หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สุโขทัย(5)


ความจริงเล่าเรื่องเมืองสุโขทัยจบไปแล้ว แต่เพราะมีผู้สอบถามมาหลายประเด็น หากตอบเองเป็นส่วนตัวก็เกรงว่าแฟนานุแฟนอื่น ๆ จะไม่ได้ประโยชน์ด้วยจึงขออธิบายส่งท้ายเสียอีกตอน ก่อนจะเหินฟ้าข้ามกาลเวลาไปถึงกรุงธนบุรี



1. สุภาษิตพระร่วง พระร่วงเป็นชื่อใช้เรียกผู้ปกครองอาณาจักรสุโขทัยไม่เจาะจงว่าเป็นใคร แต่ถ้าใคร “ดัง” มาก สมญาว่าพระร่วงก็จะติดตัวผู้นั้นนานจนนึกว่าเป็นเจ้าของผูกขาดความเป็นพระร่วง เช่น พ่อขุนรามคำแหง แต่อย่าลืมว่าสมัยอยุธยา เราก็เรียกสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) ว่าพระร่วงเพราะท่านมีเชื้อสายสุโขทัย อีกร้อยปีต่อมาเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาผู้มีเชื้อสายเจ้านายสุโขทัยเป็นกษัตริย์อยุธยา เราก็เรียกตระกูลท่านว่าราชวงศ์พระร่วง

สุภาษิตพระร่วงมาแต่งขึ้นในสมัยกรุงเทพฯ นี่เอง เข้าใจว่าประมาณรัชกาลที่ 3 คราวบูรณะวัดพระเชตุพน แต่อาจเก็บใจความจากที่เคยจำ ๆ กันมาแต่ก่อนก็ได้และถ้าเป็นอย่างนั้นก็อาจมาจากพระร่วงองค์ไหนก็ได้ แต่สุภาษิตนี้เริ่มต้นว่า “ปางสมเด็จพระร่วงเจ้า เผ้าแผ่นภพสุโขทัย มลักเห็นในอนาคต จึงเผยพจนประภาษ เป็นอนุศาสนกถา” ศัพท์พวกนี้สมัยสุโขทัยไม่มีหรอกครับ


2. ท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ สตรีผู้นี้ว่ากันว่าเป็นเจ้าตำรับกับข้าว ลอยกระทง ร้อยดอกไม้ ทำนองว่าเป็นสนมคนหนึ่งของพระร่วง ความจริงตำแหน่งนี้เพิ่งจะมีในสมัยอยุธยา ประมาณรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (แม่ท่านเป็นเจ้านายสุโขทัย) เป็น 1 ใน 4 ของตำแหน่งพระสนมเอกเช่นเดียวกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ถ้านางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์มีตัวตนจริงคงไม่ใช่สตรีสมัยสุโขทัยแต่อาจเป็นพระสนมของพระร่วงองค์ใดองค์หนึ่งที่ตกทอดมาถึงสมัยอยุธยา


3. กรุงสุโขทัย แคว้นสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัย หลวงพ่อรูปหนึ่งเห็นผมเรียกสลับกันไปมา จึงอยากรู้ว่าต่างกันอย่างไร ตั้งใจเรียกหรือเรียกผิด ตั้งใจครับ เมื่อตั้งเมืองสุโขทัยใหม่ ๆ ยังคงเป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ เหมือนชุมทางเกวียน ต่อมาเติบโตเป็นเมืองสุโขทัย (เก่า) ภายหลังขยับใกล้แม่น้ำเข้าไปเป็นเมืองสุโขทัย (ใหม่) พอมีเจ้าเมืองสืบทอดกันและเจริญขึ้นก็เป็นกรุง (เพราะเป็นเมืองใหญ่ใกล้น้ำ) ครั้นอาณาเขตกว้างขวางออกไปก็เป็นแคว้น (คล้าย ๆ จังหวัดหรือมหานคร) ดังที่อาจารย์คึกฤทธิ์เรียกว่านครรัฐ

อยู่มาก็มีเมืองบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง เช่น ศรีสัชนาลัย สองแคว นครชุม สระหลวง และขยายดินแดนกว้างไกลออกไปมากจนถึงนครศรีธรรมราชจึงเรียกว่าอาณาจักร (พอ ๆ กับเป็นประเทศ) แต่เมืองหลวงหรือศูนย์กลางอำนาจอาณาจักรนี้ก็ยังอยู่ที่กรุงสุโขทัย (ชื่อเดียวกับอาณาจักร) เพราะคนสมัยก่อนเรียกชื่อประเทศตามชื่อเมืองหลัก เช่น อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรธนบุรี อาณาจักรกรุงเทพฯ เป็นต้น คนสมัยอยุธยาเรียกสุโขทัยว่าเมืองเหนือ คนสุโขทัยเรียกอยุธยาว่าเมืองใต้

ก่อนสมัยพญาลิไท อำนาจเหนืออาณาจักรสุโขทัยแบ่งปันกันระหว่างเมืองศรีสัชนาลัยกับกรุงสุโขทัย ต่อมาก็รวบเอามาอยู่ที่กรุงสุโขทัยแห่งเดียว นับแต่พญาลิไทมาอำนาจในอาณาจักรนี้แบ่งปันกันใหม่ระหว่างกรุงสุโขทัยกับเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ผู้ครองอาณาจักรสุโขทัยอาจไปนั่งที่สองแควหรือกรุงสุโขทัยแล้วแต่จะแบ่งอำนาจกัน อย่างคราวพญาลิไทอยู่สองแคว อยุธยาก็ดันพระมหาเทวี (เมียขุนหลวงพะงั่ว) ไปครองกรุงสุโขทัย ปลายสมัยพญาลือไทอาณาจักรสุโขทัยตกเป็นของอยุธยาทั้งหมดแต่ยังปกครองตนเองซึ่งแบ่งอำนาจกันอย่างเดิมดังที่พญาบาลเมืองไปครองสองแคว พญารามครองสุโขทัย หลังจากนั้นสมเด็จพระนครินทราชากษัตริย์อยุธยาก็กินรวบตลอดจนหมดความเป็นอาณาจักร


4. เรื่องศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นแท่งหินสี่เหลี่ยมสูงราว 1 ศอก ยอดแหลมทรงพีระมิด ใช้ลิ่มตอกสลักเป็นตัวอักษรบรรทัดเดียวกันทั้ง 4 ด้าน เจ้าฟ้ามงกุฎไปพบและนำลงมาที่กรุงเทพฯ นักวิชาการพวกหนึ่งอ่านแล้วเชื่อว่าทำสมัยพ่อขุนรามคำแหง อีกพวกเชื่อว่าตอนแรก ๆ คงใช่ แต่ข้อความหลัง ๆ คงให้ช่างทำต่อ ขณะเดียวกันก็เคยโต้เถียงทางวิชาการกันมามากแล้วว่าอาจทำสมัยรัชกาลที่ 3-4 สมัยกรุงเทพฯ ไม่ใช่ปลอมเพราะไม่ได้เลียนแบบใครแต่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด


ที่เถียง ๆ กันเป็นประเภทเซียนเหยียบเมฆทั้งนั้น ผมไม่รู้จริงจึงออกความเห็นไม่ได้ เคยมีคนแนะให้ขูดเอาผงจากหินไปตรวจหาอายุ ตรวจไม่ได้หรอกครับ หินก็คือหิน อาจอายุล้านปีก็ได้ อยู่ที่ว่าแกะสลักขึ้นสมัยไหนเท่านั้น


5. พระแท่นมนังคศิลา ศิลาจารึกหลักที่ 1 ระบุว่าพ่อขุนรามคำแหงให้ช่างฟันกระดานหินวางไว้กลางดงตาล ถ้าวันพระก็ให้ฝูงปู่ครูเถรมหาเถรขึ้นนั่งแสดงธรรม ถ้าไม่ใช่วันพระก็ให้ฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองกัน ม.ร.ว.เสนีย์อธิบายว่าแท่นหินนี้จึงเป็นทั้งธรรมาสน์ ราชอาสน์ เก้าอี้นายกฯ และบัลลังก์ประธานสภา ดงตาลเองก็ดูท่าจะเป็นทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา

แท่นหินนี้เจ้าฟ้ามงกุฎไปพบในคราวเดียวกัน ชาวบ้านเคารพว่าศักดิ์สิทธิ์ห้ามเข้าใกล้ แต่ท่านอธิษฐานแล้วขึ้นนั่ง ตรัสว่าลงไปอยู่กรุงเทพฯ ด้วยกันเถิดแล้วนำลงมาไว้ที่กรุงเทพฯ ชื่อพระแท่นมนังคศิลา เมื่อก่อนเคยตั้งในพระที่นั่งอนันตสมาคมคราวใช้เป็นสภา บัดนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว ครูควรพานักเรียนไปดู

6. พระพุทธชินสีห์ พระศาสดา พระพุทธชินราช หล่อในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เวลานี้เชิญลงมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ 2 องค์คือพระพุทธชินสีห์และพระศาสดา ส่วนพระพุทธชินราชยังอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก เมื่อรัชกาลที่ 5 สร้างวัดเบญจมบพิตร เคยดำริจะเชิญลงมาไว้ที่นี่ แต่ชาวเมืองอาลัยกันมากจึงโปรดให้หล่อองค์จำลองลงมาแทน นับเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในโลก ทั้งพุทธลักษณะและองค์ประกอบทุกอย่าง


7. หลวงพ่อทองคำสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยองค์ใหญ่หล่อด้วยทองคำหนัก 5,000 กิโลกรัม แต่องค์ท่านไม่ตัน ข้างในโปร่ง บางส่วนจะแบบบางด้วยซ้ำ เช่น พระศอบางนิดเดียวต้องแบกรับพระเศียรซึ่งหนักมาก บั้นพระองค์ (เอว) ก็บางต้องรับน้ำหนักพระวรกาย แต่ในการเชิญขึ้นพระมหามณฑปใหม่ได้ใช้โลหะค้ำยันภายในไว้แล้ว

พุทธศิลป์เป็นสมัยสุโขทัย แต่ใครสร้าง สร้างเมื่อใด สร้างทำไมนั้นไม่ปรากฏ เดาแต่ว่าพระพุทธรูปทองคำใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้ถ้าไม่ใช่พ่อขุนสักองค์สร้างแล้วใครจะมีปัญญา นักโบราณคดีคำนวณอายุตกราว 700-800 ปี แสดงว่าเป็นสมัยสุโขทัย แปลกที่ไม่มีศิลาจารึกหลักใดเท่าที่ค้นพบพูดถึงการสร้างเอาไว้เลย

มีแต่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งบางคนก็หาว่าทำใหม่เมื่อแหม็บ ๆ นี้เสียอีก ที่พูดถึงวัดกลางเมืองสุโขทัยมีพระทอง เคยมีคนไปวัดแท่นหินว่างเปล่าที่วัดมหาธาตุ สุโขทัยเทียบกับหน้าตักของหลวงพ่อแล้วบอกว่าพอดีกันเป๊ะ ฉะนั้นพระทองก็คงเป็นหลวงพ่อองค์นี้แหละ

ส่วนทำไมลงมาอยู่กรุงเทพฯ ก็เดากันสนุกล่ะครับ สมัยสุโขทัยนั้นเรารู้แล้วว่ามีการต่อสู้กันเองระหว่างกรุงสุโขทัยกับศรีสัชนาลัยบ้าง รบกับอยุธยาบ้าง บางทีตอนนั้นแหละที่สุโขทัยกลัวอยุธยาจะมาเชิญหลวงพ่อลงไปอยุธยาจึงโบกปูนหุ้มไว้ บางทีอยุธยาตีได้อาณาจักรสุโขทัยแล้วอาจเชิญพระปูนลงมาอยู่อยุธยาก่อนแล้วก็ได้ พอพม่าเข้ามาไม่คราวเสียกรุงหนแรกก็หนหลังจึงมีคนนิมนต์ท่านลงแพย้ายไปบางกอก หรืออาจเชิญจากสุโขทัยลงมาอยู่พิษณุโลกก่อน พอพม่าได้พิษณุโลก ชาวเมืองก็อาจโบกปูนหุ้มหลวงพ่อแล้วเชิญล่องแพลงมาอยู่บางกอก

รวมความคือหลวงพ่อเป็นพระหนีภัย ไม่ภัยน้ำท่วมก็ภัยข้าศึกซึ่งอาจเป็นพม่าหรืออยุธยาก็ได้

หลวงพ่อมาอยู่วัดพระยาไกร ถนนตกพักหนึ่ง เจ้าอาวาสวัดสามจีน (วัดไตรมิตรฯ) จึงนิมนต์ไปอยู่กับท่านที่วัดเมื่อ 60-70 ปีมานี้เอง ตอนนั้นจะยกให้ใครก็ไม่มีใครเอาเพราะเป็นพระปูนใหญ่โตเทอะทะน่าเกลียด ภายหลังฝนตกองค์พระเองก็กระแทกโน่นนี่ ปูนที่หุ้มไว้กะเทาะออกจึงได้รู้ว่าเป็นทองคำทั้งองค์

ขณะนี้หลวงพ่ออยู่บนชั้นสูงสุดของพระมหามณฑปวัดไตรมิตรฯใกล้กับหัวลำโพง งดงามอร่ามตา ชั้นล่างของมณฑปมีพิพิธภัณฑ์คนจีน ประวัติการพบหลวงพ่อและอื่น ๆ ครูช่วยพานักเรียนไปดูด้วย


8. ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย คำถามนี้มาแปลก ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยเป็นของใหม่ ไม่เกี่ยวกับอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนองค์ใดก็ไม่เคยกิน ครูคนหนึ่งถามมาว่า “เป็นสูตรพ่อขุนองค์ไหนคะ” คงของป้าเฮียง น้าบุญชู หรือเจ๊เป้ามั้ง แรกเริ่มคงทำขายที่สุโขทัยกันก่อน ผมเคยกินมาหลายเจ้า ฝีมือแตกต่างกัน

เสน่ห์ของก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยอยู่ที่ใช้ถั่วฝักยาวดิบซอยเฉลียงผสมกับถั่วงอกดิบ คลุกด้วยหัวไชโป๊หั่นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ กากหมูเจียว น้ำตาลปี๊บ และโรยหน้าด้วยเนื้อหมูย่างหอมควันไฟ ปรุงเป็นต้มยำจะอร่อยกว่าอย่างอื่นหรือจะกินแบบแห้งก็ได้แต่ควรเป็นเส้นเล็ก ถ้าใช้บะหมี่หรือเส้นใหญ่ก็งั้น ๆ

ผัดไทยสุโขทัยก็ใช้ถั่วฝักยาว รสชาติอร่อยดี!

ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยอร่อย ๆ ในกรุงเทพฯ มีหลายเจ้า แต่ที่เคยสั่งไปเลี้ยง ครม.บ่อย ๆ และผมเป็นขาประจำคือเจ้าหน้าวัดสังเวชฯ หลังป้อมพระสุเมรุ และร้านโคโคนัทปาล์ม ท่าเตียน ข้างวัดพระเชตุพน

เอาล่ะนะ ต่อไปนี้จะเริ่มเล่าเรื่องกรุงธนบุรีแล้ว!.

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: