หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2548

นั่งรถไฟสู่ฟากฟ้าที่"สวิตเซอร์แลนด์"แดนฝัน (1)

โดย : นันทสินี หมวดมณี
คอลัมน์ท่องเที่ยว @ผู้จัดการ


ขบวนรถไฟค่อยๆแล่นไต่ขึ้นสู่หลังคายุโรป
"สวิตเซอร์แลนด์" คือดินแดนที่ฉันใฝ่ฝันมานานแสนนานแล้วว่า ถ้ามีโอกาสสักครั่งในชีวิตต้องเดินทางไปยังประเทศนี้ให้ได้

ครั้นเมื่อความเป็นจริงขึ้นมาฉันไม่รีรอที่จะเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า แล้วนั่งเครื่องบินของสวิสแอร์มุ่งสู่สวิสในทันที

จากกรุงเทพฯใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมงเครื่องบินก็ร่อนลงจอดยัง สนามบินซูริค จากจุดนี้ฉันเลือกต่อรถเพื่อจะไปขึ้นรถไฟที่เมืองอินเทอร์ลาเก้น (Interlaken) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การตะลอนนั่งรถไฟสู่สถานีที่เรียกได้ว่า"สูงสุดของทวีปยุโรป"


เมื่อขึ้นรถไฟได้เสร็จสรรพ รถไฟขบวนไม่ด่วนนักก็แล่นเรื่อย ๆไต่ไปตามระดับไหล่เขา ซึ่งฉันอดตื่นตาตื่นใจกับทัศนียภาพสองข้างทางที่เห็นไม่ได้

บางช่วงที่รถไฟแล่นจะมีการแวะพักเพื่อให้ผู้โดยสารที่ร่วมทางมาด้วย กันได้ปรับร่างกายให้คุ้นเคย เพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายก่อนที่จะแล่นไปถึงยังเขา"ยุงค์ฟราว" (Jungfrau) หรือ"เขาแห่งสาวบริสุทธิ์"

ใช่แล้ว....รถไฟขบวนนี้แหละที่จะพาฉันโลดแล่นไปยังสถานีรถไฟสูงสุด ของทวีปยุโรป ที่หลายๆคนฝันว่าจากจุดนั้นเมื่อเอื้อมมือออกไปก็จะได้สัมผัสกับปุยเมฆขาว ละมุนละไมบนท้องฟ้า

ฉันก็ฝันเช่นนั้นเหมือนกัน...

จากทุ่งหญ้าเขียวขจีที่ไคล์เน่ฯ
เมื่อมองขึ้นไปจะเห็นเทือกเขายุงค์ฟราวตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า


จากสถานีในเมืองอินเทอร์ลาเก้นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง ขบวนรถไฟค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆยังหลังคายุโรป (Top of Europe) ซึ่งในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงอย่างนี้ดูไม่ใคร่วุ่นวายนัก ผิดแผกไปจากช่วงฤดูหนาวที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางมาเที่ยวใน เส้นทางสายนี้กันอย่างคับคั่ง ในทริปนี้ฉันจึงเที่ยวได้อย่างสบายเพราะไม่ต้องเร่งรีบไปแย่งกิน แย่งเที่ยว และแย่งถ่ายรูปกับใคร

รถไฟยังคงแล่นไปอย่างเอื่อยๆในขบวนรถที่ปรับอากาศไว้ค่อนข้างอุ่น สบาย และต้องถือเป็นโชคดีของฉันที่ได้นั่งเบาะเดี่ยวนุ่มสบายริมหน้าต่างที่มีวิว สวยจับใจให้ชม โดยช่วงที่รถไฟขบวนยาวแล่นเลื้อยเลาะผ่านหมู่บ้าน ฉันเห็นต้นแอปเปิ้ลในสวนข้างบ้านหลายหลังกำลังออกลูกสีอมแดงดอกเต็มต้น ส่วนตามทุ่งหญ้าข้างทางก็ชวนมองไปด้วยบรรดาสัตว์ที่เดินและเล็มหญ้าหากิน อย่างเพลิดเพลิน นอกจากนี้บางช่วงของเส้นทางยังมีหมู่บ้านที่สร้างลาดเอียงไปตามองศาของภูเขา ที่สูงชันขึ้นเรื่อยๆ

ภาพต่างๆเหล่านี้ที่ผ่านสายตาช่างสร้างความเพลิดเพลินให้กับคนในประเทศเขตร้อนอย่างฉันยิ่งนัก

ฟากฟ้าอยู่แค่เอื้อมที่ยุงค์ฟราวยอร์ค


จากสถานีเมืองอินเทอร์ลาเก้น รถไฟใช้เวลาวิ่งประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็มาจอดให้เราเปลี่ยนรถไฟอีกขบวนที่กรินเดิ้ลวาล (Grindelwald) ก่อนที่จะไปหยุดตรงสถานีต้นทางที่ไคล์เน่ ไชเดค (Kleine Scheidegg) เพื่อเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟล้อเฟืองเดินทางจากไคล์เน่ฯที่มีความสูง 2,061 เมตร

รถไฟขบวนใหม่ค่อยๆไต่ระดับความสูงขึ้นไปมากขึ้นเรื่อยๆในเส้นทางสู่ หลังคายุโรปยาว 12 กิโลเมตร จากไคล์เน่ฯ ไปจนถึง Eiger Glacier แล้วแล่นไต่ไปตามไหล่เขาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จากนั้นจึงๆค่อยมุดเข้าไปอุโมงค์บนเขาก่อนจะหยุดพักประมาณ 5 นาทีเพื่อให้ผู้โดยสารได้ปรับร่างกายอีกครั้งเพื่อให้ชินกับระดับความสูงที่ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้จอดชมวิวอีก 2 จุดคือที่สถานีไอเกอร์วาน (Eigerwald) ซึ่งสูงราว 2,865 เมตร ณ บริเวณนี้หากวันไหนอากาศดีจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของ Grindelwald, Kleine Scheidegg, Interlaken และทะเลสาปทูน(Thun)ได้อย่างชัดเจน

จากนั้นรถไฟแล่นไปจอดอีกครั้งที่สถานีไอเมียร์ (Eimeer) ที่มีความสูง 3,160 เมตร สำหรับที่บริเวณนี้จะเต็มไปด้วยธารน้ำแข็งและโขดหิน ก่อนที่รถไฟจะเชิดหน้าแล่นต่อไปยังสถานีที่ใกล้กับท้องฟ้ามากที่สุดนั่น ก์คือ ยุงค์ฟราวยอร์ค(Jungfraujoch) ซึ่งมีความสูงถึง 3,454 เมตร

ยุงค์ฟราวยอร์คได้ชื่อว่าเป็นสถานีหลังคายุโรป เพราะเป็นสถานีรถไฟที่สูงที่สุดในทวีป โดยผู้บุกเบิกการสร้างสถานีรถไฟยุงค์ฟราวเป็นชาวสวิสชื่อ"อดอฟฟ์ กูยเยอร์-เซลเลอร์"(Adolf Guyer-Zeller : พ.ศ. 2439 – 2455)

อดอฟฟ์ กูยเยอร์ ชายคนนี้ถือว่ามีชื่อเสียงในเรื่องการสร้างรถไฟอยู่แล้วและว่ากันว่าเขาเป็น ผู้ที่มีไอเดียกระฉูดเป็นอย่างยิ่ง โดยก่อนที่จะสร้างสถานีรถไฟสูงเสียดฟ้า อดอฟฟ์กับลูกสาวได้ออกสำรวจไปรอบ ๆ บริเวณเทือกเขายุงค์ฟราว (Jungfrau) และในระหว่างที่หยุดพัก จู่ๆเขาก็ได้พูดออกมาว่า "นึกออกแล้ว" ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเขาหมายถึงอะไร แต่เมื่อกลับไปถึงโรงแรม อดอฟฟ์ก็ใช้เวลาทั้งคืนวาดแบบความคิดให้กลายออกมาเป็นโครงการรถไฟสู่ฟากฟ้า

บ้านเรือนตามไหล่เขาแถบกรินเดิ้ลวาล


แต่ว่าการที่จะสร้างเส้นทางรถไฟสู่ฟากฟ้าเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย เพราะในช่วงเวลานั้นไม่มีเทคโนโลยีชั้นสูงใดๆช่วยทุนแรงในการก่อสร้างอย่าง เช่นปัจจุบัน ทำให้โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 16 ปี

โดยในช่วงเริ่มต้นก่อสร้างในปี พ.ศ. 2439 ช่างก่อสร้างหลายร้อยคนต้องตั้งแคมป์พักแรมบนภูเขา และเปลี่ยนเวรกันทำงานตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้พวกเขายังต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับธรณีวิทยา สภาพคล่องทางการเงิน อุบัติเหตุในอุโมงค์ และปัญหาในกลุ่มคนงานด้วยกัน รวมถึงปัญหาเรื่องทุนในการก่อสร้างที่แม้ว่าจะตั้งไว้สูงถึง 15 ล้านฟรังค์แต่ว่าก็ไม่พอ

แต่ถึงอย่างไรปัญหาที่รุมเร้าก็ไม่ได้ทำให้โครงการต้องยุติลง เพราะสุดท้ายแล้วเส้นทางรถไฟสู่ฟากฟ้าและสถานีรถไฟหลังคายุโรปก็สร้างเสร็จ สมบูรณ์ และสามาถเปิดบริการเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2455 ซึ่งตรงกับวันชาติของสวิตเซอร์แลนด์พอดี

เรียกว่านายอดอฟฟ์ กูยเยอร์ สามารถสร้างผันของเขาให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ส่วนฉันการได้นั่งรถไฟจากพื้นดินไต่เรื่อยๆไปสู่ฟากฟ้าก็เสมือนว่ากำลังเดิน ทางอยู่ในความฝันยังไงยังงั้น แต่ว่าเมื่อลองหยิกตัวเองแล้วรู้สึกเจ็บก็ทำให้ฉันได้พบว่า การเดินทางสู่ฟากฟ้านี้นับเป็น"ฝันที่เป็นจริง" ซึ่งอยากที่ฉันจะลืมเลือนได้...(อ่านเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจของหลังคายุโรปต่อในตอนหน้า)

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ภาษาพูดหลายภาษาขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียน อังกฤษ เยอรมัน แต่ไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปจึงไม่ใช้เงินยูโร แต่ว่าใช้เงินสกุลสวิสฟรังก์ (Swiss Francs)

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศภูมิประเทศสวยงามและอากาศดี เดือนก.ค.-ส.ค. มีอุณหภูมิ 18 - 27 องศาเซลเซียส เดือนม.ค.-ก.พ. มีอุณหภูมิประมาณ ลบ1 - 5 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูในไม้ผลิกับฤดูใบไม้ร่วง ช่วงกลางวันมีอุณหภูมิประมาณ 8 - 15 องศา และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศในแต่ละวันมีอยู่ตลอดเวลา การไปเที่ยวสวิสจึงควรนำเสื้อกันหนาวหนาๆติดตัวไปด้วย

สำหรับการเดินทางจากเมืองไทยสู่สวิตเซอร์แลนด์ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สายการบินสวิส โทร.0-2504-2754-6