โดย : ลิเวอร์ เบิร์ด@กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถานเป็นเมืองที่มีถนนเพียงไม่กี่สายที่มีชื่อถนนและมีบ้านเพียงไม่กี่หลังที่มีบ้านเลขที่
ทำให้คนสงสัยว่าบุรุษไปรษณีย์ของเมืองนี้ทำหน้าที่ส่งจดหมายถึงผู้รับได้อย่างไรกัน
สำหรับบุรุษไปรษณีย์ของคาบูลแล้ว การเสาะหาที่อยู่ของผู้รับในเมืองที่เปรียบเสมือนเขาวงกตแห่งนี้เป็นงานที่หนักหนาสาหัสเอาการมาก เพราะคาบูลเป็นเมืองที่มีประชากรมากกว่า 4 ล้านคนและเป็นเมืองหนึ่งที่มีการสร้างบ้านและถนนขึ้นใหม่ในทุกๆ ปี และสำนักงานไปรษณีย์กลางยังไม่ได้นำระบบรหัสไปรษณีย์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
ซองจดหมายกองโตในที่ทำการไปรษณีย์ของกรุงคาบูลแห่งหนึ่งมีข้อมูลของผู้รับที่ระบุบนซองน้อยมาก ส่วนมากจะไม่มีการระบุบ้านเลขที่ มีแต่ข้อมูลที่ค่อนข้างคลุมเครือ จดหมายฉบับหนึ่งที่ถูกส่งมาจากประเทศสหรัฐอเมริการะบุถึงผู้รับไว้เพียงว่า “ฮามิด จาน หลังพระราชวังดารุ้ล อามาน” อีกฉบับหนึ่งจ่าหน้าว่า “หลังมัสยิดโอมาร์ จาน” ในขณะที่อีกฉบับหนึ่งระบุไว้เพียงว่า “อยู่ใกล้โรงเรียนอะล้อดดิน”
“จดหมายที่ถูกส่งมาถึงคนที่นี่มักจะไม่ระบุที่อยู่ที่ชัดเจนเสมอ คนส่งเขียนที่อยู่ของคนรับเหมือนกับว่าผมเป็นเพื่อนของผู้รับ บางครั้งกว่าจดหมายจะถึงมือผู้รับก็ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง” อาหมัด โอมิด บุรุษไปรษณีย์ของที่ทำการไปรษณีย์อัฟกานิสถานกล่าว
อาหมัดซึ่งทำงานที่ไปรษณีย์แห่งนี้มา 2 ปีโดยมีจักรยานเป็นพาหนะคู่ใจบอกว่า การจะหาตัวผู้รับจดหมายเจอนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความรู้ส่วนบุคคลและบางครั้งต้องขอความช่วยเหลือจากคนท้องถิ่น
อาหมัดปั่นจักรยานเพื่อนำจดหมายไปส่งให้กับฮามิด จาน โดยมุ่งหน้าไปยังพระราชวังดารุ้ล อามาน ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงคาบูลและเป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นเมื่อ 90 ปีที่แล้วในสมัยการปกครองของกษัตริย์อมานูเลาะห์ ข่าน ซึ่งต่อมาสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าชาห์
ระหว่างทางอาหมัดสอบถามข้อมูลของฮามิด จาน จากคนเกือบทุกคนที่เขาได้พบตั้งแต่ตำรวจจนถึงเด็กนักเรียน บางคนบอกว่าให้ตรงไปเรื่อยๆ บางคนก็ให้ที่อยู่ของฮามิด จานที่พวกเขารู้จัก แต่โชคร้ายที่ไม่ใช่ฮามิด จานคนที่เขากำลังตามหา
คนในอัฟกานิสถานส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักกันโดยอาชีพของพวกเขา ฮามิด จาน ที่ถูกระบุชื่อในจดหมายฉบับนั้นปรากฏว่าเป็นพ่อค้าขายเนื้อ หลังจากขี่จักรยานท่ามกลางอุณหภูมิที่ 32 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง และมีการสอบถามข้อมูลจากคน 10 กว่าคน อาหมัดก็หาบ้านของฮามิดพบ
อัฟกานิสถานเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพไปรษณีย์สากลในปี ค.ศ. 1928 และได้เริ่มต้นใช้ประโยชน์จากสถานะสมาชิก ยกตัวอย่างเช่น มีบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งที่ให้บริการรับส่งจดหมายและพัสดุเช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐ
โมฮัมหมัด ยะซิน ราห์มาติ หัวหน้าสำนักงานไปรษณีย์กรุงคาบูล กล่าวว่า ลูกค้าที่มาใช้บริการที่นี่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการ คนทั่วไปไม่ค่อยมาเป็นลูกค้า เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย คนสามารถส่งอีเมล์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องมาใช้บริการของที่ทำการไปรษณีย์
โมฮัมหมัดบอกว่า ด้วยความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคจากสหภาพไปรษณีย์สากล สำนักงานไปรษณีย์อัฟกานิสถานเริ่มใช้รหัสไปรษณีย์และโครงการจัดระบบของที่อยู่เพื่อทำให้การบริการมีความทันสมัยมากขึ้น แต่มันต้องใช้เวลากว่าที่ประชาชนจะคุ้นเคยกับระบบ และการใช้รหัสไปรษณีย์จะเสร็จสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการให้ชื่อถนนและเลขที่กับบ้านเรือนแล้ว
ความยากลำบากนี้ทำให้เกิดธุรกิจทำป้ายชื่อถนนและเลขที่บ้านขึ้น โดย อับดุล อาลี โอดารี่ พ่อค้าขายป้ายชื่อถนนและเลขที่บ้านในเขตอัฟชาร์ เกิดความคิดบรรเจิดหลังจากที่ต้องประสบความลำบากในการค้นหาสถานที่ต่างๆ
"เมื่อคนมาถึงที่นี่ พวกเขาจะเดินไปรอบๆ เป็นชั่วโมงๆ เพื่อหาสถานที่ที่ตัวเองจะไป เมื่อทางเทศบาลนครคาบูลยังไม่ได้ติดป้ายชื่อถนนและเลขที่บ้าน ผมจึงตัดสินใจทำป้ายและบ้านเลขที่ไปติดไว้ที่ถนนและบ้านเรือนที่นี่" เขากล่าว
ปัญหาที่เกิดขึ้นยังมาจากการที่เมืองคาบูลยังไม่มีแผนที่ถนนที่ทำขึ้นอย่างเป็นทางการ บางคนจึงทำแผนที่ของตัวเองขึ้นมา
ลอเรนซ์ ลิวซ่าร์ หัวหน้าขององค์กรวัฒนธรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงคาบูล รวบรวมข้อมูลสถานที่ในกรุงคาบูลโดยอาศัยข้อมูลจากคนท้องถิ่น
เธอบอกว่า มันเป็นเรื่องยากเสมอที่จะหาสถานที่ใด ๆ ก็ตามในกรุงคาบูล ถ้าเธอจะไปที่ไหนสักแห่งที่ปกติจะใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมง เธอต้องเผื่อเวลาไว้ 1 ชั่วโมง โดยใช้เวลาเดินทางจริงครึ่งชั่วโมง ส่วนอีกครึ่งชั่วโมงหมดไปกับการค้นหาและถามข้อมูลจากคนท้องถิ่น
"แต่มันก็สนุก และคุณจะรู้จักคนอัฟกันมากขึ้นด้วยวิธีนี้" เธอกล่าว
ที่มา : เว็บไซต์บีบีซี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น