วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ธนบุรีศรีมหาสมุทร (2)
พระยาตากสินมีความสามารถในการสู้รบทั้งทางบกและทางน้ำ เมื่อลงมาช่วยราชการจึงได้รับคำสั่งให้คุมทัพทางเรือออกไปสกัดทัพพม่าทางด้านวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง และเมื่อกอบกู้บ้านเมืองได้ในเวลาต่อมาจึงชอบใจชัยภูมิเมืองธนบุรีว่าติดแม่น้ำ สะดวกแก่การต่อสู้กับข้าศึกทางน้ำซึ่งท่านถนัดอยู่แล้ว
พระยาตากหรือพระยากำแพงเพชรตั้งค่ายอยู่แถววัดพิชัย แม้จะรบชนะพม่าบ้างแต่ก็เป็นการปะทะประปราย ที่จะต่อต้านขับไล่ทัพพม่าออกไปหมดสิ้นนั้นเห็นจะยากเพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยนโยบายระดับชาติของรัฐบาลว่าเอาอย่างไรแน่ พงศาวดารกล่าวถึงความอ่อนแอของรัฐบาลในขณะนั้นว่าพระเจ้าเอกทัศทรงมัวเมาลุ่มหลงในอิสตรี ทหารจะยิงปืนใหญ่ก็ห้ามปรามเกรงว่าสาวสนมข้างในจะตกใจ ทหารเก่าที่มีความสามารถเคยผ่านศึกมามากก็ถูกกำจัดเสียเยอะตั้งแต่ครั้งสงครามกลางเมืองต้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่มีอยู่ก็เป็นแม่ทัพนายกองหน่อมแน้มไม่เคยรบจริง ๆ
พระเจ้าเอกทัศนั้นว่ากันว่าเป็นคนขลาดกลัว ไม่ชำนาญการรบ คงเป็นเพราะอย่างนี้พ่อของท่านจึงไม่ยอมตั้งท่านเป็นรัชทายาท แต่ข้ามไปตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งเป็นน้องชายแทน พงศาวดารใช้คำว่า “ไม่ทรงมีพระวิจารณ์เชาวนปรีชาญาณ” คำนี้เห็นจะเทียบได้กับคำว่าไม่มีวิสัยทัศน์ในสมัยนี้ คนที่เก่งและมีพระวิจารณ์เชาวนปรีชาญาณในเวลานั้นจึงได้แก่เจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งได้รับราชสมบัติต่อจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแต่ไม่นานเท่าใดก็เกรงใจพี่ชายจึงมอบราชสมบัติให้พี่ชายแล้วตนเองออกบวช
คราวพม่าจะตีกรุงแตกนั้นได้ยกมาสองหนใหญ่ หนแรกพระเจ้าอลองพญายกมาเอง พระเจ้าเอกทัศเห็นจวนตัวเข้าจึงขอให้พระช่วยสึกออกมารบสัญญาว่าจะยกราชสมบัติคืนให้ เจ้าฟ้าอุทุมพรก็สึกมาบัญชาการรบจนชนะไปหลายครั้ง พอดีกับที่พระเจ้าอลองพญาทำปืนใหญ่ระเบิดต้องสะเก็ดบาดเจ็บจึงยกทัพกลับแล้วไปสวรรคตกลางทาง พระเจ้าเอกทัศเห็นว่าเสร็จศึกแน่คง “เอาอยู่” แล้วล่ะ จึงถามน้องชายว่าแล้วตัวจะอยู่ต่อไปไยเล่า เจ้าฟ้าอุทุมพรก็แสนดียอมบวชเป็นพระกลับเข้าวัดอีกหน ผู้คนจึงเรียกท่านว่าขุนหลวงหาวัด
พม่ากลับไปหนนั้นอยุธยาก็ได้ใจว่าข้าศึกแพ้ภัยตัวเอง ถึงอย่างไรก็ทำอะไรอยุธยาไม่ได้ ก็คำว่าอยุธยานั้นแปลว่าเมืองที่ใครก็รบชนะไม่ได้ หรือเมืองที่ไม่มีวันแพ้นั่นเอง พอกันกับที่ทางพม่ามัวแต่ยุ่งกับการผลัดแผ่นดินจึงไม่มีเวลายกทัพมาราวีจนอยุธยาลืมรสชาติสงครามไปแล้ว ที่จริงถ้าใช้เวลาตอนนั้นหมั่นฝึกปรือทหาร สะสมเสบียง สะสมอาวุธ สร้างค่ายคูประตูหอรบให้เข้มแข็งก็น่าจะต้านทานพม่าในหนต่อไปได้ แต่กลับมีแต่ความสนุกสนานรื่นเริง เจ็บแล้วไม่เคยจำ นิสัยทำอะไรเป็นไฟไหม้ฟาง วูบไปวูบมา พอหมดภัยทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิมนี้ดูจะเป็นลักษณะประจำชาติมาแต่ไหนแต่ไร ถึงน้ำท่วมใหญ่ในคราวนี้ก็เถอะ ตอนนี้ก็คิดกันใหญ่ว่าจะทำโน่นเตรียมนี่ป้องกันนั่น พอน้ำแห้งคงมีคนร้องทักว่าเอ๊ะ! น้ำไปหมดแล้วจะทำไปทำไมให้สิ้นเปลือง จะเวนคืนที่ดินทำฟลัดเวย์ทำไมให้เสียคะแนนเสียง แล้วทุกอย่างก็จะหายไปกับสายน้ำอีก
พระราชดำรัสเรื่องแผนป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรที่พระราชทานมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2538 จึงค้างเติ่งหาผู้รับสนองไม่ได้อยู่อย่างนั้น 16 ปีแล้ว
นายสังข์ชาวบ้านอยุธยานำน้องสาว 2 คน คือ ฟักและปานไปถวายพระเจ้าเอกทัศก็โปรดมากตั้งให้เป็นพระสนมเอก นายสังข์พี่เมียจึงวางท่าใหญ่โตมีสิทธิขาดในราชการบ้านเมือง เวลาขุนนางเข้าเฝ้าฯ นายสังข์จะแหวกม่านโผล่หน้าออกมาก่อน ขุนนางตกใจนึกว่าเสด็จแล้ว ก้มลงกราบเป็นแถว บางทีก็ตั้งภาษีแปลก ๆ เช่น ภาษีผักบุ้ง ใครเด็ดผักบุ้งไปทำแกงส้มหรือแกงเทโพต้องเสียภาษีให้นายสังข์ บางทีคบคิดกับญาติโกโหติกาผูกขาดการซื้อข้าวเปลือกเก็บใส่ฉางไว้เรียกว่ากักตุนสินค้านั่นเองจนราษฎรเดือดร้อนไปทั่ว
คนอย่างนายสังข์นี้จะว่าไปแล้วก็มีอยู่ทุกสมัย หรือพูดกลับกันก็ได้ว่าผู้นำอย่างพระเจ้าเอกทัศนั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย ประเภทผู้นำที่มีบริวารเป็นพิษ ถ้าไม่ใช่บริวารฝ่ายตนเองก็บริวารฝ่ายคู่ครอง พอใครได้เป็นผู้นำมีอำนาจเข้าญาติหรือไม่ใช่ญาติจะมาล้อมหน้าล้อมหลังเข้าทำนองมีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่ มีตำแหน่งนับเป็นญาติ มีอำนาจนับเป็นเกลอ ถ้าไม่ใจแข็งเข้าไว้เป็นอันเสียคนไปเยอะแล้ว ผมไปโครเอเชียจึงออกจะชอบใจเมืองดูบรอฟนิก เขาเปลี่ยนเจ้าครองนครทุกเดือนและระหว่างครองนคร เขาไม่ให้ติดต่อลูกเมียวงศาคณาญาติเกรงว่าจะวิ่งเต้นขอทำโครงการโน่นนี่เลอะเทอะไปหมด
ก่อนกรุงแตกราว 2 ปี พระเจ้ากรุงอังวะพระองค์ใหม่ให้ยกทัพเข้ามาตีอยุธยาอีกหนกะว่าคราวนี้อยุธยาคงกำลังประมาทร่าเริงเต็มที่ซึ่งก็จริง เพราะเห็นพม่าหายไปนานและประมาทว่าพอถึงฤดูน้ำหลาก ข้าศึกศัตรูคงไม่กล้ายกมาล้อมกรุง
พระยาตากเห็นสภาพภายในอยุธยาก็รู้ว่าพม่ายกทัพมาใหม่รอบสองในหนนี้เห็นทีจะรักษาพระนครไว้ได้ยาก ท่านเองเป็นแต่เจ้าเมืองบ้านนอกเท่านั้นไม่ใช่รัฐบาลหรือ ผบ.ทบ. จะได้มีอำนาจสิทธิขาดประกาศภาวะฉุกเฉิน การทุจริตคอร์รัปชั่นก็มีอยู่ทั่วไปจะเอาอาวุธดี ๆ ที่ไหนไปรบกับข้าศึก ผู้คนก็ถูกกดขี่ข่มเหงทั้งที่ลำบากยากจนแทบจะไม่มีกินเพราะพม่าตัดเสบียง ขนาดจีน 400 คนยังชวนกันขึ้นไปทำลายพระพุทธบาทสระบุรีรื้อเอาเงินที่ปูพื้น ทองที่หุ้มพระมาแบ่งขายกินกัน
พระยาตากจึงตัดสินใจนำทหารราว 500 คนตีฝ่ากองทัพพม่าไปตายเอาดาบหน้าทางด้านทุ่งหันตรา บ้านข้าวเม่า ไปทางตะวันออกจนถึงชลบุรี ระยองเพื่อไปตีเมืองจันท์ การหนีออกไปอย่างนี้ถ้ากรุงศรีอยุธยารอดปลอดภัยพระยาตากจะมีโทษถึงตายเพราะเท่ากับแตกทัพเอาตัวรอดต่อหน้าราชศัตรูและการหักด่านพม่าออกไปก็ไม่ใช่ของง่าย แต่ถ้ามองวิกฤติให้เป็นโอกาสก็ต้องชมว่าเป็นการตัดสินใจล่วงหน้าที่แม่นยำว่าอยุธยาคงไม่รอดพ้นเงื้อมมือพม่าเป็นแน่ และแทนที่จะตายคาเมืองหรือตกเป็นเชลยถูกร้อยเอ็นข้อเท้าด้วยหวายเดินตีนเปล่าไปพม่าเหมือนเชลยอีกนับหมื่นนับแสนคน ยังจะมีโอกาสรวบรวมผู้คนกลับมาตีเอากรุงคืนได้ในภายหลัง
พระยาตากผ่านเมืองชลแวะจัดการกับเจ้าเมืองที่กดขี่ข่มเหงขูดรีดราษฎร บัดนี้ยังมีวัดใหญ่อินทารามอยู่กลางเมือง เป็นที่ชุมนุมพลในครั้งนั้น ระหว่างทางก่อนเข้าระยองได้แวะพักทัพที่บางละมุง ชาวบ้านเรียกว่าบ้านทัพพระยา นานเข้าก็กลายเป็นพัทยา ครั้งนั้นไม่ได้พักที่รอยัล คลิฟแต่นอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ตามเขา ครั้นได้ระยองแล้วจึงบุกเข้าเมืองจันทบุรี
ตรงนี้เราจำกันได้แม่นยำดีว่าก่อนเข้าเมืองจันท์พระยาตากให้ทหารทุบหม้อข้าวหม้อแกงทิ้ง ชูสโลแกนว่าเราจะเข้าไปกินข้าวในเมืองจันท์ ถ้าแม้นตีเมืองจันท์ไม่ได้ก็จะอดข้าว “เราจงมาตายเสียด้วยกันในวันนี้เถิด”
ลงท้ายก็บุกเข้าตีเมืองจันท์ได้ บริเวณที่รบกันแถวเนินวงยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ที่ท่านมุ่งจะยึดเอาเมืองจันท์ให้ได้นั้นนอกจากจะสะดวกต่อการหลบหนีออกทะเล ขณะเดียวกันเมืองจันท์ยังเป็นด่านหน้าที่ชาวจีนลงเรือจากเมืองจีนมาตั้งบ้านเรือนอยู่มาก ลมมรสุมมักพัดพาเรือจากกวางตุ้ง ซัวเถา แต้จิ๋วอ้อมแหลมญวนมาขึ้นบกที่นี่ ท่านอาจพูดจาขอแรงจากพวกชาวจีนเหล่านี้ได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนรอน เงินทอง ผู้คน โดยเฉพาะการต่อเรือเพื่อใช้เป็นพาหนะเข้าไปกู้บ้านเมืองเพราะคนจีนมีฝีมือทางนี้
สมัยคุณทักษิณเป็นนายกฯ คราวหนึ่งไปประชุม ครม.สัญจรที่เมืองจันท์ พอว่างท่านก็ให้ขับรถตระเวนดูตามท่าเรือและเล่าว่าต้นตระกูลชินวัตรลงเรือจากจีนมาขึ้นฝั่งที่จันทบุรี เวลานี้จันทบุรีก็ยังมีชื่อด้านการต่อเรือ สมัยรัชกาลที่ 2-3 เรือดี ๆ ต้องต่อมาจากเมืองจันท์ เข้าใจว่าเป็นเพราะมีไม้ดีและยังมีช่างฝีมือดีหลงเหลืออยู่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ครั้งเป็นหลวงสิทธินายเวรก็ไปเรียนวิชาต่อเรือที่นั่น
พระยาตากคาดการณ์ไม่ผิดเพราะต่อมากรุงศรีอยุธยาก็แตกจริง พม่าเข้ากรุงได้และจุดไฟเผากรุงเสียหายยับเยิน จับคนไทยเป็นเชลยเดินเท้ากลับไปพม่า หนึ่งในเชลยนั้นคือพระภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ซึ่งพม่าถือเป็นเชลยแต่ได้ปลูกตำหนักกักบริเวณให้อยู่อย่างดีจนสวรรคตในปลายสมัยรัชกาลที่ 1 พระบรมอัฐิฝังไว้ที่พม่า
อีก 100 ปีเศษต่อมาอังกฤษยึดได้พม่าทั้งหมด ขนสมบัติกลับไปอังกฤษเป็นอันมากและจับพระเจ้าธีบอหรือสีป่อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า เหลนพระเจ้าอลองพญาส่งไปอยู่รัตนบุรีในอินเดียเป็นอันว่าหมดสิ้นวงศ์กษัตริย์พม่าโดยสิ้นเชิง และควบคุมพระองค์ไว้ดุจเชลยจนสวรรคตที่อินเดีย พระบรมอัฐิฝังไว้ที่นั่นไม่ให้นำกลับพม่า
คิดแล้วเป็นอนิจจัง เป็นกฎแห่งกรรมแท้ ๆ
พระเจ้าตากนำทัพจากจันทบุรีมาทางเรือขึ้นบกที่กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ขณะนั้นพม่ายึดได้แล้วและตั้งให้คนไทยชื่อนายทองอินเป็นผู้รักษาเมืองซึ่งก็ตั้งหน้าตั้งตากดขี่ข่มเหงคนไทยด้วยกัน คนอย่างนี้เหมือนพวกฉวยโอกาสยามน้ำท่วมนั่นแหละ เรือพระยาตากมาสว่างรุ่งแจ้งเห็นแสงอาทิตย์พอดีที่หน้าวัดมะกอกนอก ถือเป็นศุภนิมิตต่อไปจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งที่เด็ก ๆ เคยร้องว่ายักษ์วัดโพธิ์รบกับยักษ์วัดแจ้ง ยักษ์ที่ว่านี้คือตุ๊กตาหินหรือนายทวารบาลเฝ้าวัดบ้าง รูปปั้นยักษ์ตัวโต ๆ กุมกระบองบ้าง มีนิทานว่ารบไปรบมาฟาดกันจนท่าน้ำหน้าวัดโพธิ์เตียนราบ เรียกว่าท่าเตียน แต่ความจริงเกิดจากเพลิงไหม้ครั้งต้นกรุงเทพฯ จนบริเวณนั้นเตียนหมด
วัดแจ้งนี้ต่อไปเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นวัดอรุณฯ ซึ่งแปลว่าเช้าหรือแจ้งเช่นกัน
พระยาตากจับนายทองอินฆ่าและได้คนไทยเป็นพวกอีกมาก คราวนี้ยกพลไปตีกรุงศรีอยุธยา วิธีตีนั้นไม่ต้องเข้ากรุงแต่เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น นอกพระนครซึ่งเป็นกองบัญชาการของพม่า มีสุกี้พระนายกองซึ่งพม่ามอบให้ดูแลกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้บัญชาการค่าย พอค่ายโพธิ์สามต้นแตก สุกี้พระนายกองถูกฆ่า ทหารพม่าก็ยอมแพ้ เท่านี้พระยาตากก็ชนะ กู้บ้านเมืองคืนได้แล้ว นับเวลาตั้งแต่กรุงแตกจนได้กรุงคืนแค่ 6 เดือนเศษเท่านั้น
ฟังมาถึงตรงนี้ควรยกมือท่วมหัวไหว้วีรกรรมของมหาราชพระองค์นี้ ถ้าไม่ได้ท่านเราอาจจะมีพระเจ้าสุกี้ที่ 1 หรือพม่าอาจส่งเชื้อพระราชวงศ์อลองพญามาปกครอง พอพม่าเสียเมืองให้อังกฤษอีก 100 ปีเศษต่อมา อยุธยาในฐานะเมืองขึ้นหรือประเทศราชของพม่าอาจพลอยตกเป็นของอังกฤษด้วยก็ได้
พระยาตากเข้ากรุงศรีอยุธยาแล้วครับ แต่คราวนี้มาอย่างพระเอกขี่ม้าขาวและเป็นวีรบุรุษ ไม่เหมือนตอนเป็นเจ้าเมืองบ้านนอกลงมาจากเมืองตาก ถ้าจะปรบมือผิวปากร้องกรี๊ดตอนนี้ก็เหมาะแก่ความรู้สึกสะใจของคนไทยใน พ.ศ. 2310 นัก
แต่นี่แค่เข้ากรุงศรีอยุธยานะครับ ฉากต่อไปคือการเข้ากรุงธนบุรี ทำไมท่านจึงย้ายไปอยู่กรุงธนบุรี ไม่อยู่ที่อยุธยา บางคนอาจนึกว่าย้ายทั้งทีทำไมไม่ย้ายไปอยู่เมืองที่ท่านคุ้นเคยเช่น ตากหรือจันทบุรี
ซึ่งถ้าพระยาตากคิดอย่างนั้น ป่านนี้เราอาจอยู่แถวเขื่อนภูมิพลต้นน้ำไม่ต้องลงมาอยู่ท้ายน้ำ เรื่องนี้เห็นจะว่ากันต่อในตอนที่ 3
วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
ป้ายกำกับ:
ธนบุรี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น