หน้าเว็บ

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เกียรติยศแผ่นดินสยาม

พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย
โดย อาจารย์สยาม ยิ้มบัว คณะทำงาน ศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์


ผมเดินก้าวอย่างช้าๆ เข้ามาในห้อง “เกียรติยศแผ่นดินสยาม” ของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งเราได้เดินมาถึงหน้าประตูสนามราชกิจ(จำลอง) นั่นหมายถึงผมได้ยืนอยู่หน้าประตูที่จะเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นในของวังหลวงแล้วครับ ด้วยธรรมเนียมวังที่กล่าวไว้แต่เมื่อครั้งแรกสร้างกรุง ว่าเขตพระราชฐานชั้นในนั้นเป็นเขตหวงห้ามสำหรับบุรุษเพศ และบุคคลภายนอก แต่นี่คงเป็นโอกาสเดียวที่ผู้ชายและใครก็ตามที่มาที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์แห่งนี้จะได้เข้าชมเขตพระราชฐานชั้นใน


ภาพของท้าวศรีสัจจา และฉากของแม่พลอยในสี่แผ่นดินที่ไปเหยียบธรณีประตูจนถูกคุณท้าวท่านทักและต้องไปกราบธรณีประตูก็ลอยขึ้นมาในความคิดผมอีกครั้ง เมื่อเบื้องหลังของประตูจะเห็นจ่าโขลน และรูปปั้นจำลองของท้าวศรีสัจจานั่งหน้าประตูอยู่เป็นการสะท้อนภาพอดีตให้เห็นถึงธรรมเนียมของผู้อารักขาประตูวังและกฎธรรมเนียมในวังทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการแฝงเกร็ดความเป็นชาววังให้เราได้เห็น เช่น การเลือกนุ่งผ้าตามสีประจำวันเพื่อความโชคดี การร้อยพวงมาลัยในวัง การทำขนมไทย

ผมเดินออกมาจากเขตพระราชฐานชั้นในและด้วยความที่ได้ยินเสียงการฝึกซ้อมรำของสาวๆ ฝ่ายในแล้ว ช่างดูเป็นความต่อเนื่องของอารมณ์เพราะห้องจัดแสดงต่อมานั้นคือ “เรืองนามมหรสพศิลป์” การแสดงและเรื่องราวมหรสพต่างๆ ในทุกยุคสมัยที่มีในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เล่าขานผ่านการนำเสนอรอบทิศทาง สัมผัสบรรยากาศแบบ 360 องศา ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสทดลองเชิดหุ่นกระบอกด้วยตัวเอง ในมุมนี้เด็กๆ จะสนุกมากครับผ่านการได้เชิดหุ่นกระบอกและมีใบหน้าของตนเองอยู่ในจอ

เรายังเดินมาได้เพียงแค่ครึ่งเดียวของเส้นทางทั้งหมดเท่านั้นนะครับ ยังไม่ทันหายเหนื่อย ผมก็เดินเข้าไปถ่ายรูปกับกล้องถ่ายภาพโบราณจากร้านฉายาราชดำเนิน และเข้าไปสู่ห้อง “เยี่ยมยลถิ่นกรุง” ซึ่งได้รวบรวมสถานที่น่าสนใจบนเกาะรัตนโกสินทร์ผ่านจอขนาดใหญ่ให้เราได้ชม และประสบการณ์ที่ทำให้ผมได้ขำอีกครั้งหนึ่งคือ ใบหน้าของตนเองไปปรากฏอยู่ที่ตัวละครแอนิเมชั่นที่ผมได้ไปถ่ายภาพไว้ และมีปรากฏไปในละครแอนิเมชั่นในสถานที่ท่องเที่ยวรอบกรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากนี้ มาพักสายตากันในจุดทิวทัศน์ที่สวยที่สุดในนิทรรศน์รัตนโกสินทร์นั่นคือ บริเวณชั้น 4 เพราะจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของถนนราชดำเนิน โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามฯ และลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ดั่งเช่นเทวดาหรือองค์เทพได้รังสรรค์เมืองสวรรค์แห่งนี้ไว้

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์

พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย
โดย อาจารย์สยาม ยิ้มบัว คณะทำงานศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์




นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ได้นำพาผมและท่านผู้อ่านทุกท่านร่วมเดินทางผ่านเส้นทางแห่งกาลเวลากลับไปสู่จุดเริ่มต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2325 เฉกเช่นกับรูปแบบใหม่ในทุกวันนี้ของเฟซบุ๊กที่มีการทำ timeline วันนี้ผมก็พาทุกท่านมาย้อน timeline ในบ้านเกิดเมือนอนของเราบ้างนะครับ เมื่อเราเข้ามาสู่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์บริเวณโถงกลางก็ต้องหาบัตรเข้าชมกันก่อน หากเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา งานนี้ฟรีครับ แต่สำหรับผมเองก็ไปซื้อบัตรให้เรียบร้อยและเตรียมเข้าชมกันครับ


การเริ่มชมนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ได้เริ่มขึ้นผ่านเส้นทางที่นำเสนอช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2325 ของไทยซึ่งถือเป็นปฐมบทแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เปรียบเทียบกับเหตุการณ์สำคัญในต่างประเทศ ที่ทำให้ทราบเพิ่มเติมจากการจัดแสดงอีกว่า ห่างกันเพียงไม่กี่ปี ในปี 2333 สหรัฐอเมริกาก็มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกแล้ว แต่ละห้วงเวลาที่ผ่านมา ก็ได้มองเห็นพัฒนาการของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีวิถีก้าวแห่งความเจริญอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพูดถึงย่านที่ขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ทุกคนจะนึกถึงเสาชิงช้า เมื่อนึกถึงชุมชนที่ทำบาตรพระ ก็จะเห็นภาพชุมชนบ้านบาตรขึ้นมา การเดินเข้าสู่ห้อง “ดื่มด่ำย่านชุมชน” จึงทำให้ทราบถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของชุมชนที่ตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวจากท่านอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และผ่านการถ่ายทอดด้วยเทคโนโลยีที่เราสามารถสัมผัสได้ นอกจากนี้ยังได้เห็นผลิตภัณฑ์ชุมชนพร้อมแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ให้เราได้ศึกษาเพิ่มเติม

พ้นจากห้องนี้ไปแล้ว คราวนี้ถึงเวลาที่เราจะย้อนกลับไปสู่เมื่อครั้งแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์กันแล้วครับ ผ่านเทคโนโลยีสื่อผสม 4 มิติในห้อง “รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์” ที่จะกล่าวถึงประวัติแห่งต้นกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์ และเหตุการณ์ต่างๆ ในห้วงเวลานั้น ผมมั่นใจว่าท่านใดที่เคยมาชมแล้วจะรู้สึกภูมิใจเมื่อได้ฟังความหมายในชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร และได้ตื่นเต้นกับเทคนิคพิเศษต่างๆ ที่มีในห้องนี้ เมื่อประตูห้องนี้ได้เปิดออกมา พระบรมมหาราชวังก็ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า

ความยิ่งใหญ่อลังการแห่งวังหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน ความเป็นศูนย์กลางและแหล่งพึ่งพิงหลักของชาวไทย สะท้อนผ่านโมเดลจำลองพระบรมมหาราชวังตั้งแต่เขตพระราชฐานชั้นนอก กลาง และใน ซึ่งเพียงแค่ห้องนี้ห้องเดียวผู้เข้าชมก็สามารถใช้เวลาได้เป็นชั่วโมงในการศึกษางานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ราชสำนัก ประวัติแห่งพระแก้วมรกต และเกร็ดน่ารู้ในวังได้ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้อง “เกียรติยศแผ่นดินสยาม”

ธนบุรีศรีมหาสมุทร (3)


เมื่อจัดการกับสุกี้พระนายกอง นายทหารมอญที่เคยรับอาสาพม่าปราบพวกค่ายบางระจันได้และเมื่อพม่ายึดกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงไว้ใจตั้งให้เป็นผู้บัญชาการใหญ่ค่ายโพธิ์สามต้นคุมกรุงศรีอยุธยา ทหารพม่าอื่น ๆ ที่เหลืออยู่ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ต่างยอมแพ้วางอาวุธหรือไม่ก็แตกซ่านหลบหนีกระเจิงไป


เรื่องนี้ใครเป็นนักเขียนนิยาย จะแต่งเรื่องว่าทหารหนุ่มชาวพม่าหรือมอญชื่อ หม่องหรือสมิงอะไรสักคนหลบหนีพระยาตากกระเซอะกระเซิงไปเจอสาวไทยแถวอุทัยหรือนครสวรรค์ช่วยเหลือให้ที่หลบซ่อนเพราะไม่รู้ว่าเป็นศัตรูจนทั้งสองรักกัน หม่องนั่นกลับตนเป็นคนดีช่วยทำมาหากินทำไร่ทำนา ภายหลังทางการสืบทราบจึงจับตัวพรากไปก็คงสนุกดีไม่แพ้เรื่องเลือดสุพรรณของหลวงวิจิตรวาทการและคู่กรรมของทมยันตี!

พูดก็พูดเถอะ เรื่องเนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าจับคนไทยเป็นเชลยร้อยหวายผูกเดินตามกันไปเป็นพรวนจนถึงพม่าพร้อมพระเจ้าอุทุมพรซึ่งพม่าให้สึกแล้วปลูกตำหนักให้อยู่กับข้าราชบริพารที่เมืองจักกายใกล้กรุงอังวะนั้น ถ้ามาผูกเป็นนิยายว่าเชลยสาวไทยไปอยู่โน่นแล้วรักกับหม่องพม่า หรือเชลยหนุ่มไทยไปรักกับสาวพม่า ก็น่าจะได้อีกเรื่อง ถ้าให้ดีคนไทยคนนั้นต้องทิ้งคนรักหนีกลับมาช่วยรัชกาลที่ 1 ทำสงคราม 9 ทัพคราวพม่ายกมาใหม่อีก 18 ปีต่อมา และคนรักชาวพม่ามาในขบวนทัพพม่าด้วยน่าจะสนุกดี!

พระยาตากเข้ากรุงศรีอยุธยาแล้วก็ได้ขึ้นช้างตรวจดูสภาพพระมหานครอายุ 417 ปี ด้วยความสลดสังเวชใจ ครั้นได้เวลามหาฤกษ์จึงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเท่าที่พอทำได้ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชา พระศรีสรรเพชญ ถ้านับต่อจากกษัตริย์อยุธยาแล้วก็เป็นพระบรมราชาที่ 4 แต่คนทั่วไปยังคงออกพระนามว่าขุนหลวงพระยาตาก

วันที่ 28 ธันวาคม จึงเป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วยเหตุนี้ครับ

การทำพิธีบรมราชาภิเษกคราวนั้น ย่อมไม่อาจคึกคักมโหฬารไปได้เพราะบ้านเมืองยังอยู่ในบรรยากาศความสูญเสีย ข้าวของเครื่องใช้ราชกกุธภัณฑ์มงกุฎฉัตรจะไปเอามาจากไหนได้เพราะถูกพม่าเผาทำลายหรือขนขึ้นช้างม้ากลับพม่าไปหมดแล้วจึงเรียกว่า “ทำตามมีตามเกิด” ส่วนความจำเป็นที่ต้องทำก็เพื่อเรียกขวัญชาวเมืองกลับมาว่า “เราได้ผู้นำใหม่แล้ว” มิฉะนั้นจะกลายเป็นขบวนการคนไทยกู้ชาติหรือเสรีไทยลอย ๆ ทำงานใต้ดินอยู่แค่นั้น ทั้งยังจะช่วยให้ข่าวสะพัดไปถึงพม่าด้วยว่ากรุงศรีอยุธยากลับตั้งตัวขึ้นใหม่ได้แล้ว (โว้ย)!

เหลือแต่ปัญหาเรื่องการฟื้นฟูกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นว่าจะทำอย่างไร

สภาพกรุงศรีอยุธยาเมื่อพระยาตากเข้าเมืองในปี 2310 หลังเสียกรุงเพียง 8 เดือนน่าจะประมาณอยุธยาหลังน้ำท่วมใหญ่หนนี้ หรือลองสมมุติภาพหลังเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ก็ได้ เพราะข้าศึกจุดไฟเผาผลาญไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ปราสาทราชวัง หรือบ้านช่องห้องหอของราษฎร เพียงแต่ว่าอาคารเมื่อ 244 ปีก่อนไม่ได้ก่อตึกถาวรดังทุกวันนี้ ไม่มีนิคมอุตสาหกรรม ไม่มีคอนโดมิเนียม ไม่มีตึกใบหยก แต่เป็นกระต๊อบ เรือนแพ เรือนหลังคามุงจากมุงกระเบื้อง อย่างหรูหน่อยก็เป็นกำแพงเมือง พระราชวัง โบสถ์วิหาร เจดีย์ และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๆ ที่ก่ออิฐถือปูนแต่ก็แตกหักทรุดโทรมเสียมาก

รถยนต์รถลอยฟ้ารถใต้ดินเวลานั้นก็ไม่มี มีแต่เรือแพ เรือรบหลวงเองยังถูกข้าศึกเผาหมด ในส่วนผู้คนนั้นอยุธยาแทบเป็นเมืองร้างเพราะพวกที่ถูกข้าศึกจับเป็นเชลยไปพม่าก็หลายหมื่นคน พวกที่ไม่ถูกจับก็หนีเข้าป่าเข้าดง จะเหลืออยู่ก็แต่พวกที่ไม่ถูกเกณฑ์ไปพม่าแต่คงไม่ต่างจากเชลยเท่าไรนัก เพราะต้องอยู่ใต้การปกครองของพม่าร่วม 8 เดือน กว่าพระยาตากจะมาปลดปล่อย

คนไทยส่วนหนึ่งที่ยังไม่ทันถูกจับไปพม่าถูกเกณฑ์ไปทำงานอยู่ในค่ายโพธิ์สามต้นนอกเกาะอยุธยา สภาพในค่ายนี้คงไม่ใช่ศูนย์พักพิงแต่เป็นค่ายกักกันเชลย ทหารพม่าเองรวมทั้งสุกี้พระนายกองก็พักอยู่ในค่ายนี้ด้วย เจ้านายราชวงศ์บ้านพลูหลวงพระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหลายองค์ เช่น เจ้าฟ้าหญิงพินทวดีก็ถูกกักไว้ทำงานในค่าย เมื่อพระยาตากรบชนะสุกี้พระนายกองแล้วก็ให้ทลายค่ายปล่อยตัวออกมาหมด

พม่าเผาเมืองทำไม คำตอบคือเป็นธรรมดาของผู้ชนะที่จะกำจัดศัตรูมิให้โงหัว ประการสำคัญคือผู้ชนะย่อมต้องการสมบัติพัสถานจากผู้แพ้ เรียกว่าขออะไรติดไม้ติดมือไปบ้าง มาทั้งทีอย่าให้เสียเที่ยว เรื่องนี้จะเป็นนโยบายรัฐบาลพระเจ้ากรุงอังวะหรือเปล่าไม่รู้ แต่ทหารพม่าก็ปล้นบ้านเรือนราษฎร ฉุดคร่าลูกเมียเขามาบำเรอทัพ จุดไฟเผาวัดเผาเจดีย์เผาพระพุทธรูปเพื่อเอาทองคำและของมีค่าไป ขนาดอาวุธหนักเช่นปืนใหญ่ ถ้าฉุดลากเอากลับพม่าได้ก็เอาไป แต่ถ้าเอาไปไม่ได้ก็เผาเสียมิให้ใช้งานได้อีกเรียกว่า “ปล้น” เชียวล่ะ ชาวอยุธยาที่พอมีทรัพย์ต่างขุดหลุมฝังแล้วหลบหนีไป ทหารพม่าก็มาเที่ยวขุดหาเป็นการใหญ่ ขู่ให้ราษฎรเปิดเผยที่ซ่อน ความผิดฐานบอกที่ซ่อนทรัพย์นี้เป็นข้อหาร้ายแรงฐานซ้ำเติมความทุกข์ราษฎร ขนาดสมเด็จพระสังฆราช (สี) ยังถูกพระเจ้าตากสินจับสึกเพราะมีผู้ให้การว่าเคยบอกที่ซ่อนทรัพย์ของคนอื่นจนพม่าไปงัดแงะบ้านที่เจ้าของอพยพหนีน้ำ...เอ๊ย! ไปขุดหาทรัพย์ชาวบ้านได้ไปมากโขอยู่

ผมไปอยุธยาทีไรแม้ทุกวันนี้ก็ยังนึกแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้ชาวอยุธยาไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย อำมาตย์ ไพร่ พระสงฆ์องค์เจ้าหรือทหารที่ตายทับถมศพเกลื่อนกรุง อย่างน้อยวงศาคณาญาติของผมเมื่อ 10-20 ชั่วโคตรก่อนคงอยู่ในจำนวนพวกนั้นบ้างละน่า ถ้าไม่ถูกจับเป็นเชลยเกณฑ์เดินตีนเปล่าไปเมืองพม่าเสียแล้ว ท่านผู้อ่านเองก็เถอะนึกเหมือนผมบ้างไหมครับ

สภาพอย่างนี้แม้เข้าเมืองและปราบ ดาภิเษกแล้ว แต่พระยาตากคงสลดหดหู่ใจเต็มทีจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและพัฒนาเพื่ออนาคตของประเทศ (กยอ.) เพื่อสร้างนิวอยุธยาก็คงฟื้นไม่ไหว ข้อสำคัญคือขวัญและกำลังใจของชาวอยุธยาแทบไม่เหลือหลออีกแล้ว มีแต่จะหวาดผวาเกรงอาฟเตอร์ช็อกจากพม่าว่าจะมาอีก แม้แต่พระยาตากเองชาวอยุธยาทั่วไปก่อน พ.ศ. 2310 ก็ไม่ได้รู้จักชื่อเสียงเพราะเป็นเจ้าเมืองอยู่บ้านนอก ไม่มีเชื้อสายเจ้านาย ยิ่งเขาว่ามีเชื้อจีนเสียอีก การจะขอความร่วมมือจัดบิ๊ก คลีนนิ่งเดย์ หรือชวนกันกู้บ้านเมืองเห็นจะไม่มีใครมีกะจิตกะใจทำ สู้ไปหาที่ใหม่ เริ่มใหม่ คิดใหม่ทำใหม่ นับ 1 ใหม่ไม่ได้

แต่ครั้นจู่ ๆ จะอพยพไปเหมือนครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 คราวจอมพล ป. ชวนให้ทิ้งกรุงเทพฯ อพยพไปอยู่เพชรบูรณ์ หรือเหมือนที่พม่าอพยพจากย่างกุ้งไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เนปิดอว์ก็ไม่ง่ายอีก เพราะคนติดที่ก็มี ดูแต่คราวน้ำท่วมสิครับ ทั้งปลอบทั้งขู่ชวนให้อพยพไปอยู่ศูนย์พักพิงยังไม่ยอมไป ห่วงบ้านบ้าง ห่วงหมาห่วงแมวบ้าง ข้อสำคัญคือจู่ ๆ จะชวนให้ผู้คนทิ้งกรุงที่มีอายุ 417 ปีไป ดูท่าจะเสียภาวะผู้นำเหมือนกัน ดีไม่ดีถูกหาว่าลบหลู่สมเด็จพระบูรพกษัตริย์ 34 พระองค์ที่ครองเมืองมาจะมาย้ายในบัดนี้ดูจะใจเสาะเกินไป

เรื่องนี้จะเป็นอุบายแก้เกมของพระเจ้าตากหรือเป็นเรื่องจริงก็ไม่ทราบ แต่วันหนึ่งทรงเล่าให้บรรดาขุนนางแม่ทัพนายกองฟังว่า ขณะบรรทมอยู่ที่พระที่นั่งทรงปืน ทรงฝันว่าอดีตกษัตริย์ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยามาขับไล่มิให้อยู่ คงเห็นว่ามิได้มีเชื้อสายกษัตริย์ สุบินนิมิตนี้จะจริงหรือไม่ก็ตามแต่เป็นกโลบายการเมืองและจิตวิทยาของผู้นำอย่างหนึ่งที่ต้องเอา “ความเชื่อหักล้างความเชื่อ” ที่จริงจะใช้โหราพยากรณ์แกล้งผูกคำทำนายว่าให้ย้ายราชธานีก็คงได้ แต่ทำให้มีพยานขึ้นมาเปล่า ๆ ถ้าบอกว่าฝันเองใครจะมาแย้งได้

อดีตกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาก็พิลึก คนเขาอุตส่าห์มาช่วยกู้บ้านกู้เมืองกลับมาไล่ไม่ให้อยู่ ที่จริงเจ้าแผ่นดินบรมกษัตริย์อยุธยาบางพระองค์ก็มิได้มีเชื้อสายกษัตริย์มาก่อนเช่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง สมเด็จพระเพทราชา แม้แต่หากว่าขุนหลวงที่มาขับไล่พระเจ้าตากเป็นพระเจ้าเอกทัศซึ่งดูจะหวงอะไรอยู่มากก็จะยิ่งแปลกเพราะเมื่อค้นหาพระศพได้แล้วท่านยังอุตส่าห์ขุดขึ้นมาทำพิธีถวายพระเพลิงมิให้เสื่อมพระเกียรติยศ

ความประสงค์ในการที่ทรงเล่าความฝันนี้คือ อย่ากระนั้นเลยเราควรไปหาที่อื่นสร้างกรุงใหม่กันเถิด จะลงทุนทำใหม่กันทั้งทีมาจมอยู่กับความสลดสังเวชใจรื้อไปสร้างไปบนความทุกข์ได้อย่างไร เพราะนั่นก็เรือนของพี่นี่ก็เรือนของลุงป้าน้าอา โน่นก็วัดที่เคยบวช โน้นก็วังที่เคยเห็น ไหนจะซากศพ ไหนจะซากเจดีย์ทรุดบ้างโทรมบ้าง จะรื้อทิ้งก็ไม่กล้า จะคาไว้ก็เสียดแทงใจ

ผมเข้าใจว่าบางทีพระเจ้าตากอาจทรงเกรงพม่าจะยกทัพตามมาอีกรอบก็ได้ เพราะครั้งพม่าตีกรุงแตกนั้น มีแต่ทัพเนเมียวสีหบดี ส่วนมังมหานรธาแม่ทัพอีกคนก็ตายไปก่อนเสียกรุงแล้ว หากพระเจ้ากรุงอังวะโกรธจัดโดยเฉพาะการที่สุกี้พระนายกองถูกฆ่า อาจทรงถือว่าเสียหน้าจึงยกทัพใหญ่มาเองอีกหนก็จะน่ากลัวมาก ขณะเดียวกันพระเจ้าตากทรงทราบดีว่ายามบ้านแตกเมืองเสียอย่างนี้ ใคร ๆ ก็คงคิดเป็นใหญ่กันทั้งนั้น ที่เห็น ๆ อยู่ในเวลานั้นมีเจ้าพระยานครศรีธรรมราชตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่ปักษ์ใต้ พระสังฆราชาเมืองฝางตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ภาคเหนือตอนบน เจ้าพระยาพิษณุโลกตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือตอนล่าง และกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสพระเจ้าบรมโกศ น้องคนละแม่กับพระเจ้าเอกทัศตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่พิมาย ปากทางภาคอีสาน เรียกว่าการเมืองวันนั้นมีหลายพรรค พรรคหนึ่งมีหลายมุ้ง กระจายอยู่ทุกภาค ถ้าพวกนี้ยกลงมาตีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาจะลำบาก ยิ่งถ้ายกมามะรุมมะตุ้มพร้อมกันทุกทิศจะยิ่งลำบากหลายเท่า เขมรและพม่าเองก็คงไม่อยู่เฉยแน่


การย้ายไปหาที่ตั้งกรุงใหม่จึงถูกต้องที่สุด แต่ถ้าขึ้นไปตากก็จะล้ำเข้าไปในอำนาจเจ้าพระยาพิษณุโลกและเจ้าพระฝางซึ่งอยู่ติดกัน ถ้าไปอยู่จันทบุรีก็เกรงเขมรซึ่งฮึ่ม ๆ อยู่ข้าง ๆ จะมารบกวนและคงจะมีอุปสรรคอื่นอีกเพราะอยู่ปลายสุด พระเจ้าตากจึงทรงชวนกันย้ายลงมาอยู่ที่กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรซึ่งเคยทรงยกทัพเรือจากจันทบุรีมายึดคืนจากนายทองอินคนไทยใจศัตรูที่พม่าตั้งให้ปกครองและดันซ้ำเติมความทุกข์คนไทยด้วยกัน จึงพอจะทรงคุ้นเคยกับภูมิสถานที่ตั้งและทางหนีทีไล่อยู่บ้าง ที่พอพระทัยคือกรุงธนบุรีอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งทรงสันทัดการรบทางน้ำถ้าพม่ายกมาทางเหนือหรือตะวันตกจนเราสู้ไม่ได้ก็พอจะลงเรือหนีออกปากอ่าวได้ไม่ถูกปิดล้อมเหมือนอยุธยา อีกประการหนึ่งคือชื่อกรุงธนบุรี ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งทรัพย์สินเงินทองและความมั่งคั่งนั้นดูจะถูกโฉลกพ้องกับพระนามเดิมว่า “สิน” อีกด้วย


เมื่อเสด็จลงมาถึงกรุงธนบุรีก็ทรงเลือก เอาที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ป้อมฝรั่งปากคลองบางกอกใหญ่ซึ่งทรงเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นแนวพระราชวังด้านทิศใต้ ครอบคลุมวัดท้ายตลาด (วัดโมลีฯ) วัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) จนถึงแนวคลองนครบาลทางทิศเหนือ (แถววัดเครือวัลย์ทุกวันนี้) ทรงเร่งสร้างพระราชวังขึ้นใหม่หาไม้ทองหลางทั้งต้นมาปักเป็นกำแพงเมืองชั่วคราว ตัวพระราชวังเป็นหลังคามุงจาก นิมนต์พระวัดท้ายตลาด วัดแจ้งออกไปอยู่ที่อื่น ใช้วัดท้ายตลาดเป็นที่พักทหารและยุ้งฉางเก็บข้าว ด้านหลังพระราชวังให้ขุดคลองคูเมืองอีกสายขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างกำแพงเมืองกั้นเป็นเขตพระนครไว้ นอกกำแพงเมืองแถวพรานนก เป็นที่ลุ่มจึงให้ใช้ทำนาเลี้ยงราษฎร ส่วนบางกอกฝั่งตรงข้ามให้ขุดคลองคูเมืองอีกสาย (เราเคยเรียกว่าคลองหลอด) ลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามคลองบางกอกน้อยไปออกแม่น้ำแถวโรงเรียนราชินี ปากทางออกแม่น้ำมีคนไปติดตลาดลอยเรือขายปูปลากุ้งหอย เรียกว่าปากคลองหรือปากคลองตลาด


เท่านี้ก็ได้พระมหานครใหม่พออยู่ได้ไปพลางก่อน หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็ถูกทิ้งกลายเป็นกรุงเก่า ผู้คนที่หลบหนีต่างอพยพกลับเข้ามาอยู่ธนบุรีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนกรุงเทพฯ นั้นยังไม่เกิด มีแต่บางกอกฝั่งตะวันออกเป็นไร่นาป่าสวน.

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ยลนิทรรศน์รัตนโกสินทร์

พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย 
โดย อาจารย์สยาม ยิ้มบัว คณะทำงานศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

หากให้กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์แล้ว สำหรับเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็อาจจะให้ความเห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่แสนน่าเบื่อจากการเข้าไปชมของเก่า คำบรรยายมากมายที่ให้จดบันทึก ห้ามแตะต้องสิ่งของใดๆ และห้ามถ่ายรูป สิ่งนี้คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นไม่มีความสนใจในการเข้าพิพิธภัณฑ์ การปรับรูปแบบการนำเสนอ ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากพูดถึงพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ที่น่าสนใจและตอบโจทย์วัยรุ่นได้ “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” คือสถานที่ที่ผมจะนำมาพูดคุยในสัปดาห์นี้ครับ

จากสโลแกน “คุณค่าแห่งยุคสมัย สัมผัสได้ในหนึ่งวัน” ทำให้ผมไม่รั้งรอที่จะพาศิษย์และมิตรสหายที่รู้จักไปเยี่ยมชมนิทรรศน์รัตนโกสินทร์อยู่บ่อยครั้ง เพราะสถานที่แห่งนี้สามารถบอกเล่าเรื่องราวของปฐมบทแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านยุคสมัย ผ่านกาลเวลา ผ่านการถ่ายทอดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อันทันสมัยทำให้เยาวชนและผู้เข้าชมทุกกลุ่มเกิดความสนใจ และเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะรูปแบบการจัดแสดงในแต่ละห้องก็มีการนำเสนอที่แตกต่างกันไป ทำให้ผู้เข้าชมจะไม่เกิดความน่าเบื่อตลอดเวลาที่เดินชมเลย


นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ มีรูปแบบการนำเสนอแบบ Interactive Self-Learning โดยผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีและการนำเสนอที่น่าสนใจต่างๆ ภายในห้องจัดแสดง สถานที่ตั้งของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์เปรียบเสมือนประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะตั้งอยู่เยื้องกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สถานที่สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ในการเสด็จฯ ออกรับพระราชอาคันตุกะต่างประเทศและพิธีมอบกุญแจเมืองของกรุงเทพมหานครด้วย

แนวคิดในการจัดแสดงของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ คือการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้ผู้เข้าชมได้ดื่มด่ำ ภาคภูมิใจ และร่วมกันหวงแหนในสมบัติทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของคนไทย และที่สำคัญที่สุดในความคิดของผม นิทรรศน์รัตนโกสินทร์เป็นอีกตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ให้แก่คำว่าพิพิธภัณฑ์ของเยาวชนไทยไปได้มาก ทำให้พวกเขารู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งให้แก่พวกเขา

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์มีการนำเสนอเรื่องราวในด้านต่างๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ผ่านห้องจัดแสดงทั้งหมด 7 ห้องและได้เปิดอีก 2 ห้องจนครบ 9 ห้องไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงในการเข้าชมครบทุกห้อง นอกจากนี้แล้วยังมีนิทรรศการหมุนเวียนในทุกๆ เดือนอีกด้วย จึงทำให้การเข้าชมนั้น ไม่ใช่เป็นการมาแค่ครั้งเดียวแล้วไม่มาอีกเลย ใครเคยมาแล้วก็อยากมาอยู่เรื่อยๆ เพราะกิจกรรมมีความหลากหลายและน่าสนใจ สถานที่แห่งนี้จะมีความน่าสนใจเพียงใด ท่านใดที่ยังไม่ได้มาชม ติดตามผมตลอดหนึ่งสัปดาห์นี้แล้วท่านจะไม่พลาดกับนิทรรศน์รัตนโกสินทร์แห่งนี้ครับ

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

'เจฮอลลีวูด' หนังโรงเล็กของอินเดีย

หากลอสแอนเจลิสมีฮอลลีวูด มุมไบมีบอลลีวูด ที่รัฐฉรขันท์ เมืองยากจนติดอันดับของอินเดียแห่งนี้ก็มีเจฮอลลีวูดด้วยเช่นกัน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในรัฐทางตะวันออกนี้แม้จะไม่ยิ่งใหญ่แต่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นในการสร้างสรรค์ผลงาน


“ปัญหาใหญ่ในการทำงานหนังของพวกเราก็คือ คุณจะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหน้า หรือจัดเตรียมเสื้อผ้าและเครื่องประดับต่าง ๆ” วาร์ชา ลาครา นักแสดงนำสาวแห่งเจฮอลลีวูดบอกเล่าด้วยรอยยิ้ม



ในวันที่แสงแดดสาดส่องของเช้าวันอาทิตย์ในรันจี เมืองหลวงของรัฐ ลาครา วัย 24 ปี กำลังอยู่ในสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องล่าสุด เธอนั่งอยู่ในรถคันเล็ก ๆ ของตัวเอง และบรรจงป้ายอายแชโดว์สีชมพูลงบนเปลือกตา กรีดอายไลเนอร์ เกลี่ยฟาวเดชั่นเพื่อปกปิดริ้วรอยที่ไม่ต้องการ และหลังจากโปะแป้งไว้บนใบหน้าเรียบร้อยแล้ว

“หนังของเราพยายามนำเสนอชีวิตความเป็นอยู่แบบท้องถิ่นอย่างแท้จริง แม้ว่าวัฒนธรรมของเราจะไม่น่าดูนัก แต่เราต้องการโชว์ภาพหมู่บ้านและเราอยู่กันอย่างไรในหมู่บ้านแบบนี้ โดยมีหน้าที่การงานอยู่ในเมือง”

เจฮอลลีวูดนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นอย่างภาคภูมิใจ ทั้งในฐานะของรัฐที่มีเศรษฐกิจด้อยกว่ารัฐอื่น ๆ และความเป็นชนเผ่า โดยสร้างหนังด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

โปรดิวเซอร์มักจะต้องรวบรวมเงินจากทรัพย์สมบัติส่วนตัวที่มีอยู่ตั้งแต่ที่ดินไปจนถึงรถยนต์ ขณะที่ทีมงานภาพยนตร์นั้นอาจมีอาชีพหลักเป็นคนขายโทรศัพท์มือถือหรือซีดี


ดาราของเจฮอลลีวูดนั้นอาจมีฐานะแตกต่างจากรายชื่อนักแสดงตัวโตที่ขึ้นอยู่บนหน้าจอของบอลลีวูด แต่สำหรับที่นี่พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและมีชื่อเสียงอย่างไม่น่าเชื่อ ลาคราและโมนุราจ สามีนักแสดงวัย 25 ปีของเธอ มักจะถูกบรรดาแผนภาพยนตร์รุมล้อมอยู่เสมอ

“บางครั้งเมื่อฉันและครอบครัวออกไปข้างนอกด้วยกัน เมื่อผู้หญิงที่อยู่ในหมู่บ้านบางแห่งเห็นฉันเข้า พวกเธอก็จะเข้ามารุมล้อมและพยายามจะฉุดให้ไปด้วยกัน เพราะพวกเธอต้องการให้ฉันไปที่บ้านของพวกเขาและเลี้ยงข้าวเราสักมื้อ” ลาคราย้อนรำลึกด้วยรอยยิ้ม


ด้วยงบประมาณอันจำกัดและมีผู้สร้างเพียงไม่กี่รายในเจฮอลลีวูด แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของที่นี่ก็ยังต้องต่อสู้เพื่ออยู่เหนือกว่า ลาครามีรายได้จากหนังแต่ละเรื่องราว 30,000 รูปี หรือราว 18,000 บาทเท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอเลิกล้มความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ลาครายังคงเล่นไปตามบทบาทเคลื่อนไหวไปอย่างพลิ้วไหวราวกับผีเสื้อ ขณะที่ทีมงานเปิดเพลงประกอบจากโทรศัพท์มือถือราคาถูก

เมื่อไม่นานมานี้หนังเรื่องกรรมที่ลาคราเล่น ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานของชาวบ้านคนหนึ่งที่กลับมาแก้แค้นเพื่อนชายของน้องสาวที่ถูกฆาตกรรม

แน่นอนว่าภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นจากเจฮอลลีวูดนั้นต่างจากบอลลีวูดอย่างสิ้นเชิง พวกเขาใช้กล้องดิจิตอลตัวเล็ก ๆ และใช้ภาษาถิ่นอย่างซาดรี, นักปูรี และซานตาลี ในการสื่อสาร

ลาคราซึ่งเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 15 ด้วยการแสดงในมิวสิกวิดีโอ โดยขณะนี้มีภาพยนตร์ 4 เรื่องกำลังออกฉาย ขณะที่อีก 5 เรื่องกำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำ เธอหวังว่าวันหนึ่งจะได้ก้าวไปยังบอลลีวูด และครั้งหนึ่งเธอเคยลงทุนไปดักรออยู่หน้าบ้านพระเอกยอดนิยมของบอลลีวูดอย่าง ชาห์ รุกห์ ข่าน ในมุมไบเป็นชั่วโมงมาแล้ว และสุดท้ายก็ได้แค่แอบมองเขาเท่านั้น

“บอลลีวูดก็เหมือนกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ขอเพียงแค่ได้ร่วมแสดงในหนังเล็ก ๆ ฉันเชื่อว่าจะต้องก้าวต่อไปได้อย่างแน่นอน”

ภาพยนตร์เรื่องแรกของเจฮอลลีวูดคือ Sona Kar Napur หรือยุคทองของนาคปุระ ออกฉายในปี ค.ศ. 1992 โดยผู้กำกับ ธานันจาย นัท ทิวารี มีเครดิตถึง 13 หน้า ที่ในหนังเรื่องนั้น เขาถึงกับลงทุนขายที่ดินเพื่อเอาเงินมาสร้างหนัง และเมื่อมันเสร็จออกมาแล้วเขาก็ตระเวนไปฉายตามหมู่บ้านต่าง ๆ โดยมีเพียงเต็นท์ไปกางเท่านั้น

ขณะที่ ชาฮิด อัคเตอร์ ผู้กำกับอีกรายก็กำลังจะถอดใจหากว่าหนังเรื่องที่สองของเขาไม่ประสบความสำเร็จ หนังเรื่องต่อไปก็พับเก็บโครงการได้เลย และก็คงกลับไปขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเลี้ยงครอบครัวตามเดิม.

เจอร์นีแมน @เดลินิวส์

โสมแดงผลัดแผ่นดิน

ทั่วโลกกำลังจับตามองสถานการณ์การเมืองและความมั่นคง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือ เกาหลีเหนือ หลังการอสัญกรรมอย่างปัจจุบันทันด่วนของ นายคิม จอง-อิล ผู้นำสูงสุดของประเทศ ด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ขณะอายุได้ 70 ปี

แต่กว่าทางการเปียงยางจะป่าวประกาศให้ประชาชนส่วนใหญ่และโลกภายนอกทราบ ก็ปิดเรื่องเงียบกว่า 2 วัน ไม่มีใครรู้ระแคะระคาย แม้แต่ นายวอน ไซ-ฮูน ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่งจะรู้ตอนมีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ วอนเลยถูกคณะกรรมาธิการรัฐสภาในกรุงโซล เรียกสอบปากคำเป็นการด่วน

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ฮวงจุ้ยดีรับปีมังกรคะนองน้ำ

สำหรับในปี พ.ศ. 2555 ที่จะถึงนี้ ในระบบการดูฮวงจุ้ยตามระบบวิชาการที่ใช้การคำนวณตามการเปลี่ยนปีตามวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ จะเริ่มต้น “ปีมะโรง” หรือ “ปีมังกร” ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 16.57 นาฬิกา ซึ่งจะต่างจากตรุษจีนตามธรรมเนียมโบราณที่ใช้การคำนวณจากวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกอยู่หลายวัน คือวันที่ 23 มกราคม แต่อย่างไรก็ตามหากเราต้องการจะจัดฮวงจุ้ยเพื่อเสริมมงคลรับปีมังกรที่จะถึงนี้ ก็เลือกได้ทั้งเริ่มจัดตั้งแต่ตรุษจีนตามธรรมเนียมโบราณหรือตามระบบวิชาการก็ได้ โดยในปี “มังกร” นี้หากเราศึกษาให้ละเอียดจะพบว่าตรงกับพลังย่อยของ “มังกรน้ำ” หรือ อาจารย์ฮวงจุ้ยหลายท่านก็เรียกกันว่าเป็นปี “มังกรคะนองน้ำ” นั่นเองโดยนักษัตร “มะโรง” หรือ “มังกร” นั้นเป็นลักษณะพลังงานรูปแบบ “ธาตุดิน” เมื่อมาเจอกับพลังฟ้าที่เป็น “ธาตุน้ำ” ก็เรียกว่ามีการ “ข่มพิฆาต” กันของพลังปีนั่นเอง ซึ่งลักษณะพลังงานในรูปแบบนี้จะส่งผลให้ภาพรวมของประเทศเราจะยังคงมีการทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับปี “เสือทอง” และ “กระต่ายทอง” ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในด้านดีนั้นในปีมะโรงนี้การเพาะปลูก การเกษตร ปศุสัตว์ กสิกรรม จะอุดมสมบูรณ์ไม่ขาดแคลน ภัยธรรมชาติโดยรวมจะไม่เกิดที่ประเทศไทยรุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องของอุทกภัยที่จะเน้นไปเกิดในโซนอเมริกามากกว่า


ในปี “มังกรคะนองน้ำ” ขอให้ท่านคิดภาพของน้ำหรือ “ธาตุน้ำ” ที่จะถูกผืนดินหรือที่คนจีนแทนด้วยมังกรหรือ “ธาตุดิน” นั้นคอยดูดซึมหรือข่มพิฆาตธาตุน้ำอยู่ตลอดเวลา โดยการจัดฮวงจุ้ยภายในบ้านเพื่อเสริมดีและลดร้ายสำหรับปีมังกรคะนองน้ำ สามารถทำได้ดังนี้ โดยยึดประตูบ้านหันหน้าไปทางทิศใดก็ใช้ตัวช่วยแก้ในทิศนั้น หรือหากให้ชีวิตรุ่งเรืองโชคดี หมั่นไปใช้ชีวิตในทิศดีของบ้าน (คอนโดให้ถือว่าระเบียงเป็นหน้าบ้าน)


1. ทิศตะวันตก ทิศดีเรื่องโชคลาภและโอกาสทางธุรกิจ พลังดาว 8 ประจำปี เข้ามาสถิตที่ทิศนี้ สำหรับการดูฮวงจุ้ยในระบบดาวเหินของยุคที่ 8 (พ.ศ. 2547-2567) จึงถือว่าทิศทางดังกล่าวเป็นทิศที่มงคลที่สุด โดยทิศทางที่ว่านั้นมีพลังเป็น “ธาตุดิน” แสดงถึงการสะสมเพิ่มพูนขึ้นมาของโอกาสและทรัพย์สิน การกระตุ้นพลังในทิศทางดังกล่าว สามารถทำได้โดยใช้ น้ำพุ น้ำล้น หินกลิ้ง ตั้งเพื่อกระจายพลังดีให้อบอวลออกมา โดยจะยิ่งเป็นมงคลหากอุปกรณ์กระตุ้นพลังงานดังกล่าวมีสีออก แดง ชมพู ม่วง หรือหากท่านไม่สะดวกในการใช้ น้ำพุ น้ำล้น หินกลิ้ง ท่านยังสามารถใช้โคมไฟ อโรมาเทอราปี จุดเทียน ตะเกียง กระตุ้นพลังในทิศดังกล่าวได้เช่นเดียวกันครับ


สำหรับท่านที่มีการชง ได้แก่ผู้ที่เกิดปีจอ ท่านยังสามารถใช้ทิศตะวันตก ในการวางของกระตุ้นพลังตามที่ได้กล่าวมาเพื่อลดผลของการชงจากพลัง “มะโรงประจำปี” ได้ด้วย

2. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศดีเรื่องความฉลาดหลักแหลม ความสำเร็จ ความยินดี มีชื่อเสียงโด่งดัง ในทิศนี้มีพลัง “ดาว 9 ธาตุไฟ” มาสะสมตัวอยู่ หากท่านเน้นเรื่องความฉลาดหลักแหลม ขอให้ท่านเสริมโดยใช้ไม้ทรงสูง เช่น ไผ่เลี้ยง ไผ่กวนอิม แต่ขอเป็นชนิดไม่แช่น้ำ หรือ ใช้ไม้แห้งเหลาแหลมทรงสูงก็ได้ แต่หากท่านเน้นเรื่องความสำเร็จ ความยินดี มีชื่อเสียงโด่งดัง ท่านสามารถเสริมได้โดยการใช้โคมไฟรูปทรงสูง หากเป็นไปได้ก็ขอให้เป็นสีออกแดง ชมพู ม่วง

3. กึ่งกลางอาคารหรือกึ่งกลางห้อง ทิศดีเรื่องอำนาจ ยศศักดิ์ ผู้ใหญ่ช่วยเหลือสนับสนุน ธุรกิจเกี่ยวกับราชการ สัมปทาน หรือ บริษัทใหญ่ ทิศนี้มีพลัง “ดาว 6 ธาตุทอง” มาสะสมตัวอยู่ หากท่านเน้นเรื่องการเพิ่มเรื่อง อำนาจ บารมีของตัวท่านเองนั้น ท่านสามารถตั้งอุปกรณ์โลหะ หนัก กลม มันวาว ที่มีสภาพนิ่งไม่เคลื่อนไหว ให้ดูโดดเด่นเพื่อเสริมพลังธาตุทองในทิศดังกล่าวได้ หรือหากท่านต้องการเสริมเรื่องของธุรกิจการค้า ท่านสามารถเสริมได้โดยการตั้งอุปกรณ์โลหะเคลื่อนไหว เช่น พัดลมทองเหลือง หรือ นาฬิกาลูกตุ้มโลหะ เพื่อกระจายพลังจากทิศดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน


4. ทิศตะวันออก ทิศดีเรื่องการศึกษา วิชาการ ความรัก ความสัมพันธ์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทิศนี้มีพลัง “ดาว 4 ธาตุไม้” มาสะสมตัวอยู่ หากท่านเน้นเรื่องของการศึกษา วิชาการ ให้ท่านใช้ต้นไม้ทรงสูง เช่น ไผ่เลี้ยง ไผ่กวนอิม วางเพื่อกระตุ้นพลัง แต่หากท่านเน้นเรื่องของความรัก ความสัมพันธ์ ให้ท่านเสริมโดยการใช้ ไม้ดอกสวยงามสำหรับความรักในเชิงหนุ่มสาว หรือ ไม้ใบเขียวชอุ่มสำหรับความสัมพันธ์ทั่ว ๆ ไป แต่หากท่านเน้นเรื่องการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การตั้งน้ำเคลื่อนไหว เช่น น้ำพุ น้ำล้น โดยใช้อุปกรณ์ที่มีสีเขียวอ่อน เขียวแก่ ก็สามารถส่งเสริมพลังดีนี้ได้

5. ทิศใต้ ทิศดีเรื่องโชคเสริม การค้าระหว่างประเทศ ความเจริญก้าวหน้า การเดินทาง “พลังดาว 1 ธาตุน้ำ” ได้เข้ามาสะสมตัวที่ทิศทางดังกล่าว ท่านสามารถเสริมพลังของทิศดังกล่าวได้โดยการตั้ง น้ำพุ น้ำล้น หินกลิ้ง ตู้ปลา โดยหากอุปกรณ์ดังกล่าวทำมาจากโลหะสเตนเลส ทรงกลม มันวาว ยิ่งทำให้เป็นมงคล หรือ หากท่านจะกระตุ้นพลังโดยใช้อุปกรณ์โลหะเคลื่อนไหว เช่น พัดลมทองเหลือง หรือ นาฬิกาลูกตุ้มโลหะ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามในทิศใต้นั้นมีพลังซ่อนแฝงของพลังร้ายหรือ “ทิศอสูร” มาสถิตอยู่ ดังนั้นขอให้ท่านงดเว้นการตกแต่ง ต่อเติม ซ่อมแซมใหญ่ในมุมทิศใต้ของอาคาร หรือหากอาคารของท่านหลังพิงทิศใต้นั้น ต้องงดเว้นการปรับปรุงอาคารใหญ่ ๆ ทั้งหลัง ยกเว้นว่าท่านได้รับคำปรึกษาเรื่องการเลือกฤกษ์ยามที่ดีเปลี่ยนร้ายให้เป็นมงคลจากซินแส


6. ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศของการเสียทรัพย์ แตกแย่ง ผู้ใหญ่กลั่นแกล้ง เพราะทิศนี้มีพลังของ “ธาตุทองมีแหลมมีคม” สะสมอยู่ เหมือนกับมีของมีคมหรือมีดวางใกล้ ๆ กันอยู่ ขยับนิดหน่อยก็ต้องกระทบกระทั่ง มีเสียงดัง มีความเสียหายได้ ดังนั้นหากในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านหรือสำนักงานของท่านมีการกระตุ้นพลัง เช่น มีน้ำพุ มีโคมไฟขนาดใหญ่ ก็ถือเป็นการกระตุ้นพลังดังกล่าว สามารถทำให้เสียทรัพย์ หรือมีความแตกแย่ง ชิงดี ภายในบ้าน หากเป็นในสำนักงานหรือโรงงาน ก็จะมีสภาพผู้บริหารทะเลาะกับพนักงาน หรือลูกค้า คู่ค้า รายใหญ่ เอาเปรียบกลั่นแกล้งเรา
วิธีแก้ไขสามารถทำได้โดยใช้การตกแต่งแบบ “ธาตุน้ำ” เพื่อถ่ายพลังของธาตุทองที่ไม่ดีนี้ออกไป เช่น การตกแต่งบริเวณกลางห้องโดยใช้ของตกแต่งสีฟ้า น้ำเงิน เทา ดำ หรือใช้การวางชามสีฟ้า น้ำเงิน เทา หรือ ดำ ใส่น้ำนิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว ก็สามารถจะลดพลังร้ายนี้ได้เช่นเดียวกัน

โดยทิศนี้เป็น “ทิศชงหรือทิศแตก” ประจำปีมะโรงนี้ด้วย ดังนั้นการตกแต่ง ต่อเติม ซ่อมแซม บริเวณนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเด็ดขาด

7. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศของการสูญเสีย อุบัติเหตุ อัคคีภัย เนื่องจากทิศนี้มีพลังของ “ธาตุดินภูเขาไฟระเบิด” สะสมตัวอยู่ และนอกจากนี้พลัง “ปีมะโรง” ซึ่งถือว่ามีพลังมากที่สุดประจำปี ยังเข้ามาสถิตซ้อนทับกับทิศร้ายดังกล่าวในปีนี้อีกด้วย จึงเรียกว่าร้ายเป็นสองเท่า เพราะพลังดินภูเขาไฟนั้นพร้อมจะปะทุออกมาได้ตลอดเวลา โดยเป็นพลังที่ร้อนแรงและคาดเดาได้ยาก ดังนั้นหากบ้านหรือสำนักงานโรงงานใดที่หันไปสู่ทิศนี้ จะต้องระวังให้ความใส่ใจ เรื่องของความปลอดภัยของทั้งสมาชิกในครอบครัว สำนักงาน โรงงาน หรือ การเสียหายของทรัพย์สิน โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุมากเป็นพิเศษ ถ้าเป็นไป ได้ให้ละเว้นการตกแต่ง ต่อเติม ซ่อมแซม โดยไม่ได้ดูฤกษ์ยามเป็น อันขาด

ท่านสามารถลดร้ายได้โดยการปรับสภาพให้ดินภูเขาไฟไม่ ร้อนไม่ปะทุ โดยใช้ “ธาตุทอง” สลายพลังร้ายนี้ออกไป เช่น การใช้ อุปกรณ์โลหะสเตนเลส มันวาว ตกแต่ง เช่น รูปปั้นโลหะ โคมไฟสเตนเลส ไฟสีขาว สีเงิน หรือในศาสตร์ฮวงจุ้ยระบบวิชาการ เราสามารถจะใช้การนำเกลือใส่ในชามสีขาวและใส่น้ำนิ่งพร้อมเหรียญโลหะบนเกลือเพื่อลดทอนพลังร้ายชนิดนี้ได้เช่นเดียวกันครับ

8. ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศแห่งการทะเลาะเบาะแว้ง มีคดีความ โดยในทิศนี้มีพลังซ่อนแฝงของ “ธาตุไม้ที่เริ่มเจริญเติบโต” สะสมตัวอยู่ เหมือนไม้ที่ต้องพยายามแทรกตัวจากดินขึ้นไปยังพื้นผิวโลก ทำให้ต้องมีแรงเสียดทานกับผิวดิน มีการกระทบกระทั่งกัน ดังนั้นหากบ้านของท่านหันหน้าไปทางทิศดังกล่าวก็จะทำให้ภาพรวมของคนในบ้านนั้นมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน หรือ หากเป็นสำนักงานหรือโรงงานก็อาจจะทำให้ท่านมีปัญหากับลูกค้าหรือคู่ค้าได้ หากร่วมไปกับการที่มีตกแต่ง ต่อเติม ซ่อมแซม รบกวนพลังในทิศดังกล่าวโดยไม่ดูฤกษ์ ก็สามารถส่งผลเสียถึงขั้นมีคดีความ
การแก้ไขในทิศทางดังกล่าว ขอให้ใช้ “ธาตุไฟ” ในมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้าน เพื่อสลายพลังร้ายของธาตุไม้ทิ้งไป โดยการตั้งของที่มีสีแดง ชมพู ม่วง รูปทรงสูงแหลม เช่น โคมไฟหรือไฟกะพริบสีแดง ดินสอเหลาแหลมที่เป็นสีแดง หรือหากแก้ไขปัญหาเร่งด่วนสามารถทำได้โดยการจุดเทียนไฟให้หมดดอกไป โดยใช้เวลาสัก 2 ชั่วโมง แต่ต้องระวังเรื่องของอัคคีภัยด้วยนะครับ

9. ทิศเหนือ ทิศของการเจ็บป่วย ยอดขายไม่คล่องตัว โดย ทิศเหนือนี้จะมีพลัง “ธาตุดินแตกแห้ง” สะสมตัวอยู่ เป็นสภาพ ของการสะสมของความอุดตันไม่ราบรื่น เหมือนดินที่แตกแห้ง ไม่ ชุ่มชื้น ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง หากบ้านของท่านหันไปสู่ทิศนี้ ก็จะส่งผล ให้สุขภาพของคนในบ้านไม่ดี หรือหากเป็นสำนักงานหรือโรงงานที่ หันสู่ทิศนี้ ก็จะส่งผลในเรื่องยอดขายที่ไม่ราบรื่น ติดขัด ชะงักงัน เหมือนดินที่แตกแห้งมาคอยดูดเอาโชคลาภออกไป ส่งผลถึงผลกำไรของธุรกิจได้

โดยท่านสามารถลดร้ายในทิศทางดังกล่าวได้โดยการใช้อุปกรณ์ ตกแต่งที่เป็น “ธาตุทอง” เพื่อถ่ายพลังธาตุดินที่แตกแห้งออก เช่น การใช้กระดิ่งโลหะ รูปปั้นโลหะมันวาว โคมไฟสเตนเลสไฟสีขาวสว่าง ๆ หรือการวางสิ่งของที่เป็นสีขาว เงิน ทอง มีรูปทรงกลม ๆ พร้อมทั้งใส่น้ำนิ่งเพื่อทำให้ดินอ่อนนุ่ม เช่น ชามโลหะสเตนเลสใส่น้ำนิ่ง ก็สามารถช่วยลดร้ายในมุมนี้ได้เช่นเดียวกัน

** ศูนย์วิชาการฮวงจุ้ย โดย อ.มาศ เคหาสน์ธรรม จัดสัมมนา ฮวงจุ้ยรับปีมังกร ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555 สามารถสำรองที่นั่งได้ที่เบอร์ 08-9014-6888.


อาจารย์ตะวัน เลขะพัฒน์
ซินแสประจำศูนย์วิชาการฮวงจุ้ย (ประเทศไทย)
และผู้ก่อตั้ง SWD ARCHTECT : www.modemfs.com โทร.08-0298-9998

Via @เดลินิวส์

ลัดเลาะเส้นทางเที่ยวภาคกลาง 'ญี่ปุ่น' สัมผัสไอหนาวเพลินสีสันใบไม้เปลี่ยนสี


สายลมเย็นสบายสัมผัสได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงเวลานี้ซึ่งเป็นอีกช่วงเวลาดีเหมาะแก่การท่องเที่ยวเพลิดเพลินสีสันธรรมชาติที่มีมนต์เสน่ห์

ในรอยต่อของฤดูกาลที่ผ่านมามีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปกับ การท่องเที่ยวภาคกลางประเทศญี่ปุ่น โดยเจ้าหน้าที่จากเมืองต่าง ๆ พาลัดเลาะเยี่ยมเยือน แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ รวมถึงความงดงามของธรรมชาติในช่วงต้นไม้ในผืนป่ากำลังเปลี่ยนสีจากเขียวครึ้มเป็นสีส้มแดงแซมด้วยสีเหลืองรับกับสายลมเย็น ๆ ของฤดูกาล


คะนะซะวะ เมืองประวัติศาสตร์เก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางในจังหวัดอิชิกาวา จากประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 400 ปี ที่นี่จึงถ่ายทอดให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมทั้งความดั้งเดิม สมัยใหม่มีสีสันของศิลปกรรม สถาปัตยกรรมพร้อมให้เลือกเพลิดเพลิน

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยศตวรรษที่ 21 สถานที่หนึ่งที่มีความโดดเด่นโดยเฉพาะในด้านการออกแบบ อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ มีความทันสมัยต่างไปจากพิพิธภัณฑ์แบบเดิมโดยมีลักษณะทรงกลม เป็นอาคารชั้นเดียวไม่มีกำแพง ผนังเป็นกระจกมีช่องทางเดินที่สามารถมองเห็นฝั่งตรงข้ามให้ความรู้สึกที่ไม่อึดอัดเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ภายนอกส่วนสีสันศิลปะมีผลงานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายให้เพลิดเพลิน

มนต์เสน่ห์เมืองเก่าที่นี่ยังคงรักษาเอกลักษณ์วันวานและปัจจุบันไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งในเสียงบอกเล่าเจ้าหน้าที่เพื่อนร่วมทางได้ความรู้ว่า ชาวญี่ปุ่นมีความภาคภูมิใจที่สืบรักษาวิถีชีวิตเก่าแก่เหล่านี้ไว้โดยที่ คะนะซะวะ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความผูกพันกับชาวญี่ปุ่นที่สามารถย้อนให้เห็นภาพในวันวานได้อย่างชัดเจน

ไม่ไกลจากกันยังสามารถแวะไปเยี่ยมเยือน ปราสาทคะนะซะวะ ที่งดงามรวมถึง สวนเคนโระคุเอ็น สวนสไตล์ญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นในสมัยเอโดะ ตั้งอยู่บนเนินข้างปราสาทคะนะซะวะ ภายในสวนแห่งนี้มีเนื้อที่กว้างใหญ่นอกเหนือจากสีสันของต้นไม้โดยเฉพาะต้นสนที่กำลังแผ่กิ่งก้านใบสวยแล้ว

จากมุมสูงด้านหน้าของสวนยังเป็นอีกมุมเด่นมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ขณะที่อีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดในการเก็บบันทึกภาพความทรงจำนั่นก็คือ บริเวณด้านหน้าที่สามารถมองเห็นวิวสะพาน สระน้ำกว้างใหญ่ และโคมไฟหินที่ออกแบบไว้อย่างสะดุดตาและด้วยความที่สวนแห่งนี้เป็นหนึ่งในสามสวนเลื่องชื่อ อีกทั้งมีความสงบร่มรื่น มีความเก่าแก่ ที่นี่จึงมีรายละเอียดมากมายให้เพลิดเพลิน หากใครตั้งใจจะเดินเที่ยวให้ทั่วคงต้องเผื่อเวลาไว้มากสักหน่อย

นอกจากพื้นที่ด้านในสวน บริเวณถนนด้านหน้าในช่วงที่ผ่านมาของฤดูใบไม้ร่วงยังมีสีสันของต้นซากุระที่ใบกำลังเปลี่ยนสีเป็นสีส้มสดใสและไม่เพียงสถานที่ที่กล่าวมาคะนะซะวะยังมีสีสันเสน่ห์ของงานหัตถกรรม อย่าง ผ้าไหมคากะยูเซ็น มีความโดดเด่นทั้งการวาดลาย การย้อมสีให้รายละเอียดที่เหมือนจริงตามธรรมชาติ เป็นอีกงานฝีมือที่มีความละเอียดประณีตในการสร้างสรรค์

เช่นเดียวกับ ศิลปะลงรักปิดทอง อีกงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์ทั้งในรูปแบบเครื่องประดับ ของใช้ ของที่ระลึกหลากหลายที่พร้อมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสร้างสรรค์ทดลองทำงานศิลปะมอบเป็นของที่ระลึกเมื่อมาเยือน

ในเส้นทางนี้ไม่ไกลจากกันยังสามารถเดินทางไปที่ หมู่บ้านมรดกโลกชิราคาวาโก แวะเที่ยวชมภายในหมู่บ้านที่สงบเงียบร่มรื่น ชมรูปแบบ บ้านกัชโช ที่ปลูกสร้างเรียงรายมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี กัชโช แปลว่า พนมมือ การปลูกสร้างบ้านลักษณะนี้ด้วยเพราะช่วงฤดูหนาวหิมะจะตกมามาก หลังคามุงสูงชันทรงดังกล่าวจะช่วยป้องกันหิมะปกคลุมได้

คายะ หญ้าอย่างหนึ่งที่มีเส้นใยเหนียวสิ่งนี้จะนำมามุงหลังคาโดยจะนำมามัดรวมกัน เมื่อทำเป็นหลังคาจะมีความหนามีความโดดเด่นซึ่งทั่วทั้งหมู่บ้านจะช่วยกันดูแลรักษาความดั้งเดิมไว้ อีกทั้งยังมีประเพณีการช่วยกันเปลี่ยนหลังคาโดยคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่าร่วมกันอนุรักษ์รักษา

ด้วยความเหมาะสมของสภาพอากาศสัมผัสได้กับไอหนาวเย็น ในเส้นทางนี้ยังมีจุดหมายปลายทางที่เมือง ทะกะยะมะ จังหวัดกิฟุ และเมืองมัตสึโมโตะ จังหวัดนากาโนะ เพลินไปกับสีสันใบไม้เปลี่ยนสีในผืนป่าและทิวทัศน์มุมสูง กระเช้าเชือกชินโฮทากะ การมาเยือนที่นี่ต้องนั่งกระเช้าขึ้นไปเพื่อชมทิวทัศน์ความงามของเทือกเขาแอลป์ตอนเหนือซึ่งมีความสวยงามในทุกฤดูกาล การเดินทางใช้เวลาประมาณ 35 นาที ก็จะไปถึงจุดหมายด้านบน

นอกเหนือจากทิวทัศน์มุมสูงระหว่างเส้นทางที่เคเบิลคาร์ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ยังเพลิดเพลินได้กับสีสันของผืนป่าระหว่างทาง ซึ่งมีใบไม้เปลี่ยนสีหลากสีสันเป็นเหมือนดังภาพวาดชวนประทับใจ เมื่อรถเคลื่อนที่ไปถึงด้านบนมองเห็นภูเขาลูกน้อยใหญ่ที่มีระดับความสูงท้าทายการเดินทางไปถึง

จากจุดชมวิวซึ่งเป็นลานกว้างมองเห็นทิวทัศน์ได้โดยรอบมองเห็นมนต์เสน่ห์ของขุนเขาของช่วงฤดูกาลนี้ซึ่งมีสีสันต่างไปจากฤดูกาลอื่น ๆ ฤดูใบไม้ร่วงนอกจากจะมีอากาศเย็นสดชื่นมีสายหมอกจาง ๆ ตัดกับท้องฟ้าสีเข้มแล้วยังมีสีสดใสของใบไม้สวยต่างจากฤดูหนาวที่มีหิมะขาวโพลนปกคลุมขุนเขา ส่วนฤดูร้อนที่นี่ก็มีดอกไม้ดอกเล็กใหญ่ออกดอกให้ชม ด้านบนจุดชมวิวยังมีกล้องส่องทางไกล เก้าอี้ตัวยาวอำนวยความสะดวกในการชมทิวทัศน์อีกด้วย

ลงจากภูเขาชมทิวทัศน์ในมุมมองที่แปลกตาที่ผ่านมากันอีกครั้ง จากนั้นนั่งรถต่อไปอีกไม่ไกลก็จะมาถึงเมืองมัตสึโมโตะเดินทางไปที่ คามิโคจิ สัมผัสเสน่ห์ผืนป่าธรรมชาติใกล้ชิดด้วยการเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

อุทยานแห่งชาติที่นี่มีบึงน้ำใสสีเขียวครามกว้างใหญ่มีสีสันของนกเป็ดน้ำออกมาแหวกว่ายทักทายผู้มาเยือนในเส้นทางเที่ยวชมธรรมชาติสองข้างทางยังรายล้อมด้วยต้นไม้หลากหลายพันธุ์ทั้งทิวสน ไผ่ รวมทั้ง โมมิจิใบคล้ายเมเปิ้ลที่กำลังเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลืองส้มและแดง

นอกจากนี้เมื่อมาที่นี่ยังได้ชมนกนานาชนิดซึ่งเจ้าหน้าที่บอกเล่าว่ามีมากกว่า 70 ชนิด และจากเส้นทางธรรมชาติเดินลัดเลาะต่อไปเรื่อย ๆ ยังจะได้ชมความสมบูรณ์ความหลากหลายของธรรมชาติ อีกทั้งมีจุดชมวิวมุมสวยไว้สำหรับให้เก็บภาพบันทึกความทรงจำ อย่างเช่น บริเวณสะพาน คัปปาบาชิ ซึ่งมีเรื่องราวเล่าขานถึงสัตว์ในจินตนาการของญี่ปุ่นว่าแหวกว่ายอยู่ในน้ำ

สะพานแห่งนี้มีประวัติการก่อสร้างมายาวนาน ด้านหลังของสะพานบริเวณนี้มีวิวสวยของภูเขาสูงตระหง่านและแม่น้ำสวยราวกับภาพวาดและด้วยความที่เป็นอุทยานแห่งชาติจึงมีข้อควรระวังในการเที่ยวชมทั้งห้ามเด็ดใบไม้ ดอกไม้ ทำลายธรรมชาติ สัตว์ป่า รวมทั้งห้ามทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ เว้นแต่ความทรงจำและความประทับใจในสถานที่แห่งนี้ ซึ่งก็เป็นอีกจุดหมายปลายทางของการพักผ่อนเที่ยวธรรมชาติในเส้นทางภาคกลางของญี่ปุ่นแห่งนี้.

ทีมวาไรตี้

...................................................
รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว วันที่ 24 ธันวาคม 2554

การเดินทาง : จากสนามบินสุวรรณภูมิถึงท่าอากาศยานนานาชาติชูบุเซ็นแทร เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงและจากสนามบินเดินทางไปในเส้นทางท่องเที่ยวภาคกลางสามารถเดินทางได้ด้วยรถประจำทางและรถไฟ โดยการเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ควรตรวจสอบเส้นทางและรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยวก่อนไปถึง

สิ่งที่ต้องเตรียม : ในฤดูใบไม้ร่วงควรตรวจสอบสภาพอากาศจัดเตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะสมทั้งแจ๊กเกต เสื้อกันหนาว ผ้าพันคอ แว่นกันแดด ฯลฯ

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : ในเส้นทางนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีมนต์เสน่ห์มีสีสันประวัติศาสตร์วันวาน วิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีอีกหลายสถานที่ โอมิโจ ตลาดสดในย่านตัวเมืองคะนะซะวะที่มีสีสันของอาหารทะเล ผัก ผลไม้ ฯลฯ

จินหยะ ตลาดเช้าเมืองทากายามาซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศาลากลาง แต่ละเช้าของที่นี่จะมีสีสันของพืชผัก ผลไม้อย่างแอปเปิล ลูกแพร ดอกไม้สีสวย ฯลฯ ของพื้นเมืองหลากหลายและไม่ไกลจากกันในบริเวณนี้ นอกจากนี้ยังมีปราสาทมัตสึโมโตะ ที่งดงามเก่าแก่ตั้งอยู่ในเขตเมืองมัตสึโมโตะ รวมถึงสีสันของการแช่น้ำพุร้อนออนเซน อีกหลายสถานที่ทั้งภายในที่พักและแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทาง ฯลฯ

ของฝาก : งานจักสาน งานหัตถกรรม ผลไม้แปรรูป รวมทั้ง ตุ๊กตาซารุโบโบะ หัตถกรรมพื้นบ้าน ฯลฯ.






ทีมวาไรตี้
@เดลินิวส์ 24 ธันวาคม 2554

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย
โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์และคณะ


พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ถือเป็นพระที่นั่งประธาน ในบรรดาพระที่นั่งต่างๆ ของหมู่พระมหามณเฑียร ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพระที่นั่งองค์แรก ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างขึ้น และได้ทรงใช้เป็นพระราชพิธีมณฑล ในการพระราชพิธีปราบดาภิเษกครั้งแรก ตลอดจนเป็นพระราชพิธีมณฑล ในการพระราชพิธีราชาภิเษก เต็มรูปแบบตามโบราณราชประเพณี เป็นพระที่นั่งที่ทรงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร และทรงประทับอยู่ตลอดรัชกาล


นอกไปจากนั้นแล้ว พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ยังเป็นพระราชพิธีมณฑล สำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สืบเนื่องกันมาทุกรัชกาล ที่เหนือสิ่งอื่นใด ที่นี่คือพระวิมานที่บรรทมของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า หรือเรียกกันอย่างภาษาชาวบ้านว่า บ้านของพระเจ้าแผ่นดินในกาลก่อนนับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มาจนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภายหลังได้เสด็จย้ายไปประทับที่พระอภิเนาวนิเวศน์ นับแต่ปี พ.ศ.2402

อย่างไรก็ตาม ภายหลังต่อมาที่สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ได้ทรงสถาปนาที่ประทับขึ้นใหม่ สำหรับเป็นที่ประทับตามพระราชอัธยาศัยแล้ว จึงทรงมิได้ประทับอยู่ที่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เช่นกาลก่อน แต่ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี จะต้องจัดให้มีการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน โดยจะต้องทรงเสด็จพระราชดำเนินมาประทับบรรทม เป็นพระฤกษ์ ตามพระราชพิธีโบราณมงคลทุกๆ พระองค์

โดยพระราชพิธีจะเริ่มต้นด้วยการที่สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทรงภูษิตาภรณ์สีประจำวันเสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีราชวงศ์ฝ่ายใน (ผู้หญิง) เชิญเครื่องราชูปโภคตาม ครั้นได้ฤกษ์ สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า เสด็จขึ้นประทับบนที่พระบรรทม ชาวประโคมลั่นฆ้องชัย ประโคมแตรสังข์ เครื่องดุริยางค์ พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายใน ถวายพระแส้หางช้างเผือก จั่นหมากทอง และกุญแจทอง แล้วจึงเอนพระองค์ลงบรรทมเป็นพระฤกษ์

ความสำคัญของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ไม่ได้มีเพียงแต่เป็นพระราชพิธีมณฑล สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเท่านั้น หากแต่เป็นที่ประทับอยู่จนตลอดรัชกาลของ สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า นับแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 นอกไปจากนั้นแล้ว ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์นี้ ยังเป็นพระที่นั่งที่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 ทรงเสด็จสู่สวรรคต จึงนับเป็นพระที่นั่งองค์ประธานที่มีความสำคัญยิ่ง นับตั้งแต่เสด็จทรงครองราชย์ ตราบทรงเสด็จสู่สวรรคาลัยของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า แห่งชาวสยามในกาลก่อน

@คมชัดลึก

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระบรมมหาราชวัง

พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย
โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์และคณะ


ภายหลังที่ยกเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานครแล้ว ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรสถานด้วยเครื่องไม้ เป็นการชั่วคราว โดยที่ใช้ไม้ระเนียดล้อมอาณาบริเวณไว้ แทนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อแล้วเสร็จ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขปขึ้น 3 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2325 ครั้นในวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2325 เวลา 06.00 นาฬิกา 24 นาที อันเป็นอุดมมงคลฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินโดย กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ข้ามฟากมาจากฝั่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร มาสู่ฝั่งตะวันออก ณ ชนวนท่าน้ำหน้าพระบรมมหาราชวัง เสด็จประทับพระราชยาน มีตำรวจหลวงแห่นำตามเสด็จฯ สู่พระราชมณเฑียรสถาน ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแต่นั้นสืบมา


เมื่อทรงเสด็จผ่านพิภพมาครบหนึ่งปี บ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุข ในปี พ.ศ.2326 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการก่อสร้างกำแพง ป้อม ประตู สร้างพระราชมณเฑียรสถาน ตลอดจนสร้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระเจดีย์ พระมณฑป ศาลาราย และหอมณเฑียรธรรม และในปีถัดมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทขึ้น เมื่อการทั้งปวงแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2328 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้น

พระราชพิธีราชาภิเษก ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นนั้น เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกที่จัดขึ้น เต็มตามรูปแบบโบราณราชประเพณี โดยเสด็จประกอบพิธีพระราชพิธีใน “พระมหามณเฑียร” ซึ่งเป็นหมู่พระที่นั่งที่มีความสำคัญที่สุดหมู่หนึ่ง ในพระบรมมหาราชวัง เป็นมูลสถานที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นเป็นแห่งแรก ตลอดจนเป็นพระราชมณเฑียร ที่ทรงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร และทรงประทับอยู่จนตลอดรัชสมัย

แต่เดิมในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไม่ได้เรียกพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร เป็นองค์ๆ แยกกันอย่างปัจจุบัน แต่รวมเรียกกันว่า “พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน” ครั้นต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เรียกพระที่นั่งแต่ละองค์อย่างเข้าใจง่าย อาทิ “พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย” เรียกว่า “ท้องพระโรง” ครั้นถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศขนานนามพระที่นั่งแต่ละองค์ขึ้น ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2467

@คมชัดลึก

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ธนบุรีศรีมหาสมุทร (2)


พระยาตากสินมีความสามารถในการสู้รบทั้งทางบกและทางน้ำ เมื่อลงมาช่วยราชการจึงได้รับคำสั่งให้คุมทัพทางเรือออกไปสกัดทัพพม่าทางด้านวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง และเมื่อกอบกู้บ้านเมืองได้ในเวลาต่อมาจึงชอบใจชัยภูมิเมืองธนบุรีว่าติดแม่น้ำ สะดวกแก่การต่อสู้กับข้าศึกทางน้ำซึ่งท่านถนัดอยู่แล้ว



พระยาตากหรือพระยากำแพงเพชรตั้งค่ายอยู่แถววัดพิชัย แม้จะรบชนะพม่าบ้างแต่ก็เป็นการปะทะประปราย ที่จะต่อต้านขับไล่ทัพพม่าออกไปหมดสิ้นนั้นเห็นจะยากเพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยนโยบายระดับชาติของรัฐบาลว่าเอาอย่างไรแน่ พงศาวดารกล่าวถึงความอ่อนแอของรัฐบาลในขณะนั้นว่าพระเจ้าเอกทัศทรงมัวเมาลุ่มหลงในอิสตรี ทหารจะยิงปืนใหญ่ก็ห้ามปรามเกรงว่าสาวสนมข้างในจะตกใจ ทหารเก่าที่มีความสามารถเคยผ่านศึกมามากก็ถูกกำจัดเสียเยอะตั้งแต่ครั้งสงครามกลางเมืองต้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่มีอยู่ก็เป็นแม่ทัพนายกองหน่อมแน้มไม่เคยรบจริง ๆ

พระเจ้าเอกทัศนั้นว่ากันว่าเป็นคนขลาดกลัว ไม่ชำนาญการรบ คงเป็นเพราะอย่างนี้พ่อของท่านจึงไม่ยอมตั้งท่านเป็นรัชทายาท แต่ข้ามไปตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งเป็นน้องชายแทน พงศาวดารใช้คำว่า “ไม่ทรงมีพระวิจารณ์เชาวนปรีชาญาณ” คำนี้เห็นจะเทียบได้กับคำว่าไม่มีวิสัยทัศน์ในสมัยนี้ คนที่เก่งและมีพระวิจารณ์เชาวนปรีชาญาณในเวลานั้นจึงได้แก่เจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งได้รับราชสมบัติต่อจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแต่ไม่นานเท่าใดก็เกรงใจพี่ชายจึงมอบราชสมบัติให้พี่ชายแล้วตนเองออกบวช

คราวพม่าจะตีกรุงแตกนั้นได้ยกมาสองหนใหญ่ หนแรกพระเจ้าอลองพญายกมาเอง พระเจ้าเอกทัศเห็นจวนตัวเข้าจึงขอให้พระช่วยสึกออกมารบสัญญาว่าจะยกราชสมบัติคืนให้ เจ้าฟ้าอุทุมพรก็สึกมาบัญชาการรบจนชนะไปหลายครั้ง พอดีกับที่พระเจ้าอลองพญาทำปืนใหญ่ระเบิดต้องสะเก็ดบาดเจ็บจึงยกทัพกลับแล้วไปสวรรคตกลางทาง พระเจ้าเอกทัศเห็นว่าเสร็จศึกแน่คง “เอาอยู่” แล้วล่ะ จึงถามน้องชายว่าแล้วตัวจะอยู่ต่อไปไยเล่า เจ้าฟ้าอุทุมพรก็แสนดียอมบวชเป็นพระกลับเข้าวัดอีกหน ผู้คนจึงเรียกท่านว่าขุนหลวงหาวัด

พม่ากลับไปหนนั้นอยุธยาก็ได้ใจว่าข้าศึกแพ้ภัยตัวเอง ถึงอย่างไรก็ทำอะไรอยุธยาไม่ได้ ก็คำว่าอยุธยานั้นแปลว่าเมืองที่ใครก็รบชนะไม่ได้ หรือเมืองที่ไม่มีวันแพ้นั่นเอง พอกันกับที่ทางพม่ามัวแต่ยุ่งกับการผลัดแผ่นดินจึงไม่มีเวลายกทัพมาราวีจนอยุธยาลืมรสชาติสงครามไปแล้ว ที่จริงถ้าใช้เวลาตอนนั้นหมั่นฝึกปรือทหาร สะสมเสบียง สะสมอาวุธ สร้างค่ายคูประตูหอรบให้เข้มแข็งก็น่าจะต้านทานพม่าในหนต่อไปได้ แต่กลับมีแต่ความสนุกสนานรื่นเริง เจ็บแล้วไม่เคยจำ นิสัยทำอะไรเป็นไฟไหม้ฟาง วูบไปวูบมา พอหมดภัยทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิมนี้ดูจะเป็นลักษณะประจำชาติมาแต่ไหนแต่ไร ถึงน้ำท่วมใหญ่ในคราวนี้ก็เถอะ ตอนนี้ก็คิดกันใหญ่ว่าจะทำโน่นเตรียมนี่ป้องกันนั่น พอน้ำแห้งคงมีคนร้องทักว่าเอ๊ะ! น้ำไปหมดแล้วจะทำไปทำไมให้สิ้นเปลือง จะเวนคืนที่ดินทำฟลัดเวย์ทำไมให้เสียคะแนนเสียง แล้วทุกอย่างก็จะหายไปกับสายน้ำอีก

พระราชดำรัสเรื่องแผนป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรที่พระราชทานมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2538 จึงค้างเติ่งหาผู้รับสนองไม่ได้อยู่อย่างนั้น 16 ปีแล้ว

นายสังข์ชาวบ้านอยุธยานำน้องสาว 2 คน คือ ฟักและปานไปถวายพระเจ้าเอกทัศก็โปรดมากตั้งให้เป็นพระสนมเอก นายสังข์พี่เมียจึงวางท่าใหญ่โตมีสิทธิขาดในราชการบ้านเมือง เวลาขุนนางเข้าเฝ้าฯ นายสังข์จะแหวกม่านโผล่หน้าออกมาก่อน ขุนนางตกใจนึกว่าเสด็จแล้ว ก้มลงกราบเป็นแถว บางทีก็ตั้งภาษีแปลก ๆ เช่น ภาษีผักบุ้ง ใครเด็ดผักบุ้งไปทำแกงส้มหรือแกงเทโพต้องเสียภาษีให้นายสังข์ บางทีคบคิดกับญาติโกโหติกาผูกขาดการซื้อข้าวเปลือกเก็บใส่ฉางไว้เรียกว่ากักตุนสินค้านั่นเองจนราษฎรเดือดร้อนไปทั่ว

คนอย่างนายสังข์นี้จะว่าไปแล้วก็มีอยู่ทุกสมัย หรือพูดกลับกันก็ได้ว่าผู้นำอย่างพระเจ้าเอกทัศนั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย ประเภทผู้นำที่มีบริวารเป็นพิษ ถ้าไม่ใช่บริวารฝ่ายตนเองก็บริวารฝ่ายคู่ครอง พอใครได้เป็นผู้นำมีอำนาจเข้าญาติหรือไม่ใช่ญาติจะมาล้อมหน้าล้อมหลังเข้าทำนองมีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่ มีตำแหน่งนับเป็นญาติ มีอำนาจนับเป็นเกลอ ถ้าไม่ใจแข็งเข้าไว้เป็นอันเสียคนไปเยอะแล้ว ผมไปโครเอเชียจึงออกจะชอบใจเมืองดูบรอฟนิก เขาเปลี่ยนเจ้าครองนครทุกเดือนและระหว่างครองนคร เขาไม่ให้ติดต่อลูกเมียวงศาคณาญาติเกรงว่าจะวิ่งเต้นขอทำโครงการโน่นนี่เลอะเทอะไปหมด

ก่อนกรุงแตกราว 2 ปี พระเจ้ากรุงอังวะพระองค์ใหม่ให้ยกทัพเข้ามาตีอยุธยาอีกหนกะว่าคราวนี้อยุธยาคงกำลังประมาทร่าเริงเต็มที่ซึ่งก็จริง เพราะเห็นพม่าหายไปนานและประมาทว่าพอถึงฤดูน้ำหลาก ข้าศึกศัตรูคงไม่กล้ายกมาล้อมกรุง


พระยาตากเห็นสภาพภายในอยุธยาก็รู้ว่าพม่ายกทัพมาใหม่รอบสองในหนนี้เห็นทีจะรักษาพระนครไว้ได้ยาก ท่านเองเป็นแต่เจ้าเมืองบ้านนอกเท่านั้นไม่ใช่รัฐบาลหรือ ผบ.ทบ. จะได้มีอำนาจสิทธิขาดประกาศภาวะฉุกเฉิน การทุจริตคอร์รัปชั่นก็มีอยู่ทั่วไปจะเอาอาวุธดี ๆ ที่ไหนไปรบกับข้าศึก ผู้คนก็ถูกกดขี่ข่มเหงทั้งที่ลำบากยากจนแทบจะไม่มีกินเพราะพม่าตัดเสบียง ขนาดจีน 400 คนยังชวนกันขึ้นไปทำลายพระพุทธบาทสระบุรีรื้อเอาเงินที่ปูพื้น ทองที่หุ้มพระมาแบ่งขายกินกัน

พระยาตากจึงตัดสินใจนำทหารราว 500 คนตีฝ่ากองทัพพม่าไปตายเอาดาบหน้าทางด้านทุ่งหันตรา บ้านข้าวเม่า ไปทางตะวันออกจนถึงชลบุรี ระยองเพื่อไปตีเมืองจันท์ การหนีออกไปอย่างนี้ถ้ากรุงศรีอยุธยารอดปลอดภัยพระยาตากจะมีโทษถึงตายเพราะเท่ากับแตกทัพเอาตัวรอดต่อหน้าราชศัตรูและการหักด่านพม่าออกไปก็ไม่ใช่ของง่าย แต่ถ้ามองวิกฤติให้เป็นโอกาสก็ต้องชมว่าเป็นการตัดสินใจล่วงหน้าที่แม่นยำว่าอยุธยาคงไม่รอดพ้นเงื้อมมือพม่าเป็นแน่ และแทนที่จะตายคาเมืองหรือตกเป็นเชลยถูกร้อยเอ็นข้อเท้าด้วยหวายเดินตีนเปล่าไปพม่าเหมือนเชลยอีกนับหมื่นนับแสนคน ยังจะมีโอกาสรวบรวมผู้คนกลับมาตีเอากรุงคืนได้ในภายหลัง


พระยาตากผ่านเมืองชลแวะจัดการกับเจ้าเมืองที่กดขี่ข่มเหงขูดรีดราษฎร บัดนี้ยังมีวัดใหญ่อินทารามอยู่กลางเมือง เป็นที่ชุมนุมพลในครั้งนั้น ระหว่างทางก่อนเข้าระยองได้แวะพักทัพที่บางละมุง ชาวบ้านเรียกว่าบ้านทัพพระยา นานเข้าก็กลายเป็นพัทยา ครั้งนั้นไม่ได้พักที่รอยัล คลิฟแต่นอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ตามเขา ครั้นได้ระยองแล้วจึงบุกเข้าเมืองจันทบุรี

ตรงนี้เราจำกันได้แม่นยำดีว่าก่อนเข้าเมืองจันท์พระยาตากให้ทหารทุบหม้อข้าวหม้อแกงทิ้ง ชูสโลแกนว่าเราจะเข้าไปกินข้าวในเมืองจันท์ ถ้าแม้นตีเมืองจันท์ไม่ได้ก็จะอดข้าว “เราจงมาตายเสียด้วยกันในวันนี้เถิด”

ลงท้ายก็บุกเข้าตีเมืองจันท์ได้ บริเวณที่รบกันแถวเนินวงยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ที่ท่านมุ่งจะยึดเอาเมืองจันท์ให้ได้นั้นนอกจากจะสะดวกต่อการหลบหนีออกทะเล ขณะเดียวกันเมืองจันท์ยังเป็นด่านหน้าที่ชาวจีนลงเรือจากเมืองจีนมาตั้งบ้านเรือนอยู่มาก ลมมรสุมมักพัดพาเรือจากกวางตุ้ง ซัวเถา แต้จิ๋วอ้อมแหลมญวนมาขึ้นบกที่นี่ ท่านอาจพูดจาขอแรงจากพวกชาวจีนเหล่านี้ได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนรอน เงินทอง ผู้คน โดยเฉพาะการต่อเรือเพื่อใช้เป็นพาหนะเข้าไปกู้บ้านเมืองเพราะคนจีนมีฝีมือทางนี้

สมัยคุณทักษิณเป็นนายกฯ คราวหนึ่งไปประชุม ครม.สัญจรที่เมืองจันท์ พอว่างท่านก็ให้ขับรถตระเวนดูตามท่าเรือและเล่าว่าต้นตระกูลชินวัตรลงเรือจากจีนมาขึ้นฝั่งที่จันทบุรี เวลานี้จันทบุรีก็ยังมีชื่อด้านการต่อเรือ สมัยรัชกาลที่ 2-3 เรือดี ๆ ต้องต่อมาจากเมืองจันท์ เข้าใจว่าเป็นเพราะมีไม้ดีและยังมีช่างฝีมือดีหลงเหลืออยู่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ครั้งเป็นหลวงสิทธินายเวรก็ไปเรียนวิชาต่อเรือที่นั่น

พระยาตากคาดการณ์ไม่ผิดเพราะต่อมากรุงศรีอยุธยาก็แตกจริง พม่าเข้ากรุงได้และจุดไฟเผากรุงเสียหายยับเยิน จับคนไทยเป็นเชลยเดินเท้ากลับไปพม่า หนึ่งในเชลยนั้นคือพระภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ซึ่งพม่าถือเป็นเชลยแต่ได้ปลูกตำหนักกักบริเวณให้อยู่อย่างดีจนสวรรคตในปลายสมัยรัชกาลที่ 1 พระบรมอัฐิฝังไว้ที่พม่า

อีก 100 ปีเศษต่อมาอังกฤษยึดได้พม่าทั้งหมด ขนสมบัติกลับไปอังกฤษเป็นอันมากและจับพระเจ้าธีบอหรือสีป่อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า เหลนพระเจ้าอลองพญาส่งไปอยู่รัตนบุรีในอินเดียเป็นอันว่าหมดสิ้นวงศ์กษัตริย์พม่าโดยสิ้นเชิง และควบคุมพระองค์ไว้ดุจเชลยจนสวรรคตที่อินเดีย พระบรมอัฐิฝังไว้ที่นั่นไม่ให้นำกลับพม่า

คิดแล้วเป็นอนิจจัง เป็นกฎแห่งกรรมแท้ ๆ


พระเจ้าตากนำทัพจากจันทบุรีมาทางเรือขึ้นบกที่กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ขณะนั้นพม่ายึดได้แล้วและตั้งให้คนไทยชื่อนายทองอินเป็นผู้รักษาเมืองซึ่งก็ตั้งหน้าตั้งตากดขี่ข่มเหงคนไทยด้วยกัน คนอย่างนี้เหมือนพวกฉวยโอกาสยามน้ำท่วมนั่นแหละ เรือพระยาตากมาสว่างรุ่งแจ้งเห็นแสงอาทิตย์พอดีที่หน้าวัดมะกอกนอก ถือเป็นศุภนิมิตต่อไปจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งที่เด็ก ๆ เคยร้องว่ายักษ์วัดโพธิ์รบกับยักษ์วัดแจ้ง ยักษ์ที่ว่านี้คือตุ๊กตาหินหรือนายทวารบาลเฝ้าวัดบ้าง รูปปั้นยักษ์ตัวโต ๆ กุมกระบองบ้าง มีนิทานว่ารบไปรบมาฟาดกันจนท่าน้ำหน้าวัดโพธิ์เตียนราบ เรียกว่าท่าเตียน แต่ความจริงเกิดจากเพลิงไหม้ครั้งต้นกรุงเทพฯ จนบริเวณนั้นเตียนหมด

วัดแจ้งนี้ต่อไปเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นวัดอรุณฯ ซึ่งแปลว่าเช้าหรือแจ้งเช่นกัน

พระยาตากจับนายทองอินฆ่าและได้คนไทยเป็นพวกอีกมาก คราวนี้ยกพลไปตีกรุงศรีอยุธยา วิธีตีนั้นไม่ต้องเข้ากรุงแต่เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น นอกพระนครซึ่งเป็นกองบัญชาการของพม่า มีสุกี้พระนายกองซึ่งพม่ามอบให้ดูแลกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้บัญชาการค่าย พอค่ายโพธิ์สามต้นแตก สุกี้พระนายกองถูกฆ่า ทหารพม่าก็ยอมแพ้ เท่านี้พระยาตากก็ชนะ กู้บ้านเมืองคืนได้แล้ว นับเวลาตั้งแต่กรุงแตกจนได้กรุงคืนแค่ 6 เดือนเศษเท่านั้น

ฟังมาถึงตรงนี้ควรยกมือท่วมหัวไหว้วีรกรรมของมหาราชพระองค์นี้ ถ้าไม่ได้ท่านเราอาจจะมีพระเจ้าสุกี้ที่ 1 หรือพม่าอาจส่งเชื้อพระราชวงศ์อลองพญามาปกครอง พอพม่าเสียเมืองให้อังกฤษอีก 100 ปีเศษต่อมา อยุธยาในฐานะเมืองขึ้นหรือประเทศราชของพม่าอาจพลอยตกเป็นของอังกฤษด้วยก็ได้

พระยาตากเข้ากรุงศรีอยุธยาแล้วครับ แต่คราวนี้มาอย่างพระเอกขี่ม้าขาวและเป็นวีรบุรุษ ไม่เหมือนตอนเป็นเจ้าเมืองบ้านนอกลงมาจากเมืองตาก ถ้าจะปรบมือผิวปากร้องกรี๊ดตอนนี้ก็เหมาะแก่ความรู้สึกสะใจของคนไทยใน พ.ศ. 2310 นัก

แต่นี่แค่เข้ากรุงศรีอยุธยานะครับ ฉากต่อไปคือการเข้ากรุงธนบุรี ทำไมท่านจึงย้ายไปอยู่กรุงธนบุรี ไม่อยู่ที่อยุธยา บางคนอาจนึกว่าย้ายทั้งทีทำไมไม่ย้ายไปอยู่เมืองที่ท่านคุ้นเคยเช่น ตากหรือจันทบุรี

ซึ่งถ้าพระยาตากคิดอย่างนั้น ป่านนี้เราอาจอยู่แถวเขื่อนภูมิพลต้นน้ำไม่ต้องลงมาอยู่ท้ายน้ำ เรื่องนี้เห็นจะว่ากันต่อในตอนที่ 3

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เลือกวัสดุทำพื้นสวน


พื้นในสวนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้านได้อย่างสะดวก ตั้งแต่เดินเล่นไปจนถึงจัดปาร์ตี้ในสวน หากไม่มีพื้นแข็งเหล่านี้ช่วยรองรับการใช้งาน เมื่อเจอกิจกรรมหนัก ๆ ก็อาจทำให้สวนของคุณดูโทรมกว่าปกติก็เป็นได้ ดังนั้นการเลือกวัสดุจึงมีความสำคัญและปัจจุบันก็มีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ แต่จะเลือกอย่างไร “บ้านและสวน” มีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก

1. พื้นไม้

พื้นไม้เป็นที่นิยมในการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งในสวน เนื่องจากให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่มีการสะสมความร้อนบนพื้นมากเท่าวัสดุประเภทอื่น ๆ และยังเหมาะกับสวนเกือบทุกแบบ ทั้งสวนแบบทรอปิคัล สวนบาหลี สวนญี่ปุ่น สำหรับไม้ที่นิยมนำมาทำพื้น ได้แก่ ไม้เต็งและไม้แดง เนื่องจากหาง่ายและค่อนข้างคงทน อย่างไรก็ตาม พื้นไม้เป็นส่วนที่ต้องการการดูแลสูง เพราะมักมีปัญหาการผุเมื่อใช้ไปนาน ๆ และเกิดรอยด่างได้ง่าย


2. พื้นกรวดล้าง ทรายล้าง

ลักษณะพื้นแบบนี้จะให้ผิวสัมผัสเป็นธรรมชาติเหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการใช้งานแบบถาวร เพราะไม่สามารถรื้อย้ายได้ แต่มีความคงทนสูง ใช้งานได้ในระยะยาว แต่ข้อเสีย คือ หากเกิดการแตกหรือบิ่นจะซ่อมแซมได้ยาก เนื่องจากการแก้ไขเฉพาะจุดจะทำให้สีของพื้นดูไม่เข้ากัน เพราะมีขั้นตอนการผสมสีในระหว่างทำพื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง

3. พื้นหินทราย

การใช้พื้นหินทรายภายในสวนสามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว โดยทั่วไปนิยมใช้กับสวนที่ใช้กรวดเป็นองค์ประกอบ เช่น สวนญี่ปุ่น สวนโมเดิร์น รวมทั้งยังมีให้เลือกหลายสี ได้แก่ แดง เหลือง แต่พื้นหินทรายมีข้อเสียคือ เมื่อเกิดคราบสกปรกบนพื้นจะทำให้ดูไม่สวย เพราะมักทำความสะอาดไม่ออก จึงไม่เหมาะที่จะวางใต้ต้นไม้ที่มียาง เช่น มะม่วง ควรทำพื้นบริเวณที่เป็นลานโล่งจะเหมาะสมมากกว่า

4. พื้นอิฐมอญหรือศิลาแลง

อิฐมอญและศิลาแลงเป็นวัสดุที่ให้พื้นผิวที่สวยงาม ค่อนข้างเหมาะกับสวนสไตล์ทรอปิคัลที่มีต้นไม้ขึ้นครึ้ม มีของตกแต่งสวน เช่น โอ่งน้ำ โต๊ะไม้ บางคนชอบให้มีตะไคร่ขึ้นที่พื้นเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ แต่มีข้อเสีย คือจะทำให้พื้นลื่น ทำให้เข้าไปใช้งานในบริเวณนั้นได้ไม่เต็มที่ บริเวณที่ทำพื้นลักษณะนี้จึงควรเป็นมุมที่ไม่ใช่ทางสัญจรผ่านมากนัก ข้อเสียอีกอย่างคือ หากปูพื้นไม่แน่น เมื่อมีความชื้นจะทำให้เกิดการแตกหักได้ง่าย.

via @เดลินิวส์

อิรักหลังสหรัฐถอนทหารกลับบ้าน


ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ ยืนยันหนักแน่น ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับ นายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกี ของอิรัก ภายหลังการพบหารือ ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า สหรัฐได้เวลายุติสงครามในอิรักที่ดำเนินมาเกือบ 9 ปี และจะถอนกำลังทหารชุดสุดท้ายกลับประเทศ ภายในวันที่ 31 ธ.ค. ที่จะถึง

เป็นไปตามกรอบเวลาที่โอบามาเคยประกาศก่อนหน้านี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลของระดับสูงในกองทัพ และฝ่ายความมั่นคง ที่มองว่าถอนเร็วเกินไป หรืออย่างน้อยก็ควรคงกำลังรบไว้ส่วนหนึ่ง จนกว่าจะมั่นใจในการทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของกองกำลังอิรัก

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เมืองแห่ง MICE

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


เสียงกู่ร้องยินดีตามมาพร้อมเสียงชนแก้วในงาน Welcome Party ของการประชุม Jeju International Green MICE Week ครั้งที่ 3 ที่โรงแรม Jeju Grand Hotel บนเกาะเชจู


หลายเมืองของโลกมุ่งสู่ความเป็น MICE ศูนย์กลางการประชุมและนิทรรศการ เกาะเชจูก็เช่นกัน


การประชุม Green Mice Week ครั้งนี้ มีหลายประเทศได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเชิญเป็นคณะใหญ่ที่สุดของงานกว่า 20 ชีวิต นอกเหนือจากจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ ในจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 130 คน จากนานาประเทศ



MICE มาจากคำว่า Meeting,Incentive,Conference,และ Event เป็นอนาคตใหม่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้าง High Valued ทางเศรษฐกิจซึ่งเกาหลีใต้พยายามผลักดัน


อุตสาหกรรม MICE ในเชจู เติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิด ศูนย์ประชุมนานาชาติเชจู (Jeju International Convention Center หรือ ICC Jeju) ซึ่งเป็นศูนย์จัดการประชุมนานาชาติที่สำคัญในปี 2546


นอกจากนี้ ยังมีอีก 24 โรงแรมและรีสอร์ทที่สามารถรองรับการจัดประชุมสัมมนา โดยมีห้องพักรวมกันบนเกาะเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว 3 หมื่นห้อง มี 21 สายการบินระหว่างประเทศ และ 13 สายการบินภายในประเทศที่พร้อมจะนำผู้โดยสารกว่า 5 ล้านคน จาก 18 เมืองใหญ่ทั่วโลกมายังเชจู และ ท่าเรือ Cruise


สำหรับจุดเด่นของศูนย์ประชุมนานาชาติเชจู ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ตากอากาศชุงมุน นอกจากเป็นศูนย์ประชุมขนาดใหญ่รองรับได้ 4,300 คน ทั้งการจัดการประชุมทั่วๆ ไป การอบรม และคอนเสิร์ตแล้ว ที่นี่ยังมีทิวทัศน์ของมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่อยู่ด้านหน้า และภูเขาฮัลลาซันอยู่ด้านหลัง ศูนย์การประชุมมีทั้งหมด 7 ชั้น แบ่งเป็นชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และชั้นบนอีก 5 ชั้น ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากบริเวณรายรอบเกาะเชจู ตัวอาคารกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม นอกจากจะจัดการประชุมและเทศกาลต่างๆ แล้ว ยังมีการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ ตลอดปี


ยาง ยัง กึน ประธานองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะเชจู (Jeju Tourism Organization หรือ JTO) ซึ่งให้เกียรติต้อนรับคณะจากเมืองไทยด้วยตนเอง ให้ข้อมูลในภาพรวมของการเติบโตอุตสาหกรรม MICE ของเชจู ซึ่งก้าวกระโดดมาอยู่อันดับที่ 27 ของสถานที่จัดการประชุมระดับโลก ด้วยมีทำเลที่ตั้งซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเชื่อมต่อกับมหานครใหญ่ๆ ของจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน โดยการเดินทางเพียง 2 ชั่วโมงจากเครื่องบิน


กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและญี่ปุ่นเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเชจูมากที่สุด ขณะที่ตลาดไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตลาดที่เชจูมีนโยบายขยายตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ซึ่งมองว่ามีศักยภาพสูง


ปัจจุบัน ยอดนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะเชจูทะลุกว่าปีละ 8 ล้านคน นอกจากการได้รับประกาศให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโกแล้ว ล่าสุดจากการติดอันดับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติแห่งใหม่ของโลกทำให้การท่องเที่ยวที่นี่น่าจะยิ่งทวีความคึกคักขึ้นไปอีก โดยปี 2556 คาดว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวทะลุ 10 ล้านคน


“มีนักกอล์ฟจำนวนมากที่เดินทางมาเล่นกอล์ฟที่เกาะเชจู ที่นี่เรามีสนามกอล์ฟมาตรฐาน 26 แห่ง มีกิจกรรมกีฬากลางแจ้งหลายอย่างรองรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีกาสิโนอีก 8 แห่ง และดิวตี้ฟรีชอปปิงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว”


ประธานการท่องเที่ยวเกาะเชจู มองว่า MICE จะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลก โดยเป้าหมายของเชจูไม่เพียงต้องการเป็นเพียงจุดหมายปลายทางหนึ่งของที่พักตากอากาศสำหรับ MICE แต่ต้องการมุ่งสู่การเป็นฮับของ MICE ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ จากพื้นฐานที่แข็งแกร่งของแหล่งท่องเที่ยวทรัพยากรทางธรรมชาติ กีฬากลางแจ้ง การล่องเรือ ชอปปิง และบันเทิง ด้วยแนวคิดการพัฒนาแบบ Creative innovation


“ประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่นมากมาย อากาศดี อาหารอร่อย เชจูอาจไม่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวอุดมสมบูรณ์เหมือนกับเมืองไทย สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเกาหลี ไอเดียจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการแข่งขันในยุคนี้ซึ่งข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ครีเอฟทีไอเดียของเราจึงไม่ใช่แค่ชูจุดขาย MICE อย่างเดียวแต่ต้องบวกเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นจุดแข็งที่เมือง MICE อื่นๆ ในโลกไม่มี” ไอเดียแมนของเกาะเชจูบอกเช่นนั้น สอดคล้องกับสโลแกนในงานประชุมที่บอกไว้ว่า Your Mice in Jeju, Beyond Your Imagination

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ซานตา เฟ่ เมืองคาวบอย

โดย : มานพ จันทรฯ
@กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ในบรรดาเมืองที่ถูกยกย่องให้เป็น 1 ในเมืองสุดแสนโรแมนติกของสหรัฐนั้น มีชื่อของ ซานตา เฟ่ (Santa Fe) ติดอยู่ด้วย


ในบ้านเราอาจรู้จักผ่านหูชื่อนี้ในฐานะร้านขายสเต็ก แต่ซานตา เฟ่ มีดีมากกว่านั้น


ซานตาเฟ่ เป็นเมืองหลวงของรัฐนิวเม็กซิโก (New Mexico) เป็นเมืองเล็กๆน่ารักขนาดกะทัดรัด สมัยโบราณเป็นถิ่นฐานของชาวพิวโบลอินเดียน ต่อมาดินแดนนิวเม็กซิโก ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมของสเปน ได้ตกมาเป็นดินแดนภายใต้ปกครองของสหรัฐ คนผิวขาวจึงมาตั้งรกรากที่นี่ ความเจริญด้านต่างๆ จึงทยอยเติบโตขึ้น



ซานตาเฟ่ เป็นเมืองต้นแบบของเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่หลายที่เอาไปอ้างอิงสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ บ้านเรือนของชาวเมืองแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นสีเอิร์ธโทน และยังนิยมสร้างบ้านด้วยดิน สอดคล้องกับธรรมชาติให้บรรยากาศแบบดั้งเดิม


มาเยือนถึงถิ่นก็ไม่ควรพลาดการเรียนรู้ความเป็นมาของเมือง โดยแวะไปที่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติ (Museum of International Folk Art) ถ้าจะเที่ยวชมเมืองก็ควรเดินชมตลาด ความมีชีวิตชีวาที่ถนนแคนยอน (Canyon Road) มีย้านเรือนร้านค้าที่สร้างด้วยดิน มีงานศิลปะ รูปปั้น ภาพวาด ร้านค้าตกแต่งสวยงาม และยังมีตลาดนัดขายของ (Farmer Market) ขายพืชผลการเกษตร หลากหลาย พริกพันธุ์เม็กซิโกสีสันสวยงามมีให้เห็นอยู่อย่างดาษดื่น เพราะคนที่นี่รับประทานอาหารรสเผ็ด พูดภาษาอังกฤษ และสเปน เนื่องจากรัฐแห่งนี้อยู่ติดกับเม็กซิโกนั่นเอง


ในยามค่ำคืนหากจะแวะไปชม การแสดงในโอเปอร่า (Santa Fe Opera House) ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเมือง ก็คุ้มค่าแก่การได้มาสัมผัสสักครั้ง


ในขณะที่การท่องเที่ยวแบบผจญภัยกลางแจ้ง ประเภทปีนเขา พายเรือล่องแก่ง ท่องป่า ขี่ม้าชมทุ่งหญ้าแบบคาวบอย หรือเล่นสกีในฤดูหนาวก็เป็นที่นิยมไม่น้อย


เมืองในนิวเม็กซิโก หลายแห่ง รวมทั้งซานตา เฟ่ มักถูกเลือกให้เป็นฉากในภาพยนตร์แนวตะวันตกบรรยากาศคาวบอยอยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยม เพราะทิวทัศน์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกสิ่งก่อสร้างยุคใหม่รุกรานเหมือนเมืองอื่นๆ ดินแดนในแถบนี้ยังรักษาความเป็นดั้งเดิมได้ดี ราวกับว่าวิญญาณของอินเดียนแดง และคาวบอยไม่ได้สูญหายไปแม้แต่น้อย



ที่จริงเรื่องราวในภาพยนตร์ Cowboys & Aliens (2011) สมมติเหตุการณ์เกิดขึ้นในซิลเวอร์ซิตี้ รัฐแอริโซน่า แต่เอาเข้าจริงๆใช้สถานที่ถ่ายทำในรัฐนิวเม็กซิโก แทบทั้งนั้น ทั้งในเมืองเอบิกจู (Abiquiu) และเมืองซานตาเฟ่ เมืองหลวงของรัฐแห่งนี้


หนังย้อนไปในยุคคาวบอย ปี 1873 ชายแปลกหน้า “เจค โลเนแกน” (แดเนียล เคร็ก) ผู้ไม่มีความทรงจำในอดีตหลงเหลืออยู่เลย เขาผ่านเข้ามาในเมืองแห่งหนึ่งใจกลางทะเลทรายในรัฐแอริโซน่า โดยมีปลอกกุญแจโลโหะสวมอยูในมือของเขาเหมือนจะบอกว่าเขาเกี่ยวข้องกับเมืองแห่งนี้


ในเมืองแห่งนี้ค่อนข้างเงียบเชียบและไม่ต้อนรับคนแปลกหน้า ไม่มีใครออกมาเดินตามท้องถนนนอกจากจะไดรับอนุญาตจาก “ร้อยโทวู้ดโดรว์ โดลาร์ไฮด์” (แฮร์ริสัน ฟอร์ด) ที่นี่ชาวเมืองใช้ชีวิตกันอย่างน่าหวาดกลัว


และแล้วก็มีสัตว์ประหลาดจากฟากฟ้า มาลักพาชาวเมืองไปทีละคนโดยไม่อาจต่อต้านได้อย่างง่ายดาย และชายแปลกหน้าที่ชาวเมืองปฏิเสธตั้งแต่แรกกลับเป็นความหวังของที่นั่น เขากลับกลายเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมพลัง ไม่ว่าคนนอกกฎหมาย ชาวอาปาเช่ เพื่อรับมือกับศัตรูจากดาวดวงอื่น


จะว่าไปแล้ว Cowboys & Aliens ขึ้นแท่นหนังรางวัลราสเบอร์รี่เน่าแห่งปีได้เลย นับเป็นการลงทุนที่ไม่สมราคา อุตส่าห์มีนักแสดง ระดับแม่เหล็กอย่าง แฮริสัน ฟอร์ด, แดเนียล เคร็ก แถม สาวฮ็อต โอลิเวีย ไวลด์ แต่ก็พากันมาเน่าในหนังแนวฮอลลีวู้ดหมดมุข ทำนองเดียวกับ “เอเลี่ยนปะทะพรีเดเตอร์” หรือ “กระสือกัดปอบ” นั่นเอง คือสรุปแล้วไม่ควรจะต้องสร้างให้เปลืองเงิน เปลืองพลังงานตั้งแต่เห็นพล็อตเรื่องแล้ว


ถ้าหลงเสียเวลาดูไปแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ความงามตามธรรมชาติในนิวเม็กซิโกนั่นเอง.

Capital : Santa Fe
State : New Mexico
Country : United State of America
Population : 184,416
Film : Cowboys & Aliens (2011)
Director : Jon Favreau
Cast : Daniel Craig, Harrison Ford , Olivia Wilde

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ธนบุรีศรีมหาสมุทร (1)

กรุงเทพฯ และธนบุรีวันนี้เดิมเมื่อเกือบ 500 ปีก่อนเป็นแผ่นดินผืนเดียวกันเรียกว่า “บางกอก”


ผู้รู้สันนิษฐานที่มาไว้หลายอย่างเช่นแถบนี้คงเป็นดงต้นมะกอกมาก่อน ปรากฏหลักฐานจากวัดอรุณราชวรารามที่เคยชื่อวัดมะกอกนอก คนสมัยก่อนมักตั้งชื่อชุมชนใกล้น้ำว่าบางแล้วต่อด้วยชื่อต้นไม้ที่ดกดื่นในถิ่นนั้น ๆ เช่น บางรัก บางกรวย บางแค บางจาก บางโพ บางไทร ถ้าอย่างนั้นบางทีอาจจะเรียกบางมะกอกมาก่อน ภายหลังจึงกร่อนลงเหลือแค่บางกอก แต่บางคนก็บอกว่าน่าจะมาจากบางโคกแปลว่าที่สูง บ้างก็ว่าภูมิประเทศแถบนี้มีคลองล้อมรอบจึงน่าจะเรียกเพี้ยนมาจากบางเกาะ


ใครถนัดแบบไหนก็เชื่อไปทางนั้นเถิดครับ อย่าทะเลาะกันเลย แต่คนปักษ์ใต้ยังคงเรียกกรุงเทพฯ ว่าบางกอกมาจนทุกวันนี้ ตอนผมเข้ามาเรียนต่อในกรุงไปลายายบอกว่าจะไปเรียนที่กรุงเทพฯ ยายถามว่าอยู่ที่ไหน พออธิบายจบยายร้องว่าพุทโธ่! บางกอกนั่นเอง

อธิบายซ้ำอีกครั้งว่าแม่น้ำเจ้าพระยานั้นไหลจากนครสวรรค์ไปลงอ่าวไทยที่ปากน้ำพระประแดง (แปลว่าคนเดินหนังสือหรือเมสเซ็นเจอร์ บอย) แถว ๆ บางเจ้าพระยา ฝรั่งเดินเรือเข้ามาเมื่อหลายร้อยปีก่อนเคยเรียกว่าแม่น้ำริเวอร์ เพราะถามคนไทยว่าริเวอร์นี้ชื่ออะไร คนไทยตอบว่าแม่น้ำไงล่ะ ต่อมาก็เรียกตามชุมชนแรกที่มาถึงว่าบางเจ้าพระยาริเวอร์ ภายหลังสั้นเหลือเจ้าพระยาริเวอร์ สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ่อพระเจ้าเอกทัศ) พงศาวดารไทยเริ่มเรียกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว

บางเจ้าพระยานั้นหมายถึงเจ้าพระยาอะไร คนไหนก็ไม่มีใครรู้ ที่จริงก่อนสมัยพระเจ้าบรมโกศ เราไม่มีบรรดาศักดิ์เจ้าพระยา มีแต่ออกขุน ออกหลวง ออกพระ และออกญา คำว่าบางเจ้าพระยาจึงแปลกดี เวลานี้เริ่มมีการพูดถึงการขุดแม่น้ำเจ้าพระยา 2 เป็นฟลัดเวย์เพิ่มอีกสายเอาไว้ระบายน้ำในหน้าน้ำท่วม น่าจะเรียกแม่น้ำออกญาจะได้คู่กัน เพราะเจ้าพระยา 2 ฟังเหมือนสถานอาบอบนวดแถวถนนศรีอยุธยา!

แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านชัยนาท สิงห์บุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรีลงมาจนถึงบางกอก แล้วหักข้อศอกโค้งข้างศิริราชไปออกข้างวัดอรุณฯ สมัยพระไชยราชาธิราช กษัตริย์อยุธยาโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดตัดตรงจากโค้งแม่น้ำข้างศิริราชไปเชื่อมโค้งข้างวัดอรุณฯ จะได้ย่นเวลานั่งเรืออ้อมไปค่อนวัน ทั้งลำน้ำที่ตรงยังเป็นฟลัดเวย์ระบายน้ำที่ท่วมลงทะเลได้เร็วกว่าแม่น้ำที่คดเคี้ยว ต่อมาคลองลัดนี้กว้างจนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแม่น้ำที่เลี้ยวข้างศิริราชแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย แม่น้ำที่เลี้ยวออกข้างวัดอรุณฯ ก็แคบลงกลายเป็นคลองบางกอกใหญ่ คงเพราะกว้างใหญ่และมีคนใหญ่คนโตอยู่กันมากกว่า

เรื่องนี้เล่าหลายหนแล้ว แต่อยากเล่าบ่อย ๆ เพราะชื่นใจที่ผู้อ่านอีเมล์มาบอกว่าชอบอ่านให้ลูกฟัง ถ้าให้ดีช่วยสรุปให้ลูกฟังด้วยนะครับว่า 1.ผู้นำสมัยก่อนท่านมีวิสัยทัศน์คิดการณ์ไกลว่าควรป้องกันและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างไร การขุดคลองลัดสายใหญ่ยาวร่วม 3 กิโลเมตรเมื่อ 500 ปีมาแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย บางกอกเองก็อยู่ไกลอยุธยา ท่านยังเอาใจใส่มาดูแลจัดการให้ 2.อะไรที่เคยสำคัญ วันหนึ่งย่อมตกอับได้แม้แต่แม่น้ำที่อาจตื้นเขินและแคบลงจนกลายเป็นคลอง อะไรที่ไม่สำคัญ นานวันก็ผงาดขึ้นมาได้เช่นคลองลัดที่กลายเป็นแม่น้ำ นับประสาอะไรกับคน!

สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ รัชกาลที่ 16 (เป็นตาของสมเด็จพระนเรศวร) ให้ยกเมืองบางกอกฝั่งตะวันตกขึ้นเป็นเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรและถือว่าเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญสำหรับตรวจคนเข้าเมือง เก็บภาษีเรือสินค้า และป้องกันภัยจากทางน้ำที่จะเข้าไปสู่กรุงศรีอยุธยาซึ่งไกลขึ้นไปทางเหนือราว 70 กิโลเมตร ส่วนฝั่งตะวันออก (กรุงเทพฯ) ยังคงเรียกว่าบางกอก


ธนบุรีแปลว่าเมืองแห่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย “ธนะ” เป็นคำเดียวกับธนที่รวมกับคำว่าอาคารเป็นธนาคาร รวมกับคำว่าอารักษ์เป็นธนารักษ์ รวมกับอธิปไตยเป็นธนาธิปไตยแปลว่านับถือเงินและความร่ำรวย นึกว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง ธนะแปลว่าทรัพย์สินก็ได้

ธนบุรีหลังสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกลายเป็นเมืองสำคัญเพราะเป็นศูนย์กลางการค้าสำหรับเรือแพที่เข้าไปไม่ถึงอยุธยา ขณะเดียวกันธนบุรีก็มีเรือกสวนไร่นาและผลไม้พันธุ์ดีเป็นอันมาก เช่น ลิ้นจี่ มังคุด ละมุด ส้ม ทุเรียน ชมพู่ หมาก แม้แต่ลำไยก็ดกดื่น คนรุ่นนี้คงนึกไม่ออกว่าธนบุรีเป็นแดนลิ้นจี่และมังคุดพันธุ์ดีไปได้อย่างไร นอกจากนี้ปูปลา กุ้ง หอยจากแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน และแม้แต่จากแม่น้ำป่าสักซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปก็มีผู้นำมาขายที่นี่ ธนบุรีจึงมั่งคั่งสมชื่อ

ความที่ธนบุรีต้องรับเรือราชทูตบ้าง เรือสินค้าต่างประเทศบ้าง เจ้าเมืองธนบุรีจึงมักเป็นชาวต่างชาติ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็เป็นชาวเติร์ก และฝรั่งเศสยังสร้างป้อมไว้ 2 ป้อมอยู่ทางฝั่งกรุงเทพฯ แถวโรงเรียนราชินีป้อมหนึ่ง หัวมุมคลองบางกอกใหญ่ฝั่งธนบุรีอีกป้อมหนึ่ง มีปืนใหญ่และกองทหาร ระหว่างป้อมกับป้อมมีโซ่ขึงไว้ใต้แม่น้ำ ถ้าข้าศึกบุกเข้ามาก็ชักโซ่ขึ้นขึงให้ตึงขวางเรือไว้

สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ รัชกาลที่ 32 ปลายอยุธยาเต็มทีเพราะอีกไม่กี่ปีต่อมา พม่าก็ยกทัพมาตีอยุธยาแตก คนที่จะมีชื่อต่อไปในประวัติศาสตร์ไทยมาเกิดอย่างน้อยก็ 4 คนที่ควรรู้จัก คนแรกชื่อพ่อสิน ลูกชาวจีน นายอากรเก็บภาษีส่งหลวง แม่เป็นไทย คนที่สองอายุน้อยกว่าราว 2 ปีชื่อพ่อทองด้วง ลูกขุนนางเชื้อสายไทยมอญ แม่น่าจะมีเชื้อสายจีน คนที่สามอายุน้อยลงมาอีกราว 2 ปี ชื่อพ่อบุนนาค ลูกขุนนางชั้นเจ้าพระยาระดับนายกฯ ฝ่ายทหาร เชื้อสายแขกเปอร์เซีย แม่เป็นไทย คนที่สี่ชื่อพ่อบุญมา น้องพ่อทองด้วง อายุน้อยกว่าเพื่อน

สามคนแรกคือพ่อสิน พ่อทองด้วง พ่อบุนนาคเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็ก เรียกว่าทีมลูกจีน ลูกไทย ลูกแขก เวลาบวชเณรบวชพระก็บวชไล่เลี่ยกันแต่คนละวัด คราวหนึ่งพระสิน พระทองด้วงออกบิณฑบาต ซินแสจีนเห็นเข้าก็ชอบใจทายว่าทั้งคู่จะได้เป็นฮ่องเต้


เรื่องหมอดูนี้ทางไทยมีเรื่องเล่ามาก รัชกาลที่ 3 ครั้งยังเด็ก ญาติที่เป็นมุสลิมเคยจับพระหัตถ์ทำนายว่าต่อไปจะได้เป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ 4 ครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จออกผนวช สมภารวัดตะเคียนเคยถวายพยากรณ์ว่าต่อไปจะได้ราชสมบัติ พอครองราชย์จริงก็ทรงบูรณะวัดตะเคียนพระราชทานชื่อว่าวัดมหาพฤฒาราม สมัยอยุธยาสมภารวัดพระยาแมนก็เคยพยากรณ์ว่าต่อไปเจ้ากรมคชบาลคือพระเพทราชาจะได้ครองเมืองซึ่งก็เป็นจริง

ประเภทไม่เป็นโหร แต่ทายยุทายแหย่ก็มี อย่างที่อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าเคยขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ที่พิษณุโลกเพราะสงสัยว่าไฉนจึงต่อสู้กับผู้อาวุโสได้ไม่เพลี่ยงพล้ำ พอได้ดูตัวก็มอบของขวัญให้แล้วทายว่ารูปก็งาม ฝีมือก็ดี จงรักษาตัวไว้เถิดต่อไปเห็นทีจะได้เป็นกษัตริย์

เวลานี้นักการเมืองจึงชอบดูหมอว่าเมื่อไรจะได้เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อใดจะได้กลับมามีอำนาจ ไม่ว่าหมอพระหรือโหรอาชีพ ไม่ว่าหมอตาดีหรือตาบอดและไม่ว่าซินแสจีน สวามีแขก จนถึงหมดดูพม่าอย่างอีที. เป็นอันยอดนิยมทั้งนั้น จนบัดนี้เห็นจะมีนายกฯ รอคิวตามบัญชีโหรอยู่ราว 20 คน และตั้งรัฐบาลมีรัฐมนตรีครบทุกกระทรวงราว 10 คณะ!


พ่อสินนั้นต่อมาเจ้าพระยาจักรี สมุหนายกได้ขอตัวไปเลี้ยง มีผู้อ่านอีเมล์มาถามว่าแสดงว่าพ่อทองด้วงซึ่งต่อไปได้เป็นเจ้าพระยาจักรีอายุมากกว่าพ่อสินใช่ไหมจึงขอพ่อสินไปเลี้ยง ขอเรียนว่าพ่อทองด้วงอายุน้อยกว่าพ่อสิน 2 ปี และยศถาบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาจักรีมีเป็นสิบคน ใครเป็นสมุหนายกคุมฝ่ายพลเรือน (เทียบได้กับนายกรัฐมนตรี) ได้เป็นเจ้าพระยาจักรีทั้งนั้น เวลาเรียกจึงมักต่อท้ายด้วยชื่อเดิมหรือที่อยู่จะได้รู้ว่าคนไหน เจ้าพระยาจักรีที่ขอพ่อสินไปเลี้ยงเป็นคนละคนกับพ่อทองด้วงครับ

เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 มีการพบพงศาวดารฉบับใหม่ แต่ผมเห็นว่ายังไม่น่าเชื่อถือนัก ระบุว่าพ่อสินเป็นพ่อค้าชาวจีนจากอยุธยาขึ้นไปค้าขายที่เมืองตากจนร่ำรวย ทางการจึงตั้งเป็นพระยาตาก ฟังดูพิลึกอยู่แต่ก็ขอยกมาเล่าให้รู้ไว้

เมื่อเข้าวัยหนุ่ม พ่อสินและพ่อทองด้วงได้เข้าทำราชการเป็นหลวงยกกระบัตร ซึ่งสมัยก่อนมีอยู่ทุกเมือง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วยเจ้าเมืองด้านกฎหมายคล้าย ๆ อัยการจังหวัดทุกวันนี้ ยกกระบัตรเป็นตำแหน่งพลเรือนนักปกครองไม่ใช่นักรบ ส่วนพ่อบุนนาคอาศัยว่าเป็นลูกนายกรัฐมนตรีฝ่ายทหาร (สมุหพระกลาโหม) และแม่เป็นชาววังจึงเข้าทำงานในวังเป็นมหาดเล็ก

พ่อสินออกไปเป็นยกกระบัตรเมืองตากซึ่งเวลานั้นถือว่าไกลและกันดารมาก ส่วนพ่อทองด้วงไปเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี ใกล้อยุธยาหน่อย พ่อสินไปอยู่ตากไม่นานเจ้าเมืองตากตาย ทางอยุธยาขี้เกียจส่งคนไปแทนจึงยกหลวงยกกระบัตร (สิน) เป็นพระยาตากคนใหม่ ชาวเมืองเรียกว่าพระยาตากสิน ฝ่ายหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) นั้น พระยาราชบุรีเจ้าเมืองไม่ได้ตาย จึงเป็นยกกระบัตรไปอย่างนั้นจนสิ้นสมัยอยุธยา

เหตุการณ์นี้ล้ำเข้ามาถึงสมัยพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอยุธยา การที่พ่อสินได้เป็นเจ้าเมืองตากนั้นเป็นฐานอย่างดีในการจะทำงานสำคัญของชาติ เพราะเจ้าเมืองต้องเป็นทุกอย่างไม่ว่าฝ่ายบุ๋นหรือฝ่ายบู๊ ถึงตอนนั้นจะยังไม่เป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอก็เถอะ ข้าศึกยกผ่านมาก็ต้องออกไปสะกัด ข้าศึกมาเมียงมองอยู่ตามชายแดนก็ต้องไปสืบข่าว โจรผู้ร้ายชุกชุมก็ต้องปราบ ราษฎรลำบากเพราะข้าวยากหมากแพงฝนฟ้าไม่ตกก็ต้องช่วยเหลือ

น้ำท่วมยังต้องไปช่วยเลย ใครจะพังพนังกั้นน้ำ รื้อกระสอบทรายก็ต้องไปห้ามปราม ยกมือไหว้บ้างขอร้องบ้าง



เมืองตากเป็นเมืองโบราณสมัยสุโขทัย ศิลาจารึกหลักที่ 1 ระบุว่าสมัยหนึ่งพ่อขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดยกทัพมาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ให้ลูกชายอายุ 19 ปีไปตั้งรับและต่อสู้จนได้ชัยชนะจึงให้ชื่อว่า “รามคำแหง” เมืองตากอยู่ติดกับชายแดนพม่าซึ่งฮึ่ม ๆ กับอยุธยามานานแล้ว ขณะนั้นเป็นสมัยราชวงศ์อลองพญา หนทางที่พม่ายกทัพทางบกมาตีอยุธยานั้น มี 3 ช่องทางคือด่านแม่ละเมาอยู่ที่ตากนี่เอง ด่านเจดีย์สามองค์อยู่เมืองกาญจน์ และด่านสิงขรอยู่แถวประจวบฯ หากพม่าหักด่านเข้ามาทางแม่ละเมาได้ จะเข้าตีสุโขทัย (ตอนนั้นแทบไม่มีความสำคัญ) พิษณุโลก (สำคัญที่สุดรองจากอยุธยา) และขึ้นเหนือไปตีเชียงใหม่ได้โดยง่าย

ต่อมาเจ้าเมืองกำแพงเพชร (สมัยสุโขทัยเรียกว่านครชุม มีความสำคัญและเก่าแก่กว่าตาก) ตายลง ทางอยุธยาอาจประหยัดงบประมาณค่าขนย้ายและติดสงครามที่พม่ายกมาล้อมกรุงจึงไม่ตั้งใครขึ้นไปปกครอง แต่ให้ย้ายพระยาตากสินจากเมืองตากใกล้ ๆ กันลงไปเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ทีนี้จะเป็นพระยาตากไม่ได้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นพระยาวชิรปราการ คำว่าปราการแปลว่ากำแพง วชิระแปลว่าเพชร แต่ยังไม่ทันจะไปรับตำแหน่งใหม่ก็ทราบข่าวพม่าล้อมกรุง พระยาตากสินจึงสำแดงวีรกรรมตามที่ชะตาจะได้เป็นผู้กู้ชาตินำทหารจากเมืองตากรุดลงมาช่วยอยุธยารับมือพม่าเรียกว่าห่วงบ้านเมืองมากกว่าตำแหน่ง

นี่ถ้าพระยาตากเข้ารับตำแหน่งแล้ว เราจะไม่รู้จักพระเจ้าตากสิน แต่จะรู้จักพระเจ้าวชิรปราการสินแทน

พระเอกขี่ม้าเข้ากรุงแล้วครับ ถ้าเป็นหนังไทยสมัยก่อนคนดูต้องตบมือและผิวปากกันลั่นโรง แต่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าพระองค์นี้ขณะนั้นท่านไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายจะได้เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย จะเป็นแม่ทัพหรือเชลย จะอยู่หรือตาย เพราะกลายเป็นว่าท่านไม่ได้สู้กับพม่าข้าศึกที่มาล้อมกรุงเท่านั้น แต่สู้กับรัฐบาลที่อ่อนแอโลเลเหลาะแหละ ครม.ที่แตกความสามัคคีเพราะเล่นการเมืองกันเองในยามวิกฤติ ซ้ำร้ายแม่ทัพยังขาดภาวะผู้นำอีกด้วย.

วิษณุ เครืองาม
wis.K@hotmail.com
@เดลินิวส์

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บัญญัติแห่งการบิน (ให้เป็นสุข)

โดย : สกอร์เปี้ยน ฟิช
@กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี เป็นเดือนที่เราต่างวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและพักผ่อนหลังจากทำงานหนักมาทั้งปี

คนในซีกโลกตะวันตกก็จะกลับไปฉลองคริสต์มาสกับครอบครัวและฉลองยาวไปจนถึงปีใหม่ ทำให้การเดินทางในเดือนนี้ไม่ว่าด้วยรถ เรือหรือเครื่องบินจะแน่นเอี้ยด การจองตั๋วโดยสารก็ต้องทำก่อนล่วงหน้านานหลายเดือน ไม่อย่างนั้นอาจพลาดไม่สามารถเดินทางตามที่ต้องการได้



เมื่อคนจำนวนมากต้องเดินทางด้วยกัน กิจกรรมพื้นๆ ของคนหนึ่งอาจไปทำให้อีกคนหนึ่งไม่พอใจได้ และยิ่งต้องเดินทางไปด้วยกันในระยะเวลาหนึ่งแล้วด้วยก็อาจทำให้การเดินทางกร่อยตั้งแต่เริ่มต้นได้


เมื่อเร็วๆ นี้ คู่มือนักเดินทางชื่อดัง โลนลี่ แพลเน็ต ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้อ่านกว่า 5,800 คนทางออนไลน์ โดยถามว่าในการเดินทางทางเครื่องบิน อะไรทำที่ควรทำหรือไม่ควรทำ ความคิดเห็นทั้งหมดถูกรวบรวมและเป็นที่มาของ “บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของผู้โดยสารเครื่องบิน”


บัญญัติข้อที่ 1 : สิทธิในการถอดรองเท้า ผู้โดยสารทุกคนมีสิทธิถอดรองเท้าที่ที่นั่งหรือจะเดินไปมาโดยไม่ถูกมองว่าไม่สุภาพ แต่รองเท้าหรือเท้าต้องไม่ส่งกลิ่นเหม็น ถ้าจะเดินเท้าเปล่าไปห้องน้ำก็เป็นสิทธิเพราะถ้าไปเหยียบอะไรเข้าก็ช่วยไม่ได้


บัญญัติข้อที่ 2 : ผู้โดยสารไม่ควรโดนโจมตีด้วยกลิ่นใดๆ ไม่ว่าหอมหรือเหม็น กลิ่นน้ำหอมของคนหนึ่งอาจเป็นกลิ่นเหม็นของอีกคนหนึ่งได้ ส่วนกลิ่นเหม็นก็ไม่เป็นที่ปรารถนาของทุกคนอยู่แล้ว


บัญญัติข้อที่ 3 : สิทธิใช้ไฟอ่านหนังสือได้ถึงแม้ไฟในห้องโดยสารจะปิด โดยที่คนที่นั่งข้างก็ควรทำท่ารำคาญ แต่ถ้าใครจะเปิดที่กั้นแสงที่หน้าต่างในระหว่างเวลาดังกล่าวก็ควรค่อยๆ เปิดเพื่อไม่แสงจ้าเข้าตาคนอื่น


บัญญัติข้อที่ 4 : สิทธิในการเอนพนักที่นั่ง ถ้าการเอนนั้นทำโดยรอบคอบด้วยการหันไปและส่งสัญญาณว่าจะเอนพนัก (เรื่องนี้ผู้ตอบคำถามถกเถียงกันมากเพราะหลายคนเห็นว่า เป็นสิทธิที่จะเอนพนักในขณะที่อีกหลายคนก็ว่า การเอนโดยไม่บอกกล่าวอาจจะทำให้เครื่องดื่มหรือโน้ตบุ๊คตกได้ สุดท้ายคนหนึ่งสรุปว่า จริงอยู่เป็นสิทธิ แต่ก็ถือเป็นมารยาทที่ดีที่จะหันมาบอกสักหน่อย)


บัญญัติข้อที่ 5 : สิทธิที่จะอยู่ในความสงบขณะเดินทาง ผู้โดยสารบนเครื่องที่เพิ่งเจอกันไม่กี่นาทีมีสิทธิที่จะไม่ต้องมารับฟังเพื่อนร่วมเดินทางเล่าเรื่องครอบครัว ปัญหาหมาแมวหรือความรักคุดของคุณ และพวกเขาก็มีสิทธิที่จะไม่ตอบคำถามส่วนตั๊วส่วนตัวอีกด้วยถ้าไม่ต้องการ


บัญญัติข้อที่ 6 : สิทธิที่จะใช้ที่พักแขนร่วมกัน ในทุกกรณี ผู้โดยสารต้องแชร์กัน คนใดคนหนึ่งไม่มีสิทธิครอบครองคนเดียว แต่ผู้โดยสารที่นั่งกลางก็ได้อภิสิทธิ์สามารถใช้ที่พักแขนได้ทั้ง 2 ข้าง


บัญญัติข้อที่ 7 : เพื่อนร่วมแถวที่นั่งควรรักษาความสะอาดพื้นที่โดยไม่ทิ้งขยะหรือทิชชูบนพื้นหรือแม้แต่ในช่องเก็บของด้านหน้าเพราะจะทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดูหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ หมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วก็ไม่ควรนำมาแปะไว้ตามพื้นหรือใต้เก้าอี้


บัญญัติข้อที่ 8 : สิทธิของคนที่นั่งด้านในที่จะลุกออกไปเข้าห้องน้ำได้อย่างสะดวก เพราะการกลั้นปัสสาวะหรืออย่างอื่นมีผลร้ายต่อสุขภาพ เพื่อนผู้โดยสารที่นั่งด้านนอกควรลุกให้เขาเข้าออกโดยสะดวกโดยไม่ทำท่ารำคาญหรือแกล้งหลับ และคนที่ใช้ห้องน้ำควรอยู่ในห้องน้ำในเวลาที่เหมาะสมโดยคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่าอาจมีคนอื่นรอใช้ห้องน้ำอยู่ด้านนอกอย่างกระวนกระวาย


บัญญัติข้อที่ 9 : ขณะเดินทาง ความปลอดภัยต้องมาก่อน ฉะนั้นต้องปฏิบัติตามระเบียบคือปิดสัญญาณการสื่อสารทุกชนิดในขณะเครื่องขึ้นและลงและขณะเดินทาง การสั่งงานครั้งสุดท้าย เช่น ให้สามีไปรับชุดที่ซักแห้งไว้ การอัพเดทเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงว่า การใช้เครื่องมือสื่อสารไม่มีอันตราย แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป ดังนั้นควรปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด


บัญญัติข้อที่ 10 : เมื่อเครื่องลง แต่ยังไม่อนุญาตให้ออกจากเครื่องบิน ผู้โดยสารควรนั่งอยู่กับที่ ไม่ควรลุกขึ้นและกระวีกระวาดเอื้อมหยิบของจากเคบิน (cabin) เพราะจะเป็นการเสียเวลาเปล่า


บัญญัติข้อที่ 11 : สิทธิในการไม่ถูกทำร้ายจากเด็กจอมป่วนที่นั่งด้านหลังด้วยการเตะที่นั่ง ดึงผมหรือตีศีรษะด้วยวัตถุใดๆ ก็ตาม แต่ยกเว้นให้เด็กทารกที่ส่งเสียงงอแง (แต่คนหนึ่งท่าทางรำคาญเด็กมากเสนอให้มีไฟลต์ที่ปลอดเด็ก)


บัญญัติข้อที่ 12 : สิทธิที่ผู้โดยสารทุกคน (ยกเว้นผู้เยาว์และผู้ที่เมาอยู่แล้ว) จะสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามที่ตนต้องการ ถึงแม้การดื่มมากไปจะไม่เป็นการดีทั้งต่อตนเองและผู้โดยสารคนอื่น


บัญญัติข้อที่ 13 : สิทธิในการอ่านหนังสือ นิตยสารหรือดูหนังโดยไม่ถูกแอบอ่านจากผู้โดยสารด้านข้างหรือด้านหลัง แต่ถ้าเจ้าตัวไม่รู้ตัวก็ไม่เป็นไร


................
ที่มา ยูเอสเอ ทูเดย์ วอชิงตันโพสต์ โลนลี่ แพลเน็ต