ถึงบางกอกทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งกรุงเทพฯ แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเพียงเมื่อ 230 ปีมานี้ บริเวณที่เป็นโรงพยาบาลศิริราชทุกวันนี้จะเคยเป็นสวนมังคุด สวนลิ้นจี่ บริเวณตั้งแต่ตลาดนางเลิ้งถึงสนามม้าจะเคยเป็นทุ่งนาใช้ทำพิธีแรกนาขวัญ เพียง 150 ปีมานี้กรุงเทพฯ ยังมีกำแพงเมืองล้อมรอบ ยิ่งลานพระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตฯ แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังเป็นป่าเป็นทุ่งนาและรกไปด้วยสัตว์ร้าย 100 ปีมานี้สี่แยกราชประสงค์ ถนนสุขุมวิท สวนลุมฯก็ยังเป็นทุ่งนาข้าวออกรวงเหลืองอร่าม
บ้านเมืองเริ่มขยายและมีชาวต่างประเทศเข้ามามากขึ้นภายหลังการลงนามในสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4 จนนำไปสู่การออกโฉนดที่ดินในเวลาต่อมา กรุงเทพฯ หลังจากนั้นเริ่มมีตึกสูงและคฤหาสน์หรูหราแบบฝรั่งมากขึ้น
ราว 60 ปีมานี้ถนนวิภาวดีฯ ถนนรัชดาภิเษกยังไม่มี บริเวณนี้ยังเป็นทุ่งนา สวนผัก โคลนตมถึงเข่า ที่ดินราคาถูกแต่ไม่มีคนซื้อ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ ยังใส หน้าโรงงานสุราบางยี่ขันเป็นย่านที่ปลานับหมื่นตัวมาชุมนุมกันเพื่อดักกินส่าเหล้า ส่าน้ำตาลที่ไหลลงแม่น้ำ แม่ค้ามาจอดเรือจับขายกันตรงนั้นเอง
เดี๋ยวนี้สภาพทุ่งนาป่าดอน คลองที่บัวหลวงชูช่อบานสะพรั่ง วัดเก่า ๆ ศาลาไม้ที่ตะไคร่น้ำจับ ต้นไม้ที่เอนลงมาให้ร่มเงาคร่อมตลอดลำคลอง และสวนผลไม้อาจพอมีให้เห็นก็แถบชานกรุง แถว ๆ ตลิ่งชัน หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง แต่วันหนึ่งคงหมดไป วันนี้ใครอยากเห็นชีวิตง่าย ๆ เรียบ ๆ ก็ยังพอหาได้ถ้านั่งเรือไปตามคลองแสนแสบ คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ ซึ่งชวนให้ชาวต่างชาติตื่นเต้นกับการนั่งเรือถ่ายรูป โบกมือทักทายเรือกาแฟ เรือก๋วยเตี๋ยว เรือขนมที่พายผ่านไป เด็ก ๆ ที่แก้ผ้ากระโดดน้ำ และสาว ๆ ที่นุ่งกระโจมอกซักผ้าอยู่
ตามแพยิ่งนัก
ชีวิตชาวกรุงวันนี้รีบร้อน เร่งรีบ และทำอะไรรวบรัดด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจชนิดปากกัดตีนถีบและแข่งกับเวลา แม้แต่จะประดิดประดอยริ้วมะปราง สลักผักผลไม้ หรือคั่วแกงพะแนงผัดอะไรที่ยุ่งยากก็ไม่นิยมกันแล้วไม่ว่าจะทำกินหรือทำขาย ขนมครกวันนี้จึงใช้กาน้ำรินแป้งหยอดลงในครก เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้กุ้งดี ๆ หายากมีแต่กุ้งเลี้ยง ไก่เลี้ยงโตเร็ว ปลาทะเลก็แช่ฟอร์มาลิน ข้าวหุงด้วยหม้อไฟฟ้าจนหาข้าวตังกินได้ยาก การอุ่นใช้เตาไมโครเวฟ การเคี่ยวใช้หม้ออัดแรงดันไอน้ำ ผักก็เต็มไปด้วยสารพิษ ยังจะมีสารตัดแต่งพันธุกรรมอีก
จากระบบตีฆ้องร้องป่าวบอกข่าวกลายมาเป็นโทรทัศน์ขาวดำเมื่อ 50 ปีเศษมานี้ และกลายมาเป็นโทรทัศน์สีในยุคหลังจนเป็นโทรทัศน์ระบบเคเบิล ระบบดาวเทียม และระบบโทรศัพท์มือถือในวันนี้ ทั้งยังจะมีโทรศัพท์ 3 จี 4 จี ที่พัฒนามาจากระบบโทรศัพท์บ้านและตะแล้บแก๊ปจนของเก่าไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป
นึกถึงถนนเมื่อแรกมีซึ่งคนบ่นกันว่าจะเอารถที่ไหนมาวิ่ง วันนี้กว้างเท่าไร ตัดเพิ่มอีกกี่สายก็ไม่พอ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ วันนี้จึงหมดความเป็นเวนิสตะวันออก เมืองเก่าเมืองใหม่ปนกันจนไม่รู้อะไรเป็นอะไร
บุญที่เรายังรักษาเอกราชไว้ได้ แต่การพูดไทยปนฝรั่ง การแสดงกิริยาประหลาด ๆขนาดแกล้งทำเป็นนอนตายแข็งทื่อตามที่สาธารณะอวดชาวบ้าน การใช้ภาษาแปลก ๆ การหลงใหลได้ปลื้มกับวัฒนธรรมต่างชาติที่ผ่านเข้ามาทางดารา ละคร และนักร้องเกาหลีจนเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวันทางสารพัดสื่อดังนี้ยังจะเรียกว่ารักษาความเป็นเอกราชไว้ได้จริงหรือไม่หนอ
สิ่งหนึ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือความคิดและค่านิยม หลายเรื่องที่เคยถูก มาวันนี้กลายเป็นผิด เช่น การมีเมียหลายคน หลายเรื่องที่เคยผิด มาวันนี้กลายเป็นถูก เช่น การกล้าแสดงความคิดคัดค้านผู้ใหญ่ การเปลี่ยนธรรมเนียมการปกครองบ้านเมือง
ครั้งรัชกาลที่ 4-5 เคยมีปัญหาทำนองนี้มาแล้วระหว่างเจ้านายและขุนนางรุ่นเก่ากับเจ้านาย ขุนนางรุ่นใหม่และนักเรียนนอกหัวสมัยใหม่ เหตุการณ์มารุนแรงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6-7 จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 8-9 ความแตกต่างทางความคิดกลายเป็นการต่อสู้รุนแรงเรื่องลัทธิอุดมการณ์ ระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยม ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ระหว่างอำนาจเป็นธรรมกับธรรมเป็นอำนาจ ราวปีพ.ศ. 2500 ยังมีคำที่คนกลุ่มหนึ่งเรียกคนอีกกลุ่มว่าพวกศักดินาหรือขวาตกขอบทั้งที่ไม่รู้ว่าศักดินาแท้จริงแปลว่าอะไรเพราะไพร่ก็ยังมีศักดินาได้ ข้างคนที่ถูกเรียกว่าศักดินาก็ตอบโต้อีกพวกบ้างว่าฝ่ายเอียงซ้ายหรือพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งวันนี้เปลี่ยนมาเรียกพวกอำมาตย์และไพร่ไปแล้ว
อันที่จริงความขัดแย้งเช่นว่านี้มีอยู่ตลอด ถ้าจะดูให้เป็นระบบจะเห็นว่าตอนต้นกรุงเทพฯ เรามีความขัดแย้งรุนแรงมากในระหว่างชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเจ้าสมัยอยุธยากับเจ้ายุคกรุงธนบุรีหรือระหว่างเจ้ายุคกรุงธนบุรีกับเจ้ายุคกรุงรัตนโกสินทร์หรือในหมู่เจ้าเมื่อต้นกรุงกันเอง ขบถเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระราชโอรสพระเจ้าตาก และขบถวังหน้า ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคราวพระองค์เจ้าอินทปัตก่อเหตุ ความแตกแยกความคิดระหว่างฝ่ายที่หนุนรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 หรือวิกฤติวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นตัวอย่างได้ดี
ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นกลาง เช่น ขุนนางระดับกลาง พ่อค้า นายทุน ข้าราชการหรือระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นสูง ซึ่งยาวนานจนเป็นเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ปีพ.ศ. 2475 และยังขัดแย้งต่อเนื่องหลังจากนั้นอีกนาน
ลัทธิอุดมการณ์ ความยากจน การกดขี่ข่มเหงจากข้าราชการ การขาดแคลนที่ทำกิน การใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบโดยที่เจ้าหน้าที่จัดการอะไรไม่ได้ มีส่วนสำคัญทำให้ความขัดแย้งไหลลงสู่ระดับชนชั้นล่างหรือที่บางคนเรียกว่ารากหญ้าหรือรากแก้ว เช่น กรรมกร ชาวไร่ชาวนา เกษตรกร ชาวชนบท ซึ่งปกติจะสงบเงียบเรียบร้อย แต่แล้วก็กลับกล้าลุกขึ้นขัดแย้งกับชนชั้นกลาง เช่น นายทุน เจ้าของโรงงาน เจ้าของที่ดิน และข้าราชการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ดูจะทรงเข้าพระทัยเรื่องเหล่านี้ดี จึงได้ทรงเริ่มโครงการช่วยเหลือประชาชนแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาส คนลำบากยากจนไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งจากปัญหาที่หมักหมมมานานและลืมตาอ้าปากได้ เริ่มจากโครงการเล็ก ๆ ที่หุบกระพงเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ ที่ทำกิน แหล่งน้ำ การเกษตร จากหุบกระพงจึงขยายไปเป็นห้วยฮ่องไคร้ คุ้งกระเบน พิกุลทอง และอื่น ๆ
โครงการเหล่านี้ขยายใหญ่ขึ้นและมีจำนวนมากขึ้นตามปัญหาของประเทศจนครอบคลุมถึงการแก้ปัญหาจราจร การแก้ปัญหาอุทกภัย โรคระบาด การสาธารณสุข การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาติ การศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม สมัยคอมมิวนิสต์ยังรุนแรงตามภาคอีสาน ทรงแนะให้มีการทำถนน สะพาน การพัฒนาอาชีพ การจัดที่ทำกิน และเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร จนมีคนกราบบังคมทูลถามว่าเหตุใดจึงทรงสู้กับคอมมิวนิสต์ รับสั่งว่าไม่ได้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่สู้กับความยากจนต่างหาก
อีกคราวรับสั่งว่าถ้าคนยังจนก็จะไม่มีการศึกษา ถ้าขาดการศึกษาก็จะไม่รู้จักสิทธิเสรีภาพของตน และถ้าขาดสิทธิเสรีภาพก็จะไม่มีประชาธิปไตย
ที่จริงรัฐบาลเองก็ได้ทำหลายอย่างเพื่อให้ความขัดแย้งเหล่านี้ลดลงหรือหมดไป แต่จุดอ่อนคือรัฐบาลอยู่ไม่ต่อเนื่อง เวลามีน้อย ทั้งความขัดแย้งทางการเมืองภายในรัฐบาลหรือกับสภา ข้อจำกัดทางงบประมาณและบารมีที่จะผลักดันเรื่องดี ๆ อาจทำได้ยาก ยังจะมีปัญหาวาระจรของประเทศโถมทับเข้ามามากจนต้องหมดเวลา ใช้งบประมาณและม้ารถทศพลไปกับการแก้ปัญหาวาระจรเหล่านั้น
ที่จริงในการแก้ปัญหาการเมืองการปกครองถ้าใช้หลักธรรมาภิบาล ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงและในการแก้ปัญหาสังคมใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตามแนวทางที่พระราชทานไว้ก็น่าจะคลี่คลายปัญหาและความขัดแย้งไปได้เป็นอันมาก
ทุกวันนี้ปัญหาที่เคยรุนแรงในอดีตลดลงมากแล้ว เช่น ปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แม้แต่ปัญหาความยากจนก็ลดลงได้มาก แต่ท่ามกลางความผันแปรของกระแสโลก ปัญหาเก่าหลายอย่างก็ยังคงอยู่ ปัญหาใหม่หลายเรื่องก็ประดังเข้ามา จะโทษว่าเป็นปัญหาของสังคมเมืองและผลกระทบจากการพัฒนาทางวัตถุและทางเทคโนโลยีก็ได้ สมัยร้อยปีเศษมานี้เมื่อเริ่มมีเครื่องจักรไอน้ำและเครื่องทุ่นแรง โรงงานหลายแห่งต้องโละคนงานออกเพราะหันมาใช้เครื่องจักร วันนี้ความเจริญทางเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเช่นกัน ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน
แม้คนทุกวันนี้จะสะดวกสบายขึ้นและชื่นชมกับระบบทางด่วนลอยฟ้า รถใต้ดิน ระบบ 3 จี 4 จี อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นาโนเทคโนโลยี แต่ก็ยังถวิลหาความรื่นรมย์จากไม้ดอกไม้ใบ อากาศที่ปลอดโปร่ง ชีวิตที่สงบสุขและมีความเป็นส่วนตัว ความเป็นธรรม มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และระบอบการปกครองที่เสียงส่วนใหญ่เป็นใหญ่ เราจึงเรียกร้องหาการปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ และการสาธารณสุข
กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์วันนี้ไม่ได้จำกัดตีวงอยู่แค่พระมหานครดังเมื่อ 100-200 ปีก่อนแล้ว แต่เป็นราชอาณาจักรไทยทั้งประเทศ กรุงเทพฯจึงไม่ใช่ประเทศไทย หากเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย กรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันย่อมหมายถึงประเทศไทยทั้งหมดโดยนับรวมดินแดนที่เคยได้มา และตัดดินแดนที่เราต้องสูญเสียไปออก ซึ่งถ้าจะรักษาไว้ให้ “อมร” คืออายุยืนยาวนานด้วยความมั่นคงวัฒนาสถาพรก็ต้องรักษาไว้ทั้งหมดทุกตารางนิ้วและดูแลผู้คนทั้ง 63 ล้านคนบนผืนแผ่นดินนี้
คำว่า “มั่นคง” นั้นทุกวันนี้ชอบใช้กันมากในความหมายว่า “ยั่งยืน” มาจากภาษาอังกฤษว่า sustainable คือได้อยู่ ได้กิน ได้ใช้ ได้อาศัยไปนาน อย่างเช่น การพัฒนาที่ดีต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่สร้างความเจริญแต่ผู้คนได้รับผลกระทบ กลายเป็นเสียอย่างได้อย่าง แทนที่จะเป็นน้ำบ่อทรายได้ใช้ประโยชน์นาน ๆ กลับเป็นไฟไหม้ฟาง วูบเดียวก็ดับ แทนที่จะเก็บห่านในนิทานไว้รอกินไข่ทุกวัน กลับฆ่าห่านหวังเอาไข่ในท้อง ลงท้ายห่านตาย ไข่ก็ไม่ได้กิน
อมรจึงคงไม่ได้แปลว่าอมตะคือไม่ตาย เพราะตามหลักอนิจลักษณะท่านก็บอกว่าทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป แต่อมรควรแปลว่ายั่งยืน ทำให้เราได้อยู่ ได้กิน ได้ใช้ ได้อาศัย ได้พึ่งพาไปนาน
อมรรัตนโกสินทร์จึงเป็นเมืองของพระแก้วมรกตที่ยั่งยืน ไม่ว่าด้านการพัฒนาทางวัตถุหรือทางจิตใจ ไม่ว่าในด้านความสวยงามหรือความทันสมัย ไม่ว่าในสายตาชาวไทยหรือชาวต่างชาติ
กรุงศรีอยุธยาอยู่มาได้ 417 ปี ไม่ “อมร” กรุงธนบุรีอยู่มาได้ 15 ปีก็ไม่ “อมร” วันนี้กรุงเทพมหานครอยู่มาได้ 229 ปี จะอมรเพียงใดก็อยู่ที่คนไทยทั้งหลาย อย่างที่จารึกไว้ที่ฐานพระพุทธรูป ภปร ว่า ชาติไทยดำรงความเป็นไทยมาได้ก็ด้วยความสามัคคี.
วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น