หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศรีอยุธยา (2)

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่เกิด อังกฤษยังอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เกิดสงครามรบพุ่งกับฝรั่งเศสที่เรียกว่าสงครามร้อยปี รัฐสภาซึ่งเกิดก่อนหน้านั้นราวร้อยปีเริ่มแบ่งแยกเป็นสองสภาคือสภาสามัญและสภาขุนนาง ภาษาอังกฤษเพิ่งจะเข้ามาเป็นภาษาทางการในอังกฤษแทนที่ภาษาฝรั่งเศส แต่ในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอมยังคงรุ่งเรืองอยู่พร้อมทั้งพุทธศาสนานิกายมหายาน และศาสนาพราหมณ์นิกายบูชาพระศิวะ เรียกว่าไศวนิกาย ตลอดจนนิกายบูชาพระวิษณุเรียกว่าไวษณพนิกาย


บ้านเมืองทั้งหลายเวลานั้นพยายามแปลกแยกปลีกตัวจากอิทธิพลขอมซึ่งเป็นเจ้าถิ่นในละแวกนี้ เช่น สุโขทัย ลพบุรี อู่ทอง และกรุงศรีอยุธยาก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่แม้จะเพิ่งตั้งขึ้นใหม่แต่ก็พยายามสลัดจากอำนาจปกครองของขอม อาณาเขตกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นนอกจากจะครอบคลุมเกาะกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังข้ามแม่น้ำไปทางเหนือจนกินถึงเมืองลพบุรี และชัยนาทด้วย ส่วนทางทิศตะวันตกไปถึงเมืองตะนาวศรี ทวาย ทางตะวันออกไปถึงเมืองจันทบุรี และทางใต้ลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชและมะละกา

เมื่อเด็ก ๆ ผมเคยเข้าใจว่าเดิมเมืองไทยคือกรุงสุโขทัย พอสุโขทัยล่มสลายจึงเกิดกรุงศรีอยุธยาขึ้นแทนที่ ครั้นกรุงศรีอยุธยาแตกจึงเกิดกรุงธนบุรี กรุงธนฯ ล่มจึงเกิดกรุงรัตนโกสินทร์ ข้อความท่อนหลัง ๆ นั้นจริงเพราะถ้ากรุงศรีอยุธยาไม่แตก ไฉนเลยจะเกิดกรุงธนบุรีได้

แต่แท้จริงแล้วกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นโดยที่กรุงสุโขทัยยังอยู่ดี ตอนนั้นยังอยู่ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท กรุงใหม่ของพระเจ้าอู่ทองตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อทั้งขอมและสุโขทัย แต่สุโขทัยและอยุธยาก็มีไมตรีต่อกันด้วยดี หลังจากนั้นอีกหลายปี สุโขทัยจึงเสื่อมลง เจ้านายสายสุโขทัยอพยพลงมาอยู่อยุธยาก็มาก จนภายหลังกลับมีอำนาจขึ้นในกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าเจ้านายสายราชวงศ์พระร่วง

ที่เรียกว่าพระเจ้าอู่ทองเพราะท่านเคยเป็นใหญ่อยู่ในเมืองอู่ทอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี) เชื่อกันว่าเป็นเชื้อพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือจากเชียงรายหรือเชียงแสน คำว่าพระเจ้าอู่ทองมีหลายพระองค์เพราะใครที่ครองเมืองอู่ทองก็เป็นพระเจ้าอู่ทองทั้งนั้น กรุงศรีอยุธยาที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นขอมในนครกัมพูชา และยังรบพุ่งกันอีกด้วย จนอยุธยาเคยยกทัพไปตีเมืองพระนคร เมืองหลวงของขอมได้ แม่ทัพไทยครั้งนั้นคือพระราเมศวร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่แต่ที่เก่งกล้าสามารถมากกว่าคือขุนหลวงพงั่วผู้เป็นพระเจ้าอู่ทองถัดจากเจ้าเมืองอยุธยาทั้งเป็น “พี่เมีย” ของเจ้าเมืองอยุธยาด้วย ชัยชนะเหนือขอมในครั้งนั้นไทยได้กวาดต้อนผู้คนจากขอมเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก และขอมเลิกตอแยกับไทยมาอีกนาน ที่สำคัญคือชื่อเสียงขุนหลวงพงั่วลบรัศมีพระราเมศวรผู้เป็นหลานลุงเกือบสิ้นเชิง

แม้กระนั้นการที่อยุธยามีชัยชนะเหนือกัมพูชา กลับทำให้อิทธิพลของขอมพุทธศาสนานิกายมหายาน และศาสนาพราหมณ์นิกายไวษณพนิกายแผ่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาเป็นกรุงใหม่ ยังไม่มีขนบธรรมเนียมใดเป็นของตนเอง จึงเต็มใจรับเอาขนบธรรมเนียมพราหมณ์เข้ามาเต็มที่ โดยเฉพาะคตินิยมที่ว่าเจ้าเมืองคือสมมุติเทวราชหรือพระนารายณ์จุติลงมาเกิดเช่นเดียวกับพระราม พระนามของกษัตริย์จึงเปลี่ยนจากขุนหลวงหรือพ่อขุนเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ประทับกลายเป็นปราสาทราชวัง คำพูดคำจากลายเป็นราชาศัพท์หรือศัพท์ชั้นสูงที่คนทั่วไปฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง คำสั่งของกษัตริย์เรียกว่าพระบรมราชโองการ คตินิยมนี้ยังใช้กันมาจนบัดนี้แม้จะไม่ถึงขนาดเลื่อมใสจริงจัง แต่ก็เป็นโบราณประเพณี

เป็นอันว่าเราตีได้ขอม แต่เป็นฝ่ายรับอิทธิพลแนวคิดจากขอมมาใช้คล้าย ๆ กับที่โรมันตีได้กรีก แต่ก็เป็นฝ่ายรับอิทธิพลแนวคิดกรีกมาใช้ ลงท้ายไม่รู้ว่าใครชนะใครแพ้กันแน่

สมัยสมเด็จพระรามาธิบดี (พระเจ้าอู่ทอง) นั้น ฝรั่งยังไม่เข้ามา แต่จีน แขกชวา แขกมลายู แขกเทศ และแขกจาม (เคยเป็นอาณาจักรใหญ่อยู่ในเวียดนามตอนกลาง แถวเว้ ดานัง) เริ่มเข้ามาค้าขายแล้ว ตอนนั้นตรงกับราชวงศ์เหม็งของจีน

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคต (เริ่มใช้คำนี้เป็นครั้งแรก แปลว่าไปสู่สวรรค์แล้ว) พระชนมพรรษา 55 พรรษา ครองราชย์ 19 ปี พระราเมศวรเจ้าเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองชายแดนต่อกับขอม ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ในฐานะพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่ราว 1 ปีต่อมา ขุนหลวงพงั่วผู้เป็นลุง (พี่ชายแท้ ๆ ของแม่) ก็ยกทัพจากเมืองอู่ทองเข้ามาจะชิงราชสมบัติ สมเด็จพระราเมศวรเคยแพ้ทางกันอยู่คราวไปรบกับขอมก็ยอมถวายราชสมบัติให้ลุงแล้วกลับออกไปเป็นเจ้าเมืองลพบุรีอย่างเดิมแต่โดยดี

พระราเมศวรกลายเป็นพระนามสำคัญของรัชทายาทราชบัลลังก์อยุธยาต่อมา ซึ่งจะตั้งจากพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เท่านั้น โปรดสังเกตว่าธรรมเนียมหลายอย่างมักเกิดจากการเริ่มต้นครั้งแรกไม่ว่าจะผิดหรือถูก และไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ หลังจากนั้นก็ถือปฏิบัติกันสืบมา เรียกว่า “โบราณราชประเพณี”

ขุนหลวงพงั่วอภิเษกเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 3 ตามแบบธรรมเนียมขอม แต่ใช้พระนามาภิไธยว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชไม่ใช่สมเด็จพระรามาธิบดี เคยเสด็จขึ้นไปรบกับเชียงใหม่และกำแพงเพชร เวลานั้นกำแพงเพชรเป็นเมืองขึ้นสุโขทัย พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยยกทัพมาสู้แต่ก็พ่ายแพ้ ครั้งนั้นเองที่สุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชอยู่ในราชสมบัติ 12 ปี ก็สวรรคตขณะขึ้นไปรบทางเหนือ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า “พงั่ว” น่าจะมาจากภาษาไทยโบราณว่าพ่องั่ว แปลว่าลูกชายคนที่ 5 เริ่มจากอ้าย ยี่ สาม ไส งั่ว ลก เจ็ด แปด เจา เจ๋ง

พระเจ้าทองลัน พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช พระชนมพรรษา 15 พรรษาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 4 แต่ครองราชย์ได้ 7 วัน สมเด็จพระราเมศวร เจ้าเมืองลพบุรีก็ยกทัพเข้ามาทวงราชสมบัติคืน และจับพระเจ้าทองลันได้ ซึ่งความจริงก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกันเพราะพ่อของพระเจ้าทองลันเป็นพี่ของแม่พระราเมศวร ได้โปรดให้ปลงพระชนม์พระเจ้าทองลันเสียด้วยท่อนจันทน์แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์รอบสอง

สมเด็จพระราเมศวรคงต้องการแสดงความสามารถในการรบให้เป็นที่ประจักษ์แก้ปมด้อยที่เคยไปรบที่เมืองเหนือแต่ก็ไม่ได้แสดงวีรกรรมเหมือนลุง จึงยกทัพขึ้นไปรบทางเหนือจนชนะเชียงใหม่ คราวนี้กวาดต้อนผู้คนลงมาเป็นอันมากแล้วส่งลงไปอยู่ทางใต้ที่เมืองไชยาและนครศรีธรรมราช คงจะให้ไกลหูไกลตา แต่นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ศิลปวัฒนธรรม และภาษาปักษ์ใต้หลายคำแถบเมืองนครฯ ค่อนข้างใกล้เคียงกับภาษาเหนือจนกระทั่งบัดนี้

ขากลับสมเด็จพระราเมศวรทรงแวะนมัสการพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกจนเป็นธรรมเนียมสืบมาว่ากษัตริย์อยุธยาเสด็จผ่านไปทางนั้นต้องแวะนมัสการพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ สมเด็จพระราเมศวรอยู่ในราชสมบัติราว 6 ปีก็ประชวรสวรรคต พระรามราชบุตรได้เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามราชาธิราช นี่ก็ดัดแปลงใช้ชื่อใหม่

เรารู้เรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระรามราชาธิราชน้อยที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยาทั้งหลาย แม้จะอยู่ในราชสมบัตินานถึง 15 ปี ซึ่งนับว่านานมากสำหรับการจะทำสงครามแผ่ขยายอาณาเขตหรือการจะริเริ่มก่อสร้างหรือวางขนบธรรมเนียมประเพณีใด ๆ แต่แล้วก็หาได้รู้เรื่องของพระองค์ไม่ จนกระทั่ง เจ้าเมืองสุพรรณบุรีชื่อเจ้านครอินทร์ยกทัพเข้ามาแย่งราชสมบัติ แล้วเนรเทศสมเด็จพระรามราชาธิราชให้ไปปลูกตำหนักอยู่เงียบ ๆ ทางฝั่งตรงข้ามเกาะเมือง ย่านนั้นเรียกกันว่า ปทาคูจาม รัชกาลที่ 5 ทรงสันนิษฐานว่าไม่ใช่เมือง แต่คงเป็นท่าเรือ (ภาษาใต้เรียกว่าปละท่า ที่สงขลายังใช้คำนี้) และชุมชนแขกจาม จึงเรียกปทาคูจาม

เจ้านครอินทร์ผู้นี้เป็นลูกน้องชายของขุนหลวงพงั่ว เมื่อขุนหลวงพงั่วเข้ามาครองอยุธยา ก็ยกเมืองอู่ทองให้น้องชายปกครอง พอน้องชายตาย เจ้านครอินทร์ลูกชายได้เป็นใหญ่และคงเห็นตัวอย่างจากลุง (ขุนหลวงพงั่ว) ที่เข้ามายึดกรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย ประกอบกับสมเด็จพระรามราชาธิราชคงเป็นคนธรรมะธัมโมไม่ใช่ขุนศึกนักรบ จึงเข้ายึดอยุธยาบ้างแล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ชื่อสมเด็จพระอินทราชา รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา บางครั้งเรียกสมเด็จพระรามาธิบดีศรีนครินทราธิราช

เจ้านครอินทร์เป็นนักการค้า เคยแต่งสำเภาไปค้าขายกับจีนในสมัยราชวงศ์เหม็งจนมีไมตรีอันดีต่อกัน พงศาวดารจีนออกพระนามว่า “เจียวลกควนอิน” บางครั้งเรียก “อินตอลอทีล่า” คงจะมาจากคำว่าอินทราชาธิราช มีพระราชโอรสสำคัญ 3 พระองค์ เจ้าอ้ายพระยาองค์โตให้ไปครองเมืองสุพรรณบุรี ฐานที่มั่นเดิม เจ้ายี่พระยาองค์รองครองเมืองสรรคบุรี แถวกำแพงเพชร เจ้าสามพระยาองค์เล็กครองเมืองชัยนาท

เจ้านครอินทร์อยู่ในราชสมบัติได้ 17 ปีก็สวรรคต ยังไม่ทันมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด เจ้าอ้ายพระยาก็ขับช้างมาจากสุพรรณ เจ้ายี่พระยาขับช้างลงมาจากเมืองสรรค์เกิดการยุทธหัตถีกันขึ้นที่สะพานป่าถ่านกลางกรุงศรีอยุธยา ลงท้ายสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ เป็นอันว่าตาอินกะตานาตาย เหลือแต่ตาอยู่คือเจ้าสามพระยา น้องนุชสุดท้องได้ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 7 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช และเพื่อไม่ให้สับสนกับขุนหลวงพงั่วผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์แรก จึงออกพระนามเรียกเจ้าสามพระยาว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 บัดนี้ชื่อกษัตริย์อยุธยาเริ่มวนเวียนซ้ำกันแล้ว

สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ใหม่โปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์สององค์ไว้ที่สะพานป่าถ่านตรงที่เจ้าพี่ทั้งสองชนช้างกัน (เรียกว่าขาดคอช้าง แปลว่าตายคาคอช้าง) แล้วจัดการถวายพระเพลิงที่ลานใหญ่ไม่ไกลกัน ภายหลังโปรดฯ ให้ก่อพระปรางค์องค์ใหญ่ครอบที่ตรงนั้นแล้วสร้างวัดขึ้น ณ บริเวณนั้นเรียกว่าวัดราชบูรณะ บางคนเข้าใจว่าอาจเป็นวัดเก่ามีมาแต่เดิมแต่มาทรงบูรณะขึ้นใหม่หมดจึงมีชื่อว่าวัดราชบูรณะ

เรื่องการขาดคอช้างและการสร้างวัด ตลอดจนความพิลึกพิลั่นของพระปรางค์วัดราชบูรณะพิสดารขนาดสร้างเป็นหนังไทยได้สบาย เรื่องนี้ต้องเล่าคราวต่อไป

มาถึงบัดนี้ก็ลำดับได้ 7 รัชกาลแรกของกรุงศรีอยุธยาแล้ว นักประวัติศาสตร์นิยมจัดให้ผู้สืบเชื้อสายเดียวกันเป็นญาติกันอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียกราชวงศ์แรกของกรุงศรีอยุธยาว่าราชวงศ์เชียงราย แต่บางคนเรียกราชวงศ์อู่ทอง ประกอบด้วยพระเจ้าอู่ทองเจ้าเมืองอู่ทองจากสุพรรณบุรีและผู้สืบเชื้อสายคือพระราเมศวรและพระรามราชาธิราช แต่คั่นด้วยขุนหลวงพงั่ว เจ้าเมืองอู่ทองคนใหม่ที่มาชิงราชสมบัติจากหลานคือพระราเมศวรจนมีลูกหลานเหลนเป็นกษัตริย์ต่อมาอีกหลายพระองค์ เรียกว่าราชวงศ์สุวรรณภูมิ ประกอบด้วยขุนหลวงพงั่ว พระเจ้าทองลัน พระเจ้าอินทราชา (เจ้านครอินทร์) เจ้าสามพระยา ทั้งยังจะมีต่อไปอีกหลายพระองค์

ถ้าเห็นว่ายุ่ง ๆ มากจะจำแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ไว้แค่นี้ก็ได้เพราะสำคัญอยู่ อ้อ! แล้วมาถึงตอนนี้ กรุงศรีอยุธยามีกษัตริย์แค่ 7 รัชกาล และตั้งมาได้ราว 70 ปีแล้วนะครับ แต่แย่งราชสมบัติกันถึง 4 ครั้ง จับพระเจ้าแผ่นดินสำเร็จโทษ (แปลว่าประหาร) 1 ครั้ง

และนี่เองที่เป็นจุดอ่อนในประวัติ ศาสตร์กรุงศรีอยุธยาสืบมา.


วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
@เดลินิวส์ 23 สิงหาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น: