โดย : ปานใจ ปิ่นจินดา
Life Style@กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ตามติดชีวิตเหล่า
เม่า ที่หลงระเริงกับความสวยของกองไฟ
สำหรับใครที่กำลังคิดอยากผันตัวเป็นเม่า.. บ่องตงๆ ว่า
โปรดอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
อากาศที่ร้อนเสียจนเหงื่อท่วม แต่ที่ร้อนยิ่งกว่า กลับเป็นกระดานหุ้นเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ที่ดัชนีหุ้นเจ้ากรรมเกิดร่วงกราว จนช็อคบรรดาพลเม่าให้เกือบหัวใจวายตามกัน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพิ่งจะฝันหวาน และฟันธงว่า หุ้นไทยจะทะลุ 1,700 จุดได้ เป็นเรื่องสิวๆ
เฉพาะ 22 มีนาคม วันเดียว SET ร่วงลงถึง 50.55 จุด ติดลบระหว่างวันสูงสุดถึง 64.80 จุด มูลค่าซื้อขายวันเดียว "กว่าหนึ่งแสนล้านบาท" สูงที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยมีตลาดหลักทรัพย์มา 38 ปี
...ผันผวนขนาดนี้ มีหรือ เม่าน้อย จะยังทนไหว
"ติดดอยไปเรียบร้อยแล้วครับ" เม่าชายวัย 30 ต้นๆ รายหนึ่งเอ่ยถึงผลของเหตุการณ์ในวันนั้น หลังจากดันทุรังถือไว้ กระทั่งขายไม่ทัน และราคาก็ตกฮวบจนทำใจขายขาดทุนไม่ได้ เลยต้องติดแหง็กอยู่บนดอยอย่างเหงาๆ
และเขาก็ไม่ใช่เม่าหนุ่มเพียงคนเดียวที่ต้องเจ็บตัว
อย่างที่ จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เคยออกมาเปิดเผยถึงจำนวนผู้ลงทุนหน้าใหม่ นับตั้งแต่ต้นปี 2556 พบว่า มีบัญชีใหม่เกิดขึ้นร่วม 40,000 บัญชี โดย 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีอายุระหว่าง 26 - 40 ปี
ความอยากรวย คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจตลาดทุนกันมากขึ้น เพราะคนเจนวาย (Gen Y) อยากรวย ไม่อยากเหนื่อย จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมการเล่นหุ้นถึงได้กลายเป็นเทรนด์ฮิตในหมู่คนรุ่นใหม่วันนี้
เมื่อบวกเข้ากับข้อมูลของร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ที่ระบุว่า ตัวเลขหนังสือออกใหม่ในหมวดธุรกิจขนาดเล็ก การลงทุน หุ้น ที่ขายผ่านซีเอ็ด มีการเติบโตที่ชัดเจน โดยจาก 88 ปกในปี 2553 ขึ้นมาเป็น 112 ปก ในปี 2554 ซึ่งมากกว่าปี 2555 ที่มีหนังสือใหม่ในหมวดนี้ออกมา 101 ปกอยู่เล็กน้อย
ส่วนยอดขายผ่านหน้าร้านของซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ที่มีอยู่กว่า 400 สาขาทั่วประเทศ พบว่า ปี 2555 น้ำหนักการขายของหนังสือ กลุ่มหุ้น การลงทุน ขายได้เกือบครึ่งหนึ่งของหมวดบริหารธุรกิจทั้งหมด
