หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อิรักหลังสหรัฐถอนทหารกลับบ้าน


ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ ยืนยันหนักแน่น ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับ นายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกี ของอิรัก ภายหลังการพบหารือ ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า สหรัฐได้เวลายุติสงครามในอิรักที่ดำเนินมาเกือบ 9 ปี และจะถอนกำลังทหารชุดสุดท้ายกลับประเทศ ภายในวันที่ 31 ธ.ค. ที่จะถึง

เป็นไปตามกรอบเวลาที่โอบามาเคยประกาศก่อนหน้านี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลของระดับสูงในกองทัพ และฝ่ายความมั่นคง ที่มองว่าถอนเร็วเกินไป หรืออย่างน้อยก็ควรคงกำลังรบไว้ส่วนหนึ่ง จนกว่าจะมั่นใจในการทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของกองกำลังอิรัก


ระหว่างการแถลง โอบามาบอกว่า ถึงเวลาเริ่มบทใหม่ในประวัติศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศ เริ่มความสัมพันธ์ระดับปกติระหว่างประเทศอธิปไตย และความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียม บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วม และการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน

สองผู้นำตกลงก่อตั้งช่องทางใหม่ ในการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ ระหว่างคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของ 2 ประเทศ

โอบามายังบอกอีกว่า ช่วง 3 ปีหลังสุด กองกำลังความมั่นคงอิรัก ทำหน้าที่ดูแลประเทศได้มากขึ้น ทำให้สถิติความรุนแรงยังอยู่ในระดับต่ำ

แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ประเด็นความมั่นคงของอิรัก โอบามาพูดได้ไม่เต็มปาก และคงรู้แก่ใจปัญหาต่างๆ ของอิรักเอง จะโผล่ขึ้นมาทันทีที่ทหารสหรัฐออกพ้นประเทศ เคนเนธ พอลแลค ผอ. ศูนย์นโยบายตะวันออกกลาง สถาบันบรูคกิง อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ และนักวิเคราะห์ข่าวกรองของซีไอเอ กล่าวในระหว่างให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการกองทัพ วุฒิสภาสหรัฐ เมื่อไม่นานมานี้ว่า อิรักยังมีปัญหาหนักและลึก ยังมีโอกาสสร้างความหายนะใหญ่หลวง ต่อส่วนที่เหลือของภูมิภาค

อิรักยังอยู่ในสภาวะอ่อนแอ และแตกแยก ผู้นำทางการเมืองยังไม่ได้แสดงให้เห็นความสามารถ ในการป้องกันอิรักไม่ให้กลับคืนสู่การรบราฆ่าฟันกันเองในประเทศ

สอดคล้องกับความเห็นของไมเคิล โอแฮนลัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงสถาบันเดียวกัน ซึ่งมองว่า หลังสหรัฐถอนทหารกลับ มีความเป็นไปได้สูงที่อิรักจะเกิดความตึงเครียดภายใน ระหว่าง 3 กลุ่มหลักคือ ชาวนิกายสุหนี่ นิกายชีอะห์ และคนเชื้อสายเคิร์ด โอแฮนลันบอกว่า จะดีกว่านี้หน่อย หากรัฐบาลสหรัฐตัดสินใจคงทหารไว้สักเล็กน้อยในอิรัก

นับตั้งแต่กองทัพสหรัฐและพันธมิตร บุกโค่นล้มรัฐบาลอิรักของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ได้สำเร็จในปี 2546 เป้าหมายหลักของสหรัฐหลังจากนั้นคือ การก่อตั้งและฝึกฝนกองกำลังความมั่นคงอิรัก ทั้งทหารและตำรวจ เพื่อเตรียมรับมอบหน้าที่แลประเทศ

ปัจจุบันกองกำลังความมั่นคงอิรักมีกำลังพลประมาณ 700,000 คน เริ่มปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวหลัก ในกรุงแบกแดดและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2552 จนถึงขณะนี้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน มากกว่าทหารสหรัฐในอิรัก ซึ่งสู้รบมาตั้งแต่ปี 2546กว่า 2 เท่า

การจากไปของทหารสหรัฐภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้อิรักตกอยู่ในภาวะอันตรายจากหลายประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอิหร่านคู่ปรปักษ์เก่าแก่ทางตะวันออก ตุรกีทางทิศเหนือ ที่ข้ามแดนถล่มกบฏเคิร์ดในดินแดนอิรักหลายครั้ง และซีเรียทางตะวันตก ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าสังหารกลุ่มผุ้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล

พล.ท.บาบาร์เกอร์ เซบารี ผบ.ทหารสูงสุดอิรัก บอกว่า ภาคพื้นดินไม่มีปัญหา แต่ทางอากาศคือจุดอ่อน อิรักไม่สามารถป้องกันน่านฟ้าตนเองได้ อย่างน้อยจนถึงปี 2563 ต้องรีบเสริมสมรรถนะกองทัพอากาศขนานใหญ่ และโดยเร็ว

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองภายใน เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงของอิรัก รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นชุดที่ 2 หลังสิ้นสุดยุคซัดดัม ฮุสเซน แต่กว่าจะตั้งได้ก็เจรจาต่อรองกันลิ้นห้อยกว่า 8 เดือน หลังการเลือกตั้งเดือน มี.ค. 2553

ตำแหน่งหลักต้องแบ่งสรรให้ครบและลงตัว ระหว่างกลุ่มชาวสุหนี่ ชีอะห์ และเคิร์ด กลุ่มใดครองตำแหน่งว่าการ อีก 2 กลุ่มต้องได้ตำแหน่งรอง ประกบทุกกระทรวงทบวงกรม เหมือนรัฐบาลชุดแรกหลังการเลือกตั้งเดือน ธ.ค. 2548ขั้วอำนาจรัฐบาลอิรักชุดปัจจุบัน ประธานาธิบดีคือนายจาลาล ทาลาบานี ของชาวเคิร์ด นายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกิ ชาวชีอะห์ และนายโอซามา อัล-นูไจฟี ประธานรัฐสภา โควตาของชาวสุหนี่

แต่กระทรวงหลักด้านความมั่นคง มหาดไทยและกลาโหม ยังตกลงกันไม่ได้จนถึงขณะนี้ อัล-มาลิกิเลยเหมาดูแลเสียเอง

อิรักตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มชาวสุหนี่ คนส่วนน้อยมานานเกือบ 80 ปี มาสิ้นสุดในยุคของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งหลังจากนั้นชาวชีอะห์ คนส่วนใหญ่ของประเทศ ราว 65 % ได้เป็นแกนหลักการปกครองประเทศ แต่ชาวสุหนี่ที่ครองอำนาจมานานย่อมจะไม่ยอมง่ายๆ โดยเฉพาะเครือข่ายอำนาจเก่าของซัดดัมความขัดแย้งกับชาวชีอะห์และชาวเคิร์ด ทำให้สู้รบกันนองเลือด ล้มตายหลายหมื่นคน เกือบกลายเป็นสงครามกลางเมืองหลายครั้ง โดยเฉพาะระหว่างปี 2549 – 2550

แม้จะถอนทหารหน่วยรบกลับประเทศทั้งหมด เหลือแค่หน่วยฝึกอบรมให้กองกำลังความมั่นคงอิรัก ประมาณหลักพันกลางๆ ตัวเลขยังไม่แน่ชัด แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าโดยนัยแล้วสหรัฐจะยังคงอยู่ในอิรักไปอีกนาน เพราะยังมีงานต้องสานต่อให้เสร็จ รวมทั้งผลประโยชน์ที่ต้องปกป้อง

อันดับแรกสหรัฐยังมีสถานทูตอยู่ในแบกแดด ซึ่งเป็นสถานทูตสหรัฐขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กับสถานกงสุลอีก 2 แห่ง รวมเจ้าหน้าที่การทูตและพนักงานราว 16,000 คน ที่ต้องดูแล โดยสหรัฐมอบหมายหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับบริษัทรับเหมาเอกชน ซึ่งหากจะว่าไป พนักงานบริษัทเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นอดีตทหาร เชี่ยวชาญการรบทุกคน

มอคทาดา อัล-ซาดร์ นักการศาสนาแกนนำต่อต้านสหรัฐ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน ประกาศไม่รับรองความปลอดภัยสถานทูตสหรัฐ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานทุกคน เนื่องจากการคงอยู่เท่ากับการยึดครองอิรักของสหรัฐยังไม่หมดสิ้น

พันธกรณีฝึกอบรมกองทัพอิรัก ที่สหรัฐวางหมากเกมไว้ รวมถึงการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ มูลค่ามหาศาลให้แบกแดด ซึ่งแน่นอนว่าเงินสำหรับซื้อส่วนใหญ่ จะมาจากการขายน้ำมันของอิรัก ซึ่งเท่ากับสหรัฐตักตวงทรัพยากรหลักของอิรักในทางอ้อม และไม่น่าเกลียดเท่าใดนัก

สหรัฐกำหนดวงเงินขายอาวุธให้อิรักไว้คร่าวๆ 10,000 ล้านดอลลาร์ ช่วงต้นปีนี้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลง สหรัฐขายเครื่องบินรบ เอฟ-16 ฝูงใหญ่จำนวน 18 ลำ ให้อิรัก และทำเนียบขาวเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่าได้แจ้งเรื่องการขายฝูงบินรบชุดที่ 2 ให้อิรัก ต่อสภาคองเกรสแล้ว

และในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับโอบามา ที่ทำเนียบขาว อัล-มาลิกิ บอกว่า อิรักกำลังจะสร้างเศรษฐกิจใหม่ พร้อมกับประกาศเชิญชวนนักลงทุนสหรัฐ เข้าไปแสวงหาโอกาส “ที่ไม่จำกัด” ในอิรัก โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมัน ซึ่งอิรักมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองอย่างน้อย 115,000 ล้านบาร์เรล มากเป็นอันดับ 4 ของโลก และส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้.

สุพจน์ อุ้ยนอก

1 ความคิดเห็น:

MyNote กล่าวว่า...

10 ปีที่กองทัพสหรัฐฯ บุกโค่นล้มระบอบซัดดัม ช่วยสถาปนารัฐประชาธิปไตยอิรัก พบว่าจนบัดนี้อิรักยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

http://www.chanchaivision.com/2013/12/Iraq-Democracy-in-Transition-131221.html