หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อมรรัตนโกสินทร์ (17)

เมื่อสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ.2453 ต้องถือว่าสยามมีความเจริญแข็งแกร่งในทุกทางชนิดที่ตะวันตกจะมาดูถูกเหยียดหยามไม่ได้อีก

พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จประพาสเกือบทั่วยุโรปแล้วถึงสองครั้ง ในเอเชียก็อีกหลายครั้ง ได้มีพระราชดำรัสเป็นภาษาอังกฤษ ได้ทรงปฏิสันถารกับเจ้าแผ่นดินและผู้นำรัฐบาลทั่วยุโรปได้ทรงรับปริญญากิตติมศักดิ์จากออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วว่า คิง ออฟ ไซ แอม พระองค์นี้ไม่ธรรมดา

อาคารตึกรามบ้านช่อง ถนน สะพาน ระบบไปรษณีย์ ทางรถไฟเริ่มกระจายไปถึงหัวเมือง การปกครองในหัวเมืองและส่วนกลางเป็นระเบียบดีสยามดำรงความเป็น “รัฐสีมาอาณาจักร” อย่างแท้จริงและเป็นเอกภาพ ข้อสำคัญคือการมีอำนาจรัฐที่สมบูรณ์นี้ทำให้พระเจ้ากรุงสยามเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มั่นคงยิ่งเป็นครั้งแรก


การมีอำนาจรัฐที่สำคัญที่สุดคือการสามารถตั้งรัชทายาทได้ชัดเจนแน่นอน ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์เป็นวังหลวง และผู้เตรียมเป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไปเป็นพระมหาอุปราชวังหน้า โดยมากมักตั้งจากน้องหรือพระญาติผู้ใหญ่ แต่เอาเข้าจริงขุนนางจะเป็นคนตั้งกษัตริย์ทั้งนั้น

สมัยรัชกาลที่ 5 วังหลวง (กษัตริย์) กับวังหน้า (อุปราช) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกันก็มีปัญหาบาดหมางกัน เพราะวังหน้าอายุมากกว่าและมีเจ้านายขุนนางเชียร์อยู่มาก ฝรั่งเองก็ยุให้รำตำให้รั่วหวังให้สยามแตกความสามัคคีกันเองในหมู่เจ้านาย

พอวังหน้าสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ให้ยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชวังหน้า เปลี่ยนมาตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแทน คุณสมบัติคือต้องเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าชายที่ประสูติจากพระอัครมเหสีเท่านั้น

เดิมทรงตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณ หิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่สุดประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา (แม่กลาง) เป็นสมเด็จพระบรมฯ พระองค์แรก แต่เมื่อทิวงคตเสียเมื่อพระชนมายุ 17 พรรษา จึงทรงพิจารณาเรียงตามลำดับพระชนมายุของบรรดาพระราชโอรสทั้งหลายที่ประสูติจากพระอัครมเหสีทุกพระองค์โดยไม่จำเป็นต้องร่วมพระครรภ์เดียวกัน ลำดับจึงมาตกที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (แม่เล็ก)

ก่อนสวรรคตปีเศษ มีพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าที่ลานใหญ่หน้าพระราชวังดุสิต พระบรมรูปนี้ปั้นแบบและหล่อจากฝรั่งเศสตามแบบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงม้าหน้าวังแวร์ซายส์ รัชกาลที่ 5 ทรงทำพิธีเปิดเอง ข้อความที่จารึกที่ฐาน สมเด็จพระบรมฯ หรือรัชกาลที่ 6 ก็ทรงตรวจแก้เอง จึงถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก

วาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของรัชกาลที่ 5 คือ ทรงพระประชวรพระโรคไต พระอาการหนักลงเป็นลำดับมาตลอดเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453 ขณะนั้นประทับอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งสร้างใหม่ในแผ่นดินนี้ ก่อนวันสวรรคตไม่กี่วันยังทรงรถม้าออกตรวจงานได้ กลับมาก็บรรทมนิ่งทรงปรารภใคร่จะเสวยขนมจีนน้ำยาปลาช่อน ฉู่ฉี่ปลาสลิดสด น้ำพริกผักจิ้ม น้ำผลไม้ เสวยไปได้ไม่กี่คำก็ประชวรพระนาภี (ปวดท้อง) ลงพระบังคน (ถ่าย) หลังจากนั้นไม่เสวยอะไรอีกเลย

สองวันต่อมาถึงวันที่ 23 ตุลาคมก็เสด็จสวรรคต ทางการอัญเชิญพระบรมโกศเข้าขบวนผ่านถนนราชดำเนินแห่กลับไปประดิษฐานที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามโบราณราชประเพณี ชาวบ้านร้องไห้ส่งเสด็จไปตลอดสองข้างทาง เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่จริง ๆ บ้านเมืองเงียบกริบไม่มีสถิติคดีโจรผู้ร้ายใด ๆ ในแผ่นดิน

เป็นอันว่าขึ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักเรียนนอกพระองค์แรกของไทย ทรงเชี่ยวชาญทั้งภาษา วรรณคดี การปกครอง การต่างประเทศ การทหาร และประวัติศาสตร์ ภาระอันยิ่งใหญ่ของในหลวงพระองค์ใหม่ คือ ทำอย่างไรจึงจะให้คนรู้สึกว่าสยามจากนี้ไปยังคงเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงที่นานถึง 42 ปี

จุดนี้เองที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ต้องทรงหันมาปลุกใจให้คนไทยรักชาติ ชาตินิยม สามัคคี และมีความภูมิใจในความเป็นไทยเพื่อจะรักษาบ้านเมืองไว้และมีขวัญกำลังใจไว้รับมือภยันตรายที่กำลังเข้ามา เรื่องเหล่านี้น่าสนใจว่าทรงทำอย่างไรบ้าง

รัชกาลนี้ดำเนินไปได้ 15 ปี ช่วงเวลานี้มีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นไม่น้อย แต่คนไทยก็ยังกลุ้มใจกับควันหลงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ผลกระทบจากการปฏิวัติในรัสเซียจนลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มระบาดไปทั่วและปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ เช่น เกิดการขบถคราวหนึ่งเรียกว่าขบถหมอเหล็ง ในเวลานั้น เจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าชายที่ประสูติจากพระอัครมเหสีของรัชกาลที่ 5 หลายพระองค์ก็ทยอยสิ้นพระชนม์ไปในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่ทรงมีวี่แววว่าจะมีพระอัครมเหสีและมีผู้ใดไว้สืบราชสมบัติ

กล่าวได้ว่ารัชกาลที่ 6 ทรงมีเวลาเตรียมจะเป็นพระมหากษัตริย์อยู่นาน เมื่อสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษได้ทรงกลับมาทำราชการ เคยสำเร็จราชการแทนพระองค์คราวรัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปหนที่สอง (2450) เพื่อรักษาพระองค์ แต่สมเด็จพระบรมฯ เองก็เคยประชวรพระโรคลำไส้ครั้งอยู่อังกฤษมาแล้ว พระโรคนี้อีกหลายปีต่อมากำเริบขึ้นจนประชวรสวรรคต

เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคตใน พ.ศ.2453 พระองค์ได้เป็นพระมหากษัตริย์โดยไม่มีข้อสงสัย สร้อยพระนามจึงมีว่า “บรมชนกาดิศรสมมติ” แปลว่าพ่อท่านตั้ง

พระบรมราโชบายสร้างความรักชาติคือการสร้างความเจริญสานต่อจากพระบรมราชชนก เช่น สร้างทางรถไฟไปภาคเหนือและภาคใต้ ตัดถนน สร้างสะพานทำให้คนสัญจรและค้าขายสะดวก ขยายกิจการไปรษณีย์โทรเลข วิทยุ ส่งเสริมการทหาร ขณะเดียวกันก็ทรงเปลี่ยนไปสร้างโรงเรียนแทนการสร้างวัด ทั้งทรงริเริ่มกิจการลูกเสือ ทรงตั้งกองเสือป่าฝึกนักเรียนและราษฎรให้รู้วิธีการของลูกเสือและมีวินัย แต่ความจริงคือพวกนี้อาจลุกขึ้นถืออาวุธรักษาบ้านเมืองได้อย่างดี ทั้งการไปซุ่มฝึกเสือป่าแถวราชบุรีก็มีนัยว่าถ้าจำเป็นอาจมีการล่าถอยไปตั้งรับแถวนั้นได้

ทรงแต่งบทละครและบทความหลายเรื่องที่ส่งเสริมการรักชาติ ทรงแปลบทละครฝรั่งหลายเรื่องเป็นภาษาไทยเพราะทรงเชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษ ฉันทลักษณ์ และภาษาบาลีสันสกฤตจนแทบไม่น่าเชื่อว่าคนที่อยู่เมืองนอกนาน ๆ จะสันทัดเช่นนี้ โดยใช้พระนามแฝง เช่น อัศวพาหุ รามจิตติ ศรีอยุธยา

ทรงออกกฎหมายให้คนไทยมีนามสกุลใช้เป็นครั้งแรก ทรงออกกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำสยาม และกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ ทรงเร่งรัดการจัดทำประมวลกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อนำไปต่อรองขอเอกราชทางการศาลคืนจากฝรั่ง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงตัดสินใจส่งทหารไทยไปร่วมรบอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 ซึ่งชนะสงครามจึงทรงให้สร้างวงเวียน 22 กรกฎาเป็นที่ระลึก และทรงคิดให้มีธงไตรรงค์ขึ้นใช้ในคราวนั้นด้วย ทรงทดลองการปกครองในเมืองจำลองชื่อดุสิตธานี เพื่อให้คนคุ้นเคยกับการออกเสียงเลือกตั้งและการปกครองตนเอง เมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ได้มีพระราชปรารภว่า 1. จะมีพระมเหสีพระองค์เดียว และไม่มีเจ้าจอมหม่อมพระสนมมากดังสมัยก่อน 2. จะไม่อภิเษกสมรสกับเจ้านายสตรีที่ร่วมพระบรมราชชนกเดียวกัน ผู้คนจึงคอยดูว่าในหลวงจะทรงเลือกใครเป็นพระราชินีเรียกว่าพอ ๆ กับที่คนอังกฤษสนใจเรื่องเจ้าชายวิลเลียมและชาวภูฏานสนใจเรื่องพระราชาธิบดีจิกมี

เพราะบัดนั้นการสืบราชสมบัติเปลี่ยนมาทางสายพระราชโอรสหรือพระราชอนุชาร่วมพระครรภ์ของพระองค์เท่านั้น

ต่อมาได้โปรด ม.จ.วรรณวิมล วรวรรณ พระธิดากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงตั้งให้เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระคู่หมั้นแล้วเป็นพระวรกัญญาปทาน ทรงแต่งเรื่องศกุนตลาพระราชทาน แต่แล้วก็มีเรื่องขัดพระทัย พระองค์หญิงทรงแต่งกลอนย้อนคืนหนังสือเรื่องศกุนตลาและลงท้ายว่า “จงทรงพระเจริญเถิดราชา ข้าขอลาแต่บัดนี้ไป” จึงกริ้วถูกลงโทษกักบริเวณ “ติดศาลา” มีโซ่ทองใส่พานวางไว้ข้าง ๆ ให้รู้ว่าต้องโทษ

อยู่มาได้ทรงเสน่หา ม.จ.วรรณพิมล วรวรรณ พระธิดาอีกองค์ของเสด็จในกรมพระนราธิปฯ โปรดให้เป็นพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสี แต่เมื่อพระนางฯ ไม่มีพระราชโอรสธิดาถวาย จึงได้ทรงสมรสใหม่กับนางสาวเปรื่อง สุจริตกุล บุตรีเจ้าพระยา สุธรรมมนตรี

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงเป็น กวี วงการหนังสือและละครเคารพนับถือท่านมาก เมื่อผมยังเด็ก ๆ เคยอ่านข่าวพระนางฯ ถูกคนสวนทำร้ายจนสิ้นพระชนม์ในพระตำหนัก เป็นข่าวใหญ่มากเมื่อหลายสิบปีก่อน

รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งคุณเปรื่องเป็นพระสุจริตสุดา พระสนมเอก (ไม่ถือว่าเป็นเจ้า) พิธีสมรส (ไม่ได้อภิเษก) ทำแบบฝรั่ง เจ้าสาวสวมผ้าคลุมหน้าทรงคล้องแขนเดินลอดซุ้มกระบี่ทหาร แต่เมื่อไม่มีพระราชโอรสธิดาถวายก็ทรงเลิกร้างไป และไปโปรดคุณประไพ สุจริตกุล น้องสาว แท้ ๆ ของพระสุจริตสุดาแทน จนตั้งครรภ์จึงทรงตั้งเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินี แต่เมื่อตก (แท้ง) เสียถึงสองครั้งและไม่ทรงพระครรภ์อีกต่อไปจึงทรงลดพระยศลงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา ให้ประทับอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ

ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ หลานปู่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เป็นเจ้าจอมคนสุดท้าย พระราชทานชื่อใหม่ว่าเจ้าจอมสุวัทนา เมื่อตั้งครรภ์จึงทรงสถาปนาเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งได้ประสูติพระราชธิดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา วันต่อมารัชกาลที่ 6 ซึ่งประชวรพระอันตะ (ลำไส้) มานานก็สวรรคตใน พ.ศ. 2468

1 ปีก่อนหน้านั้นได้ทรงตรากฎ มณเทียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์เพื่อวางกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติไว้เป็นระเบียบแบบแผน กฎหมายฉบับนี้ยังคงใช้คู่กับรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับสืบมาจนบัดนี้

เป็นอันว่าสิ้นรัชสมัย 15 ปีของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นนักคิด นักเขียน จนทางการถวายพระราชสมญาว่าพระมหาธีรราชเจ้า แปลว่ากษัตริย์นักปราชญ์

ราชสมบัติข้ามไปตกแก่เจ้านายหนุ่ม ซึ่งอ่อนทั้งพระชนมายุและพระประสบการณ์ และไม่เคยคาดฝันว่าจะต้องขึ้นเป็นกษัตริย์ท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจ การเมือง และความรุนแรงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ตลอดจนนักเรียนนอกที่หากพูดได้คงตะโกนว่า “We need Change!”.

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: