หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อมรรัตนโกสินทร์ (18)

ใครรู้วิชาโหรน่าจะลองผูกดวง พระชะตาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ดูว่าเป็นอย่างไร เพราะแปลกเหลือหลาย

เมื่อแรกประสูติจนทรงเป็นหนุ่ม ไม่มีใครคาดคิดว่าต่อไป “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ พระราชโอรสพระองค์สุดท้องในรัชกาลที่ 5 ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และเป็นลำดับที่ 76 จากทุกพระครรภ์จะได้ครองราชสมบัติเพราะยังมีพระเชษฐาร่วมพระครรภ์อีกหลายพระองค์ ความจริงหลังจากประสูติ 1 วัน สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาได้ประสูติพระราชธิดาเป็นลำดับที่ 77 แต่อยู่ได้วันเดียวก็สิ้นพระชนม์

คนมักสะกดคำว่า “ศักดิเดชน์” ผิดเป็น “เดช” ซึ่งแปลว่าอำนาจ แต่ “เดชน์” แปลว่าลูกศร เมื่อครองราชย์แล้วจึงทรงใช้ตราประจำพระองค์เป็นรูปศร 3 เล่ม เมื่อทรงพระเยาว์ พระสุขภาพไม่ดีเจ็บออด ๆ แอด ๆ มาตลอด แพทย์แนะนำให้ทรงเรียนวิชาทหารเพื่อจะได้ออกพระกำลัง เสด็จกลับจากอังกฤษแล้ว
จึงได้ทรงเข้าทำราชการในสมัยรัชกาลที่ 6



ตอนต้นรัชกาลที่ 6 เข้าใจกันว่าถ้าแม้นไม่มีพระราชโอรส พระราชอนุชาที่ทรงพระชนม์และอยู่ในลำดับถัดไปคือสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ น่าจะได้สืบราชสมบัติ เพราะรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดและเจ้าชายพระองค์นี้ก็ทรงพระปรีชาสามารถมาก

เรื่องของเจ้าชายพระองค์นี้น่าสนใจ รัชกาลที่ 5 ทรงส่งไปเรียนที่รัสเซีย พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์รัสเซียที่เคยช่วยไทยให้รอดจากการถูกยุโรปคุกคามทรงรับเป็นผู้ปกครอง วันหนึ่งเจ้าฟ้าหนุ่มจากสยามได้ทรงพบกับสาวรัสเซียในงานเลี้ยงหรูหราที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จนเกิดเป็นความรักและเสกสมรสด้วยจนมีพระโอรสคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ผมเคยไปชมวังปีเตอร์ฮอฟ ไกด์รัสเซียอธิบายละเอียดลออว่าทรงพบกันตรงนี้ เสด็จไปเต้นรำตรงนั้น ดนตรีเล่นเพลงอะไร วัทอะโรแมนติก! แต่เมื่อเสด็จกลับไทย รัชกาลที่ 5 กริ้วมาก วังของกรมหลวงพิษณุโลกฯ อยู่ข้างกระทรวงศึกษาธิการชื่อ “วังปารุสกวัน” ทรงมีพระอารมณ์ขันว่าไหน ๆ ฝรั่งก็ออกพระนามว่า “ปรินซ์ จักรกระบอง” (จักรพงษ์) จึงทรงคิดตราประจำพระองค์เป็นรูปจักรมีกระบองสอด ยังติดอยู่หน้าประตูวังปารุสก์ ถนนราชดำเนินนอก ผ่านไปมาลองสังเกตดู

ต่อมากรมหลวงพิษณุโลกฯ ทรงหย่าจากหม่อมชาวรัสเซีย วันหนึ่งเสด็จไปราชการที่สิงคโปร์ กลับจากงานเลี้ยงก็ประชวรสิ้นพระชนม์ที่นั่น

เมื่อเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ทรงผนวชประทับที่วัดบวรฯ และจะทรงลาผนวช สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ทรงแนะนำว่าน่าจะบวชต่อไป เพราะสึกไปก็คงเอาดีทางโลกยาก พี่ชายก็มีอยู่หลายคน แม้นครองผ้าเหลืองต่อไปอาจได้ดีเป็นใหญ่ทางคณะสงฆ์ แต่ทูลกระหม่อมทูลว่าไปหลงรักผู้หญิงเข้าแล้ว

ลาผนวชแล้วได้เสกสมรสกับ ม.จ.รำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระธิดากรมพระสวัสดิ์ฯ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 4 ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเปี่ยม จึงทรง
เป็นน้าแท้ ๆ ของเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ)

พระเชษฐาร่วมพระครรภ์ของเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ค่อย ๆ สิ้นพระชนม์ไปจนหมด คราวนี้มีวี่แววแล้วว่าอาจทรงเป็นรัชทายาทราชบัลลังก์สยาม รัชกาลที่ 6
จึงเริ่มให้ทรงศึกษาระบบระเบียบราชการเตรียมไว้ แต่ความไม่แน่นอนก็ยังมีเพราะใน พ.ศ. 2468 พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงพระครรภ์ ถ้าประสูติเป็นชาย เจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ก็จะเป็นกษัตริย์ อย่างมากเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ก็แค่สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2468 รัชกาลที่ 6 ประชวรหนัก พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ได้ประสูติพระราชธิดา นาทีนั้นจึงแน่แล้วว่า
เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ กรมหลวงศุโขทัยธรรมราชาจะได้ครองราชย์ วันต่อมารัชกาลที่ 6 สวรรคต ขณะพระชนมพรรษา 45 พรรษา

เจ้านายและเสนาบดีเปิดประชุมทันที และทูลเชิญเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ พระชนมายุ 32 พรรษา ทรงรับราชสมบัติแต่ตรัสถ่อมพระองค์ว่า พระชนมายุและพระประสบการณ์ยังน้อย พระเชษฐาต่างพระราชชนนีที่มีความสามารถยังมีอีกหลายพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต


กรมพระนครสวรรค์ฯ คุกเข่าลงถวายบังคมทูลย้ำว่าขอให้ทรงรับราชสมบัติเพราะเป็นไปทั้งตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 ที่รัชกาลที่ 6 ทรงตราไว้ และพระราชประสงค์รัชกาลที่ 6 ที่ทรงสั่งไว้ ทุกพระองค์ขอปฏิญาณความจงรักภักดีและสนองราชการแบ่งเบาพระราชภาระ นั่นแหละ
จึงทรงรับ

รัชกาลที่ 7 เป็นพระเจ้าแผ่นดิน 9 ปี จึงสละราชสมบัติ ที่จริงเป็นความยากลำบากในการเป็นผู้นำประเทศขณะนั้น เพราะ
เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ในอเมริกาเกิดเหตุยิ่งกว่าฟองสบู่แตกเรียกว่า Great Depression โรงงานในญี่ปุ่นหลายแห่งต้องปิด คนว่างงานทั่วโลก ในสยามการเก็บภาษีก็ทำได้น้อย การค้าขายฝืดเคือง รัฐบาลขาดเงินสดจนต้องเลื่อนบรรดาศักดิ์แทนขึ้นเงินเดือนข้าราชการ บางปีก็ต้อง “ดุลย์” คือ เอาข้าราชการออก พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงลดเงินปีของพระองค์และค่าใช้จ่ายประเทศ



ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระน้องนางเธอของรัชกาลที่ 1 ชื่อพระองค์เจ้าหญิงกุ กรมหลวงนรินทรเทวี มีวังอยู่ข้างวัดโพธิ์ คนทั่วไปเรียกว่าเจ้าครอกวัดโพธิ์ ทรงเป็นนักบันทึกจดหมายเหตุความทรงจำ จะว่าเป็นคนไทยคนแรกที่เขียนไดอารี่ก็ได้ เคยทรงบันทึกไว้ว่าเวลาลงเสาหลักเมืองพระนครนั้น เห็นงูอยู่ที่ก้นหลุม จะเขี่ยออกก็ไม่ทัน หลักเมืองเลื่อนลงไปทับพอดีจึงมีคำพยากรณ์ว่าพระนครจะอยู่แค่ 150 ปี

ข้อที่คนโบราณร่ำลือกันเรื่องคำทำนายอายุพระนคร ไม่ใช่ว่าคนจะเชื่อตามไปหมด บางคนที่รู้เรื่องดีก็แย้งว่าสมัยรัชกาลที่ 4 เคยมีการยกเสาหลักเมืองใหม่อีกหน จึงเท่ากับแก้เคล็ดไปแล้ว บ้างก็ว่าถ้าจะสิ้นพระนครก็น่าจะสิ้นเสียตั้งแต่รัชกาลที่ 5
เมื่อฝรั่งเศสและอังกฤษเข้ามาคุกคาม เมื่อรอดจากคราวนั้นจึงเห็นจะไม่มีอีก

รัชกาลที่ 7 ทรงทราบดีว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา โลกเห็นจะไม่เหมือนเดิม จึงทรงเตรียมการหลายอย่างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะพระองค์เองก็เป็นนักเรียนอังกฤษ เรียนประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์มาไม่น้อย ได้ทอดพระเนตรเห็นความเปลี่ยนแปลงมาบ้าง

หลังครองราชย์ไม่นาน ดร.ฟรานซิส บี. แซยร์ นักกฎหมายอเมริกันซึ่งเคยรับราชการสมัยรัชกาลที่ 6 จนได้เป็นพระยากัลยาณไมตรี ผ่านมาทางเมืองไทยอีกหน ได้โปรดให้ฝรั่งผู้นี้ยกร่างรัฐธรรมนูญถวายฉบับหนึ่ง ราวปีพ.ศ. 2473 ได้โปรดให้ที่ปรึกษาชาวอเมริกันชื่อ นายสตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจา ร่างรัฐธรรมนูญถวายอีกฉบับ แต่ก็ไม่ได้ประกาศใช้



ระหว่างนั้นได้ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และมีพระราชดำริให้ยกร่างกฎหมายเทศบาล (เรียกว่าประชาภิบาล) เพื่อให้ราษฎรในท้องถิ่นมีการปกครองตนเอง เลือกผู้บริหารเอง มีงบประมาณใช้เอง ตรัสว่าเป็นการเริ่มจากฐานล่างขึ้นไปถึงชั้นบน เมื่อฐานล่างทำได้ก็จะเริ่มใช้ในระดับประเทศ แต่ดูจะไม่มีใครเข้าใจกัน จนมีพระราชหัตถเลขาไปเร่งว่า “หวังว่าจะได้ทันเห็นก่อนชีวิตข้าพเจ้าหาไม่” แต่ก็ไม่เสร็จอยู่ดี

เคยมีพระราชหัตถเลขาไปถึงกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ว่า สักวันหนึ่งดีโมเครซี่คงเข้ามา ถ้าคิดว่าจะรักษาแอปโซลุท โมนากีไว้ได้ก็แล้วไป แต่ถ้าคิดว่าจะต้านทานไม่ได้ก็ให้เตรียมตั้งรับดีโมเครซี่เถิด น่าคิดว่าทำไมจึงทรงสั่งกระทรวงสอนหนังสือ ไม่สั่งกระทรวงกลาโหมหรือตั้ง ศอฉ.มารับมือการล้มเจ้า คำตอบคือมีพระราชประสงค์จะใช้การศึกษา ครู เด็กและเยาวชนเป็นฝ่ายตั้งรับนั่นเอง ซึ่งตรงกับความเข้าใจในปัจจุบันว่าประชาธิปไตยต้องเริ่มที่บ้านและโรงเรียน



แต่รัชกาลที่ 7 เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่อาภัพ ผู้มีอำนาจสมัยนั้นล้วนเป็นอาเป็นน้าเป็นพี่ท่านหรือไม่ก็ขุนนางหลายแผ่นดินทั้งนั้น จึงดูจะไม่ค่อยได้ดังพระราชหฤทัย ปัญหานี้รัชกาลที่ 5 ก็เคยประสบมาแล้วในช่วง 10 ปีแรก จึงอย่าคิดว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินจะทำอะไรได้ดังใจเสมอไป

วันที่ 6 เมษายน 2475 กรุงเทพ มหานครมีอายุครบ 150 ปี เคยมีคนคาดว่าอาจจะพระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นของขวัญให้คนไทยปกครองกันเองแบบญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มี เข้าใจว่ามีผู้ทักท้วงว่ายังไม่ถึงเวลา ควรให้ราษฎรมีการศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจมากกว่านี้

ลงท้ายก็มีแต่พิธีเปิดสะพาน พุทธฯ เชื่อมกรุงเทพฯ กับกรุงธนฯ มีขบวนชลมารค และงานสมโภชพระนคร

หลังจากนั้นเข้าหน้าร้อน รัชกาลที่ 7 และพระประยูรญาติเสด็จฯไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน ตามที่เคยปฏิบัติ ทางกรุงเทพฯ ก็โปรดให้กรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงรักษาพระนคร

ขณะนั้นข่าวลือว่าอาจเกิดการยึดอำนาจมีอยู่หนาหู นักเรียนนอกที่จบวิชากฎหมาย วิชาทหาร วิชาช่างจากฝรั่งเศส และเยอรมนีกลับมาหลายคน คนเหล่านี้เคยพบปะกันในเมืองนอกและเป็นห่วงบ้านเมืองว่าจะปล่อยไปอย่างเดิมไม่ได้ ในหลวงจะไปทรงรับผิดชอบทุกอย่างได้อย่างไร ราชการงานเมืองวันนี้ซับซ้อนกว่าแต่ก่อนมากนัก
วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2475 ฝนตกพรำ ๆ ทั้งคืน ตอนค่ำรถถังออกมาวิ่งเต็มถนน ใครถามก็ได้คำตอบว่า “ซ้อมรบ” หรือไม่ก็ “ผลัดเปลี่ยนกำลัง” คำตอบอย่างนี้คุ้น ๆ แฮะ!
พอย่ำรุ่งวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน รถถังก็บ่ายหน้าไปลานพระบรมรูปทรงม้า กำลังส่วนหนึ่งไปตัดสายโทรเลขโทรศัพท์ อีกส่วนเข้าคุมสถานที่สำคัญ หัวหน้าคณะก่อการซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ขึ้นยืนอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจบนลัง
ข้างพระบรมรูปทรงม้า

มีการเชิญเจ้านายผู้ใหญ่ เช่น จากวังบางขุนพรหม วังวรดิศ วังเทเวศร์ ตำหนักปลายเนินไป “อารักขา” ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ตกสายก็แจกใบปลิวแถลงการณ์ทั่วกรุง มีการต่อสู้เลือดตกยางออกแห่งเดียวที่กองพล 1

ขณะนั้นรัชกาลที่ 7 ประทับอยู่หัวหิน ตกบ่ายผู้แทนคณะราษฎรคือหลวงศุภชลาศัยก็ถือหนังสือหัวหน้าคณะราษฎรไปเฝ้าฯ ทูลเชิญเสด็จฯกลับกรุงเทพฯ

ตรัสว่าที่จริงความมุ่งหมายก็ตรงกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกัน ไม่มีพระราชประสงค์จะให้คนไทยต่อสู้กันเองเพราะแม้จะทรงพอมีกำลังทหาร แต่ลงท้ายจะเกิดศึกกลางเมือง คนไทยจะตายเปล่า ๆ จึงจะเสด็จฯกลับ พระองค์เองสุขภาพก็ไม่ดี พระราชโอรสก็ไม่มี ไม่ได้อยากได้ใคร่ดีจะเป็นกษัตริย์ต่อไป แต่ถ้าทรงต่อต้าน คณะราษฎรจะลำบากเพราะนานาประเทศคงไม่ยอมรับรองรัฐบาลใหม่ คราวนี้จะยุ่งยากมากขึ้นเห็นน้ำพระราชหฤทัยไหมล่ะครับ!

ในที่สุดก็เสด็จฯกลับ คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ ที่ทรงเสียพระราชหฤทัยที่สุดคือการที่แถลงการณ์คณะราษฎรได้กล่าวหาพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างรุนแรง จนต้องมีผู้กราบบังคมทูลว่าเป็นธรรมดาของการยึดอำนาจที่จะต้องกล่าวหาอำนาจเก่า ซึ่งก็ได้พระราชทานอภัยโทษ

คณะราษฎรได้ถวายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับแรกด้วย ซึ่งได้ประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน ต่อมาก็มีการตั้งรัฐบาลเรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร” มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธาน มีการตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังก็ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ถือเป็นฉบับที่ 2 แต่เป็นฉบับถาวรที่เรียกรัฐธรรมนูญฉบับแรก

วันที่ 10 ธันวาคม จึงเป็นวันรัฐธรรมนูญ มีการเรียกชื่อรัฐบาลว่าคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก พระยามโนฯ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก

อะไรต่ออะไรดูจะเข้ารูปเข้ารอย การปกครองแบบใหม่เริ่มแล้ว แต่ก็ไม่ได้เรียบร้อย หลายอย่างกลับรุนแรงหนักขึ้นจนกลายเป็นการแตกหักครั้งใหญ่ในอีก 2 ปีต่อมา.

“ตรัสว่าที่จริงความมุ่งหมายก็ตรงกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกัน ไม่มีพระราชประสงค์จะให้คนไทยต่อสู้กันเองเพราะแม้จะทรงพอมีกำลังทหาร แต่ลงท้ายจะเกิดศึกกลางเมือง คนไทยจะตายเปล่า ๆ จึงจะเสด็จฯกลับ พระองค์เองสุขภาพก็ไม่ดี พระราชโอรสก็ไม่มี ไม่ได้อยากได้ใคร่ดีจะเป็นกษัตริย์ต่อไป แต่ถ้าทรงต่อต้าน คณะราษฎรจะลำบากเพราะนานาประเทศคงไม่ยอมรับรองรัฐบาลใหม่ คราวนี้จะยุ่งยากมากขึ้น”

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: