หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อมรรัตนโกสินทร์ (21)

ระหว่างสงคราม ผู้ใหญ่สมัยนั้นหลายคนดูเหตุบ้านการเมืองแล้วกินไม่ได้นอนไม่หลับเอาจริง ๆ เกรงว่าฤๅถึงทีกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์จะมาถึงกาลอวสานเสียแล้วหรือไร

ไหนจะความแตกแยกร้าวฉานทางการเมือง ขนาดผู้นำในคณะราษฎรเองก็ยังขัดแย้งกัน ไหนจะวิกฤติเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง ไหนเครื่องบินสัมพันธมิตรจะมาทิ้งระเบิด เสียง “หวอ” เตือนภัยให้คนรีบหลบลงหลุมหลบภัยมันกรีดหัวใจนัก โรงเรียนต้องปิด ผู้ปกครอง ครู นักเรียนต้องอพยพไปอยู่ต่างจังหวัด ยิ่งถ้าสงครามยุติแล้วหากเราอยู่ในฝ่ายแพ้จะทำอย่างไร

อะไรก็ไม่เท่ากับการเสียขวัญและกำลังใจ เราไม่เคยเห็นพระเจ้าแผ่นดินสละราชสมบัติแล้วไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองจนสวรรคตที่นั่น ในหลวงพระองค์ใหม่ก็ทรงพระเยาว์นัก ครั้นเสด็จกลับมาให้พอได้ชื่นใจก็มาด่วนสวรรคตลงอีกอย่างกะทันหัน พอสงครามยุติ เราอยู่ในฝ่ายแพ้จริง ๆ ด้วย และเคยเห็นมาแล้วว่าหลายฝ่ายที่ชนะสงครามทำอย่างไรกับฝ่ายแพ้สงคราม




แต่อะไรที่ว่าร้ายคงไม่ร้ายตลอดไปถ้าใช้สติ ปัญญา และความสามัคคีทั้งของผู้นำและคนในชาติ สามอย่างนี้แหละที่รวมกันเป็นพระสยามเทวาธิราชที่ช่วยคุ้มภัยหรือปัดเป่าจนเหตุร้ายกลายเป็นปกติ ครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก เราก็เคยนึกว่าจะเสียบ้านสูญเมืองโงหัวไม่ขึ้นแล้ว กลับมีคนกล้าอย่างพระยาตากขึ้นมากู้บ้านเมืองได้ ครั้งรัชกาลที่ 1 พม่ายกทัพใหญ่มาถึง 9 ทัพ เรามีกำลังแค่หยิบมือ เขามีเป็นแสน แต่เราก็รอดมาได้



ครั้งรัชกาลที่ 5 ยุโรปต้องการจะมายึดบ้านยึดเมืองเราจริง ๆ เพราะเขายึดมาแล้วตั้งแต่จีน อินเดีย พม่า ลาว เขมร เวียดนาม มลายู จนถึงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จนเราคิดว่าคงเสียเมืองแน่แล้ว แต่เราก็รอดมาได้

สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติในคราวนั้น เราแปลงวิกฤติหลายอย่างให้เป็นโอกาส เริ่มจากการกราบบังคมทูลเชิญรัชกาลที่ 8 เสด็จกลับมาร่วมในการปลดอาวุธซึ่งกลายเป็นว่ากองทหารนานาชาติต้องสวนสนามถวายความเคารพที่ถนนราชดำเนิน การประกาศว่าสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษและอเมริกาเป็นโมฆะ การเจรจาคืนดินแดนที่ยึดมาครั้งสงคราม การจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามบางส่วน การดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดฐานอาชญากรรมสงคราม และการใช้ประโยชน์จากขบวนการเสรีไทยว่าคนไทยไม่ได้ฝักใฝ่สงครามไปเสียหมด รวมความคือในที่สุดเราก็รอดมาได้ไม่ถึงขนาดเสียบ้านสูญเมือง

อ้อ! ในระหว่างสงคราม เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ขนาดหน้าพระรูปน้ำยังแค่อก ชาวบ้านต้องลอยเรือกัน อีกคราว รัฐบาลคิดจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์จนเริ่มขนย้ายกันไปแล้ว แต่ลงท้ายสภาไม่อนุมัติ รัฐบาลต้องลาออก ก่อนหน้านั้นเป็นช่วงเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย และมาลานำไทยไปสู่อำนาจ รัฐบาลส่งเสริมให้ไทยเป็นอารยะด้วยการยกเลิกบรรดาศักดิ์ ให้ผัวจูบเมียก่อนไปทำงาน ให้ผู้หญิงสวมหมวก ให้เลิกกินหมากขนาดโค่นต้นหมากต้นพลูทิ้ง



ชื่อคนต้องให้รู้ว่าเป็นชายหรือหญิง อาจารย์ผมชื่อ ดร.สายหยุด แสงอุทัย ต้องเปลี่ยนเป็นหยุด แสงอุทัย ชื่อประเทศ เพลงชาติ วันขึ้นปีใหม่ก็เปลี่ยน สรรพนามให้ใช้ฉัน-เธอหรือท่านให้หมด นิยายสมัยนั้นตอนเมียโกรธผัวต้องชี้หน้าว่า “ท่านจงออกจากบ้านฉันเดี๋ยวนี้” ดูเหมือนพอผัวจะขนของย้ายไปต้องเข้ามาหอมแก้มเมียตามรัฐนิยมด้วย!

เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จกลับเมืองไทยในปี 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ก็พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบาลเสนอให้ทรงแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษมีหน้าที่ให้คำปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไป และต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่เมื่อเกิดกรณีสวรรคตก็ได้ขอลาออก ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 ซึ่งเพิ่งร่างใหม่และเสร็จลงพอดี พระราชกรณียกิจสำคัญประการหนึ่งคือการเสด็จเยี่ยมชุมชนชาวจีนที่สำเพ็ง



สำเพ็งเป็นย่านชาวจีนมาตั้งแต่ต้นกรุงเทพฯ ยังเถียงกันว่าทำไมจึงเรียกสำเพ็ง บางคนว่ามาจากภาษาจีนว่า “ซาเพ้ง” แต่ที่แน่คือตั้งตามชื่อวัดสำเพ็งซึ่งอยู่แถวนั้น (วัดปทุมคงคา) เป็นแหล่งทำมาค้าขายของสดของแห้ง เมื่อมีตลาดชาวจีนอีกแห่งแถวหัวลำโพง สำเพ็งจึงมีชื่อว่าตลาดใหญ่ ส่วนอีกแห่งชื่อตลาดน้อยหลังสงครามจีนเป็นฝ่ายชนะญี่ปุ่น พ่อค้าชาวจีนดีใจและ “คึกคัก” เห็นได้ชัด แทบทุกบ้านแขวนรูปผู้นำจีน ยิ่งไทยกลายเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นซึ่งแพ้สงคราม ชาวจีนหลายคนก็ชักไม่ค่อยฟังรัฐบาล จนเกิดขบวนการกระด้างกระเดื่อง รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระราชอนุชาจึงเสด็จฯ เยี่ยมชาวจีนที่สำเพ็งซึ่งเป็นครั้งแรกที่ในหลวงไทยเสด็จฯสำเพ็งไปตามตรอกแคบๆ ภาพอัศจรรย์คือชาวจีนทุกร้านรวงตั้งแถวรับเสด็จและตั้งโต๊ะหมู่บูชาหน้าร้าน หลายบ้านปูผ้า โรยทรายรองพระบาทแล้วเก็บขึ้นหิ้งบูชา ไทยจีนกลับมาสามัคคีกันใหม่ตั้งแต่นั้o

เร็ว ๆ นี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ช่างเข้าไปวาดภาพฝาผนังที่พุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง ทรงกำหนดให้วาดภาพหนึ่งเป็นเหตุการณ์คราวเสด็จฯ สำเพ็ง ช่างวาดไปตามภาพถ่ายแต่ทรงให้แก้ไขรายละเอียดใหม่ตามที่ทรงจำได้และยังประทับพระราชหฤทัย ทรงแนะแม้กระทั่งว่าใครแต่งตัวอย่างไรสีอะไร ร้านนั้นชื่ออะไรขายอะไร ส่วนใดที่ไม่ทรง แน่พระทัยก็รับสั่งว่า “ให้ไปถามคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ เพราะยืนอยู่ตรงนั้น” ตอนนั้นคุณอุเทนยังมีชีวิตอยู่ หลังสวรรคต รัฐบาลได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระราชอนุชา สมเด็จเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลและตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัชกาลที่ 8 ยังไม่อภิเษกสมรส เมื่อทรงรับแล้วรัฐบาลได้เสนอรัฐสภาลงมติเห็นชอบ เป็นอันว่าเริ่มรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489



เคยทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า สถาน การณ์ในประเทศเวลานั้นน่าวิตก แต่แรกทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะรับราชสมบัติเพื่อให้เกิดความกระจ่างในคดีสวรรคตจนถึงการถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่เมื่อวันจะเสด็จฯ จากประเทศไทยกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ มีชาวบ้านตะโกนที่ท้องสนามหลวงขณะที่รถพระที่นั่งผ่านไปว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” จึงได้ทรงคิดว่าภาระหน้าที่ยิ่งใหญ่และหนักอึ้งยังรอพระองค์อยู่ คนไทยยังต้องการในหลวงโปรดให้เครื่องบินพระที่นั่งวนรอบกรุง เพื่อทอดพระเนตรบ้านเมืองของพระองค์ ชาวไทยที่อยู่ข้างล่างโบกมือส่งเสด็จ หลายคนน้ำตาอาบแก้ม ไม่มีใคร รู้ว่าจะได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาอีกหรือไม่



รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบ สวนกรณีสวรรคต โดยตั้งประเด็นว่าอาจเป็นการปลงพระชนม์เองหรืออุบัติเหตุหรือมีผู้ปลงพระชนม์ ต่อมาได้จับตัวผู้ต้องรับผิดชอบได้ 3 คน และดำเนินคดีจนศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต

แม้รัชกาลที่ 8 ยังมิได้ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี แต่ในทางกฎหมายถือว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ครั้งแรกทางการให้ออกพระนามาภิไธยว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล บัดนี้รัชกาลปัจจุบันได้ถวายพระนามาภิไธยใหม่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระอัฐมรามาธิบดินทรฯ

รัชกาลที่ 9 เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2489 แต่ก็ยังไม่ได้เข้าพิธีบรมราชาภิเษกเพราะต้องเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ เดิมเคยทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ แต่เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเปลี่ยนไปศึกษาวิชาการปกครองและกฎหมายต่อมาได้ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดา ม.จ.นักขัตรมงคล และม.ล.บัว ราชทูตไทยในฝรั่งเศสได้มาถวายพยาบาล ม.จ.นักขัตร มงคลเป็นพระโอรสของกรมพระจันทบุรี นฤนาถ อดีตเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ พระราชโอรสรัชกาลที่ 5 ส่วนม.ล.บัว เกิดในราชสกุลสนิทวงศ์ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 2 พระนามภูมิพลอดุลยเดชนั้น รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งพระราชทานแปลว่า “กำลังของแผ่นดิน” ครั้งแรกสะกดภูมิพลอดุลเดช แต่อยู่มาก็สะกดเป็น “อดุลยเดช” ม.จ.นักขัตรมงคล เคยเป็นราชองครักษ์รัชกาลที่ 7 ม.ล.บัว เคยเป็นนางพระกำนัลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

เมื่อรักษาพระองค์เป็นปกติแล้ว พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงหมั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์และได้เสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 8 ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกและราชาภิเษกสมรสกับพระคู่หมั้น ม.ร.ว. สิริกิติ์ ใน พ.ศ. 2493 หลังจากนั้นได้เสด็จกลับไปสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง
คงจำสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาได้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระอัครมเหสีชั้นพระบรมราชเทวี ในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ทรงเป็นพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (ป้า) ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 8 และ 9 ทรงเป็นพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ย่า) ประทับที่วังสระปทุม ทรงมีพระคุณูปการหลายอย่างต่อการสาธารณสุข การศึกษา และการสังคมสงเคราะห์ ปีนี้รัฐบาลเสนอพระนามต่อยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในด้านเหล่านี้ ได้สวรรคตลงใน พ.ศ. 2498 พระชนมายุ 93 พรรษา จัดว่าเป็นเจ้านายพระชนมายุยืนพระองค์หนึ่งในพระราชวงศ์ คือ เป็นสมเด็จ 6แผ่นดิน มีการถวายพระเพลิงที่พระเมรุท้องสนามหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชใน พ.ศ. 2499 หลังจากนั้นจึงได้เริ่ม พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ต่อเนื่องมาตลอดเป็นผลให้ประเทศไทยก้าวหน้าต่อ ยอดไปจากที่พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้ทรงเริ่มไว้ในอดีตตามควรแก่พระราชสถานะในระบอบการปกครองใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่อง ร่วมสมัยจึงน่าจะได้ยินกันบ่อยและรู้กันดีอยู่แล้ว แต่เมื่อว่ามามากแล้วก็ต้องว่าต่อไปให้สมบูรณ์ เพราะกรุงเทพมหานครจะ “อมรรัตนโกสินทร์” หรือไม่ ก็อยู่ที่บ้านเมือง รัฐบาล และผู้คนร่วมสมัยทุกวันนี้แหละครับ!.

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชใน พ.ศ.2499 หลังจากนั้นจึงได้เริ่ม พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ต่อเนื่องมาตลอดเป็นผลให้ประเทศไทยก้าวหน้าต่อยอดไปจากที่พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้ทรงเริ่มไว้ในอดีต”

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: