หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อมรรัตนโกสินทร์ (22)

กรุงเทพมหานครยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ “โพสต์ วอร์” ผ่านมาถึงบัดนี้ (พ.ศ.2554) 65 ปีแล้ว จัดว่าเป็นยุคใหม่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในทุก ๆ ด้าน ชนิดที่คนรุ่นเก่าครั้งรัชกาลที่ 1-8 นึกไม่ถึง

กรุงเทพมหานครเองเปลี่ยนจากสภาพการเป็นบางกอก เรือกสวนไร่นาริมน้ำท้องทุ่งเวิ้งว้างป่าช้าและดงสารพัดสัตว์ ครั้งอยุธยาและธนบุรีกลายมาเป็นกรุงใหม่มีค่ายคูประตูหอรบ มีคลองคูเมือง (หน้ากระทรวงมหาดไทย) เป็นแนวกั้นกรุงชั้นใน คลองรอบกรุง (ตรงสะพานผ่านฟ้า) เป็นแนวกั้นกรุงชั้นนอก ในสมัยต้นกรุงเทพฯ มีกำแพงพระนครเปิดเช้าปิดเย็น ภายในกรุงมีคลองขุดเชื่อมกันเป็นตาราง มีวัง วัด และชุมชนต่าง ๆ ตามเผ่าพันธุ์ เช่น บ้านญวน บ้านเขมร บ้านมอญ สำเพ็ง และชุมชนตามอาชีพ เช่น บ้านหม้อ บ้านบาตร บ้านดอกไม้ บ้านโอ่งอ่าง





ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการตัดถนน ขุดคลองเพิ่มเพื่อขยายแนวกั้นกรุงให้กว้างออกไป เช่น คลองผดุงกรุงเกษม และสร้างถนน สะพานเพิ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 กำแพงเมืองบางส่วนถูกทลายเป็นเหตุให้เมืองขยายออกไปถึงทุ่งวัวลำพอง (หัวลำโพง) ทุ่งส้มป่อย (สวนดุสิต) บ้านอีเลิ้ง (นางเลิ้ง) ทุ่งศาลาแดง (ราชดำริ) ตึกรามบ้านช่องแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นทั่วไป ชาวบ้านนิยมย้ายออกไปอยู่นอกเขตพระนครเดิมเพราะที่ดินราคาถูก อากาศดี ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ใครจะไปอยู่ไกลเพียงใดการคมนาคมก็ไม่เป็นปัญหา





รถเมล์ เรือเมล์ และรถยนต์เริ่มเปิดบริการและมีใช้ทั่วไป คูคลองต่าง ๆ ก็ยังใช้สัญจรได้ราวกับ “เวนิสแห่งตะวันออก” วันนี้กำแพงพระนครไม่เหลือร่องรอยให้เห็น ถนนหนทางตัดเชื่อมและทะลุแทบทุกแห่ง ตรอกซอกซอยเข้าไปถึงแทบทุกย่าน คลองถูกถมจนคนรุ่นใหม่เดาไม่ถูกว่าถนนสายนี้เคยเป็นคลองออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้

คหบดีที่เคยไปซื้อที่ดินนอกกรุงไว้ผืนละร้อย ๆ ไร่ในราคาแสนถูกร่ำรวยไปตาม ๆ กันเมื่อถนนสุขุมวิท รัชดาภิเษก วิภาวดีฯ บรมราชชนนี เกษตร-นวมินทร์ เพชรเกษม พหลโยธินตัดผ่าน




นายเลิศหรือพระยาภักดีนรเศรษฐผู้เริ่มกิจการโรงน้ำแข็ง ห้างสรรพสินค้า รถเมล์ขาว เรือเมล์ขาว ซื้อที่ดินกลางทุ่งไว้ผืนใหญ่ ปลูกต้นไม้ทำเป็นปาร์คสมัยรัชกาลที่ 6 เรียกว่า “ปาร์คนายเลิศ” ให้ฝรั่งและคนไทยมามอร์นิ่งวอล์ก ชมนกชมไม้ คราวแบ่งที่ดินตอนหน้าขายให้สถานทูตอังกฤษก็ขายเพียงตารางวาละ “บาท” จนลือกันลั่นว่าเจ้าคุณภักดีฯ ได้ไปหลาย รวยนักหนา ต่อมาถนนสุขุมวิทตัดผ่าน วันนี้สถานทูตอังกฤษแบ่งขายอีกทีให้ทำห้างสรรพสินค้าได้ราคาตารางวาละ “หลายแสนบาท”

ผู้คนในกรุงเทพมหานครสมัยรัชกาลที่ 1 มีเป็นหลักหมื่น มาเพิ่มเป็นหลักแสนในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อต่างเชื่อมั่นว่าเมืองนี้ “อมร” คืออยู่ยืนไม่ล่มอีกแล้ว ชาวต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานจีนก็เข้ามามากขึ้นเพื่อรับจ้างขุดคลอง ทำโรงงาน เป็นช่าง และค้าขาย หลายคนตั้งตัวได้มีหลานเหลนเจ้าสัวมาจนทุกวันนี้

สมัยรัชกาลที่ 5-6 ราษฎรเพิ่มเป็นหลักล้าน เพราะกรุงเทพฯ เป็นชุมทางการติดต่อกับราชการ ชุมทางการค้าขายทุกชนิด และชุมทางคมนาคม การสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพง การมีรถไฟ การขุดอุโมงค์ลอดถ้ำขุนตาลในภาคเหนือ การเปิดเดินรถไฟสายใต้ การเริ่มกิจการไปรษณีย์ โทรเลข ท่าอากาศยาน ทำให้พระมหานครแผ่กว้างไกลไปมาถึงกันได้สะดวก



สมัยรัชกาลที่ 7-8 จำนวนราษฎรยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองลงเพราะภัยสงครามและเศรษฐกิจโลก คนยากจนเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองพร้อม ๆ กับที่คนเมืองอพยพหนีภัยออกไปอยู่ต่างจังหวัด สลัมหรือชุมชนแออัดเริ่มเกิดขึ้นตามที่วัด ที่ของทางราชการ ที่รกร้างว่างเปล่าและเกิดการรุกล้ำลำคลอง

หลังสงคราม ความเจริญเติบโตของเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ไร้ระเบียบ ใครใคร่สร้างก็สร้าง โรงงานที่ส่งเสียงหนวกหูปล่อยควันและน้ำเสียผุดขึ้นกลางกรุงและริมแม่น้ำ อาคารเก่าแก่ถูกรื้อถอนเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินให้คุ้มค่า วังเจ้านายและบ้านเศรษฐีถ้าไม่ขายยกหลังก็ตัดที่ติดถนนแบ่งขายหรือให้เช่าโดยก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ แม้วัดเองก็ต้องทำอย่างเดียวกันเพื่อความอยู่รอด ถนนที่ตัดครั้งรัชกาลที่ 4 และร้องกันว่ากว้างนักหนาจะเอารถที่ไหนมาวิ่งเริ่มคับแคบจนต้องรื้อและเลิกรถราง ทุบวงเวียน รื้อสะพาน ขยายช่องทางจราจร โค่นต้นไม้ ถมคลอง




กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองเจริญมากแห่งหนึ่งในเอเชีย แต่รถติด น้ำเสีย ยุงชุม อาชญากรรมมาก เรียกว่าโตน่ะโตอยู่หรอก แต่โตแบบข้ามาคนเดียว ไม่มีชานเมืองหรือเมืองบริวารมาแบ่งรับไปบ้าง เมืองอื่นในราชอาณาจักร เช่น เชียงใหม่ โคราช ภูเก็ต หาดใหญ่ก็ไม่โตอย่างนี้

วันนี้ราษฎรเพิ่มขึ้นเป็น 6-8 ล้านคน ทั้งยังมีประชากรแฝงคือทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด แต่เข้ามาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับบ้าง กลับอาทิตย์ละหนบ้าง ไม่มีทะเบียนบ้านบ้างอีกเกือบเท่าตัว ยังจะมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอีกไม่รู้เท่าไร คนเหล่านี้ใช้บริการสาธารณะพวกรถเมล์ เรือเมล์ โรงเรียน โรงพยาบาลในกรุงร่วมกัน

สิ่งที่ตามมาติด ๆ คือเรื่องการทรุดตัวของแผ่นดิน การตื้นเขินของคูคลองต่าง ๆ ปัญหาน้ำท่วมขัง พอเจอฝนพันปีเข้าบ้านเมืองก็เป็นอัมพาต ความสกปรก รกรุงรังของอาคารบ้านเรือน แผ่นป้ายโฆษณา การเกิดอัคคีภัย การขาดความเขียวขจีของต้นหมากรากไม้จนไม่มีใครเชื่อว่าที่นี่เคยเป็น “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน” และความสกปรกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งครั้งหนึ่งใสจนเห็นปลาแหวกว่ายและสะอาดดุจจะดื่มกินได้



สภาพเช่นนี้เป็นธรรมดาของการที่เมืองหลวง เมืองท่า เมืองพาณิชย์ เมืองราชการ เมืองการศึกษามาอยู่รวมกันจากกรุงเทพมหานครก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 จนเป็นมณฑลกรุงเทพพระมหานครมีอาณาเขตครอบคลุมธนบุรีและบางส่วนของนนทบุรี สมุทรปราการ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีกระทรวงนครบาลรับผิดชอบแยกต่างหากจากกระทรวงมหาดไทย แล้วกลับมาเป็นจังหวัดพระนครอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 6-7-8 ในขณะที่ธนบุรีแยกไปเป็นอีกจังหวัด มาถึงสมัยหลังได้เป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี แล้วเปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานครในบัดนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปมากทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง

การพัฒนากรุงเทพมหานครที่เกิดในระยะ 50 ปีมานี้จึงเป็นการกระจายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาคไม่ให้กรุงเทพ มหานคร ชายชราอายุร่วม 230 ปีนี้ต้องแบกรับทั้งปัญหาการจราจร ภัยธรรมชาติ อาชญากรรม โรคภัยไข้เจ็บ โรงงาน บ้านจัดสรรแต่ผู้เดียว จอมพลสฤษดิ์ เริ่มด้วยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในส่วนภูมิภาค ต่อมามีการสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สมุทรปราการ ขยายท่าเรือไปอยู่ที่แหลมฉบัง มีการตัดถนนวงแหวนรอบกรุง สร้างสะพานลอย รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ทางด่วน โทลล์เวย์ กำหนดพื้นที่ให้มีต้นไม้แซมบ้าง

ตลาดนัดสนามหลวงก็ถูกย้ายออกไปอยู่สวนจตุจักรและพัฒนาเป็นตลาดสี่มุมเมือง มีการสร้างสวนสาธารณะให้เป็นปอดของชาวกรุงเทพมหานครหลายแห่ง นอกเหนือจากสวนลุมพินีสมัยรัชกาลที่ 6 และมีการย้ายส่วนราชการออกไปอยู่ที่ชานเมือง

ที่สำคัญคือมีการตั้งคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อดูแลการใช้พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในหรือที่เคยเรียกว่าเกาะรัตนโกสินทร์ แต่คงเป็นเพราะคณะกรรมการที่มีอำนาจดูแลเฉพาะการใช้พื้นที่ของส่วนราชการจึงติดขัดอำนาจทางกฎหมายที่จะดำเนินการต่อภาคเอกชน ขณะเดียวกันความคิดจะให้บริเวณนี้เป็น “โอลด์ ทาวน์” อย่างในเมืองนอกเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่มีอาคารร้านค้าของราษฎรทำให้เกิดการต่อต้าน

ความคิดใหม่จึงมีว่าที่ดินทุกวันนี้ราคาแพง ทั้งที่ดินก็มีน้อยลง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรจึงน่าจะระคนปนไปกับเมืองเก่าหรือโอลด์ ทาวน์ได้ ยังจะดูเป็นสีสันแต่งแต้มให้เมืองเก่ามีชีวิตชีวาอีกด้วย เช่น มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายหนังสือปนไปกับวัด วัง คลอง เมืองเก่าไม่จำเป็นจะต้องมีแค่วัด วัง กำแพงพังๆ โบสถ์ทึมๆ เท่านั้น ปัญหาคือจะผสมผสานให้เข้ากันอย่างไร

การฉลองกรุงเทพมหานครครบ 200 ปี เมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นจุดเปลี่ยนแปลงหนึ่งของกรุงเทพมหานคร มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นประธาน บูรณะศาลหลักเมืองโดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเป็นประธาน มีการรื้อโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยที่ผ่านฟ้า เปิดให้ผู้คนได้เห็นโลหะปราสาทวัดราชนัดดารามอันตระการตา

คำว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” เริ่มใช้ติดปากมานับแต่การฉลองกรุงคราวนั้นบรรพชนของเราคงปลื้มปีติหาน้อยไม่ถ้ารู้ว่านับแต่วันที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกรับราชสมบัติปราบดาภิเษกเป็นรัชกาลที่ 1 และทรงย้ายเมืองหลวงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาอยู่ที่ฝั่งกรุงเทพฯ ทรงลงหลักเมืองและเริ่มพระมหาราชธานีใหม่ใน พ.ศ. 2325 นั้น เจริญอายุมาได้ถึง 100 ปี ได้ทันฉลองกันในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 200 ปีได้ทันฉลองในสมัยรัชกาลที่ 9

หลัง พ.ศ. 2489 นอกจากความเปลี่ยนแปลงดังว่ามาแล้ว การเมืองการปกครองก็เปลี่ยนไปมาก เราเริ่มมีรัฐธรรมนูญใช้ถี่ขึ้น เปลี่ยนรัฐบาลบ่อยขึ้น คนไทยต้องคุ้นกับคำว่า “รัฐประหาร” “ปฏิวัติ” “การรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” “การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” และ “แอ่นแอ๊น”

ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทำให้สภาพจิตใจคนว้าเหว่ สลดหดหู่ และเหมือนขาดที่พึ่งพา รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่โดยตรงก็เปลี่ยนบ่อย มาเร็วไปเร็ว การเอารัดเอาเปรียบทุจริต คดโกงชักจะมีมากขึ้นในแทบทุกวงการ ค่านิยมที่เคยเห็นเป็นของไม่ดีกลับกลายเป็นความนิยมทำกัน แถมภัยจากการเมืองนอกประเทศและลัทธิบางอย่างแทรกซึมเข้ามาในท่ามกลางช่องว่างเหล่านี้อีกด้วย จนคิดกันว่าเราอาจล้มครืนตามกันไปเหมือนเกมโดมิโน ผลักนิดเดียวก็ล้ม

คนจะจมน้ำจึงคว้าทั้งนั้นไม่ว่าหยวกกล้วยหรือเรือแพคราวนี้ก็อยู่ที่บทบาทของพระมหากษัตริย์ซึ่งเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ประกาศกันว่าทรงอยู่ใต้กฎหมายและไม่ต้องทรงรับผิดชอบปัญหาบ้านเมืองอีกต่อไป แต่เมื่อความทุกข์ของผู้คนที่รอความช่วยเหลือเป็นที่ประจักษ์อยู่ดังนี้ จะทรงทำสถานใดในเมื่อราษฎรร้องตะโกนจนเสียงลอดเข้าไปถึงในรถยนต์พระที่นั่งว่า

“ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน”.

“ผู้คนในกรุงเทพมหานครสมัยรัชกาลที่ 1 มีเป็นหลักหมื่น มาเพิ่มเป็นหลักแสนในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อต่างเชื่อมั่นว่าเมืองนี้ “อมร” คืออยู่ยืนไม่ล่มอีกแล้ว ชาวต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานจีนก็เข้ามามากขึ้นเพื่อรับจ้างขุดคลอง ทำโรงงาน เป็นช่าง และค้าขาย หลายคนตั้งตัวได้มีหลานเหลนเจ้าสัวมาจนทุกวันนี้”

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: