หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

อโลฮา! ฮาวาย นครแห่งสายรุ้ง

โดย : ทีมวาไรตี้ @เดลินิวส์



ผืนน้ำสีฟ้ายิ่งกว่าฟ้า ค่อย ๆ ไล่โทน สีจางลงจนกลายเป็นระลอกคลื่นสีขาวก่อนกลืนกระทบกับหาดทรายสีนวลในยามแสงแดด จ้า ทิวมะพร้าวเอนลิ่วตามลม และความสดใสของสีสันวิถีชีวิตผู้คนเมืองร้อน เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของ “หมู่เกาะฮาวาย” ที่หลายคนอาจจะเคยจินตนาการถึง แม้ว่าจะได้เคยมาสัมผัสดินแดนแห่งนี้หรือไม่ก็ตาม


สีฟ้าเข้มของน้ำทะเลฮาวายถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของสิ่งต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไม้ดอก ไม้ประดับ ภาพยนตร์ฮอลลีวูด ไปจนถึงเหล้าค็อกเทล รสอร่อยในชื่อ “บลูฮาวาย” เรียกได้ว่าหมู่เกาะกลางมหา สมุทรแปซิฟิกแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์เป็นที่รับรู้ของผู้คนเกือบทั้งโลก และใฝ่ฝันที่จะเดินทางไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต

“ฮาวาย” (Hawaii) เป็นมลรัฐสุดท้องของสหรัฐอเมริกา ถูกรวมเข้าเป็นดาวดวงสุดท้าย ลำดับที่ 50 ประดับในธงชาติของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2502 หรือ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ฮาวายถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2321 โดยนักเดินเรือชาวอังกฤษ นาม กัปตัน เจมส์ คุก ซึ่งขนานนามหมู่เกาะที่ค้นพบในขณะนั้นว่า “หมู่เกาะแซนด์วิช”

เมือง หลวงของรัฐฮาวายคือ “โฮโนลูลู” (Honolulu) ตั้งอยู่บนเกาะโออาฮู (Ohau) หนึ่งในเกาะสำคัญ 8 เกาะของหมู่เกาะฮาวาย โฮโนลูลู มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางการปกครองของมลรัฐฮาวาย อีกทั้งยังเป็นบ้านเกิดของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเกาะโออาฮู คือ ฮาวาย ซึ่งแท้จริงแล้วเกาะฮาวายเป็นเกาะใหญ่ที่แยกออก มาต่างหาก คนท้องถิ่นและนักเดินทางผู้เจนจัดเรียกว่า “บิ๊ก ไอซ์แลนด์” (Big Island) เพื่อกันความสับสน ทั้งนี้มลรัฐฮาวายอยู่ห่างจากชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 3,700 กิโลเมตร มีชื่อเล่นน่ารัก ๆ ว่า “อโลฮา สเตท” (Aloha state)

“อโลฮา” เป็นภาษาของชนพื้นเมืองดั้งเดิมฮาวายที่มีเชื้อสายโพลินีเชียน เช่นเดียวกับชาวเกาะอื่น ๆ ในภูมิภาคแปซิฟิก คำ ๆ นี้กินความหมายลึกซึ้งถึงความรัก สันติภาพ ความเห็นอกเห็นใจ และความเมตตากรุณา ได้ถูกนำมาใช้ทักทายกันโดยทั่วไป ทั้งในความหมายว่า “สวัสดี” และ “ลาก่อน” แต่เป็นที่เข้าใจกันดีในความหมายแรกมากกว่า และเราจะพบเห็นคำ ๆ นี้เกือบในทุกสิ่งทุกอย่างของฮาวาย

ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าเดิมทีนั้นฮาวายเป็นนิวาสสถานดั้งเดิมของชนเผ่าโพลินี เชียน ก่อนจะขึ้นกับสหรัฐอเมริกาฮาวายเคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ หลังการรวบรวมหมู่เกาะฮาวายเข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักรฮาวาย ของกษัตริย์ คาเมฮาเมฮา ที่ 1 (Kameha- meha I) ในปี พ.ศ. 2353 จนสิ้นสุดราชวงศ์ในปี 2436 และประกาศเป็นสาธารณรัฐอิสระในปี พ.ศ. 2437-2441 ก่อนจะถูกผนวกเป็นดินแดนในปกครองของสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นมลรัฐลำดับที่ 50 ในที่สุด เวลานี้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของการเคยมีกษัตริย์ปกครอง คือ “พระราชวังอิโอลานิ” ที่เป็นวังแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น กลุ่มคนเชื้อชาติต่าง ๆ ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลี และฟิลิปปินส์ ต่างอพยพเข้าไปตั้งรกรากอยู่ใน ฮาวายจำนวนมากนานนับร้อยปี มีการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮาวาย เอง ขณะที่ชนพื้นเมืองดั้งเดิมก็มีการผสมกลมกลืนไปกับผู้คนและวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามา จนทุกวันนี้แทบจะระบุชัดไม่ได้ว่าใครคือชนพื้นเมืองดั้งเดิม คงเหลือไว้เพียงการจัดแสดงโชว์สำหรับนักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสกลิ่นอายวิถี ชีวิตชาวเกาะที่แท้จริงเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของฮาวายเป็นที่รู้จักอย่างกว้าง ขวาง คือ “อ่าวเพิร์ล” หรือ “เพิร์ลฮาเบอร์” อันเป็นฐานที่ตั้งของกองกำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกาในภูมิ ภาคแปซิฟิก และเป็นสมรภูมิสำคัญที่ดึงสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากญี่ปุ่นได้เปิดแนวรบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นั้น ญี่ปุ่นได้ส่งกองกำลังทั้งทางเรือและทางอากาศโดยเฉพาะฝูงบินพลีชีพกามิกาเซ่ ที่นักบินชาวอาทิตย์อุทัยขับเครื่องบินติดระเบิดพุ่งเข้าจม เรือรบของสหรัฐอเมริกาให้ย่อยยับไปพร้อมกับชีวิตตัวเอง เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2484 ทำให้เรือและเครื่องบินรบของกองทัพสหรัฐเสียหายจำนวนมาก รวมถึงชีวิตทหาร และพลเรือนอีกกว่า 2,000 ราย ที่ต้อง ดับสูญลงที่นี่

เพิร์ลฮาเบอร์จึงเป็นสถานที่ที่นักเดินทางและผู้มี โอกาสมาเยือนฮาวาย ต้องไม่พลาดที่จะเข้าไปเยี่ยมชมเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของมหาสงครามที่ เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยทางกองทัพสหรัฐอเมริกาได้จัดทำ อนุสรณ์สถานเรือรบยูเอสเอส อริโซนา (USS Arizona Memorial) ขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์เพื่อรำลึกถึงสมรภูมิเลือดในครั้ง นั้น อนุสรณ์สถานเรือรบยูเอสเอสอริโซนาก่อสร้างเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลัง ยาวทาสีขาวครอบเหนือซากเรือรบยูเอสเอส อริโซนาที่ถูกจมลงทั้งลำโดยฝีมือกองทัพญี่ปุ่น พร้อมชีวิตลูกเรือกว่า 1,000 ชีวิตที่ยังคงนอนหลับใหลอยู่ในลำเรือใต้ผืนน้ำสีฟ้าใส เงียบสงบปราศจากคลื่น ลมของอ่าวเพิร์ลโดยที่ไม่ได้มีการเก็บกู้ขึ้นมา ถึงวันนี้หากไปเยือนอนุสรณ์สถานเรือรบยูเอสเอส อริโซนา เรายังมีโอกาสได้เห็นฟองน้ำมันเชื้อเพลิงของเรือผุดพรายขึ้นมาเหนือผิวน้ำ บอกเล่าเรื่องราวในอดีตเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้วว่าสงครามไม่เคยให้อะไรกับใครเลยไม่ว่า ฝ่ายแพ้หรือชนะ

ไม่ห่างกันนักยังมีอนุสรณ์สถานเรือรบยูเอสเอส มิสซูรี (USS Missouri Memorial) ซึ่งเป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่เก็บรักษาประวัติศาสตร์สำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้เช่นกัน โดยเรือรบยูเอสเอส มิสซูรี เคยทอดสมอที่อ่าวโตเกียว เพื่อเป็นสถานที่ให้ญี่ปุ่นเซ็นสัญญายอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2488 ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

นอกจากความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว ไฮไลต์สำคัญของการมาเยือนฮาวายต้องเป็นหาดทรายและทะเล ฮาวายมีชายหาดสวย ๆ หลายแห่งกระจายอยู่ทั่วเกาะจนยากจะจาระไนหมด แต่ชายหาดเลื่องชื่อเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากที่สุด จนชายหาดอื่นต้องหลีกให้แม้จะมีความสวยงามกว่า คือ “หาดไวกิกิ” ที่มีความยาวกว่า 3 กิโลเมตรเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทอดยาวขนานไปกับย่านใจกลางเมืองที่เป็นศูนย์กลางการบริการและท่องเที่ยวของ โฮโนลูลู ไวกิกิจึงเป็นแหล่งชุมนุมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนฮาวาย และไม่เคยร้างลาผู้พิสมัยแสงแดด ภาพสาวน้อยสาวใหญ่นุ่งบิกินีอาบแดดจึงคับคั่งตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระ อาทิตย์ลับขอบฟ้า

ฮาวายยังมีแหล่งท่องเที่ยวและภูมิประเทศที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมาย นอกจากทะเลแล้วยังมีภูเขา ที่สำคัญไม่ใช่ภูเขาธรรมดา ๆ แต่เป็นภูเขาไฟมีทั้งที่ดับไปแล้วและยัง ปะทุปล่อยลาวาออกมาเรื่อย ๆ เพราะหมู่เกาะฮาวายมีกำเนิดมาจากการระเบิดของภูเขาไฟนั่นเอง ในส่วนของเกาะโออาฮู ที่ตั้งของเมืองโฮโนลูลูก็เกิด จากการระเบิดของภูเขาไฟ ประจักษ์พยานที่เห็นอยู่จน ทุกวันนี้ คือ ปากปล่องภูเขาไฟไดมอนด์เฮด (Diamond Head) ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่มอดดับลงแล้วกว่า 1.5 แสนปี มองเห็นตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของเกาะโออาฮูอยู่ปลายหาดไวกิกิ หากขึ้นไปยืนอยู่บนยอดภูเขาไฟไดมอนด์เฮด เราจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพทั่วเกาะโออาฮูได้ในมุมมอง 360 องศา ตั้งแต่จากหาดไวกิกิที่เป็นชายฝั่งมหา สมุทรไกลสุดลูกหูลูกตาจดเส้นขอบฟ้า จนลึกเข้ามาในแผ่นดินที่เป็นย่านศูนย์กลาง ธุรกิจและการท่องเที่ยวตลอด ไปจนถึงบ้านเรือนของผู้คน เรียงรายเป็นระเบียบอยู่ตาม ไหล่เขาเขียวขจี

ทั้งนี้ด้วยเพราะปริมาณฝนและแสงแดดที่มากพอ ๆ กัน ในขณะที่อีกฟากหนึ่งของเกาะมีแดดจ้า แต่อีกฟากอาจจะมีสายฝนพรำลงมาให้ชุ่มฉ่ำ ไม่นานนักก็จะปรากฏสายรุ้งทอดยาวจากฟ้าลงมาสู่ใจกลางเมือง ภูเขา หรือทะเล สำหรับเมืองนี้ในวันหนึ่ง ๆ เราจึงได้เห็นรุ้งกินน้ำกันวันละหลายครั้ง หากถือตามความเชื่อของคนไทย คนที่เผลอชี้นิ้วทักเมื่อเห็นรุ้งกินน้ำคงได้นิ้วกุดกันหมดมือแน่ การที่มีทั้งแดดและฝนเป็นเพราะฮาวายมีภูมิอากาศกึ่งเขตร้อน อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเช่นเดียวกับประเทศไทย เราจึงพบเห็นพืชพันธุ์ ต่าง ๆ ใกล้เคียงหรือเป็นชนิดเดียวกับที่พบในประเทศไทย สามารถเติบโตงอกงามอยู่บนเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ได้ด้วยเช่นกัน หากนับรวมนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย ญี่ปุ่นหรือเกาหลีด้วยแล้ว อาจจะนึกว่าเดินอยู่เมืองชายทะเลของประเทศไทยที่ไหนสักแห่ง แทนที่จะอยู่เมืองฝรั่งก็เป็นได้

แต่ในความคล้ายย่อมมีความต่างในวิถีชีวิตของผู้คน ที่หลากหลายทั้งเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทั้งความเป็นตะวันออกและตะวันตก ผสานรวมกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างไม่มีที่ใดเหมือน เปรียบได้กับรุ้งที่ต่างสีแต่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันสร้างสีสันความสวยงามให้ กับโลกใบนี้ ถ้าหากใครมีโอกาสก็อย่าพลาดลองไปนับสายรุ้งที่ “ฮาวาย นครแห่งสายรุ้ง” ดูบ้าง และเราย่อมรู้วิธีแก้เคล็ดอยู่แล้วว่าจะทำอย่างไรไม่นิ้วกุด.

ไม่มีความคิดเห็น: