หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ศรีอยุธยา (11)

ปี 2301 อยุธยาตั้งมาแล้ว 408 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครอง 32 พระองค์ ปีนั้นได้พระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเป็นพระองค์ที่ 33 อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็สละราชสมบัติให้พี่ชายคือพระเจ้าเอกทัศเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 34 ไม่มีใครรู้เลยว่าอีก 9 ปี พระนครอันรุ่งเรืองอย่างที่นักเดินเรือยุโรปบรรยายไว้เมื่อ 200 ปีก่อนหน้านั้นว่า “เจริญที่สุดในทวีปเอเชีย และยิ่งใหญ่ไพศาลแห่งหนึ่งในโลก” จะล่มสลายย่อยยับอัปราชัย

ปรากฏการณ์นี้ยิ่งกว่าฟองสบู่แตกนับร้อยเท่า เพราะถึงขนาดสูญบ้านเสียเมืองเชียวแหละพี่น้องเอ๋ย!

คนที่เรียนประวัติศาสตร์ไทยต้องรู้จักประวัติศาสตร์ประเทศ เพื่อนบ้าน ไว้ด้วย ด้านหนึ่งต้องเข้าใจว่าเราทั้งหลายเป็นสังคมเครือญาติกัน ไม่เกี่ยวกันทางโน้นก็ดองกันทางนี้ พรมแดน ประชิดติดกัน ราษฎรไปมาหาสู่กัน สิ่งที่ไปมากับกองเกวียนไม่ได้มีแค่สินค้าปลากรอบเท่านั้น หากยังมีศิลปวัฒนธรรมรำฟ้อนละครโขนและดนตรีติดมาด้วย แม้กระทั่งภาษา ขนบธรรมเนียม ความเชื่อและแนวคิดต่าง ๆ ดังที่เราได้ ภาษา เขมร พม่า มลายู และสูตรอาหารเขมร ลาว ญวน พม่า มลายูเข้ามามาก ลาวเขมรก็ได้ไปจากไทยมาก


เรื่องระบำรำฟ้อนละครโขน ที่เกี่ยงกันอยู่ก็เหมือนกัน เขมรเจริญมาก่อน รูปปั้นแกะสลักท่านางอัปสร ตามปราสาทหินเขมรน่าจะแสดงว่าเขามีมาก่อน แต่พออิมพอร์ตเข้ามาสู่อยุธยาก็มีการดัดแปลงจนเปลี่ยนไป เช่น อ่อนช้อย ขึ้น ประณีต ขึ้นไม่ตวัดชายผ้านุ่งยกขาฉับ ๆ อย่าง พม่า ไม่ยักไหล่กางแขนอย่าง เขมร จะเป็นของเราแท้หน่อยก็บทละคร เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี แต่ถ้าเป็นอิเหนาก็ได้เค้ามาจากชวา “ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์” รามเกียรติ์ก็เป็นของสากล พระราม พระลักษมณ์ ทศกัณฐ์ หนุมานล้วนมาจาก คัมภีร์ แขกเล่มเดียวกัน

ท่ารำที่เราดัดแปลงแล้วย่อมเป็นของเรา จะว่าเป็นของต่างชาติก็ไม่ถูก รวมความคือเขาก็ขึ้นทะเบียนตามแบบของเขาไป เราก็ขึ้นทะเบียนตามแบบของเรา สมัยอยุธยา พม่าตีกรุงแตก 2 ครั้งก็กวาดต้อนเชลยไปคงได้ครูละครหลวงจากอยุธยาไปบ้างล่ะน่า! ผมเคยไปดูโชว์ที่โรงแรมของคุณพันธ์เลิศ ใบหยก ในย่างกุ้ง เขาเรียก “ระบำโยเดีย” คล้าย ๆ รำอวยพรของไทย แต่พอยกขาตวัดชายผ้าพึ่บพั่บก็รู้ว่า “อ้อ! แปลงสัญชาติแล้ว”

สมัยผมเป็นรองนายกฯ เคยไปประชุมรัฐมนตรีข่าวสารที่ พนมเปญ ตกค่ำ นายพลเตีย บันห์ มาเป็นเจ้าภาพเลี้ยง มี มโหรี และรำโชว์ ท่านเตีย บันห์ ชี้ให้ดูเครื่องดนตรีแล้วอธิบายว่าชิ้นโน้นเป็นไม้นวม ชิ้นนี้เป็นไม้แข็ง กลองนั้นเรียกว่ามโหระทึกเป็นของขอม ไทยมาตีเขมรได้ก็เอาท่ารำไปดัดแปลง สมัยรัชกาลที่ 5 ครูละครของไทยหนีมาเขมรได้เป็นหม่อมพระเจ้ากรุงพนมเปญชื่อ หม่อมฉวีวาด ท่านเป็นครูสอนดนตรีและท่ารำไทยให้เขมร อะไรที่ดูเป็นไทยเกินไปท่านก็แปลงให้เป็นเขมร อะไรเคยเป็นของเขมรมาก่อนท่านก็สอนให้กลับไปรำแบบเก่า ของมาจากที่ไหน เราก็แปลงให้เข้ากับเราหมด ว่าแล้วก็ชี้ให้ดูสเต๊กบนโต๊ะกระซิบว่า “เหมือนสเต๊กอร่อยยังไงก็ต้องจิ้มแจ่ว!”

อีกด้านหนึ่งที่เราต้องรู้จักประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านคือ บางเรื่องอาจเป็นเหตุเป็นผลมากระทบกับเรา ถ้า เวียงจันทน์ ไม่เกิดขบถเราก็ไม่ไปปราบ ป่านนี้ พระแก้วมรกต อาจยังอยู่ที่เวียงจันทน์หรือไม่ก็ที่ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในฝรั่งเศส พนมเปญถ้าไม่รบกันเอง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็คงไม่ต้องส่ง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ออกไปปราบจนข้างหลังทางนี้เกิดขบถพระยาสรรค์ขึ้น พม่าเองก็เถิดถ้าไม่รบกับมอญ บางทีเราอาจไม่ต้องเสียกรุง!

ได้กล่าวแล้วว่าที่เรียก พม่าหรือที่ฝรั่งเรียกเบอร์มา วันนี้เปลี่ยนชื่อเป็น เมียนมาร์ นั้น เดิมทีเป็นหลายอาณาจักรไม่ขึ้นแก่กัน พม่าแท้ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ กรุงอังวะ พม่าสายไทยใหญ่แยกมาตั้งตนเป็นใหญ่ที่เมือง ตองอู มอญ อยู่ทางใต้ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ กรุงหงสาวดี (วันนี้เรียกว่าบากัน) สามพวกนี้รบกันเองเป็นประจำ กลางสมัยอยุธยาราวรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชจนถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้กษัตริย์ตองอูและญาติคือบุเรงนองตีหงสาวดีและกรุงอังวะได้ พม่าไทยใหญ่จึงรวมกับพม่าเดิมและมอญเป็นมหาอาณาจักรเดียวกัน แต่เมืองหลวงยังอยู่หงสาวดี

ลูกพระเจ้าบุเรงนองคือพระเจ้านันทบุเรงเคยยกทัพไปตีอังวะซึ่งเป็นขบถแต่ไม่ชนะ ภายหลังกษัตริย์พม่าแท้แห่งกรุงอังวะได้ตั้งตนเป็นใหญ่ชื่อพระเจ้าสีหสุธรรมราชายกทัพไปตีเมืองเล็กเมืองน้อยจนรวมอาณาจักรพม่าได้แทบทั้งหมด และมีอังวะเป็นศูนย์กลาง

ถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศของไทย กษัตริย์พม่ายกทัพไปตีมอญหงสาวดีซึ่งยังแยกตัวเป็นอิสระอยู่ แต่หงสาวดีชนะ มอญกลับผงาดได้อีกครั้งสามารถยกไปตีอาณาจักรพม่าได้ เก่งไหมล่ะ! แต่เพียง 3 ปีต่อมา กำนันบ้านมุตโชโบ ชื่ออองใจยะ เชื้อสายพม่าชาวอังวะสามารถรวบรวมผู้คนได้ขับไล่มอญออกจากอังวะตีลงมาจนถึงตองอู และหงสาวดี รวบรวมพม่ากลับเป็นมหาอาณาจักรหนึ่งเดียวอีกครั้ง สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าอลองมินตยาคยี คนทั้งปวงเรียกว่าพระเจ้าอลองพญา ตั้งเมืองหลวงที่บ้านมุตโชโบ (เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองรัตนสิงค์)

เมื่อพระเจ้าเอกทัศขึ้นครองอยุธยานั้น มอญมิได้เป็นประเทศอีกต่อไปจนถึงวันนี้ พระเจ้าอลองพญาซึ่งพม่านับถือว่าเป็นมหาราชเท่ากับพระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าสีหสุธรรมราชายังไล่ตามราวีพวกมอญจนหนีเข้ามาอยู่ในอยุธยาเป็นอันมากเป็นต้นตระกูลชาวไทยเชื้อสายมอญมาจนบัดนี้ ข้าวแช่กะละแมปี่พาทย์มอญก็คงเข้ามาด้วยตอนนั้น!

ทัพพม่ายกไปตีทวาย มะริด ตะนาวศรี ซึ่งเป็นชุมชนมอญแต่เป็นของไทย ครั้นไม่เห็นไทยตอบโต้ เท่านี้พระเจ้าอลองพญาก็ประเมินกำลังได้แล้วว่าอยุธยาใจเสาะ จึงยกทัพเข้ามาทางด่านสิงขรแถวประจวบคีรีขันธ์ ฝ่ายกรุงศรีอยุธยากลับไปฟังข่าวกรองสันติบาลสมัยนั้นว่าพม่าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เมืองกาญจน์และด่านแม่ละเมาเมืองตากจึงไปตั้งทัพดักรออยู่ที่โน่น! นี่เรียกว่ายุทธการลับ ลวง พรางของพม่า

พระเจ้าอลองพญานำทัพผ่านราชบุรีเข้ามาจนถึงชานกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศเห็นจวนตัวจึงขอให้พระเจ้าอุทุมพรที่ผนวชอยู่สึกมาว่าราชการช่วยรบทีเถิด เสร็จแล้วจะคืนราชสมบัติให้ ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศท่านมีวิสัยทัศน์ดีแท้ มองลูกชายท่านไม่ผิดเลยว่าเจ้าฟ้าองค์นี้รักษาบ้านเมืองไว้ไม่ได้

พระเจ้าอุทุมพร เป็นผู้นำที่เก่ง พอสึกมามีอำนาจก็สั่งจับขุนนางที่สอพลอยุแหย่ให้คนแตกแยก และสั่งปล่อยขุนนางผู้ใหญ่ที่ต้องโทษถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมตามแผนปรองดอง แก้ไขไม่แก้แค้น จะเรียกว่า “คืนความเป็นธรรม” ก็ทันสมัยดี แล้วตั้งนักโทษที่ถูกปล่อยตัวมาเป็นแม่ทัพไปรบกับพม่าแต่พวกนี้ถูกพม่าฆ่าตายหมด พม่าเข้าล้อมกรุงอยู่ข้างนอกได้ในปี 2303 จนถึงขนาดยิงปืนจากวัดกษัตราข้ามแม่น้ำไปตกในเมือง อีกทัพมาตั้งปืนใหญ่หน้าวัดหน้าพระเมรุหันปากกระบอกระดมยิงพระราชวังถูก ยอดพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ หักลง

นี่เองที่ว่าเหตุใดวัดหน้าพระเมรุเป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกทำลายในสงคราม คำตอบคือพม่ายิงจากหน้าวัดข้ามไปอีกฟาก ครูเคยพานักเรียนไปดูวัดนี้หรือยัง!

พระพุทธรูปวัดหน้าพระเมรุคงศักดิ์ สิทธิ์เอาการ พระเจ้าอลองพญา เห็นว่ายอดปราสาทหักเป็นลางร้ายของอยุธยา จึงทรงจุดชนวนปืนใหญ่จะยิงซ้ำอีกลูกกะถล่มพระมหาปราสาทที่ประทับ แต่ปืนใหญ่แตกพระเจ้าอลองพญาบาดเจ็บ พม่าเลิกทัพทันทีแล้วรีบยกทัพกลับทางด่านแม่ละเมา ยังไม่ทันพ้นเมืองตากพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ (พงศาวดารพม่าบันทึกว่าพระเจ้าอลองพญาไม่ได้ถูกระเบิด แต่เป็นโรคบิดต้องรีบกลับ) เป็นอันว่ายกนี้อยุธยายังไม่แตก!

อยุธยา รู้ว่าแม่ทัพพม่าเจ็บจนหนีกลับไม่เป็นกระบวนก็ยังไม่กล้าสั่งให้ทหารตามไป ทางพม่า มังลอกพระราชโอรสองค์ใหญ่ได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าบวรมหาธรรมราชา แต่ปกปิดไม่ให้คนรู้ว่าต้นราชวงศ์อลองพญาสวรรคตแล้ว กลับเเช่พระศพด้วยสมุนไพรห่อผ้าขาวยกขึ้นตั้งเหนือพระแท่น ปิดม่านไว้บาง ๆ แล้วให้มังลอกว่าราชการแทน ราว 4 ปีต่อมามังลอกสิ้นพระชนม์ มังระพระอนุชาที่เคยร่วมทัพกับพระเจ้าอลองพญาผู้เป็นพระชนกมาล้อมกรุงก็ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 3 ชื่อพระเจ้าสิริสุธรรมมหาราชาธิบดี

ทางอยุธยา พระเจ้าอุทุมพรขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าเอกทัศเพื่อทวงราชสมบัติก็เห็นพระเจ้าพี่วางดาบพาดตักไว้ตรัสว่าศึกสงครามก็สงบแล้วเจ้าจะอยู่รออะไร พระเจ้าอุทุมพรจึงออกผนวชรอบสอง กลายเป็นขุนหลวงหาวัดไป

พระเจ้ามังระยังโกรธอยุธยาไม่หาย คิดว่าอย่างน้อยน่าจะมาตีสั่งสอนอีกหน แต่คงเพราะมิได้คิดจะเอาบ้านเอาเมืองจริงจังหรือทางพม่าเองอาจเกิดความไม่สงบภายในด้วยจึงไม่เสด็จมาเองอย่างคราวบุเรงนองและพระเจ้าอลองพญา กลับให้เนเมียวสีหบดีและมังมหานรธาเป็นแม่ทัพเข้ามาทางเหนือคนหนึ่ง ทางใต้คนหนึ่ง

กองทัพพม่ายกมาตั้งอยู่รอบอยุธยาชั้นนอก เนเมียวสีหบดีพักทัพอยู่ที่แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ทหารพม่าออกปล้นฆ่าผู้คนฉุดลูกสาวชาวบ้านไปบำเรอทหาร ราษฎรบ้านบางระจันแขวงเมืองสิงห์เดือดร้อนจึงรวมตัวกันได้ราว 500 คนออกต่อสู้ ได้ผ้าประเจียดพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวชคุ้มกัน ชาวบ้านบางระจันต่อต้านพม่าได้ชัยชนะถึง 7 ครั้ง ครั้งที่ 8 สุกี้ (ภาษาพม่าเรียกซุกคยี) ตำแหน่งนายกอง เคยอยู่เมืองไทยรับอาสาเข้าตีค่ายบางระจันจนแตกเพราะบางระจันไม่มีอาวุธ ราษฎรก็เหนื่อยล้าเต็มที อยุธยาก็ไม่ยอมไปช่วย

ถึงฤดูฝนน้ำหลากอย่างเช่นที่ท่วมใหญ่ในขณะนี้ ทหารพม่ามี 2 ทางเลือกคือรบต่อจนรู้แพ้รู้ชนะหรือจะรอบางระกำโมเดลแก้น้ำท่วมก่อนระหว่างนี้ควรถอยกลับ ขณะนั้นเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธากำลังแย่งกันเป็นใหญ่ชิงนำทัพเพียงผู้เดียว มังมหานรธาให้รบต่อ สั่งให้ทหารนุ่งโสร่งให้กระชับก็แล้วกัน แต่แล้วจู่ ๆ มังมหานรธาก็เสียชีวิตลงที่สีกุกใกล้เสนา

คราวนี้เป็นเคราะห์ร้ายของอยุธยา เดิมเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธายังแตกคอกัน น้ำก็ท่วม เราพอรับมือได้ พอน้ำลดอำนาจตกเป็นของเนเมียวสีหบดีแต่ผู้เดียวการสั่งการก็เป็นเอกภาพ พม่าลุยเดินหน้าต่อ ยกทัพมาอยู่ที่วัดท่าการ้อง วัดภูเขาทอง วัดเต่า วัดแดง วัดเจดีย์แดง วัดสามวิหาร วัดนางปลื้ม วัดศรีโพธิ์รอบเกาะเมือง อยุธยาขนปืนประจำเมืองชื่อ “ปราบหงสา” และ “มหากาลมฤตยูราช” ออกมายิงตอบโต้ กระสุนก็ด้านบ้าง ตกไม่ไกลบ้าง ข้างพม่าก็ยิงเอา ๆ ทุกวันจนผู้คนขวัญหนีดีฝ่อ แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถก็ถูกกำจัดหมดตัวไปก่อนแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าบรมโกศ

วันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน พ.ศ.2310 เป็นวันเนาสงกรานต์ ชาวอยุธยากำลังฉลองสงกรานต์ ไม่ได้ตระหนักว่าภัยมาเยือนถึงชานกรุงเพราะเห็นพม่ามาล้อมอยู่กว่าปี ไม่เห็นทำอะไรได้คงนึกว่าเดี๋ยวพระก็ช่วยบันดาลให้ปืนใหญ่ระเบิดหรือไม่แม่ทัพพม่าก็คงเป็นบิดลงท้องจู๊ด ๆ อย่างคราวก่อนโน้นอีกกระมัง

บ่าย 3 โมงวันนั้น พม่าจุดไฟสุมเผารากกำแพงเมืองตรงหัวรอ และระดมยิงปืนใหญ่พร้อมกันจากทุกค่าย ราว 2 ทุ่มกำแพงเมืองก็พังลง พม่าเอาบันไดไม้ไผ่พาดกำแพงกรูเข้าเมืองจากทุกทิศ สุดปัญญาที่ใครจะรับมือได้ 2 ทุ่มวันนั้นกรุงศรีอยุธยาแตก หลังจากอยู่มา 417 ปี และนับถึงวันนี้ 244 ปี

สุนทรภู่เคยไปยืนดูซากกำแพงเมืองอีกไม่กี่ปีต่อมาแล้วรำพึงว่า “กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้”.

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: