หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ปีนัง

ปีนัง : พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย โดยศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์



ครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ และสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี ในปีพ.ศ.2325 นั้น ภายหลังได้เกิดสงคราม 9 ทัพ โดยครั้งนั้นพม่าได้เข้าตีประชิดถึงหัวเมืองทางภาคใต้ ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสุรสีหนาทเสด็จไปปราบพม่าปัจจามิตรถึงภาคใต้ ครั้นมีชัยเหนือพม่าแล้วได้ผนวกหัวเมืองภาคใต้ไว้เป็นเมืองประเทศราช ซึ่งขณะนั้น เกาะปีนัง หรือที่คนไทยเรียกว่า เกาะหมาก ขึ้นกับเมืองไทรบุรี



ทางฝ่ายเจ้าเมืองไทรบุรี หรือที่ในปัจจุบันคือรัฐเคดาห์ ของประเทศมาเลเซีย ภายหลังมีใจออกห่างจากรัฐสยาม จึงยื่นข้อเสนให้อังกฤษเช่าเกาะหมาก หรือเมืองปีนัง เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเองให้พ้นจากอิทธิพลของรัฐสยามในขณะนั้น โดยในครั้งนั้น ชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ฟรานซิส ไลท์ ได้เป็นผู้ทำการแทนรัฐบาลอังกฤษ ในนามบริษัทบริติชอีสต์อินเดีย ทำการเช่าเกาะปีนังนับแต่ปีพ.ศ.2329 การณ์ครั้งนั้นเท่ากับทำให้รัฐสยามเสียดินแดน ซึ่งคือเมืองปีนัง เป็นครั้งแรก

อันที่จริงแล้วการเช่าเกาะปีนังของอังกฤษ เป็นกุศโลบายที่จะสร้างเมืองท่าคู่แฝด อันมีเกาะปีนัง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และเกาะสิงคโปร์อยู่ทางทิศใต้ เพื่อเป็นจุดรับส่งสินค้าระหว่างทะเลอินเดีย และทะเลจีนใต้ ทั้งนี้เพื่อลดบทบาทการเป็นเมืองท่าของฮอลันดา ที่ช่องแคบเมืองมะละกา ที่มีมาช้านาน ผลจากการสร้างเมืองปีนัง และสิงคโปร์ เป็นเมืองท่าทางการค้าคู่แฝดนี้ ภายหลังได้ทำให้เมืองท่ามะละกา ที่เป็นเมืองท่าสำคัญมาแต่โบราณ ยุติบทบาทลงได้จริงในที่สุด

ซึ่งอังกฤษมีการบริหารการจัดการ ที่ชาญฉลาดกล่าวคือ ให้เกาะปีนัง และสิงคโปร์เป็นเมืองท่าเสรี มีการค้าปลอดภาษี ตลอดจนไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการจอดเรือ จึงเป็นเหตุให้มีการค้าเกิดขึ้นอย่างหนาแน่น สร้างรายได้ให้แก่อังกฤษเป็นอันมาก สำหรับเมืองปีนังภายหลังที่ถูกครอบครองโดยชาวอังกฤษแล้ว ได้ตั้งชื่อเมืองให้เป็นอังกฤษเสียใหม่ว่า “เกาะปรินส์ออฟเวลส์” และมีเมืองหลวงชื่อว่า “เมืองจอร์จทาวน์” ตามชื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 กษัตริย์อังกฤษขณะนั้น

ได้มีเกร็ดเล่าว่า แต่เดิมเกาะปีนังเป็นป่ารกมาก หาคนมาแผ้วถางได้ยาก แต่แล้ว เซอร์ฟรานซิสไลท์ ได้ยิงเหรียญเงินเข้าไปในป่าเป็นจำนวนมาก แล้วประกาศว่า ใครอยากได้เงินก็ถางป่าหาเอาเอง ในเวลาไม่นานป่านั้นก็ราบเป็นหน้ากลอง และว่ากันว่า ป่าที่โยนเหรียญเข้าไปนั้น ก็คือที่ศาลาว่าการของรัฐปีนังในปัจจุบัน ตามที่ได้นำภาพมาแสดงในครั้งนี้ การเข้าไปมีอิทธิพลของอังกฤษ ทำให้เกาะปีนัง มีอาคารบ้านเรือน ตลอดจนสถานที่ราชการงดงาม ตามแบบโคโลเนียลอังกฤษ เกาะปีนังจึงเป็นเมืองอังกฤษน้อยแต่หนหลัง ที่ควรค่าแก่การทัศนาไม่น้อยทีเดียวครับ

พรุ่งนี้ไปต่อที่เมือง “มะละกา” เมืองท่าที่เคยเป็นของสยาม เมื่อครั้งอยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อนกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น: