หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ศรีอยุธยา (12)

ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เพียงปีสองปีนั้น อังกฤษยังอยู่ในสมัยพระเจ้าจอร์ชที่ 3 ซึ่งกำลังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอาณานิคมในทวีปอเมริกา สหรัฐอเมริกายังไม่เกิด ฝรั่งเศสก็ยังไม่ได้ปฏิวัติใหญ่ แต่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเป็นใหญ่แล้วในแหลมสุวรรณภูมิฝั่งตะวันออกซึ่งประกอบด้วยอยุธยา เขมร ลาว ญวน มลายู ส่วนพม่านั้นตีได้อาณาจักรตองอู ไทยใหญ่ มอญเป็นใหญ่อยู่ทางแหลมสุวรรณภูมิทางฝั่งตะวันออก ครั้นเกิดสงครามปี 2310 กรุงศรีอยุธยาแพ้ พม่าจึงคืบคลานเข้ามาถึงฝั่งตะวันตกและยึดครองอยุธยาโดยกะไม่ให้ฟื้นอีก พงศาวดารกล่าวว่า

“จุดเพลิงขึ้นทุกตำบลเผาเหย้าเรือน อาวาสและพระราชวังปราสาทราชมณเฑียร แสงเพลิงสว่างดังกลางวัน แล้วเที่ยวไล่จับผู้คนค้น ชิง เอาทรัพย์สินเงินทองสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นหนีออกจากเมืองลงเรือน้อยไปกับมหาดเล็กสองคน”

เนเมียวสีหบดีสั่งให้เก็บกวาดทุกอย่างกลับพม่า เช่น ปืนใหญ่ บุษบกทองคำ ทองคำหุ้มพระศรีสรรเพ็ชญดาญาณ พระราชทรัพย์ พระโกศทองและทรัพย์สมบัติราษฎร ทั้งยังเกณฑ์ชาวอยุธยาประมาณ 30,000 คนเป็นเชลยเดินเท้ากลับพม่า 1 ในนั้นคือพระภิกษุสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พ่อแม่พลัดลูก เมียพลัดผัว สงครามไม่ว่าที่ไหนเป็นเช่นนี้เอง ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงต้องบังคับขับไส!

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) พระราชอนุชาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เป็นคนร่วมสมัย ได้ทุกข์ได้ยากในสงครามคราวนั้นด้วยถึงกับมีพระราชปรารภว่า“มันทำเมืองเราก่อนเท่าใดจะทดแทนมันให้หมดสิ้นมันจิตอหังการ์ทามิฬจะล้างให้สุดสิ้นอย่าสงกา”

เรื่องอย่างนี้ต้องเห็นใจคนที่ร่วมสมัย ได้ทันเห็นพม่าเผาเมือง ฆ่าฟัน ปล้น ได้ทันเห็นพ่อแม่ลูกเมียพี่น้องถูกจับเป็นเชลยเจาะข้อเท้าเอาเอ็นร้อยหวายผูกเป็นพรวนเดินเท้าไปพม่า ความแค้นของท่านจึงมาก ที่จริงเรื่องที่คนสมัยนี้อาจไม่ถือแต่คนสมัยนั้นถือคือการที่ทัพพม่ายกมาตีโดยไม่ได้มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำทัพ มีแต่แม่ทัพคนธรรมดาสามัญ จึงเป็นความอัปยศอดสูยิ่งใหญ่ และเมื่อเทียบกับครั้งพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงแตก 200 ปีก่อนโน้น อยุธยาก็ไม่ได้ย่อยยับถึงเพียงนี้

คนสมัยก่อนครั้งปี 2112 รบกันอย่าง “เจ้าพี่เจ้าน้อง” แต่ปี 2310 รบกันอย่าง “กูอยู่มึงตาย” ส่วนสมัยนี้เขาว่ารบกันอย่าง “ท่านประธานที่เคารพ ท่านนายกฯ ที่เคารพ” ว่าแล้วก็สู้กัน เรียกว่ารบแบบบูรณาการ พอใครแพ้ใครชนะทีหลังถ้าจะจับมือร่วมรัฐบาลกันค่อยมากอดจูบกันใหม่ก็ไม่ถือ

นั่นเป็นเรื่องของการรบการสงครามเมื่อเกือบ 250 ปีที่แล้ว คนสมัยนี้ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยการทำใจ ทำอารมณ์อีกแบบ อย่าโกรธแค้น มิฉะนั้นจะอยู่ด้วยความทุกข์เพราะความแค้นและอวิชชาครอบงำ พม่าเองตีไทยได้ก็ไม่ได้มีความสุขนัก เพราะภายหลังก็รบกันเองระหว่างพม่ากับมอญซึ่งเคยยิ่งใหญ่แต่เสียบ้านเสียเมืองไปก่อนอยุธยาจนดิ้นรนเรียกหาเอกราชไม่หยุดแม้ทุกวันนี้ และระหว่างพม่ากันเองซึ่งแย่งชิงอำนาจกันภายในราชวงศ์อลองพญา จนในที่สุดพม่าก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษโดยสิ้นเชิงสูญบ้านเสียเมืองทั้งหมดในสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย พม่าวันนี้ก็ผสมจากหลายเผ่าพันธุ์ไม่ใช่พม่าอย่างเมื่อ 250 ปีก่อน และยังเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับเราด้วย

การที่พม่าวันนี้ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนม่าร์ก็เพราะตระหนักแล้วว่าแผ่นดินนี้เกิดจากมอญและพม่า คำว่าเมียนหมายถึงมอญ ม่าร์คือพม่า

เราต้องรู้ว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนว่า “ทีหลังอย่าทำ” “เจ็บแล้วต้องจำ” แต่ไม่ได้สอนให้ “ความแค้นต้องชำระ” มิฉะนั้นจะแค้นกันไม่หยุด ถ้าถามคนลาว คนเขมรเขาอาจจะแค้นเราอยู่บ้างก็ได้ ทีนี้ถ้าอินเดียยังแค้นอังกฤษ แอฟริกาใต้ยังแค้นอังกฤษ (ครั้งเนลสัน แมนเดล่า) เขมรแค้นฝรั่งเศส จีนแค้นญี่ปุ่น (ครั้งบุกแมนจูเรีย) ยุโรปแค้นฝรั่งเศส (ครั้งนโปเลียน) ญี่ปุ่นแค้นอเมริกาที่มาทิ้งระเบิดปรมาณู แล้วสันติภาพและความสงบสุขจะเกิดขึ้นในโลกได้อย่างไร

ลงท้ายใครคือคนที่เจ็บปวด ใครคือคนที่รับกรรม!

สงครามพม่า-ไทยครั้งนั้น พระเจ้าเอกทัศมิได้ถูกจับเป็นเชลยแต่หนีไปได้ กล่าวกันว่าหลบไปอยู่เรือนราษฎรใกล้ประตูเมืองเพราะออกไปไม่ได้ ยายแก่จำไม่ได้ว่าเป็นขุนหลวงก็หาข้าวปลาให้เสวยตามมีตามเกิด มื้อสุดท้ายเสวยข้าวมัน (หุงกับกะทิ) ส้มตำ แล้วหนีทหารพม่าจนไปสวรรคตแถวประตูเมือง สุกี้พระนายกองที่พม่าทิ้งไว้เฝ้ากรุงศรีอยุธยาเคยอยู่อยุธยามาก่อนจำได้จึงให้ฝังพระศพไว้ เมื่อพระเจ้าตากสินได้ชัยชนะแล้วจึงให้ขุดขึ้นมาถวายพระเพลิงตามธรรมเนียม

ส่วนพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรถูกนำตัวไปพม่าทั้งที่เป็นพระ พม่าตั้งหน่วยสอบสวนพิเศษสอบปากคำเชลยไทยว่าชีวิตความเป็นอยู่ในอยุธยาเป็นอย่างไรแล้วจดบันทึกไว้ เป็นอันว่าพม่ารู้จุดอ่อนจุดแก่ของอยุธยาหมด เกาะนี้มีอาณาเขตเท่าใด มีกี่ประตูเมือง มีกี่ตลาด กี่วัด กี่คลอง ซ่องอยู่ตรงไหน ชุมชนชาวต่างชาติอยู่ตรงไหน ปืนใหญ่กี่กระบอก คนที่รู้ดีที่สุดและเล่าได้ละเอียดคือพระเจ้าอุทุมพร คำให้การของท่านเรียกว่า “พงศาวดารฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัด” ส่วนที่เชลยทั่วไปเล่าเรียกว่า “คำให้การชาวกรุงเก่า”

พม่าดูแลพระเจ้าอุทุมพรดีพอสมควร ปลูกตำหนักให้อยู่ ทรงอยู่มาจนสวรรคตตอนปลายรัชกาลที่ 1 ของไทย พม่าฝังพระศพไว้ที่นั่น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ว่าเคยเสด็จไปเยือนพม่า มีผู้เล่าว่าที่ฝังพระศพก็ยังอยู่แต่การเดินทางสมัยนั้นยากลำบากจึงมิได้เสด็จ แม้แต่ชุมชนที่เชลยชาวอยุธยาไปตั้งอยู่ก็ยังมี เรียกว่าหมู่บ้านโยเดีย วันนี้คนนุ่งโสร่งผัดหน้าทาแป้งทานากะพูดภาษาพม่าไปหมดแล้ว

ผมเคยปรารภสองเรื่องนี้กับผู้ใหญ่ในรัฐบาลไทยว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ท่านตอบว่ามันนานมามากแล้ว สะกิดขึ้นมาก็เป็นแผลบาดใจทั้งเขาทั้งเรา หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ มอญก็หนีเขามาอยู่กับเรา เชลยจากบ้านโน้นเมืองนี้ก็เข้ามาอยู่กับเรา ใครสืบรู้ว่ามีญาติหลงเหลืออยู่ไปเยี่ยมเอาเองก็แล้วกัน พม่าเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร!

พูดถึงพระศรีสรรเพ็ชญดาญาณ พระพุทธรูปยืนหุ้มทองคำองค์ใหญ่คู่บ้านคู่เมืองที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างไว้ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์นั้น พม่าเอาไฟสุมทองคำจนไหลนองแล้วขนทองกลับพม่า องค์พระพุทธรูปแตกหักทำลาย สมัยรัชกาลที่ 1 เคยเป็นปัญหาว่าควรจัดการอย่างไร จะยุบหล่อใหม่ดีไหม สุดท้ายโปรดฯ ให้เชิญโครงพระมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดพระเชตุพนจนทุกวันนี้

ได้เคยกล่าวทิ้งไว้ว่าสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีคนดีศรีอยุธยามาเกิด คือ พ่อสิน พ่อทองด้วง พ่อบุญมา พ่อบุนนาค ทุกคนได้รับราชการในเวลาต่อมา พ่อสินได้เป็นพระยาตาก พ่อทองด้วงได้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี พ่อบุญมา น้องชายได้เข้าทำราชการเป็นนายสุดจินดา พ่อบุนนาคได้ทำราชการสมัยพระเจ้าเอกทัศเป็นนายฉลองไนยนาถ

คนเหล่านี้ต่อมามีบทบาทสร้างบ้าน สร้างเมืองทั้งนั้น โดยเฉพาะพระยาตากได้นำทหาร 500 คนฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางตะวันออกจนกลับมากู้อิสรภาพ จับสุกี้พระนายกองผู้ดูแลเมืองอยุธยาได้ ภายหลังได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หลวงยกกระบัตรได้เป็นรัชกาลที่ 1 พ่อบุญมาได้เป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พ่อบุนนาคได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนา ต้นตระกูลบุนนาค

เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะแตกหรือเพิ่งแตกใหม่ ๆ พระเจ้าเอกทัศอ่อนแอไม่มีภาวะผู้นำ ดูท่าจะรักษาบ้านเมืองไม่รอดสมคำทำนายของพระราชชนก จึงมีหลายคนที่ช่วงชิงความเป็นผู้นำตั้งตนเป็นใหญ่ไม่ขึ้นต่อพม่า ไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ภายหลังเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบดาภิเษกแล้ว (คำนี้แปลว่าตั้งตนเองเป็นใหญ่ ไม่เหมือนกับราชาภิเษกซึ่งเป็นการสืบราชสมบัติต่อเนื่อง) ก็ยังไม่ขึ้นต่อกรุงธนบุรี ได้แก่ก๊กเจ้านครศรีธรรมราช ก๊กเจ้าพระฝาง ก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก และก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธ

ในบรรดาก๊กเหล่านี้ กรมหมื่นเทพพิพิธจะเป็นต่อที่สุด เพราะเป็นพระราชโอรสอีกพระองค์ของพระเจ้าบรมโกศ แต่ตามประวัติทรง “เฮี้ยว” เอาเรื่อง ถูกเนรเทศไปลังกาก็ยังกลับมาเป็นใหญ่จนได้เป็นเจ้าเมืองพิมาย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบชนะทุกก๊กราบคาบ ใครยอมอ่อนให้ก็พระราชทานอภัยโทษ ตรัสว่าเวลาบ้านเสื่อมเมืองเสีย ใคร ๆ ก็รักชาติแยกไปตั้งตนเป็นใหญ่ทั้งนั้น แต่กรมหมื่นเทพพิพิธกลับกำเริบจมไม่ลงถือว่าตนเป็นเจ้านายราชวงศ์เก่า จึงโปรดฯ ให้สำเร็จโทษเสีย

พระราชธิดาพระเจ้าบรมโกศที่รอดตายและไม่ได้เป็นเชลยก็มีอยู่ไม่น้อย ครั้งเนเมียวสีหบดียึดกรุงได้ก็จับไปขังรวมไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้นนอกกรุง สุกี้เป็นหัวหน้าควบคุม พระเจ้าตากสินทรงบุกเข้าตีค่ายได้ และปล่อยเจ้านายเหล่านี้ออกมา ทรงยกย่องและชุบเลี้ยงตามฐานะมาตลอดจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะเจ้าฟ้าหญิงพินทวดี ซึ่งทรงจดจำธรรมเนียมเก่าสมัยอยุธยาได้มากเช่นการจัดงานโสกันต์ (โกนจุก) งานบรมราชาภิเษก งานพระเมรุ ได้ทรงถ่ายทอดต่อจนวางเป็นระเบียบแบบแผนมาถึงปัจจุบัน

การที่เสียกรุงไม่ว่าครั้งแรกหรือครั้งหลังมีสาเหตุใหญ่จากความอ่อนแอของผู้นำ การอ่อนซ้อมหน่อมแน้มและประมาทของแม่ทัพนายกอง และการมัวแต่ช่วงชิงอำนาจจนแตกความสามัคคี ส่วนการที่กลับได้เอกราชขึ้นใหม่ก็เพราะภาวะผู้นำ ความกล้าหาญ ความฉลาด และความรักชาติของวีรบุรุษอย่างสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเจ้าตากสิน

อยุธยาแตกครั้งนั้นเสียหายสุดจะประมาณ กวีจึงบรรยายว่า “อยุธยายศล่มแล้ว” สมัยกรุงธนบุรีก็มัวแต่ติดการศึก ยังไม่ทันได้ฟื้นอะไรมาก พอขึ้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงพยายามฟื้นทุกอย่างให้คนสมัยนั้นที่เสียบ้าน สูญญาติ เสียขวัญ สูญทรัพย์กลับรู้สึกว่า “อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ” แผนผังวัง ชื่อวัด ชื่อคลอง ชื่อกรุง ชื่อสถานที่สำคัญก็ตั้งหรือใช้แบบเก่า ธรรมเนียมประเพณีก็ทำตามแบบเก่าครั้งอยุธยา

ปัญหามีว่ากรุงศรีอยุธยานั้นรบกันเองบ้าง รบกับข้าศึกบ้างหลายครั้ง ในที่สุดก็มีคนดีศรีอยุธยาเกิดขึ้น และมาช่วยแก้ปัญหาได้ทุกครั้งไป อะไรต่ออะไรก็ฟื้นได้ แต่อัธยาศัยรักชาติรักบ้านเมืองอย่างคนดีศรีอยุธยาจะฟื้นได้และยังคงมีอยู่ในเลือดไทยทุกวันนี้หรือไม่หนอ

ใครไปไหว้หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงต้องรู้ว่าท่านนั่งอยู่ที่นั่นมาก่อนพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยาเสียอีก ท่านเห็นหมดว่าสร้างกรุงอย่างไร มีกี่ราชวงศ์ ใครฆ่าใคร พม่ายกมาทางไหน ตอนสูญบ้านเสียเมืองเป็นอย่างไร เขาว่าตอนนั้นน้ำพระเนตรท่านไหลด้วย วันนี้ใครไปถามท่านก็คงไม่ได้คำให้การจากหลวงพ่อ หวานท่านต้องอม ขมท่านต้องกลืน แต่ท่านรู้หมด ท่านสะสมองค์ความรู้เรื่องกรุงศรีอยุธยาไว้มาก ไหว้ท่านก็เท่ากับไหว้องค์ความรู้ 417 ปีของอยุธยา ผ่านไปทางนั้นแวะไปกราบท่านแล้วนั่งมองท่านนาน ๆ เผื่อท่านจะเมตตาให้การอย่างชาวกรุงเก่าให้เราฟังบ้าง

มาถึงบรรทัดนี้เป็นอันว่าศรีอยุธยาเห็นจะจบลงได้แล้วนะครับ!.

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: