เปิดมรดก อุเทน เตชะไพบูลย์ 2458-2550
อุเทน เตชะไพบูลย์ หรือ เจ้าสัวอุเทน จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สิริรวมอายุ 92 ปี ปัจจุบันแม้บทบาทในสนามธุรกิจของตระกูลเตชะไพบูลย์มิได้ยิ่งยงเหมือนเช่นในอดีต หากเรื่องราวการสร้างอาณาจักรธุรกิจของ เจ้าอุเทนจากกิจการค้าเหล้าตราค่างโหน และโรงรับจำนำ ก่อน ผงาดขึ้นมาเป็น นักธุรกิจผู้มั่งคั่ง และทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของวงการจนได้รับสมญาว่าเจ้าสัว ในช่วงเวลาหนึ่งยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ
หากถามว่ายุคทองของ เจ้าสัวอุเทน และตระกูลเตชะไพบูลย์คือช่วงเวลาใด ? จากการไล่เรียงเรื่องราวย้อนกลับเชื่อว่า ช่วงก่อนปี 2520 คือคำตอบ!!!
ในห้วงเวลานั้นตระกูลเตชะไพบูลย์ภายใต้การนำของ เจ้าอุเทน ไม่เพียงถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท สุรามหาคุณ จำกัด ซึ่งครอบครองสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน (สัญญา 10 ปีระหว่างปี พ.ศ. 2513-2522 ) ซึ่งมี "แม่โขง"เป็นสินค้าหลัก และเป็นการครอบครองสัญญาต่อเนื่องเป็นครั้ง
ที่สอง หลังสัมปทานเช่าโรงงานสุราครั้งแรกสิ้นสุดลงในปี 2512 (พ.ศ. 2502-2512 ) การได้ครอบครองสัญญาสัมปทานสุราจากรัฐต่อเนื่องถึง 20 ปี หรือตั้งแต่ยุค จอมพลสฟษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจจนถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่เพียงสร้างความมั่งคั่ง ให้ตระกูล เตชะไพบูลย์ หากยังสร้างบารมีทางธุรกิจให้กับ เจ้าสัวอุเทน หรือที่รู้จักในชุมชนชาวจีนว่า "แต้ โหงว เล้า"
แต่บารมีของ เจ้าสัวอุเทน คงไม่เปล่งประกายถึงขนาดนั้น หากในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน
เจ้าตัวมิได้ขึ้นนั่งเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แบงก์ศรีนครควบคู่ไปกับการกุมบทบาทในธุรกิจสุรา !!
รุ่งโรจน์
เจ้าสัวอุเทน เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง แบงก์ศรีนคร ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 โดยร่วมหุ้นกับ ตระกูลนักธุรกิจชั้นนำเช่น อื้อจือเหลียง ซันซื่อ เศรษฐภักดี ชันซื่อ ศรีเฟื่องฟุ้ง และ เตชะไพบูลย์ และในอีก 20 ต่อมา หรือปี พ.ศ. 2517 เจ้าสัวอุเทน ก็ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ แบงก์ศรีนคร ต่อจากเจ้าสัว อื้อ จือ เหลียง ผู้ใหญ่ที่อุเทนเคารพนับถือ ตอนนั้นเจ้าสัวอุเทนอายุ 57 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดของเขา เพราะตระกูลเตชะไพบูลย์ไม่เพียงครอบครองสัมปทานสุราหากยังถือหุ้นใหญ่ในแบงก์ถึง 3 แห่ง และยังครอบครองกิจการอื่นๆ อีกมากมาย
"ในช่วงทศวรรษ 2520 นักวิชาการพยายามสำรวจ ความมั่งคั่งของตระกูล เตชะไพบูลย์ พบว่า ณ ส้นปี 2522 ตระกูลเตชะไพบูลย์เข้าไปถือหุ้นใหญ่ (มากกว่า 10 % ) ในกิจการต่างๆทั้งภาคการเงินและอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 93 บริษัท แบ่งเป็นธุรกิจธนาคาร 3 แห่ง เงินทุนและเครดิตฟองซิเอร์ 17 แห่ง ประกันภัย 2 แห่ง ธุรกิจอื่นๆเช่นธุรกิจในกลุ่มสุราและก่อสร้าง 71 แห่ง เช่นถือหุ้นใน 44% .ในแบงก์ศรีนคร ถือหุ้น 34 % ในบง.เศรษฐการ 27 % ใน บง.มหานครทรัสต์ ถือหุ้น 34 % ใน บริษัทประกันภัยศรีเมือง ถือหุ้น 51 % ในบริษัท ไทยอมฤตบริเวอรี เป็นต้น"
( เจ้าสัวเยสเธอร์เดย์ โศกนาฎกรรมนายทุนไทย : หน้า 39 )
นอกจากธุรกิจข้างต้นแล้วในปี พ.ศ. 2517 อุเทน ได้รุกเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเปิด บริษัท ที่ดินเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทย จำกัด หรือ ที่รู้จักในชื่อ นิคมอุตสาหกรรมบางปูซึ่งมีที่ดินในครอบครองมากกว่า 5,000 ไร่ ก่อนสยายปีเข้าสู่ธุรกิจศูนย์สรรพสินค้าขนาดใหญ่ ด้วยการก่อตั้ง บริษัท วังเพชรบูรณ์ จำกัด ทำโครงการ เวิล์ดเทรดเซนเตอร์ ( ปัจจุบันเซ็นทรัลเวิล์ด-ผู้เขียน) ในปี พ.ศ. 2526 แต่ปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่ทำให้ บารมีของอุเทนในช่วงเวลานั้นเบ่งบานอย่างสุดๆ นอกเหนือ จากความสำเร็จในเชิงธุรกิจจนก้าวขึ้นถึงชั้นเจ้าสัวแล้ว บทบาทในฐานะประธานคณะกรรมการ มูลนิธิป่อเต็กตั้งตลอดกาล ซึ่งดำเนินกิจกรรมด้านการกุศลยังมีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน
ถดถอย
อย่างไรก็ดีหลังปี พ.ศ. 2520 ความยิ่งใหญ่ในแวดวงธุรกิจของ ตระกูลเตชะไพบูลย์ เริ่มถูกท้าทายทั้งจากคลื่นลูกใหม่ และการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง เจ้าสัวอุเทน สูญเสียบทบาทหลักในธุรกิจสุรา เมื่อถูกรัฐบาลเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี )โดย สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลังขณะนั้นเจ้าของสมญา ซามูไรเหล็ก บีบให้ควบรวม บริษัท สุรามหาชน กับ บริษัท สุราทิพย์ หลังการคับเคี่ยวในสงครามน้ำเมาของ 2 ฝ่ายในยุทธการหงส์ข้ามเขตเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2529 เพราะเกรงว่าหากรายได้รายหนึ่งล้มจะพาแบงก์ล้มไปทั้งระบบและสร้างความปั่นป่วนกับเศรษฐกิจของประเทศไทย
หลังการควบรวมกิจการน้ำเมาครั้งนั้น บทบาทของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ก็โดดเด่นขึ้นๆกระทั่งได้รับสมญาว่า ราชันน้ำเมา
แม้สูญเสียบทบาทหลักในธุรกิจสุรา หากเวลานั้นหากอิทธิพลทางการค้า ของตระกูลเตชะไพบูลย์ มิได้ลดถอยลงนักเนื่องจากยังมีฐานที่มั่นสำคัญคือ แบงก์ศรีนคร หากทุกอย่างก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 หรือที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ที่คลื่นเศรษฐกิจถามโถมขึ้นฝั่ง และ กวาดเอากิจการมากกว่าครึ่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย รวมทั้งแบงก์ศรีนคร
เมื่อคลื่นเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 เริ่มโหมกระหน่ำนั้น วิเชียร เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ แบงก์ศรีนครขณะนั้น บุตรชายคนโตของ เจ้าสัวอุเทน ตั้งรับด้วยการเพิ่มทุน และวิ่งควานหาพันธมิตรร่วมทุน แต่เงินทุนใหม่ที่ใส่เข้าไป กลับไม่สามารถหยุดภาวะตระหนกของคนฝากเงินได้ ในช่วงที่กระแสวิกฤติพัฒนาขึ้นถึงขีดสุดนั้นมีคนแห่ถอนเงินจาก แบงก์ศรีนครถึงวันละ 7,000 ล้านบาท อีกทั้ง สถานการณ์ขณะนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อการหาพันธมิตรแต่อย่างใด แม้เจ้าสัวอุเทน ประธานกรรมการแบงก์ ขณะนั้น ออกมายืนยันต่อสาธารณชนว่า "จะไม่ปล่อยให้ธนาคารเป็นอะไรไปอย่างแน่นอน " แต่ทว่าในท้ายสุด แบงก์ชาติก็ประกาศเข้าแทรกแซงแบงก์ศรีนครใน วันที่ 30 ธันวาคม 2540 ปิดฉากบทบาทนายแบงก์ของตระกูลเตชะไพบูลย์ที่ดำเนินต่อเนื่องมาตังแต่ปี พ.ศ. 2517
หลังสูญเสียแบงก์ศรีนครบทบาทในวงการธุรกิจของตระกูลเตชะไพบูลย์ ค่อยๆเลือนหายไป แต่เรื่องราวความมั่งคั่งพวกเขายังอยู่แถวหน้าของเมืองไทย
จากไป
เมื่อข่าวเจ้าสัวอุเทนจากไป คำถามที่สะพัดไล่หลังมา คือ มรดกเจ้าสัวอุเทน? แน่นอนในส่วนทรัพย์ศฤงคารจำพวก ทองคำ เพชรนิลจินดาคงอยากจะประเมิน แต่เดาได้ว่า คงเหลือคณานับ และในส่วนของทรัพย์สินที่อยู่ในรูปของ กิจการ นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ พบว่า เจ้าสัวอุเทน ยังครอบครองเงินลงทุนที่ถือในนาม บริษัท เตชะไพบูลย์ ซึ่งเปรียบเสมือนโฮลดิ้ง หรือ กงสีประจำตระกูล ซึ่งถือหุ้นในกิจการมากมายตั้งแต่ บริษัทร่วมทุน ร้านทอง โรงรับจำนำ อาคาร และอื่นๆ ซึ่งตามข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าบริษัทมีทุนจดทะเบียน 352 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2549 มีกำไรสุทธิ 37 ล้านบาทโดยประมาณ
นอกจากบริษัทข้างต้นแล้วกิจการที่ถือว่าเป็นฐานที่มั่นสำคัญของตระกูลเตชะไพบูลย์อีกแห่งคือ บริษัท พัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมไทย จำกัด นิคมอุตสาหกรรมรุ่นแรกของไทย ที่รู้จักกันในชื่อ นิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ตามข้อมูลปัจจุบันระบุว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับแรกๆของ นิคมอุตสาหกรรมเก่าแก่แห่งนี้ คือ บริษัท นพกิจร่วมทุนถือหุ้น 28 % รองลงมา บริษัท พาราวินเซอร์ 25 % ตามด้วย บริษัท บุญต่อ 18 % และอันดับสี่คือ อุเทน เตชะไพบูลย์ ถือหุ้น 1.4 %
เมื่อตรวจค้นต่อไปเพื่อหาว่าใครถือหุ้นใน บริษัท นพกิจร่วมทุน ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้พบว่า อันดับหนึ่งคือ อุเทน เตชะไพบูลย์ 24.15 % รองลงมา บริษัท ภัทราสาธิต 16.66 % ที่เหลือเป็นลูกและน้องของ เจ้าสัวอุเทนทั้งสิ้น และเมื่อค้นต่อลงไปอีกชั้นว่า
ใคร ถือหุ้นใน บริษัท ภัทราสาธิต ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท นพกิจร่วมทุน ( ผุ้ถือหุ้นใหญ่นิคมอุตสาหกรรมบางปู) จากข้อมูลพบว่าบริษัทดังกล่าวแจ้งกับ กระทรวงพาณิชย์ มีเป้าหมายดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นกิจการส่วนตัวของ "วิเชียร เตชะไพบูลย์" บุตรชายคนโตของเจ้าสัว อุเทน
อนึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 นิคมอุตสาหกรรมบางปู มีรายได้รวม 1,310 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,032 ล้านบาท ถ้าคิดเป็นต่อหุ้นมีกำไร/หุ้นประมาณ 5,162 บาท ซึ่งโดยสถานะข้างต้น บริษัทแห่งนี้จึงเปรียบเหมือนมรดกที่ เจ้าสัวอุเทน ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน ที่เกิดจากภรรยา 6 คน
ภรรยาคนแรกคือ สุวรรณา มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน ภรรยาคนที่สอง จำเลียง (ปัจจุบันอายุ 91 ปี) มีลูกด้วยกัน 6 คน คือ วิเชียร-จิตรมณฆ์ -วิรุฬ-วิวัฒน์-วีรมิตร และวิมล ส่วนภรรยายคนที่สาม หรรษามีลูกด้วยกัน 1 คนคือ วีระเดช ภรรยาคนที่ 4 และ 5 ไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ภรรยาคนที่ 6 คือ นงค์นาถ อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) พรรคชาติพัฒนา มีบุตรด้วยกัน 1 คนคือ นางสาวอรกันยา
อย่างไรก็ดีมรดกที่สำคัญกว่าที่เจ้าสัวอุเทนทิ้งไว้ลูกหลานและคนรุ่นหลังคือ หลักคิดในการใช้ชิวิต ที่เจ้าตัวเชื่อเสมอมาว่า "ไม่ฉลาดแต่ขยันทดแทนได้"
------------------------------------------
เตชะไพบูลย์ : ทางใครทางมัน
นิตยสารผู้จัดการ(กรกฎาคม 2533)
แม้ว่า "เตชะไพบูลย์"จะเป็นตระกูลเก่าแก่ที่มีเครือข่ายธุรกิจใหญ่โตระดับแสนล้าน มีผู้นำของตระกูลที่มีภาพภายนอกเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งใน "เชิงการค้า" การเป็น "ผู้นำชุมชนจีน" และเป็น "นักบุญ" ที่ช่วยเหลือสาธารณกุศล แต่ในตระกูลซึ่งเขาเป็น "ตั้วเฮีย" นั้นกลับมีปัญหาหนักหน่วงยิ่งชนิดที่บางคนถึงกับประกาศไม่เผาผีกัน! ฟางเส้นสุดท้ายมันเกิดขึ้นที่ธนาคารศรีนคร แหล่ง "ปั๊มเงิน" ที่เคยทำหน้าที่ของมันอย่างไม่หยุดหย่อน ทว่าบัดนี้เครื่องกำลังชำรุดอย่างหนักเสียแล้ว วันนี้ "ฝูงนกหงัน" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักใคร่สามัคคีของตระกูลได้ "แตกกระเจิง" บินไปแบบ "ทางใครทางมัน" ชนิดที่ยากจะมาบรรจบ!!?
"ลูกเอ๋ย พ่อจะจากพวกเจ้าไปแล้ว เจ้าคือบุตรหัวปี ภาระครอบครัวจะตกบนบ่าทั้งสองของเจ้า น้องๆ อายุยังเยาว์ ต้องอาศัยเจ้าอุ้มชู สมบัติครอบครัวเรา พวกเจ้าพี่น้องแบ่งสรรกันเสียจะทำให้งอกงามค่อนข้างลำบาก ถ้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน อนาคตอาจจะเจริญก้าวหน้าไปได้ ฉะนั้นทางที่ดีเจ้าจงเป็นหัวแม่เรือนของธุรกิจอย่าได้แบ่งสมบัติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าจะดำเนินการได้ดี จงอย่าทำให้พ่อผิดหวัง"
นั่นคือปัจฉิมวาจาของ "แต้จือปิง" ต้นตระกูล "เตชะไพบูลย์" ที่สั่งเสียให้พี่น้องพร้อมใจกันอานุภาพจึงจะเกิด ภาระหนักจึงไปตกอยู่ที่ "แต้โหงวเล้า" หรืออุเทน เตชะไพบูลย์ บุตรชายคนโตซึ่งเมื่อได้เปิดพินัยกรรมของ "ท่านพ่อ" แล้วถึงกับตกใจที่ท่านพ่อยกมรดกทั้งหมดให้เขาแต่เพียงผู้เดียว!!!
"…แต่ไหนแต่ไรมาข้าพเจ้าไม่อยากพูดเรื่องนี้ ทั้งนี้เพราะกลัวน้องๆ จะเข้าใจผิดคิดว่าข้าพเจ้าทวงบุญคุณ ข้าพเจ้ามักกล่าวกับน้องๆ ว่านี้คือหน้าที่ของข้าพเจ้าผู้เป็นพี่ใหญ่ ไม่ว่าพินัยกรรมจะเขียนอย่างไร ข้าพเจ้าจักต้องรับหน้าที่นี้อย่างเด็ดขาด น้องๆ บางคนก็เข้าใจดีก่อนอ่านพินัยกรรม ข้าพเจ้าหารู้ความคิดอันประหลาดของท่านพ่อไม่ ครั้นเปิดอ่านแล้วข้าพเจ้าตกใจมาก ให้รู้สึกว่าหน้าที่นี้ช่างหนักหน่วงเสียนี่กระไร เชื่อว่าท่านพ่อคงจะคิดว่า เมื่อมอบอำนาจให้ข้าพเจ้าแล้ว ทุกอย่างของครอบครัวจะผ่านไปอย่างราบรื่น กิจการค้าสามารถพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปได้"
(คำพูดทั้งหมดนี้คือข้อความบางตอนของหนังสือชีวประวัติของอุเทน เตชะไพบูลย์ ซึ่งเขียนเป็นภาษาจีนโดยเฉินถงหมิง และยังไม่เคยพิมพ์เผยแผ่เป็นภาษาไทย)
ก็ต้องนับว่าเป็นความชาญฉลาดของแต้จือปิงที่ตัดสินใจเช่นนั้นเพราะอุเทนนั้นได้แสดงออกถึง "อัจฉริยภาพ" ทั้งในเชิงการค้าและการสังคมอย่างชัดแจ้ง ก็พอจะพูดได้ว่าเขาเป็น "อภิชาตบุตร" โดยแท้
"เตชะไพบูลย์" เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ แต้จือปิงมีภรรยา 3 คน อุเทนเป็น "ตั้วเฮีย" ที่เกิดจาก "แม่เมืองจีน" เมื่อรวมทั้ง 3 แม่แล้วเขามีน้องชาย 7 คน และน้องสาว 4 คน ขณะที่แต้จือปิงเสียชีวิตนั้นอุเทนเพิ่งอายุย่างเข้าปีที่ 23 เท่านั้น เขาได้ส่งเสียน้องๆ ทุกคนให้ได้ร่ำเรียนสูงๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศกันทั้งนั้น (โปรดอ่านล้อมกรอบ น้องๆ อุเทน: ใครเป็นใคร)
ขณะเดียวกันตัวอุเทนเองก็มีครอบครัวที่ใหญ่ไม่น้อย เพราะความที่มีภรรยาหลายคน ซึ่งเท่าที่เปิดเผยเป็นที่รับรู้กันทั่วไปนั้นมีอยู่ 3 คน และแต่ละคนก็มีลูกๆ ซึ่งภรรยาคนที่มีลูกเป็นผู้ชายมากที่สุดและมีบทบาทในธุรกิจมากที่สุดก็คือจำเรียง (โปรดอ่านล้อมกรอบ อุเทน เตชะไพบูลย์: ขุนแผนจาก "เตี้ยเอี้ย")
ในเวลาต่อมาน้องชายน้องสาวของอุเทนก็มีลูกหลานอีกมากมาย นั่นทำให้มีคนนามสกุล "เตชะไพบูลย์" อยู่มากมายจนบางครั้งต้องถามว่า "เตชะไพบูลย์สายไหน" เรื่องราวความยุ่งเหยิงส่วนหนึ่งก็มาจากความเป็น "ครอบครัวใหญ่" ด้วย
อุเทนนั้นสามารถสร้างธุรกิจและประคับประคองความสัมพันธ์ในตระกูลมาได้ตลอด จนกระทั่งเกือบทศวรรษที่ผ่านมาที่แก้วค่อยๆ ร้าวทีละน้อยจนกระทั่ง "แตกสลาย" ไม่เหลือชิ้นดี พร้อมๆ กับวิกฤติการณ์ทางธุรกิจที่โหมกระหน่ำมาระลอกแล้วระลอกเล่า
ว่ากันว่าอุเทนต้องใช้วิทยายุทธ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตของเขาเพื่อคลี่คลายวิกฤติในแต่ละช่วงแต่ละตอน
และนั่นส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างแยกไม่ออก
และนี่คือที่มาของปัญหา!!!
"เออ…โง่มานานแล้ว จะได้ฉลาดเสียที" คำพูดของพี่น้องเตชะไพบูลย์คนหนึ่งที่มีต่อไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ หรือ "โป้ยเสี่ย" ในวันที่เขายื่นใบลาออกจากธนาคารศรีนครทุกตำแหน่ง
มันเป็นคำพูดที่บอกอะไรมากทีเดียว!!!
แน่นอนมันไม่ใช่ครั้งแรก และอาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2530 อุธรณ์ เตชะไพบูลย์ หรือ "หลักเสี่ย" จำต้องยื่นใบลาออกท่ามกลาง "ความอัปยศ" ภายหลังจากการประกาศโครงสร้างใหม่ซึ่งเป็นการริดรอนอำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่เกือบจะสิ้นเชิง!!!
"กรณีนั้น คุณอุธรณ์โดนบีบแน่นอน ตอนนั้นเป็นผู้จัดการใหญ่ก็คุมธนาคารทั้งหมดแต่อยู่ๆ ก็แบ่งสายกรรมการบริหารลงมาคุม (โปรดดูโครงสร้างใหม่ของธนาคารศรีนครที่ออกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2530) ตกลงกรรมการผู้จัดการใหญ่เหลือคุมคนเพียง 30 กว่าคนในสำนักกรรมการผู้จัดการและฝ่ายการเงิน แบบนี้มันเป็นการหักกันซึ่งๆ หน้า ทำให้หน้าแตกไม่เหลือชิ้นดี เพราะไม่มีระบบธนาคารไหนเขาทำกันอย่างนี้ มันเป็นเรื่องไม่แฟร์" คนในตระกูลเตชะไพบูลย์และแหล่งข่าวทั้งหลายในศรีนครให้ข้อมูลที่ตรงกัน
การนำเอา "คนจากแบงก์ชาติ" และ "ผู้บริหารมืออาชีพ" เข้ามาในช่วงต้นปี 2529 อย่างสมพงษ์ ธนะโสภณ อดีตรองผู้ว่าการธนาคารชาติ สุวัตถิ์ รัชไชยบุญ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารชาติ ดุษฎี สวัสดิ์-ชูโต อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นับเป็น "กลเม็ด" อันล้ำลึกเป็นการ "ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว" โดยแท้
หนึ่ง - เป็นการเปลี่ยนภาพพจน์ว่าต่อแต่นี้ไปธนาคารนี้จะไม่ใช่ "ธนาคารครอบครัว" ที่ล้าหลังอีกต่อไป เป็นธนาคารของมหาชนที่มี "มืออาชีพ" เข้ามาบริหาร
สอง - เป็นกันชนสำหรับธนาคารชาติที่กำลังจ้องมาที่ธนาคารศรีนครในฐานะที่เป็นธนาคารที่มีผลประกอบการตกต่ำ มีปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่มีปัญหาจำนวนมาก โดยเฉพาะสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ธุรกิจในเครือ
สาม - เป็นการ "กำจัด" น้องคนที่หกและ "กั๊ก" น้องคนที่แปดไม่ให้ขยายฐานไปมากกว่านี้และถือโอกาสสถาปนา "ลูกชายคนโต" ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ในที่สุดน้องคนที่หกคืออุธรณ์ก็ต้องเก็บข้าวของออกจากธนาคารแล้วไม่ได้หวลกลับมาอีก
ขณะที่น้องคนที่แปดคือ ไชยทัศน์ ต้องเจอศึกหนักเพราะ "ข้อมูล" ที่ผู้มาใหม่ได้รับคือ "ธนาคารนี้มันเละเพราะไชยทัศน์ ช่วยจัดการหน่อย"
ทั้งสองฝ่ายก็ตะลุมบอนกันอย่างหนักแต่ในที่สุดก็ต้อง "กระเจิงไปทั้งคู่"
ธันวาคม 2533 ดุษฎี สวัสดิ์-ชูโต และ สุวัฒถิ์ รัชไชยบุญ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการตามลำดับ และในเดือนเดียวกัน สมพงษ์ ธนะโสภณ ก็ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร มีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้ทำอะไร
ทั้งหมดนี้ลาออกด้วยเหตุผลลึกๆ ก็คือ เพราะถูกดึงงานไปหมดไม่มีบทบาทอะไรอีกต่อไป
และก็คงเป็นเพราะเพิ่งรู้ซึ้งว่าพวกเขาเป็นเพียง "หมากตัวหนึ่ง" ที่ถูกผูกเอาไว้ "รุกฆาต" อีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
เพราะเอาเข้าจริงแล้วแทนที่ทิศทางของธนาคารจะไปสู่การเป็น "มืออาชีพ" มากขึ้นอย่างที่อุเทนประกาศไว้ มันกลับกลายเป็นว่าถอยกลับเข้าสู่ "ระบบครอบครัว" ยิ่งขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนจาก "น้อง" มาเป็น "ลูก" เท่านั้นเอง !!!
อันที่จริง จุดร้าวจุดแรกที่ลือลั่นของเตชะไพบูลย์ คือความขัดแย้งระหว่างอุเทน เตชะไพบูลย์ กับสุเมธ เตชะไพบูลย์ ในเรื่องเหล้าแม่โขง
ในขณะที่สงครามเหล้ากำลังเข้าขั้นไคลแม็กซ์ ที่ฝ่ายแม่โขงกำลังได้เปรียบฝ่ายสุราทิพย์อย่างมากๆ
อุเทนกลับหันมาเจรจากับกลุ่มสุราทิพย์ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในยุคของสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นเจ้ากระทรวง ซึ่งเป็นสิ่งที่สุเมธ ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมเด็ดขาด!!!
"คุณสุเมธจะไปยอมได้อย่างไร? เพราะตัวแกคิดว่าแม่โขงไม่ได้ทำอะไรผิด เงินค่าสิทธิ ค่าภาษีก็ไม่เคยค้าง ประมูลมาได้ภายใต้เงื่อนไขไปอย่างไรก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขเช่นนั้น" คนสนิทของคุณสุเมธกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แต่เนื่องจากคู่ต่อสู้นั้นมาเหนือชั้นมาก พวกเขารู้ว่าคนจีนนั้นเวลาจะทำอะไรต้องประชุมตระกูลกัน แล้วพี่ใหญ่จะเป็นคนสั่งการ คำสั่งการของพี่ใหญ่นั้นก็เปรียบเสมือนคำสั่งของเตี่ย จะบีบให้สุเมธยอมมีทางเดียวคือต้องเดินหมากชนพี่ใหญ่เสียก่อน!!!
และแล้วยุทธการเดินชนอุเทน เตชะไพบูลย์ ก็เริ่มต้นตรงจุดที่เปราะบางที่สุด
ตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นได้แบ่งสายกันทำธุรกิจการค้าไปคนละแบบ พี่น้องบางคนก็หันเข้าไปจับกิจการธนาคาร บางคนก็ไปจับทางด้านที่ดิน-โรงแรม บางคนเช่น สุเมธ เตชะไพบูลย์ ก็เข้าไปลงทุนในธุรกิจสุรา
เผอิญตรงข้ามกับธนาคารศรีนครนั้นมีธนาคารชื่อมหานครอยู่และธนาคารมหานครก็มีผู้บริหารระดับเจ้าของที่ชื่อ คำรณ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นน้องคนที่สี่ของอุเทน เตชะไพบูลย์
ถึงแม้ว่าจะเป็นเตชะไพบูลย์ด้วยกันแต่คำรณกับตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นดูเหมือนจะเพียงแค่ใช้นามสกุลร่วมกันเท่านั้น สายสัมพันธ์ได้ขาดลงไปนานแล้วนับตั้งแต่วันที่คำรณเข้าไปเป็นเจ้าของที่แท้จริงของธนาคารแต่ผู้เดียว ซึ่งผิดกับวัตถุประสงค์ของตระกูลเตชะไพบูลย์
สำหรับอุเทนแล้วการกระทำของคำรณนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎของตระกูล เขาจึงถือว่าคำรณเป็นคนนอกที่จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วย
ครั้งหนึ่ง เมื่อคำรณเอาวิรุฬไปเป็นกรรมการของธนาคารมหานคร พออุเทนรู้เข้าก็สั่งให้วิรุฬถอนตัวออกมาทันที
คำรณเองก็ใช่ย่อย เมื่อโครงการวังเพชรบูรณ์กำลังจะเริ่มนั้นคำรณก็ประกาศออกมาว่า ธนาคารมหานครมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่เข้าทำวังเพชรบูรณ์เลย
ยิ่งไปกว่านั้นช่วงที่แม่โขงกำลังมีปัญหากับหงส์ทองนั้น ธนาคารมหานครกลับเข้าสนับสนุนเหล้าหงส์ทอง!!! ขณะนั้นเมื่ออุเทนรู้เรื่องเข้าก็แทบกระอักทีเดียว
ในปี 2528-2529 คำรณ เตชะไพบูลย์ กับธนาคารมหานครกำลังมีปัญหาซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ประการสำคัญก็คือการที่ลูกน้องคำรณคนหนึ่งไปเล่นเงินตราต่างประเทศจนกลับตัวไม่ทัน แต่คำรณก็พยายามแก้ไขโดยเชิญปกรณ์ มาลากุล อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติซึ่งเป็นเพื่อนรักของตัวเองเข้าไปเพื่อแก้สถานการณ์ พยายามปรับและแก้ปัญหาให้น้อยลง แต่ดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะความเสียหายมันมากเกินไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ตามทัศนะอีกกระแสหนึ่งนั้นเชื่อว่าปัญหาของธนาคารมหานครแม้จะหนัก แต่เมื่อเทียบกับธนาคารนครหลวงไทยแล้วยังดูเล็กกว่า ปัญหาของมหานครเป็นเรื่องของการขาดสภาพคล่องและแก้ได้ด้วยการเพิ่มทุนทีละขั้นตอน แต่ที่ต้องโดนคำสั่งสายฟ้าฟาดให้ถูกยึดและลดทุนทันทีนั้นจริงๆ แล้วมันเป็นการเมืองเรื่องเหล้าที่กำลังพันตูกันอย่างหนัก
การยึดธนาคารมหานครเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้อุเทนรับรู้ว่าถ้าเรื่องเหล้าตกลงรวมกันไม่ได้ ธนาคารศรีนครอาจจะเป็นแห่งต่อไปที่ถูกตรวจสอง ยิ่งผลการดำเนินงานของศรีนครก็มีจุดอ่อนให้ "เล่น" ได้ไม่น้อย การข่มขวัญด้วยวิธีการนี้นับว่าได้ผลชะงัดนัก อุเทนไม่ว่าจะโกรธคำรณเพียงไร เขาก็ยังเป็นน้องชาย และคนภายนอกก็ยังคิดว่า ธนาคารมหานครเป็นของเตชะไพบูลย์
อุเทนซึ่งปกติเป็นคนขี้เกรงใจคนและเป็นคนที่ต้องการให้สังคมมองว่าเป็นคนมีเมตตาธรรม ที่สำคัญไม่ต้องการให้ธนาคารศรีนครอันเป็นแหล่งเงินแหล่งทองที่สำคัญของธุรกิจในเครือมีปัญหาอันจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยส่วนรวมของตระกูล
การรวมสุราแม่โขงและหงส์ทองก็เริ่มขึ้นโดยคำสั่งของพี่ใหญ่ลงมายังสุเมธ
สุเมธซึ่งคนในตระกูลทุกคนรู้ดีว่าเขาเป็นคนแข็งมาก เป็นคนประเภทยอมหักไม่ยอมงอ เขาขมขื่นกับเหตุการณ์ยิ่งนัก ด้วยความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเลยที่เขาถูกลูกไม้ประเภทนี้ มันเป็นตรรกวิทยาที่เขารับไม่ได้และลึกๆ เขาไม่เชื่อว่ามีเหตุผลเพียงเท่านั้นมันมีเหตุผลอื่นแทรกซ้อนที่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ในตระกูลกันเอง
สุเมธโกรธพี่ชายมาก จึงขายหุ้นทั้งหมดของตัวเองออกไป ซึ่งคนที่รับซื้อขึ้นมาก็คืออุเทนนั่นเอง
สุเมธตัดสินใจทิ้งธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลมาเกือบตลอดชีวิต ขายหุ้นทั้งหมดให้อุเทนและประกาศล้างมือออกห่างจากอุเทนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยถอนตัวออกจากการเป็นรองประธานธนาคารศรีนคร
นับจากวันนั้นไม่เคยมีใครเห็นสุเมธที่ธนาคารศรีนครและไม่เคยมีใครเห็นอุเทนเหยียบไปที่ตึกเตชะไพบูลย์ ซึ่งสุเมธนั่งประจำอยู่ ทั้งที่ตึกทั้งสองอยู่ห่างกันไม่กี่ก้าว!!!
ส่วนคำรณนั้นหนีหัวซุกหัวซุนไปต่างประเทศ เพราะหากอยู่ในประเทศเขาจะต้องโดนข้อหาฉ้อโกงและเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ซึ่งทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายตาม พรบ.ธนาคารพาณิชย์
ตำนานการก่อร่างสร้างตัวของตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นไม่ใช่ตำนานเสื่อผืนหมอนใบของคนจีนโพ้นทะเลอย่าง ชิน โสภณพนิช หรือคนอื่นๆ อีกมากมาย
บรรพบุรุษของ "แต้จือปิง" เป็นตระกูลผู้ดีเก่าในหมู่บ้างซัวเล่ง อำเภอเตี้ยเอี้ย มณฑลกวางเจา รับราชการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต้จือปิงจึงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีเพื่อเตรียมที่จะเข้ารับราชการ แต่ห้วงเวลานั้นประเทศจีนกำลังระส่ำระสายอย่างหนัก เนื่องจากความฟอนเฟะของราชวงศ์แมนจู ทำให้ความคิดปฏิวัติระบาดไปทั่ว มีการเลิกล้มระบบสอบบัณฑิตซึ่งเป็นความใฝ่ฝันมาแต่วัยเยาว์ของแต้จือปิง
ขณะนั้นแต้จือปิงมีอายุ 17-18 ปี ตัดสินใจทิ้งอาชีพสอนหนังสือเด็กๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเสี่ยงโชคยังประเทศไทย ลักษณะธุรกิจที่แต้จือปิงเลือกทำนั้นล้วนแล้วแต่ทำกำไรสูงเอามากๆ ทั้งสิ้น อาทิ โรงยาฝิ่น กิจการค้าสุรา และโรงรับจำนำ
แต่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าทางการผลิต ซึ่งภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า INFERIOR GOOD ในทางตรงกันข้ามบทบาททางสังคมของทั้งแต้จือปิง และต่อเนื่องมาถึงยุคอุเทนในด้านการสังคมสงเคราะห์นั้นโดดเด่นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นสมาคมแต้จิ๋ว มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง โรงพยาบาลหัวเฉียว มูลนิธิเตชะไพบูลย์ และกิจการสาธารณกุศลอีกมาก
บางคนบอกว่าพวกเขาเป็นคนที่เกิดมาเพื่อสร้าง "ความดี" โดยแท้ แต่บางคนตั้งข้อสังเกตว่าคงเป็นการ "ชดเชย" ให้กับมนุษยชาติ เพื่อให้เกิดสมดุลในจิตใจมากกว่า
ไม่ว่าอุเทนและบิดาของเขาจะทำสิ่งเหล่านี้ด้วยเหตุผลแท้จริงอย่างไร เขาทั้งสองเป็นผู้มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับอย่างกว้าง โดยเฉพาะในชุมชนจีน "แต้จิ๋ว" นั้นตลอดเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่หาใครเทียบบารมีของ อุเทน เตชะไพบูลย์ ได้ยากยิ่ง
การตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจ "ธนาคารพาณิชย์" นับเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเตชะไพบูลย์เป็นการยกระดับธุรกิจการเงินจาก "โรงรับจำนำ" ซึ่งสำหรับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ เป็นการมองการณ์ไกล เพราะนอกจากจะเป็นธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตโดยตัวของมันเองแล้ว สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ตามมานั้นอีกมาก
แม้ช่วงแรกจะมีผู้ร่วมลงขันกันหลายคน แต่อุเทนก็เป็นผู้มีบทบาทในการบริหารธนาคารในฐานะ "กรรมการผู้จัดการ" ตั้งแต่วันแรกของการเปิดกิจการในปี 2493
กระทั่งปี 2517 เมื่อ "อื้อจือเหลียง" ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งเสียชีวิต อุเทนจึงได้ควบทั้งตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารและผู้จัดการใหญ่ นับจากนั้นมาเตชะไพบูลย์ก็ค่อยๆ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และคนในตระกูลเตชะไพบูลย์ก็ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ของธนาคารแทบทุกจุด
อุธรณ์และไชยทัศน์น้องชายคนที่หกและแปดขึ้นดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา วิเชียรลูกชายคนโต เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการค้า วิรุฬลูกชายคนที่สองเป็นผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ วิรมิตรลูกชายคนที่สี่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ สุกัญญาลูกสาวคนที่สองเป็นผู้จัดการสาขาประตูน้ำ และก็ยังมีนามสกุลเตชะไพบูลย์อีกหลายคนในธนาคาร
ในที่สุดกลายเป็นว่าธนาคารศรีนครคือเตชะไพบูลย์ และเตชะไพบูลย์คือศรีนคร
ห้วงเวลานี้เองที่ธุรกิจในเครือเตชะไพบูลย์ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย อาทิ เรียลเอสเตท บริษัทเงินทุน - บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ - บริษัท เครดิต ฟองซิเอร์ โรงแรม ฯลฯ
แน่นอน "แหล่งเงิน" ที่สำคัญก็คือ "ธนาคาร ศรีนคร" นั่นเอง
ธนาคารศรีนครในรอบ 35 ปี (พ.ศ. 2493-2527) นั้นแม้ว่าจะไม่เติบโตหวือหวาเหมือนธนาคารกรุงเทพหรือกสิกรไทย แต่ก็นับได้ว่าเป็นก้าวย่างที่มั่นคงพอสมควร (โปรดดูตารางแสดงการขยายตัวของธนาคารศรีนครในรอบ 40 ปี)
ทิศทางของธนาคารที่ก้าวไปข้างหน้าโดยอาศัยความกว้างขวางในหมู่คนจีนและกิจการสาธารณกุศลมันมีส่วนเอื้อซึ่งกันและกันอยู่ไม่น้อยนั้น นับเป็นความชาญฉลาดของอุเทนสำหรับยุคสมัยที่สังคมการค้ายังรวมศูนย์อยู่ในกลุ่มคนจีนจำนวนไม่มาก
การขยายฐานออกไปสู่ภูมิภาคนั้นเริ่มขึ้นจริงๆ จังๆ ในปี 2529 ที่เพิ่มทีเดียว 3 สาขา (ขณะนั้น มีอยู่แล้วเพียง 5 สาขา) และก็ค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีสาขาถึง 57 แห่ง ขณะที่ในเขตกรุงเทพฯ มี 56 สาขา
คนที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกด้านสาขามาโดยตลอดก็คือ ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเข้ามาร่วมงานกับศรีนครตั้งแต่ปี 2507 (อ่านเรื่องราวของเขาในล้อมกรอบ)
ปี 2527 ธนาคารศรีนครมีสินทรัพย์ 33,174.1 ล้านบาท มีเงินฝาก 20,783.4 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อ 23,497.4 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 4.41% ถือเป็นอันดับที่ 5 ในจำนวน 15 ธนาคาร
แต่ปรากฏว่า 5 ปีให้หลัง ศรีนครเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงปรากฏว่ามีความถดถอยลงทุกด้าน ล่าสุดปี 2532 มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 54,471.1 ล้านบาท มีสินเชื่อ 40,005.5 ล้านบาท เงินฝาก 39,526.3 ล้านบาท มีมาร์เก็ตแชร์ 3.65% เมื่อเทียบกับทั้งระบบธนาคารแล้วตกไปอยู่อันดับที่ 9
ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างมากมายตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากปีละเฉลี่ยกว่า 22.75% ขณะที่การเติบโตของธนาคารศรีนครเฉลี่ยปีละ 18.03% ซึ่งต่ำกว่าธนาคารทั้งระบบ
หากพิจารณาผลกำไรของธนาคารศรีนครจะพบว่า 35 ปีแรกนั้นกำไรเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2528 กำไรสูงที่สุดคือ 124.8 ล้านบาท หลังจากนั้นปี 2529 กำไรตกลงมาเหลือ 82.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาบ้างในปี 2530 และ 2531 กล่าวคือ 130.7 และ 135.9 และกลับตกลงมาอย่างมากในปี 2532 เหลือเพียง 94.3 ล้านบาท
แต่หากจะคิดกันตามหลักการบัญชีที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วศรีนครจะขาดทุนประมาณพันกว่าล้านบาท
พิจารณาจากงบการเงินปี 2532 มีข้อสังเกตอย่างน้อย 3 ประการกล่าวคือ
หนึ่ง - กำไรจากทรัพย์สินรอการขายจากหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 2.10 "ทรัพย์สินรอการขายส่วนใหญ่ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการชำระหนี้ กำไรหรือขาดทุนในทรัพย์สินรอการขายจะรับรู้เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นแล้ว นอกจากการขายทรัพย์สินรอการขายผ่อนชำระระยะยาว ธนาคารรับรู้กำไรจำนวน 330.59 ล้านบาท เป็นรายได้ทั้งจำนวนสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2532 ซึ่งหากธนาคารได้ปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปแล้ว รายได้สำหรับสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2532 จะลดลง 298.5 ล้านบาท"
สอง-การตั้งสำรองหนี้สูญไม่ครบถ้วน จากงบดุลปี 2532 กล่าวไว้ว่าจะสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเนื่องจากมีสินเชื่อ และดอกเบี้ยค้างรับที่ค้างเกินกำหนดชำระเป็นเวลานาน ระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อที่ 5 ว่าประมาณ 2.68 ของสินเชื่อ ซึ่งสินเชื่อในปีนั้นก็คือ 40,005.5 ล้านบาท ตัวเลขที่ควรจะปรากฏก็คือ 1,072 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าตั้งจริง เพียง 525.5 ล้านบาทเท่านั้น ขาดไป 546.5 ล้านบาท
สาม-ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทในเครือ 2 บริษัทคือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ศรีนครซึ่งพิจารณาจากฐานะการเงินที่เป็นจริงในปัจจุบันมากระทบยอดด้วย หรือเรียกกันว่า LIGUIDATE ซึ่งจะต้องถือเป็นค่าใช้จ่าย แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือ
ปี 2532 ธนาคารศรีนครลงทุน 488.1 ล้านบาท ถือหุ้น 96.67% ในบงล.มหานครทรัสต์ ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นหลังจากขาดทุนสะสม 408 ล้านบาท มียอดเหลือเพียง 97.1 ล้านบาท นั่นก็คือ เม็ดเงินสุทธิที่เหลือจริงๆ ก็คือ 96.7 ล้านบาท (97.1 คูณ 96.67%) เท่ากับเงินหายไป 351.4 ล้านบาท
ส่วนบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ศรีนคร ธนาคารศรีนครลงทุนไปทั้งสิ้น 150 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 99.45% แต่เนื่องจากมีขาดทุนสะสม 91.7 ล้านบาท ทำให้เงินส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือ 64 ล้านบาท เงินที่นำไปลงทุนจึงเหลือจริงๆ เพียง 63.9 ล้านบาท (64.3 คูณ 99.45%) เท่ากับเงินหายไปล้ว 86.1 ล้านบาท
รวมข้อสังเกตทั้งสามข้อแล้ว ธนาคารศรีนครก็ควรจะตัดค่าใช้จ่ายอีกทั้งหมดประมาณ 1310.5 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ก็คงไม่ต้องกระทบยอดให้ดูแล้วว่าหากทำตามหลักการนี้ธนาคารศรีนครจะขาดทุนสักเท่าไหร่
แต่อย่างไรตามที่วิเชียร เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ชี้แจงในเรื่องทรัพย์รอการขายว่า "มันเป็นความผิดพลาดระหว่างฝ่ายบัญชีซึ่งบอกว่าเราทำได้ แต่ทางการบอกว่าไม่ได้ ผมก็ต้องเชื่อฝ่ายบัญชี ผู้ตรวจบัญชีเขาก็เซ็นรับรอง เราจะไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าได้อย่างไร หลังวันที่ 31 มีนาคม 2533 คุณไปดูได้เลยจะไม่พบตัวเลขตัวนี้อีก เพราะสินทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินที่เราขายและได้เงินเข้ามาแล้ว เรื่องไหนที่ทางการเขาติงมาเราก็แก้ไขอยู่แล้ ไม่ผิดกฎ ไม่ผิดกติกา"
ผู้เชี่ยวชาญในวงการเงินท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าการที่ธนาคารถึงกับต้องขายทรัพย์สินเพื่อนำมาซึ่งรายได้ ซึ่งมันมิใช่รายได้จากการดำเนินการ นับว่าอาการหนักเอาการ เขากล่าวถึงยุคที่ธนาคารเอเชียทรัสต์เริ่มส่อแววเกิดปัญหาก็ตรงที่เริ่มทยอยขายทรัพย์สิน!!!
ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของธนาคารพาณิชย์โดยเริ่มมองศรีนครด้วยสายตาวิตกมาหลายปีแล้ว และส่งหนังสือแจ้งให้ธนาคารศรีนครแก้ไขเรื่องต่างๆ มาเป็นระยะโดยเฉพาะต้นปี 2531 ซึ่งพอจะสรุปสิ่งที่เป็นความเห็นของธนาคารชาติได้ว่า
หนึ่ง-ฐานะเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์จัดอยู่ในระดับอ่อน เนื่องจากมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจัดชั้นได้จำนวนสูง สินทรัพย์ทั้งสิ้นเมื่อหักด้วยสินทรัพย์จัดชั้นสูญทั้งจำนวนและกึ่งหนึ่งของสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยส่วนที่เกินเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยแล้ว จะพบว่าสูงกว่าหนี้สินเพียง 428 ล้านบาท
สอง-ณ วันตรวจสองนั้นธนาคารศรีนครได้ให้สินเชื่อและก่อภาระผูกพันการประกันหนี้แก่กิจการที่ธนาคาร หรือกรรมการ หรือพนักงาน ชั้นบริหารของธนาคาร หรือบุคคลในสกุลเตชะไพบูลย์และเครือญาติจำนวน 120 ราย 12,113 ล้านบาท หรือเท่ากับ 5 เท่าของเงินกองทุนในขณะนั้น และในจำนวนนี้ 3,046 ล้านบาท สินทรัพย์สุทธิมีจำนวนต่ำกว่าหนี้สิน นอกจากนี้สินทรัพย์สภาพคล่องก็อยู่ในระดับไม่พอใช้ ธนาคารมิได้ควบคุมดูแลภาระหนี้สินของกิจการในเครือผลประโยชน์ให้อยู่ในขอบเขตและปริมาณที่เหมาะสม ไม่ได้เร่งดำเนินการจดทะเบียนจำนองที่ดินที่ลูกหนี้มอบเป็นหลักประกันเพื่อลดความเสียหาย
สาม-ความสามารถในการหารายได้และทำกำไรอยู่ในระดับต่ำ การจัดการและการควบคุมสาขามีจุดอ่อนที่จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไข มีการปฏิบัติ ในลักษณะตกแต่งบัญชีและเสริมสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถจ่ายเงินปันผลซึ่งแท้ที่จริงแล้วมิใช่รายได้ที่มาจากการดำเนินการ
และตามมาด้วยมาตรการของธนาคารชาติอีกมากมายเพื่อให้ธนาคารเร่งแก้ไข อาทิเช่นห้ามให้สินเชื่อกิจการที่ธนาคารศรีนคร หรือตัวแทนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารศรีนครหรือตัวหรือก่อภาระผูกพันตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะมีหลักทรัพย์จำนองหรือจำนำให้ถูกต้องตามกฎหมาย การเรียกการค้ำประกันเงินให้สินเชื่อเพื่อให้ครบตามที่ควรจะเป็น, การเรียกเก็บลูกหนี้ที่มีปัญหาของบงล.มหานครทรัสต์ในสมัยที่ไชยทัศน์เป็นผู้มีอำนาจจัดการและลูกหนี้รายใหญ่ตามสาขาของธนาคารศรีนครอีกหลายแห่ง และก็มีอีกหลายข้อ
จากผลประกอบการที่ปรากฏอยู่จริงในงบการเงินและรายงานการตรวจสอบของธนาคารชาติเมื่อ 2531 จะพบว่าศรีนครตกอยู่ในภาวะวิกฤติที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคาร
อย่างไรก็ตามเพื่อความเป็นธรรมแก่ธนาคารศรีนคร "ผู้จัดการ" ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารหลายท่านเพื่อทราบความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาและภาพอีกด้านหนึ่งที่พวกเขามอง
"รายงานการตรวจสอบฉบับนั้นเป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ปี 2531 ยอดหนี้ที่ระบุว่า 12,113 เป็นลูกหนี้ทั้งหมดในเครือเตชะไพบูลย์ 120 รายนั้นไม่ใช่แน่นอน คือแบงก์ชาติเป็นห่วงเพราะคิดว่าเราปล่อยในเครือมากเกินไป น่าจะกระจายมากกว่านี้ อันที่จริงหมื่นกว่าล้านก็ใช่ว่าจะเสียหายทั้งหมด ไม่งั้นแบงก์อยู่ไม่ได้ ความจริงแล้วในหลายกรณีแล้วผมมีพรรคพวก แล้วก็มีหุ้นอยู่ร้อยหุ้น ผมก็กลายเป็นผู้ถือหุ้น เขาก็มาใช้บริการ เขาก็บอกว่าเป็นของผมจัดเข้าอยู่ในเครือเลย อย่างนี้มันเยอะ เพราะเพื่อนฝูงแต่ละคนก็อยากจะเอาชื่อไปลงหนี้สิน ในเครือจริงๆ นี่ไม่มีปัญหาเลย ปีที่แล้วหนี้สินในเครือเตชะไพบูลย์มีอยู่สี่พันกว่าล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2532 ชำระคืนมา 2,500 กว่าล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2533 มียอดเหลือเพียง 1,110 ล้านบาท เป็นหนี้ที่มีหลักประกันอยู่พันกว่าล้านบาท เพราะฉะนั้นจะถือว่าเสียหายได้อย่างไร เมื่อปี 2531 คุณก็รู้ว่ามันเป็นผลพวงของเศรษฐกิจที่ไม่ดีติดต่อกันมา ผมถึงบอกว่าพวกเตชะไพบูลย์ไม่มีปัญหา ไม่มีใครเชื่อ พูดตลอดเวลา เราดูตัวเอง และเราก็รู้ว่าไม่มีปัญหา อย่างสุรานี่ 2 พันกว่าล้านเขาก็จ่ายหมดแล้ว การที่บอกว่าให้เรายุติการปล่อยสินเชื่อนั้น มันเป็นเรื่องที่อยู่ๆ คุณก็มาห้ามลูกผมกินข้าว มันจะไหวไหม มันจะต้องแยกแยะกันให้ชัดเจนหน่อย การปล่อยสินเชื่อเรามีขั้นมีตอนอยู่แล้ว เราไม่ได้หลับหูหลับตาปล่อย เราต้องคิดถึงความสามารถชำระหนี้เป็นหลักอยู่แล้ว" วิเชียรชี้แจงอย่างยาว เพราะถูกอัดฝ่ายเดียวมาตลอดว่าปัญหาทั้งหลายมาจากหนี้สินในเครือเตชะไพบูลย์
ขณะที่ ไชยทัศน์ อดีตกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ผู้คุมฝ่ายสาขาทั้งหมดโต้กลับว่า
"ความจริงผมฟ้องได้นะ มาระบุชื่อผมอย่างนี้ แล้วมันถูกเผยแผ่สู่สาธารณชนด้วย แต่ขอโทษขอโพยกันแล้ว ก็แล้วไป ที่เขากล่าวอ้างมาในนิตยสารฉบับหนึ่งนั้นไม่จริงเลยแม้แต่รายเดียว ธนาคารชาติตรวจสอบผิดอย่างแรง เพราะอะไรก็ไม่ทราบ ก็โยนกันไปโยนกันมา ธนาคารชาติบอกว่าเพราะผู้จัดการสาขาไม่บอกรายละเอียด การพิจารณาสินเชื่อเขาวิเคราะห์กันตั้งแต่สาขา มีหน่วยวิเคราะห์แล้วก็เข้ากรรมการสินเชื่อพิจารณากับเสร็จแล้ว เขาจึงจะส่งมาให้ผม โดยมีใบปะหน้ามาเลยว่าเขาเห็นด้วย แล้วผมก็เซ็นโดยไม่มีโอกาสรู้จักลูกค้าแล้วเอกสารทั้งหมดก็จะเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่ แล้วก็จะส่งใบอนุมัติใบเดียวไปที่สาขา พอเวลาพนักงานธนาคารชาติมาตรวจก็เจอแต่ใบปะหน้าก็บอกว่าไชยทัศน์พิจารณาไม่รอบคอบ มีใบเดียวก็อนุมัติเลยนี่ แล้วบังเอิญเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาก็บอกว่าไชยทัศน์เป็นคนปล่อย บังเอิญโชคดีรายที่แบงก์ชาติเขาระบุมานั้นผมไม่รู้จักเลย"
อย่างไรก็ตามเขาไม่ปฏิเสธว่าสินเชื่อในส่วนสาขานั้นย่อมจะต้องมีเสียบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องของการค้าตามปกติ ในส่วนที่มีการโจมตีกันมากว่าเขาปล่อยสินเชื่อที่มีลักษณะไม่มีหลักประกันออกไปมากนั้น เขาปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
"ไม่จริง สาขานี่ตั้งตัวเป็นโรงรับจำนำเลย มาเอาเงินไปก็ต้องของวางไว้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผมว่า CLEAN LOAN นี่ไม่ถึง 10% ของจำนวน 100% ที่ทางฝ่ายปล่อยออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นรายละ 2-3 หมื่นบาท เรื่อง CLEAN LOAN นี่ผมถือเป็นเรื่องมุสา" เชยทัศน์ย้ำหนักแน่น
สาเหตุของความตกต่ำนั้นวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา แต่คงยังไม่ค่อยมีใครได้ฟังจากปากของ วิเชียร เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของศรีนครให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ผู้จัดการ" อย่างเปิดใจซึ่งสรุปได้ว่า
หนึ่ง-การไม่ได้ปรับตัวเองให้พร้อมที่จะแข่งกับคู่ต่อสู้ทั้งในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อและการหาเงินฝาก โดยเฉพาะการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างค่อนข้างช้า
สอง-การปล่อยสินเชื่อ "รวมศูนย์" อยู่ที่ส่วนกลาง ปล่อยจากสาขาน้อย กล่าวคือ 80% ของสินเชื่อทั้งหมดมาจากส่วนกลาง ทำให้ขาดการพัฒนาผู้จัดการสาขาในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่งานไปล้นที่สำนักงานใหญ่ซึ่งทำไม่ทัน แล้วส่วนกลางก็เจอปัญหามันสมองไหลอีกด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ และการที่คนจำกัดนี้ทำให้สินเชื่อมีน้อยลง เช่นปี 2532 ธนาคารตั้งเป้าให้อัตราเพิ่มของสินเชื่อเมื่อเทียบกับปีก่อน 34% แต่จริงๆ แล้วธนาคารทำได้เพียง 20% เท่านั้น มันจึงส่งผลให้รายได้ลดลง
สาม-ปัญหาการขาดแคลนผู้บริหารระดับกลาง แล้วหลายส่วนที่มีอยู่ก็ยังขาดความคิดที่ทันสมัย ไม่ได้รับการพัฒนาให้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย หลายกรณีเป็นการแต่งตั้งตามระบบ "อาวุโส" ไม่ได้คิดถึงความสามารถ คือพนักงานเหล่านี้ค่อนข้างมีความคิดอนุรักษ์ซึ่งก็ดี เพียงแต่ในภาวะการแข่งขันเช่นนี้ เขาอาจจะขาดความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าว่าจะต้องทำอะไรบ้าง บางครั้งก็ไปทำงานของเสมียนเสียมากกว่า
นั่นคือปรากฏการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเราวิเคราะห์ให้ลึกลงไปในแต่ละประเด็นข้างต้นจะพบว่า
หนึ่ง-ความไม่สามารถในการแข่งขันซึ่งปัญหาใหญ่อยู่ที่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในแต่ละวัน เป็นงานที่มีความสำคัญมาก ความจริงแล้วควรจะมีสำนักบริหารเงินอย่างที่หลายๆ ธนาคารทำกัน ซึ่งจะต้องมี FUND MANAGER ที่จะต้องคอยคิดคำนวณเงินแต่ละวันที่ไหลเข้ามาว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด ควรจะปล่อยในราคาเท่าไหร่ ซึ่งคนในวงการธนาคารหลายคนถึงกับ "ประหลาดใจ" ที่ศรีนครไม่มีหน่วยงานหัวใจนี้
อย่างไรก็ตาม วิเชียรบอกว่าได้ตั้งขึ้นแล้วเมื่อปลายปี 2532 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่
"งานด้านนี้เรามีมานานแล้วแต่เป็นงานฝากกับ ดำรงค์พันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งอยู่ฝ่ายต่างประเทศช่วยดูแลอยู่ การคิดต้นทุนเขาก็คิดทุกวันอยู่แล้ว เราหาคนมานานพอสมควรในที่สุดก็ได้คุณสุธี สหัสรังษี ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาจากธนาคารมหานครมาเป็นผู้อำนวยการประจำสำนักบริหาร" วิเชียรกล่าว
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญการวางผังองค์กรยังวิจารณ์การจัดแผนผังองค์กรของศรีนครในปัจจุบันว่าเป็นผังที่มีหน่วยงานที่ก่อให้เกิดรายได้น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เขาเรียกมันว่า "ORGANIZATION SLACK" ซึ่งวิเชียรก็ยอมรับและกล่าวว่าธนาคารกำลังจัดวางแผนผังการบริหารใหม่หมดซึ่งจะประกาศใช้ประมาณเดือนกรกฎาคม
สอง-การปล่อยสินเชื่อนั้นไม่เพียงรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางประมาณ 70-80% เท่านั้น แหล่งข่าวระดับสูงในศรีนครให้ข้อมูลกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"ศรีนครวางตัวเองเป็นโฮลเซลส์ สินเชื่อ 100% นั้นปรากฏว่ากระจุกอยู่ใน 2,000 ราย มีประมาณ 100 ราย ที่เป็นคนของเตชะไพบูลย์ และเครือญาติคิดเป็น 40% ขณะที่อีก 60% อยู่ใน 1,900 บริษัทนอกเหนือ ส่วนปล่อยกู้ปลีกย่อยนั้นน้อยมาก และ 40% นี้เป็นหนี้ที่มีความสามารถในการชำระคืนไม่ดี นี่เป็นการบริหารโครงสร้างสินเชื่อที่อันตรายมาก"
