หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

สารคดี - ดนตรี - ชีวิต 'ธีรภาพ โลหิตกุล'

ธีรภาพ โลหิตกุล เจ้าพ่อสารคดีคนนี้มิเพียงทำสารคดี แต่เขานำสาระดีๆ มาเปลี่ยนแปลงมโนสำนึกบางอย่างเพื่อให้ดินแดนอุษาคเนย์หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว



ธีรภาพ โลหิตกุล เจ้าพ่อสารคดีคนนี้มิเพียงทำสารคดี แต่เขานำสาระดีๆ มาเปลี่ยนแปลงมโนสำนึกบางอย่างเพื่อให้ดินแดนอุษาคเนย์หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างถึงแก่นแกน

ไม่ว่าซอกมุมใดในดินแดนเอเชียตะวันเฉียงใต้ 'ธีรภาพ โลหิตกุล' ถือเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง ยิ่งมีกระแสของเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นมาด้วยแล้ว คนไทยควรรู้เพื่อนบ้านให้มากเท่าที่เพื่อนบ้านรู้จักเรา และนี่เองที่เป็นสาเหตุให้ธีรภาพไม่ปล่อยปละละเลยพื้นที่สื่อซึ่งเขามีแม้แต่บรรทัดเดียวให้เปล่าประโยชน์ เขาสร้างสรรค์สารคดีชั้นเลิศออกมามากมาย ทั้งเขียน ถ่ายภาพ ทำรายการสารคดีโทรทัศน์ รายการวิทยุ ทุกสิ่งอย่างล้วนเพื่อจุดประสงค์เดียว...รวมอุษาคเนย์เป็นหนึ่ง มิใช่ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ทั้งองคาพยพ


ด้วยความที่ต้องศึกษา สืบค้น ข้อมูลตื้น-ลึก-หนา-บาง ล้วนอัดแน่นเต็มสมอง แต่อะไรที่ทำให้ตลอดสามสิบปีในวงการสารคดีช่างมีความสุข แม้เส้นทางมีแต่หิน-ดิน-ทราย ทว่ากลับกลายคล้ายโรยด้วยกลีบกุหลาบ

กายใจ : รักสารคตีตั้งแต่เด็กๆ หรือเปล่า
ธีรภาพ : ตอนช่วงก่อนวัยรุ่นซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เคยรู้สึกว่าผมโชคไม่ดีที่เกิดในชนชั้นกลางธรรมดา ไม่ได้เป็นลูกชาวนา ไม่ได้เห็นชนบท ไม่ได้ยากลำบาก แต่มันอาจทดแทนได้ตรงที่ผมโชคดีที่พ่อเป็นนักสะสมหนังสือ ผมได้เห็นหนังสือหลายแนว ช่วงก่อนวัยรุ่นนั้นอ่านเรื่องสั้นเยอะ นวนิยายนี่อ่านน้อย เพราะเราไม่ขยันหรือไม่อดทนพอจะอ่านเรื่องยาวๆ


เรื่องสั้นหลายเรื่องเป็นชีวิตจริง เช่น เรื่องสั้นของ พันตำรวจโท ปกร ปิ่นเฉลียว ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่ท่านหยิบมาจากการเป็นตำรวจมาเขียน เราก็รู้สึกว่าชอบเรื่องที่คล้ายเป็น Reality มากกว่าเป็น Fiction ล้วนๆ เพราะฉะนั้นพอเข้าสู่วงการจึงได้รับมอบหมายให้เขียนสารคดีในนิตยสาร


พอเข้าสู่วงการทีวีก็เป็นโชคดีที่วงการสารคดีเมืองไทยเริ่มต้นได้รับความสนใจ เริ่มบูม เนื่องจากมีคนจุดกระแสขึ้นมา อย่างอาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ส่งเสริมให้คนไทยทำสารคคดีของเราเอง แทนที่จะไปซื้อสารคดีมาแปลเหมือนที่ผ่านมา เลยได้โอกาสทำสารคดีอย่างเต็มที่และได้โอกาสเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะพอเจาะอย่างไรไม่ทราบ เพราะก่อนหน้านั้นเข้าไม่ได้เพราะยังรบกันอยู่


พอเริ่มเข้าได้อาจารย์ก็ส่งเสริมพอดีจึงได้เข้าอินโดจีนเป็นจุดแรก ถือเป็นการเปิดโลกเพื่อนบ้านกับผมเป็นครั้งแรก และตั้งแต่นั้นมาผมก็อยู่กับเพื่อนบ้านเหล่านี้อย่างเหนียวแน่นด้วยความรู้สึกว่าตอนที่เราเรียนเรามองข้ามประเทศเหล่านี้แย่ไปหมดเลย มีแต่สงคราม แต่พอเราเห็นของจริงเข้า ตื่นตะลึงกับนครวัดนครธม มันสะกดเราอยู่หมัดเลย โอ้โหทำไมยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ประเทศที่รบกันขนาดนี้ทำไมมีวัฒนธรรมมากขนาดนี้ ประเทศลาวที่เรารู้สึกว่าเขายากจน ทำไมเขามีความงดงามทางประเพณีได้มากขนาดนี้ ไปเห็นประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวครั้งแรก ตั้งแต่ยังไม่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปี 2532 ช่วงที่ประเทศลาวอยู่ในการฟื้นฟูอยู่เลย พระเป็นร้อย แถวยาวเหยียดเลยนะครับ

จนบัดนี้เป็นจังหวะที่มีแนวคิดก่อตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งประชาคมอาเซียนมีจุดต่างอย่างชัดเจนกับการรวมตัวกันของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ที่ผ่านมา การรวมตัวที่ผ่านมาทั้งหมดเกิดจากการชักนำของมหาอำนาจเพื่อดึงประเทศเหล่านี้เข้าฝักเข้าฝ่าย เช่น พอจีนเป็นคอมมิวนิสต์ อเมริกาก็กลัวว่าจะเกิดโดมิโน ประเทศข้างเคียงจะเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย เวียดนามก็แล้ว กัมพูชาก็แล้ว ลาวก็เป็นไปแล้ว จึงชวนไทย ฟิลิปปินส์ มาเล สิงคโปร์ ก่อตั้งองค์การป้องกันสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ต่อมาองค์การนี้ที่ชักนำโดยอเมริกาพัฒนากลายเป็นสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน แต่ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น มันเกิดจากความต้องการของคนในประชาคมนี้เอง ไม่มีใครมาชักนำ ผมจึงชักธงเชียร์เต็มที่ในการก่อตั้งประชาคม แต่การชักธงเชียร์นั้นหมายความว่าเราได้ศึกษาบทบัญญัติ รายละเอียดของประชาคมนี้แล้วนะ ว่าให้ความสำคัญทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความมั่นคง ไม่ใช่ค้าขายกันอย่างเดียว แข่งกันอย่างเดียว จากการที่เราสั่งสมประสบการณ์เรื่องเพื่อนบ้านมานาน ก็มาเข้าสอดคล้องกับกระแสของประชาคมอาเซียนพอดี และเกิดการฟีเวอร์ขึ้นมา อาการฟีเวอร์คือมักเข้าใจผิดๆ เข้าใจตื้นๆ เช่น เข้าใจว่าประชาคมอาเซียคือ AEC ทั้งที่ AEC มันแค่เสาเดียวเองในสามเสา เราเองก็ทำหน้าที่ ให้พื้นที่ในการใช้สื่อของผมเพื่อบอกให้คนรู้ว่าประชาคมอาเซียนคืออะไร ไม่ได้มีการค้าขายนะ เราต้องคบหาสมาคมกัน ต้องรู้จักวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน แบ่งปันซึ่งกันและกัน นี่คือโครงสร้างงานที่ทำจนถึงปัจจุบันนี้

กายใจ : เน้นอาเซียนตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน
ธีรภาพ : ใช่ครับ เพราะมีเงื่อนไขหนึ่งซึ่งมองย้อนกลับไปปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลังจากที่อินโดจีนเปิด สงครามสงบ ผมได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแปซิฟิกให้เข้าไปคนแรกๆ เข้าไปตั้งแต่ยังได้ยินเสียงปืนในระยยี่สิบกิโล เขายังรบกันอยู่ หลังจากที่ผมเข้าไปทำสารคดีแล้วสักห้าปี บ้านเมืองเหล่านั้นก็สงบลงเรื่อยๆ ท้ายที่สุดคือ 2536 สหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาความสงบเข้าไปในกัมพูชา ถือได้ว่าเป็นหมุดหมายว่าจบสิ้นแล้วสงครามที่นั่น


พอสงบคนก็อยากไปเที่ยว เห็นสารคดีโลกสลับสีที่ผมทำก็อยากไปบ้าง ก็เกิดกระแสท่องเที่ยวเพื่อนบ้าน แล้วใครล่ะจะเป็นผู้บรรยายให้คนได้เข้าใจ เพราะมีเบื้องหลังมากมาย เรามีประสบการณ์มาก่อน เราค้นมาก่อนแล้ว ก็ถูกชักชวนให้ไปนำการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปรากฏว่าพอสักสิบปี การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อนบ้านบูม แม้ว่าจะยังสู้สิงคโปร์ ฮ่องกงได้ แต่มีปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่เขาสนใจ มีปีหนึ่งผมต้องนำทัวร์คนชมนครวัดเดือนละครั้ง ผมเข้าทุกเดือนเลย แม้แต่เดือนที่ฝนตกหนักที่สุดก็ยังเห็นคนเที่ยวนครวัด เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราเข้าแล้วเข้าอีก เห็นการเปลี่ยนแปลงทุกระยะเลย ทำให้เรามีอะไรมาเขียน

กายใจ : ตั้งแต่ได้เห็นความโหดร้าย ทำไมยังกล้าเดินหน้าต่อ
ธีรภาพ : พอเราไปเจอภาพจริงๆ ที่ไม่ใช่มายาคติ ที่ไม่มีอะไรมาบังตา โอ้โห ประเทศเหล่านี้มั่งคั่ง สืบค้นลึกเข้าไป เรายิ่งตกใจใหญ่เลย ประเทศที่รบกันขนาดนั้น ในที่สุดแล้วเป็นต้นรากวัฒนธรรมไทยสายใหญ่เลยนะครับ วัฒนธรรมจากอินเดีย แนวคิดเทวราชา ราชาศัพท์ แต่เราไม่ได้รับโดยตรงจากอินเดีย เรารับผ่านราชอาณาจักรกัมพูชาซึ่งใหญ่กว่าเรามานาน กัมพูชาอยู่มาพันกว่าปี สายใหญ่ที่สุดคือสายเขมร สายรองลงมาคือสายมอญ
ข้อดีของการทำสารคดีอย่างหนึ่งคือ ถ้าผมนำทัวร์อย่างเดียวผมอาจจะรู้ไม่ลึกเท่านี้ แต่

สารคดีมันทำให้ผมต้องตอบโจทย์ว่าเพราะอะไร ก็เลยได้ค้นคว้ามาก ทำให้รู้ว่าไทยแท้ไม่มี ความเป็นไทยแท้คือความผสมผสาน เราเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เจริญหลังพวกเขา ประเทศไทยจึงมีหลายประเพณีของหลายสังคมอยู่รวมกันเป็นพหุสังคม จีน ญี่ปุ่น โปตุเกส ซึ่งในความผสมผสานนั้นมีวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านอยู่ในตัวเราเยอะมาก จากอดีตที่เห็นมายาภาพ มาเห็นความจริงก็รู้สึกทึ่ง จึงอยากเขียนให้คนได้รู้ ได้มาเที่ยว


ถ้ามองในฐานะสื่อมวลชน ฐานผมมาจากการเขียนไง เมื่อได้ไปแล้วก็อยากถ่ายทอดออกมา เพื่อนที่ทำนิตยสารฉบับต่างๆ ก็อยากได้ข้อเขียนที่เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในเวลานั้น พอเขียนมากเขาก็รวมเป็นเล่ม พอคนอ่านก็อยากจะไป โดยเฉพาะสองเล่มที่ทุกวันนี้คนยังอยู่แต่ผมยังไม่ได้อัพเดทขึ้นมาสักที คือ ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป นครวัดนครธม กับอีกเล่มหนึ่งคือ ท่องแดนเจดีย์ไพรในพุกามประเทศ

กายใจ : นำเรื่องหนักเข้าสมองเยอะ ทำให้กดดันไหม
ธีรภาพ : สิ่งที่ประวัติศาสตร์ให้คือช่วยจับสิ่งที่อยู่ในสมองเราที่กองไว้ไม่เรียบร้อย เรียงว่าถ้าจะพูดอะไรต้องหยิบหนังสือเล่มใด ทำให้เราค้นคว้าง่ายขึ้น ในที่สุด ความรู้ก็กลายเป็นความรื่นรมย์
แต่ความกดดันอยู่ตรงที่ บางเรื่องยังค้นไม่เจอ ข้อมูลที่แท้มันคืออะไร แต่โดยรวมถือว่าเป็นความรื่นรมย์ที่ได้เรียนรู้ นับวันทำให้เราทึ่งในภูมิปัญญาของมนุษย์ ทำให้เราเห็นคุณค่าของพื้นบ้านพื้นถิ่น ทำให้เราเห็นคุณค่าของชาวบ้าน เพราะนี่เป็นแหล่งความรู้ที่แท้จริง

กายใจ : ไม่มีประสบการณ์จริง จึงต้องไปเดินเข้าไปหา
ธีรภาพ : ใช่ครับ เพราะสารคดีต้องไปเรียนรู้จริงๆ เพียงแต่ยังไม่ต้องไปทำแบบนั้น ไม่ต้องทำเป็นอาชีพ พอผมย้อนกลับไปดูโลกสลับสี ผมรู้เลยว่ามีรายละเอียดจำนวนมากเลยที่ผมไม่ได้อธิบาย เพราะไม่รู้ เมื่อไม่รู้ ทางเดียวคือต้องปล่อยผ่าน อย่าไปดันทุรัง รู้บ้างไม่รู้บ้างใส่เข้าไป แต่ในยุคนั้นโลกสลับสีถือว่าลึกมากนะครับ แต่พอถึงยุคนี้ถือว่าตื้นมาก

กายใจ : 'ลึก' แปลว่า 'เครียด' ด้วยหรือเปล่า
ธีรภาพ : ไม่จำเป็นครับ เพราะเราได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้นำ เช่น อาจารย์สมเกียรติ ว่าต้องนำเสนอให้มีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหว ให้สะท้อนความขรึมขลังอลังการ ภาพต้องถึง เพลงต้องถึง การตัดต่อต้องไปกันได้ เพราะน่าจะเป็นบริษัทแรกเลยหรือเปล่าที่จ้างคนแต่งเพลงเพื่อสารคดีเรื่องนั้นๆ การที่เราได้ทำงานกับนักแต่งเพลง เราต้องตีโจทย์ก่อนว่าธีมเรื่องนครวัดจะไปทางไหน ธีมของเรื่องหลวงพระบางจะไปทางไหน เราถึงอธิบายให้แก่นักแต่งเพลงเข้าใจได้

ชอบเล่นดนตรีด้วย มีส่วนช่วยอะไรในงานสารคดีบ้างไหม
ธีรภาพ : ชอบเล่นดนตรีแบบที่ไม่ได้เรียน เป็นดนตรีโดยอารมณ์ เพลงนี่ช่วยเราได้เยอะนะครับ เวลาไปที่ไหนแล้วได้ยินเพลงพื้นบ้านของที่นั่น แหม...มันรู้สึก แล้วเราจะเก็บรับสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ด้วยวิธีใด เพราะเราไม่ใช่นักดนตรีนะ บังเอิญว่าเครื่องดนตรีที่เรียกว่าหีบเพลงปากมันเล็กกระทัดรัด และเรียนรู้ได้ จนถึงทุกวันนี้ผมยังไม่รู้โน้ตเลยนะ ใช้วิธีทดลองเป่า ถ้าเราขยับไปตรงนี้เสียงนี้จะเกิดขึ้น ถ้าเราหายใจเข้ามันจะเป็นอีกเสียงหนึ่ง และออกมาเป็นเพลงได้ ก็เลยใช้หีบเพลงปากเก็บเอาวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ ถ้าเป็นลาวน่าจะเป็นเพลงนี้ พม่าน่าจะเป็นเพลงนี้ อินโดนีเซียน่าจะเป็นเพลงนี้ ถ้าเรานำเสนอสารคดีแล้วมีดนตรีพื้นถิ่นนั้น จะทำให้สารคดีน่าเชื่อถือ ได้กลิ่นไอดินแดนนั้นจริงๆ

กายใจ : ภาพลักษณ์ของคนทำสารคดีมักดุดัน ขรึมขลัง ตรงข้ามกับที่คุณเป็น
ธีรภาพ : ดนตรีก็อาจมีส่วนนะครับ แต่ผมก็มีด้านเกเร แต่โดยพื้นฐานแล้วอาจเป็นเพราะพ่อเป็นคนที่ดุมาก แต่แม่ใจดีมาก ใจดีประเภทที่ สมมติตระกูลนี้มีสะใภ้ห้าคน แม่จะเป็นที่ปรึกษาของสะใภ้คนอื่นๆ เพราะแม่เป็นคนเปิดรับ เป็นมิตร ได้เห็นภาพญาติๆ มาร้องไห้กับแม่ อาจด้วยการที่ปฏิเสธบุคลิกแบบพ่อก็เลยรับบุคลิกแบบแม่ เกลียดมาความขัดแย้ง ไม่เกลียดความคิดแตกต่าง มาคุยกันได้

กายใจ : เมื่อเกลียดความขัดแย้ง ทำให้อยากไปช่วยเขาด้วยสารคดีหรือเปล่า
ธีรภาพ : ใช่เลย มันขับดันออกมาทางนี้ เมื่อเราเกลียดความขัดแย้ง มันเหมือนคนเราที่บอกว่าไม่เห็นความดีฉันเลย บางคนมองแต่ด้านบกพร่องของผู้อื่นไง แต่ท่ามกลางความดุหมิ่นดูแคลนประเทศเพื่อนบ้าน เราพบความงดงามมากมาย และเราเลือกด้านงดงามนั้นมานำเสนอ และอยากบอกคนว่าความไม่งดงามในอดีตนั้นเหมือนมนุษย์ทุกคนที่มีทั้งดีและไม่ดี ทุกประเทศมีทั้งดีและไม่ดี

สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งชั่วคราว เป็นมายาภาพชั่วคราว แต่ด้านดีเป็นภาพที่แท้จริงและดำรงอยู่

โดย : ปริญญา ชาวสมุน
Life Style : สุขภาพ
@กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: