หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า "โซโห"

โดย : อนันต์ ลือประดิษฐ์
@กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ระยะนี้ ใครหนีน้ำท่วมเมืองกรุงไปนครลอนดอน อย่าลืมแวะไปเยือนย่าน "โซโห" (Soho)

ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ "เวสต์เอนด์" และเป็นส่วนหนึ่งของ "ซิตี ออฟ เวสต์มินสเตอร์" ที่นี่จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีสีสันทางวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่ง ถึงขนาดสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินหลายรายนำเรื่องราว ฉากและบรรยากาศ มาแต่งเป็นเพลงหลายเพลงด้วยกัน



แต่เพลงที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดเพลงหนึ่ง น่าจะหนีไม่พ้น Soho (Needless to Say) ซึ่ง อัล สจ๊วร์ต ร้องอัดแผ่นไว้ในอัลบั้มชุด Past, Present & Future เมื่อปี ค.ศ.1973


พูดถึง "โซโห" คำๆ นี้ไม่มีความหมายในตัวเอง แต่มีหลักฐานว่าเริ่มใช้กันในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 คาดกันว่าแปรเปลี่ยนมาจากเสียงร้องในการล่าสัตว์ โดยในเวลาต่อมา ดยุคแห่งมอนมัธ ใช้ "โซโห" เป็นเสียงเรียกในกิจกรรมการแข่งขันในหมู่บริวารของเขา ก่อนจะเป็นที่นิยมใช้เรียกพื้นที่ย่าน "โซโห" ของนครลอนดอนในปัจจุบัน


ด้วยคุณลักษณะเฉพาะตัวของโซโห ต้นตำรับในนครลอนดอน อันเป็นสถานที่บรรจบพบกันของกระแสวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่อุตสาหกรรมบันเทิง, โชว์ , การแสดง, ภาพยนตร์ , สตูดิโอ , ทีวี , แฟชั่น ผนวกรวมกับวิถีชีวิตกลางคืน คลับ บาร์ ร้านอาหาร มุมเล็กๆ ของปัญญาชนในร้านหนังสือ ไปจนถึงเซ็กซ์ช็อพ (สมัยก่อนมี ปี๊ปโชว์ หรือโชว์แก้ผ้าที่ให้มองผ่านช่อง) ทำให้มีการขนานนามย่าน "โซโห" ออกไปในอีกหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็น โซโหของฮ่องกง, โซโหของนครนิวยอร์ก และ โซโหของนครบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา เป็นต้น


โซโห เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่มีเสน่ห์ในตัวเอง ทั้งเฟี้ยวฟ้าว ทั้งลึกลับ ทั้งดูน่ากลัว (ในบางตรอกซอกซอย) ในยามดึก คุณอาจจะพบเจอคนวัยกลางคนเมาเหล้าในสภาพดูแลตัวเองไม่ได้ แต่ห่างออกไปไม่ไกลนัก ยังมีเด็กวัยรุ่นที่จับกลุ่มคุยกันอย่างสนุกสนาน


เพราะการจราจรที่ติดขัด โดยเฉพาะในยามดึก คุณควรเดินทางมายังพื้นที่นี้ด้วยรถไฟใต้ดิน ซึ่งคนที่นี่เรียกว่า "อันเดอร์กราวด์" ไม่ใช่ "ซับเวย์" เหมือนในสหรัฐอเมริกา โดยขึ้นได้จากสถานีอ็อกซ์ฟอร์ด เซอร์คัส, พิคคาดิลลิ เซอร์คัส หรือเลสเตอร์ สแควร์ แล้วใช้เวลาเดินอีกราว 5-10 นาที


ที่นี่ นักคลาริเน็ทแจ๊ส อย่าง ซิดนีย์ บิเชต์ จากสหรัฐอเมริกา เคยมาพบ "โซปราโน แซ็กโซโฟน" ในยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และตัดสินใจซื้อจากร้านค้าในย่านนี้ นำไปบรรเลงจนโด่งดังมาแล้ว ปัจจุบัน ไม่เพียงบาร์เพลงฮิพฮ็อพ แต่ยังมีคลับแจ๊สชื่อดังระดับโลกของ รอนนี สก็อตต์'ส ตั้งอยู่ที่นี่ด้วย โดยอาคารคูหาข้างๆ กันนั้น ยังมีร้านเชียงใหม่ ร้านอาหารไทยอยู่ใกล้ๆ แต่สำหรับคนชอบอาหารจีน เดินไม่ไกลนัก จะเป็นย่านไชนาทาวน์ที่คึกคักไม่แพ้กัน


กว่าจะมาเป็นเพลงนี้ อัล สจ๊วร์ต นักร้องนักแต่งเพลงชาวอังกฤษสายเลือดสก็อตช์ เดินทางมาถึงนครลอนดอนในช่วงวัยรุ่น และเคยเช่าอพาร์ทเมนต์อยู่ในย่านโซโหมาก่อน


ด้วยความฝันอยู่เต็มหัว ผนวกกับประสบการณ์จากชีวิตประจำวัน ทำให้เขาบรรยายภาพวิถีชีวิตในย่านโซโห อย่างที่เจ้าตัวบอกว่า "คงไม่ต้องบอก...ก็รู้ " ในเพลง Soho (Needless to Say) เพื่อให้มิตรรักแฟนเพลงได้เห็นภาพความหลากหลายและมีชีวิตชีวาอย่างจะแจ้ง ด้วยจังหวะจะโคนการร้องที่เร่งเร้า รวดเร็ว บนชีพจรของบทเพลงที่มีกลิ่นอายเฉพาะตัว ชวนให้ระลึกถึงรากเหง้าความเป็นเคลติคของคนสายเลือดสก็อตช์อย่าง อัล ขึ้นมาทีเดียว


The sun goes down on a neon eon
Though you'd have a job explaining it to Richard Coeur de Lion
Animation, bar conversation, anticipation, disinclination
Poor old wino turns with dust in his eyes
Begs for the dregs from the bottom of the kegs, man
You've never seen a lady lay down and spread her legs like
Soho (needless to say)


เมื่อไม่กี่ปีก่อน อัล เคยให้สัมภาษณ์ว่า นี่คือเพลงที่เขาแทบหลงลืมไปแล้วด้วยซ้ำ ต้องกลับมาท่องเนื้อใหม่ถึงจะร้องได้ โดยตอนที่แต่งเพลงนี้ เขาเองก็ประหลาดใจไม่น้อย เพราะเนื้อเพลงลื่นไหลออกมาอย่างรวดเร็วเหลือเกิน จากนั้น เจ้าตัววิเคราะห์ตัวเองให้ฟังว่า


"ผมไม่ได้คิดอะไรเลย อาจจะเป็นเพราะผมอ่านบทกวีของ ดับเบิลยู เอช ออเดน อยู่ในเวลานั้นก็เป็นได้"


นี่แหละคือแง่มุมหนึ่งของศิลปะส่องทางให้แก่กัน จากเมล็ดพันธุ์ในตัวตนของศิลปิน ผนวกกับดินปุ๋ยชั้นดีจากสภาพความเป็นไปของสถานที่ และแรงบันดาลใจจากกวีนิพนธ์ บทเพลงดีๆ แบบนี้จึงบังเกิดขึ้น.

Song : Soho (Needless to Say)
Artist : Al Stewart
Place : Soho
City : London
Country : UK
Time Zone : GMT

ไม่มีความคิดเห็น: