หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เยื้องเวียงจันทน์ ย่างวังเวียง

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
ไลฟ์สไตล์ @กรุงเทพธุรกิจ


สุดที่สายตาคู่นั้นทอดไปก็ยังมองไม่เห็นต้นขบวน ท่ามกลางแสงตะวันที่คล้อยองศาลงมา 2 นาฬิกา บนถนนลูกรังที่คดเคี้ยวตามสภาพภูมิประเทศ

รถยนต์พากันจอดเรียงราย คนขับรถบรรทุกเริ่มจับกลุ่มคุยกับคนขับรถบัสอยู่ใต้ร่มไม้ ขณะที่คนท้องถิ่นและคนแปลกหน้าต่างทยอยหอบหิ้วสัมภาระเดินตามกันไปยังหมู่ บ้านที่อยู่ข้างหน้า

ความจอแจของผู้คน และ "รถเล็ก" ในการขนถ่ายข้าวของ กลายเป็นความอลหม่านเล็กๆ ที่เกิดขึ้น หลังจากพบว่าสะพานข้ามแม่น้ำตรงหน้า "รถใหญ่" ไม่สามารถผ่านไปได้

"สะพานข้ามแม่น้ำทรุด ตอนนี้กำลังซ่อมกันอยู่" บางคนพูดถึงบรรดาช่างโยธา และเครื่องไม้เครื่องมือที่กองอยู่ตรงบริเวณคอสะพาน

สาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่มีใครระบุได้แน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไร แต่เสียงส่วนใหญ่เชื่อว่าอาจเป็นเพราะพายุฝนลูกเมื่อคืน จึงทำให้สะพานเหล็กที่มีสภาพการใช้งานค่อนข้างสมบุกสมบันอยู่พอสมควรแล้ว ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก

"อย่างนี้แหละ เที่ยวลาวหน้า นี้ก็ต้องระวังเรื่องการเดินทางกันเยอะหน่อย" เสียงจากนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มแว่วมา แต่ก็ดูเหมือนสิ่งเหนือความคาดหมายทำนองนี้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่นัก เดินทางที่จะเลือกกางแผนที่มาเยือนเมืองลาว โดยเฉพาะกับฟ้ากับฝน ปัญหาสะพานขาด ดินถล่ม ถนนทรุดจึงเป็นอะไรที่มักเกิดขึ้นได้เสมอ


หลากมุมเมืองลาว

นอกจากภาพวาดในหนังสือแบบเรียนสังคมศึกษาจะทำให้เห็นว่าเมืองลาวกับ เมืองไทยมีความใกล้ชิดติดกันเพียงแค่เส้นแบ่งพรมแดนกั้นแล้ว ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนทั้งสองประเทศยังแสดงถึงความกลมกลืนของผู้คนที่มีมา ตั้งแต่โบราณ


ยิ่งในแง่มุมของการท่องเที่ยวสำหรับนักเดินทางมือใหม่ที่ยังไม่ค่อยชำนาญด้านภาษา เมืองลาว น่าจะถือเป็นแบบฝึกหัดการ "เที่ยวต่างประเทศ" บทแรกๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจก็ว่าได้ เพราะคงไม่มีที่ไหนในโลกที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยใช้ภาษาไทย "เว้าซื่อ" กันได้ทั่วประเทศขนาดนี้ เวลาว่างสัก 3-4 วันจึงถือว่าค่อนข้าง "กำลังดี" สำหรับการจัดทริปเที่ยวลาวสักครั้งหนึ่ง

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งอยู่บนดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ถูกโอบล้อมด้วยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน ไทย กัมพูชา พม่า และเวียดนาม เพราะสภาพภูมิประเทศที่ไม่ได้อยู่ติดกับทะเลที่นี่ได้ชื่อว่าเป็น "ล็อกแลนด์ (Lock Land) แห่งอุษาคเนย์" แม่น้ำโขง หรือลำน้ำของ จึงเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนลาว


ตลอดระยะทาง 1,835 กิโลเมตรจากลาวเหนือจดลาวใต้ที่สายน้ำโขงไหลผ่าน ทั้งเกษตรกรรม การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การคมนาคม และใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศลาวกับ ประเทศเพื่อนบ้านล้วนแต่ต้องพึ่งพิงแม่น้ำสายนี้แทบทั้งสิ้น โดยมีเส้นเลือดฝอยแตกแขนงจากแม่น้ำโขงไปหล่อเลี้ยงผู้คนในภูมิภาคต่างๆ อยู่หลายสาย คือ ทางภาคเหนือมีสายน้ำอู สายน้ำคาน สายน้ำเซือง นครหลวงเวียงจันท์มีสายน้ำซอง สายน้ำลีบ สายน้ำงึม ขณะทางใต้จะมีสายน้ำซัน สายน้ำเซ และสายน้ำเหงียน


ด้วยลักษณะพิเศษดังกล่าวนั้นเอง จึงทำให้พื้นที่กว่า 236,800 ตารางกิโลเมตรของลาว อุดมไปด้วยภูเขาและที่ราบสูงหลายแห่ง อันกลายมาเป็นทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ พอๆ กับวิถีชีวิตของชาวลาวที่ยึดโยงอยู่กับพระพุทธศาสนาเป็นหลัก

ชาวลาวส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ (ร้อยละ 60 ของชาวลาวทั้งหมด) ควบคู่ไปกับลัทธินับถือผีบรรพบุรุษของผู้คนในแถบภูเขาสูง พุทธศาสนาแบบเถรวาท จึงนับเป็นแบบแผนหลักของวัฒนธรรมลาว ซึ่งปรากฏให้เห็นทั่วประเทศ ทั้งในด้านภาษา ศิลปะ วรรณคดี และศิลปะการแสดง ฯลฯ

ความ "ขึ้นชื่อ" ของมนต์เสน่ห์ที่ปราศจากการปรุงแต่งนี่เอง ทำให้จังหวะวันหยุดคล้อยหลังฝนต้นลมหนาวจนปลายฤดูร้อน โปรแกรมเยือนถิ่นลาวมักได้รับความสนใจจากก๊วนนักเดินทางมืออาชีพและสมัครเล่นอย่างไม่ขาดสาย

เตร่เตร็ดในเวียงจันทน์

แม่น้ำสายเดียวกัน เมื่อมองกันคนละฝั่งกลับให้ความรู้สึกที่ต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง แม้จะห่างกันแค่สะพานกั้น แต่หนองคาย-นครหลวงเวียงจันท์ ก็ถูกขีดเส้นแบ่งแดนแยกออกเป็นคนละประเทศไปแล้ว ถึงอย่างนั้น คนบ้านนี้กับคนบ้านโน้นก็ยังคงไปมาหาสู่กันเรื่อยมา

นครหลวงเวียงจันทน์ (นะคอนหลวงเวียงจัน) เป็นเขตที่ตั้งของกรุงเวียงจันทน์เมืองหลวงของประเทศลาว มีเมืองเอกคือจันทะบูลี มีเขตติดต่อเป็นชายแดนกับประเทศไทยระหว่างเวียงจันทน์กับหนองคายของประเทศไทยทางสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 โดยเขตปกครองนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2532 โดยแยกออกมาจากแขวงเวียงจันทน์ เดิมชื่อ "กำแพงนครเวียงจันทน์" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "นครหลวงเวียงจันทน์" ในภายหลัง

"นครหลวงแปลว่าเมืองใหญ่" แสงมะณี ไซยะสอน มัคคุเทศก์สาวเวียงจันทน์ให้ข้อมูล

ภาพความวุ่นวายของการจราจร ความเร่งรีบในการใช้ชีวิตของผู้คน และเทคโนโลยีที่พยายามจะล้ำสมัยทุกๆ วินาที ตามองค์ประกอบของเมืองใหญ่แทบจะไม่ค่อยมีให้เห็นมากนักที่เมืองหลวงของ ประเทศลาวแห่งนี้

แสงมะณีบอกว่า แหล่งท่องเที่ยวในตัวเวียงจันท์ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การจับจ่ายซื้อของมากกว่า ด้วยความที่เวียงจันท์เป็นแหล่งที่พักสินค้าจากเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ที่นี่จึงมีตลาดหลากหลายให้บรรดาขาช้อปได้เลือกเดิน

ตลาดเช้า เปิดขายตั้งแต่ 07.00-16.00 น. ที่ชื่อตลาดเช้าเพราะเมื่อก่อนเปิดขายเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น มีสินค้าให้เลือกซื้อมากมายหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าพื้นเมือง และจากต่างประเทศ อาทิ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าซิ่น เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก เครื่องจักสาน งานฝีมือต่าง ๆ

ตลาดจีน หรือ ตลาดแลง (ตลาดหนองด้วง ก็มีเรียกกัน) เป็นจำหน่ายสินค้าจากประเทศจีน อาทิ กระเป๋าแบรนด์เนมของดียี่ห้อดัง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของที่ระลึก เสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมไปทั้งอาหารและเครื่องเทศที่นำเข้าจาก ประเทศจีนโดยตรง

ตลาดขัวดิน เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของสด ที่ใหญ่ที่สุดในนครหลวงเวียงจันทน์ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ กุ้งหอย ปู ปลา และสินค้าอื่น ๆ ที่ชาวบ้านสามารถสรรหาได้ มาวางจำหน่าย

นอกจากนี้ยังมี ศูนย์หัตถกรรมผ้าซิ่นทอมือ ให้สำหรับนักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึกอีกด้วย

ถึงแม้เวียงจันทน์จะได้ชื่อว่าเป็นแขวงที่เจริญที่สุดใน 18 แขวงของลาว แต่การผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตดั้งเดิมและการพัฒนาประเทศ ที่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับเทคโนโลยีมากกว่าเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตนั้น ทำให้วันนี้เรายังเห็นหนุ่มสาวชาวลาวรุ่นใหม่ยังรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมเอาไว้อย่างค่อนข้างเหนียวแน่น

ผ้าซิ่น ยังถูกบรรจุอยู่ในเครื่องแบบราชการ หลานยังจูงยายเดินออกมาปั้นข้าวเหนียวใส่บาตรตั้งแต่เช้าตรู่ งานบุญประเพณีต่างๆ ยังปรากฏอยู่ในปฏิทินราชการ แต่ก็ใช่ว่าคนเวียงจันทน์เองจะไม่ถูกกระแสของความเปลี่ยนแปลงพัดพาไปเสียที เดียว ย่านแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีที่เริ่มมีมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาว ต่างชาติเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจน กับแฟชั่นของบรรดาขาเที่ยวที่ "ทันเทรนด์" ไม่แพ้ปารีส หรือมิลานเหมือนกัน

เวียงจันทน์มักถูกจัดเส้นทางให้อยู่ในสายเดียวกับวังเวียงและหลวงพระบาง ที่นี่จึงกลายเป็นแลนด์มาร์กแรกสำหรับเริ่มต้นทริปอยู่บ่อยครั้ง นักท่องเที่ยว หากไม่ค้างที่หนองคาย ก็มักจะข้ามโขงมาชมวิวประเทศไทยที่เวียงจันทน์ก่อน รุ่งเช้าจะออกเดินทางสู่วังเวียงที่อยู่ห่างออกไปอีก 160 กิโลเมตร ซึ่งระหว่างการเดินทางสามารถแวะชมความสวยงามของเกาะและดอนของ เขื่อนน้ำเทิม เขื่อนที่ใช้เป็นสถานที่คุมขังนักโทษชาย (ดอนท้าว) กับนักโทษหญิง (ดอนนาง) ในอดีต ซึ่งที่นี่ช่วงวันหยุด หรือเทศกาลก็มักจะมีชาวลาวมาพักผ่อนอยู่เป็นประจำ ก่อนจะลัดเลาะตามภูมิประเทศต่อไปจนถึงวังเวียง

"ค่อยๆ ข้ามกันเด้อ เดี๋ยวสะพานพัง" เสียงร้องบอกทีเล่นทีจริงของเจ้าหน้าที่เรียกสีหน้าของคนต่างถิ่นออกมาได้พอ สมควร หลังจากต้องเดินเสียเหงื่อกันอยู่พักใหญ่ก่อนจะข้ามสะพานไปขึ้นรถอีกฝั่ง หนึ่งได้

บรรดารถขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าแช่แข็งเริ่มทยอยขนย้ายของถ่ายลงรถเล็กเพื่อดำเนินการขนส่ง ต่อไปก่อนที่น้ำแข็งจะละลายหมด บางรายออกท่าทางหัวเสียอย่างชัดเจน ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าต่างพากันออกมานั่งเรียงหน้าสลอนขายเครื่องดื่มเท่าที่พอ หาได้

ทั้งหมด เป็นความวุ่นวายเล็กน้อยที่บรรดานักเดินทางรุ่นพี่ต่างยืนยันว่ามีสิทธิเกิดขึ้นได้เสมอ


ตามฝันที่ วังเวียง

บางความคิดหวนนึกถึงวังเวียงในความทรงจำ เมื่อแนวเทือกเขาตะปุ่มตะป่ำเบื้องหลัง "ลานเดินยนต์" หรือ สนามบินเก่าปรากฏอยู่ตรงหน้า ภาพใครคนนั้นกำลังนั่งอิงเบาะบนแคร่ไม้ริมลำน้ำซอง ไล้หมอก มองดาวพราวฟ้า ใต้เงาตะเกียงทอแสง ขาดเพียงใครอีกคนที่ไม่ได้นั่งโอบไออุ่นอยู่เคียงข้างให้บรรยากาศความรัก นั้นได้เติมเต็ม ภาพของพนักงานบนเครื่องบินกำลังลำเลียงกระเป๋าลงจากเครื่องเพื่อจัดสรร เก้าอี้ดนตรีให้ผู้โชคดีคนนั้นรอคิวบินเที่ยวต่อไป หรือตลาดเช้าแหล่งรวมของแปลกให้ได้เปิดหูเปิดตา...

หลายเรื่องราวหลากความทรงจำต่างผุดพรายขึ้นมาประกอบกันเป็นความประทับใจ ในมุมที่ต่างออกไป ด้วยความที่วังเวียงเต็มไปด้วยภูเขาหินปูนน้อยใหญ่เรียงรายสลับกัน โดยมีแม่น้ำซองไหลผ่าน ที่นี่จึงได้รับขนานนามว่าเป็น "กุ้ยหลินน้อยแห่งเมืองลาว" และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้มาสัมผัสสักครั้งในชีวิต

ไกด์สาวคนเดิมเล่าว่า ในสมัยก่อน วังเวียง หรือ เวียงคำ จะเป็นเมืองที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไผ่ มีเจ้าชีวิต (เจ้าเมือง) คนหนึ่งครองเมืองอยู่ ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้างุ้มวีรกษัตริย์ชาวลาวผู้ กอบกู้ 3 อาณาจักรอันได้แก่ หลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้าง-นครหลวงเวียงจันท์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก มาเป็นอาณาจักรเดียว ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเวียงคำนั้น พระองค์ได้ใช้กลอุบายเอาเพชรพลอยเงินทองมาติดหัวธนู แล้วยิงใส่กอไผ่ที่ล้อมเมืองนั้น เพื่อให้คนเข้าใจว่า มีเงินมีทองมีคำอยู่ที่นั่น แล้วจึงถอยกลับมาตั้งทัพอยู่ที่เวียงจันทน์

"ทางฝ่ายชาวเมืองเวียงคำออกมาดูเมื่อเห็นว่ามีเงินมีทองคำอยู่ในกอไผ่ ก็พากันตัดต้นไผ่เพื่อจะเอาทอง เอาเงินที่อยู่ในกอไผ่นั้น หลังจากนั้น 2-3 เดือนเจ้าฟ้างุ้มก็บุกมาอีกครั้งจนได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองวังเวียงในภายหลัง ส่วนกอไผ่ก็ถูกนำมารวมกองแล้วเผาตรงริมแม่น้ำ ไหลลงแม่น้ำกลายเป็นที่มาของชื่อแม่น้ำซอง" แสงมะณีบอก

ถ้าไม่หาที่นั่งชมทัศนียภาพ หรือเดินเล่นละเลียดบรรยากาศริมน้ำซอง การล่องเรือก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ถือว่าเป็นที่นิยมไม่น้อย แต่สำหรับใครที่ชอบความตื่นเต้นของการผจญภัยก็สามารถไปแถบ "ย่านฝรั่งบ้า" ที่มีทั้งล่องห่วงยาง สไลเดอร์ โหนสลิงกระโดดน้ำ ล่อง "กงเบ่ง" หรือห่วงยาง และพายคายัค แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล

วันนี้ ในสายตาของใครหลายคนอาจมองว่า วังเวียงกำลังจะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ มีโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร บาร์เบียร์ ตลอดจนร้านขายของต่างๆ ทยอยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ของกินเริ่มแพง และไม่อร่อย

แต่ถึงอย่างนั้นภาพทุ่งนาสีเขียวที่มีริ้วหมอกโอบกอดขุนเขาอยู่เบื้อง หลัง ตลอดจนภาพฟ้ายามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยหมู่ดาวก็ยังทำให้ใครต่อใครพากันมาที่ นี่อยู่ดี

"วังเวียงก็คือพวกที่หนีปายมายังไงล่ะ" บางสุ้มเสียงสรุปสิ่งที่เกิดขึ้น

* การเดินทาง

วังเวียง สามารถไปได้สองเส้นทางด้วยกัน หากรักจะนั่งรถ สามารถข้ามไปยังฝั่งลาวผ่าน ทางด่านจังหวัดหนองคายหรืออุดรธานี เพื่อไปยังเวียงจันทน์ ที่เวียงจันทน์ มีรถโดยสารต่อไปยังวังเวียงให้เลือกทั้งรถบัส รถตู้ หลายรูปแบบ มีทั้งวีไอพี มีแอร์ ไม่มีแอร์ เฉลี่ยระยะเวลาเดินทางจากเวียงจันทน์สู่วังเวียง ราวๆ 3-4 ชั่วโมง

แต่หากใครอยากใช้ชีวิตช้าๆ แบบลาวสไตล์ แนะนำเส้นทางสุดชิลล์อย่างการล่องน้ำโขงก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน โดยตั้งต้นจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ข้ามมาฝั่งลาวสู่ บ้านห้วยทราย ก่อนจะลงเรือล่องสู่หลวงพระบาง ซึ่งต้องพักที่เมืองปากแบ่ง 1 คืน ก่อนจะล่องลงมาจนถึงหลวงพระบาง แวะพักสักคืนสองคืน แล้วจึงนั่งรถโดยสารต่อมาที่วังเวียง และกลับบ้านเราผ่านทางเวียงจันทน์ สู่อุดรธานี หรือหนองคายก็ได้ตามสะดวก

ปล.ว่า "บ่ต้องกลัวหลง ไทยกะลาว ก็คื้อกัน"

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

"คิลิมันจาโร" ใกล้ไร้ธารน้ำแข็ง

ไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวจาก "ภูฏาน" ประเมินว่า

ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยอาจละลายหมดภายในไม่กี่สิบปี

เพราะผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือ วิกฤตโลกร้อน!

ล่า สุด คุณลอนนี่ ทอมป์สัน นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็ง (กลาเซียร์) ประจำศูนย์วิจัยขั้วโลก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา และคณะ ออกมาเตือนภัยในลักษณะเดียวกัน ว่า

ถ้าสถานการณ์ โลกร้อนยังคงไม่บรรเทาเบาบาง ลง ภายในปีค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) หรืออีก 12-13 ปีข้างหน้า กลาเซียร์ รวมถึงน้ำแข็ง และหิมะ จะมลายหมดสิ้นไปจากยอดเทือกเขา "คิลิมันจาโร" ประเทศแทนซาเนีย!