โดย : อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
http://ittirit.wordpress.com
ไลฟ์สไตล์ @กรุงเทพธุรกิจ
เวียงจันทน์ วันนี้เปลี่ยนไป ด้วยพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ ธุรกิจการค้าคึกคัก ในบรรยากาศความเป็นทุนนิยมนิ่งเงียบตามแบบฉบับของลาว
32 องศาไม่ขาดไม่เกินในตอนนั้น แม้เป็นยามกลางวันที่แดดสดๆ สาดแสงแรงเปรี้ยงลงมาถูกเนื้อต้องตัว แต่ก็ยังรู้สึกสบายตัวและหายใจหายคอได้คล่องจมูกด้วยว่าอากาศสดสะอาดไม่ เหมือนลมหายใจในมหานครแสนคุ้นและวุ่นวายของบ้านเราเมืองเรา
นี่คือ “อากาศ” ของเวียงจันทน์ที่ ทุกคนมีสิทธิสูดเข้าไปเท่าๆ กันในวันที่ผมได้เดินทางกลับไปเยือนนครหลวงบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงแห่ง สปป. ลาวอีกคำรบหนึ่งซึ่งผมรู้สึกได้แม้ขณะเดินอยู่บนถนนกลางเมืองที่เงียบสงบจน ยากจะเชื่อว่า ที่แห่งนี้มีศักดิ์เป็นเมืองหลวงหรือนครหลวงของชาวลาวกว่าหกล้านชีวิต
การเดินทางในเวียงจันทน์คราว นี้ไม่มีประตูชัย เจดีย์ธาตุหรือหอพระแก้ว - หอคำบนถนนล้านช้างอะเวนิวให้เป็นหลักหมายเหมือนครั้งเก่าก่อนหน้า เพราะล้วนเคยไปเห็นไปชมมาหมดแล้ว แต่แม้ปราศจากจงใจการไปเยือนสถานที่สำคัญๆ ผมก็ยังรู้สึกดีว่าการเดินทางในเวียงจันทน์ครั้ง นี้คงมีสิ่งใหม่ๆ รอคอยให้ค้นพบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับคอนเซปต์ของการเดินทางที่ควรจะเป็นไปในความคิดของผม คือความหมายของการ ‘อยู่’ ลิ้มลองลิ้มรสในจุดหมายเพื่อที่จะเรียนรู้ (Live and learn) นั่นเอง
โดยที่ไม่โกหกตัวเอง บางครั้งสำหรับคนไทยแล้วการรู้ตื้นลึกหนาบางในความเป็นไปของผู้คนและเมือง หลวงของประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้แสนใกล้สักหน่อยนั้นยังไม่ค่อยจะรู้หรืออยาก จะรับรู้ว่าคนเวียงจันทน์ คนย่างกุ้งหรือคนพนมเปญมีชีวิตและความเป็นอยู่บนความเปลี่ยนแปลงและเป็นไป กันอย่างไร เปรียบแล้วคงเหมือนกับการที่เราก้มลงมองฝ่ามือทั้งมือของตัวเองแล้วสาย ตากลับจดจ้องมองเห็นนิ้วมืออยู่เพียงนิ้วมือเดียวหรือเห็นไปว่านิ้วใดนิ้ว หนึ่งสวยงามหรือสำคัญกว่าอีกสี่นิ้วที่เหลือ ทั้งๆ ที่มือนั้นจะสวยงามเป็นมือที่สมบูรณ์ปกติไม่ได้หากขาดการมองเห็นนิ้วทั้งห้า ให้ครบ
นั่นทำให้บางครั้งจึงเหมือนกับว่าเรารู้จักสิ่งที่ใกล้ตัวหรือเรื่องราวความเคลื่อนไหวใกล้ๆ ตัวเราเองน้อยเกินไป...
เลย เที่ยงวันมาแล้วผมแวะเติมท้องให้อิ่มด้วยการเลือกนั่งลงสั่งเฝอไก่มาชิมตรง ร้านอาหารหัวมุมถนนเซดถาทิลาดไม่ห่างจากถนนเจ้าฟ้างุ่มเลียบริมโขงอันเป็น จุดหมายปลายทางหลักของคนเดินทางที่มาถึงเวียงจันทน์ หลายปีก่อนถนนเส้นนี้มีสภาพร่มครึ้มด้วยทิวต้นมะฮอกกานีอายุร้อยปียาวเกือบ สุดแนวถนน สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ แต่พอถึงปีการท่องเที่ยวของลาว (ราวๆ ปี 2540 -41) กลับมีข่าวว่าทางการลาวต้องการขยายถนนจนอาจจะต้องตัดโค่นต้นไม้เก่าแก่เหล่า นี้ออกไปเสียทำให้ผมพาลที่จะไม่อยากกลับไปเยือนเวียงจันทน์อีก
แต่เมื่อได้กลับมายืนบนถนนเส้นนี้อีกครั้งก็เห็นว่าต้นไม้ใหญ่ยังคงยืน ต้นอยู่ดังเดิมบนถนนที่กลายเป็นทางสัญจรเดินรถทางเดียวเพื่อลดปัญหาจราจรติด ขัดในตัวเมืองโดยเฉพาะยามเช้าเข้างานและตอนเย็นๆ
ต้นไม้ใหญ่บนถนนหลายๆ สายของเวียงจันทน์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม บ่งบอกอายุและที่มาอันยาวนานของเมือง และนี่อาจจะเป็นเรื่องราวหนึ่งที่ทำให้เวียงจันทน์เป็น หนึ่งในเมืองหลวงของอินโดจีนที่แม้จะเรียบง่ายปานใด แต่ก็มีเอกลักษณ์ของเมืองเก่าแตกต่างไปจากเมืองหลวงอื่นๆ ที่มุ่งสู่ทิศทางของการพัฒนาจนเกินตัวและรื้อถอนทำลายรากเหง้าอดีตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจากการตัดถอนต้นไม้ใหญ่หรือการมุ่งปลูกป่าคอนกรีตมากกว่า อนุรักษ์ต้นไม้และตกรามเดิมๆ
ผมเฉเข้าไปหลบเปลวแดดยามกลางวันแถวๆ วงเวียนน้ำพุในร้านกาแฟอารมณ์ใหม่ที่มีมุมให้บริการอินเทอร์เน็ตโอ่โถงสะดวก สบายในห้องปรับอากาศ พบว่าร้านแห่งนี้กลับเป็นร้านกาแฟสัญชาติไทยที่เพิ่งเข้ามาเปิดใหม่ นับรวมแล้วแถวๆ วงเวียนน้ำพุ ถนนริมโขงและถนนเซดถาทิลาดแห่งนี้มีร้านอาหารและร้านกาแฟหลากสัญชาติรองรับ คนเดินทางและคนทำงานต่างถิ่นที่มาอยู่เวียงจันทน์ได้ดี (หรือจนอาจเกินพอ) แต่ทุกครั้งของการกลับไปเที่ยวเวียงจันทน์ผมเป็นได้พบว่ายังคงมีร้านกาแฟสดเปิดขึ้นมาใหม่ตามมุมถนนย่านใจกลางเมืองร้านแล้วร้านเล่าเสมอๆ
มาเวียงจันทน์ครานี้ผมได้รับรู้ว่านครหลวงเวียงจันทน์กำลัง เตรียมการเฉลิมฉลองที่จะมีอายุครบ 450 ปีในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้พร้อมกับการจัดงานขึ้นในงานบุญประจำปีของวัดธาตุ หลวง ซึ่งถือเป็นเทศกาลงานเฉลิมฉลองประจำปีที่ชาวลาวและชาวเวียงจันทน์ตั้ง หน้าตั้งตารอคอย แต่ปีนี้ท่าจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม ตามร้านค้ามินิมาร์ทและโรงแรมย่านริมน้ำโขงมีการขายสายรัดข้อมือสีขาว น้ำเงิน แดง (สีธงชาติของ สปป.ลาว) พิมพ์ข้อความว่า “เฮาฮัก สปป.ลาว นครหลวงเวียงจันทน์ 450 ปี” พร้อมกับมีป้ายผ้าแสดงข้อความเดียวกันขึงไว้บนถนนและตัววิ่งป้ายไฟทันสมัย ตรงมุมตึกของตลาดเช้านับเวลาถอยหลังเข้าสู่วันแห่งการเฉลิมฉลองที่กำลังจะมา ถึง
ที่ร้านกาแฟแห่งนั้นผมกางหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไท ม์ส (Viantiane Times) ออกอ่านดู เริ่มมีข่าวคราวเช่นการตัดถนนวงแหวนรอบนอกเลี่ยงเมืองหกเลนความยาว 20.3 กิโลเมตร (เรียกว่า “ถนน 450 ปี”) เพื่อเชื่อมถนนสาย 13 เหนือกับใต้เข้าด้วยกัน มีการก่อสร้างปรับปรุงภูมิทัศน์สร้างเขื่อนกั้นผนัง สวนสาธารณะและอนุสาวรีย์และสวนเจ้าอานุวง (เจ้าอนุวงศ์) ตรงแม่โขงพรอมเมนาดถือเป็นโปรเจคใหญ่ที่อีกหลายปีถึงจะเสร็จเรียบร้อย
และนั่นเองทำให้ภาพความคุ้นเคยของทิวทัศน์ริมน้ำโขงตรงข้ามวัดจันไปจนถึง หอพระแก้วและหอคำบนถนนเจ้าฟ้างุ่มเปลี่ยนแปลงไปจากความคุ้นเคยเดิมๆ ที่เคยเป็นที่เดินเล่นสบายๆ หาส้มตำไก่ย่างปูเสื่อนั่งชมพระอาทิตย์ตกบนลำน้ำโขงของผู้คนที่นี่และผู้มา เยือนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ไม่ว่าสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไปจะดีขึ้นหรือไม่ วิถีของผู้คนยามฟ้าค่ำตะวันรอนก็ยังคงเรียกร้องให้มารวมตัวกันเดินเล่น หาอะไรกินสนุกๆ อยู่เหมือนเดิม
ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหัวเดียวประจำประเทศฉบับเดียวกันนั้นยังเล่น ข่าวการปิดถนนสองสายในเมืองไม่ให้รถวิ่งเข้ามาเพื่อรับมือประเพณีแข่งเรือใน เทศกาลออกพรรษาในระหว่างนั้นพอดี ภาพบนปกหน้าหนึ่งเป็นภาพผู้คนกำลังเลือกซื้ออาหารแผงขายไก่ย่างและอาหารพื้น เมืองริมฝั่งโขง พร้อมกับมีบรรยายใต้ภาพว่ามีร้านอาหารพื้นเมืองเปิดมากขึ้นเพื่อเตรียมรับ เทศกาลงานบุญแข่งเรือประจำปี นานเพียงใดแล้วที่ข่าว “ธรรมดาๆ บ้านๆ” อย่างนี้ห่างหายไปหรือหมดสิทธิ์ขึ้นหน้าหนึ่งสื่อเมืองไทยอย่างไม่มีคำ อธิบาย
ผมนึกถึงถ้อยคำสนทนาจากเพื่อนคนไทยที่ไปทำงานที่เวียงจันทน์มาระยะ หนึ่ง เขาเอ่ยขึ้นมาเมื่อเช้าของวันนั้นซึ่งมีชาวบ้านทั้งเด็กและวัยรุ่น แทบทุกวัยพากันทยอยหลั่งไหลกันรวมตัวตามวัดวาริมแม่น้ำโขงเพื่อดูงานแข่ง เรือว่า “รู้สึกดีที่ยังเห็นผู้คนที่นี่ตื่นเต้นและยังตื่นตัวกับการมีอยู่ของการ แข่งเรือและอยากออกไปเที่ยวชมงาน” ไม่ต้องอธิบายก็น่าจะรู้ว่าในหัวใจของเพื่อนคนไทยคนนี้โหยหาอะไรบางอย่างที่ ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้อีกแล้ว
หน้าหนึ่งของนิตยสารภาษาลาวอีกฉบับที่ผมเปิดอ่านในร้านกาแฟยามเที่ยงวัน นั้น มีคอลัมน์หนึ่งกล่าวถึงประวัติความเป็นมาส่วนหนึ่งของการก่อตั้งเมืองเวียงจันทน์เอาไว้ให้ได้อ่าน สรุปใจความว่า
“นครหลวงเวียงจันทน์อา ยุครบ 450 ปี (1560 - 2010) สร้างขึ้นถัดจากเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ในสมัยพระเจ้าไซเสดถาทิลาด กษัตริย์องค์ที่ 10 ของอาณาจักรล้านช้าง เหตุที่เลือกตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ของที่เวียงจันทน์เพราะ อยู่ตอนกลางของประเทศ มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์และที่ราบสำหรับการทำมาหากินของผู้คนที่นับวันจะ เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญยังอยู่ห่างจากอิทธิพลและรุกรานของพวกพม่าและอาณาจักรล้านนาและสยาม พร้อมกับการตั้งนครหลวงแห่งใหม่เจ้าไซเสดถาทิลาดก็ยังทรงให้สร้างเจดีย์ธาตุ หลวงและวัดวาอารามขึ้นอีกหลายแห่งในกำแพงนคร ด้วยเหตุนี้กษัตริย์ไซเสดถาทิลาดจึงทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่และมี คุณูปการมีต่อเวียงจันทน์เป็นอย่างยิ่ง” (จากคอลัมน์ “สะหวันเมืองลาว”)
จุดเปลี่ยนหนึ่งของเวียงจันทน์น่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 25 เดือนธันวาคมปี 2009 ทำให้ตัวเมืองเวียงจันทน์ชั้น ในและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการจัดการเมืองได้รับการปรับปรุงและดูแล ขึ้นกว่าเดิม ถนนหนทางมีการตีเส้นจราจรใหม่และถมหลุมบ่อปรับให้สวยงามราบเรียบเหมือนใหม่ น่าใช้ แต่นั่นก็น่าจะเป็นเพียง “เปลือกนอก” ส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เห็น เพราะตามตรอกซอกซอยที่แค่เพียงเดินหรือนั่งรถแยกออกมาจากถนนใหญ่ก็จะพบกับ สภาพทางลูกรังขรุขระเป็นหลุมบ่อเหมือนผิวพระจันทร์อยู่เช่นเดิม
บนถนนและทางสัญจรในตัวเมืองรถรามากขึ้นน่าเหลือเชื่อและที่สำคัญก็คือรถ รุ่นใหม่ๆ และคันใหญ่ๆ ราคาแพงลิบลิ่ววิ่งกันให้เห็นเกลื่อนเมืองทั่วไปไม่ว่าจะเป็นรถยุโรป รถจีน รถเกาหลี รถมาเลย์ล้วนแต่นำเข้าทั้งนั้น ทำให้ยามสายซึ่งใกล้เวลาเข้างานแทบทุกถนนทั้งชั้นนอกและชั้นในเนืองแน่นพลุก พล่านด้วยยวดยานส่วนตัวบนถนน แต่ก็เป็นวิถีที่ผู้คนได้แต่พร่ำบ่น เพราะที่เวียงจันทน์มี เพียงสี่แยกไฟแดงไว้ให้รถติดเท่านั้น ยังไม่มีอุโมงค์ทางลอดหรือสะพานข้ามแยกหรือแม้แต่สะพานลอยสำหรับคนข้ามเอา ไว้แก้ไขปัญหาจราจรแต่อย่างใด มิหนำซ้ำการขนส่งมวลชนก็ไม่ทั่วถึงหรือรถบริการสาธารณะที่พอจะเรียกใช้ก็มัก จะเรียกราคาสูงส่งจนน่าปวดหัว
“สองปีที่ผ่านมาเห็นความเปลี่ยนแปลงว่ามีตึกสูงเกิดมากขึ้น” คนไทยอีกคนที่ไปทำธุรกิจในเวียงจันทน์ที่ผมได้พบตอบคำถามถึงความรู้สึกต่อความเปลี่ยนแปลงของเวียงจันทน์ เธอเล่าว่าจะต้องเช่าห้องพักและเช่าอาคารเพื่อทำสถานที่ทำงานด้วยราคาแพง ระยับจนแทบจะนึกไม่ออกว่าเมืองเล็กๆ นิ่งๆ เงียบๆ เช่นนี้จะต้องมีค่าครองชีพสูงขนาดนั้นไปเพื่ออะไร (ค่าเช่าบ้านและสำนักงานคิดเป็นดอลลาร์)
คำตอบน่าจะอยู่ที่ข้าวของเครื่องใช้ทั้งบนโต๊ะอาหาร จำพวกเครื่องปรุงทั้งหลายไปจนถึงน้ำมันในปั๊มน้ำมัน ผมได้เฉียดๆ เข้าไปชมภาพของความทันสมัยของร้านมินิมาร์ทหลายๆ แห่งทั้งในเมืองย่านถนนเซดถาทิลาดและร้านสีเมืองมินิมาร์ทแถวๆ อนุสาวรีย์เจ้าสีสว่างวงตรงวัดสีเมืองที่มีคนไทยนิยมมากราบไหว้บนบานของพร พบว่าข้าวของทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็น “ของนำเข้า” ไม่จากไทยก็จากเวียดนามหรือจีน
ดินแดนลาวนอกจากจะเป็น “Landlocked Country” ซึ่งไม่มีทางเชื่อมต่อกับทะเลหรือท่าเรือ จำเป็นต้องพึ่งพาการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยทางรถยนต์ทางด่านชายแดนทั้ง หลาย ความแพงของค่าครองชีพและราคาของค่าใช้จ่ายต่างๆ (ง่ายๆ ว่าข้าวผัดกะเพราตามร้านทั่วไปสนนราคาอยู่ที่จานละ 50 บาทหรือ 12,000 - 13,000 กีบ เช่นเดียวกับก๋วยเตี๋ยวหรือกวยจั๊บญวนสำหรับหนึ่งอิ่ม)
“คนลาวคุ้นเคยดีกับการได้รับความช่วยเหลือ เพราะหลายประเทศหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับเขาจนไม่เป็นอันพึ่งพาตัวเองใน การปลูกผัก หรือทำการเกษตรในเชิงพาณิชย์ ทั้งๆ ที่ในประเทศมีความต้องการ แต่เขาก็เลือกที่จะใช้การซื้อหรือการนำเข้ามากกว่าที่จะหัดพึ่งพาตนเอง ทำให้ข้าวของและอาหารต่างๆ ราคาแพงจนไม่น่าเชื่อ”
บ่ายวันหนึ่งผมนั่งรถจัมโบ้ (สามล้อเครื่องของเวียงจันทน์) โฉบออกไปเที่ยวชมความ “เจริญ” ใหม่ๆ ของตัวอาคารแถวๆ ศูนย์แสดงสินค้าลาว- ไอเต็ก (Lao - ITECC) และสนามไดร์ฟกอล์ฟที่อยู่ข้างๆ ถนนอีกฝั่งหนึ่งด้านหน้ากำลังก่อสร้างตึกตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ (แห่งแรก) ของลาวสูงหลายชั้น
นี่คือบรรยากาศความเป็นทุนนิยมนิ่งเงียบตามแบบฉบับของลาว ดังที่ผมได้เห็นข่าวการเปิดตัวของห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ย่านวัดธาตุหลวงลง ในหน้าธุรกิจ น.ส.พ. เวียงจันทน์ไทม์ สอีกวันถัดมา พร้อมๆ กับอาคารสูงหลายชั้นที่กำลังก่อสร้างใกล้จะเสร็จของมอลล์ใหม่ “ตลาดเซ้า” ซึ่งเกิดขึ้นแทนที่อาคารรูปทรงหน้าจั่วสามเหลี่ยมสองสามหลังที่มักคุ้นกันดี ของตลาดเช้าเดิม
ก่อนออกจากห้องพักย่านหลักสาม บนถนนท่าเดื่อตอนสายวันหนึ่ง ผมเปิดโทรทัศน์ช่องประจำชาติของลาวโดยไร้จุดหมาย พอดีได้ยินการรายงานข่าวเรื่องการซักซ้อมการแสดงในงานฉลอง 450 ปีที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยการซ้อมรำชุดนางแก้วมีการใช้นักแสดงซึ่งเป็นนัก เรียนหญิงจากหลายโรงเรียนกว่า 900 ชีวิตอยู่ที่ลานกว้างแห่งหนึ่งท่ามกลางแสงแดดเที่ยงวัน จนทำให้นักแสดงทั้งหลายต้องห่อหุ้มแขนขาและหน้าตามิดชิดด้วยเครื่องแต่งกาย และหมวก
ผู้ประกาศข่าวชาวลาวรายงานถึงความยิ่งใหญ่ของงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแน่ นอนเมื่อดูจากความพรักพร้อมของการเตรียมงานและความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพ ซีเกมส์ที่ผ่านมา
กว่า 400 ปีผ่านมาเวียงจันทน์ใน วันนี้ก็ยังเป็นจุดหมายของนักเดินทางผู้ซึ่งปรารถนาจะมาเสพเสน่ห์หนึ่งใน กรุงของภูมิภาคอินโดจีนที่หลงเหลือร่างเงาหลังการคลายหายของลัทธิที่แตกต่าง ของสงครามเย็นไม่สิ้นสุด เป็นจุดหมายสำหรับนักการค้าพาณิชย์หลายชาติผู้มองเห็นว่าเส้นแบ่งประเทศชาติ เป็นเพียงความท้าทายสำหรับทุนนิยม และเป็นอีกหลายๆ สิ่งที่พร้อมจะให้ทุกคนได้อยู่ไปดูไปเห็นว่าความแตกต่างตามประสาของเมือง เก่าที่กำลังจะมุ่งหน้าไปสู่สิ่งใหม่ๆ มีอะไรให้เรียนรู้อยู่เช่นเดิม
และแม้จะเป็นยามเที่ยงวันก็ตาม อากาศตรงกลางเมืองเองก็ยังเบาบางสบายและนิ่งสงบ จนบางทีเรารับรู้ได้ถึงลมหายใจที่เคลื่อนไหวอยู่ในอกและอดไม่ได้ที่จะรำพึง กับตัวเองว่า นี่คืออากาศของเมืองหลวงไม่กี่แห่งบนโลกนี้ที่เราจะหายใจได้คล่องจมูกและ เต็มไปด้วยนิ่งเงียบจนสัมผัสได้
////////////////////
การเดินทาง - ที่พัก
เส้นทางจากเมืองไทย (กรุงเทพฯ) ข้ามไปเวียงจันทน์นั้น ไม่มีเส้นทางไหนจะใกล้และสะดวกสบายมากเท่ากับการเดินทาง (ไม่ว่าจะทางรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน) ไปถึงหนองคาย จากนั้นเดินทางไปยังด่านสะพานมิตรภาพไทย -ลาวเพื่อทำเรื่องผ่านแดน (หากไม่มีหนังสือเดินทางจะต้องทำใบอนุญาตผ่านแดนหรือ Border Pass เข้าไปได้แค่เวียงจันทน์ใน ช่วงเวลาสามวัน) สำหรับนักเดินทางที่ถือหนังสือเดินทางของไทยสามารถพำนักและท่องเที่ยวในลาว (สปป.ลาว) ได้นานถึง 30 วัน พอข้ามสะพานมิตรภาพถึงด่านทางฝั่งลาวแล้วสามารถนั่งรถโดยสารประจำทาง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตรก็จะถึง “นครหลวงเวียงจันทน์” (นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารระหว่างประเทศให้บริการวิ่งจากอุดรธานี ขอนแก่นและนครราชสีมาตรงไปเวียงจันทน์ด้วย)
ที่พักในเวียงจันทน์มี หลายมาตรฐานทั้งโรงแรมหรูหราหลายๆ ดาวไปจนถึงเกสท์เฮ้าส์สบายกระเป๋า (เรียกขานว่า “เฮือนพัก”) บรรดาเฮือนพักทั้งหลายกระจายตัวอยู่บนถนนเชดถาทิลาดไปจนถึงสามแสนไทและถนน เส้นเลียบริมโขง (ถ.เจ้าฟ้างุ้ม) ราคาที่พักแบบเกสท์เฮ้าส์โดยเฉลี่ยคืนละ 500 บาทขึ้นไป มีให้เลือกพักหลายแห่งและหลากสไตล์หากไม่ใช่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวอาจใช้วิธี เดินเข้าไปเลือกชมและสอบถามราคาที่พักได้โดยไม่ต้องจองไปล่วงหน้าก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น