สำหรับนักเดินทางทุกคน ดินแดนสุดขอบฟ้าอันเร้นลับที่เข้าถึงยาก มักจะมีเสน่ห์เย้ายวนให้ดั้นด้นออกเดินทางเพื่อไปค้นหาเสมอ เพราะใครๆ ก็อยากซอกแซกไปเสาะหาดินแดนที่ถูกเรียกว่าเป็นสวรรค์ชั้นสุดท้ายของชาวโลกด้วยกันทั้งนั้น ถ้าพูดถึง The Last Shangrila ในฝั่งอินเดีย จะเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจาก เมืองเลห์ (Leh) ดินแดนสุดขอบฟ้าบนชายคาชมพูทวีปที่นักเดินทางผู้ไม่รังเกียจความยากลำบากพากันมุ่งหน้าไปที่นั่น เพื่อชันสูตรว่าเลห์คือแผ่นดินใต้เงางามแห่งหิมาลัยที่พวกเขาตามหาอยู่หรือไม่
จากกรุงเทพฯ ฉันบินไปตั้งต้นที่เดลีด้วยสายการบินแอร์เอเชีย (www.airasia.com) ก่อน ทั้งที่จริงเขาเปิดเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ-เดลลี และกรุงเทพฯ-กัลกัตตามาได้พักหนึ่งแล้ว ใช้เวลาบิน 4 ชั่วโมงเศษๆ เรื่องเครื่องก็หายห่วง การันตีว่าเครื่องเขาใหม่จริงๆ เพราะเที่ยวนี้อัตคัดเรื่องเวลา พอถึงเดลีก็บินต่อจากเดลีไปหาเลห์เลย ใช้เวลาบินประมาณชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงเลห์แล้ว
เสร็จเรื่องเดินทางก็มาจัดการเรื่องที่พักกันต่อ ทีแรกก็คิดว่าเมืองที่แห้งแล้งความเจริญอย่างเลห์อาจจะมีที่พักให้เลือกไม่เยอะ ที่ไหนได้พอคลิกเข้าไปดูในเว็บไซต์อโกดา (www.agoda.co.th) ก็ต้องบอกว่ามีให้เลือกไม่น้อย แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ช่วงที่ไปมีเทศกาลใหญ่ประจำปีพอดี ใครๆ ก็อยากไปเที่ยวในช่วงนี้ โรงแรมส่วนใหญ่ชิงเต็มไปซะก่อน ยังดีที่โรงแรม Antelope พอมีห้องพักเหลืออยู่บ้าง เราเลยมีที่พักให้จับจอง โรงแรมนี้ทำเลค่อนข้างดี เดินไม่ถึง 5 นาที ก็ถึงถนนสายหลักของเมืองแล้ว
ถึงจะลัดฟ้ามาหาเลห์ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ แต่ยังไม่กล้าออกตัวเที่ยว เพราะถูกเพื่อนฝูงเตือนมาเยอะเรื่องอาการแพ้ความสูง แล้วก็เป็นไปตามคำขู่ทุกประการ มาถึงก็ถูกแอลติจูด ซิกเนสเล่นงานพอหอมปากหอมคอ แต่อาการยังเบาบางกว่าเมื่อตอนแบกเป้ไปเที่ยวสิกขิม ทิเบต และเปรูเยอะ เพราะแค่มึนหัวพอประมาณ ใช้เวลาพักผ่อนและปรับตัวประมาณวันหนึ่งก็คุ้นเคยกับความสูงของเลห์แล้ว
จะว่าไปแอลติจูด ซิกเนสก็ไม่ได้เลวร้าย หน้าที่ของมันเพียงแต่จะย้ำเตือนว่า เราก็เป็นแค่คนแปลกหน้าของเลห์ ที่ก่อนจะได้ทำความรู้จักกับเมืองในหุบหิมาลัย ก็ต้องผ่านบททดสอบอันโหดหินนี้ไปให้ได้ซะก่อน
ถ้านับจากจำนวนปีก็น่าจะประมาณ 37 ปีแล้ว ที่อินเดียแหวกม่านหิมาลัยให้ชาวโลกได้รู้จักกับหมู่บ้านเล็กๆ ที่ทอดตัวอยู่ในหุบเขาอย่างสงบงาม นับตั้งแต่นั้นมา เลห์แห่งแคว้นลาดัค ก็ไม่ใช่เมืองลับแลอีกต่อไป จากเดิมพื้นที่บริเวณเหนือสุดของประเทศ ซึ่งเชื่อมกับพรมแดนจีนและปากีสถาน ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเชิงการเมืองการปกครอง แต่เมื่ออินเดียเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว แคว้นลาดัคจึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เหล่านักผจญโลกดั้นด้นฝ่าอุปสรรคและถิ่นทุรกันดารเพื่อมาเห็นชุมชนโบราณแห่งนี้
ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเลห์เกิดขึ้นเมื่อไหร่ บ้างก็ว่าก่อนจะเป็นชุมชนเช่นนี้ กว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา มีพวกชาวเผ่าต่างๆ อพยพมาจากทั้งฝั่งทิเบต และปากีสถาน นั่นทำให้ทุกวันนี้ชาวแคว้นลาดัคจึงมีหน้าตากระเดียดไปทางจีนก็จริง แต่บนใบหน้าก็ฉายความคมเข้มอวดผู้พบเห็น
ต่อมาพวกเขาก็เริ่มก่อร่างสร้างเมืองและยกระดับลาดักขึ้นเป็นรัฐอิสระได้สำเร็จ โดยมีกษัตริย์ปกครองและฝังรากศาสนาพุทธลงบนแผ่นดินลาดัค นับจากนั้น แคว้นลาดัคก็ค่อยๆ ขยับขยายเติบใหญ่ขึ้น ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจและการปกครองของกลุ่มต่างๆ แต่พุทธศาสนายังคงฝังรากลึกในจิตใจของผู้คน จากนั้นราชวงศ์ก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง และช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ลาดัคจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นจัมมูแคชเมียร์
ความสำคัญของลาดัคยังอยู่ที่เป็นเมืองบนเส้นทางการค้าระหว่างจีน ทิเบตและแถบเอเชียกลาง เรียกว่าเป็นชุมทางการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศาสนาของผู้คนก็จึงเกิดขึ้นไปโดยปริยาย และเพราะแบบนี้เลยทำให้คนลาดัคติดนิสัยชอบทำการค้ามาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับตัวเมืองเลห์เอง ต้องบอกว่าเป็นเมืองใหญ่และศูนย์กลางของแคว้นลาดัคที่มีผู้คนอาศัยอยู่ราวๆ 3 หมื่นกว่าคนเท่านั้นเอง ย่านใจกลางเมืองก็ไม่ได้ใหญ่โตมากนัก เดินเที่ยวได้สบายๆ แต่ไม่สบายก็ตรงเรื่องอากาศที่เบาบาง ทำให้เหนื่อยง่าย เร่งสปีดตามใจเท้าไม่ได้มาก สิ่งที่ทำได้คือค่อยๆ ก้าวขาอย่างช้าๆ จะเรียกว่าเนิบนาบสัญจรก็ได้
ฉันอุ่นครื่องด้วยการเดินสำรวจตัวเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่รีบเร่ง ย่านเมน บาซาร์ เป็นถนนใจกลางเมืองที่มีร้านค้าตั้งเรียงรายรอการจับจ่ายของนักเดินทาง ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกร้านขายของที่ระลึก แต่ถ้าเป็นพวกร้านอาหารเขาจะทำบนดาดฟ้าของอาคารให้นั่งบริโภควิวทิวทัศน์ไปในตัวด้วย
นอกจากนี้บนถนนสายกลางเมืองก็ยังมีพวกออฟฟิศสายการบิน และทราเวล เอเย่นต์ตั้งอยู่เต็มไปหมด เพราะการท่องเที่ยวในเลห์ไม่ได้จบอยู่แค่ตัวเมือง แต่ยังมีหมู่บ้านอยู่รายรอบเลห์รอการไปเยือนของนักท่องเที่ยวอีกมากมาย
มุมหนึ่งของเมน บาซาร์ เป็นตลาดขายผักสดและผลไม้ ที่วางขายกันริมถนนเลย จะเห็นว่าไม่ได้มีแค่ชาวเมืองเท่านั้นที่มาอุดหนุน แต่นักท่องเที่ยวหลายคนที่มาปักหลักอยู่นานๆ หอบหิ้วผักพวกนี้กลับไปทำอาหารกินที่เรือนพักด้วย
ย่านใจกลางเมืองช่างพลุกพล่านไปด้วยนักเดินทางหลากสัญชาติ ท่ามกลางเสียงตะโกนโหวกเหวกเชื้อเชิญให้แวะเข้าไปดูสินค้าในร้านของพวกเขา บนท้องถนนยังคงถูกแทรกไว้ด้วยประชากรวัวที่เดินเหินบนเมน บาซาร์ ก็เป็นแบบนี้แทบทุกเมือง ที่ท้องถนนอินเดียไม่ได้มีไว้ให้รถหรือมนุษย์เท่านั้น แต่วัวก็ใช้บริการได้อย่างอิสระ
แต่อะไรคงไม่น่าดูเท่าผู้คนเจ้าถิ่นที่เขาแต่งเนื้อแต่งตัวกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่เราอาจเห็นเขานุ่งยีนและห่อห่มอาภรณ์ด้วยอาภรณ์สมัยใหม่ แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่า ผู้ชายเขาจะสวมกางเกงตัวยาวแล้วมีเสื้อชุดยาวสีน้ำตาลเข้มหรือสีเทากรอมเท้าคลุมทับไว้ด้านนอก ด้านหน้าติดกระดุม ตั้งแต่คอพาดเฉียงมายังด้านข้างลำตัว แล้วใช้ผ้าชิ้นเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่สีชมพูหรือไม่ก็ฟ้า คาดเอวแทนเข็มขัด และสวมหมวกหนังใบโต ในมือถือประคำพวงโตเอาไว้ด้วยเสมอ
ส่วนพวกผู้หญิง ส่วนใหญ่จะไว้ผมเปียยาวสองข้าง สวมชุดคลุมยาวเป็นกระโปรงกรอมเท้าสีดำ น้ำเงินหรือไม่ก็น้ำตาล จัมพ์ตรงช่วงเอว ผู้หญิงบางคนสวมใส่เครื่องประดับครบเซตทั้งสร้อยคอที่เป็นหินสี กำไล ตุ้มหู แต่แน่นอนในมือของพวกเธอไม่เคยขาดลูกประคำหรือไม่ก็กงล้อภาวนา ยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลงานประเพณี พวกเธอจะใส่เครื่องประดับแบบเต็มยศมากกว่านี้ เช่น บนหัวก็จะมีเครื่องประดับที่เรียกว่าเปรัคสวมมาด้วย เท่าที่สังเกต ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ในยามปกติ ปากก็จะงึมงำอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีเรื่องอะไรให้บ่น แต่พวกเธอสวดมนต์ภาวนาในทุกลมหายใจเข้าออก
ชีวิตที่เรียบง่าย ผูกพันกับธรรมชาติ มีความสุขจากสิ่งรอบตัว ในเวลาเดียวกันยังมุ่งมั่นในศรัทธาต่อพุทธศาสนา นี่แหละ ชีวิตเบาสบายของชาวแคว้นลาดัค
โดย กาญจนา หงษ์ทอง
คอลัมน์เที่ยวนี้ขอเล่า@คมชัดลึก
วันที่ 18 กันยายน 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น