หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันความฝันกับความจริง

นโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับราคาพลังงาน โดยยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการชั่วคราว ในส่วนของน้ำมันเบนซิน 95 และเบนซิน 91 รวมทั้งน้ำมันดีเซลนั้น

แม้จะเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสามารถอนุมัติได้เลย แต่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ ในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนและศูนย์กลางเอทานอลในภูมิภาค อาเซียน

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน ระบุว่า การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของเบนซิน 91 และ เบนซิน 95 จะทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน 91 ลดลงประมาณ 6.70 บาท จากราคาในปัจจุบันอยู่ที่ 42.64 บาท ลดลงเหลือ 35.94 บาท และเบนซิน 95 ลดลงประมาณ 7.50 บาท จากราคาในปัจจุบัน 48.44 บาท ลดลงเหลือ 40.95 บาท ขณะที่ในส่วนของดีเซล กองทุนน้ำมันฯ เข้าไปตรึงราคาอยู่ที่ 29.99 บาทต่อลิตร หากยกเลิกจะส่งผลให้ดีเซลลดลง 1.80 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาปรับลงมาอยู่ที่ประมาณ 28.19 บาทต่อลิตร


อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 35.24 บาทต่อลิตร ราคาต่ำกว่าเบนซิน 91 เพียง 70 สตางค์ แต่หากยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนของแก๊สโซฮอล์ 91 ลงอีก 10 สตางค์ต่อลิตร ก็จะทำให้ราคาห่างกันเพียง 80 สตางค์เท่านั้น ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 มีราคาอยู่ที่ 37.74 บาทต่อลิตร ถ้าเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนของแก๊สโซฮอล์ 95 ในอัตรา 2.40 บาทต่อลิตร จะมีราคาห่างกัน 5.61 บาท ส่งผลให้ประชาชนจะหันกลับไปใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนจากน้ำมันเบนซิน 95 และ 95 นั้น จะทำให้กองทุนมีเงินที่จะเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่รัฐบาลชุดผ่านๆ มาได้ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในส่วนของน้ำมันอี 20 และอี 85 นั้น ก็จะได้รับผลกระทบรุนแรง โดยในขณะนี้น้ำมันอี 20 ราคาอยู่ที่ 34.34 บาทต่อลิตร ราคาจะต่ำกว่าเบนซิน 91 เพียง 1.60 บาทต่อลิตร แต่ถ้าตัดเงินช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันที่อุดหนุนอยู่ที่ 1.30 บาทต่อลิตร ราคาก็จะถูกกว่าเพียง 30 สตางค์ต่อลิตร

ส่วนอี 85 จะมีราคาต่างจากเบนซิน 91 เพียง 13.60 บาทต่อลิตร หากยกเลิกเงินอุดหนุนจากกองทุน ที่ให้ลิตรละ 13.50 บาท ก็จะมีราคาต่างกันเพียง 10 สตางค์ต่อลิตร เนื่องจากมีเนื้อของเอทานอลสูงถึง 85% ที่มีราคา 24.28 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีราคาใกล้เคียงกันมาก ประกอบกับน้ำมันยิ่งมีเอทานอลผสมอยู่มากอัตราการสิ้นเปลืองการใช้ก็สูงขึ้น ตามไปด้วย

ดังนั้น หากทำตามนโยบายดังกล่าวโดยไม่มีมาตรการรองรับให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่าง จากเบนซินธรรมดาอย่างน่าพอใจ ประชาชนก็จะหันไปใช้เบนซินธรรมดาแทน ซึ่งจะส่งผลเสียถึงการพึ่งพาพลังงานภายในประเทศ และภาคเอกชนที่ได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก

ในเรื่องผลกระทบต่อก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี หากไม่มีเงินจากกองทุนเข้ามาช่วยเหลือ ราคาแอลพีจี ก็จะพุ่งไปถึงกิโลกรัมละกว่า 33.13 บาท จากปัจจุบันที่ราคากิโลกรัมละ 18 บาท ทำให้ราคาขายแอลพีจีครัวเรือนเพิ่มจาก 280 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็น 450-500 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม

เงินที่รัฐอุดหนุนแอลพีจีนี้มีจำนวนมากถึง 4,000 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็นเงินที่เข้าไปอุดหนุนหน้าโรงกลั่น 2,000 ล้านบาท และการนำเข้าอีก 2,000 ล้านบาท

ขณะที่ เอ็นจีวี หากไม่มีเงินจากกองทุนอุดหนุน ราคาก็จะพุ่งจาก 8.50 บาท เป็น 14.50 บาท โดยในแต่ละเดือนกองทุนเข้าไปอุดหนุนเกือบ 400 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาระกองทุนที่ต้องเข้าไปอุดหนุนพลังงานทดแทน อี 20 อี 85 แอลพีจี และเอ็นจีวี จะมีจำนวนสูงถึง 4,600 ล้านบาท หากในอนาคตมีการใช้น้ำมัน อี20 และ อี85 เพิ่มขึ้น ภาระเงินอุดหนุนตรงนี้ก็จะมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ หากรัฐบาลจะใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงระยะสั้น 1-2 เดือน กองทุนน้ำมันฯ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่หากมีการใช้ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพกองทุนน้ำมันฯ เมื่อคำนวณเม็ดเงินที่ใช้อุดหนุนราคาพลังงานทั้งหมดจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบประมาณ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญที่รัฐบาลเพื่อไทยจะต้องหาทางออกนำเงินจากส่วนอื่นมาอุดหนุนตรงนี้
สำหรับแนวทางที่จะหาเงินเข้ามาช่วยดูแลราคาแทนเงินกองทุนนั้น มีอยู่หลายแนวทาง เช่น การเก็บภาษีป้ายรถยนต์เพิ่ม การเก็บภาษีรถยนต์ราคาแพงที่ใช้น้ำมันมาก เป็นต้น ส่วนเงินอุดหนุนแอลพีจี ที่เป็นภาระหลักของกองทุน ก็อาจจะมีแนวทางยกภาระนี้ไปใช้เงินจากส่วนอื่น เช่น เงินค่าภาคหลวง ที่รัฐบาลเก็บจากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติและพลังงาน ที่ได้จากการผลิตภายในประเทศ ประมาณปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท แต่ก็คงต้องมีการนำมาใช้เพียงบางส่วน เพราะเงินก้อนนี้เป็นรายได้ของประเทศที่ต้องนำไปใช้ในด้านอื่นอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงที่รัฐบาลใหม่จะต้องนำไปหารือ อย่างบูรณาการ

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนวทางการตั้งคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เพื่อเข้ามาแทนกองทุนน้ำมันฯ หรือทำร่วมกับกองทุนน้ำมันฯ ในฐานะที่ไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่รายหนึ่ง จึงควรจะมีการตั้งคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์
ในต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ก็มีคลังสำรองนี้ จีนมีสำรอง 90 วัน รัฐบาลเป็นเจ้าภาพซื้อน้ำมันตอนที่ราคาถูกไว้ใช้เมื่อมีราคาแพง โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะเสนอรัฐบาลต่อไป

สำหรับภาระกองทุนน้ำมันเชื้อ เพลิงในขณะนี้ มีเงินไหลเข้าจากน้ำมันเบนซิน 95 ประมาณ 16 ล้านบาทต่อเดือน จากเบนซิน 91 จำนวน 1,413 ล้านบาทต่อเดือน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 จำนวน 478 ล้านบาทต่อเดือน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 จำนวน 16 ล้านบาทต่อเดือน น้ำมันดีเซล 2,311 ล้านบาทต่อเดือน น้ำมันเตา 11 ล้านบาทต่อเดือน รวมเงินเข้ากองทุนประมาณ 4,200 ล้านบาทต่อเดือน แต่มีเงินที่ต้องชดเชยออกไปประมาณ 4,600 ล้านบาท ทำให้ฐานะกองทุนติดลบ 1,132 ล้านบาท แต่มีเงินสดสุทธิอยู่ในมือประมาณ 22,535 ล้านบาท มีเงินคงเหลือในบัญชี 21,403 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เป็นไปได้ของรัฐบาลชุดใหม่ น่าจะเป็นการนำเงินค่าภาคหลวงปิโตรเลียมมาใช้อุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพราะสามารถใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติได้เลย เพียงแต่ต้องออกระเบียบกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 และมาตรา 24 ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502

วิธีการนำเงินค่าภาคหลวงมาใช้หรือขอยกเว้นนำส่งรายได้เข้าแผ่นดินนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถใช้อำนาจนำเงินดังกล่าวพักไว้อยู่ที่ส่วนราชการที่ทำหน้าที่จัดเก็บ ในกรณีค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ก็คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่จะดูแลและบริหารจัดการเงินรายได้ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเงินนอกงบประมาณ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ผ่านระบบงบประมาณและไม่ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภา ซึ่งอาจยกเหตุผลในการใช้เงินว่านำไปอุดหนุนการผันแปรของราคาน้ำมัน หรือ อุดหนุนราคาพลังงาน โดยในแต่ละปีรายได้จากค่าภาคหลวงอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

บทสรุปของผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้หมายความทีมงานด้านเศรษฐกิจของพรรค เพื่อไทยจะไม่รู้ เช่นเดียวกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ว่าจะยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อ "กระชากค่าครองชีพ"

แต่ที่พูดออกมาอย่างนั้น ก็เพื่อซื้อใจประชาชนที่กำลังประสบปัญหาค่าครองชีพ และพรรคประชาธิปัตย์กำลังตกเป็นจำเลย   ไม่แปลกที่หลังรู้ผลการเลือกตั้ง ความจริงจึงค่อยๆ ปรากฏออกมา

คมชัดลึก 8 กค 54
---------------------------------------
เก็บข้อมูลไว้ก่อน

ไม่มีความคิดเห็น: