'เสม พริ้งพวงแก้ว' เสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคชรา เตรียมเคลื่อนศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 18 วัดธาตุทอง วันที่ 9 ก.ค. สวดอภิธรรม 7 วัน
นายชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว บุตรชาย นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เปิดเผยว่า บิดาได้สิ้นลมเมื่อเวลาประมาณ 04.50 น. วันที่ 8 กรกฎาคม ด้วยโรคชราภาพ หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีกำหนดพิธีรดน้ำศพที่โรงพยาบาลราชวิถี เวลา 15.00 น. และจะเคลื่อนศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 18 วัดธาตุทองในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ โดยกำหนดสวดพระอภิธรรม 7 วัน
อนึ่ง นพ.เสม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีคุณูปการด้านสาธารณสุข และเป็นผู้วางรากฐานในการส่งเสริมโรงพยาบาลอำเภอ อีกทั้งเป็นบุคคลแรกที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผ่าตัดแฝดสยามหญิงของไทย
ทั้งนี้ น.พ.เสม เกิดวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เป็นนายแพทย์ผู้บุกเบิกการแพทย์ชนบท และการแพทย์สมัยใหม่ นักการสาธารณสุข ผู้ร่วมจัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นักคิดเพื่อสังคม ผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของบ้านเมืองทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุขและด้านการศึกษามานานกว่ากึ่งศตวรรษ
นายแพทย์เสม เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เกิดที่บ้านเลขที่ 2245 ถนนรองเมืองซอย 4 (ปัจจจุบันคือซอย 1) อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ในขั้นปฐมศึกษาเรียนที่โรงเรียนวัดบรมนิวาสใกล้บ้านเป็นเวลา 4 ปี และเข้าเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์อีก 8 ปี จนจบชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 8 ในระหว่างเรียน นายเสมได้รับทุนการเรียนประเภทหมั่นเรียนมาโดยตลอด
เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้ว โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ นายเสมได้ เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) เป็นเวลา 6 ปี ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อ ปี พ.ศ. 2478
หลังจบการศึกษาแพทย์ปริญญาแล้ว นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้วก็ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษและประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังได้ไปร่วมประชุมและดูงานในประเทศต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯ บราซิล สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ออสเตรีย นิวซีแลนด์รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
นอกจากด้านการแพทย์แล้ว น.พ. เสม พริ้งพวงแก้ว ยังได้ศึกษาด้านทันตกรรมเพิ่มเติมจากศาสตราจารย์สี สิริสิงห์อีกด้วยเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในชนบทได้ด้วย
น.พ.เสม เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาล ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดโครงสร้างใหม่ในกระทรวงสาธารณสุขและการกระจายอำนาจโดยความเห็นชอบของสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ จัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติด้วยความร่วมมือของ W.H.O. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ
พ.ศ. 2517เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
เป็นสมาชิกวุฒิสภา
เป็นประธานกรรมการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
สร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ จำนวน 660 แห่ง
สนับสนุนหลักการ “สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543” (Health for all by the year 2000)
สนับสนุนหลัก 10 ประการของการสาธารณสุขมูลฐานให้สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543
จัดทำ จ.ป.ฐ. ความจำเป็นพื้นฐาน 8 ตัว ให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมใช้เป็นหลัก
นอกจากนี้ ป็นกรรมการสำนักงานการศึกษาแห่งชาติ ช่วยโอนการประถมศึกษา จากกระทรวงมหาดไทย กลับมาอยู่กระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นเลขาธิการ
รวมทั้งยังเคยดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย
นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติ
นายกสมาคมแพทย์แห่งประเทศไทย
นายกพิเศษแห่งแพทยสภา
ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
คมชัดลึก 8 กรกฎาคม 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น