หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อมรรัตนโกสินทร์ (15)

เล่าเรื่องอมรรัตนโกสินทร์มาได้ 14 ตอนแล้ว ขอเว้นวรรคสักวันเพื่อขอบพระทัยและขอบคุณท่านผู้อ่านที่มีจดหมายมาให้กำลังใจบ้าง สอบถามบางเรื่องเพิ่มเติมบ้าง ติชมบ้าง ที่ทักท้วงว่าไม่ยักเหมือนเรื่องที่เคยรู้ก็มี

แต่ส่วนใหญ่จะบ่นมาว่าเพิ่งอ่านเอาตอนหลัง ๆ เดลินิวส์เล่มก่อนหน้านี้ก็ชั่งกิโลขายไปแล้ว บางท่านบอกว่าตัดเก็บไว้แต่ก็ไม่ครบทุกตอน อย่างท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ บ่นว่าเมื่อก่อนเห็นลงพิมพ์ฉบับวันจันทร์ พอย้ายไปลงฉบับวันอังคารก็นึกว่าจบแล้วมั้งเลยไม่ได้ติดตาม กว่าจะรู้ก็ไปถึงไหน ๆ แล้ว

รวมความคือมีเสียงสอบถามมามากว่าจบแล้วจะรวมพิมพ์เป็นเล่มไหม ผมขอโบ้ยต่อไปทางเดลินิวส์ก็แล้วกันว่าถ้าจบแล้วจะรวมพิมพ์แจกฟรีหรือขายผมก็ไม่ขัดข้อง ถ้ามีรายได้อย่างไรขอยกให้มูลนิธิของเดลินิวส์ไปทำสาธารณประโยชน์ต่อทั้งหมดก็แล้วกันครับ


ท่านหญิงนังหรือ ม.จ.วุฒิเฉลิม วุฒิไชย ทรงพระกรุณาส่งอีเมลจากเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกามาประทานกำลังใจ และขอให้รวมพิมพ์เป็นเล่ม ท่านหญิงองค์นี้เป็นพระธิดากรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร จึงเป็นพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 5 อีกท่านคือ ดร.วิญญู วิจิตรวาทการ บุตรชายคุณหลวงวิจิตรวาทการก็กรุณามีจดหมายมาให้กำลังใจเช่นกัน

คุณถนอม มีเมศกุล เขียนชี้แจงมาว่าแม้รัชกาลที่ 3 โปรดให้ปลูกอ้อยและเริ่มตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายส่งขายเมืองนอก แต่เข้าใจว่าอุตสาหกรรมฟอกน้ำตาลทรายขาวเพิ่งมามีในไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช่แล้วครับ! แต่น้ำตาลทรายสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นน้ำตาลทรายแดงจากน้ำอ้อย ตอนนั้นจีนนำเทคนิคการฟอกสีโดยใช้ปูนขาวและกำมะถันเข้ามาในไทยแล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นที่นิยมเพราะเห็นเป็นของ “เคมี” ก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 เราใช้น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าวเป็นพื้น น้ำตาลทรายขาวมีบ้างแต่เป็นของแพงเพราะสั่งจากนอกเข้ามาทำขนมตระกูลทองจากโปรตุเกส เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง แต่ถ้าผสมยาจะใช้น้ำผึ้งเท่านั้น

คุณชยาทิต วรุณธัญญะ ช่างสงสัยดีแท้ว่าที่เชิญพระศพพระองค์เจ้าหญิงศรีวิลัยลักษณ์ขึ้นไปบางปะอิน แต่แล้วสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทราสรัทวารก็สิ้นพระชนม์ลงอีกพระองค์ที่บางปะอิน ต้องเชิญพระศพกลับลงมากรุงเทพฯ นั้น เสด็จพระองค์หญิงศรีวิลัยลักษณ์สิ้นพระชนม์วันที่ 26 ตุลาคม 2447 แต่สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราฯ สิ้นพระชนม์วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2447 มิใช่หรือ สมเด็จหญิงใหญ่เจ้าฟ้าจันทราสรัทวารจึงน่าจะสิ้นพระชนม์ก่อน สมัยนั้นเปลี่ยน พ.ศ. ในเดือนเมษายนครับ ปี 2447 จึงยาวจากเมษายนเลยธันวาคมข้ามไปจนถึงเดือนเมษาหน้า ถ้านับแบบปัจจุบันเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 จะเป็น พ.ศ. 2448 ครับ เจ้าฟ้าจันทราฯ จึงสิ้นพระชนม์หลังเสด็จพระองค์หญิงใหญ่ 4 เดือน

ถ้าเล่าให้ยาวก็คือเมื่อเชิญพระศพเสด็จพระองค์หญิงใหญ่ขึ้นไปถึงบางปะอิน โปรดให้ตั้งพระโกศที่พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์กลางน้ำ เมื่อเสด็จไปทรงรับพระศพ ทอดพระเนตรแล้วทรงสวมกอดพระราชธิดาอีกพระองค์ทรงกันแสงด้วยกัน ต่อมาจึงเชิญพระศพไปพระราชทานเพลิงที่วัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน อีก 3 เดือนเศษหลังจากนั้นสมเด็จหญิงใหญ่จึงสิ้นพระชนม์ต้องเชิญพระศพกลับลงมากรุงเทพฯ ประดิษฐานพระโกศตามธรรมเนียมงานพระศพชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า

เสนาธิการทหารบก พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ถามว่าวัดหงส์รัตนาราม ธนบุรี มีความสำคัญอย่างไร มีคนมาขอให้ท่านช่วยบูรณะ วัดนี้อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ไม่ไกลจากวัดโมลีโลกยารามและวัดอรุณฯ เท่าไรนัก สร้างสมัยอยุธยา เข้าใจว่าเศรษฐีจีนชื่อ “หง” เป็นคนสร้าง ชาวบ้านจึงเรียกวัดเจ้าสัวหง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างพระราชวังที่ธนบุรี (บัดนี้คือกองทัพเรือ) ทรงผนวกเอาวัดอรุณฯ (วัดแจ้ง) และวัดโมลีฯ (วัดท้ายตลาด) เข้ามาอยู่ในเขตพระราชวังด้วย สองวัดนี้จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่คล้าย ๆ วัดพระแก้วในเวลานี้ วัดอรุณฯ นั้นเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตเมื่อแรกเชิญมาจากเวียงจันทน์ ส่วนวัดโมลีฯ เป็นที่เก็บเสบียงหลวง

วัดใหญ่ที่ใกล้วังที่สุดและอนุญาตให้พระสงฆ์อยู่ได้จึงมีแต่วัดเจ้าสัวหง พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดนี้เป็นประจำ พระราชโอรสก็ให้ผนวชและประทับที่วัดนี้ทุกพระองค์ ถึงสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าฉิม (ต่อไปเป็นรัชกาลที่ 2) ไปประทับที่พระราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยังทรงรับอุปถัมภ์วัดเจ้าสัวหง พระราชทานนามว่าวัดหงส์อาวาสวิหาร ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดหงส์รัตนาราม เจ้าฟ้าบุญรอดพระมเหสีของท่านก็เคยปลูกแพขายกับข้าวอยู่ละแวกนี้ ในช่วงธนบุรีและต้นกรุงเทพฯ วัดนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชอยู่ระยะหนึ่ง ภายหลังจึงเปลี่ยนไปใช้วัดมหาธาตุ ในพระอุโบสถวัดหงส์มีภาพวาดตำนานพระแก้วมรกตสวยงามมาก

พระเดชพระคุณรูปหนึ่งมีลิขิตถามว่า ที่ว่ารัชกาลที่ 3 ทรงอุปถัมภ์พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ เหตุใดจึงไม่ทรงตั้งเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นสมเด็จพระสังฆราชเสียเลย ถ้าทำอย่างนั้นบางทีอาจไม่ต้องทรงลาผนวชมาครองราชย์ และถ้าทรงอุปถัมภ์จริง เหตุใดเจ้าฟ้ามงกุฎจึงเกรงราชภัยจนต้องไปสร้างวัดไว้นอกกรุงเตรียมย้ายหนีไปอยู่

การจะตั้งพระภิกษุรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะต้องประกอบด้วยพรรษาอาวุโส และการเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ ข้อสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 มีสมเด็จพระสังฆราชและกรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระราชโอรสรัชกาลที่ 1 อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนอยู่แล้ว (ต่อมาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) รัชกาลที่ 3 และ 4 ทรงนับถือมาก ผมเชื่อว่ารัชกาลที่ 3 ไม่ได้มีพระทัยจะกีดกันเจ้าฟ้ามงกุฎในการจะครองราชย์เลย จึงไม่มีเหตุจะเลี่ยงไปสถาปนาให้เป็นใหญ่ในทางคณะสงฆ์จะได้พ้น ๆ ไป

เมื่อวังหน้าสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 3 ทรงตั้งกรมเลื่อนกรมเจ้านายหลายพระองค์ แม้แต่เจ้าฟ้าจุฑามณี (ต่อไปเป็นพระปิ่นเกล้า) น้องเจ้าฟ้ามงกุฎก็ได้เป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระสงฆ์อย่างพระองค์เจ้าวาสุกรีก็ได้เป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส แต่ไม่ทรงตั้งเจ้าฟ้ามงกุฎให้ทรงกรมใด ๆ ประหนึ่งว่าให้รอรับพระราชอิสริยยศยิ่งใหญ่กว่านั้นทีเดียว น้ำพระทัยของรัชกาลที่ 3 จึงประมาทหรือเดาเอาในทางร้ายไม่ได้

ส่วนที่ว่าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสร้างวัดเตรียม “หนี” ไปอยู่นั้นจริงครับ มีคนถวายที่นอกกรุงจึงทรงสร้างวัดไว้กะ “ลี้ภัย” แต่ไม่ใช่หนีราชภัยรัชกาลที่ 3 หากทรงเกรงว่าเมื่อสิ้นรัชกาลถ้าเจ้านายพระองค์อื่นได้ครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 3 คราวนี้แหละอาจมีราชภัยเพราะในหลวงพระองค์ใหม่คงไม่พระทัยกว้างเหมือนรัชกาลที่ 3 วัดใหม่นั้นพระราชทานนามว่า “วัดบรมนิวาส”

ที่จริงอย่าว่าแต่เจ้าฟ้ามงกุฎที่เตรียมลี้ภัยเลย กรมหมื่นนุชิตชิโนรสวัดพระเชตุพนก็ทรงเกรงราชภัย จึงไปทรงสร้างวัดไว้ในสวนฝั่งธนฯ บัดนี้คือวัดชิโนรส

คุณธราธร วงศ์เมฆวิไล ถามมาว่าในวังของไทยมีขันทีหรือไม่มีครับ ในสมัยอยุธยาเรียกคนสองจำพวกคู่กันว่า “นักเทศขันที” นักเทศไม่ใช่พระเทศน์แต่เป็นยูนุคคือขันทีจากอาหรับเปอร์เซีย ส่วนขันทีนั้นเป็นแบบจีนแต่ไม่มีอิทธิพลอย่างจีน เป็นพนักงานชายที่ถูกจับตอนแล้ว พวกนี้เข้าออกพระราชฐานชั้นในได้ สมัยสมเด็จพระนารายณ์เวลาเข้าเฝ้าฯ นักเทศขันทีจะได้อยู่ปนกับกลุ่มสตรีนางใน เวลาเสด็จพระราชดำเนินจะอยู่ใกล้ขบวนพระเหสีและพระสนม มาปลายอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ความที่มีสงครามบ่อย และพวกผู้หญิงเองก็กล้าหาญปกป้องตนเองได้ แม้แต่เจ้านายท่านก็เป็นนักรบ จะมีกองทัพแต๋ววี้ดว้ายกระตู้วู้อยู่ในขบวนเสด็จคงไม่เหมาะจึงค่อย ๆ เลิกไปในที่สุด

แหม! คุยกับคนคอเดียวกัน สนุกอย่างนี้เองครับ!.

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: