วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
“สิงคโปร์โมเดล” แม่แบบปฏิรูปเศรษฐกิจเมียนมาร์
รัฐบาลใหม่พม่าที่มีประธานาธิบดีเต็ง เส่ง อดีตนายทหารยศ พล.อ. เป็นหัวขบวน ยังคงเดินหน้าปฏิรูปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นักสังเกตการณ์จำนวนมากถึงกับอ้าปาก ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ขนาดนี้ เมื่อนึกย้อนหลังไปตั้งแต่คณะทหารกุมอำนาจปกครองพม่ามาเกือบ 50 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505
ช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งทั่วไปของพม่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2553 ประชาคมโลกและชาวพม่าส่วนใหญ่ต่างมองเป็นละครการเมืองลวงโลกอีกฉากหนึ่งของคณะทหาร ที่ต้องการกุมอำนาจต่อ โดยให้รัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขุนทหารในกองทัพ สลัดเครื่องแบบลงสมัครรับเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลพลเรือน กลุ่มผู้กุมอำนาจตัวจริงนำโดย พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ถอยฉากคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง
แต่ในระหว่างการปราศรัยเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในเดือน มี.ค. 2554 ซึ่งเต็ง เส่ง ประกาศปฏิรูปประเทศแบบ “ยกเครื่อง” เน้นทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นักสังเกตการณ์จำนวนมากเริ่มเอะใจ เมื่อได้ยินการยอมรับเป็นครั้งแรกว่า ความขัดแย้งภายในหลายทศวรรษ ทำให้รัฐบาลมองข้ามความยากจน ทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน
การปฏิบัติตามคำพูดของเต็ง เส่ง ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้น โดยเริ่มจากการลดการควบคุมและตรวจสอบสื่อ ยุติการปิดกั้นสื่อของฝ่ายค้าน และสื่อต่างชาติ จะเห็นได้ว่าตอนนี้หนังสือพิมพ์หลักอย่าง เมียนมาร์ ไทม์ส มักจะลงบทความสนับสนุนฝ่ายค้านพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และตำหนิความผิดพลาดของรัฐบาลอยู่บ่อยๆ ประชาชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ต่างชาติที่เคยต้องห้าม รวมทั้งช่องทีวีดาวเทียมที่เอนเอียงไปทางฝ่ายค้านได้อย่างเสรี
3 ประเด็นโดดเด่นสุดของการปฏิรูปการเมืองการปกครอง เห็นจะเป็นการปล่อยตัวนักโทษการเมืองชุดใหญ่ ในจำนวนนี้รวมถึงแกนนำหลายคนของฝ่ายค้าน ทั้งสมาชิกกลุ่มนักศึกษา “88 เจนเนอเรชั่น” สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี นักกฎหมาย นักหนังสือพิมพ์ และ พล.อ.ขิ่น ยุนต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกักบริเวณในบ้านพักกรุงย่างกุ้ง นับตั้งแต่พ่ายแพ้เกมแย่งชิงอำนาจภายในในปี 2547
ประเด็นที่ 2 คือการทำให้เอ็นแอลดีและนางซูจี ตัดสินใจกลับคืนสู่การเมืองกระแสหลัก เพื่อเล่นกันตามกติกาของระบอบประชาธิปไตย โดยเอ็นแอลดีส่งสมาชิกรวมทั้งซูจี ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส. และ ส.ว. ครบทุกที่นั่ง ในวันนี้ 1 เม.ย. ที่จะถึง และเชื่อว่าน่าจะได้เข้าไปนั่งในสภาเกือบทั้งหมด มีการคาดการณ์กันว่า ชนะเลือกตั้ง ส.ส. หนนี้ ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศรอนางซูจีอยู่แล้ว ถ้าเป็นจริงก็นับว่าเท่ทันสมัยไม่เบา เข้ากับกระแสชาติตะวันตก ที่พักหลังนิยมแต่งตั้งสตรีให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ และกลาโหม
ส่วนประเด็นสุดท้ายคือการบรรลุข้อตกลงหยุดยิง สงบศึกกับกบฏชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในประเทศ เช่น กะเหรี่ยง ฉาน กะฉิ่น ว้า โกก้าง และล่าสุดขณะที่เขียนคือ มอญ กลุ่มพรรครัฐมอญใหม่ (เอ็นเอ็มเอสพี) ตอนนี้ยังเหลืออีก 2-3 กลุ่ม ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกำลังทาบทาม และเชื่อว่าท้ายที่สุดคงฝืนกระแสไม่ไหว
สัปดาห์ก่อนรัฐบาลเพิ่งสั่งกองทัพหยุดโจมตีชนกลุ่มน้อย ทุกพื้นที่ขัดแย้งทั่วประเทศ จุดนี้จะทำให้การบรรลุข้อตกลงกับชนกลุ่มน้อยที่เหลือง่ายดายยิ่งขึ้น
ด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลของเต็ง เส่ง เลือกที่จะดำเนินรอยตามเพื่อนบ้านสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงิน ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก ผู้นำพม่าและคณะชุดใหญ่ ประกอบด้วยรัฐมนตรีรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ และบรรดาผู้นำธุรกิจ เดินทางเยือนสิงคโปร์เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 29 - 31 ม.ค.
ในการนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ซึ่งสิงคโปร์จะช่วยฝึกอบรมทางด้านเทคนิคแก่พม่า ถ่ายทอดคววามรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย การเงินและการธนาคาร การค้า การท่องเที่ยว และการวางผังเมือง
แถลงการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) วันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา บอกว่า พม่ามีศักยภาพในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว หากรัฐบาลปรับปรุงภาคการเงินให้ทันสมัย ทำให้กลุ่มธุรกิจทำการค้าและลงทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยการยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบซ้ำซ้อน
ระบบที่ว่านี้ก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดของพม่าต่อดอลลาร์สหรัฐ ถูกตรึงไว้ที่ 8.5 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์ แต่อัตราแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการสูงกว่ากว่า 100 เท่า คืออยู่ที่ประมาณ 750 - 770 จ๊าดต่อดอลลาร์ ความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยนนี้เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการค้าขาย และเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับุรกิจต่างชาติ
ปัจจุบันพม่าเป็นหนึ่งในแค่ 17 ประเทศของโลก ที่ยังใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินแบบซ้ำซ้อน
ในอดีตช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 พม่าได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยสุดของเอเชีย แต่หลังการปกครองของคณะทหารเกือบ 50 ปี ขณะนี้พม่าอยู่ในกลุ่มประเทศยากจนสุดของโลก ประชากรทั้งประเทศประมาณ 60 ล้านคน 1 ใน 3 ดำรงชีพอยู่ด้วยรายได้ไม่ถึงวันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ต่ำกว่า 31 บาทไทย
จากการประเมินของไอเอ็มเอฟ มูลค่าผลิตภันฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของพม่า ตอนนี้อยู่ที่ 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเศษๆ ห่างกันลิบลับกับเพื่อนบ้านอย่างไทยเรา ซึ่งจีดีพีอยู่ที่ 348 พันล้านดอลลาร์
ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจพม่าน่าจะเติบโตราว 5.5 % ในปีงบประมาณ 2554-2555 และ 6 % ในปี 2555-2556 จากปัจจัยหลักการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ และการลงทุนในประเทศสูงขึ้น
เรื่องการลงทุน นายอู โซ เธน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมพม่า เพิ่งนำไปป่าวประกาศในที่ประชุมเศรษฐกิจโลก เวิลด์ อีโคนอมิค ฟอรั่ม เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ พม่ามีแผนงดเว้นการเก็บภาษีเป็นเวลา 8 ปี สำหรับธุรกิจต่างชาติที่สนใจเข้าไปลงทุนในพม่า และรัฐบาลยังเตรียมแก้ไขและออกกฎหมายใหม่ เพื่อดึงดูดทุนต่างชาติโดยเฉพาะ
ได้แบบแผนดีสูตรสิงคโปร์ แต่การปฏิรูปเศรษฐกิจของพม่าจะสำเร็จได้ ปัจจัยหลักอยู่ที่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐและสหภาพยุโรป ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงในทางบวกของพม่าจนถึงขณะนี้ อียูเพิ่งตกลงเริ่มยกเลิกเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ยังไม่ยกเลิกทางด้านเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสหรัฐ คาดว่าคงจะรอดูสถานการณ์หลังการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งหากฝ่ายค้านได้เข้าไปมีสิทธิมีเสียงในสภา และนางซูจีได้ตำแหน่งในรัฐบาล สหรัฐและอียูคงเริ่มยกเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลังจากนั้น
ตอนอยู่ที่สิงคโปร์ นักข่าวถามการปฏิรูปการเมืองกับเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญอย่างไหนมากกว่ากัน ? ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ตอบโดยไม่ลังเลว่า การเมืองกับความมั่นคงของประเทศ ต้องมาก่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ
เมื่อการเมืองนิ่ง ทุกฝ่ายสามัคคีปรองดอง และบ้านเมืองสงบ ไม่มีการรบราฆ่าฟันกัน การพัฒนาเศรษฐกิจก็จะราบรื่นโดยอัตโนมัติ.
สุพจน์ อุ้ยนอก @เดลินิวส์
ป้ายกำกับ:
สถานการณ์โลก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น