หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รัม (Rum)

รัม. เป็นเหล้าที่น่าพิศวงชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มกันมาตั้งแต่คนดื่ม ที่มีตั้งแต่ระดับล่างสุด ไปจนถึงคนในสังคมชั้นสูง โดยตัวรัมเองจะมีลักษณะต่าง ๆ เช่นชนิดที่มีสีขาวที่ไม่มีรส ไปจนถึงรัมสีดำ รสเข้มยิ่งกว่าสก็อตซ์ ที่ออกมาจากถังบ่มใหม่ ๆ ซะอีก

เพราะเหล้ารัมทำมาจากอ้อย เหล้ารัมส่วนใหญ่จึงมาจากอเมริกาใต้ และแถบคาริบเบียน ซึ่งจะหมักจากน้ำอ้อยโดยตรงก็ได้ หรือจะทำจากกากน้ำตาล (Molasses) ที่เหลือจากการทำน้ำตาลทรายแล้วก็ได้

กรรมวิธี ในการผลิตเหล้ารัม ค่อนข้างง่าย เพราะวัตถุดิบเป็นน้ำตาลอยู่แล้ว ไม่ต้องรอหมักแป้งให้เป็นน้ำตาลอย่างเหล้าทีผลิตจากธัญญชาติ โดยจะต้มกลั่นในหม้อ (Pot Stills) หรือกลั่นแบบต่อเนื่อง (Continuous Stills) ก็ได้ รสชาดของรัมจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการหมัก น้ำตาล หรือการเติมหัวเชื้อเหล้าที่เหลือจากการกลั่นครั้งก่อนก็ได้ ส่วนสีสันจะได้จากการบ่มหรือจะเติมสีด้วยคาราเมลก็ได้ สำหรับรัมที่ต้องการรสและสีค่อนข้างอ่อน ก็ไม่ต้องบ่มนาน แต่ถ้าต้องการรสเข้มข้นและสีที่เข้มข้นด้วยบางทีต้องบ่มไว้ในถังไม้โอ๊ค ตั้งแต่ 3-4 ปี


การเลือกเหล้ารัมให้ถูกใจนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล ซึ่งถ้าชอบรัมที่มีรสชาดอ่อน ก็ต้องของเปอร์โตริโก้ แต่ถ้าต้องการประเภทที่มีสีชานิด ๆ คือแบบ Medium-Light ก็ต้องของทรินนิแดด หรือจะดื่มแบบรสนุ่มของรัมสีรมควัน ก็ไม่น่าจะพลาดของพาร์บาโต๊ส และถ้าชอบรัมชนิดที่เข้มข้นแบบ Full Bodied Rum ก็คงต้องของจาไมก้า

จากตำนานเก่า ๆ ที่เล่าสืบต่อกันมาได้บ่งบอกถึงความเก่าแก่ของเหล้ารัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของอเมริกาอย่างมาก กล่าวคือโคลัมบัสผู้ค้นพบทวีบอเมริกา ได้เป็นผู้นำพันธุ์อ้อยไปปลูกตามเกาะต่าง ๆ ในแถบทะเลแคริบเบียน ซึ่งปัจจุบันดินแดนแถบนั้นได้กลายเป็นแหล่งผลิตเหล้ารัมและน้ำตาลทรายที่ใหญ่ที่สุดของโลก

นอกจากนี้เหล้ารัมยังมีความสัมคัญที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับอิสรภาพของคนอเมริกันอีกด้วย โดยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ พอล รีเวียร์ ซึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกาได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษสำคัญคนหนึ่ง เพราะควบม้าไปตลอดคืนเพื่อไปแจ้งข่าวการบุกของกองทัพอังกฤษ แต่อีกนัยหนึ่งผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์ครั้งนั้นกลับบันทึกไว้ว่า พอลคงตั้งใจจะไปเตือนพวกลักลอบขนรัมเถื่อนมากกว่า เพราะพอลเป็นพ่อค้ารัมแลกกับทาส

มนต์เสน่ห์มายซอร์

โดย : เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ @กรุงเทพธุรกิจ


รถไฟเที่ยวกลางคืนมุ่งหน้าไปยัง มายซอร์ คืนนั้น ลบภาพความน่าสะพรึงกลัวที่พูดๆ กันเลยค่ะ เบาะที่นอนสะอาด สะดวกสบาย

มีปลั๊กไฟสำหรับชาร์จแบตเตอรี่และไวร์เลสสำหรับคอมพิวเตอร์อีกต่างหาก เป็นรถนอนชั้น 1 แต่สำหรับนักเที่ยวแบ็คแพ็คอย่างฉัน มีไว้ชงมาม่ากินรองท้อง และชาร์จแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูปก็สบายเกินพอแล้วค่ะ


ถึงมายซอร์เมื่อ เช้าตรู่อากาศดีเชียว แต่อืมม...ฝุ่นเยอะมาก ผ้าพันคอนี่ละค่ะสารพัดประโยชน์ใช้คาดจมูกกันฝุ่น โพกหัวเวลาร้อน และพันคอกันหนาวยามค่ำได้ ขอแนะนำให้ติดกระเป๋ามาสักผืนค่ะ

ได้ที่พักแล้วอาบน้ำอาบท่า กองทัพต้องเดินด้วยท้องฉันใด...ก็ฉันนั้น ฉันเริ่มต้นวันด้วย ทาลี อาหารที่คนอินเดียเรียก ว่า พื้นๆ นั่นล่ะค่ะ ต้องลอง ไม่มีอะไรมากหรอกค่ะ เป็นข้าวที่มาพร้อมกับเครื่องเคียงเป็นซุบสารพัดชนิด เหมือนกินข้าวกับน้ำแกง แต่แกงแต่ละชนิดนั้นอุดมด้วยเครื่องเทศ วิตามินทั้งนั้นนะคะ เป็นการกินที่คนอินเดียบอก ว่า 'ตามหลักอายุรเวท' ที่ผักต้องต้มสุก ตบท้ายมื้อเช้าด้วยทับทิมลูกใหญ่สีแดง หวานจัด นำเข้าจากแคชเมียร์ เช่นเดียวกับผลไม้เมืองหนาวจากทางเหนือมีหาบขายกันเกลื่อน

ฉันใช้เวลาเกือบครึ่งวันนั้นใน ร้านหนังสือ สมกับที่อินเดียเป็น ประเทศยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งพิมพ์ และแหล่งก๊อบปี้หนังสือ แต่ต้องพิจารณาดีๆ เพราะหนังสือดีหลายเล่มราคาถูกกว่าของจริง แต่หน้าหายไปหลายหน้า ได้ไปจะเสียอารมณ์เปล่าๆ ร้านหนังสือดีๆ มีกระจายอยู่แทบทุกเมือง แม้ส่วนใหญ่เป็นร้านเก่า เทียบไม่ได้กับในเมืองใหญ่อย่างบังคาลอร์ แต่อัดแน่นไปด้วยหนังสือดีๆ และหายาก ฉันได้หนังสือของนักเขียนอินเดียติดมือมาหลายเล่ม สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับอายุรเวท และโยคะ ก็เป็นแหล่งค้นคว้า และแสวงหาที่ดีเลยล่ะค่ะ

ชื่อเสียงของเมืองมายซอร์ โดดเด่นคู่มากับโยคะค่ะ ด้วยว่ามีสถาบันโยคะที่มีชื่อเสียงหลายแห่งและหลายแขนง ที่ฮอตฮิตมากเป็น อัชแทงกาโยคะ ฉันลองเข้าไปเยี่ยมๆ มองๆ ที่สถาบันโยคะอัชแทงกา เห็นฝรั่งหลายคนปักหลักอยู่กันครึ่งค่อนปีเพื่อฝึกโยคะ แต่ใช่ว่าจะออกไปเป็นครูสอนโยคะกันง่ายๆ นะคะ จบออกไปแล้วยังต้องกลับมาทดสอบกันอยู่เป็นระยะ ซึ่งหมายถึงอีกเป็นปี ก่อนที่จะได้ใบรับรองเพื่อใช้ประกอบอาชีพได้ มีโอกาสได้เจอกับอาจารย์ใหญ่ ผู้ก่อตั้งสถาบันโยคะอัชแทงกา ท่าน Patthabhi Jois อายุ 90 แล้วค่ะ แต่ยังเดินหลังตรง ดูแลนักเรียนของท่านอย่างขันแข็ง เห็นท่านแล้วเป็นแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดีเชียวค่ะ

เย็นนั้นฉันลิ้มลองอาหารหาบเร่ริมทาง สารพัดอย่างที่พ่อค้าเข็นมาขายร่วมสิบคัน หอมควันฉุยแทบเลือกไม่ถูก ยืนกินปะปนไปกับชาวอินเดีย อร่อยได้บรรยากาศไปอีกแบบ แต่ส่วนมากจะเป็นของกินเล่น ที่ชอบเป็นพริกสดชุบแป้งผสมเครื่องเทศทอด กินร้อนๆ หอมกลิ่นพริกสดๆ และ บอนดาส เป็นขนมอบสอดไส้มันฝรั่งบด แน่นอนว่า ผสมเครื่องเทศจนชุ่ม หอมมันถูกใจคนชอบความหวานและมันแบบเข้มข้นตามแบบฉบับอินเดีย หรือจะลอง พาบาจิส์ เป็นขนมปังปิ้งจิ้มกับสารพัดเครื่องเทศที่ไปผัดในน้ำมันร้อน มีมะนาว และหัวหอม ให้กินแก้เลี่ยน...อร่อยค่ะ

พระราชวังมหาราชาแห่งมายซอร์
 วันที่สองในมายซอร์ ฉันเข้าวังค่ะ เป็น พระราชวังของมหาราชาแห่งมายซอร์ ยิ่งใหญ่อลังการสมกับเป็นของมหาราชา ต้องถอดรองเท้า และไม่เฉพาะห้ามถ่ายรูป แต่ต้องฝากกล้องไว้ด้านนอกเลยล่ะค่ะ สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบผสมผสานอินโด-ซาราซีนนิก คือมีกลิ่นอายของยุโรป ด้วยสถาปนิกเป็นช่างชาวอังกฤษ เทพองค์เล็กองค์น้อยจึงดูละม้ายคล้ายกามเทพของยุโรปอยู่ในที พระราชวังที่หลงเหลือถึงวันนี้เป็นพระราชวังหลังใหม่ที่สร้างเสร็จเมื่อ 95 ปีที่ผ่านมานี้เองค่ะ หลังเดิมถูกไฟไหม้ไปเมื่อปี พ.ศ.2440 ศิลปะการใช้สีฉูดฉาด จุดเด่นอยู่ที่การตกแต่งพื้นด้วยโมเสก และเล่นแสงเงาด้วยการสะท้อนแสงของกระจกสี รวมทั้งภาพเขียนสีประวัติศาสตร์บอกเล่าชีวิตของชาวมายซอร์ในอดีต และประตูไม้แกะสลักวิจิตรบรรจง พระราชวังของมหาราชาในแต่ละแคว้นจะมีวัดประจำพระองค์ เช่นเดียวกับมหาราชาแห่งมายซอร์ทรงดำริให้สร้าง วัดฮินดูชเวตา วราหัสวามี ขึ้นในเขตพระราชฐานด้วย

ตอนนี้พระราชวังตกเป็นสมบัติของรัฐรวมทั้งเรือนที่ทำการของกรมกองต่างๆ ของสำนักราชวัง ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นวิทยาลัย เป็นธนาคาร และที่ทำการของหน่วยงานอื่นๆ ส่วนลูกหลานของมหาราชามีข่าวว่า พยายามฟ้องร้องต่อศาลเรียกคืนทรัพย์สินที่ปัจจุบันได้ครอบครองแต่เพียงพระ ตำหนักส่วนพระองค์และทรัพย์ศฤงคารบางส่วน ที่บรรดาเครือญาติของพระองค์เห็นว่า เล็กน้อยเท่านั้น

พาหนะพระอิศวรบนยอดเขาชามุนดิ

จากวังของมหาราชา ฉันไปดักขึ้นรถประจำทางขึ้นเขาไป 1,000 กว่าเมตร ประมาณ 40 นาทีถึงยอดเขา ชามุนดิ เดินผ่านดงร้านขายของที่ระลึก เห็นชาวฮินดูเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อเข้าไปสักการะรูปสลักศิวลึงค์พระศิวะ บนเขาชามุนดิมีชุมชนเล็กๆ อยู่อย่างใกล้ชิดกับชุมชนขนาดย่อมของเหล่าวานร ที่เพียรแวะเวียนเข้าไปฉกเอากล้วยที่มีผู้นำมาบูชาเทวรูปต่างๆ มากิน และพวกมันนี่ล่ะค่ะเที่ยวปีนป่ายขึ้นเศียรของเทวา-เทวีทั้งหลายอย่างไม่เกรง บาปกลัวกรรม ฤๅมันจะถือว่า บรรพบุรุษเป็นทหารคู่ใจพระราม

ทาลี อาหารพื้นเมือง (บน) - แม่ค้ากระทงดอกไม้บูชาเทพ (ล่าง)


เครื่องสักการะของชาวฮินดูเป็นกล้วย มะพร้าว และดอกไม้ เสร็จพิธีบูชา เขาจะนำมะพร้าวมาทุบให้แตก โดยมีพลพรรคขอทานหรือพ่อค้าแถวนั้นคอยจ้องหยิบเศษมะพร้าวมากินเนื้อ ส่วนกล้วยก็...แฮ่มม..เสร็จทหารเอกพระรามตามระเบียบ แบ่งปันกันถ้วนหน้าดีค่ะ คนที่นี่เขายังนิยมซื้อกล้วย หรือแตงโมผ่าซีกแจกให้วัวกินด้วยนะคะ ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง

เจดีย์แห่งชามุนดิ - รูปเคารพเทพประจำเมือง
 เขาชามุนดินี้นะคะ หากเป็นนักแสวงบุญที่เคร่ง เขาจะเดินขึ้นเขากันค่ะ 1,000 ขั้น และลงอีก 1,000 ขั้น ส่วนนักแสวงหาแต่ความสุขอย่างฉันขอแค่เดินลง 1,000 ขั้นก็พอแล้วค่ะ เดินชมวิวเห็นมายซอร์ใน มุมสูง สวยไปอีกแบบ ลงมาได้ครึ่งทางเจอกับรูปปั้น 'โคนนทิ' หรือพาหนะของพระศิวะ ตัวใหญ่สูงกว่า 5 เมตร หันหน้าไปทางยอดเขาชามุนดิ มีชาวฮินดูมาสักการะไม่ขาดค่ะ พร้อมกับนำอาหารมาถวายพระ ผู้ดูแลรูปปั้นโคนนทิในช่วงวันทางศาสนา

ตลาดมายซอร์ (บน) - หมากพลูอินเดีย (ล่าง)

เมืองมายซอร์นี้อบอวลด้วยกลิ่นธูปนะคะ สมกับเป็นเมืองของการผลิต ธูป มีหลายร้านที่เป็นธูปแบบโฮมเมด มีกลิ่นเฉพาะ และแบบที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ทำส่งออกขายทั่วโลกกันเอิกเกริก


ของดีหลายประการที่พลาดไม่ได้ในมายซอร์อีกอย่างคือ ผ้าไหม ว่ากันว่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผ้าไหมที่ขายกันทั่วอินเดียมาจากมายซอร์นี้ ละกัน ซื้อของที่นี่ก็ง่ายดีเพราะแยกกันเป็นถนนเป็นแหล่งไปเลยว่าที่ไหนขายอะไร ฉันติดใจความคลาสสิกของเครื่องทองเหลืองทองแดงของที่นี่มาก แม้ปัจจุบันผู้หญิงอินเดียหัน มาใช้ถังพลาสติกแทนคนโททองเหลืองกันหมดแล้วก็ตาม ก็ได้แต่ถอนใจด้วยความเสียดาย คนโบราณเชื่อว่า การดื่มน้ำที่เก็บกักไว้ในภาชนะที่เป็นทองแดง พลังจากสารประกอบทองแดงจะช่วยเพิ่มคุณค่าของน้ำ อีกอย่างค่ะคือ น้ำมันจันทน์หอมระเหย ที่มายซอร์ภูมิใจเป็นหนักหนาว่า เป็นแหล่งผลิตของแท้ และหาได้ที่มายซอร์เท่า นั้น ปกติน้ำมันหอมระเหยจะเบสด้วยน้ำมันงา อัลมอนด์ หรือไม่ก็น้ำมันมะพร้าว แต่ของเขาขายกันเป็นน้ำมันจันทน์บริสุทธิ์จากต้นจันทน์ ขวดขนาด 5 มิลลิลิตร เรียกว่า ไม่กี่หยดก็ได้นะคะ ราคา 700 บาท เหมาะสำหรับผู้พิสมัยกลิ่นไม้จันทน์จริงๆ

เพราะความหอมของไม้จันทน์ เป็นกลิ่นเฉพาะจริงๆ

หมายเหตุการเดินทาง : จากบังคาลอร์ หรือจากเชนไน มีทั้งรถไฟและรถโดยสารประจำทาง วันละ 3 เที่ยวตรงถึงมายซอร์ ตรวจสอบตารางการเดินทางที่แน่นอนที่สถานีขนส่ง ราคาอยู่ระหว่าง 50-150 บาท ขึ้นอยู่กับรถวีไอพี ธรรมดาแอร์ หรือธรรมดา

10 สัญญาณเตือนภัยของรถคุณ

คนใช้รถทุกวันนี้ บางคนอาจจะแค่ขับไปทำงานแล้วกลับบ้าน บางคนก็ขับไปไกลๆถึงต่างจังหวัด มีหลายคนที่ขับอย่างเดียว โดยที่ไม่สนใจหรือเอาใจใส่รถของตัวเองว่ามีสิ่งผิดปกติอะไรบ้าง ทั้งที่รถทุกคันควรได้รับการดูแลและตรวจเช็คก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในชีวิต "ผู้จัดการ มอเตอร์ริ่ง" จึงแนะนำวิธีตรวจเช็ครถของคุณเบื้องต้น กับ 10 สัญญาณเตือนที่จะบ่งบอกได้ว่ารถของคุณนั้นอาการน่าเป็นห่วง

1. สัญญาณเตือน
เราสามารถรับสัญญาณบอกอาการผิดปกติของรถได้ โดยใช้ประสาททั้ง 5 คือ การเห็น การฟังเสียง การได้กลิ่น การจับต้องชิ้นส่วนนั้น ๆ และการลองขับดู ถ้าสังเกตพบสิ่งผิดปกติต่อไปนี้ ให้รีบทำการตรวจเช็คและซ่อมแซมโดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ มากขึ้นกว่าเดิม


2. เครื่องยนต์
เครื่องยนต์คือหัวใจของรถ ถ้าเครื่องยนต์มีอาการดังนี้
- เครื่องร้อนจัดเกินไป ขับไปได้ไม่เท่าไร ความร้อนก็ขึ้นสูงเสียแล้ว
- เครื่องเย็นเกินไป แม้จะขับมาระยะทางไกลพอสมควรแล้ว เข็มวัดอุณหภูมิยังไม่กระดิก
- มีเสียงดังผิดปกติจากเครื่องยนต์
ควรนำเข้าตรวจสภาพที่ศูนย์บริการเฉพาะยี่ห้อ


3. ยาง
การสึกหรอของดอกยางแบบต่าง ๆ บอกเราได้ว่ายางผิดปกติไปอย่างไร
- ดอกยางตรงกลางล้อ สึกหรอมากกว่าขอบ แสดงว่าเติมลมแข็งเกินไป
- ดอกยางขอบล้อ สึกหรอมากกว่าตรงกลาง แสดงว่าเติมลมอ่อนเกินไป
- ดอกยางสึกหรอข้างใดข้างหนึ่ง แสดงว่ามุมแนวตั้งของยางไม่ตรง
- ดอกยางเป็นบั้ง ๆ แสดงว่าแนวของยางไม่ขนานกับแนวเคลื่อนที่ของรถ
นำรถเข้าอู่เพื่อตั้งศูนย์ล้อ หรือปรับแรงดันลมยางใหม่


4. คลัตซ์
คลัตซ์ที่มีปัญหา จะทำให้ควบคุมเกียร์ไม่ได้ อย่าละเลยอาการเหล่านี้
- คลัตซ์ลื่น หรือเข้าคลัตซ์ไม่สนิท หรือเหยียบแป้นคลัตซ์แล้ว แต่ยังเข้าเกียร์ได้ยาก
- คลัตซ์มีเสียงดัง เมื่อเหยียบแป้นคลัตซ์
- แป้นคลัตซ์สั่นขึ้น ๆ ลง ๆ ขณะกำลังขับ
ควรนำรถเข้าอู่ซ่อมช่วงล่าง หรือศูนย์บริการเฉพาะยี่ห้อ


5. เกียร์
เกียร์จะทำหน้าที่เปลี่ยนแรงบิดของเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับความเร็ว สัญญาณบอกเหตุว่าเกียร์มีปัญหาคือ
- มีเสียงดังทั้งในขณะอยู่ที่เกียร์ว่าง หรือเข้าเกียร์ใดเกียร์หนึ่งอยู่
- เปลี่ยนเกียร์ยาก มีอาการติดขัด หรือต้องขยับอยู่นาน
- มีเสียงดังขณะเข้าเกียร์ ทั้ง ๆที่เหยียบคลัตซ์แล้ว
- ห้องเกียร์มีน้ำมันหล่อลื่นไหลออกมา
ควรนำรถเข้าอู่ตรวจสอบห้องเกียร์

6.พวงมาลัย

พวงมาลัยที่มีปัญหาเหล่านี้ จะทำให้อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ยางเฟืองท้าย ชำรุดตามไปด้วย
- พวงมาลัยหนัก หรือต้องใช้แรงมากผิดปกติในการบังคับเลี้ยว
- พวงมาลัยหลวมเกินไป โดยมีระยะฟรีเกิน 1 นิ้ว
- พวงมาลัยสั่นในขณะขับ
ควรนำเข้าศูนย์บริการเฉพาะยี่ห้อ


7. เบรก
ถ้าพบว่าเบรกมีอาการผิดปกติ ต้องรีบแก้ไขทันที เพราะเบรกชำรุด นำมาซึ่งอุบัติภัยได้ง่ายที่สุด
- เบรกลื่น หยุดรถไม่อยู่ แม้จะไม่ได้ลุยน้ำ
- เบรกแล้วรถปัดไปข้างใดข้างหนึ่ง
- แป้นเบรกยังจมลึกลงไปทั้ง ๆ ที่ถอนเท้าออกมาแล้ว
ควรนำรถเข้าอู่ซ่อมเบรกทันที


8. ไฟชาร์จ
ไฟชาร์จ ควรจะปรากฏขึ้นที่แผงหน้าปัดทุกครั้งที่เราสตาร์ทเครื่อง และเมื่อสตาร์ทติดแล้ว ครู่หนึ่งก็จะดับลง แต่ถ้าไฟชาร์จไม่สว่าง หรือสว่างแล้วไม่ยอมดับ อาจเกิดจากไดชาร์จผิดปกติหรือสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้ ที่แน่ ๆ คือไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ รีบนำรถเข้าอู่ไดชาร์จหรือระบบไฟ


9. หลอดไฟ
หลอดไฟขาดบ่อย ๆ หรือต้องเติมน้ำกลั่นในหม้อแบตเตอรี่บ่อยเกินไป แสดงว่าอุปกรณ์ที่เราเรียกว่า “เรกูเลเตอร์” ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกระแสไฟให้เหมาะสมชำรุด ควรนำรถเข้าอู่ระบบไฟ เพื่อซ่อมเรกูเลเตอร์ หรือหากชำรุดก็อาจจะต้องเปลี่ยนใหม่


10. น้ำมันหล่อลื่น
ถ้าสัญญาณไฟเตือนระบบน้ำมันหล่อลื่นสว่างขึ้นในขณะขับขี่รถยนต์ หมายถึงว่าเครื่องยนต์กำลังทำงานโดยปราศจากน้ำมันหล่อลื่น รีบนำรถไปยังอู่ที่ใกล้ที่สุดทันที

ถ้าอู่อยู่ไกล ให้เติมน้ำมันเครื่องใส่ลงในถังน้ำมันหล่อลื่นไปก่อน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถ้าเป็นสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันหล่อลื่นแห้ง ควรใช้รถลากไปอู่ซ่อม

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กระโดดแตะฟ้าที่ปากีฯ (ตอนจบ)

โดย : กมลทิพย์ ภาสวร


ถ่ายจากมุมชมวิวที่ดุยการ์


วันนี้ที่พักของเราเป็นโรงแรมระดับหรู ชื่อ Eagle Nest ตั้งอยู่บนภูเขาสูง เราสามารถเดินขึ้นไปชมจุดชมวิว ดุยการ์ (Duikar)

ที่อยู่ห่างโรงแรมไปเพียง 5 นาทีเท่านั้นเอง เมื่อขึ้นไปเราจะเห็นหมู่บ้าน Hoper อยู่ด้านล่าง และยอดเขาล้อมรอบตัวเรา โดยมียอด เลดี ฟิงเกอร์ (Lady Finger) เป็นยอดแหลม โผล่ขึ้นมา ดูคล้ายนิ้วของหญิงสาว เป็นยอดดึงดูดความสนใจ ให้ทุกคนขึ้นมาเพ่งพินิจอย่างใกล้ชิดและลองยกมือนิ้วเทียบ แต่ไม่ทราบว่าเป็นนิ้วของชนชาติไหน เพราะเมื่อนำนิ้วของสาวๆ ที่ไปด้วยมาส่องเทียบ ก็พบว่า นิ้วของหญิงไทยแต่ละคนเล็กเรียวราวเทียนไขซะทุกนางไป


ตอนเช้า.... หลังจัดการมื้อเช้าที่โรงแรม เราก็ไปเที่ยว บัลติท ฟอร์ด (Baltit Fort) ซึ่งตั้งอยู่บนเขา เราต้องลงจากรถเดินเท้าขึ้นไปราว 15 นาที ระหว่างทางเราผ่านโรงเรียนขนาดใหญ่ ครูใหญ่เรียกเด็กมา(และจัดแถว)ให้เราถ่ายรูป และขอให้เราส่งรูปกลับไปให้ครูใหญ่ด้วย เรารับปากด้วยความยินดี

ป้อมปราการแห่งนี้มีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ตั้งโดดเด่นบนภูเขา ตัวอาคารทึบมีเจาะทำเป็นหน้าต่างเล็กๆ อยู่โดยรอบ แต่จำนวนไม่มาก มีการต่อเติมห้องภายหลัง มีลักษณะยื่นออกมาทำจากไม้และมีหน้าต่างทรงสูงรอบห้อง
ประวัติความเป็นมาของป้อมปราการนี้เล่ากันว่า สร้างขึ้นเมื่อ 700 กว่าปีที่แล้ว Ayasholl ผู้ครองเมืองฮันซ่าได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง Shah Khatoon แห่งเมือง Baltistan ซึ่งเมืองแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า 'ทิเบตน้อย' ดังนั้นสถาปัตยกรรมของป้อมปราการจึงมีกลิ่นอายของศิลปะแบบทิเบต (บางส่วนคล้ายพระราชวังโปตาลา ในเมืองลาซา) และต่อมาได้รับการก่อสร้างเพิ่มเติม ปรับปรุง ในแบบฉบับของผู้ครองเมืองฮันซ่า ต่อมาในช่วงที่อังกฤษเข้าปกครอง ได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพิ่มห้องขึ้นในสไตล์อังกฤษ ตกแต่งหน้าต่างด้วยกระจกสี

บัลติ ฟอร์ต ได้เป็นที่พำนักอาศัยอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2488 ผู้ครองเมืองฮันซ่าคนสุดท้าย มีร์ โมฮัมมัด จามาล์ ข่าล (Mir Mohammed Jamal Khan) ได้ย้ายพระราชวังลงมาที่เชิงเขา ฟอร์ตถูกปล่อยทิ้งว่าง จนเริ่มทรุดโทรม

ในปี พ.ศ.2534 นั้นเองที่ เจ้าชาย กาซานฟาร์ อาลี ข่าล (Prince Ghazanfar Ali Khan) ลูกชายของเจ้าเมืองฮันซ่าคนสุดท้าย ตัดสินใจยก 'บัลติ ฟอร์ต' ให้กับองค์กรสาธารณะการกุศลของบัลติ เพื่อดูแลและซ่อมแซมรักษาบัลติ ฟอร์ทต่อไป (โดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศนอร์เวย์และฝรั่งเศส) ซึ่งกินเวลาทั้งสิ้น 6 ปี ก่อนที่จะให้เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีโอกาสเยี่ยมชมความงามของ บัลติ ฟอร์ต แห่งนี้

ขาลงเราแวะเที่ยวตามร้านขายของที่ระลึก แต่ช่วงนี้คล้ายเมืองร้าง แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเลย

“ผมว่านะ ปากีสถานมีสถานที่สวยงามมากๆ น่าเสียดาย ไม่มีใครกล้ามาเที่ยว เพราะมีข่าวความไม่สงบภายในประเทศ ทั้งๆ ที่มันก็อยู่คนละที่“ เจ้าของร้านออกมาปรับทุกข์กับลูกค้า พวกเราเข้าใจดี เพราะสถานการณ์ก็ไม่ต่างจากบ้านเราที่มี ที่มีข่าวทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้นักท่องไม่กล้าเดินทางเข้ามาเที่ยว

พวกเราขึ้นรถอีกครั้ง มุ่งหน้าไปยังหุบเขา พักที่หมู่บ้าน กุลมิท (Gulmit) หมู่บ้านเก่าแก่ อายุกว่า 700 ปี ที่ชาวบ้านยังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม ปลูกไร่ข้าวสาลี แอพริคอท มันเทศ และยังทอผ้าขายนักท่องเที่ยว

บ้านเรือนที่นี่ใช้หินขนาดใหญ่มาก่อเป็นกำแพง ทรงสี่เหลี่ยม ดูเหมือนกล่องสีเทา เรียงกระจัดกระจายไปทั่ว บ้านแต่ละหลังมีแปลงผักอยู่ข้างๆ บ้าน แปลงผักของเขามีการเซาะเป็นร่องให้น้ำไหลยามฝนตก มองไปดูคล้ายงานศิลปะอย่างหนึ่ง เขาถึงว่าศิลปะมีอยู่ทุกสิ่งในการดำเนินชีวิต หมู่บ้านโอบล้อมด้วยเทือกเขา ทำให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวต่างพากันมาแวะพัก สังเกตได้จากจำนวนโรงแรมที่มีอยู่ไม่น้อย แต่ตอนที่ไปเยือน (น่าจะ) มีเราเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียว

ช่วงเย็นหลังเดินเล่นในหมู่บ้าน ฉันกับเพื่อนเห็นว่ายังเร็วไปที่จะหมกตัวอยู่ภายในห้องพัก เลยออกไปเดินเล่นที่กลางหมู่บ้าน พบเด็กๆ กำลังเล่นวอลเลย์บอล เลยขอร่วมทีม

“เชิญเล่นด้วยกันเลย” พวกเขาใจดีให้เราเข้าร่วมทีม แม้จะทำให้พวกเขาเสียเวลากับความเงอะงะ เขาก็ไม่บ่น กลับพูดเชียร์ทุกครั้งที่ตี(โดนลูก)ได้

“เด็กๆ ที่กุลมิท น่ารักมาก” คำกล่าวที่ได้ยินมาจากนักท่องเที่ยวคนอื่นพูดกับเรา ไม่ต้องพิสูจน์ก็เชื่อว่าเป็นความจริง

เช้านี้ หลังออกจากโรงแรม เราไปทำกิจกรรมให้หวาดเสียวหัวใจเล่น นั่นคือ การเดินข้าม Hussaini Bridge ซึ่งเป็นสะพานไม้ชั่วคราวที่ยาวที่สุดในเอเชีย คือมีขนาดความกว้าง 6 ฟุต ยาว 600 ฟุต สภาพของสะพานมีเพียงไม้มาวางพาดๆ ตอกเหล็กซ้ายขวา มีลวดขนาดใหญ่เป็นราวให้เราจับระหว่างทาง พวกเราพากันเดินอย่างระมัดระวัง (ค่อยๆ ก้าวขานั่นเอง) จนเมื่อถึงอีกฝั่ง ฮาบิบบอกให้เราดูชาวบ้านที่กำลังเดินข้ามสะพานมา พวกเธอเดินได้อย่างคล่องแคล่วและรวดเร็วยิ่งนัก

เรากลับขึ้นรถอีกครั้ง คนขับพาเราไป บอริธ เลค (Borith Lake) ทะเลสาบขนาดใหญ่สีเขียวใส มีภูเขาโอบล้อม สวยงามมาก มีเกสต์เฮ้าส์ให้นอนดื่มด่ำกับบรรยากาศได้ แต่น่าเสียดายเมื่อตอนที่เราไปถึง เริ่มมีพายุ ฝนตก ไม่สามารถออกเสพความงามของสถานที่ได้อย่างใกล้ชิด เราจึงพักดื่มชา รอให้ฝนหยุด แต่ก็ดูเหมือนไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ เราเลยรีบวิ่งขึ้นรถ มุ่งหน้าไปเมือง ซุส (Sust)

ระหว่างทางไปนั้น มองออกไปนอกรถ สายตาก็ไปเห็นกลุ่มยอดเขาที่อยู่ด้วยกัน มองไปคล้ายเป็นมงกุฎ แต่บางคนที่พิสมัยการกิน (เช่นฉัน) ก็บอกว่า เหมือนโคนไอศกรีมถูกคว่ำอยู่มากกว่า หมอกบางๆ ที่ลอยอยู่รอบๆ ภูเขา ทำให้ดูเหมือนภูเขาเหล่านั้นลอยอยู่เหนือพื้นดิน

เรารีบบอกคนขับให้ช่วยหยุดรถเพื่อลงไปถ่ายรูป ฮาบิบบอกว่า ยอดเขาที่เราเห็นนั้นอยู่ที่ใกล้หมู่บ้าน พาสสุ (Passu) ยอดเขาที่เห็นคือ Tupopdan สูงถึง 6,106 เมตร

ขณะที่เรากำลังถ่ายรูป เราพบชาวบ้านผู้หญิง 2 คน 2 วัยเดินคู่กันมา เราเอ่ยปากขอพวกเธอถ่ายรูปด้วย เพราะผู้หญิงบางหมู่บ้านของที่นี่จะไม่ยอมให้ถ่ายรูป ซึ่งต่างจากผู้ชายที่ยินดีให้ถ่ายรูป เธอตอบรับด้วยรอยยิ้ม พวกเราดีใจยิ่งนัก ฉันเลยขอกอดป้าแกด้วย (ป้าแกดูใจดีมากๆ)

รถแล่นต่อไปไม่นานนักก็ถึงเมืองชายแดนซุส ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ มีถนนหลักยาวราว 1 กิโลเมตรได้ ที่นี่มีร้านขายของชำใหญ่ๆ 2-3 ร้าน ภายในร้านมีขายทั้งของใช้ ของกินและถั่วชนิดต่างๆ และมีผลไม้ตากแห้ง โดยเฉพาะ อินทผาลัม ที่มีให้เลือกทั้งแบบหวานมาก หวานน้อย ผู้คนที่นี่ นอกจากจะเป็นชาวปากีฯ แล้ว เราพบคนจีนอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนงานสร้างถนน ดังนั้นเมื่อพวกเขาเห็นเราซึ่งหน้าจืดๆ จึงมักเอ่ยปากทักเป็นภาษาจีนใส่ เราได้แต่โบกมือบอกว่าไม่ใช่ๆๆ

สิ่งที่ดึงดูดสายตาและกล้องถ่ายรูปอของพวกเราในเมืองนี้คือบรรดา รถบรรทุก ที่จอดกันอยู่เรียงรายนับสิบคัน เพราะรถบรรทุกของที่นี่มีการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม ไม่มีใครยอมใคร แม้กระทั่งล้อ เจ้าของรถดูจะมีความภูมิใจมาก หากเราไปขอถ่ายรูปรถของเขา บางรายใจดี ให้โอกาสสาวๆ อย่างเราไปนั่งหลังพวงมาลัยด้วย

“เขาเข้าใจตั้งชื่อนะ 'เมืองสุด' เพราะสิ้นสุดปากีฯ แล้ว“ เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยขึ้นตามด้วยเสียงหัวเราะของคนในกลุ่ม

“วันนี้เราอาจจะถึงเมืองสุดท้าย แต่พรุ่งนี้เราจะเริ่มต้นเข้าสู่อีกดินแดนหนึ่งต่างหาก” ฉันบอกกับตัวเอง

พร้อมกับจินตนาการสู่การเดินทางไปด่านกุนจีราบ...ชายแดนที่สูงที่สุดในโลก

ที่ตั้งของโรงแรม Eagle Nest สามารถเห็นวิวภูเขาได้อย่างชัดเจน

 บัลติฟอร์ท ตั้งตระหง่านบนเขา

ต้นมัลเบอรี่ที่ขึ้นตามทางเหมือนต้นตะขบบ้านเรา - แปลงผัก ภูมิปัญญาชาวบ้านที่หมู่บ้านกุลมิท

เด็กๆ ที่นี่เป็นนางแบบนายแบบที่ใครๆ ก็อยากบันทึกภาพพวกเขา - ร้านขายของที่ระลึกที่ช่วงนี้เงียบเหงามาก


 
สะพานไม้ Hussaini ที่ดูสภาพแล้วไม่น่าเชื่อว่ายังใช้อยู่ - รถบรรทุกที่ตกแต่งอย่างบรรเจิดกับเจ้าของรถที่ภูมิใจนักหนา

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กระโดดแตะฟ้าที่ปากี (ตอน 1)


ทิวทัศน์ที่สวยงามของ Fairy Meadow ราวทุ่งหญ้าในความฝัน

“อย่าเพิ่งรีบตาย ถ้ายังไม่ได้มาปากีฯ” ฉันพูดกับตัวเองระหว่างเดินทางเที่ยวในปากีสถาน

อาจดูเหมือนกล่าวเกินจริง คือหากได้ยินคนอื่นพูดก็คงจะบอกว่า

“เว่อร์แล้ว ปากีฯ เนี่ยนะ” แต่พอได้มาสัมผัสด้วยตา เปิดใจเรียนรู้ ก็ทำให้ฉันอยากเปิดปากชวนใครต่อใครให้ลองมาเยี่ยมชม ปากีสถาน ดินแดนที่กำลังร้อนระอุเพราะมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นรายวัน


เส้นทางสาย คาราโครัม ไฮเวย์ (Karakoram Highway) เป็นเส้นทางเชื่อมพรมแดนจีน-ปากีสถาน จัดเป็นถนนไฮเวย์ที่อยู่สูงที่สุดในโลก คือ สูง 4,693 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในอดีตเป็นเส้นทางการค้า (เส้นทางสายไหม) ที่สำคัญของดินแดนนี้ คือ นำเอาชา ผ้าไหม เครื่องชามสังคโลกจากจีน และเครื่องเทศ งาช้าง ทองคำ จากปากีสถานและอินเดีย

รัฐบาลจีนและปากีสถานประกาศร่วมมือก่อสร้างถนนสายนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 ใช้เวลาก่อสร้างถึง 20 ปี กับความยาวทั้งสิ้น ราว 1,300 กิโลเมตร โดยอยู่ในประเทศจีน 494 กิโลเมตรและในปากีสถาน 806 กิโลเมตร

ในปี พ.ศ.2529 ถนนสายนี้ก็เปิดใช้อย่างเป็นทางการให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวเริ่มต้นที่เมือง ราวัลพินดี (Rawalpindi) ประเทศปากีสถาน ไปถึงชายแดนที่สูงที่สุดในโลก ด่าน กุนจีราป (Khunjerab) ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง ราว 4,702 เมตร เข้าเขตจีน ไปยังเมือง ทัชคอกัน (Tashkurgan) แล้วไปสิ้นสุดที่เมือง คัชการ์ (Kasgar)

ฉันรับรู้เรื่องราวของความสวยงามของเส้นทางสายนี้ผ่านทางหน้าหนังสือเมื่อนานมาแล้ว เก็บเอามาเป็นเส้นทางในฝันที่คิดจะไปให้ประจักษ์แก่สายตา 2 ตาสักครั้งในชีวิต

เราใช้บริการแท็กซี่จากสนามบินที่ อิสลามาบัด ให้ไปส่งที่โรงแรมในเมืองราวัลพินดี ซึ่งเป็นเมืองท่ารถ สามารถหารถต่อไปยังเมืองต่างๆ ได้ เช่น Gilgit, Skardu, Peshawar และ Lahore

นอนพักเอาแรง ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะนั่งรถบัสของ NATCO (the Northern Areas Transport Corporation) ไปเมือง กิลกิต (Gilgit) ระยะทางจากราวัลพินดีมาถึงกิลกิต เพียง 600 กว่ากิโลเมตร แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง เราจึงจดบันทึกลงในสมุดของเราว่า เป็นการนั่งรถบัสที่ยาวนานที่สุดในชีวิต คือ 19 ชั่วโมง!

แต่หากใครไม่พิสมัยที่จะชมบรรยากาศชิดติดริมหน้าต่าง กินอาหารข้างทาง 2 มื้อ คือมื้อค่ำและมื้อเช้า (มื้อค่ำ แนะนำให้ลองสั่งข้าวหมกไก่ที่ร้านอาหารซึ่งเป็นจุดแวะพักรถ รสชาติดีเยี่ยม จนอยากให้ลอง) ก็สามารถนั่งเครื่องบินไปลงได้ ใช้เวลา 45 นาที มีบินทุกวัน แต่ควรจะเช็ครอบให้ดี เพราะหากวันไหนสภาพอากาศแย่ก็ถูกยกเลิกได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ที่สถานีขนส่ง เราพบไกด์ท้องถิ่นจากบริษัททัวร์ที่ติดต่อไว้ ชื่อ ฮาบิบ (Habib) มารอพวกเราพร้อมรถจี๊ปคันโตที่พาพวกเราทั้งหมดไปเกสต์เฮ้าส์ได้อย่างสบายๆ หลังวางแผนการเดินทางอีกครั้งกับ Hidayat เจ้าของบริษัททัวร์ เก็บกระเป๋าและกินมื้อเที่ยงกันเรียบร้อย ไกด์หนุ่มก็พาเราไปชมภาพหินแกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า Kargah Buddha (นึกไม่ออกว่าเขาหาวิธีออกมาแกะที่หน้าผาได้อย่างไร สมัยนั้นก็ไม่มีเลเซอร์ช่วยในการแกะสลักเหมือนสมัยนี้ได้) ซึ่งอยู่ห่างจากกิลกิตออกไปเพียง 8 กิโลเมตร

จากนั้นเรากลับเข้ามากิลกิต เดินสำรวจในเมืองเล่น เพื่อทำความรู้จัก

กิลกิตเป็นศูนย์กลางการเดินทางเที่ยวทางภาคเหนือ มีโรงแรมและที่พัก บริษัททัวร์และร้านค้าอยู่เป็นจำนวนมาก และมีตลาดไชน่าทาวน์ ย่านขายของจากเมืองจีนด้วย

เช้าวันรุ่งขึ้น เรานั่งรถมุ่งหน้าไปยัง Fairy Meadow ที่ที่ใครก็กล่าวถึงในเรื่องความงามของมัน เรานั่งรถจี๊ปออกไปราว 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นรถโฟว์วีลของชาวบ้านที่มีการรวมกลุ่มกันจัดคิวรถเพื่อบริการนักท่องเที่ยว เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย และเหตุผลที่สำคัญคือ ความสามารถในการขับรถและสมรรถภาพของรถที่แตกต่างกัน เพราะการเดินทางต่อจากนี้ทางไต่ระดับเลียบเหวขึ้นไปเรื่อยๆ จนฉันไม่กล้าปล่อยมือจากที่จับ

จนเมื่อถึงปลายทางที่เราต้องลง Trekking เมื่อเห็นภูเขาลูกใหญ่อยู่เบื้องหน้า เพื่อนสาวร่างท้วมบอกทุกคนในกลุ่ม

“แก ฉันจะเดินขึ้นไหวไหม ฉันไม่ได้ออกกำลังกายฟิตเหมือนแก แกเดินนำหน้าไปก่อนเลยนะ” เมื่อรู้ว่าทางเดินนั้นสูงชันนัก และใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงกว่าจะถึงยอด

ระหว่างที่หยุดพักเป็นครั้งที่ 10 นั้น ฮาบิบก็เสนอให้เพื่อนขี่ม้าที่ลากมาเตรียมไว้ให้ งานนี้จากที่ออกปากตอนแรก “ไม่ ฉันต้องเดินขึ้นให้ได้” ก็กลับเปลี่ยนใจทันที

เราใช้เวลาตลอดช่วงบ่ายหลังกินมื้อเที่ยงที่นั่นหมดไปกับการถ่ายรูป เพราะที่นี่มองไปทางไหนก็เห็น ภูเขาหิมะ แทบจะล้อมรอบตัวเราไว้

นั่งชมความงามของเทือกเขา Nanga Parbat เทือกเขาที่สูงอันดับที่ 2 ของปากีสถาน และเป็นอันดับ 9 ของโลก ด้วยความสูง 8,126 เมตร ฉันนั่งมองภูเขาที่ปกคลุมหิมะขาวโพลน ถามว่านี่ คือของจริง หรือภาพสวยจากปฏิทิน หรือวอลล์เปเปอร์ขนาดใหญ่ที่มาโชว์อยู่ตรงหน้า ให้เราแทบจะเอามือยื่นออกไปแตะมันได้ ด้วยความที่มันดูใกล้ตา (แต่ไกลเท้ามาก)

ที่นี่ยังมีป่าสนและทุ่งหญ้า มีหมู่บ้านเล็กๆ ชาวบ้านออกมาเลี้ยงแกะ ยิ่งทำให้ดูคล้ายประเทศทางยุโรปมาก หากถูกลักตัวมานำมาปล่อยไว้ที่นี่ คงคิดว่ามาอยู่ยุโรปซะแล้ว เรากระโดดตัวลอยถ่ายรูปกันสนุกสนานจนหมดแรง จวบจนอาทิตย์ลับฟ้า ปล่อยให้ดวงดาวอวดโฉม ฉันถึงประจักษ์ที่เขาบอกว่า 'ฟ้าเต็มดาวราวกำมะหยี่' เป็นยังไง

ตอนเช้าเราเดินทางกลับเข้ามาที่กิลกิต ค้างที่นี่อีกหนึ่งคืน

เช้าวันรุ่งขึ้น เราไปเมือง Karimabad ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นฮันซ่า (Hunza) ในอดีต เคยเป็นอาณาจักรที่ปกครองตนเองมานานกว่า 900 ปี และต่อมาก็กลายเป็นแคว้นหนึ่งในปากีสถาน

รถจอดแวะอีกครั้งเพื่อพักกินชาชมวิวที่ ราคาโพชิ วิวพ้อยท์ (Rakaposhi View Point) ซึ่งเป็นจุดแวะพักระหว่างทาง มีทั้งร้านขายอาหาร ขายของที่ระลึก เช่น โปสการ์ด ราคาเพียง 10 รูปี ถือว่าไม่แพงเลย (5 บาทเท่านั้น) เสื้อผ้า เครื่องประดับที่เป็นงานเครื่องเงิน และหนัง

ฮาบิบนำลูก เชอร์รี สดๆ ลุกโตๆ สีแดงๆ รสชาติหวานธรรมชาติมาก มาให้พวกเราได้กิน ฉันเองแม้ว่าขณะนั้นยังท้องเสียอยู่ก็ ยังยั้งปากและใจไว้ไม่อยู่ ซัดเข้าไปซะหลายลูกเลย

แตงโมที่วางเคียงข้างกันก็เลยถูกเมิน

พระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผา (Karga Buddha)


หน้าตาของรถโฟร์วีลที่ใช้ขึ้น Fairy Meadow

ข้าวหมกไก่ อาหารที่เราฝากท้องแทบทุกมื้อ - ลูกเชอร์รีผลโต รสหวาน ที่ไกด์ยกมาให้ชิม


กระโดดแตะปลายฟ้าที่ปากีฯ - ถนนขึ้นเขา เป็นทางแคบๆ คนขับต้องบีบแตรแทบตลอดทาง