หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

เที่ยวท่องต้องมนต์เสน่ห์ สุขหลากหลาย...รับร้อนที่'ญี่ปุ่น'

แสงแดดแรกของวัน สาดส่องสนามบินเซ็นแทร์ นาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น สนามบินทันสมัยและติดอันดับ 1 ใน 10 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ซ้ำยังลอดเร้นแยงตา จนต้องขยับมือขึ้นขยี้ขับไล่อาการง่วงเหงาหาวนอน ดูให้ชัดเต็มสองตาว่า เราเดินทางมาถึงญี่ปุ่นแล้วหรือนี่ หลังใจอ่อนตอบรับไมตรีจาก “รายการสมุดโคจร” ชักชวนเป็นเพื่อนร่วมทาง ตามคำเชิญของ การท่องเที่ยว จังหวัดกิฟุ จังหวัดนางาโนะ และเมืองนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น แม้ใจลึก ๆ จะแอบหวั่นไหวกับภัยพิบัติสึนามิที่ผ่านมา จนต้องกระชับกระเป๋าเช็กความมั่นใจว่า ไม่ลืมพกของขลังกันภัยติดตัวมาด้วย



ก่อนอื่นต้องออกตัวว่าไม่ “อิน” กับญี่ปุ่นเหมือนใครเท่าไรนัก ครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อนมีโอกาสมาย่ำกรุงโตเกียว ใช้สอยเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับงาน ช้อป ชิม ซึ่งไม่ค่อยถูกโฉลกกับไลฟ์สไตล์ ซ้ำยังร่ำ ๆ ร้องอยากกลับตามประสาคนรักบ้านเกิดอีกด้วย เช้านี้หลังกล่าวคำว่า “โอฮะโยว” สวัสดีตอนเช้าเจ้าหน้าที่จังหวัดกิฟุเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถบัสมุ่งหน้าไป เมืองกุโจ จังหวัดกิฟุ ดินแดนใจกลางเมืองปลาดิบ ซึ่งได้มีเวลาพักงีบเอาแรง ปรับตัวกับสภาพอากาศ และเวลาที่เร็วกว่าเมืองไทย 2 ชั่วโมง

ล้อรถจอดสนิทหน้าร้านอาหาร ช่วงเที่ยงพอดิบพอดี มื้อนี้ชาวกุโจภูมิใจนำเสนอ “ปลาอาหยู” สารพันเมนู ไม่ว่าจะย่างเกลือ ย่างโชยุ ทอด โดยเฉพาะซาซิมิปลาอาหยู เนื้อพราวขาวใส สดแน่นกำยำทุกคำที่คีบ ที่ว่าสดต้องขอบอกว่าสดจริง ๆ เพราะแล่กันเดี๋ยวนั้น ชนิดวางเสิร์ฟแล้วยังเห็นปลานอนอ้าปากพะงาบ ๆ ปลาอาหยู เป็นกลุ่มปลาแม่น้ำ มีแหล่งเพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำสะอาด ถือว่าเป็นของดีมีทานเฉพาะเทศกาล ช่วงเดือน พ.ค.-พ.ย. จะว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมาวางไข่ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเหยื่ออันโอชะของเรา เนื้อจึงแน่นหนึบนัก

โอซาวาซัง สวมชุดตกปลาสีแดงสดคลับคล้ายสิงห์นักบิด เดินนำเราไปยังแม่น้ำวาระ พร้อมเล่าว่า ชาวเมืองกุโจจึงอาศัยช่วงนี้ซื้อใบอนุญาตตกปลาอาหยูจากรัฐบาลเป็นเรื่องเป็นราว สนนราคาอยู่ที่ 2,000 เยนต่อวัน หรือ 10,000 เยนต่อปี ซึ่งอุปกรณ์นำไปหารายได้ มีเพียงคันเบ็ดยาว 9 เมตร เหยื่อล่อ และชุดสำหรับตกปลาเท่านั้น วันไหนมือฉมังตกได้เยอะ เหลือจากแบ่งขายตัวละ 1,000 เยนแล้ว จะเผื่อแผ่แบ่งปันให้เพื่อนบ้านด้วย

เหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันช่วงค่ำเห็นเพียงดาวลอยอยู่บนท้องฟ้า รูปร่างแปลกตากว่าเมืองไทย เราทยอยเดินเข้าบ้านพักคล้ายโฮมสเตย์หลังละ 2-3 คน โดยมีเจ้าของบ้านออกมาต้อนรับ พร้อมจุ๊ จุ๊ ปากส่งสัญญาณให้ทุกคนอยู่ในความสงบ โดยไม่รบกวนผู้มาเยือนคนก่อนหน้า แยกย้ายเข้าห้องพักที่มีเพียงเบาะนอน โต๊ะน้ำชา พัดลม เรียกว่าบ้านญี่ปุ่นขนานแท้ ซึ่งห้องน้ำรวมจะมีกฎกติกาให้ใช้ได้ไม่เกิน 5 ทุ่มถึงก่อน 7 โมงเช้า ส่วนออเซ็นตามธรรมชาติใคร่ใช้ได้ตามสะดวก

เวลาตั้งปลุกดังกังวานช่วงเช้าตรู่ เตือนให้ลุกขึ้นมาทานอาหารเช้า หน้าตาแปลก ๆ อย่าง “เต้าเจี้ยวหมักหมูย่างบนใบไม้” มาพร้อมเซตข้าว ผักดอง ไข่ต้ม และสาหร่าย ก่อนจะเช็กเอาต์พ้นชายคาออกมาจึงได้รู้ว่า โฮมสเตย์นี้คือ 1 ใน 110 หลังคาเรือนเรียงรายของหมู่บ้าน “มรดกโลกชิราคาวา-โก” นึกรู้ได้จากหลังคามุงข้าวฟ่างเอียงทำมุม 60 องศา ทรง “กัสโซสุคุริ” อันเป็นเอกลักษณ์ คำว่า “กัสโซ” มีความหมายว่า พนมมือ บ่งบอกรูปร่างหลังคาคล้ายสองมือพนมเข้าหากัน ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมในการต่อสู้กับหิมะที่ตกหนักหน่วง สูงกว่า 2-3 เมตร ซึ่งช่วยให้หลังคาและตัวบ้านไม่พังทลายลงมา

ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ซึ่งเจ้าของบ้านเต็มใจเปิดบ้านให้ชม แบบไม่ต้องย่องตีท้ายครัวแต่ประการใด “วาดะซัง” สืบสานมรดกจากบรรพบุรุษ เปลี่ยนบ้าน 3 ชั้นอายุ 300 กว่าปี ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์” แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ยิ้มแย้มเล่าให้ฟังว่า เคล็ดลับการสร้างบ้านแบบนี้ จะใช้ไม้เป็นโครง คาน และเสา ไม่ตอกตะปูแต่ผูกรัดด้วยเชือกฟาง บางส่วนใช้เถาวัลย์หรือหวาย ซึ่งมีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศดีเยี่ยม โดยจะมีการซ่อมแซมทุก 30-40 ปี รวมไปถึงการเปลี่ยนหลังคาเมื่อหมดอายุการใช้งานด้วย

ชีวิตอาจเดินช้าลงเพราะการใช้ใจสัมผัสวิถีชีวิตหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ อาจเดินทอดน่องดูร้านรวง สลายเงินเยนไปกับของที่ระลึก อาทิ ตุ๊กตาซารุโบะโบะ, โมบาย, ขนม, ไอศกรีม หรือจะเลือกนั่งจิบกาแฟ ก็มีร้านเก๋ ๆ ให้ผ่อนคลายอิริยาบถ เหมือนกับ “อาจารย์เออิจิโร่ โอดะ” นักเขียนการ์ตูนชื่อดังอย่าง “วันพีซ” ที่ถ่ายทอดความประทับใจ เขียนการ์ตูนลงสมุดบันทึกให้เจ้าของร้าน จนอดใจอวดลายเส้นที่ระลึกให้คนสั่งกาแฟแก้วต่อ ๆ มาได้ชมกันอย่างตื่นเต้นไม่ได้

เย็นนี้เราข้ามเขตมายัง เมืองมัตสึโมโต้ จังหวัดนางาโนะ ต้องขอบอกว่าครั้งนี้โชคดีจริง ๆ เพราะทันได้เที่ยว “เทศกาลมัตสึโมโต้ชิโระ ไทโกะ” วันสุดท้ายพอดี เสียงตีกลองดังระรัวเร้าใจ สลับหนัก-เบา มีจังหวะจะโคน เร่งให้รีบสาวเท้าก้าวเข้าไปชมใกล้ชิด ซึ่งพอจะแทรกร่างฝ่าฝูงชนเข้าไปดูมือตีชาย หญิง ทีมแล้วทีมเล่า สลับกันขึ้นโชว์ลีลาเข้มแข็ง เหงื่อแตกซิก ผ่านทัศนียภาพฉากหลังของ ปราสาทมัตสึโมโต้ ซึ่งเทศกาลนี้จัดขึ้นราวเดือน ก.ค. เป็นประจำทุกปี ช่วยแต่งเติมสีสันช่วงฤดูร้อนให้มีเสน่ห์อย่างเหลือล้น

มาแดนปลาดิบทั้งที ก็ต้องไปดูเครื่องเคียงดับคาวอย่าง “วาซาบิ” กันบ้าง ต้องขอบคุณ “ไดโอวาซาบิ” ไร่ปลูกวาซาบิใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งออกสิทธิพิเศษพาไปดูไร่แบบ “มิดชิด” เพราะปกติไม่อนุญาตกรณีใด ๆ ให้นักท่องเที่ยวลงไปเชยชมโดยเด็ดขาด เมื่อมาถึงแปลงผลผลิตวาซาบิที่ลับหูลับตาคน เราก็เปลี่ยนรองเท้าบู๊ตย่ำธารน้ำสะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งละลายจากหิมะไหลลงมาจากภูเขา หล่อเลี้ยงต้นวาซาบิหล่อรวมกับดินตะกอนอันอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีบำรุงต้นวาซาบิให้เจริญงอกงาม

มองผิวเผินต้นวาซาบิใบสีเขียวสด ช่างละม้ายคล้ายต้นใบบัวบกไม่ปาน ทั้งที่เป็นพืชตระกูลเดียวกับบรอกโคลีและกะหล่ำ เจ้าหน้าที่ยังใจดี ดึงต้นยกลำโคน แกว่งน้ำล้างดินยื่นให้ชิมกันสด ๆ งานนี้เราจึงกัดโคนเข้าเต็มคำ เคี้ยวกรึบกรับพอออกรสซ่านลิ้นเล็กน้อย แต่เผ็ดขึ้นจมูกไม่รุนแรงเท่าวาซาบิในปลาดิบ สงสัยว่าท้องคงเสาะไม่ชินกับวาซาบิสดเช่นนี้นัก จึงทำปฏิกิริยาสร้างอาการปั่นป่วน น้ำย่อยเอ่อท้นท่วมคอ จนต้องรีบวิ่งปร๋อหนีขึ้นบนฝั่ง ด้วยเกรงว่าจะอาเจียน ทำแปลงวาซาบิเขาเสียหายเสียก่อน

คนโบราณว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” แม้จะเป็นช่วงฤดูร้อนเต็ม ๆ หากคิดขึ้นโรปเวย์ชมวิวบน เทือกเขาโคมากาตาเกะ เมืองโคมาตาเนะ ควรพกเสื้อกันหนาวมาด้วย เพราะอากาศด้านบนวัดอุณหภูมิได้ที่ 12 องศาเซลเซียส เทือกเขานี้สูงเสียดฟ้าจากระดับน้ำทะเล 2,612 เมตร ถือว่าสูงที่สุดในญี่ปุ่น เฉือนเอาชนะดอยอินทนนท์บ้านเรา ซึ่งสูง 2,565 เมตรไปเล็กน้อย แต่ระยะทางคดเคี้ยวสูงชัน เผลอทำให้นึกว่า เรากำลังนั่งรถโขยกเขยกขึ้นดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ จนได้เห็นต้นไม้รายล้อมโอบกอดตลอดเส้นทาง หนาแน่นทึบแปลกตา ก็ช่วยดึงสติกลับออกมาจากภวังค์

โคมากาตาเกะ โรปเวย์ เป็นโรปเวย์ที่สูงที่สุด มีความยาว 1 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว 25-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาขึ้น-ลง 7.30 นาที หลังแอบท้าทายจับเวลา ต้องขอบอกว่าตรงเป๊ะ! ขณะอยู่ในกระเช้า เจ้าหน้าที่บอกว่า เราจะได้เห็นความงดงามถึง 2 ยอดเขาด้วยกันคือ แอลป์ญี่ปุ่น และฟูจิ น่าเสียดายว่าวันนั้นอากาศไม่เอื้ออำนวย มีหมอกหนา ช่างคล้ายใครกลั่นแกล้งก่อกองไฟก้อนมหึมา บดบังทัศนียภาพเสียอย่างนั้น แต่เมื่อขึ้นมาเห็นอุทยานธรรมชาติขนาดใหญ่ มีดอกไม้นานาพันธุ์ 150 ชนิด ขึ้นสลับสับหว่างประดับภูเขา โดยเฉพาะ “ดอกโคบาย เคโซ” ซึ่งหาชมได้ยาก จะผลิบาน 4-5 ปีต่อครั้ง ความรู้สึกเสียดายก็มลายหายไป

หลงป่ามาหลายวันก่อนเดินทางกลับ เราย้ายจากป่าสู่ เมืองนาโงย่า มาชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุด (อีกแล้ว) ของญี่ปุ่น เมื่อมาถึงเราก็เห็นคนอดทน ยืนต่อแถวยาวเหยียดเป็นระเบียบ เฝ้ารอเวลาเปิด 09.00 น. ซึ่งบัตรเข้าชมเริ่มคิดตั้งแต่เด็ก ม.4 ขึ้นไป สนนราคา 400 เยน และ 800 เยนถ้าพ่วงดูท้องฟ้าจำลอง ความน่าตื่นเต้นบรรจุอยู่ทุกมุมความรู้ ไม่ว่าจะจำลองพายุทอร์นาโด ห้องจำลองสายฟ้า ซึ่งปล่อยกระแสแรงถึง 1,200,000 โวลต์ ให้ลั่นเปรี้ยงปร้าง เล่นเอาหูอื้ออึงกับเสียงฟ้าคำราม หรือห้องจำลองสภาพอากาศหนาว ติดลบถึง 30 องศาเซลเซียส เล่นเอาปากคอสั่นฟันกระทบหงึกหงักได้ใจ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงให้ความสนใจกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นัก

หลังกล่าวคำ “ซาโยนาระ” ร่ำลาเจ้าหน้าที่ จ.นาโงย่า ซึ่งคอยยืนโบกมือส่งจนลับตาที่สนามบินเซ็นแทร์ นาโงย่า แล้ว ช่วงเวลาเดินทางสู่เมืองไทย เรามีรอยยิ้มบาง ๆ ผุดขึ้นบนใบหน้า และจดบันทึกในความทรงจำว่า “ไดสุกิดะ” ฉันเริ่มหลงรักญี่ปุ่นเข้าแล้ว.

............................

รู้ไว้ก่อนเที่ยว

อุณหภูมิ-ช่วงหน้าร้อนเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 15-35 องศาเซลเซียส

อัตราเงินแลกเปลี่ยน-100 เยน ประมาณ 40 บาท

เวลาท้องถิ่น-เร็วกว่าเมืองไทย 2 ชั่วโมง

กระแสไฟฟ้า–ใช้ 110 โวลต์ ควรเตรียมอะแดพเตอร์แบบสองขาแบนไปด้วย

แหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ–จังหวัดกิฟุ ยังมีเมืองโบราณอย่าง ทาคายาม่า แวะซื้อ ซารุโบะโบะ ตุ๊กตาสีแดงน่ารักได้ “ซารุ” แปลว่า ลิง “โบะโบะ” แปลว่า เด็ก ชาวญี่ปุ่นสมัยก่อนนิยมเย็บให้เด็กอ่อน เป็นตัวปกป้องจิตใจ ปัจจุบันกลายเป็นของขวัญของฝาก คล้ายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

จังหวัดนางาโนะ นอกจากไร่วาซาบิแล้ว ยังมี บลูเบอร์รี่ ให้เลือกเก็บกินสด ๆ เก็บเต็มถ้วยในไร่ เพียง 1,000 เยน และยังสนุกสนานกับคอร์สทำแยมบลูเบอร์รี่ง่าย ๆ ได้อีกด้วย

เมืองนาโงย่า มีร้านอาหารเก่าแก่ชื่อ “โฮไรเค็น” ขายเฉพาะเมนูปลาไหลมากว่า 137 ปี ขึ้นชื่อด้านความอร่อย แนะนำให้เผื่อเวลาไปต่อแถวรอ.

ทีมวาไรตี้@เดลินิวส์
วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2554










ไม่มีความคิดเห็น: