พระภรรยาเจ้าแปลว่าเจ้านายสตรีที่เป็นเมียพระเจ้าแผ่นดิน ใช้เรียกรวม ๆ กันไปไม่ว่าจะเป็นพระอัครมเหสี หรือพระมเหสีชั้นใดก็ตาม
นอกจากพระภรรยาเจ้าสามองค์ซึ่งเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่รุ่นเล็ก) ของรัชกาลที่ 3 คือ หม่อมเจ้าบัว หม่อมเจ้าปิ๋ว และหม่อมเจ้าสายในราชสกุลลดาวัลย์แล้ว รัชกาลที่ 5 ยังทรงรับพระองค์เจ้าหญิงสามพระองค์ซึ่งเป็นพระราชธิดารัชกาลที่ 4 ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเปี่ยมมาเป็นพระภรรยาเจ้าอีกด้วย
และโดยเหตุที่สามพระองค์นี้เป็นพระราชธิดาพระมหากษัตริย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอัครมเหสีหรือพระมเหสีเอกยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระภรรยาเจ้า และเจ้าจอมทั้งปวง ส่วนหม่อมเจ้าหญิงทั้งสามข้างต้นให้เป็นพระมเหสีชั้นพระอัครชายาเธอมีฐานะรองลงมา
ธรรมเนียมไทยสมัยก่อน ผู้ชายมีเมียได้หลายคน แต่จะยกเป็นเมียเอกเมียรองไม่เท่ากัน สำหรับพระมหากษัตริย์ เมียเอกก็ยังอาจแบ่งเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา แต่จะซ้ายหรือขวาก็เอกทั้งนั้น พระองค์เจ้าหญิงสามพระองค์ที่เป็นพระอัครมเหสีคือพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ รัชกาลที่ 5 ตรัสเรียกว่า “แม่ใหญ่” พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ตรัสเรียกว่า “แม่กลาง” และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ตรัสเรียกว่า “แม่เล็ก” ทั้งสามทรงเป็นพี่น้องร่วมพระชนนีกัน
ถ้าว่าโดยลำดับแล้ว พระอัครมเหสีพระองค์ใดประสูติพระราชโอรสก่อน ย่อมเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่และอยู่ในฐานะจะขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลต่อไป
คราวนี้จึงอยู่ที่บุญญาบารมี พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (แม่กลาง) ประสูติพระราชโอรสก่อนคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศหรือทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ เมื่อเจริญพระชันษาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย (พระองค์นี้เป็นพระปิตุลาหรือลุงของรัชกาลที่ 8 และ 9)
ในเวลาใกล้เคียงกัน พระอัครมเหสีพระองค์แรก พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (แม่ใหญ่) ประสูติพระราชธิดา และต่อมายังอยู่ในพระครรภ์อีกพระองค์ แต่ได้เกิดเหตุใหญ่ เรือพระประเทียบล่มขณะขึ้นไปบางปะอิน พระองค์เอง พระราชธิดา และพระราชกุมารในพระครรภ์จมน้ำสิ้นพระชนม์ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าสมเด็จพระนางเรือล่ม
**ชื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเอามาจากสมเด็จพระองค์นี้เอง
คราวนี้ก็เหลือพระอัครมเหสีสำคัญอยู่สองพระองค์ มีพระราชดำริว่าทั้งสองทรงเป็นพี่น้องกัน พระฐานะก็เสมอกัน การเรียงลำดับอาวุโสของพระราชโอรสที่ประสูติจากพระอัครมเหสีทั้งสองจึงไม่ควรเรียงไปตามแต่ละสายหรือแต่ละท้อง แต่ควรนับพระราชโอรสทุกพระองค์ดุจว่าร่วมพระครรภ์กันโดยให้เรียงตามพระชนมายุ
ดังนั้นเมื่อพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (แม่เล็ก) ประสูติพระราชโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระชนมายุถัดไปคือห่างจากสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสองปี ก็นับว่าเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายผู้มีอาวุโสลำดับที่สองในจำนวนเจ้าฟ้าชายทั้งหมดที่มีพระชนมายุต่อมา เมื่อสิ้นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจึงได้เป็นมกุฎราชกุมาร
“แม่กลาง” นั้นภายหลังเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี ต่อมาเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (ป้า) ในสมัยรัชกาลที่ 7 และพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ย่า) ในสมัยรัชกาลที่ 8 และ 9 พระองค์นี้แหละที่ไทยกำลังเสนอพระนามไปยังยูเนสโกให้พิจารณายกย่องเป็นบุคคลสำคัญทางสาธารณสุข
“แม่เล็ก” ต่อมาได้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จต่างประเทศ จึงได้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อลูกของท่านคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธได้เป็นรัชกาลที่ 6 ท่านจึงได้เป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ชาววังเรียกว่าสมเด็จพระพันปี
ความจริงรัชกาลที่ 5 ยังมีพระภรรยาเจ้าอีกพระองค์ ถ้าจะว่าไปแล้วทรงเป็นพระมเหสีก่อนทุกพระองค์ด้วยซ้ำ และน่าจะดำรงพระยศยิ่งใหญ่ เพราะเป็นพระราชธิดารัชกาลที่ 4 เช่นกันคือพระองค์เจ้าทักษิณชา จนมีพระราชโอรสเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชาย ถ้ามีบุญก็จะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเพราะประสูติก่อนเจ้าฟ้าชายทุกพระองค์ แต่บุญวาสนานั้นยากที่ใครจะกำหนดได้ สมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์นี้ประสูติได้ 1 วันก็สิ้นพระชนม์ นับแต่นั้นพระองค์เจ้าทักษิณชาก็ประชวรไม่ได้ทำราชการถวายอีกเลยจนสิ้นพระชนม์ ชื่อท่านก็พลอยหายไปด้วย
รัชกาลที่ 5 ยังทรงรับเอาพระน้องนางซึ่งเป็นพระราชธิดารัชกาลที่ 4 อีกพระองค์มาเป็นพระภรรยาเจ้าคือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ประสูติจากเจ้าจอมมารดาสำลีในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาสำลีเป็นบุตรีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติหรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย จึงอยู่ในสกุลบุนนาค
พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีมีพระราชธิดาพระองค์แรกคือสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ ชาววังเรียกว่าทูลกระหม่อมหญิงใหญ่เพราะเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมหญิงพระองค์แรก ว่ากันว่าทรงพระสิริโฉมที่สุดในบรรดาเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ 5 ถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “งามเหมือนเทวดา”
ส่วนพระราชโอรสของพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีคือสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตร พระองค์เจ้าสุขุมาลฯ นี้ต่อมาได้ทรงเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวี พอถึงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงยกเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
หม่อมเจ้าสาย หม่อมเจ้าองค์เล็กสุดในบรรดาหม่อมเจ้าหญิงราชสกุลลดาวัลย์ที่กล่าวถึงในตอนต้น มีพระราชโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพรฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ต้นราชสกุลยุคล ชาววังเรียกว่าสมเด็จชายเพราะพระชนนีมิได้เป็นพระอัครมเหสี จึงไม่เป็นชั้นทูลกระหม่อม หม่อมเจ้าสายเป็นเจ้านายสตรีที่มีฝีพระหัตถ์ทางการครัวการเรือนมาก ได้เป็นพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ
ต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงตั้งเป็นพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา คำว่า “วิมาดา” แปลว่าแม่เลี้ยง “ปดิวรัดา”
แปลว่าเป็นที่รักของสามี
รัชกาลที่ 5 ยังมีพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมอื่นอีก บ้างก็มีพระราชโอรสธิดา บ้างก็ไม่มี แต่พระราชทานความเป็นธรรมเสมอกันตามฐานะและคุณงามความดี คือ การถวายปรนนิบัติซึ่งรวมไปถึงการดูแลสำรับกับข้าว ดูแลทุกข์สุขของคนในวัง การเย็บถักปักร้อย การร่วมรับแขกบ้านแขกเมืองซึ่งถือเป็นการทำราชการอย่างหนึ่ง
บ่อยครั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้พระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมมารดาบางท่านต้องรับเจ้านายเด็ก ๆ ที่กำพร้าแม่มาอภิบาลเลี้ยงดูแทนอีกด้วย
อ้อ! การรับเอาสตรีใดมาเป็นพระภรรยาเจ้าหรือเจ้าจอมพระสนมอาจเกิดจากปัญหาการเมืองหรือความจำเป็นของชาติบ้านเมืองที่จะต้องใช้สารพัดวิธีเข้าป้องกันแก้ไขก็เป็นได้ ดังจะได้เล่าต่อไป
วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น