ใดที่เกิดขึ้นแล้ววนไปเวียนมาจนกลับมาซ้ำรอยเดิมนั้นเรียกว่า “วัฏจักร”
การเมืองไทยในรอบ 60 ปีมานี้ก็ชักจะเป็นวัฏจักรคือเริ่มด้วยการยึดอำนาจซึ่งอาจเรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น รัฐประหาร ปฏิวัติ การรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ตามมาด้วยการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไปพลางก่อนแล้วจัดให้มีการยกร่างฉบับถาวร การตั้งรัฐบาลและการมีสมาชิกสภาจากการแต่งตั้งโดยระหว่างนั้นยังไม่ให้มีการเลือกตั้ง เมื่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จจึงจะตามมาด้วยการเลือกตั้ง และลงเอยด้วยการตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ต่อจากนั้นสักพักก็จะเริ่มวัฏจักรใหม่อีกรอบ
หลัง พ.ศ. 2475 เราจึงมีรัฐประหารปี 2490 การปฏิวัติปี 2494 ปี 2500 ปี 2502 ปี 2514 ปี 2519 ปี 2520 ปี 2534 และปี 2549 ส่วนที่พยายามทำแต่ไม่สำเร็จกลายเป็นขบถก็มีแทรกเป็นระยะ ๆ อีกหลายครั้ง
ความขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์ระหว่างเสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ได้เปลี่ยนรูปมาเป็นการก่อการร้ายและการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ดินแดนไทยหลายแห่งถูกประกาศเป็นเขตสีชมพูหรือสีแดง หรือเขตปลดปล่อย เจ้าหน้าที่ของรัฐห้ามเข้า ฝ่ายหนึ่งตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นดำเนินการโดยมีกองกำลังติดอาวุธ ข้างฝ่ายทางการก็ประกาศใช้กฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์จัดการแก่ผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดอย่างรุนแรงและเฉียบขาด
ชัยชนะของฝ่ายเรียกร้องการปลดปล่อยในลาว เขมร เวียดนามระหว่างปี 2517-2518 ทำให้สถานการณ์ในไทยไม่สู้ดีนัก หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยุคเสรีภาพเบ่งบาน แม้ในโลกความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจะลดลงจนกลายเป็นสงครามเย็นคือใช้วิธีโฆษณาประชาสัมพันธ์เข้าต่อสู้กันมากกว่าใช้กำลัง แต่ภายในประเทศ การต่อสู้จากฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐยังคงมีมากขึ้น จนเมื่อมีการก่อความไม่สงบและทางการเข้าปราบปรามถึงขั้นยึดอำนาจในปี 2519 มีผู้หลบหนีเข้าป่าจับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐกลายเป็นความแตกแยกรุนแรง
รัฐบาลยุค พล.อ.เปรมได้ออกคำสั่งยุติการปราบปรามที่รุนแรงและให้โอกาสผู้หลบหนีกลับเข้ามา “ร่วมพัฒนาชาติไทย” แรก ๆ ก็ยังระแวงกันอยู่ แต่ภายหลังก็วางอาวุธทยอยกลับมาเรียนต่อบ้าง ทำงานบ้าง เข้ารับราชการบ้าง จนหลายคนได้ก้าวหน้าถึงขั้นเป็นนายทุน เป็น ส.ส. และรัฐมนตรี จังหวะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยก็อ่อนแอลง ต่างชาติเริ่มลดหรืองดการสนับสนุน พอดีกับที่เกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การทลายกำแพงเบอร์ลินในเยอรมัน วิธีการต่อสู้กับอำนาจรัฐแบบใช้ความรุนแรงจึงไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป
สิทธิเสรีภาพและบรรยากาศประชาธิปไตยอันเนื่องมาจากการเรียกร้องชนิดเอาชีวิตเข้าแลกในปี 2516 ไม่ได้สูญเปล่า แม้จะซบเซาไปบางขณะแต่ต้องถือว่าเป็นการจุดชนวนให้ผู้คนตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพ และเป็นการเริ่มยุคใหม่ของประชาธิปไตยไทยก็ว่าได้
นับแต่สมัย พล.อ.เปรม เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นทันตาเห็นด้วยนโยบายปรองดองประการหนึ่ง นโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคประการหนึ่ง และนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนอีกประการหนึ่ง ความเป็นรัฐบาลต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้นำ และการรู้จักใช้คนตลอดจนมีคนมาให้ใช้มากหน้าหลายตาทำให้เกิดโครงการพัฒนาดี ๆ ขึ้นเป็นอันมากจนเป็นปัจจัยสำคัญที่ไทยเกิดความก้าวหน้าดังที่เริ่มมีการพูดถึงไทยในฐานะเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ด้วยซ้ำ
สมัยนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เศรษฐกิจยังเจริญต่อมาโดยเฉพาะเมื่อผสมกับนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า การผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ค่อนขอดว่าเศรษฐกิจโตเร็วเหมือนฟองสบู่ ซึ่งฟองสบู่มาแตกลงจริง ๆ ในสมัยรัฐบาลต่อ ๆ มา จนถึงขั้นวิกฤติหนักในปี 2540 สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อรัฐบาลลดค่าเงินบาท ธุรกิจหลายแห่งล้มครืน เศรษฐีต้องล้มละลาย พ่อแม่ต้องเรียกลูกกลับจากนอกมาเรียนต่อในไทย หนี้สาธารณะสูงจนเราต้องกู้เงินจากกองทุนไอเอ็มเอฟ
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาพร้อมกับชูนโยบายลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ขยายโอกาส การปฏิรูปในทุกด้านและการคิดใหม่ทำใหม่ การคิดนอกกรอบโดยมีโครงการประชานิยมเป็นเครื่องมือ ที่จริงก็ต้องยอมรับว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่างในสังคมไทย แต่ด้วยกฎเกณฑ์ที่การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเข้มข้นขึ้น มีการชูหลักนิติธรรม และธรรมาภิบาลชัดเจนขึ้น นโยบายและวิธีการหลายอย่างของรัฐบาลจึงเสี่ยงและถูกจับตาดูด้วยความวิตกกังวลในความชอบด้วยกฎหมายและผลกระทบอันอาจเกิดต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศในระยะยาว
ในท่ามกลางความผันผวนและสารพันปัญหาที่รุมล้อมเข้ามาตลอด ช่วงเวลาดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลายอย่างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางกายและใจของราษฎร ในต่างจังหวัดนั้นหลายโครงการเริ่มผลิดอกออกผลกลายเป็นความช่วยเหลือด้านแหล่งน้ำ ที่ทำกิน การพัฒนาอาชีพ เพื่อให้ราษฎรลุกขึ้นยืนหยัดช่วยตนเองได้ จากพรุอันเฉอะแฉะดินก็เปรี้ยวกลายเป็นนาข้าว จากไร่ฝิ่นบนดอยกลายเป็นสวนผลไม้ ไร่ชา และสวนครัว จากผืนดินที่แตกระแหงกลายเป็นทางผ่านของระบบชลประทาน
ในกรุงนั้น ปัญหาที่ได้รับการผ่อนคลายมีอาทิการแก้ปัญหาจราจร การตัดหรือขยายถนน การสร้างสะพาน การแก้ปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม
ในอดีตเมื่อต้นกรุงเทพฯ นั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบปัญหาทุกข์สุขของบ้านเมืองจากการฟังคำกราบบังคมทูลถวายรายงานเวลาเสด็จออกทรงว่าราชการ บางรัชกาลถึงกับเสด็จออกว่าราชการวันละสองครั้ง อีกทางหนึ่งคือทรงทราบจากการที่ต้องเสด็จฯ ไปรบทัพจับศึก ระหว่างเดินทัพย่อมทรงเห็นความเป็นไปของบ้านเมืองและผู้คนได้ว่าสุขทุกข์อย่างไร
มาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงทราบจากการออกขุนนางและการรับฎีกาจากราษฎร สมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์เคยผนวชมาถึง 27 ปี จึงทรงรู้เห็นและฟังมามากจากชาวบ้านระดับทายกทายิกา ยังจะทรงคบค้าชาวต่างชาติและทรงอ่านจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอีก ว่ากันว่าครั้งยังทรงผนวช เวลาเสด็จออกทรงรับบาตรและก่อนหลังทำวัตรเย็นนั่นแหละคือเวลาที่ราษฎรจะร้องทุกข์บ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟัง
รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ทุกวิธี ก่อนบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เสด็จฯไปสิงคโปร์ ชวา อินเดีย หลังบรมราชาภิเษกทรงออกตรวจราชการเอง ยิ่งเมื่อมีมอเตอร์คาร์เข้ามายิ่งเป็นความสะดวกจนได้เสด็จออกไปทอดพระเนตรเห็นความผิดปกติของข้าราชการและความเดือดร้อนของราษฎรในที่ไกล ๆ และใกล้ชิด การเสด็จประพาสต้นตอนปลายรัชกาลและการเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้งเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ทรงทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข
รัชกาลปัจจุบันไม่ได้ประพาสต้น แต่ประพาสในทุกถิ่นที่ บางครั้งต้องทรงขับรถลุยน้ำฝ่าฝนไปประทับอยู่กับราษฎร กางแผนที่ชี้จุดต่าง ๆ ด้วยกันจนค่ำมืดยุงกัดยุงตอม ต้องจุดโคมหรือส่องไฟฉาย อีกทั้งยังมีผู้กราบบังคมทูลนอกระบบอีกมาก เช่น ผ่านทางฎีการ้องทุกข์และจากที่บรรดาข้าราชบริพารทั้งหลายเล่าถวาย เวลาเสด็จฯต่างจังหวัดราษฎรก็ยังจะได้กราบบังคมทูลถวายรายงานตรงไม่ต้องผ่านใครทั้งยังทรงซักถามได้อีกด้วย ความเจริญทางเทคโนโลยี สื่อมวลชนก็เป็นอีกทางที่ทำให้ทรงทราบเรื่องต่าง ๆ ได้มาก ผมเคยกราบบังคมทูลถามถึงเรื่องหนึ่งว่าทรงทราบได้อย่างไร เพราะรัฐบาลเพิ่งจะถือมาเฝ้าฯ เดี๋ยวนี้
ทรงตอบว่า เมื่อวานตื่นนอนแล้วเปิดวิทยุฟังเขาอภิปรายกันในสภา!
ขณะเดียวกันก็ยังต้องปฏิบัติภารกิจของพระราชาคือการลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายปีละนับร้อยฉบับ ทรงวินิจฉัยฎีกานักโทษและฎีกาขอความเป็นธรรมปีละหลายร้อยเรื่อง การพระราชทานปริญญาบัตร เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประดับยศทหาร ตำรวจ การรับผู้มาเฝ้าฯ ปีละหลายร้อยคณะ โดยที่ยังทรงปฏิบัติกิจที่พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงถือเป็นกิจอันพึงกระทำมาตลอด รัชกาลนี้จึงทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ทรงกีฬา ทรงงานช่าง
แม้แต่การสร้างวัดซึ่งเป็นพระราชประเพณีมานาน นอกจากวัดญาณสังวรารามและวัดพระรามเก้าซึ่งทรงสร้างใหม่ทั้งพระอารามแล้ว น้อยคนที่จะทราบว่าโปรดให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ใช้พระราชทรัพย์ทยอยซ่อมวัดเก่าที่สมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าเคยสร้างไว้แล้วให้กลับบริบูรณ์งดงามขึ้นแทนการสร้างวัดใหม่จนสำเร็จไปแล้วหลายวัดโดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินอีกด้วย
หลังบรมราชาภิเษกในปี 2493 ไม่นาน วันหนึ่งเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรพบว่าพระพุทธรูปปูนองค์ใหญ่หนาเตอะเทอะทะที่เชิญมาจากวัดพระยาไกรอันรกร้างลงและนำมาวางไว้กับพื้นในโรงหลังคาพอกันฝนไม่มีใครใส่ใจ แม้ยกให้วัดใดเชิญไปเป็นพระประธานก็ไม่มีใครอยากได้นั้น บัดนั้นปูนกะเทาะจนแตกร้าวเพราะแรงกระเทือนจากการชักลากเคลื่อนย้ายจนเห็นว่าภายใน “พระเป็นทองทั้งองค์อร่ามตา”
เมื่อกะเทาะออกจนได้ชิ้นปูน 9 ชิ้น จึงแน่ชัดว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำสมัยสุโขทัยทั้งองค์ ขนาดใหญ่ หนักประมาณ 5,000 กิโลกรัม หนังสือกินเนสส์บุ๊กลงข่าวว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่ที่สุดในโลก
ประวัติพระพุทธรูปองค์นี้พิสดาร มาจากที่ใด มาได้อย่างไรไม่ปรากฏ น่าจะหล่อสมัยสุโขทัย ผู้สั่งให้หล่อต้องเป็นกษัตริย์ไม่งั้นจะเอาทองมาจากไหน ช่างต้องฝีมือเลิศไม่งั้นจะหล่อได้งามฉะนี้หรือ ต่อมาคงมีผู้หุ้มปูนไว้กันข้าศึกหลอมเอาทองไปใช้ ชาวบ้านนำลงแพล่องลงมาจนถึงบางกอก จึงชักขึ้นไว้ที่วัดพระยาไกรและได้มาอยู่วัดไตรมิตรในที่สุด วัดนี้อยู่หัวถนนเยาวราชย่านร้านทอง พระพุทธรูปก็เป็นทอง นับว่าถูกโฉลกกันดี พระราชทานนามว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” ลองเทียบกับนามพระแก้วมรกตซึ่งรัชกาลที่ 1 พระราชทานว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” มณีรัตน์แปลว่าแก้ว สุวรรณแปลว่าทองคำ นอกนั้นขึ้นต้นและลงท้ายเหมือนกัน
ถ้าพระแก้วมรกตเป็น “สิริ” ของบ้านเมืองดังที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตรัส และรัชกาลที่ 1 มีพระราชดำริว่าเป็นพระคู่บารมีเพราะทรงเป็นผู้ไปเชิญลงมาจากเวียงจันทน์ จนเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย เป็นต้นเค้าของ ชื่อกรุงว่า “รัตนโกสินทร์” แปลว่าแก้วของพระอินทร์เพราะตามตำนานว่าทำจากแก้วของพระอินทร์ พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตรซึ่งบัดนี้เชิญขึ้นประดิษฐานในพระมหามณฑปสูงใหญ่งามสง่าเป็นศรีพระนคร น่าจะเป็น “สิริ” ของบ้านเมืองและเป็นพระพุทธรูปคู่พระบารมีของรัชกาลที่ 9 เช่นกัน
ขออานุภาพแห่งพระแก้วมรกต พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตร ไม่ว่าผู้ใดจะเนรมิตขึ้นก็ตาม และพระสยามเทวาธิราชซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น ตลอดจนอานุภาพแห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในกรุงรัตนโกสินทร์ ดวงวิญญาณแห่งบรรพชนที่ช่วยกันก่อร่างสร้างประเทศ รักษาอธิปไตย ช่วยทะนุบำรุงบ้านเมืองไทยจนเรืองรุ่งมาเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหรือขุนนางหรือไพร่กระยาจก ไม่ว่าเป็นนักรบ ทหารเลว ข้าราชการใหญ่น้อย พ่อค้าวาณิช กรรมกรแบกหาม นักวิชาการ นักการเมือง ชาวไร่ชาวนา ชาวบ้านร้านช่อง และไม่ว่าจะเป็น ชาวไทยหรือชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารหรือรับราชการจนเป็นบรรพบุรุษต้นเค้าต้นตระกูลต่าง ๆ ของคน 63 ล้านคนสืบมาถึงบัดนี้หลายหมื่นตระกูลวงศ์
จงช่วยปกปักรักษาให้ราชอาณา จักรไทยและกรุงรัตนโกสินทร์ “อมร” และยั่งยืนสืบไป-จบ-
วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
เดลินิวส์ 9 สิงหาคม 2554
----------------------
ใดที่เกิดขึ้นแล้ววนไปเวียนมาจนกลับมาซ้ำรอยเดิมนั้นเรียกว่า “วัฏจักร” เป็น สิ่งใดที่เกิดขึ้น ..... หรือ ใด ๆที่เกิดขึ้น... หรือ สิ่งที่เกิดขึ้น... หรือเปล่า?1?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น