นั่นก็น่าจะยืนยันได้ว่า กระแสการเล่นหุ้นในหมู่คนรุ่นใหม่แรงขึ้นจริงๆ
ไม่น่าแปลก เพราะพอคเก็ตบุ๊คเป็นช่องทางหาข้อมูลของนักลงทุนมือใหม่อยู่แล้ว แต่ที่แปลกคือ การที่นักเล่นหุ้นหันมาเขียนหนังสือกันมากขึ้น เพราะถ้าว่ากันตามจริง รายได้จากยอดขายแทบจะเป็นแค่เศษเสี้ยวเดียวของพอร์ตร้อยล้านพันล้านของท่านเซียนทั้งหลาย
...ทำไปถึงเป็นเช่นนั้น ก่อนจะตามหาเหตุผล โปรดย้อนกลับมาทำความรู้จักเหล่า 'เม่า' กันเสียก่อน
เม่าน้อย ด้อยประสบการณ์
เอ่ยชื่อ 'แมลงเม่า' นักลงทุนหลายคนอาจเคือง ถ้าถูกใครมาเรียกขานแบบนั้น เพราะอันที่จริงคำว่า 'แมลงเม่า' เกิดขึ้นเพื่อใช้เรียกนักลงทุนรายย่อยที่ด้อยประสบการณ์ เห็นหุ้นตัวเขียวๆ ขึ้นเอา ขึ้นเอา ก็แห่กันไปซื้อ จนตกเป็นเหยื่อของขาใหญ่ที่สบโอกาสเทขาย ฟันกำไรแสนงาม ส่วนเม่าน้อยก็ค้างเติ่งอยู่บนดอยเพราะ "ลงไม่ทัน"
จุ๊บ - ชลิตา สมบุญเรืองศรี บล็อกเกอร์คนดังแห่ง www.maoinvestor.com และเปิดเพจบนเฟซบุ๊คในชื่อว่า Mao-Investor มีแฟนคลับชาวเม่าติดตามอยู่กว่า 4 หมื่นราย จุดขายของเธอ คือ "ความเป็นเม่า"
เพราะเล่นแล้วเจ๊งมาก็ไม่น้อย และเห็นว่า ใครๆ ก็เขียนแต่เรื่องเล่นหุ้นยังไงให้รวย แต่พอตอนเจ๊งไม่เห็นมีใครบอกเลย ว่าเล่นแล้วเจ๊งเพราะอะไร เธอจึงเปิดบล็อก "สารคดีชีวิตสัตว์โลก : แมลงเม่า" เขียนแต่เรื่องเฟลๆ จากการลงทุน โดยมีตัวเอกของเรื่อง คือ 'คุณเม่า' ผู้ใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะไต่เต้าขึ้นเป็น นางพญาปลวก
เรื่องเฟลที่เจอบ่อย ถ้าไม่ติดดอยกันไป ก็ขายหมูเพราะทนรวยไม่ไหว เห็นหุ้นขึ้นหน่อย ก็รีบขาย แต่ปรากฏว่ามันยังขึ้นไม่หยุด สำหรับกรณีขายหมู เธอบอกว่า ทำใจยากสักหน่อยที่จะกลับมาซื้ออีก
"มันแค้นน่ะค่ะ.. เคยซื้อตัวนึงที่ 2 บาท พอ 3 บาทเราก็พอใจว่าโอเคแล้ว น่าจะใช้ได้ แล้วรู้มั้ย ตอนนี้ราคาเท่าไหร่.. 22 บาทค่ะ มันน่าแค้นมั้ย" เธอเล่าขำๆ ถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งเธอเชื่อว่า เม่าแทบทุกตัวต้องเคยเจอ
'กลัวรวย' คือโรคยอดฮิตในหมู่เม่า เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในราคาที่แท้จริงของหุ้นที่ถืออยู่ พอหุ้นขึ้น ได้กำไรระดับหนึ่ง ก็ขายทิ้ง ทั้งๆ ที่ศักยภาพของมันยังไต่ขึ้นไปได้อีก ตรงกันข้ามกับในยามหุ้นตก กลับกอดหุ้นไว้แน่น ด้วยความหวังว่า เดี๋ยวมันจะดีดกลับขึ้นมา...
บางครั้งใช่ แต่ก็มีหลายครั้งที่ผลคือ ต้องอ้างว้างอยู่บนดอย เพราะใครๆ เขาก็ลงกันไปหมดแล้ว
"แฟนเพจของ Mao-Investor ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 20 -35 ปี ซึ่งจะมีประสบการณ์การลงทุนที่คล้ายๆ กัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลในออนไลน์ได้ง่าย มุมหนึ่งก็ดี ได้ความรู้ แต่อีกมุมที่ต้องระวังเพราะข้อมูลที่เข้าถึงได้ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องจริง ทุกอย่างต้องใช้วิจารณญาณ ไม่ใช่เขาลือกันมาก็แห่ตามกันไป"
เหมือนมุมมองของนายแพทย์รายหนึ่ง ที่ควงไอแพดเปิดแอ๊พดูหุ้น สลับกับตรวจคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชน ฐานะที่ถูกยกให้เป็น 'เซียน' เขาบอกว่า สิ่งที่สัมผัสได้ชัดเจนคือ คนรุ่นใหม่เล่นหุ้นแบบเอาง่าย อยากได้ทางลัด ชอบมาถามว่า เล่นตัวไหนดี แต่ไม่เคยถามว่า ต้องทำอย่างไร แก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
กุญแจสำคัญอีกดอกที่ทำให้เม่ายังไม่สามารถยกระดับขึ้นเป็นนักลงทุนมืออาชีพได้ เกิดจากการตั้งต้นที่ผิด
"คนเล่นหุ้นรุ่นใหม่ ชอบคิดว่า การเล่นหุ้นคือการบริหารกำไร ซึ่งถ้าคิดแบบนี้จะทำให้มีความโลภมาก เห็นคนอื่นได้กำไรเยอะ ก็จะอยากได้บ้าง แต่ถ้าเข้ามาช้ากว่าเขา ต้นทุนก็สูงกว่าเขา ถ้าอยากได้เท่าเขาก็ต้องเน้นเล่นรอบ (เก็งกำไรช่วงสั้น)มากขึ้น ก็จะเข้าสู่กับดัก เพราะยิ่งเทรดบ่อยโอกาสพลาดก็จะมีเยอะขึ้น" เป็นอีกหนึ่งเคสเม่าๆ ที่หมอหนุ่มฝากมา
วีไอขาโหด
หนึ่งในวิธีที่พลพรรคชาวเม่าชอบใช้เพื่อเป็นทางลัดไปสู่การได้มาซึ่งหุ้นตัวเจ๋งๆ ก็คือการตามติดดูว่า เซียนหุ้นทั้งหลายครอบครองหุ้นตัวใดกันบ้าง จะได้ตาม(ก้น)ถูก
โดยเฉพาะเซียนหุ้นประเภท วีไอ (Value Investor) ที่ไม่ว่าขยับตัวไปทางไหน ก็มักจะเป็นแรงกระพือปีกเม่าให้คึกคัก เพราะถือว่า เซียนกลุ่มนี้เน้นลงทุนโดยดูจากมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตัวนั้นจึงอยู่ในขั้น 'น่าเชื่อถือ'
แต่ในโลกแห่งความจริง โจรในคราบตำรวจยังมี นับประสาอะไรกับโลกของเงินๆ ทองๆ อย่างตลาดหุ้น ที่มี 'วีไอขาโหด' แฝงอยู่ในกลุ่มเซียนผู้มีหลักการ
"วีไอพวกนี้ เขาเรียกกันว่า วีไอทมิฬ จะเน้นตั้งแก๊งกันเพื่อปั่นหุ้น จากเดิมการปั่นหุ้นจะทำกันอยู่ในขาใหญ่ไม่กี่คน โยนกันไป โยนกันมา อาศัยความต่อเนื่อง หลอกให้รายย่อยคิดว่าดี แห่กันเข้ามาซื้อ แต่วิธีปั่นหุ้นของคนรุ่นใหม่ คือ จะตั้งเครือข่ายรายย่อยที่มีเงินทุนระดับหนึ่ง อาจจะตั้งเป็นกรุ๊ปไลน์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค อะไรก็ตามแต่ เพื่อช่วยกันกระจายข่าว บอกต่อๆ กันไป ซึ่งจะกระพือได้เร็วกว่า อาศัยพลังมวลชนมาดันราคาหุ้น" เม่ารายหนึ่งสรุปให้ฟัง ถึงกลวิธีลับลวงพรางของบรรดาวีไอขาโหดที่มีอยู่หลายกลุ่มก๊วนในปัจจุบัน
ว่ากันว่า พลังของมวลชนที่บรรดาวีไอทมิฬเหล่านี้ปั่นขึ้นมาได้ แรงเสียจนขนาดวีไอแท้ๆ ยังเป๋ หลวมตัวมาซื้อตามทั้งที่รู้อยู่แก่ใจก็มี ส่วนผลลัพธ์ก็ขึ้นอยู่กับความทันเกมของเหล่าเม่า เหมือนแชร์ลูกโซ่ 'เข้าก่อน ออกก่อน' มีสิทธิรวยกว่า ส่วนพวก 'เข้าทีหลัง ออกไม่ทัน' ก็โดนเชือดไปตามระเบียบ
ถ้าไม่ใช่เซียนใครจะเชื่อ..
ถ้าไม่ใช่เซียน ใครจะแห่ตาม..
และ ถ้าไม่ใช่เซียน จะไปหลอกฟันใครต่อใครได้..
นั่นคือ อานิสงส์จากคำว่า 'เซียน' และเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมหนังสือออกใหม่โดยเซียนจริง เซียนปลอม ถึงได้ออกมาเยอะนัก โดยแม้ว่า ส่วนหนึ่งจะเขียนเพื่อเป็นวิทยาทานจริง แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่า พอคเก็ตบุ๊ค กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือชุบตัว สถาปนา สร้างแบรนด์ตัวเองของเซียนขาฟันทั้งหลาย
ถามว่า ใครเซียนจริง เซียนปลอม หนึ่งในเซียนหุ้นรุ่นใหม่ วัย 32 ผู้มีผลงานจากการเล่นหุ้น 10 ปี (เล่นพร้อมทำงาน 8 ปี ออกจากงานมาเล่นจริงจัง 2 ปี) เจอทั้งกำไรเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ จนถึงขาดทุน 40 เปอร์เซ็นต์ก็เคย
วันนี้ เขาเป็นเจ้าของพอร์ตมูลค่า 9 หลัก แต่ก็ยังคงไม่กล้ารับตำแหน่ง "เซียน"
"2-3 ปีมานี้ เซียนมีเยอะครับ ก็ตลาดมันขาขึ้นไง ใครๆ ก็เป็นเซียนได้ มีคนบอกว่า ต่อให้เอาลิงมาแข่งเล่นหุ้นกับผู้จัดการกองทุน ลิงก็มีสิทธิชนะได้ ถ้าตลาดมันเป็นช่วงขาขึ้น แต่จะเซียนจริงไหม เขาดูกันที่ตลาดขาลงต่างหาก"
แต่ต่อให้เป็นเซียนจริง ก็ไม่ควรเชื่อไปเสียทั้งหมด เพราะนั่นถือเป็นอีกหนึ่งเฟลยอดนิยมของชาวเม่า
การตามก้นเซียนอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่ว่าจะด้วยจากการใบ้หุ้น, สืบรู้, เห็นจากรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือเขาเล่าว่า.. อย่างไรก็ตามแต่
นิสัยชาวเม่า "เอาง่าย" คือ พอเห็นว่า เซียนถืออะไร ก็แห่ตามไปซื้อบ้าง แต่ตอนเซียนขายล่ะ.. เขาจะมาป่าวประกาศไหม ว่าเขากำลังขายตัวนั้น ตัวนี้ทิ้งแล้วนะ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เม่าต้องคิดให้หนัก
คิดดีๆ ก่อนตัดสินใจ ไม่อย่างนั้น แมลงเม่าตัวน้อยก็คงได้แต่ร้องเพลง.. ซื้อเอง เจ๊งเอง เราอวดเก่งจะโทษใคร?
-------------------------------
ตอนตลาดขึ้นเล่นง่าย จิ้มตัวไหนก็ได้ตังค์ แต่ตอนลงนี่หน้ามืด เป็นบทพิสูจน์ได้จริงๆ ว่าจะอยู่หรือจะไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น