เขาเป็นเลขาฯ แห่งกระทรวงบัวแก้วที่งานเข้าและงานชุกมากที่สุด จนถูกตั้งคำถามว่า "เล่นเกินบท" ไปหรือเปล่า ..เขายิ้มรับพร้อมคำอธิบายประกอบ
ในช่วงเวลาที่เส้นพรมแดนไทย-กัมพูชา ยังระอุ โทรศัพท์ 2 ใน 4 เครื่องของ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ดังตลอดเวลา
"เมื่อเช้าวางทิ้งไว้อยู่ 5 นาที ขึ้นไป 18 missedcall ครับ" ทายาทรุ่น 3 วัย 36 ของตระกูลอินทรโกมาลย์สุต หมายถึงโทรศัพท์ 1 ใน 2 เครื่องที่ใช้ติดต่องาน ส่วนอีก 2 เครื่องเอาไว้ดูทีวี เช็คข่าว เช็คเฟซบุ๊ค และกับแบลคเบอร์รี่ส่วนตัวที่ภรรยาซื้อให้...แต่ใช้ไม่เป็น
เวลาสนทนาที่ขอเอาไว้ล่วงหน้าประมาณ 1 ชั่วโมง สุดท้ายเจ้าตัวขอลดลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากต้องไปแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลต่อ
แม้จะเป็นเวลาเพียง 30 นาทีแต่ก็เป็น 30 นาทีที่ คำถาม-คำตอบ ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า กระชับ ตรงไปตรงมา ไม่เสียเวลาหรือเถลไถลออกนอกเรื่อง
โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ตั้งแต่มีตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นต้นมา เขาเป็นเลขาฯ ที่งานมากที่สุด ออกสื่อชนิดรายวัน โดยเฉพาะการรับบทหัวหมู่ทะลวงฟันแห่งกองทัพบัวแก้ว
เขาเป็นแค่เลขาฯ จริงๆ หรือเปล่า...
จริงๆ แล้วบทบาทและหน้าที่ของเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมีอะไรบ้าง
เลขาฯ ส่วนใหญ่จะเป็นคนกรองงานให้รัฐมนตรี พูดง่ายๆ ว่าดูงานลักษณะเลขาฯ แต่คงไม่เหมือนเลขานุการส่วนตัว อาจจะกรองแฟ้ม ดูงาน กรองงาน เป็นผู้ช่วยประสานงาน ติดต่องานต่างประเทศ งานระหว่างกระทรวง งานระหว่างสำนักงานรัฐมนตรี คงเป็นเรื่องปกติ เป็นงานรูทีนพอสมควร สำหรับเลขาทั่วไป แต่กรณีผม ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น (ยิ้ม)
ทำไมเลขาฯ ที่ชื่อชวนนท์ ไม่ได้ทำงานแบบเลขาฯทั่วไป
เรื่องที่ทำให้ผมมีงานเข้ามาตลอดคงหนีไม่พ้นเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ที่ผมไปเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีใครสนใจเรื่องนี้เท่าไร ท่านรัฐมนตรีก็มอบหมายให้ผมเดินทางไปที่ปราสาทเขาพระวิหาร ผมก็เดินทางไปกับคณะของกระทรวง ยังจำได้เลยว่าไปที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ผมเดินเข้าไปทหารกัมพูชาชักปืนออกมาด้วยซ้ำไป เขาจะไม่ให้เราขึ้น ทหารไทยก็บอกว่าไม่เป็นไรท่านเลขาเดินขึ้นไปเลย มีอะไรเดี๋ยวเขายิงกันเอง
ผมก็คิดว่ามันรุนแรงพอสมควรเลยนะ แต่มันก็ทำให้เราสนใจไปเลยว่ามันมีพื้นที่อย่างนี้อยู่ มีความเปราะบางของสถานการณ์ในพื้นที่ที่ว่า ถ้าเราบริหารจัดการไม่ดีในแง่นโยบายการทูต นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผู้ที่ต้องรับภาระตรงนั้นคือพี่น้องทหาร ซึ่งเราก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น อย่างที่เราพูดมาตลอดว่าการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังมันเป็นทางเลือกสุดท้าย
แต่ผมก็ต้องยืนยันกับประชาชน กับคนในประเทศให้เข้าใจด้วยว่าการใช้กำลัง สุดท้ายก็จะกลับมาสู่โต๊ะเจรจา รบกันตายพันคนหมื่นคนก็ต้องกลับมาโต๊ะเจรจา แต่ถ้าผมเจรจาได้ก่อนผมก็อยากเจรจาโดยที่ไม่ต้องให้พี่น้องทหารมาสูญเสีย นี่คือหลักการทำงานที่ชัดเจน
2 ปีผ่านไปงานก็เข้ามาเรื่อยๆ ?
ก็นึกว่าปีที่แล้วจะเบาลง แต่เผอิญว่าเกิดเรื่องตั้งแต่เรื่องการจับ 7 คนไทยก่อนปีใหม่ ก็ไม่ได้พักเลย ปีใหม่ก็ทำงานข้ามปี New Year Eve ก็ตรวจพื้นที่ที่สระแก้ว เลยมีงานเข้ามาตลอด แล้วพัฒนาเป็นเรื่องของการสู้รบกัน เราก็ไม่คาดคิดว่าจะบานปลายออกมา
มันก็เป็นความน่าประหลาดที่ช่วงนี้งานเข้ามาโดยตลอด ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ยังมีการพูดกันเล่นๆ เลยว่าที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นแบบนี้เพราะผมหรือเปล่า เพราะผมมาอยู่ที่นี่ ยังล้อเล่นกับท่านนายกอยู่เลยเมื่อวันก่อน ที่เกิดความวุ่นวายอย่างนี้คงเพราะผมมานั่งเป็นเลขาอยู่ เอาผมออกไปอาจจะเบาลง (ยิ้ม)
แต่มันก็เข้ามาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกัมพูชา ล่าสุดนี้ก็เรื่องคนไทยที่อียิปต์ เดี๋ยวก็มีเรื่องนู่นเรื่องนี่เข้ามาแทรกโดยตลอด ไม่ได้พักไม่ได้ผ่อนกันทุกคน
นอกจาก เรื่องกัมพูชาแล้ว เราเห็นบทบาทของคุณ ทั้งประชุมพรรคการเมืองโลกที่แอฟริกาใต้ในนามของพรรค และในแง่การตอบโต้กับคุณทักษิณด้วย ตรงนี้คิดว่าเป็นบทบาทเลขาฯ ด้วยหรือเปล่า
ผมถือตำแหน่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายการเมืองอีกตำแหน่งด้วย เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเราก็จะพูดเรื่องการเมือง และกระทรวงการต่างประเทศ ณ เวลานี้ มีเรื่องเข้ามาเยอะมาก ทำไมก็ไม่รู้ แล้วก็เป็นเรื่องการเมืองเสียส่วนใหญ่ หมายความว่า เป็นเรื่องที่มีแรงกดดันทางการเมือง มีแรงเสียดสีจากปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกซ้อน บางเรื่องข้าราชการประจำก็อาจจะไม่สบายใจที่จะพูด เราจึงต้องเป็นคนที่ออกมาชี้แจง คำพูดของผมจะไม่ใช่ลักษณะการตอบโต้ถ้าจะไปดูจริงๆ แล้ว เป็นการชี้แจงตามที่มีการตั้งข้อสงสัย ว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร ตั้งข้อสงสัยกล่าวหามา ผมก็ออกไปชี้แจง ไม่ใช่ลักษณะการตอบโต้รายวัน ผมไม่ใช่คนที่ทำอย่างนั้น
มีข่าวว่า 2 ปีที่แล้ว ก่อนตั้งครม.1วัน นายกฯ โทรหาคุณ ชวนให้ไปเป็นเลขาฯ แล้วคุณก็เซ็นใบลาออกทันที?
ต้องเรียนว่าการแต่งตั้งเลขานุการรัฐมนตรีหรือที่ปรึกษาส่วนใหญ่ ท่านนายกคงมีส่วนมากที่สุดในการพิจารณา ท่านรู้จักผมในระดับหนึ่ง เพราะผมก็เคยลงส.ส.ตั้งแต่ปี 48 แล้ว แต่สอบตก (ยิ้ม) และท่านก็คงอยากให้โอกาสเราทำงานตรงนี้ แต่ไม่ถึงขนาดโทรมาเองหรอก (ยิ้ม) ก็มอบหมายมาตามสายบังคับบัญชาแจ้งให้เราทราบ
สื่อและประชาชนมักเห็นหน้าคุณชวนนท์บ่อยที่สุด บ่อยกว่ารัฐมนตรี?
ต้องพูดให้เข้าใจว่า คนชอบไปคิดว่าผมทำงานเกินหน้าท่านรัฐมนตรี แต่ต้องเรียนว่าทุกครั้งที่เราออกมาพูดไม่เคยมีครั้งไหนที่ไม่ได้รับการ อนุญาตจากท่าน จะพูด จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตจากท่านรัฐมนตรีก่อน ต้องเรียนว่าท่านรัฐมนตรีกษิตเป็นทูตมา 6 ประเทศ ท่านเป็นนักการทูตที่เชี่ยวชาญคนหนึ่งของประเทศไทย เพราะฉะนั้นงานกระทรวงการต่างประเทศนั้นท่านทำมากที่สุดตั้งแต่มีรัฐมนตรี ต่างประเทศมาในประเทศไทยก็ว่าได้ ท่านเดินทางตลอด ชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาชาติในช่วงที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศ ท่านไปกระชับความสัมพันธ์ เปิดลู่ทางการค้าการลงทุน ประชุมองค์การระหว่างประเทศเกือบครบทุกองค์การ
ผมเชื่อว่าวันนี้ท่านรัฐมนตรีเดินทางไปเกือบทุกประเทศในโลกแล้ว อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่าท่านก็มีบทบาทในฐานะรัฐมนตรี ผมก็ทำหน้าที่เลขานุการและโฆษก นำงานของกระทรวงการต่างประเทศไปชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ สอง คือมีข้อกล่าวหาต้องชี้แจงพอสมควร ทั้งการเมืองในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ ผมก็มีหน้าที่ทำความเข้าใจในเรื่องที่ข้าราชการประจำกระอักกระอ่วนใจที่จะ พูด
เหมือนฝ่ายบู๊ บุ๋น ?
ก็พยายามทำให้ได้ครบ คือเราก็พยายามวางตัวเราเอง มาอยู่ตรงนี้ก็ต้องให้เกียรติกระทรวงการต่างประเทศด้วย เราจะเอาปัญหาการเมืองเข้ามาพันกับงานในกระทรวงของเขาเพื่อให้งานเขาเสียหาย คงไม่ได้ ผมก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการพูดจา พูดง่ายๆ คือไม่เอางานของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงมาสร้างกระแสทางการเมือง หรือมาปั่นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับรัฐบาลหรือพรรคประชาธิปัตย์ ก็ว่ากันตรงไปตรงมา ชี้แจงให้อยู่ในขอบเขตที่คิดว่าถูกต้อง
ตารางการทำงานในช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ไม่มีตาราง(ตอบทันที) ตื่นมาถ้ายังไม่หลับก็ต้องทำงานตลอด ก็ต้องติดต่อประสานงานตลอด ยิ่งช่วงนี้ก็คุยโทรศัพท์กันถึงห้าทุ่ม เที่ยงคืน ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรแล้ว เสาร์ก็อยู่กระทรวง วันอาทิตย์ก็ได้พักนิดเดียว อยู่บ้านไม่ได้ไปไหน
เวลาส่วนตัวมีไหม
เมื่อก่อนมี แต่ช่วงนี้มีน้อยเพราะต้องเดินทางเยอะด้วย คืออยู่ที่นี่ถ้าไม่เดินทาง งานก็เข้ามาตลอด สาม-สี่ทุ่มก็โดนเรียก
เดินทางบ่อยแค่ไหน
เดือนละหนน่าจะมี อย่างน้อย 3-4 วัน
ครอบครัวเข้าใจในการทำงาน?
เขา(ภรรยา)เข้าใจ ลูก (2คน 3ขวบและ4ขวบ) ติดแม่มากกว่าผม เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว แต่เราไม่อยู่นานก็ถามถึงเหมือนกันนะ แต่ผมก็ไม่ได้ไปนานมาก เต็มที่ก็เจ็ดวันแล้วก็กลับมา กลับมาแล้วก็อาจจะไปอีก เขาก็รู้ว่าผมทำงาน เขายังเด็กอยู่ไม่มีปัญหาอะไร บอกว่าเห็นหน้าพ่อทางทีวี(ยิ้ม)
สองปีที่ผ่านมากับการเป็นเลขาฯ อะไรทำให้หนักใจที่สุด
ถ้าปีที่แล้ว การทำความเข้าใจ การชี้แจงกับประชาชนบางครั้งความจริงอาจเป็นสิ่งที่ไม่พอใจของหลายๆ ฝ่าย หนักใจที่การพูดความจริงของเราทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจขึ้น แต่มันคือความจริง บางครั้งผมพูดอะไรออกไป หลังๆ นี่โดนข้อหาขายชาติด้วยซ้ำไป แต่เราก็ต้องยืนยันว่าข้อเท็จจริงการแก้ปัญหาเป็นอย่างนี้ เราจะดำเนินงานโดยยึดเหตุผลของเราฝ่ายเดียวไม่ได้ การเจรจาระหว่างประเทศคงต้องฟังทั้งสองฝ่าย แน่นอนว่าเมื่อขึ้นต้นด้วยคำว่าการเจรจาก็ต้องเอาเหตุผลทั้งสองฝ่ายมาพูดคุย กัน แล้วก็ต่อสู้กัน ยึดหลักของการรักษาอธิปไตย รักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง รู้ว่าทุกท่านห่วงเป็นใยบ้านเมือง แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
แต่ในบทบาททางการฑูตก็ต้องมีหน้าที่เจรจา "ความจริง" ให้สัมฤธิ์ผลที่สุด
ผมพูดความจริงในระดับหนึ่งแต่คนในประเทศก็ไม่พอใจ แต่ผมจะพูดหมดก็ไม่ได้เพราะเป็นการเจรจาระหว่างประเทศ ต้องเก็บท่าทีการเจรจาของเราไว้ในกระเป๋าเหมือนกัน คือผมไม่ได้มีอะไรปิดบังคนภายในประเทศ แต่ถ้าผมพูดทั้งหมด ฝ่ายเจรจากับผม กับประเทศอื่นๆ ที่เจรจากับผม เขาจะได้ยินว่าเทคนิคของผมคืออะไร ผมก็บอกไม่ได้ พอบอกไม่ได้เขาก็นึกว่าผมไม่มีทีเด็ด ก็ไปโหมว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ยอมไม่ได้อะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นมันก็ยาก เราก็ต้องยอมๆ เราอยู่ตรงนี้ ในเมื่อเราเป็นคนที่เข้าไปทำงานเข้าไปเจรจา เราก็ต้องยอมโดนแรงเสียดทานทางการเมือง ก็มีคนที่ไม่พอใจว่าเราจะไปโอนอ่อนผ่อนตามประเทศอื่น โอนอ่อนผ่อนตามคู่เจรจา ซึ่งจริงๆ ต้องยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้หรอก ผมจะไปยอมคนอื่นทำไม
โดนเยอะๆ แบบนี้มีอะไรเป็นเกราะป้องกัน
เราทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดีต่อชาติบ้านเมือง บางครั้งก็ท้อใจ เหนื่อยก็มี ผมก็ไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรต่างๆ ผมไปที่พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ผมก็พูดกับตัวเองนะ คือ เรื่องเขตแดนท่านเป็นผู้จัดการมา สนธิสัญญามันเกิดขึ้นในสมัยนั้น ผมก็สาบานกับท่านว่าผมจะไม่ทำอะไรที่มันเสียหาย ท่านได้ทรงพระกรุณาวางแนวทางไว้ เราก็ยืนยันตามนั้น แล้วพอเราเป็นอย่างนั้นก็สบายใจว่าเราไม่มีอะไร คือไม่มีใครจะยอมยกแผ่นดินให้กับใคร แม้แต่ตารางนิ้วเดียว แต่มันก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเจรจา บนพื้นฐานของความสูญเสียให้น้อยที่สุด ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจกัน การใช้กำลังประหัตถ์ประหารมันใช้เมื่อไรก็ได้ แต่ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้นเอง
การเจรจาทางการทูตกับกัมพูชามีข้อควรระวัง หรือวิธีที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ไหม
คงไม่แตกต่าง เราก็ยึดถือผลประโยชน์ของเราเป็นที่ตั้ง ยึดถือความถูกต้อง เราเจรจาบนพื้นฐานที่เราไม่เอาเปรียบเขา แต่เราก็ไม่ให้เขาเอาเปรียบเรา ทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐานในกระดาษที่ทำมาในอดีต ถ้าเกิดเรื่องเขตแดน คนจะเข้าใจผิดว่าเราจะไปปักปันเขตกับกัมพูชา ซึ่งไม่ใช่ เขตแดนไทย-กัมพูชามันเสร็จไปแล้วตั้งแต่สมัยร้อยปีที่แล้ว เพียงแต่วันนี้หลักหมุดมันหายไปเท่านั้นเอง ก็จะไปหามันอยู่ที่ไหน บางอันสันปันน้ำมันถูกทำลายไป ก็จะไปดูสันปันน้ำที่ถูกต้องที่คุยในอดีตมันอยู่ตรงไหน ไม่มีอะไรรุนแรงเลย แต่คนเข้าใจกันผิดว่าเดี๋ยวจะไปปักปัน แล้วทำให้เสียดินแดน มันไม่มีทางที่จะเสียดินแดนได้ เพราะทุกอย่างมันเสร็จแล้ว ผมจะไปทำรั้วใหม่เท่านั้นเอง
เจรจากับคนในประเทศกับคนนอกประเทศ แบบไหนยากกว่ากัน
นอกประเทศเราสู้ได้เต็มที่ ทำงานได้เต็มที่ ไม่มีอะไรต้องกังวลในการเจรจาพูดคุย แต่ในประเทศบางทีมันก็ยาก เพราะเขาก็อาจจะฟังเรา แล้วก็มีควาคิดแบบอื่น หรือฟังเราไม่หมด หรือแกล้งไม่เข้าใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็ทำให้การพูดคุยค่อนข้างจะลำบาก
งานที่น่าสนใจและท้าทายที่สุดในการเป็นเลขารัฐมนตรีคืออะไร
ทุกวันนี้งานก็ท้าทายมากอยู่แล้ว งานเลขารัฐมนตรีมันไม่ควรจะท้าทายขนาดนี้ (ยิ้ม) มันไม่รู้จะเอาอะไรมาท้าทายมากกว่านี้แล้ว เพราะทุกวันนี้เราก็ชี้แจงประสานเต็มรูปแบบอยู่แล้ว ผมก็ไม่รู้ว่านี่เป็นงานของเลขากระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงกลาโหมทำ เพราะเป็นงานทางด้านการเมืองจริงๆ
คำว่าการเมืองจริงๆ คือเราได้ใช้การเมืองทำความเข้าใจกับประชาชน ใช้การเมืองในการเจรจาระหว่างประเทศ เราไม่ได้เจรจาขายข้าว ไม่ได้เจรจาซื้อยาง เราเจรจาเรื่องแผ่นดิน มีแรงเสียดทานมหาศาล แรงกดดันมันมากเกินที่จะคาดได้ มันก็เป็นภาระเป็นงานที่ถือว่าไม่รู้จะเอาที่ไหนท้าทายไปมากกว่านี้แล้ว ผมคิดว่าเป็นงานที่สำคัญทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ พาดไปถึงสหประชาชาติแล้ว เดี๋ยวก็มีการต่อสู้กันที่สหประชาชาติ มันท้าทายผมไปเรื่อยๆ
ทราบมาว่าสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก
ใช่ครับ ชอบ ทำแล้วมันเห็นผล คือเด็กๆ เราคิดว่าทำงานการเมืองแล้วเป็นที่สนใจ แต่พอได้ทำแล้วมันได้คิดแล้วมันเห็นผลของคนหมู่มาก
เรียนจบมาเริ่มงานที่สภาพัฒน์ฯ ก็เป็นงานที่ผมก็อยากจะทำเหมือนกันนะ ที่เข้าไปทำที่สภาพัฒน์ฯ ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ก็เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง เพราะทำงานการเมืองก็ต้องรู้งานราชการ รู้งานภาครัฐพอสมควร งานวางแผนนโยบายเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมอะไรต่างๆ ผมก็พยายามทำงานกับการเรียนให้มันสอดคล้องกันจริงๆ ว่าเรียนมาแล้วก็เอามาใช้งานระดับหนึ่ง รู้ว่าเขาทำงานกันอย่างไร เราถึงจะมาเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายส่วนหนึ่งของรัฐบาลได้
เพราะอะไรจึงคิดว่างานการเมือง "เห็นผล" เร็ว
ผมไม่อยากพูดแบบนั้นไง เพราะมันก็เป็นคำตอบแบบนักการเมือง ทำประโยชน์ต่อคนหมู่มาก แต่เอาใจผมจริงๆ คิดว่ามันท้าทายตัวเอง ในการที่เราพูดอะไรออกไป อย่างทุกวันนี้มันท้าทายไหมล่ะ การเมืองมันก็ทำประโยชน์ให้กับคนได้ถ้าเราตั้งใจจริง ตัวอย่างง่ายๆ การชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องปัญหาไทย-กัมพูชา ผมเชื่อว่าผมทำให้คนๆ หนึ่งเข้าใจได้ แล้วมีความคิดในการสมัครสมานสามัคคีได้ เป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผมก็ถือว่าผมทำอะไรเพื่อประเทศชาติแล้ว
ทำไมถึงเรียนปริญญาโทตั้ง 3 ใบ
ผมว่ามันเป็นจังหวะมากกว่า ไม่ได้ขยันอะไรหรอก เราก็เห็นว่ามีโอกาสก็สมัครไป เขารับ เราก็เรียน แล้วก็ค่อไปเรื่อยๆ ผมไม่ใช่คนเรียนเก่งนะ ตอนนั้นก็พยายามเรียนอะไรให้มาก ชดเชยตอนเด็กที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไร มันก็เป็นโอกาสตลอดชีวิตที่โชคดีว่าสมัครไปแล้วมันได้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ได้ใช้เวลานานมากอะไร (ใบแรก เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ อีกสองใบ เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา)
แต่ก็ไปสอบเข้าสภาพัฒน์ได้เป็นที่ 1 ?
ใช่ อันนั้นได้จริงๆ ไม่รู้ได้ยังไง (หัวเราะ)
สนใจ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ไหม
ผมมี เฟซบุ๊ค มีแฟนๆ เยอะนะ แต่ว่าแฟนที่เข้ามาอัดก็มีเยอะ
ทวิตเตอร์ก็มีแต่ไม่ค่อยได้ทำ เพราะไม่ถนัด
เข้าเฟซบุ๊คบ่อยแค่ไหน
บ่อยครับ ทุกเช้าก็เข้าผ่านโทรศัพท์
เอาไว้เช็คกระแส ?
ตอนแรกๆ มีไว้เล่นส่วนตัว เป็นคนไม่ชอบเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ แต่พอหลังๆ เรื่องการเมืองเข้ามา คนเข้ามาเล่นกับเราเยอะ เราก็ได้เช็คกระแสว่าคนเขาคิดกับเรายังไง บางกลุ่มก็เห็นด้วยกับเรา สนับสนุนเรา แต่บางกลุ่มคัดค้าน ก็ส่งข้อมูลผ่านมา มีส่งเอกสารเข้ามา ก็ดี คนที่ไม่เห็นด้วยก็ส่งมาว่าทำไมเขาไม่เห็นด้วยกับเราอย่างไร
มีเขียนกลับไปบ้างไหม
มีบ้าง เมื่อก่อนเขียนกลับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเวลาเขียนเพราะมันเยอะ และถ้าเราเขียนให้คนหนึ่ง แต่ไม่เขียนให้คนอื่น ก็จะคิดว่าคนชมเราตอบ คนไม่ชมเราไม่ตอบ ช่วงหลังเลยเลือกตอบรวมๆ ไปว่า ขอบคุณทุกคน
เกี่ยวกับการระวังตัวด้วยหรือไม่
ผมก็ให้ข้อเท็จจริง ไม่ได้ไปเถียงอะไรกับใครในแง่ของการตอบโต้ เราก็ไม่มีเวลาเขียนด้วย ตอนนี้อยากอ่านสิ่งที่เขาสะท้อนมากกว่า เราคงไม่จำเป็นต้องตอบอะไร เพราะเราก็ตอบผ่านสื่อ บางทีเราแถลงข่าวไป คนที่เขาดูอยู่ไม่เห็นด้วยก็ใส่มาที่ เฟซบุ๊คผม ว่าผมพูดแบบนี้ไปได้อย่างไร เราก็ชี้แจงสองข้างได้อยู่แล้ว
ก่อนหน้าที่จะเกิดกรณีพิพาท เคยไปเที่ยวกัมพูชาบ้างหรือเปล่า
ไม่เคยไปเลย ไม่เคยคิดว่าจะไปด้วย ถ้าไม่ได้ทำงานตรงนี้ แต่พอมาทำงานที่นี่ ผมไปกัมพูชาเกือบ 10 เที่ยวแล้วมั้ง ก็ดีนะ เป็นประเทศที่มีอะไรที่ตื่นตาตื่นใจเยอะ คนไทยก็น่าไปเที่ยวนะ
เวลาเครียดมากๆ ทำอย่างไร
ไม่ทำอะไร นอน เมื่อก่อนก็พยายามจะเล่นกีฬา แต่มันก็เบื่อ บางทีก็เหนื่อยอยากจะพัก แต่ไม่บ่อยหรอก ยิ่งหลังๆ พอปรับตัวได้แล้ว รับแรงกดดันได้แล้ว เราก็รู้สึกว่าก้าวข้ามไปอีกขั้น อยู่กับมันได้แล้ว แรกๆ ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ อยู่ดีๆ เรื่องกระแสมันโหมแรงขึ้นมาเราก็ไม่เคยเจออะไรแบบนั้น แน่นอนก็มีอาการเกร็ง กดดันเหมือนกัน ก็ค่อยๆ ปรับตัว รับแรงกดดันได้ดีกว่าเดิม
แต่ไม่ต้องมากดดันผมมากกว่านี้แล้วนะ (หัวเราะ)
โดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
Life Style @กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น