สัมผัสชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างใกล้ชิด สิ่งที่เห็นคือ วิถีชีวิตที่มีเอกภาพแฝงอยู่ในความเรียบง่ายและความสงบสุข ไม่ว่าสังคมโดยรวม ผู้คนที่ได้พบเห็น สภาพบ้านเรือน ไปจนถึงรูปแบบงานศิลปะที่ปรากฏให้เห็นตามบ้านเรือน วัดวาอารามและสถานที่ราชการ ซึ่งหลายแห่งอยู่ในที่เดียวกันโดยทั่วไปเรียกว่า ซอง (Dzong)

ซอง คือ วัดและสถานที่ราชการในที่เดียวกัน แทบทุกแห่งจะคล้ายๆ กัน คือ ด้านหน้าจะมีลานกว้าง ใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาล ด้านข้างเป็นห้องแถวยาวขนานทั้งสองด้านเป็นกุฏิพระ สุดเขตลานแรกพื้นสูง จำต้องไต่บันไดแคบๆ ขึ้นไปสูงลิบ สถานนี้แห่งนี้ใช้เก็บพระไตรปิฎกและคัมภีร์สำคัญ ด้านหลังของอาคารเป็นลานกว้างแห่งที่สอง ซึ่งจะไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม เพราะเป็นที่ทำการของสำนักงานราชการในแต่ละท้องถิ่น เช่น ตาชิโช ซอง ก็เป็นสถานที่ทรงงานของกษัตริย์จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และคณะรัฐมนตรีของพระองค์

ตาชิโช ซอง จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้เฉพาะช่วงเวลาห้าโมงถึงหกโมงเย็นเท่านั้น เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญมาก เป็นทั้งที่ประทับของพระสังฆราชและที่ทรงงานของกษัตริย์ ที่ทำการกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศ

โชคดีที่วันนั้นฉันได้ชมซองสำคัญแห่งนี้ ได้รับความกรุณาจากไกด์กิตติมศักดิ์ ดอร์จี วังดี รักษาการเลขาธิการรัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี มาช่วยอธิบายความหมายและความสำคัญของอาคารแต่ละหลังในหมู่อาคารใหญ่ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นตาชิโช ซอง ให้เข้าใจ จึงได้ชมสถานที่สำคัญแห่งนี้อย่างมีความสุข จนเวลาล่วงเลยมาถึงหกโมงเย็น ฉันแทบไม่ทันรู้ตัว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยค่อยๆ มากระซิบบอกว่า “ออกไปได้แล้ว หมดเวลาแล้ว”

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ตอกย้ำความมั่นใจของฉันที่ว่า คนที่นี่ใจดีและมีน้ำใจมาก นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้คนรอบข้าง พลอยมีความรู้สึกที่ดีตามไปด้วย ขนาดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานที่สำคัญเช่นนี้ ก็ยังดูมีอัธยาศัยไมตรีอันดีต่ออาคันตุกะอย่างเรา และยังได้สัมผัสท่าทีที่เป็นมิตรเช่นนี้ในทุกๆ แห่งในดินแดนภูฏาน

2.

ขณะที่โลกาภิวัตน์ทำให้ทุกเมืองใหญ่ๆ ในโลกมีหน้าตาและองค์ประกอบคล้ายกันขึ้นทุกที ไม่ว่าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ห้างสรรพสินค้าต่างมีขนาดใหญ่โต ตึกสูงที่สุดในโลก แต่ที่เมืองหลวงของภูฏาน สิ่งที่เราจะได้ชมคือ ภาพศิลปะอันงดงามเกี่ยวกับตำนานพระพุทธศาสนา โรงเรียนสอนวาดภาพและศิลปะ พิพิธภัณฑ์สิ่งทอ หอสมุดแห่งชาติ ที่เก็บหนังสือโบราณและพระไตรปิฎกเก่าแก่ โรงพยาบาลประจำเมือง

ตามฝาหนังและที่ว่างทุกจุดของอาคาร จะมีลวดลายสวยงามของงานศิลปะ มีกงล้อสำหรับสวดมนต์ขนาดใหญ่สร้างอยู่ด้านหน้าห้องรอแพทย์ ที่นี่จะใช้วิธีการรักษาด้วยสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณเท่านั้น

ระหว่างที่ฉันอยู่ในภูฏาน ทุกๆ เช้าฉันจะเห็นเด็กๆ เดินไปโรงเรียน บรรดาแม่ๆ ใช้ผ้าคลุมไหล่คล้องตัวไว้ เพื่อแบกลูกคนเล็กไว้ข้างหลัง มือก็จูงลูกคนโตไปส่งโรงเรียน ในตัวเมืองร้านรวงจะเปิดช่วงสายๆ ถ้าใครตื่นเช้าออกไปเดินในเมืองก่อนเวลาโรงเรียนเริ่ม ก็จะเจอแต่ถนนว่างเปล่ากับอากาศที่หนาวเย็น แม้แต่ที่ตลาดสดเล็กๆ ในตัวเมือง ผู้คนก็จะคุยกันด้วยอัธยาศัยไมตรี ไม่วุ่นวายสับสนเหมือนตลาดสดที่เราคุ้นเคย ในตลาดจะมีของใช้ประจำวัน จำพวกอาหารสำเร็จรูปจากเมืองไทยไปวางขายอยู่มากมาย โดยเฉพาะเครื่องปรุงรส ปลากระป๋อง กะปิ น้ำปลา มีครบครัน ราวกับเดินในตลาดข้างบ้านเรา

ทีชริง ท็อปไก เพื่อนผู้ช่วยเหลือให้การเดินทางครั้งนี้เป็นจริง บอกว่า ของไทยที่นี่หาง่ายกว่าของพื้นเมืองอีก ราคาก็ไม่แพงมาก ที่สำคัญมีแทบทุกอย่าง ซึ่งเราก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเปิดตู้เย็นในบ้านเพื่อนชาวภูฏาน เห็นทั้งน้ำผลไม้ ขนมขบเคี้ยวนานาชนิด ปลาทูน่าในน้ำเกลือ เข้าไปในครัวยังมีน้ำปลา และซอสหอยนางรมจากเมืองไทยอีกต่างหาก อยู่ที่โน่นไม่ต้องห่วงเลยว่าจะหาอาหารทานไม่ได้ เพราะมีส่วนผสมและเครื่องปรุงรสจากบ้านเราไปใช้ทำอาหารไทยได้ง่ายๆ เต็มไปหมด พืชผักส่วนใหญ่ก็คล้ายกับบ้านเรา

วันอาทิตย์ที่นี่จะมีตลาดนัด ตามปกติชาวบ้านจะตั้งตารอซื้อของจากตลาดนัดของสดแห่งนี้ เพราะมีสัปดาห์ละหนึ่งวันเท่านั้น พ่อค้าแม่ค้ายังคงใช้ตาชั่งมือแบบโบราณที่บ้านเราเลิกใช้ไปนานแล้ว ของที่ขายส่วนใหญ่เป็นพืชผัก โดยเฉพาะพริกเขียวๆ รสเผ็ดจัดที่รู้สึกได้จากกลิ่นที่โชยมากระทบจมูกทันทีที่เข้าไปในเขตตลาด เนยแข็งที่ทำจากวัวและแกะ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมใช้ผสมในอาหารเกือบทุกชนิด เนื่องจากให้ความอบอุ่นเป็นอย่างดี แม้ในช่วงที่อากาศอุ่นที่สุดของปี ในเวลากลางคืนก็ยังหนาวเอาเรื่องเหมือนกัน

3.

การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ใช้ทรัพยากรเกินจำเป็น มีปัจจัยพื้นฐานเพียงพอแก่การดำเนินชีวิต สามารถติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้ ไม่จำเป็นว่าเราต้องทำตัวให้อยู่ในมาตรฐานของคนอื่น คือภาพที่สะท้อนจากสังคมแห่งนี้

ที่นี่เรายังได้เห็นคนเดินเข้าวัดไปสวดมนต์และทำบุญด้วยปัจจัยเท่าที่มีทุกวัน ไม่จำเป็นต้องรอให้มีเทศกาลหรืองานพิธี ซึ่งจะจัดขึ้นแค่ปีละครั้งเดียว ตามวัดต่างๆ นอกจากที่เป็นอารามใหญ่โตที่เรียกว่า ซอง ซึ่งมีพระจำวัดอยู่ด้วยมากบ้าง น้อยบ้าง ยังมีศาสนสถานที่มีลักษณะเป็นองค์สถูปเจดีย์ เดี่ยวๆ ด้วย แต่ทุกที่เราได้เห็นทั้งคนหนุ่มสาวและคนเฒ่าคนแก่มาร่วมกันสวดมนต์ พวกที่เดินไม่ไหวก็จะนั่งคุยกันบ้างก็สวดมนต์ไปด้วยคุยไปด้วย

ในวัดแห่งนี้ คนจะไปสวดมนต์ และทำสมาธิด้วยการเดินแบบทักษิณานุวัตร คือ วนขวาไปรอบๆ วิหารหลักของวัด โดยพวกเขาจะสวดมนต์ นับลูกประคำและหมุนวงล้อมนตรา ซึ่งจะเห็นได้ทันทีที่เราเข้าเขตวัด วัดบางแห่งมีคนนับถือและเยี่ยมเยียนเยอะ เวลาเดินรอบโบสถ์พวกเขาก็จะค่อยๆ เดินวนขวาอย่างเป็นระเบียบ ทุกอย่างก็จะค่อยๆ ดำเนินไปแบบไม่เร่งรีบ ไม่มีการเบียดเสียดหรือผลักไสคนอื่นให้ต้องอารมณ์เสีย

การไปเที่ยวชมวัดหลายต่อหลายแห่ง ได้สัมผัสความรู้สึกสุขสงบแบบชาวภูฏาน ทำให้จิตใจที่เคร่งเครียดค่อยๆ ผ่อนคลายลงได้ไม่น้อย สิ่งที่เคยเจอจนชิน เช่น ความเร่งรีบ ความแออัดยัดเยียดที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อไปเที่ยวตามสถานที่ยอดนิยม ความรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางคนเยอะๆ และความสับสนวุ่นวายนั้นแทบจะไม่พบเลยเมื่อมาถึงที่นี่ และเมื่อได้พุดคุยกับคนเชื้อชาติอื่นที่ดั้นด้นมาสัมผัสความงดงามของประเทศนี้ ทุกคนก็พูดเหมือนกันว่าพวกเขาชื่นชอบความสงบ ความงดงามของธรรมชาติ ศิลปะ และวัฒนธรรม และที่สำคัญผู้คนที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายและเป็นมิตร ทำให้รู้สึกสบายอกสบายใจ และผ่อนคลายอย่างแท้จริง แม้ว่าการเดินทางจะยากลำบาก และมีความไม่สะดวกสบายเรื่องอื่นๆ ก็ไม่เป็นไร

ภูฏานมีจุดเด่นในเรื่องความงดงามของธรรมชาติ และคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรม สิ่งที่เขาพยายามทำคือการดูแลรักษาจุดเด่นเหล่านี้ไว้ โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งหากถูกทำลายไปแล้ว ยากจะทำให้ดีกลับคืนมาเหมือนเดิม ที่สำคัญคงไม่มีวันหาอะไรมาทดแทนหรือทำให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ และที่สำคัญการยืนหยัดเป็นตัวของตัวเอง ท่ามกลางกระแสการแข่งขันอย่างดุเดือดของโลกภายนอก อีกไม่นานประเทศนี้ คงจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายเกิดขึ้น แต่ด้วยกรอบแนวคิดของการเลือกรับเอาแต่สิ่งที่ดีไว้ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการในการรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีคุณและโทษอย่างรู้เท่าทันที่สุดแล้ว





จาก : @ - 03/06/2007 17:52