ลักษณะการปล่อยสินเชื่อให้กับกิจการในเครือจำนวนมากนี่เอง หากกิจการเหล่านั้นไปได้ดีทุกฝ่ายก็ชื่นมื่น แต่เมื่อกิจการเหล่านั้นประสบปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ธุรกิจของเตชะไพบูลย์เกือบ 100% เช่นกรณีเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นโครงการลงทุนมูลค่ากว่าหมื่นล้านซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2526 ใช้เงินกู้ของธนาคารไปแล้วประมาณ 700-800 ล้านบาท เงินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการก่อสร้าง เพิ่งจะมีรายได้เข้ามาบ้างในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ : ยิ่งช้ายิ่งเละ)
กรณีบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมประเทศไทย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกๆ ของไทย แต่ปรากฏว่าช่วง 10 ปีแรก ใช้สินเชื่อของธนาคารถึง 800 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าขายได้น้อยมากอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้บริษัทต้องประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอดเพิ่งจะมาฟื้นตัวเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา (อ่านล้อมกรอบ บางปู : กว่าจะฟื้นก็หืดขึ้นคอ)
แล้วก็ยังมีทรัสต์ซึ่งเป็นเครือญาติของเตชะไพบูลย์อีกหลายแห่งที่มีปัญหา เช่นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ศรีนครซึ่งมีขาดทุนสะสมจนถึงปี 2532 นั้นประมาณ 92 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เสียมาก็คือ บงล.มหานครทรัสต์ ซึ่งโยงไปถึงโรงแรมเชียงใหม่ออคิด ซึ่งว่ากันว่าเสียหายไปกว่า 800 ล้านบาทและนั่นเป็นจุดอ่อนที่ไชยทัศน์ในฐานะผู้ดูแลโดยตรงถูกกดดันจาก "ผู้ใหญ่" ในธนาคาร จนกระทั่งตัดสินใจลาออกไปในที่สุด (โปรดอ่าน มหานครทรัสต์-เชียงใหม่ออคิด : ศึกในอกของไชยทัศน์)
นอกจากนี้ในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว สงครามน้ำเมาซึ่งรบกันอย่างดุเดือดและยังไม่สามารถตกลงกันได้นั้น ฝ่ายเตชะไพบูลย์ต้องทุ่มสุดตัวซึ่งทำให้ต้องใช้จ่ายเงินไปจำนวนมหาศาล แม้ว่าภายหลังจะรวมกันได้แล้วมีการชำระคืนธนาคารแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับ 3 ปีที่แล้วมันย่อมจะส่งผลต่อฐานะของธนาคารไม่น้อย
(ตำนานการต่อสู้ของเหล้านั้น "ผู้จัดการ" เขียนไปแล้วอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ผู้สนใจหาอ่านได้จาก "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนเมษายน 2527, ธันวาคม 2528 และ ธันวาคม 2529)
ยิ่งไปกว่านั้นลักษณะการปล่อยสินเชื่อในอดีตนั้นมันไม่ได้เป็นหลักเกณฑ์ตามหลักธุรกิจทั่วไป แต่มันเป็นเรื่องของสายใครสายมัน
"ต่างคนต่างปล่อย คุณอุเทน คุณอุธรณ์ คุณไชยทัศน์ คุณวิรุฬ คุณวิเชียร ในที่ประชุมจริงๆ แล้วก็จะไม่ค่อยมีใครค้านของคนอื่นเพราะทีอั๊วแล้ว ลื้ออย่ายุ่ง" อดีตพนักงานที่อยู่กับศรีนครมานานเล่า
อันที่จริงเรื่องราวเหล่านี้เป็นที่รู้กันดีในหมู่พนักงาน แต่ก็ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ เพราะว่าเคยมีการแสดงให้เห็นแล้วว่าผลลัพธ์ของความกล้าประเภทนี้ก็คือต้องเดินกันคนละทาง
ตัวอย่างในอดีตก็คือ วิชาญ ฤทธิรงค์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีคนหนึ่งที่ทำงานกับธนาคารแห่งนี้มานับสิบปี ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารทหารไทย เขาเป็นผู้วางระบบบัญชีของธนาคารศรีนครและเป็นผู้รู้ความลับภายในธนาคารเป็นอย่างดี การที่เขาต้องลาออกในครั้งนั้น (ปี 2523) เป็นที่รู้กันว่าเนื่องมาจากบทความเรื่อง "จะกู้เงินจากธนาคารได้อย่างไร" ซึ่งวิชาญเขียนตีพิมพ์ลงใน "สาส์นศรีนคร" ซึ่งเป็นวารสารรายไตรมาสที่ทางธนาคารจัดทำขึ้นเพื่ออ่าน บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2523 ใจความตอนหนึ่งก็คือ
"…การพิจารณาคำขอให้กู้อีกวิธีหนึ่ง คือใช้หลักเกณฑ์เข้าหลังบ้านหรือถ้าเป็นนักมวยก็เป็นนักชกวงในทีเดียว เช่นในกรณีท่านเป็นญาติกับกรรมการท่านใดท่านหนึ่ง หรือเป็นผู้คุ้นเคยกับผู้มีอำนาจอนุมัติเงินกู้ของธนาคาร อาจจะคุ้นเคยโดยเป็นเพื่อนนักเรียนเก่าหรือเป็นเพื่อนภรรยา (ยิ่งสำคัญ) หรือเพื่อนบุตรชาย บุตรสาวของบุคคลดังกล่าว หรือเป็นผู้ที่บุคคลเหล่านี้แนะนำหรือเป็นนักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ก็จะมีการผ่อนปรนจนชนิดสุดสายป่านทีเดียวก็มี และยิ่งกว่านั้นบางรายอาจเตรียมตัดหนี้สูญไว้ล่วงหน้าแล้วก็ได้ ซึ่งวิธีการหลังนี้ เพียงแต่ท่านยื่นคำขอกู้เท่านั้นก็จะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้กู้ทันทีโดยไม่ผ่านวิธีการยืดยาว กล่าวง่ายๆ ก็คือยังไม่ทันออกแรงก็ได้แล้ว" หลังจากนั้นไม่นานก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวารสารฉบับนี้ถูกเก็บกลับคืนทั้งหมด พร้อมทั้งยกเลิกการจัดพิมพ์วารสารฉบับนี้ไปพักใหญ่ (เพิ่งจะมาเริ่มใหม่ในระยะหลัง) พร้อมๆ กับที่วิชาญก็ต้องเก็บข้าวเก็บของหางานใหม่ ว่ากันว่าเรื่องบางเรื่องที่มันจริงเกินไปก็ "ผู้ใหญ่" ก็รับไม่ได้
สาม-ปัญหาบุคลากรนั้นไม่เพียงเป็นเรื่องความขาดแคลนพนักงานระดับกลางเท่านั้น ขณะนี้ศรีนครขาดแคลนพนักงานที่มีฝีมือในทุกระดับ ในระดับสูงก็ยังขาด "แม่ทัพ" ผู้มีความสามารถในการกำหนดทิศทางและวางแผนยุทธศาสตร์ของธนาคาร ในระดับ "ผู้จัดการสาขา" นั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาในด้านพื้นฐานการศึกษาซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี เพราะไต่เต้ามาจากพนักงานในระดับล่างขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้รับการอบรมมากเท่าที่ควร เป็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งของธนาคารในขณะนี้ ไชยทัศน์ ยอมรับข้ออ่อนในจุดนี้
"เราต้องยอมรับ เพราะคนของเราเป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่เซลส์ ซึ่งจริงผู้จัดการสาขาต้องเป็นเซลส์ จะมานั่งบอกว่าข้าพเจ้ามีแต่ความซื่อสัตย์ไม่ได้ เรายอมรับว่าเทรนนิ่งของเราไม่ดี เราเลื่อนคนขึ้นมาจากระดับล่าง มีระดับปวช. เยอะ ซึ่งเขาอยู่กันมานานแล้ว พวกนี้มาโตในสมัยผม เราไม่ได้เป็นราชการที่จะบอกว่าคุณไม่ได้จบปริญญาจึงขึ้นไม่ได้ เขาก็ผ่านการทดสอบแล้วว่าทำงานได้ สมัยก่อนเขามีความเชื่อกันว่าเรียนสูงปกครองยาก พอสมัยผมก็เลยรับพวกปริญญาเข้ามามาก ฝ่ายบริหารสาขาเป็นฝ่ายแรกที่พนักงานจบปริญญาทั้งหมด"
ปัญหาโครงสร้างอำนาจในธนาคารศรีนคร เคยเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความสับสนในการบริหารไม่น้อย
ที่สำคัญก็คือการไม่สามารถทำงานในลักษณะที่เป็น "ทีมเวิร์ค" ได้เลย
วิเชียร เตชะไพบูลย์ เติบโตมาจากสายการค้า เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็ดูแลฝ่ายการค้าและงานทั่วๆ ไปของธนาคาร
ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ อดีตกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เขาบุกเบิกและดูแลงานด้านกิจการสาขามากว่า 20 ปี ด้วยลักษณะงานและบุคลิกส่วนตัวของ "ความเป็นไชยทัศน์" ทำให้เขาเป็นคนที่มีบารมีสูงมากในแบงก์ ลูกน้องรักใคร่นับถือมาก (อ่านเรื่องของไชยทัศน์ในล้อมกรอบ น้องอุเทน : ใครเป็นใคร)
ความจริงคนหนึ่งดูด้านธุรกิจและอีกคนดูในด้านการปกครอง ก็น่าจะเป็นสูตรผสมที่ลงตัวไม่น้อย และแหล่งข่าวใกล้ชิดยืนยันว่าแท้ที่จริงแล้ว "อากับหลาน" คู่นี้รักกันมากสมัยเป็นนักเรียนอยู่ในบอสตัน ทั้งสองคนนี้ก็เคยตกลงกันแล้วว่าจะแบ่งงานกันแบบนี้ และไชยทัศน์ก็บอกเสมอว่าเขายอมรับระบบ "รัชทายาท" และตัวเขาก็คิดว่าวิเชียรเหมาะสมที่สุด ไชยทัศน์บอกว่าเขาไม่ถนัดที่จะเป็นเบอร์หนึ่ง "คุณจะเอานักรบมานั่งห้องแอร์นี่ไม่มีทาง ผมอยู่กลางแดดกลางฝน ผมมีความสุขอยู่แล้ว และผมก็พอใจในวิถีทางนี้"
ความมากบารมีของไชยทัศน์โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวิเชียรซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่หรือแม้กระทั่งอุเทนเองก็ตาม ทำให้อุเทนไม่สบายใจมากขึ้นทุกขณะ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอุเทนคงนอนตาไม่หลับแน่!!!
แต่อุเทนเป็น "ตั้วเฮีย" ที่เป็นคนที่ห่วงภาพพจน์ตัวเองค่อนข้างมาก "พี่ใหญ่จะต้องเป็นคนโอบอ้อมอารี" อะไรที่มันเกิดขึ้นก็เป็นเพราะความจำเป็นทางธุรกิจ มันเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลือก อย่างกรณีอุธรณ์การเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารก็เพราะต้องการจะให้ธนาคารไปสู่ทิศทางของมืออาชีพ มาถึงกรณีไชยทัศน์นี่อุเทนก็บอกว่าเป็นเพราะธนาคารชาติบีบมา ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีปัญหาหรือกรณีมหานครทรัสต์!
การนำเอา "คนนอก" ที่เชื่อกันว่าเป็น "มืออาชีพ" เข้ามาช่วยนั้น ไม่มีใครทราบว่าตอนอุเทนไปเชิญบุคคลเหล่านี้เป็น "ยันต์" หรือต้องการให้มีบทบาทเพียงใด แต่อุเทนก็คงคิดไม่ถึงว่ามันทำให้เกิดศึกภายในกันวุ่นวายไปหมด!
สหภาพแรงงานซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาเกือบ 40 ปี ก็ถูกจัดตั้งหลังจากที่ "คนนอก" เข้ามาไม่นานนัก จากนั้นก็มีใบปลิวโจมตีบุคคลเหล่านั้นออกมาอย่างมากมาย ทั้งในนามสหภาพและใบปลิวเถื่อนที่ไม่รู้ที่มาอีกมากมาย จนกระทั่งต้องมีการเรียกตำรวจมาจับ "เด็ก" ที่ถูกจ้างมายืนแจกหน้าธนาคาร เป็นเรื่องเป็นราวจนกระทั่งอุเทนต้องออกหนังสือชี้แจงและมีการจัดแถลงข่าวเพราะเรื่องมันหลุดออกไปภายนอกด้วย เพราะใจความของใบปลิวส่วนใหญ่เป็นความไม่พอใจในนโยบายและหลักปฏิบัติบางประการของกรรมการบริหารใหม่ พวกเขามีความรู้สึกว่าผู้มาใหม่มองพนักงานเก่าไม่มีประสิทธิภาพ มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรแบบข้ามขั้นตอน และอื่นๆ อีกมาก
"ผู้มาใหม่" ถูกปฏิกิริยาต่อต้านมาก พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับการ "แบ็ค" ที่ดีพอก็รู้สึกอึดอัด หลายๆ คนที่กรรมการบริหารเหล่านี้ดึงตัวมาก็พากันลาออกไปด้วยความเซ็ง!
ว่ากันว่าภารกิจที่สำคัญหนึ่งของผู้มาใหม่ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามก็คือเอามา "กั๊ก" อำนาจและบารมีไชยทัศน์ไม่ให้แผ่ขยายไปมากกว่านี้ ซึ่งเกมนี้คนใกล้ชิดไชยทัศน์ก็พากันเชื่อเช่นนั้น
"ผมคิดว่าเขาเอามาแก้ภาพพจน์เป็นด้านหลัก แล้วก็กั๊กอำนาจคุณไชยทัศน์ แต่เล่นเกมกันจนลืมนึกไปว่า ถึงที่สุดแล้วผลเสียมันเกิดแก่ธนาคาร เพราะนอกจากจะทำให้เสียความรู้สึกแล้ว ในแง่การบริหารคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้าราชการกันมาเกือบตลอดชีวิต เขานำเอาระบบราชการเข้ามาใช้ในการบริหาร ทำให้งานมีระเบียบพิธีการมากมาย ขณะที่ธนาคารต่างๆ เขาคล่องตัวและกระจายอำนาจ แต่ของเรากลับรวมศูนย์มากขึ้น เพราะความไม่ไว้วางใจ ทุกคนก็เลยกลัวจะถูกจับผิด ก็ยิ่งไม่ทำอะไร โดยเฉพาะสินเชื่อก็ไม่ค่อยกล้าปล่อย เพราะถ้าพลาดแล้วโดนเล่นแน่ ใครจะกล้าเสี่ยงอยู่เฉยๆ ดีกว่า นี่เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารตกต่ำ ปล่อยสินเชื่อไม่ได้ตามเป้าหมาย" แหล่งข่าวในศรีนครวิเคราะห์
อีกปัญหาหนึ่งก็คือความสับสนในสายการบังคับบัญชาและความไม่เป็นเอกภาพ หลายกรณีที่ส่วนกลางสั่ง แล้วฝ่ายสาขาไม่ทำตาม ซึ่งแหล่งข่าวในฝ่ายบริหารสาขาก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น
"ก็อาจจะจริง เพราะความไม่พร้อมของเขาแล้วจะให้เราปฏิบัติได้อย่าไร สมมุติว่ามีบริการใหม่ ส่วนกลางไม่เคยบอกเราเลย แต่ปรากฏว่าบอกหนังสือพิมพ์ไปแล้ว แต่ไม่เคยบอกรายละเอียด เราจะไปปฏิบัติได้อย่างไร เขาเองก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ คนพูดไม่ได้ทำแต่คนทำจริงๆ ไม่เคยพูด แล้วมันขาดการสื่อสารกัน เราอยู่บริหารสาขานี่ลำบากใจมาก เขาสั่งมาเป็นนามธรรมแต่เราต้องไปทำเป็นรูปธรรม แล้วออกสินค้าตัวใหม่แต่ละตัวไม่เคยถามเรา"
ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแล้วเป็นการวิเคราะห์ถึงปัญหาของธนาคารในหลายแง่หลายมุม ซึ่งมันมีทั้งปัญหาพื้นฐานของธนาคารเอง การไม่มีทิศทางในการเติบโตที่แจ่มชัด ปัญหาการเมืองภายในธนาคาร ฯลฯ
แต่ไม่ว่าเบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดจะเป็นเช่นไร สิ่งที่คนทั่วไปกำลังจับตาดูก็คือ หลังจากที่ศึกครั้งใหญ่ยุติลงไปแล้ว ด้วยการลาออกของไชยทัศน์และผู้บริหารมืออาชีพทั้งหลายจากนี้ไปธนาคารศรีนครจะเป็นอย่างไร?
ธนาคารศรีนครในยุคนี้ก็ยังเป็นศรีนครของ "เตชะไพบูลย์" อยู่นั่นเอง
เพียงแต่เป็นศรีนครในยุคของ "ลูกๆ" อุเทนโดยแท้ เพราะผู้ที่มาแทนไชยทัศน์ก็คือวิวัฒน์ เตชะไพบูลย์ น้องชายแท้ๆ ของวิเชียร ผู้ที่คุมฝ่ายการค้าและต่างประเทศก็คือ วิรมิตร น้องชายคนที่สี่ของวิเชียรเป็นผู้ดูแล โดยที่วิรุฬน้องชายอีกคนยังรั้งตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แม้ว่าเขาแทบจะไม่ได้มาทำงานที่ธนาคารก็ตาม
ศรีนครหลังจากที่เกิดเรื่องภายในจนเป็นข่าวครึกโครมมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารอยู่ในสภาพที่บอบช้ำอย่างหนัก ดัชนีที่ชี้วัดได้อย่างชัดเจนที่สุดตัวหนึ่งก็คือราคาหุ้นซึ่งตกมาตลอด (โปรดดูล้อมกรอบ หุ้นศรีนครในรอบ 5 ปี)
แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริหารธนาคารท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า หากเขาเป็นอุเทน เขาก็อาจจะทำเช่นที่อุเทนทำมาตลอดหลายปีมานี้ เพื่อให้ธนาคารอยู่รอด การเอาขั้วอำนาจใด ขั้วอำนาจหนึ่งออกไปเสีย เพื่อแก้ปัญหาการบริหารที่คัดคานอำนาจกัน หรือไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่ "ใหญ่" ในศรีนครเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ แม้ว่าจะเป็นการหักหาญน้ำใจใครบางคน หรือเกิดข้อครหาที่ว่า "พี่รังแกน้อง" ทั้งเพื่อศรีนครหรือจะเพื่อความอยู่รอดของลูกๆ ก็ตาม ทางเลือกแบบนี้ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสุดสำหรับคนวัย 75 ที่ต้องการรักษาทุกสิ่งทุกอย่างให้มั่นคงที่สุดเช่นยุคที่ตนเองเคยสร้างและสะสมมา
แต่การกระทำเช่นนี้ก็คือการท้าทายครั้งสำคัญสำหรับอุเทนและลูก เพราะต่อไปนี้พวกเขาจะไม่มีคำแก้ตัวต่อไปแล้ว สำหรับผลประกอบการที่ตกต่ำสำหรับธนาคารศรีนคร ต่อไปนี้จะเป็นภาระของอุเทนและวิเชียรเพียงลำพังที่จะพัฒนาธนาคารต่อไป โดยไม่มีบรรดาน้องๆ ของอุเทนมายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป
อำนาจการบริหารทั้งหมดมา "รวมศูนย์" อยู่ในคนกลุ่มเดียวกันแล้ว จึงไม่มีข้ออ้างในลักษณ์นั้นอีกต่อไป
อุเทนนั้นประกาศว่าเขาจะเป็นผู้รับผิดชอบผลประกอบการที่เกิดขึ้นต่อผู้ถือหุ้น เขาอาจจะผิดตรงที่วางมือเร็วเกินไป ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องกลับเข้ามาดูแลอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่อุเทนพยายามทำสิ่งแรกก็คือบอกให้บริษัทในเครือหรือบรรดาลูกหลานที่ว่ากันว่าเกี่ยงกันไม่ค่อยจะยอมเอามาคืน ซึ่งไม่ใช่เพราะธุรกิจไปไม่ได้ แต่เพราะความคิดว่า "ทีลื้อไม่คืน แล้วอั๊วทำไมต้องคืน" ให้รีบๆ เอาเงินมาคืนธนาคารเสีย ซึ่งเท่าที่ "ผู้จัดการ" ทราบก็มีเงินจำนวนหนึ่งที่กลับคืนมาได้เหมือนกัน
เรื่องที่สองก็คือ อุเทนพยายามจะดึงลูกค้าเก่าแก่ที่คบค้ากันมาช้านานให้กลับมาใช้บริการธนาคารให้มากขึ้น ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะทำได้ในแวดวงที่จำกัดมากเพราะสังคมธุรกิจมันเปลี่ยนไปมาก พ่อค้าที่ผูกพันกันมานานกับอุเทนก็ล้มหายตายจากไปมาก รุ่นลูกก็กลายเป็น "ตี๋ผูกไท" กันไปหมดแล้ว สไตล์การทำธุรกิจเปลี่ยนไปจากคนรุ่นพ่อโดยสิ้นเชิง ความคิดในเรื่องนี้ของอุเทนนับว่าเป็นการหวนกลับไปหาความสำเร็จที่มันเป็นอดีตไปแล้ว
และการที่อุเทนลงมาดูด้านการบริหารมากขึ้นนั้น ในแง่หนึ่งมันก็ดีตรงที่มีคนมาจี้มากขึ้น แต่ในหลายกรณีมันกลับทำให้ลูกๆ "อารมณ์เสีย" เพราะในกรณีที่วิเชียรหรือวิรมิตรตัดสินใจไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว แต่ลูกน้องซึ่งเป็นคนเก่าแก่สมัยคุณอุเทนกลับนำเรื่องนั้นวิ่งตรงไปหาอุเทน ซึ่งบางครั้งอุเทนก็เชื่อลูกน้องเก่า ก็เลยทำให้บางคนถือโอกาสใช้ช่องทางนี้ให้เกิดประโยชน์ มันทำให้การบริหารสับสนพอสมควร และดูเหมือนกับว่าฝ่ายจัดการนั้นไม่มีอำนาจแท้จริง!!!
บางคนถึงกับวิจารณ์อุเทนแรงๆ ว่า เมื่อก่อนความสำเร็จของธนาคารอาจจะเกิดขึ้นเพราะน้ำมือของอุเทน เขาจึงเป็น ASSET ที่สำคัญยิ่ง แต่หากเขากลับมาใช้ความคิดเก่าๆ วิธีการเดิมๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้าของธนาคาร เขาก็อาจจะกลายเป็น "LIABILITY" ไปในที่สุด
ส่วนวิเชียรซึ่งปกติเป็นนายธนาคารที่ LOW PROFILE อยู่แล้ว ช่วงที่ผ่านมาก็ยิ่งเงียบ แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้เปิดเผยแนวทางในการพัฒนาธนาคารกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือธนาคารที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง ซึ่งผมรู้สึกว่าธนาคารที่ทำกำไรมากที่สุดไม่ใช่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด อาจจะเป็นธนาคารขนาดกลาง ผมอยากก้าวไปข้างหน้าช้าๆ แต่มั่นคง ไม่ใช่ก้าวโตแล้วพลัดหกล้ม สิ่งที่จะเน้นต่อไปคือเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ การปล่อยสินเชื่อจะต้องได้สัดส่วนกับเงินฝาก"
นั่นคือหลักการกว้างๆ แต่ในทางปฏิบัตินั้นวิเชียรเล่าถึงแผนการในระยะหกเดือนหลังของปี 2533 ไว้หลายเรื่องซึ่งสรุปได้ว่า
"ในด้านของการบริหารสาขานั้น เราได้เรียกผู้จัดการสาขามาพบทั้งหมด เพราะต้องการให้ส่วนกลางบอกอย่างไรก็ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน จะมีหน่วยงานที่เน้นในเรื่องการวิเคราะห์สินเชื่อมากขึ้น เพื่อประสานงานกับสำนักงานใหญ่มากขึ้น จะมีการขยายอำนาจของระดับเขตและระดับฝ่ายมากขึ้น และมีการสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้จัดการสาขาที่อยู่เกิน 4 ปี มีการเพิ่มบุคลากรด้านสินเชื่อตามสาขา การย้ายก็จะมีเป็นช่วงๆ ไม่ใช่ว่าเป็นการลงโทษ แต่ต้องการทำให้เป็นระบบ แล้วบางสาขาเราต้องการให้ทำธุรกิจครบวงจร ให้มีแผนกอิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต แล้วพวกเครื่องไม้เครื่องมือก็จะจัดหาให้ทันสมัยมากขึ้น สาขาไหนที่มันล้าสมัยมากก็จะจัดให้ก่อน"
จุดใหญ่ของวิเชียรก็อยู่ที่การจัดการด้านสาขาที่เขาไม่เคย "แตะ" มาก่อน เขาจึงต้องการ "กุมสภาพ" ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งคนที่เป็นตัวเชื่อมก็คือวิวัฒน์ ปัญหาในระยะต่อไปก็อยู่ที่ปฏิกิริยาของบรรดา "ผู้จัดการสาขา" ที่จะ "รับได้" กับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะการสับเปลี่ยนโยกย้ายแม้ว่าจะมีเป็นระลอก แต่การที่จะออกมาเป็นระบบว่าครบ 4 ปีต้องย้ายนั้น นั่นหมายความว่าจะต้องเป็นการโยกย้ายกันครั้งใหญ่ซึ่งจะต้องเสี่ยงต่อเรื่องขวัญและกำลังใจอยู่พอสมควร ผู้จัดการสาขาคนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกว่า
"ด้านหนึ่งมันเป็นการสลายฐานอำนาจเดิม เป็นการล้างมาเฟียที่อยู่ในที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป ข้อดีก็คือย้ายออกจากพื้นที่จะได้รู้ว่านั่งทับอะไรไว้บ้าง แต่ในแง่ธุรกิจอาจจะมีผลกระทบบ้าง เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งคงไม่ชอบเพราะความไม่คุ้นเคย อีกด้านหนึ่งภายในสาขาทุกคนก็ต้องปรับตัว แต่อาจจะดีก็ได้จะได้มีอะไรใหม่ๆ"
ในด้านการบริหารภายในจากนี้ไปคงมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากพอสมควรทีเดียว นั่นก็ขึ้นอยู่กับความกล้าหาญในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและความมีสายตาอันยาวไกลของผู้บริหารปัจจุบันอย่างแท้จริง
ส่วนภาพพจน์ภายนอกก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย เพราะธุรกิจธนาคารนั้นมันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของประชาชน ผู้บริหารธนาคารจะต้องเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียว
โครงสร้างความเป็นเจ้าของธนาคารศรีนครในปัจจุบันกว่า 30% ถูกถือโดยบริษัทลงทุน 10 บริษัท ซึ่งทั้ง 10 บริษัทใช้วิธีถือหุ้นแบบข้ามกันไปข้ามกันมา (โปรดดูแผนผังการถือหุ้นของธนาคารศรีนคร)
จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมทะเบียนการค้าของ "ผู้จัดการ" พบว่าบริษัทนพกิจรวมทุนเดิมชื่อบริษัทอุเทนสมบัติ เป็นบริษัทส่วนตัวของอุเทนและลูกๆ ส่วนบริษัทเตชะไพบูลย์นั้นเป็นบริษัทของตระกูล ซึ่งมีอุเทนและน้องๆ ร่วมกันถือหุ้น (ดูรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทเตชะไพบูลย์) บริษัทนี้สุเมธเป็นผู้ดูแลโดยที่อุเทนไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่วนอีก 8 บริษัทนั้นไม่ค่อยได้ระบุชื่อคนในเตชะไพบูลย์มากนั้น ส่วนใหญ่เป็นชื่อของทนายความที่ถือหุ้นแทนให้กับคนของเตชะไพบูลย์ นั่นคือส่วนใหญ่นั้นเป็นของอุเทนและลูกๆ โดยที่มีหุ้นของพี่ๆ น้องๆ อยู่บ้าง แต่ "ผู้จัดการ" ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีเท่าไหร่
"พวกน้องๆ คุณอุเทนหลายคนขายหุ้นทิ้งไปแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่คุณอุเทนก็รับซื้อขึ้นมา" เตชะไพบูลย์คนหนึ่งเล่า
ดังนั้นทุกวันนี้อาจจะกล่าวได้ว่า ศรีนครนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่จริงๆ คือคุณอุเทนและลูกๆ ซึ่งตรงนี้ผู้ใหญ่ของธนาคารชาติเองก็เพิ่งทราบเมื่อไม่นานมานี้
ถึงตรงนี้ ปริศนาหลายประการก็คลี่คลายลง นั่นก็คือจริงๆ แล้วอุเทนตั้งใจว่าธุรกิจธนาคารนั้นจะเก็บเอาไว้ให้ลูก
ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับตระกูลเตชะไพบูลย์คนหนึ่งยืนยันว่า สมบัติส่วนกลางหรือที่คนจีนเขาเรียกกันว่า "กงสี" ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่สมัยพ่อโดยที่ยังไม่เคยแบ่งตามเจตนาดั้งเดิมของ "ท่านพ่อ" นั้น จริงๆ แล้วถูกแบ่งมาหลายปีแล้วโดยที่พี่ใหญ่ได้ไปหนึ่งส่วน น้องๆ ได้ไปคนละหนึ่งส่วน ซึ่งก็คือหุ้นที่กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ แต่แบ่งหน้าที่การดูแลกันไป แล้วอุเทนนั้นก็คงคิดว่าตนเองก็ส่งเสียและเกื้อกูลน้องมามากพอสมควรแล้ว ธนาคารก็ขอไว้ให้ลูกเถอะ
แน่นอน อุเทนย่อมจะคิดว่าใครคุมธนาคาร คนนั้นก็คุมตระกูล แต่อุเทนจะคุมได้นานแค่ไหนนั้นยากนักที่ใครจะบอกได้
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคารศรีนครซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจในเครือและการปล่อยกู้ที่มีปัญหานั้น ธนาคารชาติต้องการให้ล้างบัญชีเสีย (WRITE OFF) โดยการเพิ่มทุนและให้มีการบริหารกันอย่างมืออาชีพจริงๆ เสียที
การที่ธนาคารศรีนครประกาศเพิ่มทุนอีก 3,000 ล้าน เมื่อสองปีก่อนก็คือสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่ธนาคารชาติได้กำกับให้
"เราได้เรียกคุณอุเทนมาคุย และเราก็บอกให้เพิ่มทุนอีก 3 พันล้านบาท เพราะนี่คือการเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเรายังต้องการจะเห็นธนาคารยังเติบโตต่อไป เขาก็คงต้องหาทุกวิถีทางไปชวนคนอื่นมาร่วมทุน ถ้าไม่มาร่วมอย่างน้อยตัวเองก็รับไป แต่โดยรวมแล้วส่วนรวมได้ประโยชน์จริงๆ เราต้องการจุดเพิ่มทุนนี้ก่อน มันเป็นเรื่องความมั่นคง หากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ที่ควรจะได้รับความเสียหายก็คือผู้ถือหุ้น" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติพูดให้ฟัง
อย่างไรก็ตามอุเทนประกาศในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าจะเพิ่มทุนเพียง 1,500 ล้านบาท เพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระต่อผู้ถือหุ้นเดิมมากนักและธนาคารก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินมากขนาดนั้น
วิเชียรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"ความจริงเราจะเพิ่มทุนเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ความจำเป็น จากต้นปีเราเรียกทุนเพิ่ม 325 ล้านบาท จากเดิม 1,300 ล้านบาท ก็เป็น 1,625 เรายังใช้เงินตรงนี้ไม่หมดเลย การเพิ่มทุนอีก 1,500 ล้านบาท ก็คือเพิ่มการขยายสินเชื่อได้อีก 12.5 เท่าก็หมื่นกว่าล้านก็เหลือเฟือ การเพิ่มทุนมันต้องค่อยเป็นค่อยไปจะเพิ่มอย่างกะทันหันไม่ได้และ 1,500 ล้านบาทนี้เรายังไม่ได้ระบุว่าจะชำระเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ"
ขณะที่บางคนกลับรู้สึกว่าที่ยังเพิ่มทุนมากไม่ได้เพราะถึงเพิ่มก็ไม่มีคน "กล้าเสี่ยง" ซื้อหุ้นของธนาคารที่เขายังไม่มั่นใจในอนาคต
ในด้านธนาคารชาตินั้น "แหล่งข่าว" ระดับสูงกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่ากำลังจับตาดูการแก้ปัญหาของ "ผู้บริหารปัจจุบัน" ของธนาคารศรีนครอย่างใกล้ชิด และถ้าหาก "ผู้บริหารปัจจุบัน" ทำไม่ได้นั้น แนวทางอื่นๆ ก็ถูกเตรียมกันไว้อย่างไม่เป็นทางการ
ทางหนึ่งที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งของธนาคารชาติมีแนวคิดว่าน่าจะนำ "บริษัทเตชะไพบูลย์" ซึ่งเป็นบริษัทของตระกูล ซึ่งสุเมธเป็นผู้ดูแลอยู่ เข้ามาด้วยกำลังเงินของกลุ่มสุเมธที่สะสมมานานจากธุรกิจเหล้า มีลูกหลานบางคนที่มี VISION ในการทำธุรกิจมากกว่า และนำเอามืออาชีพยกทีมเข้ามาสังคายนาการบริหารภายในใหม่
วิธีที่จะเข้าไปก็คือตามซื้อ "หุ้นเพิ่มทุน"
แต่เป็นที่ทราบกันแล้วว่าหากมีสุเมธ ก็ต้องไม่มีอุเทน!!!
และถ้าสุเมธจะเข้าไปจริงๆ ก็คงจะต้องมีการเจรจากันครั้งใหญ่ เพราะธนาคารนั้นเป็นที่มั่นสุดท้ายของอุเทน
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงมันก็จะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และงานนี้คงดูไม่จืดจริงๆ
อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายก็ปรารถนาที่จะให้ "ผู้บริหารปัจจุบัน" แก้ปัญหาโดยฉับไวและนำพานาวาธนาคารศรีนครให้รอดพ้นมรสุมไปได้ โดยไม่ต้องกลับไปสู่วังวนของปัญหา "ศึกสายเลือด" อีกต่อไป
เพราะสิ่งที่จะบอบช้ำที่สุดก็คือตัว "ธนาคารศรีนคร", ผู้ถือหุ้นทั่วไป ตลอดจนพนักงานในธนาคาร และที่สุดก็คือชื่อเสียงของสถาบันการเงินของไทย
"ผมไม่เคยคิดเลยว่าพวกเตชะไพบูลย์จะมีวันนี้ ผมยังจำได้สมัยก่อนวันเช็งเม้งพวกเตชะไพบูลย์ไปไหว้บรรพบุรุษพร้อมหน้าพร้อมตากัน พอตกเย็นก็กินข้าวกัน มาวันนี้ต่างคนต่างเดินกันคนละทาง" คนสกุลเตชะไพบูลย์คนหนึ่งกล่าว
สิ่งที่อุเทนเสียใจที่สุดในชีวิตก็อาจจะอยู่ตรงที่ไม่สามารถทำตามคำสั่งเสี่ยของบิดาได้ทั้งหมด ธุรกิจนั้นเติบใหญ่ได้ แต่ความสามัคคีกลับเป็นเรื่องยากเย็นยิ่ง
"สำหรับคนๆ หนึ่ง อุเทนทำได้ดีที่สุดแล้วภายใต้เงื่อนไขสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เล่นกันทุกรูปแบบ มีปัจจัยแทรกซ้อนมากมาย บรรดาน้องๆ โตขึ้นก็ต่างจิตต่างใจ จะไปโทษคุณอุเทนคนเดียวคงไม่ถูกนัก ทุกคนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น หรืออาจบางทีฟ้าลิขิตไว้เช่นนั้น" ผู้ใหญ่ในวงการธุรกิจที่คุ้นเคยกับตระกูลนี้ดีแสดงความเห็น
วันนี้ตระกูลเตชะไพบูลย์แต่ละคนต่างก็มีอาณาจักรของตัวเอง ซึ่งไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องของทางใครทางมัน
เรื่องราวของ "เตชะไพบูลย์" ณ วันนี้คงสงบราบเรียบไปสักพักหนึ่ง ตราบใดที่อุเทนในฐานะพี่ใหญ่ยังมีบารมียิ่งใหญ่อยู่ และตราบใดที่ทุกคนในตระกูลยังไม่ก้าวล้ำอาณาจักรของกันและกัน โดยเฉพาะอาณาจักร "ศรีนคร" ที่อุเทนคิดว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่สำคัญที่สุดของตระกูล
แต่เมื่อใดก็ตามหาก "ศรีนคร" ถูกท้าทายด้วยการรุกล้ำของ "เตชะไพบูลย์" ด้วยกันเอง เมื่อนั้นศึกสายเลือดครั้งใหม่ระหว่างพี่น้อง อาหลานต้องเริ่มต้นอีกครั้งอย่างหลีกไม่ได้แน่นอน!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น