โดย : ดร.ไสว บุญมา @กรุงเทพธุรกิจ
ในช่วงสามสี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ โลกอาหรับต้องกระสับกระส่ายด้วยการชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีซึ่งเริ่มขึ้นที่ตูนิเซีย แล้วเคลื่อนมาทางตะวันออกถึงอียิปต์และข้ามทะเลแดงมาถึงเยเมน ประธานาธิบดีของตูนิเซียครองอำนาจอยู่ 23 ปี ประธานาธิบดีของอียิปต์ครองอำนาจอยู่ 29 ปี และประธานาธิบดีของเยเมนครองอำนาจอยู่ 32 ปี
จากมุมมองของการครองอำนาจ การอยู่ในตำแหน่งยาวนานดูเหมือนจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ถูกขับไล่โดยประชาชนซึ่งทนพวกเขาไม่ไหว แต่การอยู่นานไม่ใช่ปัจจัยสำคัญนัก หากเป็นกระบวนการบริหารและปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งไม่จำกัดอยู่ในสามประเทศเท่านั้น หากมีอยู่ในอีกหลายประเทศของโลกอาหรับ คาดกันว่าเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันจะแพร่ขยายต่อไปอีกหลายแห่งในย่านตะวันออกกลางและแอฟริกาโดยเริ่มจากซูดานเป็นแห่งแรก
ประเทศเหล่านั้นมีปัจจัยพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งร่วมกันนอกจากประชาชนเผ่าพันธุ์อาหรับ และการนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่คือ การมีพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นทะเลทรายแต่ไม่มีน้ำมันมากมายเช่นหลายประเทศในพื้นที่แถบนั้น เพียงราว 5% ของพื้นที่ในตูนิเซียและ 0.6% ของอียิปต์มีน้ำพอทำอะไรๆ ได้ ส่วนในเยเมน สัดส่วนของพื้นที่ซึ่งมีน้ำนั้นต่ำมากเสียจนยากแก่การคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่แทบไม่มีทรัพยากร แต่ประชากรของประเทศเหล่านั้นกลับขยายตัวสูง จากราว 1.2% ต่อปีในตูนิเซีย ถึง 1.7% ต่อปีในอียิปต์ และ 3% ต่อปีในเยเมน โดยเฉลี่ยชาวตูนิเซียมีรายได้เท่าๆ กับชาวไทย ชาวอียิปต์มีรายได้ต่ำกว่าชาวไทยราว 20% ส่วนชาวเยเมนยากจนเพราะมีรายได้ราว 30% ของคนไทยเท่านั้น
ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่า น้ำมีความสำคัญต่อการมีรายได้สูงมาก เนื่องจากชาวตูนิเซียมีพื้นที่ซึ่งมีน้ำต่อหัวคนมากที่สุด รองลงมาเป็นชาวอียิปต์และรั้งท้ายด้วยชาวเยเมน แต่นั่นเป็นเพียงตัวชี้วัดเดียวเท่านั้น ยังมีตัวชี้วัดอื่นๆ อีก อาทิเช่น ทางการศึกษาบ่งว่าชาวตูนิเซียมีการศึกษาสูงกว่าชาวอียิปต์ซึ่งมีการศึกษาสูงกว่าชาวเยเมน อีกด้านหนึ่งได้แก่ตัวชี้วัดด้านระดับของความฉ้อฉลซึ่งตัวเลขขององค์กรความโปร่งใสสากลบ่งว่าทุกประเทศมีความฉ้อฉลสูงมากเริ่มจากเยเมนซึ่งมีมากที่สุด ต่อไปเป็นอียิปต์และตูนิเซีย ปัจจัยที่สะท้อนออกมาทางตัวเลขเหล่านั้นรวมกันแล้วมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแจ้งชัด เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตูนิเซียสูงกว่าของอียิปต์ซึ่งสูงกว่าของเยเมน
แต่เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจช้ากว่าอัตราที่จะสามารถสร้างงานให้กับคนหนุ่มสาวที่เดินเข้าตลาดแรงงานได้ ประเทศเหล่านั้นจึงมีอัตราการว่างงานสูงมาก นอกจากนั้น งานที่หาได้มักไม่เป็นงานเต็มเวลา หรือตรงกับการศึกษาและความสามารถของพวกเขา การว่างงานเป็นเวลานานและการทำงานเพียงบางเวลาสร้างความไม่พอใจให้แก่คนเหล่านั้นมาก ความไม่พอใจนี้มีลักษณะของไฟสุมขอนที่คุกรุ่นอยู่ภายในซึ่งไม่ค่อยแสดงออกมาเพราะมักถูกปราบอย่างโหดร้ายโดยประธานาธิบดีที่ใช้วิธีเผด็จการ
พวกเขาอยู่ในอำนาจได้นานด้วยการใช้วิชามารในการเลือกตั้ง การปราบปรามผู้ต่อต้านและฝ่ายตรงข้ามทำให้การอยู่ในตำแหน่งนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น แต่ประชาชนรู้ว่าประธานาธิบดีฉ้อฉลและเอื้อให้ครอบครัวและพวกพ้องของตนได้ประโยชน์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม พวกนั้นมักอยู่เหนือกฎหมายและทำตัวคล้ายกลุ่มอั้งยี่ นานวันเข้าตัวประธานาธิบดีเองก็ยิ่งฮึกเหิมและเริ่มพยายามนำเอาทายาทเข้ามาสืบทอดอำนาจของตัวเอง การกระทำเช่นนั้นสร้างความไม่พอใจยังผลให้ไฟสุมขอนร้อนระอุยิ่งขึ้น
เชื้อไฟที่ร้อนระอุปะทุออกมาในตูนิเซียเมื่อหนุ่มใหญ่ซึ่งขายผลไม้เลี้ยงแม่และน้องหลายคนทนความไม่ยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ไม่ไหว จึงจุดไฟเผาตัวตายเพื่อประท้วง ข่าวการเผาตัวตายของเขาเป็นชนวนจุดเชื้อไฟให้ปะทุออกมาทั่วประเทศ เหตุการณ์นั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวอาหรับในประเทศอื่นซึ่งตกอยู่ในสภาพเดียวกันลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลของตน
จากการได้ไปสัมผัสประเทศอาหรับจำนวนมากและจากการศึกษาวิวัฒนาการในด้านต่างๆ ของประเทศอื่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่เหนือความคาดหมาย ความอดอยากยากจน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม การกดขี่ข่มเหงผู้ไร้ทางสู้ ความโอหังและตั้งตัวเป็นกลุ่มอั้งยี่ที่อยู่เหนือกฎหมายของผู้อยู่ใกล้อำนาจ และความฉ้อฉลของคนมีอำนาจทางการเมืองและทางการเงินล้วนสร้างความคับแค้นใจให้คนทั่วไปทั้งสิ้น
หากเปรียบกับเหตุการณ์ในเมืองไทย ชาวอาหรับอดทนได้ไม่ต่างกับคนไทยนัก การรู้จักพวกเขาทำให้เข้าใจว่า เขาอดทนได้เพราะมองว่าทุกอย่างเป็นไปตามความประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าในทำนองเดียวกับที่คนไทยมองว่าทุกอย่างเป็นผลของกรรม กระนั้นก็ตาม ความอดทนของคนมีขีดจำกัดดังที่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เป็นประจำ ฉะนั้น การที่รัฐบาลไทยจะพยายามลดความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นการดีที่ควรทำอย่างเร่งด่วน แต่ทำเท่านั้นไม่พอ รัฐบาลต้องทำต่ออย่างจริงจังอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะการลดความยากจน ลดความฉ้อฉลของคนมีอำนาจ ลดความโอหัง การตั้งตัวเป็นอั้งยี่และการกดขี่ข่มเหงผู้ไร้ทางสู้ทั้งโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางการเงิน
การลดสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นอาจทำได้โดยความสมัครใจและด้วยนโยบายของรัฐบาล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสามสี่ปีมานี้บ่งชี้ว่า รัฐบาลไทยไม่มีเวลาที่จะนั่งทับปัญหาโดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาอีกแล้ว แม้เมืองไทยจะโชคดีที่มีทรัพยากรมากกว่าประเทศที่กล่าวถึง แต่ความอดทนของคนไทยก็มีขีดจำกัดและการปราบปรามก็อาจทำได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ณ วันนี้ เมืองไทยต้องการนักการเมืองที่มีความเป็นรัฐบุรุษ ไม่ใช่ผู้ฝึกงาน หรือนักเลือกตั้งดังที่เห็นอยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น