พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 แต่เพราะยังไม่ได้ราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีจึงเป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ไปก่อน จนกระทั่งเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 8 และทรงราชาภิเษกสมรสกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร โหรจึงได้คำนวณพระฤกษ์ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493
พระราชพิธีนี้มีมาแต่โบราณตามคัมภีร์พราหมณ์ รัชกาลที่ 1 ให้ศึกษาตำราพิธีเก่าแล้วกำหนดขึ้นเป็นคู่มือใช้สืบมา ทั้งยังโปรดให้จัดทำเครื่องใช้ต่าง ๆ ในพิธีอีกด้วย เช่น พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ไชยศรี พระราชบัลลังก์
รัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทำพิธีบรมราชาภิเษกในระบอบการปกครองใหม่นับแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ได้โปรดฯ ให้ยึดการทำพิธีครั้งสุดท้ายสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นหลัก แต่ให้ย่อลงเหลือเท่าที่จำเป็น และให้ผสมผสานกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้มาก
วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 เสด็จออกสรงน้ำมูรธาภิเษกซึ่งเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งน้ำทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ละจังหวัดควรปักป้ายบอกว่าที่ตรงนี้เคยส่งน้ำเข้าไปในพิธีบรมราชาภิเษก หลายแห่งตื้นเขินสกปรกควรขุดลอกและจัดการให้สะอาด
เสร็จแล้วเปลี่ยนฉลองพระองค์เสด็จเข้าไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณประทับเหนือพระแท่นไม้มะเดื่อ 8 เหลี่ยม (หมายถึงทิศทั้ง 8)
ชื่อพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงเลือกหันหน้าสู่ทิศบูรพาตามที่โหรให้ทรงเลือก
มีคำอธิบายว่าถ้าเลือกทิศนี้ประโยชน์สุขจะตกแก่ราษฎร แล้วทรงขยับไปทีละเหลี่ยมทีละทิศ เดิมพราหมณ์และราชบัณฑิตจะเข้าไปถวายน้ำอภิเษก แต่คราวนี้โปรดฯ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเป็นผู้ถวายน้ำในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย
พระแท่นอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ปักเศวตฉัตรนี้ต่อมาเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล และโปรดฯ ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหลายใช้เป็นตรามหาวิทยาลัย
ต่อจากนั้นเสด็จขึ้นประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งเป็นเก้าอี้เงินมีพนักสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 หัวหน้าพราหมณ์เข้าไปร่ายมนต์เชิญพระผู้เป็นเจ้าลงมาสถิตในพระองค์ และถวายราชสมบัติได้แก่เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค สิบสองท้องพระคลัง ทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาสวม บัดนั้นทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยบริบูรณ์
หัวหน้าพราหมณ์กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการซึ่งตรัสตอบว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แล้วเสด็จออกมหาสมาคมให้พระบรมวงศานุวงศ์
คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการเข้าเฝ้าฯ เสด็จไปทรงปฏิญาณพระองค์ที่วัดพระแก้วแสดงความเป็นพุทธมามกะ
พิธีอื่น ๆ ที่ตามมาคือการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี การให้ทูตานุทูตเฝ้าฯ และการประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน 1 ราตรี เอาฤกษ์ว่าขึ้นบ้านใหม่แล้ว
หลังจากนั้นพระราชกรณียกิจและพระราชภาระต่าง ๆ ก็ตามมาไม่รู้หมดรู้สิ้น แม้จนวันที่ยังประชวรเช่นในขณะนี้
การเมืองของประเทศในช่วงนั้นมิได้เรียบร้อยนัก ก่อนหน้านั้นมีขบถวังหลวงเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ศิษย์ของนายปรีดี พนมยงค์รวมตัวกันเข้ายึดบางส่วนของพระบรมมหาราชวัง รัฐบาลเข้าปราบปราม ยิงปืนเข้าไปจนประตูวังเสียหาย มีผู้บาดเจ็บล้มตาย ราษฎรในละแวกนั้นต้องอพยพจ้าละหวั่น รัฐบาลชนะ
ช่วงนั้นเราได้รัฐธรรมนูญที่ทันสมัยมากมาฉบับหนึ่งใน พ.ศ. 2492 สาเหตุเกิดจากประชาชนไม่พอใจรัฐบาลหาว่าเป็นมรดกมาจากการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2490 และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ รัฐบาลจึงแก้รัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใน พ.ศ. 2491 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นอันพอคลายวิกฤติไปได้
วิธีแก้ปัญหาแบบนี้เคยย้อนกลับมาใช้อีกหนใน พ.ศ. 2538
เมื่อประชาชนหาว่ารัฐธรรมนูญเป็นมรดก ร.ส.ช. และเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง รัฐบาลนายกฯ บรรหารจึงแก้รัฐธรรมนูญให้มีการจัดตั้งสภาร่าง
รัฐธรรมนูญจนได้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 มา ดู ๆ ไปแล้วการเมืองก็วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้แหละครับ
เรื่องใหญ่อีกเรื่องในคราวนั้นคือขบถแมนฮัตตัน ทหารเรือจำนวนหนึ่งจี้และจับนายกฯ จอมพล ป.พิบูลสงครามในขณะทำพิธีรับมอบเรือแมนฮัตตันจากสหรัฐอเมริกา แล้วนำตัวท่านลงเรือรบศรีอยุธยาแล่นออกไป รัฐบาลให้เครื่องบินกองทัพอากาศถล่มจนเรือศรีอยุธยาล่ม จอมพล ป.ว่ายน้ำขึ้นบกได้ไม่มีอันตรายใด ๆ ท่านจอมพลนี่ก็กระดูกเหล็ก จริง ๆ เคยถูกลอบยิง ลอบวางยาพิษ และถล่มเรือจนล่ม แต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง
จอมพล ป.เป็นนายกฯ หนนั้นอยู่ยาวร่วมสิบปีจน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเขียนเรื่องสามก๊กตอนโจโฉ นายกฯ ตลอดกาล ใครได้อ่านเป็นอันต้องยิ้มเพราะโจโฉเวอร์ชั่นหม่อมน้องดูยังไงก็เหมือนจอมพลแปลก!
ปี 2500 มีการเลือกตั้งกึ่งพุทธกาลซึ่งมีเรื่องทุจริตฉาวโฉ่เกิดขึ้นมากมาย แม้พรรครัฐบาลของจอมพล ป.จะชนะแต่คนก็ประท้วงจนจอมพลสฤษดิ์เข้ายึดอำนาจ จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ อีกสองปีต่อมา จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจอีกหนแล้วเข้าเป็นนายกฯ เสียเองจนถึงอสัญกรรมในตำแหน่ง
ชั่วดีมีจนอย่างไรจอมพลสฤษดิ์ก็ทำประโยชน์ไว้หลายอย่างโดยเฉพาะการ กระจายความเจริญจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดอื่น ๆ เช่น พัฒนาเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ในภาคเหนือ ขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่ในอีสาน สงขลาเป็นเมืองใหญ่ในภาคใต้ มีการตัดถนนหนทาง สร้างมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด พัฒนาทั้งแรงงานคนและวัตถุ อาชญากรรมก็ลดลงเพราะรัฐบาลปราบปรามเด็ดขาด
จุดอ่อนของจอมพลสฤษดิ์คือไม่ให้มีการเลือกตั้งจนกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ และรัฐบาลสามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จลงโทษคนโดยไม่ต้องขึ้นศาลอันขัดต่อหลักนิติธรรม หลังอสัญกรรมยังมีข่าวฉาวโฉ่เกี่ยวกับการทุจริต และการใช้ชีวิตส่วนตัวเป็นจอมพลนักรักอีกด้วย
เมืองไทยมักเป็นอย่างนี้เสมอ พอได้คนที่ทำงานดี มีวิสัยทัศน์ มีภาวะผู้นำ ก็จะเจอข้อหาเผด็จการและทุจริต พอสัตย์ซื่อจิตใจเป็นประชาธิปไตยก็ทำงานไม่เป็น หรือเป็นก็ไม่ได้ดังใจประชาชน หรือมีเวลาน้อยไป
จอมพลถนอมเป็นนายกฯ คนต่อมา การร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จลง มีการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 12 ปี ครั้งนั้นแหละที่หนุ่มเอวบางจากเมืองตรังชื่อชวน หลีกภัยเดินเข้าสภาได้เป็น ส.ส.ครั้งแรก
ปี 2514 จอมพลถนอมยึดอำนาจแล้วใช้อำนาจปกครองประเทศอยู่ร่วมปี หลังจากนั้นก็เริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยยังไม่ให้มีการเลือกตั้ง พ.ศ. 2515 มีการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ 3 ของไทย ปี 2516 มีการประท้วงรัฐบาลเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนฝ่ายรัฐบาลเข้าปราบปรามรุนแรง ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก เรียกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลามหาวิปโยค รัฐบาลลาออก นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตประธานศาลฎีกาฉายาเปาบุ้นจิ้นของไทยได้เป็นนายกรัฐมนตรี ภารกิจคือเร่งร่างรัฐธรรมนูญ และฟื้นฟูความสงบของประเทศ
สงครามอุดมการณ์ระหว่างประชา ธิปไตยกับสังคมนิยมตั้งแต่ระดับอ่อนจนแก่ขนาดคอมมิวนิสต์มีมาก่อนนั้นร่วม 40 ปีแล้วจนเกิดเป็นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามในเขมร ลาว และยุโรปตะวันออกแต่ชัยชนะของฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ลาว เขมรในเวลานั้นทำให้เกิดความประหวั่นพรั่นพรึงว่าฤๅจะเป็นอย่างทฤษฎีโดมิโนที่ว่าไพ่ตัวหนึ่งล้มจะผลักให้ไพ่ตัวต่อ ๆ ไปล้มตามจนหมดสำรับ
หลังใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 การเมืองไทยยุ่งยากด้วยเสรีภาพ การประท้วง และการก่อความไม่สงบจากหลายฝ่าย มีการเปลี่ยนรัฐบาลจากชุด ม.ร.ว.เสนีย์ เป็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แล้วกลับมาเป็น ม.ร.ว.เสนีย์อีกหน ในที่สุดก็เกิดการยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อีก 1 ปีต่อมาก็มีการยึดอำนาจอีกและได้พลเอกเกรียกศักดิ์เป็น นายกฯ หลังเลือกตั้งท่านยังเป็นนายกฯ ต่อแล้วจึงลาออก พลเอกเปรม นายทหารผู้มีประวัติความซื่อสัตย์ สมถะ และจงรักภักดีได้เป็นนายกฯ ต่อมาอีกนานจนผ่านการยุบสภาถึง 3 ครั้ง พลเอกชาติชาย ทายาทจอมพลผิน หัวหน้าคณะรัฐประหารครั้ง พ.ศ. 2490 ได้เป็นนายกฯ คนถัดไป
เมื่อมีการยึดอำนาจใน พ.ศ. 2534 โดยคณะ ร.ส.ช. นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนักการทูตหัวก้าวหน้าผู้ผันมาเป็นนักธุรกิจได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเลือกตั้งได้พลเอกสุจินดา อดีต ผบ.ทบ.เป็นนายกฯ แต่เผชิญกับการต่อต้านจนเกิดการปะทะกับประชาชนถึงขั้นล้มตายกลายเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อท่านลาออก นายกฯ อานันท์ได้กลับมาอีกครั้ง
เมื่อเลือกตั้งใหม่เราก็ได้นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และนายกฯ ชวนอีกหน ทยอยมาเป็นนายกฯ หลังจากนั้นเป็นยุคของเศรษฐีหมื่นล้านชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำลายสถิติว่าเป็นหัวหน้าพรรคใหม่แต่โตเร็ว อยู่จนครบวาระและยังจะได้รับเลือกตั้งอีกรอบจนเสียงท่วมท้นกว่าเดิม กระทั่งเกิดการยึดอำนาจในปี 2549
ปี 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวครองราชย์ได้ 60 ปี นานที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน พระราชาธิบดีหรือผู้แทนทั่วโลกมาร่วมงาน
ชื่อกรุงเทพมหานคร อมรรัตน โกสินทร์เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นในโลกนับแต่นั้น และยังเป็นที่รู้จักติดริมฝีปากผู้คนต่อมาอีกหลายปีด้วยวิกฤติการเมืองที่เกิดแทบทุกวันจนวันนี้ก็ยังหาทางออกไม่ได้.
วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น