หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ชง6มาตรการสกัดน้ำท่วมหาดใหญ่ เอกชนหนุนทุ่มหมื่นล้าน"ระบบเตือนภัย-แก้มลิง"

เปิด แผนป้องกันน้ำท่วม "หาดใหญ่โมเดล" ชง 6 มาตรการ 6 พันล้าน แก้ปัญหาระยะยาว ภาคเอกชนจวกยับมาตรการเตือนภัยห่วย จี้รัฐจริงจังสร้างระบบป้องกันภัยน้ำท่วม ลงทุนหมื่นล้านก็คุ้มค่า ด้านนักวิชาการแนะทุกมาตรการล้วนมีข้อจำกัดในตัวเอง ระบุแนวทาง เหมาะสมคือระบบแก้มลิง หรือที่พักน้ำใต้ดิน


นาย ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดเผย "ประชาชาติ ธุรกิจ" ว่า จากการหารือร่วมกับ กรมชลประทานและหน่วยงานในท้องถิ่น ได้ข้อสรุปและเตรียมนำเสนอมาตรการป้องกันน้ำท่วมหาดใหญ่ในระยะยาว 6 แนวทาง คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการของกรมชลประทาน วงเงิน 3,000 ล้านบาท และเทศบาลนครหาดใหญ่ 3,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย


1)โครงการขยายคลอง ร.1 ให้มีความจุเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคลอง ร.1 รองรับน้ำได้เพียง 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปริมาณน้ำฝนในปีนี้ไหลเข้ามาสูงถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากสามารถขยายคลอง ร.1 ให้รับน้ำได้ถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตร ก็จะช่วยระบายน้ำไม่ให้ท่วมเมืองหาดใหญ่ได้ โครงการนี้จะไม่มีปัญหาการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากยังมีพื้นที่ไหล่คลองเดิมเหลืออยู่สามารถดำเนินการได้ทันที

2)โครงการ ขุดลอกคลองอู่ตะเภา และคลองเตย ให้มีพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้ ดีขึ้น 3)โครงการสร้างแกมลิง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำในพื้นที่อำเภอสะเดา, เทศบาลตำบลบ้านพรุ และพื้นที่ตำบลควนลัง 4)โครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องดันน้ำ เพื่อเสริมระบบระบายน้ำออกจากเมืองให้เร็วที่สุด 5)โครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำให้สูงขึ้น ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของคลองอู่ตะเภา และ 6)โครงการปิดช่องลอดทางรถไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมเมืองหาดใหญ่

"ทั้ง 6 โครงการนี้ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกัน ถ้าทำตามมาตรการได้ ผมมั่นใจว่าเราเอาอยู่ และถือว่าใช้งบประมาณไม่มากเมื่อเทียบกับความเสียหาย น้ำท่วมใหญ่ 2 ครั้งเสียหายมากกว่า 20,000 ล้านบาท"

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มูลนิธิอุทยาน สิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินทร นักวิชาการ คนแรกที่ออกมาเตือนว่าน้ำจะท่วมหาดใหญ่ในปี 2553 ได้ตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่ว่า การเลือกวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่ไม่ใช่การดูปัจจัยในเรื่องภูมิศาสตร์ หรือเศรษฐกิจ อย่างเดียว เพราะมีเรื่องสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย และทุกมาตรการมีความไม่สมบูรณ์ใน ตัวเอง เช่น หากสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเกินไปก็จะไม่มีผลอะไร และต้องเวนคืนชุมชนมหาศาล ส่วนมาตรการที่เหมาะสมคือการหาที่พักให้น้ำ ซึ่งอาจเป็นแก้มลิงหรือที่พักน้ำใต้ดินเหมือนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น

ด้านนายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์ค้าส่งหาดใหญ่ (2009) จำกัด เปิดเผยว่า ความเสียหายครั้งนี้เฉพาะวงการค้าปลีกใน อ.หาดใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนเคแอนด์เคฯได้รับผลกระทบน้ำท่วม 4 สาขา รวมมูลค่า 129 ล้านบาท

มาตรการ ที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมรับมือน้ำท่วมครั้งต่อไปคือ การประกันความเสี่ยงเท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะขณะนี้ผู้ที่ถือกรมธรรม์เดิม หากต้องการต่ออายุใหม่จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น และได้รับผลตอบแทนภัยน้ำท่วมน้อยลง

ด้านนายจตุรภัทร ตันธนวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.ที.มอเตอร์เซลส์ จำกัด กล่าวว่า เทศบาลหรือหน่วยงานราชการต้องมีมาตรการเตือนภัยที่ชัดเจนและรวดเร็ว เพราะการขนย้ายสิ่งของและสินค้าต้องใช้เวลาพอสมควร ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่ให้ข้อมูลถูกต้องชัดเจนในทิศทางเดียวกัน ส่วนการอพยพก็ต้องแจ้งเตือนภายใน 8 ชั่วโมง จึงจะรับมือได้ทัน

นายสม ชาติ พิมพ์ธนะพูนพร เจ้าของโรงแรมซากุระ กรีนวิว หาดใหญ่ และในฐานะนายกสมาคมธุรกิจโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา กล่าวว่า มาตรการเตือนภัยต้องมีคนที่สามารถสั่งการได้ และประกาศแจ้งล่วงหน้าเร็วกว่านี้ ทุกคนจะเตรียมตัวได้ทัน ที่ผ่านมาไม่รู้จะฟังใคร

"อยากให้มีการลงทุนสร้างหรือขยายคลองระบาย น้ำให้กว้างขึ้น สร้างแก้มลิงรองรับน้ำ และผังเมืองต้องไปสำรวจพื้นที่ว่าที่ไหนเป็นพื้นที่รับน้ำ อย่าให้มีการถมดิน มีสิ่งปลูกสร้างขวางกั้นทางน้ำไหล รัฐบาลต้องกล้าลงทุนสร้างระบบป้องกันภัยน้ำท่วม ลงทุนเป็นหมื่น ๆ ล้านก็ถือว่าคุ้ม"

ในวันที่ 26 ธ.ค. 53 นายถาวร เสนเนียม รมช.กระทรวงมหาดไทย เป็น ประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางป้องกันน้ำท่วมหาดใหญ่-สงขลา เพื่อหาข้อสรุปจัดทำเป็นหาดใหญ่โมเดลต่อไป

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4274

ไม่มีความคิดเห็น: