โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
@ ผู้จัดการออนไลน์ 19 มิถุนายน 2550
โบสถ์ซางตาครู้สอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฉันได้มามีโอกาสเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งธนบุรีที่ย่าน "ชุมชนกุฎีจีน" เพื่อท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนชาวชุนชนเก่าแก่หลากหลายเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม แต่ว่าก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมานฉันท์สันติสุขมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว
ไหนๆเมื่อมาเที่ยวชุมชนที่มีความหลากหลายแล้ว ฉันก็ขอเลือกรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลายด้วยเช่นกัน โดยแรกเริ่มฉันขอเปิดประเดิมทริปด้วยการล่องเรือท่อง "คลองบางกอกใหญ่" กันก่อน
มัสยิดบางหลวง ดูด้านนอกคล้ายโบสถ์ของศาสนาพุทธ
สำหรับคลองบางกอกใหญ่ เดิมนั้นก็คือแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง แต่หลังจากที่ขุดคลองลัดบางกอกในรัชสมัยพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้ก็เริ่มเล็กลง มีบ้านเรือนปลูกอาศัยเพิ่มมากขึ้นจนล้น และในที่สุดก็กลายเป็นเพียงคลองที่ชื่อว่าคลองบางกอกใหญ่ โดยในสมัยก่อนคลองบางกอกใหญ่จะเป็นเส้นทางหลักของพ่อค้าแม่ขายทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่ใช้สัญจรไปมาเพื่อทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน
คลองบางกอกใหญ่ถึงแม้จะไม่ใหญ่สมชื่อ แต่ก็มีสิ่งสวยงามมากมายให้ฉันได้ชม อย่างเช่นวัดโมลีโลกยาราม ที่มีความสำคัญมากในสมัยกรุงธนบุรี คือเป็นวัดที่นำพระศพของพระเจ้ากรุงธนบุรีผ่านทางท่าน้ำวัด และเมื่อออกจากคลองบางกอกใหญ่เราก็จะพบกับป้อมวิชัยประสิทธิ์ ป้อมแห่งนี้มีอายุราว 327 ปี ซึ่งมีความเก่าแก่มาก จึงทำให้การมาล่องเรือในครั้งนี้เปรียบได้กับการย้อนไปในประวัติศาสตร์ เพื่อเรียนรู้ความเป็นมาของฝั่งธนฯอย่างชัดเจนและถ่องแท้
ศาลเจ้าเกียนอันเกง ย่านกุฎีจีน
หลังใช้เวลากับการล่องเรืออยู่พักใหญ่ ฉันก็เปลี่ยนบรรยากาศมาเดินเที่ยวทางบกกันบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้สัมผัสวิธีชีวิตคนฝั่งธนฯอย่างลึกซึ้ง ที่แรกที่ฉันได้เดินมาสัมผัสคือ โบสถ์วัดซางตาครู้ส คำว่าซางตาครู้สในภาษาโปรตุเกสหมายถึง กางเขนศักดิ์สิทธิ์ โบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ลักษณะของอาคารจะเป็นแบบผสมผสาน และที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นหอคอยทรงโดมที่มีความงดงาม ภายในโบสถ์ยังตกแต่งด้วยกระจกหลากสีสันถึง 39 บาน ซึ่งกระจกทุกบานผลิตที่ประเทศฝรั่งเศสและส่งตรงมายังโบสถ์แห่งนี้โดยเฉพาะ และยังเป็นวัดคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในฝั่งธนฯฯอีกด้วย
เมื่อออกจากโบสถ์ซางตาครู้สฉันก็เดินต่อไปบ้านขนมฝรั่งกุฎีจีน ขนมชนิดนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกตามฝรั่งชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นผู้นำวัฒนธรรมเรื่องอาหารโดยเฉพาะขนมหวานเข้ามาเผยแพร่ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และไม่เฉพาะขนมฝรั่งกุฎีจีนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงขนมกุดสลัง และขนมกวยตัส ซึ่งในปัจจุบันบ้านที่จะทำขนมฝรั่งกุฎีจีนเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียง 2 หลังเท่านั้น
หลวงพ่อโต (ซำปอกง) แห่งวัดกัลยาณมิตร
หลังกินขนมเพิ่มพลังกันแล้วสถานที่ต่อไปที่ฉันต้องเดินทางไปต่อ คือ ศาลเจ้าเกียนอันเกง เป็นศาลเจ้าของชาวจีนฮกเกี้ยน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยสถาปัตยกรรมจีนในสมัยราชวงศ์เชง เพื่อประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม
การได้มาที่ศาลเจ้าเกียนอันเกงทำให้ฉันรู้ว่าชาวจีนได้เข้ามามีบทบาทต่อประเทศไทยของเราตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ทำให้กุฎีจีนแห่งนี้มีความสำคัญต่อชาวกรุงธนฯ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวคนหลายเชื้อชาติเข้าไว้รวมกัน และสันนิษฐานว่ากุฎีจีนที่เรียกกันมานานนั้น ได้มาจากชาวจีนที่มาตั้งรกรากอาศัยอยู่ก่อนแล้ว
ห่างจากศาลเจ้าเกียนอันเกงไปไม่กี่เมตรฉันก็พบกับ วัดกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงขนาดใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การก่อสร้างจะคล้ายกับวัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีพระขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ พระขนาดใหญ่ที่ว่านั้น คือ "หลวงพ่อโต" หรือที่ชาวจีนเรียกว่า "ซำปอกง" หรือ "ซำปอฮุดกง" ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามพระองค์นี้ให้สอดคล้องกับพระประธานในวิหารหลวงวัดพนัญเชิงว่า "พระพุทธไตรรัตนนายก"
วัดกัลยาณมิตรแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่มีส่วนผสมของความเป็นจีนและไทยเอาไว้อย่างลงตัว เพราะจะมีรูปปั้นเทพเจ้าองค์ต่างๆ ของทางประเทศจีนประดิษฐานอยู่ จึงไม่แปลกเลยถ้าเราไปวัดนี้แล้วจะเห็นคนจีนเดินเข้าออกวัดเพื่อมานมัสการหลวงพ่อโตอย่างคับคั่ง
ในย่านกุฎีจีนแห่งนี้นอกจากจะมีวัดของคนไทย โบสถ์ของฝรั่ง และศาลเจ้าของชาวจีนแล้ว ยังมีมัสยิดที่เป็นของมุสลิมอีกด้วย ชื่อว่า มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) เป็นมัสยิดแห่งเดียวที่สร้างเป็นอาคารแบบโบสถ์ในพุทธศาสนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมของไทยและมุสลิม และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นมัสยิดแห่งเดียวในโลกที่สร้างในลักษณะโบสถ์ของไทย ภายในมัสยิดจะปูพื้นด้วยหินอ่อน หน้าต่างแต่ละบานจะตกแต่งด้วยจานสีขาวที่เขียนบรรยายเกี่ยวกับคัมภีร์ทางศาสนาอิสลาม ความรู้สึกที่ฉันสัมผัสได้จากมัสยิดแห่งนี้ คือ ความมีน้ำใจของชาวมุสลิมที่ต้อนรับเราเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าจะต่างศาสนาก็ตาม
ที่มัสยิดบางหลวงนี้ฉันได้พบกับคุณลุงทำเนียบ แสงเงิน ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์มัสยิดต้นสน ซึ่งเล่าให้ฉันฟัง ชุมชนกุฎีจีนและกุฎีขาวมีความรักใคร่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดี และเป็นอย่างนี้มาหลายร้อยปีแล้ว เพราะว่าชาวบ้านในบริเวณนี้จะเป็นเครือญาติกัน คนต่างศาสนาก็สามารถแต่งงานกันได้ จึงทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง อยู่กันอย่างสันติสุข พึ่งพาอาศัยกัน บ้านไหนมีงานก็จะไปช่วยกัน แต่ถ้ามีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาชาวมุสลิมก็จะไม่เข้าร่วม เนื่องชาวมุสลิมจะถือเรื่องนี้มาก
ลุงทำเนียบเล่าให้ฉันฟังต่ออีกว่า คนต่างศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ถ้าเราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน และการศึกษาก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเข้าใจกัน เราต้องศึกษาให้ถ่องแท้ ให้ตรงกัน จึงจะเกิดความเข้าใจร่วมกัน การศึกษาที่ว่านั้นไม่ใช่แต่ที่ห้องเรียนเท่านั้น ต้องศึกษาศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียบประเพณี และต้องยอมรับหรือรับเอาวัฒนธรรมของต่างศาสนามาบ้าง เพื่อมาปรับใช้กับศาสนาของเรา และให้ได้ประโยชน์สูงสุด ในอนาคตข้างหน้าชุมชน 2 ชุมชนนี้จะจัดกิจกรรมร่วมกัน คือ เปิดชุมชนเพื่อแสดงให้คนต่างชุมชนได้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี และการสร้างชุมชนเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี
แล้วฉันก็เดินออกจากมัสยิดบางหลวงด้วยใจที่เบิกบานอิ่มเอิบ เพราะได้รับรู้เรื่องราวที่ทำให้สุขใจ จากปากคำบอกเล่าของคนในชุมชน
สถานที่ต่อไปที่ฉันจะต้องไปดูและสัมผัสกับอีกอารยธรรม คือ วัดมอญ หรือวัดประดิษฐาราม วัดแห่งนี้เองเป็นจุดที่ฉันลงเรือก่อนจะล่องเรือไปในแม่น้ำเจ้าพระยา จุดที่สังเกตได้ว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดของชาวมอญ ก็คือเสาหงส์ที่ตั้งอยู่บริเวณริมรั้วของวัด ถ้าวัดไหนมีเสาหงส์ตั้งอยู่นั่นก็แสดงว่าวัดแห่งนั้นเป็นวัดมอญ และที่เด่นไม่แพ้กันอีกอย่าง คือ เจดีย์คู่ทรงมอญ ซึ่งจะประดิษฐานอยู่หน้าวัดใกล้ๆกับประตูวัด รูปร่างของเจดีย์คู่ทรงมอญนี้จะมีฐานเหลี่ยมและมีฉัตรอยู่ด้านบนสุดของเจดีย์ ในอดีตนั้นชาวมอญส่วนใหญ่จะได้รับเลือกให้เป็นฝีพายหลวง เพราะชาวมอญมีความสามารถทางด้านการพายเรือ
และวัดมอญก็เป็นวัดสุดท้ายที่ฉันได้มาศึกษาวัฒนธรรม การเดินทางอาจจะจบลงพร้อมกับพระอาทิตย์ที่ตกดินในวันนี้ แต่ความทรงจำและความอิ่มเอมใจยังคงไม่จบลงไปพร้อมกับพระอาทิตย์ เพราะความสุขและความประทับใจในวันนี้ยังคงอยู่ แต่ถ้าวันไหนมีเวลามากกว่านี้ และต้องการจะศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่างเชื้อชาติที่สามารถรวมกันอยู่อย่างสงบสุขได้ แน่นอนว่าฉันต้องเลือกมาที่นี่อีกครั้งแน่ๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ชุมชนกุฎีจีน ตั้งอยู่บนถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี มีรถเมล์สาย 3, 6, 9, 40, 42, 43, 56 ผ่านหน้าโรงเรียนศึกษานารี จากนั้นเดินเข้าซอยกุฎีจีน จะพบโรงเรียนซางตาครู้สศึกษาและโบสถ์ซางตาครูสอยู่ข้างกัน แล้วเดินลัดเลาะริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปที่ศาลเจ้าเกียนอันเกง ต่อไปอีกไม่กี่ร้อยเมตรก็จะพบกับวัดกัลยาณมิตร มัสยิดบางหลวงย่านกุฎีขาว จากนั้นก็เดินข้ามถนนอิสรภาพ 35 ไปที่วัดมอญ
==============================================
เที่ยวฝั่งธนฯ ชมชุมชนสามัคคี…กุฎีจีน
@ ผู้จัดการออนไลน์ 22 มีนาคม 2548
โบสถ์ซางตาครูส โบสถ์ของนิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในย่านฝั่งธนบุรี
หากเอ่ยถึงชุมชน “กุฎีจีน” ในย่านฝั่งธนฯ ภาพของขนมกุฎีจีนจะลอยเด่นหรามาในความคิดคำนึงของฉัน แต่ว่าอันที่จริงแล้ว หลังจากที่ฉันไปเดินซอกแซกสัมผัสชุมชนนี้มา ทำให้รู้ว่าชุมชนกุฎีจีนนับเป็นชุมชนที่มีของดีที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว
...............................................
“…กุฎีจีน หรือกะดีจีน เป็นย่านชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับปากคลองตลาด ซึ่งมีศาลเจ้าเกียนอันเกง เป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้ยังมีเรื่องให้เล่าขานอีกมากมาย โดยเฉพาะสัมพันธภาพภายใต้ความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของคนในชุมชนที่ประกอบไปด้วยชาวจีน อินเดีย และยุโรป ที่อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์มาเป็นเวลากว่า 200 ปี แล้ว...”
ลวดลายที่สวยงามของกระจกสีที่ประดับอยู่บกรอบหน้าต่างของโบสถ์ซางตาครูส
จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในชุมชนกุฎีจีน แสดงให้เห็นว่าบริเวณชุมชนกุฎีจีนนี้เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก และสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้น ท่านก็ทรงรวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายให้มาอยู่ในราชธานี ซึ่งก็รวมไปถึงชาวต่างชาติเช่น จีน โปรตุเกส โดยท่านได้พระราชทานที่ดินเพื่อให้คนเหล่านี้ได้สร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมา
ในบริเวณชุมชนกุฎีจีนนี้ก็เป็นที่หนึ่งที่พระเจ้าตากสินทรงพระราชทานที่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ จนกลายเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติอีกแห่งหนึ่ง
ในวันที่ฉันไปเดินเที่ยวย่านกุฎีจีน สิ่งแรกที่ฉันได้เจอก็คือโบสถ์ซางตาครูส ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่ของย่านฝั่งธนฯ มีอายุเกือบจะร้อยปีแล้ว และถือเป็นวัดแห่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในย่านฝั่งธนบุรี บาทหลวงยาโกเบ กอรร์ ซึ่งเป็นเหมือนผู้นำกลุ่มชาวโปรตุเกสขณะนั้น ได้สร้างโบสถ์หลังแรกขึ้นในที่ดินพระราชทานแห่งนี้และให้ชื่อว่าโบสถ์ซางตาครูส
ศาลเจ้าเกียงอันเกง ที่มาของชื่อชุมชนกุฎีจีน
สำหรับโบสถ์ที่ฉันเห็นอยู่ตรงหน้านี้ เป็นหลังที่ 3 ที่สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2456 โดยบาทหลวงกูเกียลโม กิ๊น ดาครู้ส จนถึงปัจจุบันโบสถ์นี้ก็มีอายุ 92 ปีพอดี ตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคผสมกับเรเนอซองส์ ตัวอาคารเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นลวดลายใบไม้สวยงาม ใครที่ผ่านไปผ่านมาในแม่น้ำเจ้าพระยาก็คงจะได้เคยเห็นกันบ้าง เพราะโบสถ์ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาพอดี
ส่วนภายในโบสถ์เป็นเหมือนห้องโถงใหญ่เพดานสูง มีแท่นสำหรับให้บาทหลวงยืนเทศน์ และมีรูปปั้นพระเยซูถูกตรึงกางเขนอยู่ด้านหลัง มีม้านั่งยาวเป็นแถวสำหรับให้คนมานั่งฟังเทศน์ ก็เหมือนกับที่เคยดูในหนังฝรั่งอยู่บ่อยๆ นั่นแหละ
พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต หรือหลวงพ่อซำปอกงแห่งวัดกัลยาณมิตร
แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างจะพิเศษก็คือกระจกสีที่ประดับอยู่ตามกรอบหน้าต่างและประตูทุกบาน ซึ่งลวดลายของกระจกก็คือเรื่องราวในช่วงชีวิตของพระเยซูนั่นเอง แม้ภายในโบสถ์จะมืดไปสักหน่อย แต่ฉันว่ามันยิ่งช่วยขับให้กระจกสีเหล่านี้ดูโดดเด่นสวยงามขึ้นมาอย่างมากเลยทีเดียว
บริเวณใกล้ๆ นี้ก็มีโรงเรียนที่ชื่อเหมือนกันกับโบสถ์ก็คือโรงเรียนซางตาครูสคอนแวนต์ มีอายุเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกับตัวโบสถ์ และภายในโรงเรียนยังมีอาคารไม้สักเก่าแก่ชื่อว่าตึกยอเซฟ ซึ่งเคยเป็นสถานที่ศึกษาของนักเรียนมาเกือบ 90 ปีแล้ว โดยปีหน้านี้โรงเรียนก็จะมีอายุ 99 ปีพอดี ใครเป็นศิษย์เก่าก็อย่าลืมกลับไปเยี่ยมโรงเรียนบ้างล่ะ
ในชุมชนนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขนมฝรั่งกุฎีจีน ซึ่งเป็นขนมเก่าแก่โบราณกว่า 200 ปีมาแล้ว เจ้าของต้นตำรับก็มาจากชาวโปรตุเกสที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนกุฎีจีนนี่เอง ปัจจุบันนี้เหลือบ้านที่ยังทำขนมฝรั่งกุฎีจีนนี้เพียง 2-3 เจ้าเท่านั้น
เมื่อฉันออกจากชุมชนชาวคริสต์บริเวณโบสถ์ซางตาครูสมา แล้วเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาทางซ้ายมือ ใกล้ๆ กันนั้นก็คือ ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้าของชุมชนชาวจีนที่มีองค์พระประธานเป็นเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนในแถบนั้นมาก และสันนิษฐานกันว่า ศาลเจ้านี้เองที่เป็นที่มาของคำว่า “กุฎีจีน”
มิมบัรและมิหรอบ (แท่นแสดงธรรมและซุ้มที่ครอบ) ของมัสยิดบางหลวง
ลวดลายอ่อนช้อยแบบศิลปะไทย
ลวดลายอ่อนช้อยแบบศิลปะไทย
ฉันพอจะสรุปความเป็นมาของศาลเจ้าเกียนอันเกงนี้ได้ว่า แต่ก่อนนั้น ชาวจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมาได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ และได้สร้างศาลเจ้าขึ้น แต่เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการย้ายพระนครมาอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวจีนเหล่านั้นจึงย้ายตามมาอยู่บริเวณตลาดน้อยและสำเพ็ง ศาลเจ้านั้นจึงถูกทิ้งร้าง จนเมื่อมีชาวจีนสองคน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสกุลตันติเวชกุล และสกุลสิมะเสถียรได้มากราบไหว้ศาลเจ้าเก่า และเห็นว่าชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้รื้อศาลเก่าลง และสร้างศาลเจ้าเกียนอันเกงขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ห่างจากศาลเจ้าเกียนอันเกงไปไม่กี่เมตร ก็คือวัดกัลยาณมิตร ซึ่งมีหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือเรียกแบบจีนว่าซำปอกง เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง วัดกัลยาณมิตรนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่พ.ศ.2368 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศที่ดินของตนสร้างขึ้นเป็นวัด และได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 3 ซึ่งท่านก็ได้พระราชทานนามให้ว่า วัดกัลยาณมิตร และทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานสำหรับพระวิหารหลวง โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่วัดพนัญเชิง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยแห่งแรกและแห่งเดียวของโลก
เท่าที่ฉันเดินผ่านมานี่ก็เป็นชุมชน 3 เชื้อชาติเข้าไปแล้ว แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะหากเดินไปทางด้านหลังวัดกัลยาณมิตร ลอดใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ไป ก็จะเจอชุมชนกุฎีขาว ชุมชนของชาวอิสลาม ซึ่งมีกุฎีขาว หรือมัสยิดบางหลวง เป็นศาสนสถานประจำชุมชน
มัสยิดที่นี่แปลกมากทีเดียว มองดูครั้งแรกฉันยังนึกว่าเป็นวัดของไทยเสียอีก แต่ดูไปดูมา รวมถึงได้เข้าไปชมด้านใน จึงได้รู้ว่านี่แหละ คือมัสยิดทรงไทยแห่งเดียวของโลกที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ภายในนั้นซึ่งแม้จะดูเป็นแบบไทยๆ แต่ก็ไม่ขัดกับหลักทางศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นมัสยิดบางหลวงนี้ยังนับเป็นศาสนสถานที่กองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จัดให้เป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภท Unseen Bangkok อีกด้วย
................................................
เป็นเวลาเย็นแล้ว ที่ฉันกำลังเดินทางกลับบ้านหลังจากได้มาเยี่ยมชมชุมชนกุฎีจีนในพื้นที่ไม่กี่ตารางกิโลเมตร แต่ประกอบไปด้วย วัด โบสถ์ ศาลเจ้า และมัสยิด ซึ่งเป็นศาสนสถานของแต่ละชาติที่แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันกว่า 200 ปี แต่ว่ากลับอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รักใคร่สามัคคีกลมเกลียว นับเป็นหนึ่งในชุมชนสามัคคี ที่หากใครมีเวลาว่างน่าจะลองไปสัมผัสกับบรรยากาศชุมชนสามัคคีที่ชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้ดูบ้าง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ชุมชนกุฎีจีน ตั้งอยู่บนถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี มีรถเมล์สาย 56,9,43,3,6,40,42 ผ่านหน้าโรงเรียนศึกษานารี จากนั้นเดินเข้าซอยกุฎีจีน จะพบโรงเรียนซางตาครูสศึกษาและโบสถ์ซางตาครูสอยู่ข้างกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โทร.0-2225-7612 ถึง 4