สำรวจ "เรยา วงศ์เศวต" ในทัศนะของถ่ายเถา สุจริตกุล ว่าเราๆ ท่านๆ รู้จักหรือเข้าใจกันเพียงพอหรือไม่ และแท้จริงแล้วดอกส้มสีทองแปลว่าอะไร
ความร้อนแรงของวิวาทะที่ “เห็นต่าง” ต่อละครโทรทัศน์ “ดอกส้มสีทอง” โดยเฉพาะพฤติกรรมก้าวร้าวต่อบุพการี และการมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายมากหน้าของตัวละคร “เรยา วงศ์เสวต” ในท้องเรื่อง ได้กลายมาเป็นประเด็นที่พูดคุยกันอย่างไม่สิ้นสุดในสังคมไทยวันนี้
จนเกิดกระแสใครๆ ก็อยากเป็นเรยา หรือไม่เรยาก็กลายเป็นคำคุณศัพท์หรือกิริยาเฉพาะ แม้กระทั่ง ไก่อู - พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ยังออกมาแขวะโฆษกกัมพูชาว่าอย่ามาทำตัวเป็นเรยาเมื่อหลายวันก่อน
เรยาในเรื่อง |
“ดอกส้มสีทอง” ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องร่อนตะแกรงหาประเด็นสำคัญ มากกว่าแค่เพียงตัดสินจากเปลือกนอก เช่น เราจะข้ามผ่านสังคมปากว่าตาขยิบไปได้อย่างไร , เส้นแบ่งระหว่างศีลธรรมในอุดมคติกับความเป็นจริง , การกำหนดเรตติ้งในรายการทีวีได้ผลจริงหรือ หากไม่กำหนดช่วงเวลาออกอากาศ , เสรีภาพและความรับผิดชอบของผู้จัดละคร , บทบาทกำกับดูแลของภาครัฐ ฯลฯ
นอกเหนือจากประเด็นหลักข้างต้น “จุดประกาย” ถือโอกาสจับเข่าพูดคุยกับ ถ่ายเถา สุจริตกุล เจ้าของบทประพันธ์นวนิยาย “ดอกส้มสีทอง” เพื่อย้อนมองกลับมาถึงจุดเริ่มต้นของนวนิยายเรื่องนี้ ณ บ้านพักย่านถนนศรีนครินทร์
เจ้าของงานเขียนเริ่มต้นการสนทนาโดยออกตัวว่า ตนเองไม่ใช่นักเขียนอาชีพ แต่มูลเหตุที่ได้มาทำงานแปลและงานเขียน สืบเนื่องมาจากผลงานนวนิยายของลูกชาย สมเถา สุจริตกุล ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนวนิยาย 50 เรื่องและเรื่องสั้นกว่า 200 เรื่อง
“นอกจากดนตรีแล้ว เขายังเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นขายฝรั่ง ซึ่งดิฉันถือว่าเป็นงานที่คนไทยยังไม่เคยทำ เลยคิดว่าคนไทยน่าจะรู้นะว่ามีคนไทยแต่งเรื่องขายฝรั่ง และเนื่องจากดิฉันชอบอ่าน รู้ว่ารสนิยมคนไทยเป็นอย่างไร จึงเลือกเฉพาะเรื่องที่คนไทยสนใจมาแปล ”
หลังจากทำงานแปลนวนิยายของลูกชายได้สักพัก ถ่ายเถา ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้อ่าน Raise the Red Lantern ของ ซูถง (Su Tong) โดยบังเอิญ และคิดได้ว่าในเมืองไทยเอง ก็มีครอบครัวเก่าๆ ของเจ้าสัวหรือผู้ที่มีฐานะมั่งคั่ง ที่มีภรรยาหลายคนเช่นกัน เธอจึงเริ่มต้นเขียนจากเค้าโครงเรื่องจีน แต่ปรับให้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองไทย
“ดิฉันเขียนคำนำไว้ในหนังสือชัดเจนว่า ความเป็นมาของเรื่องนี้มาจากไหน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดี เพราะมีคนติดต่อขอทำละครทันที ในหนังสือ ไม่มีนะคะ-โคมแดง แต่พอมาทำละคร เขามีโคมแดงไปแขวน ก็เลยกลายเป็นเรื่องวุ่นวายใหญ่โต แต่ดิฉันไม่เดือดร้อน เพราะได้บอกไว้แล้วว่าเค้าโครงเรื่องมาจากไหน”
ถ่ายเถาเล่าว่า แรงบันดาลใจในการทำให้เธอลุกขึ้นมาเขียน “ดอกส้มสีทอง” หรือที่รู้จักกันในฐานะภาค 2 ของ “มงกุฎดอกส้ม” มาจากความต้องการทดสอบฝีมือของเธอเอง โดยสร้างตัวละครที่มาจากบ้านเจ้าสัวให้กลายมาเป็นเรื่องนี้
หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า ชื่อ “ดอกส้มสีทอง” ตั้งใจแฝงนัยความหมายใดหรือไม่
“ดิฉันเป็นคนชอบทำอะไรที่ฉิวเฉียดกับเส้นตาย เป็นคนค่อนข้างจะแก่น (หัวเราะ) คือในเรื่องแรก ดอกส้ม นางเอกสาวใสอายุ 14 มีความมุ่งหมายในชีวิตว่าวันหนึ่งคงจะได้แต่งงาน แล้วสัญลักษณ์หนึ่งในพิธีแต่งงานฝรั่งคือ ดอกส้ม ดอกส้มนี่ขาวบริสุทธิ์ในตอนเช้า ”
“คราวนี้เมื่อมาเขียนเรื่องที่ 2 เวลาล่วงเลยไปนานมาก นางเอกก็มีอันเป็นไปอย่างในหนังสือ มันก็ถึงเวลาบ่ายเย็น ดอกส้มก็คงสีขาวไม่ได้ทั้งวัน คงจะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง และเมื่อโดดแดดตอนเย็น ตอนค่ำก็คงเป็นสีทอง นี่คือความเป็นมาของชื่อเรื่อง ส่วนบางคนจะไปคิดมาก ก็ไม่เป็นไร ตัวละครในเรื่องก็เป็นแบบนั้นนิดๆ“ เจ้าตัวปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ
แม้จะชื่นชอบความฉิวเฉียดเป็นทุนเดิม แต่ภริยานักการทูตที่ก้าวมาเป็นนักเขียนก็ยืนยันว่า ต้องพิจารณาองค์ประกอบทุกแง่มุม เธอเขียนหนังสือเพราะอยากเขียน เขียนโดยที่มีชื่อ นามสกุลจริงปรากฏ ไม่ต้องแสวงหานามปากกาให้วุ่นวาย
“การใช้ชื่อจริงเป็นการเสี่ยง เพราะดิฉันก็เป็นที่รู้จักของบุคคลกลุ่มหนึ่ง มีเพื่อนมีฝูง เมื่อใช้ชื่อ นามสกุล จริง ดิฉันยิ่งต้องประณีตเป็นพิเศษ ในการไม่หยิบยื่นยาพิษ หรือของเสียๆ ลงไปในหนังสือ เพราะมันจะย้อนกลับมาเป็นอาวุธฆ่าดิฉันเอง เรื่องอะไร ดิฉันไม่ฆ่าตัวตายหรอก “
ทว่า กระแสสังคมในเวลานี้ ที่มีทั้งคนชื่นชอบและคนรังเกียจตัวละคนอย่าง “เรยา” กลายเป็นชนวนวิวาทะร้อนแรงกลับไม่ทำให้เธอลำบากใจแต่อย่างใด
“ดิฉันเฉยๆ นะ ดิฉันคิดและพูดเสมอว่า มันแค่จินตนาการ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า fiction จะไปเอาจริงเอาจังอะไรนักหนา อีกประการหนึ่ง มีคนถามว่าเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงมั้ย แล้วมีเรื่องอะไรบ้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของมนุษย์เข้าไปสอดแทรกอยู่ด้วย มันไม่มีหรอก ”
“โดยเฉพาะหนังสือของดิฉัน ดิฉันจะเน้นหนัก อย่าเรียกว่าปรัชญาชีวิตเลย มันจะดูสูงส่งเกินไป คือความเป็นมนุษย์ดีกว่า ก็ต้องมีดี-มีเลว คนเลวของดิฉัน ถึงจะเลวสุดอย่างไร มันก็มีส่วนดี หรือเขาก็ต้องมีเหตุผลของเขาที่จะทำความไม่ดี หรือคนดี ดีวิเศษอย่างไร ก็ต้องมีจุดเสีย มีใครบ้าง perfect...น้อยมาก “
นอกจากมองการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่มีดีและเลวคละเคล้าปะปนกันไป ถ่ายเถายังยอมรับอย่างเปิดกว้างว่า การนำบทประพันธ์ของเธอไปถ่ายทอดในรูปแบบอื่น เช่น ละครทีวี ก็ย่อมมีการให้น้ำหนักที่แตกต่างออกไป เรื่องนี้เธอเห็นว่าเป็นปกติ
“คนแต่งคือตัวดิฉัน กับคนเขียนบท(ละคร) คนเอาไปทำละคร เป็นคนละคน ต่างจิตต่างใจ ต่างมุมมอง บางมุมที่ดิฉันให้ความสำคัญเหลือเกิน เขาอาจจะมองข้ามไป แต่เขาอาจจะมองเห็นสิ่งดีๆ ที่ดิฉันนึกไม่ถึง “
“อีกอย่างการไปทำละคร เขาต้องคำนึงว่าตลาดต้องการอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันไม่มีความรู้เลย เรื่องการเขียนหนังสือดิฉันก็ไม่รู้ว่า ตลาดจะชอบ - ไม่ชอบ ดิฉันก็เขียนไป“
ถึงกระนั้น ด้วยการสะท้อนภาพความเป็นไปของสังคมร่วมสมัยได้ชัดเจน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ่ายเถา มีวิธีการเขียน จินตนาการ รับรู้ หรือหยิบแง่มุมของข้อมูล สังคม ผู้คน นิสัย และบุคลิกภาพต่างๆ มารวมกันอย่างมีชีวิตได้อย่างไร
“ต้องมีบ้าง หากเราจะแต่งเรื่องหวือหวาลอยมาจากฟ้า ก็คงไม่มีใครอ่าน เพราะมันไกลจากความเป็นจริง เราต้องอยู่ใกล้ความเป็นจริงให้มากที่สุด สังคมไทยเวลานี้ กับตอนนั้น (เมื่อเขียนนวนิยายเรื่องนี้) อาจจะแตกต่างกัน แต่เราต้องเดินมาในลักษณะเดียวกัน ส่วนจะหนักหนาสาหัสหรือเบาบางลงก็แล้วแต่กรณี “
อย่างน้อยๆ เธอเป็นคนที่ประกาศว่า บ้านไหนมีภรรยาน้อย บ้านนั้นจะไม่มีความสุข ซึ่งยังเป็นจุดยืนเดิมที่ไม่แปรเปลี่ยน
“ คุณว่ามีเหรอ ? “ เธอย้อนถาม “คำแก้วในเรื่องสับสนความสุขกับความสบาย พอไปหาความสบาย เพื่อจะมีความสุข มันก็ไม่สุข ส่วนเจ้าสัวคิดว่าการมีภรรยาเยอะๆ คือสุดยอดปรารถนาของผู้ชาย และดิฉันก็โยงไปถึงผู้หญิงอัปปัญญา ที่คิดว่าน้ำใต้ศอกคือน้ำเพชร เพราะมันไม่ใช่ และมันเป็นไปไม่ได้ที่จะใช่ กรณีแบบนี้ เกิดขึ้นที่ไหน คุณคิดหรือจะมีความสุข “
“คุณนึกหรือว่าคนที่แย่งชิงคนอื่นเขามา จะมีความสุข เวลาที่เขาอยู่ในแวดวงสังคมหรือกลับไปบ้าน ไม่ร้อนเหรอ ไฟไหม้อก ดิ้นพราดๆ มันสุขตรงไหน แล้วผู้ชายก็เหมือนกัน เวลาเขาไปอยู่บ้านโน้นบ้านนี้ ไม่นึกเหรอว่า เขาจะนึกถึงอีกบ้านหนึ่ง นี่เขาเรียกว่าหาทุกข์ใส่ตัว“
ถ้าถ่ายเถาเป็นเรยา
ในอีกด้านหนึ่ง แม้ตัวละคร “หญิงอัปปัญญา” จะเป็นเรื่องมีเหตุผลอธิบายได้ แต่ในชีวิตจริง หากถ่ายเถาได้เจอกับตัวละครแบบนี้บ้าง เธอจะทำอย่างไร ?
“คุณอยากให้ดิฉันเป็นละครตัวไหนล่ะ มันสนุกทุกตัวนะ ถ้าเป็นคุณนายที่ 1 ของดิฉันเขาดีมากนะ เขาเป็นภรรยาหลวง ยอมรับสภาพ เขาไม่ได้ลุกขึ้นมาเอะอะโวยวาย เขามีความสุขกับการได้เป็นใหญ่ในบ้าน มีสิ่งทดแทน ไม่ดิ้นรน แก่แล้ว แต่อาจจะมีความเหงา “
“ภรรยาที่ 2 เหมือนผู้หญิงที่เจ้าเล่ห์เพทุบาย ฉลาดแกมโกง ส่วนคนที่ 3 อยู่ในโลกแห่งความเพ้อฝันไปตามเรื่อง ส่วนคนที่ 4 สำคัญผิด เอาความสุขกับความสบายไปปนกัน “
ถ่ายเถา อธิบายว่าตัวละครทุกตัวของเธอสร้างขึ้นอย่างมีเหตุผล เช่นเดียวกันกับ “เรยา”
“อย่างเรยา ดิฉันสร้างมาว่า เป็นเด็กที่เกิดในบ้าน เป็นลูกของแม่ครัว ที่ได้กับแขกยามบ้านฝรั่ง เลยเกิดเรยาขึ้นมา เรยาเป็นเด็กที่เกิดมาอย่างค่อนข้างยากไร้ อยู่ในบ้านเศรษฐี เขาจะsuffer ขนาดไหน ทุกอย่างเริ่ด แต่เขาไม่มี “
“ดิฉันเห็นนะคะว่า พวกแม่ครัวคนรับใช้ในบ้าน เวลาเขามีลูก เขาจะต้องประคับประคอง ส่งเสริมให้ลูกเป็นคุณหนู เพราะความรักลูก คือมีน้อยรายที่จะสอนให้รู้จักสงบเสงี่ยมเจียมตัว ทำดี ดิฉันเห็นมาเยอะ มีน้อยมากในชั่วชีวิตนี้ ก็เห็นสร้างเป็นคุณหนูกันทุกคน “
“เรยามีข้อเสีย คือนอกจากถูกตามใจโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ความทะเยอะยานของคนที่เกิดมาครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้มักจะแรงกล้า เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ เพราะเขาอยากจะก้าวหน้า ให้เกินหน้าคนรอบตัว แต่เรยา ขี้เกียจหนังสือ เกเรียน อันนี้เป็นธรรมดา เด็กรักเรียนมีกี่เปอร์เซนต์ในโลก ไม่มีการอบรม ไม่มีการปลูกฝังใดๆ ทั้งสิ้น เขาก็คิดเองว่าจะก้าวไปในจุดที่ต้องการให้ได้เร็วที่สุด เขาทำอย่างที่เขาทำ แล้วบางคนสำคัญผิด คิดว่าแย่งชิงผู้ชายมาได้คือชัยชนะ หลายคนคิดแบบนั้น แต่จริงๆ ไม่มีใครชนะ แพ้หมด คนที่ก้าวไปในชีวิตแบบนั้น แพ้ทุกคน ไม่มีใครมีความสุข ทำไมไม่มองจุดนี้ แล้วเอาไปสอนใจตัวเอง “
ในการเขียนหนังสือ ถ่ายเถาใช้วิธีการสมมติตัวเองเข้าไปเป็นตัวละครตัวนั้น ซึ่งเป็นหลักการด้านการแสดงที่เธอเรียนรู้มาสมัยเยาว์วัย อย่าง ตัวละครเรยา เธอเองก็ใช้วิธีการสังเกตจากผู้คนในสังคม
“ดิฉันมักจะสมมติตัวเองอยู่ในตัวคนๆ นั้น สมมติดิฉันเป็นเรยา ดิฉันจะทำอย่างไร ดิฉันทำแบบนั้น ความกระจ่างของตัวละคร มาจากการที่ดิฉันชอบสมมติตัวเองเป็นแบบนั้น ดิฉันเป็นเรยา ก็จะทำอย่างนั้น ขี้เกียจเรียน จะไปควักคุณใหญ่อย่างนี้ ไปอาละวาดแบบนั้น เอาต้องเอาให้ได้ ในเมื่อเราอยากได้ เพราะเราคิดว่าเรารักเขา รักหรือรักไม่รู้ แต่ต้องเอาให้ได้ เป็นความรุนแรงของอารมณ์ “
แล้วตัวตนของถ่ายเถาจะมีบางส่วนคล้ายๆ เรยา หรือไม่ ?
“ก็อาจจะมีนะ ลึกๆ (หัวเราะ) แต่ที่ไม่ทำ คือดิฉันไม่ทำบาปแบบนั้นแน่“
จากละครโทรทัศน์ ดอกส้มสีทอง จะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโอเปร่าภายใต้ไม้บาตองของ สมเถา ลูกชายหรือไม่ เจ้าของเรื่องฟังแล้ว อดหัวเราะไม่ได้
“(หัวเราะ) สมเถา เขาคงไม่แต่ง (เพลง) มั้ง เขาหัวเราะนำ เขาขำมากเหลือเกินที่เรื่องของแม่ดัง หลายคนเขียนอีเมลไปหาเขาว่า ทำไมเรื่องที่ 2 ของแม่ยู สนุกมาก หนากว่าเล่มหนึ่งตั้งสามเท่า “
ภายใต้ความสนุกที่ผู้คนติดกันงอมแงม แบบ “น้ำเน่า” ที่เจ้าตัวก็ยอมรับ แต่ถ่ายเถาประกาศจุดยืนในการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่ายังมีน้ำดีซ่อนอยู่
“ดิฉันอยากจะชี้เน้นว่า ปัญหาต่างๆ ที่สร้างปมแบบผิดๆ มันไม่เกิดประโยชน์แก่ใครเลย แต่มนุษย์ก็ยังทำ จะทำอย่างไรได้ นี่คือชีวิต ดิฉันไม่เชื่อว่า ใครดีแล้วดีสุดขีด อย่างคุณดี๋ นี่รู้สึกดีเกินไปแล้ว แล้วคุณไม่รู้เหรอว่าคุณดี๋ดีแค่ไหน เขาก็ช้ำนะ แต่เขามีพ่อแม่ที่รักเค้า มีครอบครัวที่อบอุ่น มีคุณแม่สามีซึ่งเข้าใจ แม้เขาจะเป็นเพียงเมียคนจีนคนหนึ่งของเจ้าสัว แต่เขามีคุณธรรม แล้วเขาไม่ส่งเสริมให้ลูกชายมีเมียน้อย “
ถ่ายเถา สุจริตกุล ยอมรับว่า กระแสความสนใจทั้งบวกและลบที่มาแรงในเวลานี้ ถือเป็นความสำเร็จ เธอรู้สึกปลาบปลื้มและดีใจ พร้อมแนะนำให้ทุกคนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ เพราะจะมีความใกล้เคียงกับชีวิตของหลายส่วนหลายรูปแบบมากกกว่าในละคร
“ดิฉันทำงานด้วยความประณีต ไม่ยอมปล่อยให้หลุดแม้แต่คำเดียว แต่ละบทที่เขียนส่ง ดิฉันอ่านไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ไม่ใช่สักแต่ว่าเขียนแล้วส่ง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความไม่เป็นมือโปร ทำให้ดิฉันระวังมาก หนังสือที่ดิฉันเขียนมา 10 กว่าปี ดิฉันถามตัวเองว่าจะบรับปรุงได้ตรงไหน ดิฉันตอบว่าไม่ได้ นี่คือสุดฝีมือของดิฉันแล้ว ไม่ได้เก่งกว่านี้แล้ว อันนี้เก่งสุดแล้ว “
เมื่อถามถึงหนังสือเล่มต่อไป เจ้าตัวตอบสั้นๆ แต่คมคายว่า
“ดิฉันไม่ใช่นักฉวยโอกาส เพราะหลายคนบอกรีบเลย กระแสกำลังแรง ใครๆ ก็อยากได้ อยากจะรีบ แต่มันทำไม่ไหวจริงๆ"
ที่มา : ทีมงานจุดประกาย
LifeStyle @กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น