หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551

The Three Queens Meet in New York

สามควีนเจอกัน
โดย มติชน วัน อังคาร ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 09:51 น.

นิวยอร์ก - เรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเรือที่ชาวโลกรู้จักกันดีมากที่สุด ซึ่งประกอบด้วยเรือควีน แมรี ที่ 2, เรือควีน อลิซาเบธ ที่ 2 และเรือควีน วิกตอเรีย ได้เดินทางออกจากท่าเรือในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งสุดท้ายที่เรือสำราญ 3 ลำดังกล่าวมาชุมนุมกันพร้อมหน้าพร้อมตา 

ทั้งนี้ เรือควีน วิกตอเรีย เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง ส่วนเรือควีน อลิซาเบธที่ 2 กำลังจะถูกปลดประจำการในเดือนพฤศจิกายนนี้ และกำลังจะถูกนำไปใช้เป็นโรงแรมลอยน้ำในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยช่วงที่เรือทั้ง 3 ลำ แล่นผ่านรูปปั้นเทพีเสรีภาพในนิวยอร์กเมื่อค่ำวันที่ 13 มกราคม มีการจุดดอกไหม้ไฟเหนือเรือสำราญทั้ง 3 ลำที่แล่นผ่านพร้อมๆ กันด้วย (เอเอฟพี)



13 มกราคม 2551



Clip From Youtube

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2551

คำถาม - คำตอบ เกี่ยวกับเอกสารการเดินทาง

การตรวจลงตรา (Visa)
ถาม : visa คืออะไรครับ คนไทยต้องใช้หรือไม่ครับ
ตอบ : เวลาที่จะเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือ (1) หนังสือเดินทาง (2) visa เข้าประเทศนั้นในหนังสือ เดินทาง (3) ตั๋วเครื่องบิน (4) เงินสำหรับใช้จ่าย เป็นเงินสกุลท้องถิ่นหรือเงินสกุลหลักที่ประเทศนั้นๆ ยอมรับค่ะ

สรุปอย่างง่ายๆ visa คือการขออนุญาตเข้าประเทศอื่นค่ะ คนไทย ต้องมี visa ก่อนที่จะเดินทางไปประเทศต่างๆ ค่ะ

ถาม : ทราบมาว่ามีบางประเทศที่คนไทยไม่ต้องขอ visa ก่อนเข้าประเทศของเขา ใช่ไหมครับ
ตอบ : ถูกต้องค่ะ มีหลายประเทศที่รัฐบาลเราไปทำความตกลงเอาไว้เพื่อให้เดิน ทางไปมากันได้สะดวก และมีอีกหลายประเทศที่เขาอำนวย ความสะดวกให้คนไทยเป็นพิเศษ ปัจจุบัน (เมษายน 2551) มีอยู่ 19 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยสามารถเดินทางเข้าไป ท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องใช้ visa ได้แก่
1. อาร์เจนตินา (อยู่ได้ 90 วัน)
2. บาห์เรน (อยู่ได้ 14 วัน)
3. บราซิล (90 วัน)
4. บรูไน (14 วัน)
5. ชิลี (90 วัน)
6. ฮ่องกง (30 วัน)
7. อินโดนีเซีย (30 วัน)
8. เกาหลีใต้ (90 วัน)
9. ลาว (30 วัน)
10. มาเก๊า (30 วัน)
11. มองโกเลีย (30 วัน)
12. มาเลเซีย (30 วัน)
13. มัลดีฟส์ (30 วัน)
14. เปรู (90 วัน)
15. ฟิลิปปินส์ (21 วัน)
16. รัสเซีย (30 วัน)
17. สิงคโปร์ (30 วัน)
18. แอฟริกาใต้ (30 วัน)
19. เวียดนาม (30 วัน)

สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ ปัจจุบัน รัฐบาลไทยก็มีความตกลงกับ 42 ประเทศ ให้สามารถเดินทางไปราชการได้โดยไม่ต้องใช้ visa ราย ชื่อประเทศดูได้ใน www.consular.go.th ในหน้าของกองตรวจลงตราฯ ค่ะ

ถาม : ตรวจดูรายชื่อประเทศแล้ว การไปหลายๆ ประเทศยังต้องขอ visa ก่อน เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญีปุ่น อังกฤษ จะต้องทำอย่างไรเพื่อจะได้ visa ครับ
ตอบ : ที่ที่เราจะไปขอ visa ก็คือสถานทูตของประเทศที่เราจะไป เช่น จะไปสหรัฐฯ ก็ต้องขอ visa ที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ หรือสถานกงสุลสหรัฐที่เชียงใหม่ เป็นต้น ต้อง ใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง ก็ต้องสอบถามกับสถานทูตของประเทศนั้นๆ ค่ะ

ถาม : ไปเที่ยวอย่างเดียวกับไปทำอย่างอื่น visa แตก ต่างกันไหมครับ
ตอบ : วัตถุ ประสงค์ของการเดินทางก็เป็นปัจจัยสำคัญค่ะ เช่น การไปเที่ยวกับการไปเรียน ก็ต้องใช้ visa คนละประเภท และเอกสารหลักฐานในการขอก็ไม่เหมือนกัน ค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน และระยะเวลา ที่จะได้รับอนุญาตให้อยู่ใน ประเทศของเขาก็แตกต่างกันด้วยค่ะ ต้องขอให้จำไว้เสมอนะคะว่า การไปอยู่ในประเทศอื่นนั้น หากไม่ได้พำนักอยู่โดยมีวัตถุประสงค์ แบบเดียวกับที่ตอนที่ขอ visa ไว้ เป็นการผิดกฎหมายนะคะ เช่น ขอ visa ไปเที่ยว แต่จริงๆ ไปทำงาน

ถาม : ผมเป็นนักธุรกิจ ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยมาก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านและจีน มีคำแนะนำไหมครับ
ตอบ : ไทยเป็นสมาชิกของ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ซึ่งในกรอบความร่วมมือนี้ ก็มีการทำความตกลงให้นักธุรกิจเดินทางไปมาภาย ใน APEC ได้ โดยสะดวกค่ะ นักธุรกิจไทยสามารถยื่นคำร้องขอ มี ABTC (APEC Business Travel Card) ซึ่งจะอำนวยความ สะดวกในการเดินทางไปประกอบ ธุรกิจในอีก 17 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม โดยไม่ต้องไปขอ visa กับสถานทูตแต่ละประเทศ
เลยค่ะ

นักธุรกิจที่สนใจสามารถยื่นคำร้องและสอบ ถามรายละเอียดได้จากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ได้ที่หมายเลข 0-2225-5474 หรือ 0-2622-1111 ต่อ 649 ค่ะ

ถาม : เพื่อนผมบอกว่า ถ้าไปยุโรป ขอ visa ครั้งเดียว เข้าได้หลายประเทศ
ตอบ : ประเทศ ในยุโรป จำนวน 24 ประเทศ มีการทำความตกลงกันโดยการออก visa พิเศษ ที่มีชื่อว่า “Schengen Visa” เพื่อ อำนวยความสะดวกให้คนประเทศต่างๆ ค่ะ คนไทยก็มีสิทธิ ขอ visa นี้ค่ะ ผู้ที่มี Schengen Visa สามารถเดินทางเข้าประเทศเหล่านี้โดยไม่ต้องขอ visa กับทุกประเทศอีก : ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ อิตาลี กรีซ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน เช็ค เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย ฮังการี มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวาเกีย

คุณจะสามารถพำนักอยู่ได้รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 90 วัน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ขอทราบรายละเอียดและยื่นคำ ร้องขอ Schengen Visa ได้ที่สถานทูตประเทศดังกล่าวค่ะ ทั้งนี้ การยื่นขอ Schengen Visa จะต้องเป็นการขอที่สถานทูต ของประเทศที่คุณจะไปพำนักอยู่นานที่สุด แต่หากไม่สามารถ ระบุได้ชัดเจน ก็ต้องไปขอที่สถานทูตของประเทศแรกที่จะเดินทางเข้าค่ะ

ถาม : ผมถือหนังสือเดินทางราชการ กำลังจะไปประชุมที่กรุงเวียนนา โดยจะไปเปลี่ยนเครื่อง ที่สนามบินกรุงเอเธนส์ ทราบมาว่าถ้าเดินทางผ่านกรีซเพื่อเปลี่ยนเครื่องอย่างเดียว ไม่ต้องขอ visa และไทยก็มีความตกลงกับออสเตรียในการยกเว้นการตรวจลงตรา หนังสือเดินทางทูตและ ราชการ ดังนั้น การเดินทางของผมครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องขอ visa เลยใช่ไหมครับ?
ตอบ : กรณีนี้ ต้องขอ Schengen Visa ก่อนค่ะ แม้ว่าคุณถือหนังสือเดินทางราชการก็ตาม ทางการกรีซแจ้ง ว่า ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยทุกประเภท หากเดินทางผ่านกรีซไปประเทศ Schengen อื่น โดยกรีซเป็นประเทศแรกของ Schengen ที่เดินทางเข้า บุคคลผู้นั้นจะต้องขอ Schengen Visa ก่อนการเดินทาง ไม่ว่าประเทศ Schengen ที่เดินทางเข้าต่อจากนั้น จะมีความตกลง ในการยกเว้นการตรวจลงตรากับไทยหรือไม่ก็ ตามค่ะ ในขณะ เดียวกัน หากเป็นการเดินทางผ่านกรีซเพื่อขึ้นเครื่องบินต่อไปประเทศอื่นที่ไม่ใช่ Schengen โดยไม่ออกไปนอกท่าอากาศยานกรุง เอเธนส์ ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยทุกประเภทไม่จำ เป็นต้องขอ visa เข้า กรีซก่อนการเดินทางค่ะ

ประเทศ Schengen มี 24 ประเทศ : ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ อิตาลี กรีซ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน เช็ค เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย ฮังการี มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวาเกีย
Ø ประเทศ Schengen ที่มีความตกลง ยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง ทูตและราชการกับไทย 10 ประเทศ : ออสเตรีย เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เช็ค ฮังการี โปแลนด์ และสโลวาเกีย

Ø ประเทศ Schengen ที่ประกาศยกเว้น การตรวจลงตราหนังสือ เดินทางทูต และราชการให้ไทยฝ่ายเดียว 4 ประเทศ : เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน

Ø ประเทศ Schengen ที่ผู้ถือหนังสือทูตและราชการของไทยต้องขอรับการ ตรวจ ลงตรา 10 ประเทศ : ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ กรีซ โปรตุเกส สเปน เอสโตเนีย ลัต เวีย ลิธัวเนีย มอลตา และสโลวีเนีย

ถาม : กองตรวจลงตราฯ ที่กรมการกงสุล มีหน้าที่อะไรเกี่ยวกับ visa ครับ
ตอบ : หน้าที่หลักของกองตรวจลงตราฯ คือการดูแลการออก visa ของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของไทยในต่างประเทศสำหรับ คนต่างชาติที่จะเดินทางเข้าเมืองไทยค่ะ

นอกจากนี้ กองตรวจลงตราฯ ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้คนต่างชาติที่เป็นนักการทูต หรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศที่ พำนักอยู่ในเมืองไทย เดินทางกลับเข้าเมืองไทยได้อีก (Re-entry)

หากคนต่างชาติทั่วไปที่อยู่ในเมืองไทย ต้องการติดต่อเรื่อง visa ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเปลี่ยนประเภท visa หรือการขอขยายเวลา การพำนักในเมืองไทย ต้องติดต่อที่สำนักงาน ต.ม. ค่ะ โทรศัพท์ ไปสอบถามก่อนได้ค่ะที่หมายเลข 0-2287-3101 ถึง 10

อนึ่ง กองตรวจลงตราฯ ก็สามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการขอ visa ไปต่างประเทศของคนไทย ได้ค่ะ แต่ข้อมูลในรายละเอียดจะต้องไปสอบถามจากสถานทูตของประเทศนั้นๆ ในเมืองไทย เพราะเป็นอำนาจของแต่ละประเทศ ในการออก visa ให้คนต่างชาติเข้าประเทศของเขา

ถาม : ถ้าอย่างนั้น คนต่างชาติที่จะเข้ามาในเมืองไทย ก็ต้องขอ visa ก่อนใช่ไหมครับ
ตอบ : ใช่แล้วค่ะ คน ต่างชาติที่จะเข้ามาในเมืองไทยก็ต้องขอ visa ที่ สถานทูตหรือสถานกงสุลของไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ ก่อน แต่ ก็มีหลายประเทศค่ะที่สามารถเข้าเมืองไทยได้โดยไม่ต้องขอ visa หรือขอ visa ที่สนามบินก็ได้ สามารถตรวจสอบรายชื่อประเทศดังกล่าวได้ จาก www.consular.go.th หรือ www.mfa.go.th นะคะ

ถาม : เพื่อนผมเป็นคนนิวซีแลนด์มีธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่นิวซีแลนด์ ชอบเมืองไทยมากเลยเดินทางเข้ามาเที่ยวบ่อย เพราะไม่ต้องใช้ visa ด้วย บางครั้ง ใน 1 ปี เดินทางเข้า-ออกเมืองไทยบ่อยครั้งมากจนนับได้ว่าอยู่ในเมืองไทยมากกว่าอยู่ ในนิวซีแลนด์เสียอีก แต่ตอนนี้ ทราบว่า ต.ม.มี ระเบียบใหม่เกี่ยวกับระยะเวลาที่อนุญาตให้คนต่างชาติพำนักอยู่หากเข้ามาโดย ไม่มี visa ใช่ ไหมครับ?
ตอบ : ถูก ต้องค่ะ เพื่อไม่ให้คนต่างชาติจำนวนหนึ่งอาศัยช่องทางในการได้รับการยกเว้น visa เดินทางเข้าออกหลายครั้งเพื่อลักลอบทำงานในเมือง ไทยอย่างผิดกฎหมาย สำนักงาน ต.ม. จึงออกมาตรการป้องกันไว้ ปัจจุบัน คนต่างชาติ 42 ประเทศ รวมถึงนิวซีแลนด์ สามารถเดินทางเข้าประเทศ ไทยเพื่อการท่องเที่ยวโดยได้ รับการยกเว้น visa (เรียกว่า ผ. 30) ซึ่งเจ้าหน้าที่ ต.ม. จะอนุญาต ให้อยู่ได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน และรวมแล้วต้องไม่เกิน 90 วันภายใน 6 เดือนนับจากวันที่เดินทางเข้าครั้งแรกค่ะ

ในกรณีอย่างเพื่อนของคุณนี้ ถ้าประสงค์จะท่องเที่ยวระยะยาวจริงๆ ขอแนะนำให้ขอ visa นักท่องเที่ยว จากสถานทูตไทยที่กรุงเวลลิงตัน หรือสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่เมืองโอ๊คแลนด์ ก่อนที่จะเดินทางเข้าเมืองไทย เพราะจะได้รับอนุญาตให้อยู่ได้นานกว่าการเข้ามาโดยไม่มี visa ค่ะ

ถาม : อาจารย์ของผมเป็นคนญี่ปุ่น เข้ามาเที่ยวเมืองไทยโดยได้รับการยกเว้น visa ได้รับอนุญาตจาก ต.ม. ให้อยู่ได้ 30 วัน สัปดาห์ หน้าก็จะครบกำหนดแล้ว แต่บังเอิญว่า ท่านประสบอุบัติเหตุเล็กน้อย ต้องพักรักษาตัวอีกระยะหนึ่งก่อนจะเดินทางกลับญี่ปุ่นได้ทำอย่างไรดีครับ
ตอบ : ขอแนะนำให้อาจารย์ของคุณขอใบรับรอง แพทย์ไปแสดงกับสำนักงาน ต.ม. ที่ไหนก็ได้ค่ะ แต่ต้องดำเนินการก่อนที่จะครบ 30 วันนะคะ สำนักงาน ต.ม. จะพิจารณาอนุญาตให้อยู่ต่อได้ ตามความจำเป็นค่ะ

การที่คนต่างชาติอยู่เกินกำหนด โดยที่ไม่ขออนุญาตก่อน เมื่อเดินทางออกจากเมืองไทย จะถูกปรับตามจำนวนวันที่อยู่เกินกำหนดค่ะ (ค่าปรับวันละ 500 บาท หรือรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท)

ถาม : ผมทำธุรกิจส่งออก กำลังขยายกิจการ อยากจะจ้างคนจีนไว้ช่วยทำตลาดจีนควรทำอย่างไรบ้างครับ
ตอบ : ขอแนะนำให้ปรึกษากรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานก่อนค่ะ เพราะมีกฎหมายและระเบียบต่างๆ กำหนดไว้สำหรับการจ้างคนต่างชาติ (www.doe.go.th) สิ่งที่จำเป็นสำหรับนายจ้างก็คือการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (work permit หรือ ต.ท. 2) ให้คนต่างชาติ นั้นๆ ขอแนะนำให้คุณยื่นขอใบอนุญาตทำงานล่วงหน้า (แบบฟอร์ม ต.ท. 3) หากกรมการจัดหางานพิจารณาแล้วเห็นควร อนุมัติ ก็จะออกหนังสือรับรองให้ ซึ่งคุณก็สามารถ

ส่งเอกสารที่ว่านี้และเอกสารประกอบคำร้องต่างๆ ที่คุณสามารถตรวจสอบได้จาก www.mfa.go.th หรือ www.consular.go.th ให้คนต่างชาตินั้นไปยื่นขอ Non-Immigrant visa ที่ สถานทูตหรือสถานกงสุลของไทย ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยค่ะ

ถาม : เพื่อนผมเป็นคนอินเดีย มาเที่ยวเมืองไทยแล้วติดใจครับ อยากจะอยู่ทำงานที่นี่มีคำแนะนำไหมครับ
ตอบ : ถ้าอยากจะทำงานในเมืองไทย ก็ต้องมีนายจ้างก่อนนะคะ หน่วยงานที่อนุญาตให้คน ต่างชาติทำ งานในเมืองไทยได้ก็คือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ส่วน เรื่องการอนุญาตให้พำนัก
อยู่ในเมืองไทยเป็นอำนาจตามกฎหมายของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ในกรณีนี้ หากเพื่อนของคุณมีนายจ้างแล้ว ก็ควรจะกลับไปขอ visa ทำงาน (เรียกชื่อทางการว่าNon-immigrant “B” visa) จาก สถานทูตหรือสถานกงสุลของไทยในอินเดีย โดยมีเอกสารรับรองต่างๆ จากนายจ้างไปแสดง หรือหากให้นายจ้างยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ล่วงหน้า

(แบบฟอร์ม ต.ท. 3) ก็จะยิ่งทำให้ขอ visa ได้ง่ายมากขึ้นค่ะ และเมื่อเข้ามาแล้ว ก็ไปขอรับใบอนุญาตทำงาน จากนั้น ไปยื่นคำร้องขออนุญาตอยู่ต่อกับสำนักงาน ต.ม. ก่อนที่จะครบกำหนด 90 วันค่ะ

ถ้าเพื่อนของคุณอยู่ต่อในเมืองไทยและทำงานโดยไม่มี visa ที่ถูกต้อง และไม่มีใบอนุญาตทำงาน ถือเป็นการผิดกฎหมายนะคะ อาจถูกปรับและเนรเทศกลับประเทศได้

ถาม : ผมมีแฟนเป็นคนฮ่องกง ตอนนี้อยู่ที่ฮ่องกง อยากจะแต่งงานและพาเธอมาอยู่ ด้วยกันที่ เมืองไทย ต้องทำอะไรบ้างครับ
ตอบ : ก่อนอื่น ต้องจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนค่ะ สามารถเลือกจดทะเบียนตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายฮ่องกงก็ได้ หลังจากนั้น ก็นำหลักฐานการจดทะเบียนสมรส
ไปยื่นขอ visa คู่สมรสได้ที่สถานกงสุลใหญ่ ของไทยในฮ่องกง (เรียกว่า Non-immigrant “O”)

เมื่อได้ visa แล้ว ก็สามารถอยู่ในเมืองไทยระยะยาวได้ แต่ต้องอย่าลืมไปขอต่ออายุการพำนัก ในเมืองไทยกับสำนักงาน ต.ม. แห่งไหนก็ได้เป็นประจำนะคะ

เรื่องการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ สามารถขอคำแนะนำจากกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล ได้ด้วยค่ะ

ถาม : ดิฉันแต่งงานกับคนเยอรมนี จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเยอรมนีแล้วตอนนี้เราอยู่ด้วยกันที่แฟรงก์เฟิร์ต ดิฉัน เคยพาเขามาเที่ยวเมืองไทยหลายครั้งแล้ว โดย ไม่ได้ใช้ visa แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน อยาก จะพาเขามาอยู่ระยะยาว ต้องทำอย่างไรบ้างคะ
ตอบ : สามีของคุณสามารถยื่นขอ Non-Immigrant “O” Visa ในฐานะคู่สมรสของคนไทยได้ ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตค่ะ ในการขอ visa นั้น ก็ต้องนำทะเบียนสมรสและหลักฐานไทยของคุณไปแสดงด้วย เมื่อสามีของคุณได้รับ visa แล้ว ก็สามารถเดินทางเข้าเมืองไทย และจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในครั้งแรกไม่เกิน 90 วัน หลัง จากนั้น ก็สามารถขออยู่ต่อที่สำนักงาน ต.ม. แห่งไหนก็ได้ โดยจะได้รับอนุญาตครั้งละไม่เกิน 1 ปีค่ะ

ถาม : ขอความกระจ่างอีกนิดหนึ่งครับ แปลว่า ถ้าคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้วสถานะเปลี่ยนไป เช่น แต่งงานกับคนไทย หรือเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างอื่น ต้องติดต่อเพื่อขออนุญาตกับสำนักงาน ต.ม. ใช่ไหมครับ
ตอบ : ถูก ต้องค่ะ ต.ม. จะพิจารณาตามเอกสารและความจำเป็น ในบางกรณี อาจได้รับคำแนะนำให้กลับไปประเทศของตนเพื่อขอ visa ที่ถูกต้องเข้ามา จะได้ไม่ประสบปัญหาในอนาคตค่ะ

เอกสาร เดินทางคนต่างด้าว (Travel Document for Aliens หรือ TD) และเรื่องอื่นๆ

ถาม : เอกสาร เดินทางคนต่างด้าวคืออะไรครับ ต่างจากหนังสือเดิน ทางอย่างไรครับ

ตอบ : หนังสือเดินทางเป็นเอกสารการเดินทางสำหรับผู้ที่มีสัญชาติไทยค่ะ ส่วนคนต่างด้าว

ที่พำนักอยู่ในเมืองไทย มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ที่ออกให้โดย ต.ม. แต่ไม่สามารถขอหนังสือเดินทาง

จากประเทศที่ตนเคยมีสัญชาติเดิม สามารถขอเอกสารเดินทางคนต่างด้าว (TD)

ซึ่งมีอายุการใช้งาน 1 ปี และสามารถต่ออายุ ได้ที่กองตรวจลงตราฯ เพื่อใช้เดินทาง

ไปต่างประเทศชั่วคราวได้ค่ะ

นอกจากคนต่างด้าวที่มีใบถิ่นที่อยู่แล้ว บุคคล ไร้สัญชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย

และคนต่างด้าวทีได้รับถิ่นที่อยู่ถาวรภายใต้โครงการลงทุนเป็นกรณี พิเศษ 10 ล้านบาท

ก็มีสิทธิยื่นขอ TD ได้เช่นกันค่ะ

เอกสารประกอบต่างๆ ในการขอ TD ปรากฎใน www.consular.go.th หรือ www.mfa.go.th ค่ะ


ถาม : พอได้รับ TD แล้วต้องทำอะไรบ้างครับ

ตอบ : อย่างแรกที่ต้องทำคือไปยื่นคำร้องขอ Re-entry Permit จากสำนักงาน ต.ม. ค่ะ

สำนักงาน ต.ม. จะออก Re-entry Permit ให้โดยมี อายุเท่ากับ TD จากนั้น ก็นำ TD ไปขอ visa

เข้าประเทศที่คุณจะเดินทางไปจากสถานทูต ของประเทศนั้นๆ ค่ะ


ถาม : คุณแม่ของผมเป็นคนต่างด้าว แต่ตอนนี้มีหนังสือเดินทางจีนอยู่ด้วย จะขอ TD ได้ไหมครับ

ตอบ : กรมการกงสุลไม่สามารถออก TD ให้กับบุคคล ที่มีหนังสือเดินทางของประเทศอื่นค่ะ

ในกรณีเช่นนี้ คุณแม่ของคุณสามารถใช้หนังสือเดินทางจีนเดินทางออกจากเมืองไทยได้ค่ะ

แต่ควรปรึกษากับ ต.ม. ก่อนล่วงหน้าให้แน่ใจว่าต้องดำเนินการอะไรหรือไม่ถึงจะสามารถเดินทาง

กลับเข้ามาเมืองไทยได้อย่างไม่มีปัญหา


ถาม : คุณพ่อผมเป็นคนต่างด้าว อยากให้ท่านได้รับสัญชาติไทย จะได้เปลี่ยนจากถือ TD

เป็น หนังสือเดินทางไทย ต้องทำ อย่างไรบ้างครับ

ตอบ : การได้สัญชาติไทยอยู่ในอำนาจการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยค่ะ คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่

ในเมืองไทยและประสงค์จะได้สัญชาติไทย ต้องไปยื่นคำร้องขอที่กองตำรวจสันติบาล

สามารถขอคำแนะนำในเบื้องต้นได้ที่กอง สัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุลค่ะ


ถาม : สามารถ ขอต่ออายุ TD ในต่างประเทศได้ ไหมครับ คุณลุงของผมเป็นคนต่างด้าว

ใช้ TD เดินทางไปเยี่ยมญาติที่เกาหลีใต้ แล้วไปล้มป่วยอยู่ที่นั่น เกรงว่า TD จะหมดอายุ

เสีย ก่อนที่ท่านจะหายป่วยและเดินทางกลับได้

ตอบ : ในหลักการแล้ว สถานทูตสถานกงสุลใหญ่ไม่สามารถต่ออายุ TD ให้ได้ค่ะ หากผู้ที่ถือ TD

ไม่เดินทางกลับประเทศไทยระหว่างที่ TD และ Re-entry Permit ยังมีอายุอยู่

สถานะของคนต่างด้าวที่ได้รับใบถิ่นที่ อยู่ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยนะคะ

หากเป็นกรณีที่สุดวิสัยจริงๆ เช่น เจ็บป่วยในต่างประเทศ ขอให้ติดต่อสถานทูต/สถานกงสุล ใหญ่ของไทยที่อยู่ใกล้ที่สุด พร้อมแสดงหลักฐานประจำตัวต่างๆ รวมถึงใบรับรองแพทย์ค่ะ

และสถานทูต/สถานกงสุลใหญ่จะหารือกับกอง ตรวจลงตราฯ กรมการกงสุล เพื่อช่วยหาทางออกให้ต่อไปค่ะ


ถาม : นอกจากหนังสือเดินทางและ เอกสารเดินทางคนต่างด้าวแล้ว ผมเคยได้ยินว่า

มีเอกสารที่เรียกว่า Emergency Certificate ด้วย คืออะไรครับ

ตอบ : Emergency Certificate หรือ EC คือเอกสารการเดินทางที่กองตรวจลง ตราฯ กรมการกงสุล

ออกให้กับคนต่างชาติในการเดินทางออกจากเมืองไทยแบบฉุกเฉินค่ะ กลุ่มคนต่างชาติที่มีสิทธิ

ขอ EC เป็นคนกลุ่มพิเศษที่ไม่สามารถยื่นขอหนังสือเดินทางของประเทศใดๆ ในเมืองไทยได้

เช่น (1) คนต่างชาติที่ทำหนังสือเดินทางหาย และไม่มีสถานทูตของตนตั้งอยู่ในเมืองไทย

(2) บุตรของคนต่างชาติที่เกิดในเมืองไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย และไม่มีสถานทูต

ของตนตั้งอยู่ใน เมืองไทย (3) เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาสังคม

และสวัสดิการ (4) คนต่างชาติที่ลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ในเมืองไทย

ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ในเอกสาร April 2008

หนังสือเดินทาง

วิวัฒนาการของหนังสือเดินทางไทย
หนังสือเดินทางคือ เอกสารสำคัญประจำตัวที่รัฐบาลประเทศหนึ่งออกให้แก่พลเมืองหรือคนชาติของตน เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางไปต่างประเทศ ในทางปฏิบัติ ประเทศเจ้าของหนังสือเดินทางจะร้องขอให้ประเทศอื่นๆ ให้ความสะดวก ความปลอดภัย หรือให้ความช่วยเหลือ ความคุ้มครองทางกฎหมายขณะที่พลเมืองของตนอยู่ในประเทศนั้นๆ หนังสือเดินทางต้องได้รับการประทับการตรวจลงตราหรือวีซ่าจากหน่วยงานของประเทศที่จะเดินทางไปเยือน เว้นแต่จะมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างประเทศ

ในสมัยโบราณ การเดินทางระหว่างประเทศมีความยากลำบากและต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ระเบียบกฏเกณฑ์การตรวจตราคนเดินทางเข้าออกนอกประเทศยังไม่มีเช่นทุกวันนี้ การเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองยังจำกัดขอบเขตอยู่กับดินแดนที่อยู่ใกล้ชิดกัน บุคคลที่จะเดินทางติดต่อกับต่างประเทศยังอยู่ในขอบเขตจำกัดเฉพาะชนชั้นปกครอง ขุนนาง พ่อค้า และนักสอนศาสนา พลเมืองของประเทศต่างๆ ยังไม่มีการเดินทางไปต่างประเทศมากนัก

การเดินทางของกลุ่มบุคคลดังกล่าวไปต่างรัฐ ส่วนใหญ่จะใช้หนังสือหรือสาส์นของกษัตริย์หรือผู้ปกครองของรัฐตนไปถึงกษัตริย์หรือผู้ปกครองของอีกรัฐหนึ่ง ซึ่งจะระบุถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางของคณะบุคคลของรัฐผู้ส่ง และขอให้รัฐผู้รับให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ต่อคณะผู้เดินทาง ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยมีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงแต่งตั้งคณะราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเป็นต้น

ประวัติการใช้หนังสือเดินทางในสมัยก่อนมีหลักฐานปรากฏในลักษณะต่างๆ อาทิ ในรูปของตราหรือสัญลักษณ์ และต่อมาได้พัฒนามาเป็นเอกสารและเล่มหนังสือตามลำดับ โดยผู้ปกครองออกให้เพื่อคุ้มครองคนในปกครองที่เดินทางไปต่างแดน แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งบังคับใช้ในการเดินทาง เมื่อโลกมีความก้าวหน้าในด้านการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร การท่องเที่ยว และพัฒนาการของเหตุการณ์ความร่วมมือและความขัดแย้งระหว่างประเทศได้มีส่วนทำให้ประเทศต่างๆ สร้างระเบียบกฏเกณฑ์ควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศของพลเมืองและคนต่างชาติเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น หนังสือเดินทางจึงเป็นเอกสารของรัฐและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ และเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้หนังสือเดินทางไทยนั้น รูปแบบและการใช้หนังสือเดินทางของไทยได้เปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการของสังคมไทยและระหว่างประเทศ จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับลักษณะ รูปแบบการออกหนังสือเดินทางสำหรับคนไทย โดยออกเป็นหนังสือราชการที่เขียนด้วยลายมือ ( ภาพประกอบ ) มีการกำหนดตราประทับเป็นรูปแบบที่แน่นอนบนหนังสือเดินทาง ตราประทับที่พบ คือ ตราพระคชสีห์น้อย ตราพระราชสีห์น้อย หรือตราสุครีบ ระบุระยะเวลาในการใช้งานซึ่งมีอายุ 1 ปี วัตถุประสงค์ในการเดินทาง และมีข้อความขอให้ข้าหลวงมณฑล ผู้ว่าราชการเมือง กรมการจังหวัด อำนวยความสะดวกในการเดินทาง

หนังสือเดินทางที่รู้จักกันในระยะแรกเป็นเอกสารเดินทางที่ทางราชการออกให้แก่บุคคลเพื่อใช้ในการเดินทางระหว่างเขต เมือง มณฑล หรือภายในพระราชอาณาเขต ยังไม่มีหนังสือเดินทางอันหมายถึงเอกสารที่ใช้เดินทางไปต่างประเทศ ต่อมาฝ่ายราชการสยามในสมัยนั้นได้เริ่มมีดำริให้ออกหนังสือสำหรับตัวให้คนฝ่ายสยามเดินทางไปเมืองต่างประเทศ จึงมีการกำหนดกฏเกณฑ์ว่า การเดินทางออกนอกพระราชอาณาเขตกำหนดให้คนสยามต้องมีจดหมายหรือหนังสือเดินทางสำหรับตัวทุกคนจากเจ้าเมือง จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า หนังสือเดินทางไทยในปัจจุบันได้พัฒนามาจากหนังสือเดินทางสำหรับตัวซึ่งใช้กันมาแต่อดีต

ในเวลาต่อมาได้มีการกำหนดให้ใช้หนังสือเดินทางไปประเทศห่างไกลในลักษณะเป็นหนังสือเดินทางที่พิมพ์ด้วยภาษาฝรั่งเศส 2 หน้า หน้าแรกมีลักษณะเป็นหนังสือราชการที่มีข้อความขออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง หน้าสองแสดงรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือหนังสือเดินทาง ซึ่งประกอบด้วยรูปถ่าย อายุ ความสูง สีผม ตา ใบหน้า ตำหนิ และลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง และมีอายุการใช้งาน 1 ปี

การออกหนังสือเดินทางในสมัยนั้นมิได้ออกให้เพียงหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีหนังสือเดินทางที่ออกให้กับคนครัวหนึ่งหรือคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งใช้เดินทางเช่นเดียวกับหนังสือเดินทางหมู่เช่นที่มีใช้ในปัจจุบัน โดยกำหนดรูปแบบที่แน่นอนและใช้ทั่วทุกมณฑล โดยระบุรายชื่อและจำนวนบุคคลที่เดินทางด้วยกัน พร้อมทั้งประเภทสัมภาระที่นำติดตัวไปด้วย ทั้งนี้ ในการกำหนดรูปแบบหรือระเบียบหนังสือเดินทางในอดีตฝ่ายปกครองต้องมีหนังสือขอหารือกับเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งต้องมีหนังสือขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ก่อนด้วย

หนังสือเดินทางในสมัยนั้นยังเรียกรวมถึงเอกสารเดินทางประเภทตราเดินทาง ซึ่งทางราชการออกให้กับคนในบังคับ ( สยาม) ที่อาศัยอยู่ในประเทศ ใช้เป็นเอกสารแสดงตัว หรือออกให้แก่คนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยการสลักท้องตราประทานหรือตราเดินทางลงในหนังสือเดินทางต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นหนังสือประจำตัวสำหรับเดินทางไปได้ในหัวเมือง ตามคำร้องขอของสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศในไทย ซึ่งปัจจุบัน คือ การตรวจลงตรา หรือวีซ่า

การออกหนังสือเดินทางในระยะนี้มิได้จำกัดอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายระดับ นับตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการเมือง รวมทั้งกรมการจังหวัด หรือแม้แต่กำนันก็เป็นผู้มีอำนาจในการออกหนังสือเดินทาง หากได้รับคำสั่งจากเจ้าเมือง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตามประเพณีแต่เดิมมา ผู้ใดจะเดินทางไปนอกพระราชอาณาเขต ก็มีธรรมเนียมที่ต้องรับหนังสือเดินทางสำหรับตัวซึ่งเจ้าพนักงานออกให้ก็ตาม แต่บุคคลโดยทั่วไป ส่วนมาก ก็ยังไม่ได้ถืออย่างเคร่งครัดว่า หนังสือเดินทางเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทาง เพราะในอดีตยังไม่มีการตรวจตราการเดินทางเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด ประชาชนสามารถเดินทางออกนอกพระราชอาณาเขตได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง การละเลยในการตรวจตราการเดินทางออกนอกประเทศดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้เดินทางในระยะต่อมาเมื่อสถานการณ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มบัญญัติการตรวจตราหนังสือเดินทางของคนต่างชาติอย่างเข้มงวด ทำให้ผู้เดินทางออกจากพระราชอาณาเขตของไทยซึ่งมิได้มีหนังสือเดินทางหรือตราเดินทาง (วีซ่า) ของประเทศที่จะเดินทางไป ต้องประสบปัญหาเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากต้องถูกกักกันไม่ให้เข้าประเทศ หรือถูกจับกุมกักขังหรือถูกส่งกลับประเทศ

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนไทยในการเดินทางไปต่างประเทศ ในวันที่ 17 กันยายน 2460 รัฐบาลไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้กำหนดกฏเกณฑ์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับการออกหนังสือเดินทาง โดยการออก “ ประกาศว่าด้วยผู้เดินทางไปนอกพระราชอาณาเขตร์ ให้มีหนังสือเดินทาง ” ซึ่งได้ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 23 กันยายน 2460 เพื่อให้คนไทยทุกคนที่จะเดินทางออกไปประเทศที่อยู่ห่างไกล จำเป็นต้องขอหนังสือเดินทางกับกระทรวงการต่างประเทศ และหากเดินทางไปยังประเทศใกล้เคียงติดต่อกับพระราชอาณาเขต ก็ขอให้ขอหนังสือเดินทางจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสมุหเทศาภิบาลในมณฑลของตน

ผลมาจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงในระดับระหว่างประเทศหลายประการดังกล่าว และผลการประชุมขององค์การสันนิบาติชาติเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2463 ซึ่งเรียกร้องให้ทุกประเทศกำหนดรูปแบบหนังสือเดินทางในลักษณะเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนเดินทางเข้าร่วมประชุมและลงนามรับรองข้อมติของที่ประชุมดังกล่าวด้วย และการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับแรกของไทยในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2470 น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการกำหนดกฏเกณฑ์และการปรับเปลี่ยนลักษณะและรูปแบบของหนังสือเดินทางที่มีลักษณะเป็นรูปเล่ม ซึ่งน่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หรือประมาณภายหลังปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา

สำหรับหนังสือเดินทางที่มีลักษณะเป็นรูปเล่มซึ่งพบหลักฐานในขณะนี้ เป็นหนังสือเดินทางประเทศสยามซึ่งออกใช้ในช่วงระยะปี พ.ศ.2482 เป็นหนังสือเดินทางปกแข็งซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน




ภายในประกอบด้วยรายการข้อมูลภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสกำกับอยู่ และติดรูปถ่ายผู้ถือหนังสือเดินทางพร้อมลายมือชื่อ ประกอบด้วยหน้าหนังสือเดินทางจำนวน 32 หน้าเช่นหนังสือเดินทางในปัจจุบัน เป็นหนังสือเดินทางในพระราชอาณาเขตสยามออกที่แผนกหนังสือเดินทาง ณ กระทรวงการต่างประเทศ แต่แผนกหนังสือเดินทางจะออกหนังสือเดินทาง หรือต่ออายุหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลผู้ใด ซึ่งมิได้อยู่ในพระราชอาณาเขตสยามในเวลานั้น ไม่ได้เลย

หนังสือเดินทางที่ออกให้ในสมัยนั้น ถ้ามิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น ก็มีกำหนดอายุการใช้งานเพียงสองปี เมื่อหมดอายุก็สามารถให้ต่ออีกตั้งแต่หนึ่งถึงสองปีก็ได้ แต่เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วต้องไม่เกิน 4 ปี โดยหนังสือเดินทางใช้ได้แต่สำหรับการเดินทางไปยังประเทศที่ระบุไว้ในหนังสือเดินทางเท่านั้น แต่จะสลักเพิ่มเติมเพื่อเดินทางไปประเทศอื่นด้วยก็ได้ โดยคิดค่าธรรมเนียมออกหนังสือเดินทางฉบับละ 12 บาท และค่าธรรมเนียมต่ออายุปีละ 6 บาท หนังสือเดินทางดังกล่าวนี้ยังคงใช้สืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางอย่าง อาทิ สี ตราครุฑบนปกนอก และลักษณะการจัดวางข้อมูลภายใน จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2520 มีการเปลี่ยนแปลงรายการข้อมูลผู้ถือหนังสือเดินทางจากการตีพิมพ์ด้วยภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเศสมาเป็นข้อมูลภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ

หลังจากนั้น หนังสือเดินทางไทยได้รับการพัฒนาตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการผลิต และประโยชน์ในการใช้สอยตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของสังคม โดยกองหนังสือเดินทางพยายามพัฒนาระบบการผลิตเล่มหนังสือเดินทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้บริการหนังสือเดินทางดำเนินไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และป้องกันการปลอมแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยลำดับ

ในปี 2536 กองหนังสือเดินทางได้นำระบบหนังสือเดินทางแบบใหม่มาใช้ เรียกว่า ระบบ Digital Passport System (DPS ) ซึ่งเป็นวิธีการพิมพ์รูปผู้ถือหนังสือเดินทางลงในหนังสือเดินทางด้วยระบบดิจิตอลแทนการติดรูปตามระบบเดิม และอ่านได้ด้วยเครื่อง ( Machine Readable Passport ) และต่อมาได้ปรับเปลี่ยนการผลิตเล่มหนังสือเดินทางที่สามารถจัดเก็บข้อมูลในเล่มหนังสือเดินทาง ไว้ด้วยระบบข้อมูลหน้าเดียว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา

ในปี 2543 กองหนังสือเดินทางได้พัฒนาหนังสือเดินทางไทยโดยการนำเทคโนโลยีการถ่ายรูป การบันทึกข้อมูล และการพิมพ์ข้อมูลลงในเล่มโดยตรง รวมทั้งการสร้างระบบหนังสือเดินทางซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์จากฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สามารถตรวจสอบสถานะของผู้ขอหนังสือเดินทางโดยอาศัยหมายเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งทำให้สามารถให้บริการรับคำร้องจากประชาชนผู้ขอใช้ให้บริการหนังสือเดินทางได้ในเวลาอันรวดเร็ว และทำการผลิตหนังสือเดินทางได้ภายในเวลา 3 วันทำการ

ในด้านการพัฒนารูปเล่มหนังสือเดินทาง กองหนังสือเดินทางได้ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงรูปแบบและมาตรฐานของเล่มหนังสือเดินทางไม่น้อยไปกว่าการปรับปรุงด้านบริการ เนื่องจากรูปแบบและมาตรฐานดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการป้องกันการปลอมแปลง และความน่าเชื่อถือของหนังสือเดินทางตามมาตรฐานสากล การพัฒนาหนังสือเดินทางจึงต้องคำนึงถึงรูปแบบที่สวยงามทันสมัยในราคาเหมาะสม และจะต้องประกอบด้วยเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย

ในปี 2545 กองหนังสือเดินทางได้พัฒนารูปแบบของหนังสือเดินทางแบบใหม่ ที่มีคุณลักษณะป้องกันการปลอมแปลง ( Security Features ) เพิ่มมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีระดับสูงหลายอย่างเช่นเดียวกับการพิมพ์ธนบัตร เพื่อยกระดับมาตรฐานหนังสือเดินทางไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก คุณสมบัติพิเศษที่ใส่ไว้ในหนังสือเดินทาง บางอย่างไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการตรวจสอบ และบางอย่างก็แฝงไว้อย่างแนบเนียน ทำให้ยากในการ

ปลอมแปลง นอกจากนั้นคุณลักษณะบางประการผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีและสารเคมีที่ไม่อาจหาได้ในท้องตลาดทั่วๆ ไป ทำให้มั่นใจได้ว่า หนังสือเดินทางไทยจะมีความปลอดภัย และปลอดจากการปลอมแปลง
ทิศทางในอนาคต หนังสือเดินทางไทยยังคงได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนโดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ กองหนังสือเดินทางยังได้พัฒนาระบบข้อมูลหนังสือเดินทางไทยให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ถือ

หนังสือเดินทางผ่านระบบคอมพิวเตอร์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเดินทาง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร และกระทรวงมหาดไทย สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากการตรวจสอบข้อมูลและให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อกับหน่วยราชการ ไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดของโลกก็ตาม

ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