หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ศรีอยุธยา (10)

การสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มิได้มีความหมายเพียงว่าสิ้นราชวงศ์ปราสาททองเท่านั้น แต่หมายถึง การสิ้นสุดความเจริญทางการปกครอง การค้า การต่างประเทศ และความรุ่งเรืองทางวรรณคดีอีกด้วย


ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีการฟื้นกฎหมายห้ามคนไทยแต่งงานกับคนต่างชาติต่างศาสนา (ยกเว้นจีน) ขุนนางมีฝีมือหลายคนถูกกำจัด พงศาวดารกล่าวว่าก่อนสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์ทรงแช่งขุนนางสองพ่อลูกคือพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ไว้เป็นอันมาก โชคดีที่ระหว่างนั้นพม่ามีเรื่องไม่สงบภายในจึงมิได้ถือโอกาสยกทัพมาตีอยุธยาอย่างที่เคยทำ

สิ้นสมัยสมเด็จพระเพทราชาก็เป็นสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ 8 หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ ที่จริงก็เกือบไม่ได้ขึ้นครองราชย์เพราะสมเด็จพระเพทราชามีพระราชโอรสอีกพระองค์ที่ประสูติ “ในเศวตฉัตร” คือเจ้าพระขวัญ แต่สมเด็จพระเจ้าเสือก็จับฆ่าแล้วเอาศพไปฝังที่วัดโคกพระยา สมเด็จพระเพทราชากริ้วมากจึงมอบราชสมบัติให้เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ผู้เป็นหลาน

ครั้นสมเด็จพระเพทราชาสวรรคตแล้ว เจ้าพระพิไชยสุรินทร์กลัวภัยจึงยกราชสมบัติถวายสมเด็จพระเจ้าเสือ นี่อาจเป็นเวรกรรมตามคำสาปแช่งของสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้

สมเด็จพระเจ้าเสือมีพระราชโอรสสำคัญ 2 พระองค์คือเจ้าฟ้าเพชร และเจ้าฟ้าพร เมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือสวรรคต เจ้าฟ้าเพชรซึ่งครองตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯพระอุปราชได้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 31 ลำดับที่ 3 ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงพระนามว่าสมเด็จพระสรรเพชญที่ 9 แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าพระเจ้าท้ายสระ เพราะโปรดประทับที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ข้างสระน้ำ และด้วยความที่พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน จนออกกฎหมายห้ามราษฎรจับกิน ถ้าฝ่าฝืนให้ปรับ 5 ตำลึง ผู้คนจึงเรียกอีกชื่อว่าขุนหลวงปลาตะเพียน



ผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่าเมนูปลาตะเพียนของพระเจ้าท้ายสระได้แก่ปลาตะเพียนทอดกรอบ ปลาตะเพียนต้มเค็มไร้ก้าง วิธีทำคือวางอ้อยทุบรองก้นหม้อ ล้างปลาตะเพียนให้สะอาดแล้ววางเรียง ใส่น้ำตาลโตนด เกลือ หัวหอม จะใส่น้ำส้มมะขามเปียกด้วยก็ได้ แล้วปิดฝาเคี่ยวไว้ 2-3 วันจนก้างยุ่ยนุ่มนิ่มทั้งตัว

กฎหมายนี้มาเลิกสมัยกรุงเทพฯ แต่คนรุ่นเก่าที่เคยกลัวก็ยังชินอยู่ไม่กล้าบริโภคสืบมาอีกหลายปี

พระเจ้าท้ายสระตั้งน้องชายคือเจ้าฟ้าพรเป็นกรมพระราชวังบวรฯวังหน้า แปลว่าในระหว่างนั้นจะทำหน้าที่ช่วยราชการสำคัญ ๆ และต่อไปจะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งนี้มีตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเป็นกษัตริย์ ก็ได้ตั้งสมเด็จพระนารายณ์มาแล้ว ภาษาทั่วไปเรียกว่า “พระบัณฑูรใหญ่” ถือว่าสูงศักดิ์เป็นที่ 2 รองจากพระเจ้าแผ่นดิน



อยุธยาและปริมณฑลสมัยนั้นก็เหมือนสมัยนี้คือพอถึงหน้าฝนน้ำก็หลากจากเหนือลงมาท่วมไปทั่ว ถ้าน้ำกำลังพอดีชาวไร่ชาวนาก็ทำนาได้ดี ถ้าน้ำนองอยู่นานนาก็ล่ม พอย่างเข้าฤดูทำนาต้องทำพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีไหนน้ำน้อยต้องทำพิธีขอฝน ปีไหนน้ำมากได้เวลาจะเก็บเกี่ยวต้องมีพระราชพิธีไล่น้ำ บรรพบุรุษของเราอยู่มาได้ด้วยข้าว ปลาที่มากับน้ำ และความมากน้อยของน้ำเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว เราจึงมีพิธีทำขวัญข้าว ไหว้แม่โพสพ ขอขมาแม่คงคา เห่เรือ ทอดกฐินทางน้ำ

จะว่าไปแล้วน้ำก็ช่วยรักษาบ้านเมืองไว้หลายครั้ง เวลาพม่าข้าศึกยกมาล้อมอยุธยาต้องหลีกฤดูน้ำหลากให้ดี เพราะช้างม้ากลัวน้ำ ถึงทหารพม่าเองก็เถอะ นุ่งแต่โสร่งอย่างนั้น น้ำมาปลาตอดลอดโสร่ง ปลิงเกาะ คงยุ่งเหมือนกัน

พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกนั้นสร้างไว้หลายปีแล้ว ต่อมาน้ำท่วมกัดเซาะตลิ่งพังจวนถึงวิหาร เดิมทีพระเจ้าท้ายสระจะให้รื้อไปก่อใหม่แต่พระสงฆ์ทัดทานไว้จึงโปรดฯ ให้พระยาราชสงคราม ซึ่งเป็นตำแหน่งทางทหารตั้งจากผู้มีฝีมือทางช่างหรือการโยธาในการสร้างค่ายคูประตูหอรบ เรียกว่าเอ็นจิเนียร์ประจำชาติไปจัดการชะลอเลื่อนเคลื่อนย้ายโดยขุดดินใต้องค์พระแล้วสอดไม้ซุงเข้ารองรับพระ ค่อย ๆ ฉุดลากจนย้ายพระนอนได้ ใช้เวลา 5 เดือน พระยาราชสงครามผู้นี้คือคนที่ไปขุดคลองโคกขามอันคดเคี้ยวจนตรงเชื่อมกันได้ พระราชทานชื่อว่าคลองมหาไชย




ทหารคนไหนมีฝีมือทางช่างจะได้เป็นพระหรือพระยาราชสงครามตลอดมา สมัยรัชกาลที่ 5 พระราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นคนไปย้ายพระที่นั่งจากเกาะสีชังมาสร้างใหม่จนเป็นพระที่นั่งวิมานเมฆ เวลาทหารออกรบจึงมักเรียกว่า “ยุทธโยธา” คือรบไปสร้างไปรื้อไป ไม่ใช่เอาแต่รบลูกเดียว

ก่อนสวรรคต พระเจ้าท้ายสระกลับไปยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรส ทีนี้พระมหาอุปราชเจ้าฟ้าพรซึ่งนั่งรอมานานแล้วก็ไม่ยอมสิครับ น้อยพระทัยว่าเสียแรงร่วมตายกันมา จำจะต้องรบกันให้ตายไปข้างหนึ่ง

พ.ศ.2274-2275 เกิดสงครามใหญ่ที่สุดเท่าที่เกิดภายในประเทศเรียกว่าสงครามกลางเมือง (civil war) คือคนไทยรบกันเองคล้าย ๆ ที่ต่อมาอเมริกาทำสงครามเลิกทาส ฝ่ายหนึ่งนำโดยเจ้าฟ้าอภัยและน้องคือเจ้าฟ้าปรเมศวร์ อีกฝ่ายนำโดยเจ้าฟ้าพรผู้เป็นอา แต่ละฝ่ายมีรี้พลพอกัน ส่วนใหญ่เจ้าฟ้าอภัยจะชนะ แต่สุดท้าย
พระมหาอุปราชก็จับตัวเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์ได้ โปรดฯ ให้นำไปประหารพร้อมกับพวกที่เข้าด้วยช่วยเหลือนับไม่ถ้วน




การที่เจ้าฟ้าพรทำศึกกลางเมืองกับหลานชายคือเจ้าฟ้าอภัยนั้นจะว่าขัดพระบรมราชโองการเป็นขบถก็ว่าได้ แต่ประวัติศาสตร์ต้องอ่านกันหลายฉบับและพิจารณาหลายแง่ เจ้าฟ้าเพชร (พระเจ้าท้ายสระ) มิได้เป็นลูกรักของสมเด็จพระเจ้าเสือ พระราชชนกเคยกริ้วจนคว้าอาวุธจะทำร้ายแต่เจ้าฟ้าพรทรงออกรับแทน ตอนจะตั้งอุปราชเดิมก็จะทรงข้ามเจ้าฟ้าเพชรไปตั้งเจ้าฟ้าพรเพราะฉลาดหลักแหลมกว่า แต่เจ้าฟ้าพรทูลขอให้ตั้งพี่ชายก่อน

เมื่อพระเจ้าท้ายสระเป็นกษัตริย์ก็ทรงตั้งเจ้าฟ้าพรเป็นพระมหาอุปราช เท่ากับมีสัญญาลูกผู้ชายต่อกัน อยู่มาก็จะไปมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสองค์ใหญ่ แต่เจ้าฟ้านเรนทรเห็นว่าควรมอบให้พระเจ้าอาจึงจะเป็นธรรม แล้วเสด็จออกผนวชเสีย พระเจ้าท้ายสระยังหาทาง “เบี้ยว” อีกจึงไปมอบให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสองค์รอง คราวนี้เจ้าฟ้าพรก็เหลืออดสิครับ “อย่างนี้เบี้ยวกันชัด ๆ นี่หว่า”

เจ้าฟ้าพรได้เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 32 ลำดับที่ 4 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง เรียกกันว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อยู่ในราชสมบัติ 26 ปี แรก ๆ ท่านไม่ยอมทำศพพระเจ้าท้ายสระพี่ท่านจะให้เอาไปลอยน้ำ แต่พอขุนนางทัดทานก็ให้ทำพอเป็นพิธี ครั้งนั้นกรุงศรีอยุธยากลับรุ่งเรืองขึ้นใหม่ทางการค้า ศาสนา และวรรณคดี เราได้ส่งพระสงฆ์ไปเจริญศาสนไมตรีกับลังกาตามคำทูลขอของกษัตริย์ลังกา เดิมลังกาเคยมาเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยตั้งแต่ครั้งสุโขทัย ได้บวชให้ชาวไทยเป็นอันมากเรียกกันว่าพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ หลักฐานยังปรากฏเป็นศิลปกรรม รูปทรงเจดีย์ บทสวดแบบลังกาในภาคใต้ของไทย

ต่อมาลังกาถูกต่างชาติปกครองหลายปี มีการทำลายล้างพระและวัดจนหาพระสงฆ์ลังกาไม่ได้ (มีแต่เณร) เมื่อลังกาจะฟื้นพุทธศาสนาใหม่ก็หาอุปัชฌาย์ที่บริสุทธิ์ไม่ได้ จึงนึกได้ว่าพระไทยเคยบวชจากพระลังกาจึงขอนิมนต์พระไทยผู้ใหญ่ไปเป็นอุปัชฌาย์บวชกลับให้ชาวลังกาบ้าง เราส่งพระอุบาลีนำคณะไปทางเรือสำเภา ได้บวชให้กุลบุตรลังกาเป็นร้อยเป็นพัน พระในฝ่ายนี้เรียกว่าสยามวงศ์ ปัจจุบันลังกามีสมเด็จพระสังฆราช 2 องค์ เป็นฝ่ายลังกาวงศ์และสยามวงศ์ ทั้งยังหล่อรูปปั้นพระอุบาลีไว้บูชา ปีที่แล้วผมไปไหว้พระที่ศรีลังกาได้ไปเยี่ยมวัดที่พระอุบาลีเคยอยู่และมรณภาพ เห็นแล้วปลื้มใจแท้

อย่างไรก็ตามความอัปยศของกรุงศรีอยุธยาสมัยนี้คือแม้เจ้าฟ้าพรจะชนะจนได้ราชสมบัติ แต่เจ้านาย แม่ทัพนายกอง ทหารกล้าและขุนนางล้มตายมากมาย ที่รอดตายก็ทิ้งราชการหนีเข้าป่าไปเป็นโจรบ้าง ทำสวนทำนาบ้าง บ้านเมืองหาคนดี คนเก่ง คนกล้าไม่ได้ มีแต่การหวาดระแวงกันเอง ไม่รู้จักแก้ไขหรือปรองดอง มีแต่แก้แค้นและจับดองไว้! เรื่องนี้ทำไมพม่าจะไม่รู้ ฉะนั้นอีก 30 ปีเศษต่อมา พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา กรุงจึงแตกอย่างง่ายดาย!

แม้กระนั้น 26 ปีของรัชกาลนี้ ราษฎรทั่วไปที่ไม่อยู่ฝ่ายใดก็เป็นสุขสบายดี ข้าศึกไม่มี ศาสนาเจริญ การค้าเจริญ กวีมีมากมาย ทำไร่ทำนาได้ผล มีโขนระบำรำฟ้อนให้ดู เรายังพูดถึงรัชกาลนี้ต่อมาอีกหลายสิบปีว่า “เมื่อครั้งบ้านเมืองดี” โดยเทียบกับสมัยก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้น

ในรัชกาลนี้มีเด็กสามัญชนที่ควรรู้จักมาเกิด 4 คน และเป็นเพื่อนรักกันด้วย รุ่นโตชื่อพ่อสิน รุ่นกลางชื่อพ่อทองด้วง รุ่นเล็กชื่อพ่อบุญมาและพ่อบุนนาค พ่อสินเป็นลูกจีนแม่ไทย พ่อทองด้วงและพ่อบุญมาเป็นพี่น้องกันเป็นลูกไทยเชื้อสายมอญและอาจมีเชื้อจีนทางมารดาด้วยก็ได้ พ่อบุนนาคเป็นลูกไทยเชื้อสายเปอร์เซียต้นตระกูลเป็นมุสลิมแต่แม่เป็นไทย ระยะหลังบรรพบุรุษเปลี่ยนมานับถือพุทธ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชโอรสที่สำคัญ 3 พระองค์คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เรารู้จักกันในนามเจ้าฟ้ากุ้ง ได้เป็นกรมขุนเสนาพิทักษ์) เจ้าฟ้าเอกทัศ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) และเจ้าฟ้าอุทุมพร (กรมขุนพรพินิต)

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรได้เป็นอุปราช แต่ด้วยนิสัยกวีปากหวานเจ้าชู้ ภายหลังลอบเป็นชู้กับพระสนมของพ่อจึงถูกโบยจนสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าองค์นี้แหละที่แต่ง “เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ นกบินเฉียงไปทั้งหมู่” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเห็นว่าเจ้าฟ้าเอกทัศไม่เฉลียวฉลาด โฉดเขลา ไม่พากเพียร ไม่กล้าหาญ ไม่ควรเป็นผู้ปกครองได้จึงข้ามไปตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรพระราชโอรสพระองค์เล็กเป็นพระมหาอุปราช

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพรจึงได้ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 33 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 แต่อยู่ได้ 10 วัน เจ้าฟ้าเอกทัศผู้เป็นพี่ทำท่าปรารถนาราชสมบัติ วังก็ไม่ย้ายจะยึดวังหลวงอยู่อย่างนั้น พระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรคงรำคาญจึงถวายราชสมบัติแล้วเสด็จออกผนวช

เจ้าฟ้าเอกทัศได้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 34 ลำดับที่ 6 ของราชวงศ์บ้านพลูหลวงและพระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 คนทั่วไปเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ตามชื่อพระที่นั่งที่ไม่ทรงยอมย้ายออก บางคนเรียกพระเจ้าเอกทัศ มีบ้างที่เรียกว่า “ขุนหลวงขี้เรื้อน” ตามพระโรคที่ทรงเป็น

บัดนั้นพม่าซึ่งเล็งอยู่นานด้วยความแค้นตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีชนะเมื่อ 200 ปีก่อน ก็จับสายตามาที่พระมหานครแห่งนี้ และให้สัญญาณนัดหมายว่า “ไม่ต้องแก้ไข” แต่ได้เวลาแก้แค้นแล้ว!”.

“อยุธยาและปริมณฑลสมัยนั้นก็เหมือนสมัยนี้คือพอถึงหน้าฝนน้ำก็หลากจากเหนือลงมาท่วมไปทั่ว ถ้าน้ำกำลังพอดีชาวไร่ชาวนาก็ทำนาได้ดี ถ้าน้ำนองอยู่นานนาก็ล่ม พอย่างเข้าฤดูทำนาต้องทำพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีไหนน้ำน้อยต้องทำพิธีขอฝน ปีไหนน้ำมากได้เวลาจะเก็บเกี่ยวต้องมีพระราชพิธีไล่น้ำ บรรพบุรุษของเราอยู่มาได้ด้วยข้าว ปลาที่มากับน้ำ และความมากน้อยของน้ำเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว เราจึงมีพิธีทำขวัญข้าว ไหว้แม่โพสพ ขอขมาแม่คงคา เห่เรือ ทอดกฐินทางน้ำ”


วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: