หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

‘ฟาเตปูร์ศิขรี’...อินเดียไม่ได้มีแต่ทัช มาฮาล

“ทัช มาฮาล“
เปล่งรัศมีบดบังปราสาทราชวังอื่นๆ เกือบทั้งหมด
อัครา อดีตราชธานีเกริกไกรของ “อักบาร์มหาราช” จอมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์โมกุล ผู้ครอบครองอินเดียเมื่อราว 450 ปีก่อน ร่วมสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา ชื่อ “อัครา” ระบือไกล เพราะเป็นที่ตั้ง “ทัช มาฮาล” อนุสาวรีย์แห่งความรักสะเทือนโลกของจักรพรรดิ “ชาห์ ญะฮาน” ราชนัดดาหรือหลานปู่ของอักบาร์ และยังเป็นที่ตั้งของ “ป้อมแดง” ซึ่งเป็นพระราชวังของอักบาร์ แต่ภายหลังกลายเป็นที่คุมขังชาห์ ญะฮาน เพราะมัวแต่สร้างทัช มาฮาล จนถูกโอรสแย่งชิงบัลลังก์

ทว่า อัครา มิมีเพียงทัช มาฮาล กับป้อมแดง หากยังมีอีกวังหนึ่งของอักบาร์มหาราช ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา และทรงเคยประทับอยู่ที่นี่นานถึง 13 ปี นามว่า “ฟาห์เตปูร์ ศิขรี” อยู่ห่างจากทัช มาฮาล ไปทางใต้ราว 38 กิโลเมตร แม้เป็นเวลาเนิ่นนาน ที่ถูกรัศมีแห่งทัช มาฮาล ในฐานะ ”1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก” บดบัง แต่พลันเมื่อ “ฟาห์เตปูร์ ศิขรี” เปิดสู่สายตาชาวโลก ก็เผยความงามของปราสาทหินทรายแดงอันอลังการให้เป็นที่ประจักษ์ ที่น่าสนใจคือนครวัด รวมทั้งปราสาทหินทุกแห่งในกัมพูชาและไทย แม้จะสร้างด้วยหินทราย แต่ก็เป็นเพียง “เทวาลัย” หรือที่ประทับของเทพเจ้า มิใช่พระราชวังที่กษัตริย์ประทับบรรทมจริง ดังนั้น หากมีการจำแนกแยกแยะทางโบราณคดีแล้ว “ฟาห์เตปูร์ ศิขรี” อาจเป็นปราสาทหินทรายอันเป็นที่ประทับจริง ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้

ในขณะที่ทัช มาฮาล มีสถานะเป็นพระราชสุสานที่สร้างด้วยศรัทธาในรักแท้ ระหว่างชาห์ ญะฮาน กับมุมตัส มาฮาล ไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า “ฟาห์เตปูร์ ศิขรี” คือพระราชวังแห่งรักและหวังของอักบาร์มหาราชเช่นกัน แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า “โมกุล” เป็นราชวงศ์มุสลิมที่เข้ามาปกครองดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นฮินดู ในระยะแรกจึงมีการกดขี่ กีดกัน จำกัด ไม่ให้ชาวฮินดูมีบทบาททั้งทางศาสนา สังคม การปกครอง จนถึงรัชสมัยอักบาร์มหาราช ทรงเปิดรับวิทยาการจากทุกศาสนา ทรงมีที่ปรึกษาเป็นนักปราชญ์ชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู เชน ทรงแต่งตั้งมหาราชาชาวฮินดูเป็นขุนนางที่มีบทบาทในราชสำนัก และแน่นอนว่าภายใต้นโยบายสมานฉันท์ ทรงมีมเหสีจากหลายศาสนา โดยทรงเปิดกว้างให้ทุกมเหสีประกอบพิธีทางศาสนาได้เสรีตามแต่ศรัทธา จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ 49 ปีในรัชสมัยของพระองค์ เป็นห้วงยามที่ราชวงศ์โมกุลแข็งแกร่งสุด ราชอาณาเขตกว้างไกลสุด จนทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ที่สุด” แห่งจักรพรรดิโมกุลทั้งปวง

“ฟาห์เตปูร์ ศิขรี” นามนี้เป็นคำผสมระหว่างภาษาเปอร์เซีย คือ “ฟาห์เต” แปลว่าชัยชนะ กับภาษาสันสกฤต คือ “ปูร์” หรือ “ปุระ” ที่แปลว่าเมือง กับ “ศิขรี” แปลว่าภูเขา รวมความว่า “เมืองแห่งชัยชนะที่ตั้งบนภูเขา” ที่มาแห่งนามนี้คือชัยชนะในการรบที่อักบาร์มหาราชมีต่อมหาราชาแห่งแคว้นคุ ชราต จึงทรงสร้างประตูทางเข้าดุจดังประตูชัยอย่างใหญ่โตมโหระทึก แต่ชัยชนะที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือการที่ทรงประสบความสำเร็จในการมีรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ เพราะเมื่ออักบาร์ 27 ชันษาแล้วยังไม่มีพระโอรส-ธิดา จึงมีคนแนะนำว่าที่ตำบลเล็กๆ ใกล้เนินเขาแห่งหนึ่ง มีนักบวชเปอร์เชียนาม “ชีค ซาลิม ซิสตี” มีชื่อเสียงในทางช่วยให้คนมีลูกยากได้สมปรารถนา อักบาร์จึงดั้นด้นไปหา ท่านชีคแนะนำให้ส่งพระมเหสี เจาะจงว่าต้องเป็นมเหสีชาวฮินดูเท่านั้น มาถือศีลอยู่กับท่านที่วัด (บางตำราว่าอักบาร์ส่งมเหสีฮินดู ด้วยเป็นมเหสีที่โปรดสุด) จนเวลาผ่านไป 1 เดือน มเหสีก็ทรงพระครรภ์ แล้วต่อมามีประสูติกาลเป็นโอรสน้อย เฉลิมนามตามชื่อนักบวชว่า “เจ้าชายซาลิม” ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ “ยะฮาน กีร์” (หรือ ชาหังคีร์ แปลว่าผู้ยึดครองโลก) และเป็นพระราชบิดาของ “ชาห์ ญะฮาน” ผู้สร้างทัช มาฮาล

ชัยชนะเหนือแคว้นคุชราต และการได้องค์รัชทายาท ทำให้อักบาร์มหาราชจัดสินใจสร้าง “ฟาห์เตปูร์ ศิขรี” แล้วย้ายราชธานีจากอัครามาอยู่ที่นี่ ซึ่งมีสถานะเปรียบดั่งศูนย์กลางโลกและจักรวาลแห่งใหม่ของพระองค์ แต่เป็นระยะเวลาเพียง 13 ปี ก็ต้องทิ้งเมืองนี้อันเนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำ แล้วไปสร้างราชธานีใหม่ที่ละฮอร์ เนิ่นนานเกือบกึ่งสหัสวรรษ ที่ “ฟาห์เตปูร์ ศิขรี” ถูกทิ้งร้าง ทว่ายังคงความเป็นปราสาทหินทรายแดงอันงามสง่า ด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานศิลปะฮินดูกับมุสลิมเปอร์เชียอย่างเนียนสนิท ร่องรอยจำหลักหินแบบนูนต่ำเป็นลวดลายพรรณพฤกษาและเรขาคณิต ยังโดดเด่นท้าทายไรแดดยามบ่ายที่ทอดทาบอยู่วันแล้ววันเล่า

พระตำหนักของมเหสีชาวคริสต์ ยังตระหง่านอยู่ไม่ไกลจากตำหนักมเหสีมุสลิม แต่ถึงอย่างไรก็ไม่โอ่อ่าอลังการเท่าพระตำหนักมเหสีฮินดูสุดโปรด นั่น พลับพลาที่ประทับริมสระน้ำ ที่เคยมีเหล่าสาวสวรรค์กำนัลในรำร่ายให้ทรงพระเกษมสำราญ แต่ที่ยกให้เป็นที่สุดของการออกแบบสถาปัตยกรรมมารับใช้พระราชอำนาจอย่างแยบ ยล ไม่มีที่ไหนเกินพระตำหนักทรงงาน อันเป็นที่ประชุมร่วมกับเหล่ามุขมนตรี โดยสร้างเป็นบัลลังก์ทรงกลมยกสูงไว้ตรงกลาง แล้วทำทางเชื่อมกับที่นั่งมุขมนตรีทั้งสี่ทิศ ดุจอักบาร์มหาราชทรงเป็นศูนย์กลางแห่งสุริยจักรวาล ที่สำคัญคือ มิใช่ไม้ มิใช่ปูน แต่เป็นหินทรายแดงล้วนๆ ได้เห็นแล้วชวนให้ใหลหลงจนแทบลืมเลือน “ทัช มาฮาล” ไปเลย

ลวดลายประดับเสางามตาใน “ฟาห์เตปูร์ ศิขรี”

ท้องพระโรงใหญ่ภายใน “ฟาห์เตปูร์ ศิขรี” อีกราชธานีหนึ่งของอักบาร์มหาราช

“ฟาห์เตปูร์ ศิขรี” งามสง่าด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานศิลปะฮินดูกับมุสลิมเปอร์เชีย

ภาพแกะสลักนูนต่ำลายพรรณพฤกษาและเรขาคณิต

บรรลังก์จตุรทิศที่ไม่เหมือนใคร ภายในพระตำหนักทรงงาน


โดย : ธีรภาพ โลหิตกุล
ท่องไปกับใจตน @คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: