พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย
โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ
ภายหลังที่ได้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานีแล้ว ในปี พ.ศ.2328 ได้เกิดเหตุการณ์ที่กองทัพพม่าได้ยกทัพเข้ามาจำนวนหลายทางด้วยกัน ซึ่งต่อมาภายหลังนักประวัติศาสตร์สงคราม ได้เรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “สงครามเก้าทัพ” อันหมายถึงกองทัพพม่า ที่ยกทัพเข้ามาปิดล้อมสยามไว้ถึง 9 ทัพด้วยกัน และเหตุการณ์ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเกณฑ์ทหารกองหนึ่งไปร่วมรบ นั่นคือ “กองทหารอาสาจาม”
ภายหลังที่ทรงมีชัยเหนือพม่าปัจจามิตร ได้ทรงปูนบำเหน็จพระราชทานที่ดินนอกเขตพระนคร ริมคลองมหานาค และคลองแสนแสบ ให้เป็นที่อยู่อาศัยแก่กองทหารอาสาจาม ซึ่งต่อมาในปัจจุบันนี้เรียกกันว่า “ชุมชนบ้านครัว” ซึ่งเป็นที่อยู่ของมุสลิมชาวจาม ที่เทครัวมาแต่ครั้งสมัยกรุงธนบุรีจากนครจามปา (ดานัง) ซึ่งในอดีตเป็นเมืองของเขมรมาก่อน อาณาจักรจามในปี พ.ศ.743-2014 ยังนับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูอยู่ และได้รับอิทธิพลของศาสนาอิสลามเมื่อ พ.ศ.2014-2375
เนื่องมาจากในเวลาดังกล่าว อิทธิพลทางการค้า และศาสนาอิสลามของโลกอาหรับ ได้ขยายเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ มลายู ชวา มะละกา ลังกาสุกา และจามปา จึงทำให้กลุ่มประเทศเหล่านั้นหันมานับถือศาสนาอิสลามในที่สุด และเมื่อชาวจามปาได้เทครัว ตลอดจนได้โยกย้ายมาอยู่บนผืนแผ่นดินสยามที่กรุงเทพฯ หลายระลอก ก็ได้นำเอาศาสนาอิสลาม ตลอดจนวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของบรรพบุรุษแห่งชาติของตนติดตามมาด้วย
สิ่งที่ชาวจามนำติดตัวมาด้วยอย่างหนึ่งก็คือ การทอผ้าไว้ใช้เองในครัวเรือน ด้วยความสามารถพิเศษดังกล่าว “จิม ทอมป์สัน” จึงได้เปิดกิจการทอผ้าไหมขึ้นที่ “ชุมชนบ้านครัว” และ “ผ้าไหมไทย จิม ทอมป์สัน” ได้มีชื่อเสียงปรากฏไปในระดับสากล ด้วยความประณีต และงดงามในฝีมีการรังสรรค์ถักทอของชาวบ้านครัว ที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ และได้สืบสานต่อเนื่องมาชั่วลูกชั่วหลาน และทุกวันนี้ชาวชุมชนบ้านครัว ยังยึดอาชีพการทอผ้าไหมอยู่เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันชุมชนบ้านครัว เป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ มีมัสยิดสำหรับประกอบศาสนกิจในศาสนาอิสลามถึง 3 แห่งด้วยกัน คือที่ “มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์” “มัสยิดดารุ้ลฟาลาฮุ” และ “มัสยิดซูลูกุนมุตตะกีน” และนอกเหนือสิ่งอื่นใด ชาวชุมชนบ้านครัวมีความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตนเอง ที่ได้ช่วยปกป้องผืนแผ่นดินสยามเอาไว้ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาราชบังสัน” และเมื่อคราวที่มีความพยายามจะตัดทางด่วนผ่านชุมชนบ้านครัว ด้วยอานิสงส์วีรกรรมอันกล้าหาญของบรรพบุรุษในอดีตดังกล่าว โครงการตัดทางด่วนนั้น จึงต้องยกเลิกไปในที่สุดครับ
@คมชัดลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น