หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศรีอยุธยา (1)


เรื่องอมรรัตนโกสินทร์แล้ว ยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรต่อ แม้แต่เรื่องอมรรัตนโกสินทร์ เดิมก็คิดว่าจะเล่าพอเอาสนุก เพราะไม่ได้เขียนสารคดีหรือทำวิทยานิพนธ์ กะว่าสัก 10 ตอนคงจบ เอาเข้าจริงก็ติดลมบนลมล่าง มีคนโน้นถามมาบ้าง ขอให้ขยายความบ้าง สงสัยเรื่องโน้นเรื่องนี้มาบ้าง เขียนไปเขียนมาจนงอกเป็น 25 ตอน

เรื่องของประวัติศาสตร์นั้น ถ้าเล่าให้น่าเบื่อก็จะน่าเบื่อ แต่ถ้าจะเล่าให้สนุกก็สนุก วิธีทำให้สนุกมีหลายวิธี สมัยเด็ก ๆ ถ้าได้ฟังประเภทพระอาทิตย์ทรงกลด แผ่นดินไหว อสุนีบาตฟาดเปรี้ยงจนยอดปราสาทหัก หรือขณะไฟไหม้พระมหาปราสาท สมเด็จพระนารายณ์ราชกุมารแม้ทรงพระเยาว์ก็หาญกล้าสะบัดมือจากพระพี่เลี้ยงเสด็จขึ้นไปดับไฟผู้คนหวีดร้องกันอึง บัดนั้นก็เห็นเป็นเงาดำรูปคนสี่พระกรแกว่งจักรอยู่กลางกองเพลิง ไฟก็ดับลง หรือตอนโกษาปานไปฝรั่งเศส เรือตกลงในทะเลวนจนต้องอธิษฐานบนบาน เรือจึงลอยขึ้นมาได้ อย่างนี้ละแหม! สนุกนัก


โตขึ้นถูกบังคับให้จำ พ.ศ. วันเดือนปีขึ้นกี่ค่ำแรมกี่ค่ำ พม่ายกมากี่คน มาทางทิศไหน ใช้เวลากี่วัน ความสนุกเลยเหือดหายไปหมด ได้แต่พึมพำว่า “จำไปทำไม (วะ)”

โตขึ้นกว่านั้นกลายเป็นต้องมาขบคิดสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน เช่น เหตุใดพม่าจึงพากเพียรจะต้องยึดไทย เหตุใดไทยจึงต้องเข้ายึดลาว เหตุใดเราจึงต้องคบพระเจ้ากรุงจีน เหตุใดเราต้องส่งทูตไปฝรั่งเศส เหตุใดเราจึงต้องเสียกรุง เหตุใดพระยาตากซึ่งมีเชื้อสายจีนและไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โตมาก่อน นอกจากเจ้าเมืองบ้านนอกแถบตะเข็บชายแดนจึงสามารถชนะใจผู้คนตั้งตนเป็นผู้นำได้สำเร็จ ความสงสัยอย่างนี้ชวนให้สนุกอีกแบบ พอแก่ตัวลงกว่านั้นสิ่งที่เคยนึกว่ารู้กลายเป็นว่ามีคนชวนให้สงสัยอีกแล้วว่าข้อมูลเดิมถูกต้องไหม เช่น ไทยมาจากไหน ศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ ทำขึ้นเมื่อใด พระมหาอุปราชของพม่าทำยุทธหัตถีจนแพ้และถูกพระนเรศวรฟันด้วยพระแสงของ้าวจริงไหม ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้น นี่ก็สนุกแต่น่าปวดหัว

ประวัติศาสตร์มีประโยชน์ตรงช่วยให้เรารู้จักตัวเรา อเมริกาเขามีอายุแค่ 200 ปีเศษ แต่เขาก็ภูมิใจในประวัติศาสตร์ 200 ปีเศษของเขา คนอเมริกานั้นใครจะตบหัวลูบหลังด่าทออย่างไรก็ไม่ว่า แต่อย่าทะลึ่งไปดูหมิ่นเหยียดหยามธงชาติและเพลงชาติของเขาเป็นอันขาด

ไทยเรามีประวัติความเป็นมายาวนาน บางเรื่องแม้ไม่นานขนาดก่อนคริสตกาลพุทธกาลเราก็อดภาคภูมิใจในความเป็นตัวเป็นตนของเรา ความมีรากเหง้าอันยาวนานของเราไม่ได้

ประโยชน์ต่อไปคือประวัติศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่สืบสาวราวเรื่องแตกลูกแตกหลาน และต่อยอดไปถึงเรื่องต่าง ๆ ได้อีกหลายเรื่อง เพราะในท่ามกลางกาลเวลาและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นั้นย่อมมีความสำเร็จ ความล้มเหลว มีตัวบุคคล มีขนบธรรมเนียมประเพณี ชื่อเสียงเรียงนาม ชื่อบ้านนามเมืองหลายต่อหลายอย่างผุดขึ้นมา คนจะมีความรู้ทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และอีกสารพัดศาสตร์ จึงควรมีความรู้ทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง มิฉะนั้นจะรู้แต่เรื่องปัจจุบัน แล้วถวิลหาแต่อนาคต โดยไม่รู้ความเป็นมาในอดีต

ประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่คือการได้บทเรียนจากอดีตในสิ่งที่สำเร็จและล้มเหลวมาแล้ว มีคนพูดว่าประวัติศาสตร์เหมือนวงล้อเกวียน นี่คงเทียบมาแต่สมัยที่มนุษย์นั่งเกวียน วันนี้จะเทียบกับล้อแม็กก็ได้ วงล้อนี้หมุนไปหมุนมาย่อมทับรอยเดิมของตัวฉันใด ประวัติศาสตร์ก็ฉันนั้น บางอย่างเราสามารถเรียนรู้ภูมิปัญญาในอดีต เช่น ตำรายา ตำราข้าวปลาอาหาร ของคาว ของหวาน ตำราโหร ตำราเกษตร บางอย่างเราสามารถเรียนรู้กลวิธีในอดีต ดังที่วันนี้ทหารก็ยังต้องเรียนรู้วิธีรบทัพจับศึกของสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเจ้าตากสิน รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรฯ ในสงคราม 9 ทัพ ตลอดจนวิธีปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นและวิธีการทูตของไทยในอดีต เหล่านี้คือบทเรียนจากประวัติศาสตร์


มีผู้ใหญ่หลายคนแนะว่าถ้างั้นย้อนกลับไปเขียนเรื่องกรุงศรีอยุธยาสิ เอาแบบง่าย ๆ เล่าสนุก ๆ อย่างเดิม ผู้ใหญ่อีกคนแนะว่าแต่ไม่ต้องยาวขนาดเทียบบัญญัติ ไตรยางศ์ว่ากรุงรัตนโกสินทร์ 9 รัชกาลยังว่าเสีย 25 ตอน อยุธยามี 34 รัชกาลมิยาวถึง 80 ตอนหรือ ท่านกระซิบว่าเกรงว่าจะอยู่ไม่ทันถึงตอนจบ!

อย่างนั้นเห็นจะเล่าพอสัณฐานประมาณ และพยายามหลีกเลี่ยงรายละเอียดที่ยังโต้แย้งกัน อะไรที่ไม่น่าสนุกก็อาจข้าม ๆ ไปบ้างโดยไม่ให้เสียเนื้อความ โดยขอให้ชื่อเรื่องว่า “ศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นชื่อกรุงก่อนจะตั้งกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ คำนี้สำคัญเพราะเมื่อตั้งกรุงเทพฯแล้วยังใช้คำว่ามหินทรายุธยา เป็นสร้อยนามของกรุงเทพฯ ในท่อนที่ว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

อ้อ! ไม่ต้องกลัวหรอกครับว่าจบเรื่องศรีอยุธยาแล้ว ผมจะต่อด้วยมหาดิลกภพ และนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ ไปจนถึงวิษณุกรรมประสิทธิ์ เพราะผมเองก็เบื่อตัวเองเป็นเหมือนกันนะครับ

ก่อนมีกรุงเทพมหานครฯ ที่เราเรียกว่ากรุงรัตนโกสินทร์ และก่อนมีกรุงธนบุรี ซึ่งเราเคยเรียกสองกรุงนี้รวมกันว่าบางกอก แล้วแต่จะพูดถึงบางกอกฝั่งตะวันตก (ธนบุรี) หรือฝั่งตะวันออก (พระนคร) เราเคยมีกรุงอันยิ่งใหญ่ไพศาลมาก่อนชื่อกรุงศรีอยุธยา อยู่ทางเหนือของบางกอก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก รูปพรรณสัณฐานเหมือนเกาะเพราะมีน้ำล้อมรอบ แม้บางช่วงจะเป็นคลองขุดจนเป็นลำน้ำล้อมอยู่ก็ตาม เดี๋ยวนี้คนรุ่นเก่าบางคนก็ยังเรียกว่า “เกาะเมือง” หรือ “เกาะกรุง” เพราะจะเข้าจะออกต้องข้ามสะพาน ความเป็นเกาะนี้จะว่าดีก็ดี เพราะช่วยกันข้าศึกได้ จะว่าเสียก็เสียเพราะถ้าข้าศึกปิดล้อมอยู่นอกเกาะ เราก็ไปไหนไม่รอด


ฝรั่งแล่นเรือรอบกรุงแล้ววาดแผนที่อยุธยาเป็นรูปคล้ายเรือสำเภาหรือถุงตะแคงอยู่ สมัยนั้นไม่ได้ใช้แผนที่ทางอากาศนี่ครับกูเกิลก็ยังไม่มี ชื่อกรุงตามทางการเรียกว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา ซึ่งเรารับเอาชื่อนี้มาดัดแปลงเรียกเป็นชื่อทางการของกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ในเวลาต่อมา บางครั้งก็เรียกแบบรวบรัดว่ากรุงเทพมหานครด้วยซ้ำ คนอ่านประวัติศาสตร์จึงต้องระวังอย่าปะปนกับกรุงยุคปัจจุบัน

เราถือธรรมเนียมมาแต่โบราณว่าเมืองใด กรุงใด (หมายถึง เมืองริมแม่น้ำสายใหญ่) เป็นราชธานีที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เมืองนั้นกรุงนั้นมีชื่อว่ากรุงเทพ มหานครทั้งสิ้น ส่วนสร้อยว่า “ทวาราวดีศรีอยุธยา” นั้นเป็นเพราะเดิมก่อนจะตั้งกรุงศรีอยุธยาทุกวันนี้เคยมีเมืองโบราณอยู่นอกเกาะเมืองอยู่ก่อนแล้ว เรียกกันว่าอโยธยาศรีรามเทพนคร วัดนอกเกาะชื่อ วัดมเหยงค์ วัดพนัญเชิงที่มีพระนั่งองค์ใหญ่ หรือแม้แต่วัดธรรมิกราชในเกาะเมืองซึ่งยังมีหลักฐานมาจนบัดนี้ล้วนมีมาก่อนพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น พระเจ้าอู่ทองซึ่งยังเถียงกันอยู่ว่ามาจากไหน บ้างก็ว่าหนีโรคระบาดมาจากอู่ทองแถวเมืองสุพรรณบุรี บ้างก็ว่ามาจากทางเหนือ บ้างก็ว่าคงแถว ๆ ลพบุรี แต่ยังไม่เคยได้ยินว่าขึ้นจากทางใต้แถวสุไหงโก-ลกหรือยะลา ได้นำผู้คนอพยพมาอยู่ที่อโยธยาแห่งนี้เป็นครั้งแรก


ต่อมาจึงขยับขยายไปตั้งเมืองในตัวเกาะแถวหนองโสนหรือบึงพระรามในบัดนี้ เมื่อคำนวณวันเวลาจากปูมโหรและพระราชพงศาวดารแล้ว น่าจะเป็นวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีเถาะ พ.ศ.1893 เป็นอันว่าเริ่มวันที่ 1 ปีที่ 1 แห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และอยู่ยั้งยืนยงมารวม 417 ปีจึงแหลกสลายลง มีกษัตริย์ปกครอง 34 พระองค์ เราเรียกพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ว่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เวลาที่ต้องมีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณอดีตพระมหากษัตริย์ เช่น คราวรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นไปบวงสรวงที่พลับพลาจัตุรมุข พระนครศรีอยุธยาหรือคราวรัชกาลปัจจุบันทรงครองราชย์ครบ 60 ปี มีพระราชพิธีบวงสรวงที่พระที่นั่งชุมสาย หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ใน พ.ศ.2549 ก็ได้ออกพระนามพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้ง 34 พระองค์ โดยเฉพาะพระเจ้าอู่ทอง พระผู้สร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ถือมาตลอดกรุงศรีอยุธยาว่าเป็น “พระเทพบิดร” หรือ Founding Father ของพระนคร เวลาดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ข้าราชการสมัยอยุธยาต้องไปถวายสัตย์ปฏิญาณต่อดวงพระวิญญาณเสมอ

ชื่อ “อยุธยา” หรือ “อโยธยา” แปลว่ายากที่ผู้ใดจะรบด้วยจนได้ชัยชนะ แปลอีกอย่างก็ได้ว่าเมืองที่ไม่เคยพ่ายแพ้ เป็นการตั้งเอาเคล็ดตัดไม้ข่มนาม ฝรั่งที่เข้ามาภายหลังเรียกตามพม่าและมอญว่า โยเดีย คงกระดกลิ้นเรียกแบบไทยยาก ชื่ออยุธยาตรงกับชื่อเมืองที่พระอินทร์ใช้ให้พระวิษณุกรรมไปสร้างขึ้นให้เป็นที่อยู่ของท้าวอโนมาตัน พระชนกของท้าวอัชบาล และต่อมาตกเป็นของพระรามผู้เป็นพระราชโอรส ของท้าวอัชบาลตรงกับคตินิยมว่า พระมหากษัตริย์คือพระรามซึ่งต้องครองกรุงศรีอยุธยา


อีกประการหนึ่งการนำเอาคำว่าทวาราวดีมาใช้เพราะกรุงทวาราวดีเป็นเมืองมีน้ำล้อมรอบและมีประตูหลายด้านตรงกับลักษณะของกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ตรงกับลักษณะของกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะไม่มีแม่น้ำล้อมรอบ รัชกาลที่ 1 จึงทรงตัดคำว่าทวาราวดีออก แล้วทรงเปลี่ยนสร้อยนามพระนครเป็นบวรรัตนโกสินทร์แทน เพราะเป็นที่อยู่ของพระแก้วมรกตอันพระอินทร์เนรมิตขึ้น และทรงรักษาคำว่า “อยุธยา” ไว้ แต่แทนที่จะเป็นกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา ก็ให้เป็นกรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยาฯ ซึ่งแปลว่ายิ่งใหญ่เหนืออยุธยา ภายหลังรัชกาลที่ 4 เปลี่ยนคำว่า “บวร” เป็นอมร จนถึงบัดนี้

ศรีอยุธยาหรือกรุงศรีอยุธยาอันยิ่งใหญ่เริ่มต้นขึ้นแล้ว!.

ชื่อ “อยุธยา” หรือ “อโยธยา” แปลว่ายากที่ผู้ใดจะรบด้วยจนได้ชัยชนะ แปลอีกอย่างก็ได้ว่าเมืองที่ไม่เคยพ่ายแพ้ เป็นการตั้งเอาเคล็ดตัดไม้ข่มนาม ฝรั่งที่เข้ามาภายหลังเรียกตามพม่าและมอญว่า โยเดีย

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
เดลินิวส์ 16 สิงหาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น: