อยู่เมืองไทยยังต้องมีบัตรประชาชน แสดงตนว่าเป็นคนที่ไหน อยู่ที่ไหน ไปเมืองนอกก็เช่นเดียวกันก็ต้องมีเอกสารบอกว่าเป็นคนประเทศไหน นั่นคือหนังสือเดินทาง
หนังสือเดินทางคือ เอกสารสำคัญประจำตัวที่รัฐบาลประเทศหนึ่งออกให้แก่พลเมืองหรือคนชาติของตน เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางไปต่างประเทศ
วิวัฒนาการของหนังสือเดินทางไทย
หนังสือเดินทางคือ เอกสารสำคัญประจำตัวที่รัฐบาลประเทศหนึ่งออกให้แก่พลเมืองหรือคนชาติของตน เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางไปต่างประเทศ ในทางปฏิบัติ ประเทศเจ้าของหนังสือเดินทางจะร้องขอให้ประเทศอื่นๆ ให้ความสะดวก ความปลอดภัย หรือให้ความช่วยเหลือ ความคุ้มครองทางกฎหมายขณะที่พลเมืองของตนอยู่ในประเทศนั้นๆ หนังสือเดินทางต้องได้รับการประทับการตรวจลงตราหรือวีซ่าจากหน่วยงานของประเทศที่จะเดินทางไปเยือน เว้นแต่จะมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างประเทศ
ในสมัยโบราณ การเดินทางระหว่างประเทศมีความยากลำบากและต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ระเบียบกฏเกณฑ์การตรวจตราคนเดินทางเข้าออกนอกประเทศยังไม่มีเช่นทุกวันนี้ การเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองยังจำกัดขอบเขตอยู่กับดินแดนที่อยู่ใกล้ชิดกัน บุคคลที่จะเดินทางติดต่อกับต่างประเทศยังอยู่ในขอบเขตจำกัดเฉพาะชนชั้นปกครอง ขุนนาง พ่อค้า และนักสอนศาสนา พลเมืองของประเทศต่างๆ ยังไม่มีการเดินทางไปต่างประเทศมากนัก
การเดินทางของกลุ่มบุคคลดังกล่าวไปต่างรัฐ ส่วนใหญ่จะใช้หนังสือหรือสาส์นของกษัตริย์หรือผู้ปกครองของรัฐตนไปถึงกษัตริย์หรือผู้ปกครองของอีกรัฐหนึ่ง ซึ่งจะระบุถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางของคณะบุคคลของรัฐผู้ส่ง และขอให้รัฐผู้รับให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ต่อคณะผู้เดินทาง ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยมีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงแต่งตั้งคณะราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเป็นต้น
ประวัติการใช้หนังสือเดินทางในสมัยก่อนมีหลักฐานปรากฏในลักษณะต่างๆ อาทิ ในรูปของตราหรือสัญลักษณ์ และต่อมาได้พัฒนามาเป็นเอกสารและเล่มหนังสือตามลำดับ โดยผู้ปกครองออกให้เพื่อคุ้มครองคนในปกครองที่เดินทางไปต่างแดน แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งบังคับใช้ในการเดินทาง เมื่อโลกมีความก้าวหน้าในด้านการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร การท่องเที่ยว และพัฒนาการของเหตุการณ์ความร่วมมือและความขัดแย้งระหว่างประเทศได้มีส่วนทำให้ประเทศต่างๆ สร้างระเบียบกฏเกณฑ์ควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศของพลเมืองและคนต่างชาติเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น หนังสือเดินทางจึงเป็นเอกสารของรัฐและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ และเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้หนังสือเดินทางไทยนั้น รูปแบบและการใช้หนังสือเดินทางของไทยได้เปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการของสังคมไทยและระหว่างประเทศ จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับลักษณะ รูปแบบการออกหนังสือเดินทางสำหรับคนไทย โดยออกเป็นหนังสือราชการที่เขียนด้วยลายมือ ( ภาพประกอบ ) มีการกำหนดตราประทับเป็นรูปแบบที่แน่นอนบนหนังสือเดินทาง ตราประทับที่พบ คือ ตราพระคชสีห์น้อย ตราพระราชสีห์น้อย หรือตราสุครีบ ระบุระยะเวลาในการใช้งานซึ่งมีอายุ 1 ปี วัตถุประสงค์ในการเดินทาง และมีข้อความขอให้ข้าหลวงมณฑล ผู้ว่าราชการเมือง กรมการจังหวัด อำนวยความสะดวกในการเดินทาง
หนังสือเดินทางที่รู้จักกันในระยะแรกเป็นเอกสารเดินทางที่ทางราชการออกให้แก่บุคคลเพื่อใช้ในการเดินทางระหว่างเขต เมือง มณฑล หรือภายในพระราชอาณาเขต ยังไม่มีหนังสือเดินทางอันหมายถึงเอกสารที่ใช้เดินทางไปต่างประเทศ ต่อมาฝ่ายราชการสยามในสมัยนั้นได้เริ่มมีดำริให้ออกหนังสือสำหรับตัวให้คนฝ่ายสยามเดินทางไปเมืองต่างประเทศ จึงมีการกำหนดกฏเกณฑ์ว่า การเดินทางออกนอกพระราชอาณาเขตกำหนดให้คนสยามต้องมีจดหมายหรือหนังสือเดินทางสำหรับตัวทุกคนจากเจ้าเมือง จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า หนังสือเดินทางไทยในปัจจุบันได้พัฒนามาจากหนังสือเดินทางสำหรับตัวซึ่งใช้กันมาแต่อดีต
ในเวลาต่อมาได้มีการกำหนดให้ใช้หนังสือเดินทางไปประเทศห่างไกลในลักษณะเป็นหนังสือเดินทางที่พิมพ์ด้วยภาษาฝรั่งเศส 2 หน้า หน้าแรกมีลักษณะเป็นหนังสือราชการที่มีข้อความขออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง หน้าสองแสดงรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือหนังสือเดินทาง ซึ่งประกอบด้วยรูปถ่าย อายุ ความสูง สีผม ตา ใบหน้า ตำหนิ และลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง และมีอายุการใช้งาน 1 ปี
การออกหนังสือเดินทางในสมัยนั้นมิได้ออกให้เพียงหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีหนังสือเดินทางที่ออกให้กับคนครัวหนึ่งหรือคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งใช้เดินทางเช่นเดียวกับหนังสือเดินทางหมู่เช่นที่มีใช้ในปัจจุบัน โดยกำหนดรูปแบบที่แน่นอนและใช้ทั่วทุกมณฑล โดยระบุรายชื่อและจำนวนบุคคลที่เดินทางด้วยกัน พร้อมทั้งประเภทสัมภาระที่นำติดตัวไปด้วย ทั้งนี้ ในการกำหนดรูปแบบหรือระเบียบหนังสือเดินทางในอดีตฝ่ายปกครองต้องมีหนังสือขอหารือกับเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งต้องมีหนังสือขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ก่อนด้วย
หนังสือเดินทางในสมัยนั้นยังเรียกรวมถึงเอกสารเดินทางประเภทตราเดินทาง ซึ่งทางราชการออกให้กับคนในบังคับ ( สยาม) ที่อาศัยอยู่ในประเทศ ใช้เป็นเอกสารแสดงตัว หรือออกให้แก่คนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยการสลักท้องตราประทานหรือตราเดินทางลงในหนังสือเดินทางต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นหนังสือประจำตัวสำหรับเดินทางไปได้ในหัวเมือง ตามคำร้องขอของสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศในไทย ซึ่งปัจจุบัน คือ การตรวจลงตรา หรือวีซ่า
การออกหนังสือเดินทางในระยะนี้มิได้จำกัดอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายระดับ นับตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการเมือง รวมทั้งกรมการจังหวัด หรือแม้แต่กำนันก็เป็นผู้มีอำนาจในการออกหนังสือเดินทาง หากได้รับคำสั่งจากเจ้าเมือง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตามประเพณีแต่เดิมมา ผู้ใดจะเดินทางไปนอกพระราชอาณาเขต ก็มีธรรมเนียมที่ต้องรับหนังสือเดินทางสำหรับตัวซึ่งเจ้าพนักงานออกให้ก็ตาม แต่บุคคลโดยทั่วไป ส่วนมาก ก็ยังไม่ได้ถืออย่างเคร่งครัดว่า หนังสือเดินทางเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทาง เพราะในอดีตยังไม่มีการตรวจตราการเดินทางเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด ประชาชนสามารถเดินทางออกนอกพระราชอาณาเขตได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง การละเลยในการตรวจตราการเดินทางออกนอกประเทศดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้เดินทางในระยะต่อมาเมื่อสถานการณ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มบัญญัติการตรวจตราหนังสือเดินทางของคนต่างชาติอย่างเข้มงวด ทำให้ผู้เดินทางออกจากพระราชอาณาเขตของไทยซึ่งมิได้มีหนังสือเดินทางหรือตราเดินทาง (วีซ่า) ของประเทศที่จะเดินทางไป ต้องประสบปัญหาเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากต้องถูกกักกันไม่ให้เข้าประเทศ หรือถูกจับกุมกักขังหรือถูกส่งกลับประเทศ
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนไทยในการเดินทางไปต่างประเทศ ในวันที่ 17 กันยายน 2460 รัฐบาลไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้กำหนดกฏเกณฑ์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับการออกหนังสือเดินทาง โดยการออก “ ประกาศว่าด้วยผู้เดินทางไปนอกพระราชอาณาเขตร์ ให้มีหนังสือเดินทาง ” ซึ่งได้ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 23 กันยายน 2460 เพื่อให้คนไทยทุกคนที่จะเดินทางออกไปประเทศที่อยู่ห่างไกล จำเป็นต้องขอหนังสือเดินทางกับกระทรวงการต่างประเทศ และหากเดินทางไปยังประเทศใกล้เคียงติดต่อกับพระราชอาณาเขต ก็ขอให้ขอหนังสือเดินทางจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสมุหเทศาภิบาลในมณฑลของตน
ผลมาจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงในระดับระหว่างประเทศหลายประการดังกล่าว และผลการประชุมขององค์การสันนิบาติชาติเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2463 ซึ่งเรียกร้องให้ทุกประเทศกำหนดรูปแบบหนังสือเดินทางในลักษณะเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนเดินทางเข้าร่วมประชุมและลงนามรับรองข้อมติของที่ประชุมดังกล่าวด้วย และการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับแรกของไทยในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2470 น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการกำหนดกฏเกณฑ์และการปรับเปลี่ยนลักษณะและรูปแบบของหนังสือเดินทางที่มีลักษณะเป็นรูปเล่ม ซึ่งน่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หรือประมาณภายหลังปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา
สำหรับหนังสือเดินทางที่มีลักษณะเป็นรูปเล่มซึ่งพบหลักฐานในขณะนี้ เป็นหนังสือเดินทางประเทศสยามซึ่งออกใช้ในช่วงระยะปี พ.ศ.2482 เป็นหนังสือเดินทางปกแข็งซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ภายในประกอบด้วยรายการข้อมูลภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสกำกับอยู่ และติดรูปถ่ายผู้ถือหนังสือเดินทางพร้อมลายมือชื่อ ประกอบด้วยหน้าหนังสือเดินทางจำนวน 32 หน้าเช่นหนังสือเดินทางในปัจจุบัน เป็นหนังสือเดินทางในพระราชอาณาเขตสยามออกที่แผนกหนังสือเดินทาง ณ กระทรวงการต่างประเทศ แต่แผนกหนังสือเดินทางจะออกหนังสือเดินทาง หรือต่ออายุหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลผู้ใด ซึ่งมิได้อยู่ในพระราชอาณาเขตสยามในเวลานั้น ไม่ได้เลย
หนังสือเดินทางที่ออกให้ในสมัยนั้น ถ้ามิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น ก็มีกำหนดอายุการใช้งานเพียงสองปี เมื่อหมดอายุก็สามารถให้ต่ออีกตั้งแต่หนึ่งถึงสองปีก็ได้ แต่เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วต้องไม่เกิน 4 ปี โดยหนังสือเดินทางใช้ได้แต่สำหรับการเดินทางไปยังประเทศที่ระบุไว้ในหนังสือเดินทางเท่านั้น แต่จะสลักเพิ่มเติมเพื่อเดินทางไปประเทศอื่นด้วยก็ได้ โดยคิดค่าธรรมเนียมออกหนังสือเดินทางฉบับละ 12 บาท และค่าธรรมเนียมต่ออายุปีละ 6 บาท หนังสือเดินทางดังกล่าวนี้ยังคงใช้สืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางอย่าง อาทิ สี ตราครุฑบนปกนอก และลักษณะการจัดวางข้อมูลภายใน จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2520 มีการเปลี่ยนแปลงรายการข้อมูลผู้ถือหนังสือเดินทางจากการตีพิมพ์ด้วยภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเศสมาเป็นข้อมูลภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ
หลังจากนั้น หนังสือเดินทางไทยได้รับการพัฒนาตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการผลิต และประโยชน์ในการใช้สอยตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของสังคม โดยกองหนังสือเดินทางพยายามพัฒนาระบบการผลิตเล่มหนังสือเดินทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้บริการหนังสือเดินทางดำเนินไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และป้องกันการปลอมแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยลำดับ
ในปี 2536 กองหนังสือเดินทางได้นำระบบหนังสือเดินทางแบบใหม่มาใช้ เรียกว่า ระบบ Digital Passport System (DPS ) ซึ่งเป็นวิธีการพิมพ์รูปผู้ถือหนังสือเดินทางลงในหนังสือเดินทางด้วยระบบดิจิตอลแทนการติดรูปตามระบบเดิม และอ่านได้ด้วยเครื่อง ( Machine Readable Passport ) และต่อมาได้ปรับเปลี่ยนการผลิตเล่มหนังสือเดินทางที่สามารถจัดเก็บข้อมูลในเล่มหนังสือเดินทาง ไว้ด้วยระบบข้อมูลหน้าเดียว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา
ในปี 2543 กองหนังสือเดินทางได้พัฒนาหนังสือเดินทางไทยโดยการนำเทคโนโลยีการถ่ายรูป การบันทึกข้อมูล และการพิมพ์ข้อมูลลงในเล่มโดยตรง รวมทั้งการสร้างระบบหนังสือเดินทางซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์จากฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สามารถตรวจสอบสถานะของผู้ขอหนังสือเดินทางโดยอาศัยหมายเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งทำให้สามารถให้บริการรับคำร้องจากประชาชนผู้ขอใช้ให้บริการหนังสือเดินทางได้ในเวลาอันรวดเร็ว และทำการผลิตหนังสือเดินทางได้ภายในเวลา 3 วันทำการ
ในด้านการพัฒนารูปเล่มหนังสือเดินทาง กองหนังสือเดินทางได้ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงรูปแบบและมาตรฐานของเล่มหนังสือเดินทางไม่น้อยไปกว่าการปรับปรุงด้านบริการ เนื่องจากรูปแบบและมาตรฐานดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการป้องกันการปลอมแปลง และความน่าเชื่อถือของหนังสือเดินทางตามมาตรฐานสากล การพัฒนาหนังสือเดินทางจึงต้องคำนึงถึงรูปแบบที่สวยงามทันสมัยในราคาเหมาะสม และจะต้องประกอบด้วยเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย
ในปี 2545 กองหนังสือเดินทางได้พัฒนารูปแบบของหนังสือเดินทางแบบใหม่ ที่มีคุณลักษณะป้องกันการปลอมแปลง ( Security Features ) เพิ่มมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีระดับสูงหลายอย่างเช่นเดียวกับการพิมพ์ธนบัตร เพื่อยกระดับมาตรฐานหนังสือเดินทางไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก คุณสมบัติพิเศษที่ใส่ไว้ในหนังสือเดินทาง บางอย่างไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการตรวจสอบ และบางอย่างก็แฝงไว้อย่างแนบเนียน ทำให้ยากในการ
ปลอมแปลง นอกจากนั้นคุณลักษณะบางประการผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีและสารเคมีที่ไม่อาจหาได้ในท้องตลาดทั่วๆ ไป ทำให้มั่นใจได้ว่า หนังสือเดินทางไทยจะมีความปลอดภัย และปลอดจากการปลอมแปลง
ทิศทางในอนาคต หนังสือเดินทางไทยยังคงได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนโดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ กองหนังสือเดินทางยังได้พัฒนาระบบข้อมูลหนังสือเดินทางไทยให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ถือ
หนังสือเดินทางผ่านระบบคอมพิวเตอร์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเดินทาง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร และกระทรวงมหาดไทย สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากการตรวจสอบข้อมูลและให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อกับหน่วยราชการ ไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดของโลกก็ตาม
ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น