วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ธนบุรีศรีมหาสมุทร (3)
เมื่อจัดการกับสุกี้พระนายกอง นายทหารมอญที่เคยรับอาสาพม่าปราบพวกค่ายบางระจันได้และเมื่อพม่ายึดกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงไว้ใจตั้งให้เป็นผู้บัญชาการใหญ่ค่ายโพธิ์สามต้นคุมกรุงศรีอยุธยา ทหารพม่าอื่น ๆ ที่เหลืออยู่ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ต่างยอมแพ้วางอาวุธหรือไม่ก็แตกซ่านหลบหนีกระเจิงไป
เรื่องนี้ใครเป็นนักเขียนนิยาย จะแต่งเรื่องว่าทหารหนุ่มชาวพม่าหรือมอญชื่อ หม่องหรือสมิงอะไรสักคนหลบหนีพระยาตากกระเซอะกระเซิงไปเจอสาวไทยแถวอุทัยหรือนครสวรรค์ช่วยเหลือให้ที่หลบซ่อนเพราะไม่รู้ว่าเป็นศัตรูจนทั้งสองรักกัน หม่องนั่นกลับตนเป็นคนดีช่วยทำมาหากินทำไร่ทำนา ภายหลังทางการสืบทราบจึงจับตัวพรากไปก็คงสนุกดีไม่แพ้เรื่องเลือดสุพรรณของหลวงวิจิตรวาทการและคู่กรรมของทมยันตี!
พูดก็พูดเถอะ เรื่องเนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าจับคนไทยเป็นเชลยร้อยหวายผูกเดินตามกันไปเป็นพรวนจนถึงพม่าพร้อมพระเจ้าอุทุมพรซึ่งพม่าให้สึกแล้วปลูกตำหนักให้อยู่กับข้าราชบริพารที่เมืองจักกายใกล้กรุงอังวะนั้น ถ้ามาผูกเป็นนิยายว่าเชลยสาวไทยไปอยู่โน่นแล้วรักกับหม่องพม่า หรือเชลยหนุ่มไทยไปรักกับสาวพม่า ก็น่าจะได้อีกเรื่อง ถ้าให้ดีคนไทยคนนั้นต้องทิ้งคนรักหนีกลับมาช่วยรัชกาลที่ 1 ทำสงคราม 9 ทัพคราวพม่ายกมาใหม่อีก 18 ปีต่อมา และคนรักชาวพม่ามาในขบวนทัพพม่าด้วยน่าจะสนุกดี!
พระยาตากเข้ากรุงศรีอยุธยาแล้วก็ได้ขึ้นช้างตรวจดูสภาพพระมหานครอายุ 417 ปี ด้วยความสลดสังเวชใจ ครั้นได้เวลามหาฤกษ์จึงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเท่าที่พอทำได้ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชา พระศรีสรรเพชญ ถ้านับต่อจากกษัตริย์อยุธยาแล้วก็เป็นพระบรมราชาที่ 4 แต่คนทั่วไปยังคงออกพระนามว่าขุนหลวงพระยาตาก
วันที่ 28 ธันวาคม จึงเป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วยเหตุนี้ครับ
การทำพิธีบรมราชาภิเษกคราวนั้น ย่อมไม่อาจคึกคักมโหฬารไปได้เพราะบ้านเมืองยังอยู่ในบรรยากาศความสูญเสีย ข้าวของเครื่องใช้ราชกกุธภัณฑ์มงกุฎฉัตรจะไปเอามาจากไหนได้เพราะถูกพม่าเผาทำลายหรือขนขึ้นช้างม้ากลับพม่าไปหมดแล้วจึงเรียกว่า “ทำตามมีตามเกิด” ส่วนความจำเป็นที่ต้องทำก็เพื่อเรียกขวัญชาวเมืองกลับมาว่า “เราได้ผู้นำใหม่แล้ว” มิฉะนั้นจะกลายเป็นขบวนการคนไทยกู้ชาติหรือเสรีไทยลอย ๆ ทำงานใต้ดินอยู่แค่นั้น ทั้งยังจะช่วยให้ข่าวสะพัดไปถึงพม่าด้วยว่ากรุงศรีอยุธยากลับตั้งตัวขึ้นใหม่ได้แล้ว (โว้ย)!
เหลือแต่ปัญหาเรื่องการฟื้นฟูกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นว่าจะทำอย่างไร
สภาพกรุงศรีอยุธยาเมื่อพระยาตากเข้าเมืองในปี 2310 หลังเสียกรุงเพียง 8 เดือนน่าจะประมาณอยุธยาหลังน้ำท่วมใหญ่หนนี้ หรือลองสมมุติภาพหลังเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ก็ได้ เพราะข้าศึกจุดไฟเผาผลาญไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ปราสาทราชวัง หรือบ้านช่องห้องหอของราษฎร เพียงแต่ว่าอาคารเมื่อ 244 ปีก่อนไม่ได้ก่อตึกถาวรดังทุกวันนี้ ไม่มีนิคมอุตสาหกรรม ไม่มีคอนโดมิเนียม ไม่มีตึกใบหยก แต่เป็นกระต๊อบ เรือนแพ เรือนหลังคามุงจากมุงกระเบื้อง อย่างหรูหน่อยก็เป็นกำแพงเมือง พระราชวัง โบสถ์วิหาร เจดีย์ และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๆ ที่ก่ออิฐถือปูนแต่ก็แตกหักทรุดโทรมเสียมาก
รถยนต์รถลอยฟ้ารถใต้ดินเวลานั้นก็ไม่มี มีแต่เรือแพ เรือรบหลวงเองยังถูกข้าศึกเผาหมด ในส่วนผู้คนนั้นอยุธยาแทบเป็นเมืองร้างเพราะพวกที่ถูกข้าศึกจับเป็นเชลยไปพม่าก็หลายหมื่นคน พวกที่ไม่ถูกจับก็หนีเข้าป่าเข้าดง จะเหลืออยู่ก็แต่พวกที่ไม่ถูกเกณฑ์ไปพม่าแต่คงไม่ต่างจากเชลยเท่าไรนัก เพราะต้องอยู่ใต้การปกครองของพม่าร่วม 8 เดือน กว่าพระยาตากจะมาปลดปล่อย
คนไทยส่วนหนึ่งที่ยังไม่ทันถูกจับไปพม่าถูกเกณฑ์ไปทำงานอยู่ในค่ายโพธิ์สามต้นนอกเกาะอยุธยา สภาพในค่ายนี้คงไม่ใช่ศูนย์พักพิงแต่เป็นค่ายกักกันเชลย ทหารพม่าเองรวมทั้งสุกี้พระนายกองก็พักอยู่ในค่ายนี้ด้วย เจ้านายราชวงศ์บ้านพลูหลวงพระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหลายองค์ เช่น เจ้าฟ้าหญิงพินทวดีก็ถูกกักไว้ทำงานในค่าย เมื่อพระยาตากรบชนะสุกี้พระนายกองแล้วก็ให้ทลายค่ายปล่อยตัวออกมาหมด
พม่าเผาเมืองทำไม คำตอบคือเป็นธรรมดาของผู้ชนะที่จะกำจัดศัตรูมิให้โงหัว ประการสำคัญคือผู้ชนะย่อมต้องการสมบัติพัสถานจากผู้แพ้ เรียกว่าขออะไรติดไม้ติดมือไปบ้าง มาทั้งทีอย่าให้เสียเที่ยว เรื่องนี้จะเป็นนโยบายรัฐบาลพระเจ้ากรุงอังวะหรือเปล่าไม่รู้ แต่ทหารพม่าก็ปล้นบ้านเรือนราษฎร ฉุดคร่าลูกเมียเขามาบำเรอทัพ จุดไฟเผาวัดเผาเจดีย์เผาพระพุทธรูปเพื่อเอาทองคำและของมีค่าไป ขนาดอาวุธหนักเช่นปืนใหญ่ ถ้าฉุดลากเอากลับพม่าได้ก็เอาไป แต่ถ้าเอาไปไม่ได้ก็เผาเสียมิให้ใช้งานได้อีกเรียกว่า “ปล้น” เชียวล่ะ ชาวอยุธยาที่พอมีทรัพย์ต่างขุดหลุมฝังแล้วหลบหนีไป ทหารพม่าก็มาเที่ยวขุดหาเป็นการใหญ่ ขู่ให้ราษฎรเปิดเผยที่ซ่อน ความผิดฐานบอกที่ซ่อนทรัพย์นี้เป็นข้อหาร้ายแรงฐานซ้ำเติมความทุกข์ราษฎร ขนาดสมเด็จพระสังฆราช (สี) ยังถูกพระเจ้าตากสินจับสึกเพราะมีผู้ให้การว่าเคยบอกที่ซ่อนทรัพย์ของคนอื่นจนพม่าไปงัดแงะบ้านที่เจ้าของอพยพหนีน้ำ...เอ๊ย! ไปขุดหาทรัพย์ชาวบ้านได้ไปมากโขอยู่
ผมไปอยุธยาทีไรแม้ทุกวันนี้ก็ยังนึกแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้ชาวอยุธยาไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย อำมาตย์ ไพร่ พระสงฆ์องค์เจ้าหรือทหารที่ตายทับถมศพเกลื่อนกรุง อย่างน้อยวงศาคณาญาติของผมเมื่อ 10-20 ชั่วโคตรก่อนคงอยู่ในจำนวนพวกนั้นบ้างละน่า ถ้าไม่ถูกจับเป็นเชลยเกณฑ์เดินตีนเปล่าไปเมืองพม่าเสียแล้ว ท่านผู้อ่านเองก็เถอะนึกเหมือนผมบ้างไหมครับ
สภาพอย่างนี้แม้เข้าเมืองและปราบ ดาภิเษกแล้ว แต่พระยาตากคงสลดหดหู่ใจเต็มทีจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและพัฒนาเพื่ออนาคตของประเทศ (กยอ.) เพื่อสร้างนิวอยุธยาก็คงฟื้นไม่ไหว ข้อสำคัญคือขวัญและกำลังใจของชาวอยุธยาแทบไม่เหลือหลออีกแล้ว มีแต่จะหวาดผวาเกรงอาฟเตอร์ช็อกจากพม่าว่าจะมาอีก แม้แต่พระยาตากเองชาวอยุธยาทั่วไปก่อน พ.ศ. 2310 ก็ไม่ได้รู้จักชื่อเสียงเพราะเป็นเจ้าเมืองอยู่บ้านนอก ไม่มีเชื้อสายเจ้านาย ยิ่งเขาว่ามีเชื้อจีนเสียอีก การจะขอความร่วมมือจัดบิ๊ก คลีนนิ่งเดย์ หรือชวนกันกู้บ้านเมืองเห็นจะไม่มีใครมีกะจิตกะใจทำ สู้ไปหาที่ใหม่ เริ่มใหม่ คิดใหม่ทำใหม่ นับ 1 ใหม่ไม่ได้
แต่ครั้นจู่ ๆ จะอพยพไปเหมือนครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 คราวจอมพล ป. ชวนให้ทิ้งกรุงเทพฯ อพยพไปอยู่เพชรบูรณ์ หรือเหมือนที่พม่าอพยพจากย่างกุ้งไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เนปิดอว์ก็ไม่ง่ายอีก เพราะคนติดที่ก็มี ดูแต่คราวน้ำท่วมสิครับ ทั้งปลอบทั้งขู่ชวนให้อพยพไปอยู่ศูนย์พักพิงยังไม่ยอมไป ห่วงบ้านบ้าง ห่วงหมาห่วงแมวบ้าง ข้อสำคัญคือจู่ ๆ จะชวนให้ผู้คนทิ้งกรุงที่มีอายุ 417 ปีไป ดูท่าจะเสียภาวะผู้นำเหมือนกัน ดีไม่ดีถูกหาว่าลบหลู่สมเด็จพระบูรพกษัตริย์ 34 พระองค์ที่ครองเมืองมาจะมาย้ายในบัดนี้ดูจะใจเสาะเกินไป
เรื่องนี้จะเป็นอุบายแก้เกมของพระเจ้าตากหรือเป็นเรื่องจริงก็ไม่ทราบ แต่วันหนึ่งทรงเล่าให้บรรดาขุนนางแม่ทัพนายกองฟังว่า ขณะบรรทมอยู่ที่พระที่นั่งทรงปืน ทรงฝันว่าอดีตกษัตริย์ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยามาขับไล่มิให้อยู่ คงเห็นว่ามิได้มีเชื้อสายกษัตริย์ สุบินนิมิตนี้จะจริงหรือไม่ก็ตามแต่เป็นกโลบายการเมืองและจิตวิทยาของผู้นำอย่างหนึ่งที่ต้องเอา “ความเชื่อหักล้างความเชื่อ” ที่จริงจะใช้โหราพยากรณ์แกล้งผูกคำทำนายว่าให้ย้ายราชธานีก็คงได้ แต่ทำให้มีพยานขึ้นมาเปล่า ๆ ถ้าบอกว่าฝันเองใครจะมาแย้งได้
อดีตกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาก็พิลึก คนเขาอุตส่าห์มาช่วยกู้บ้านกู้เมืองกลับมาไล่ไม่ให้อยู่ ที่จริงเจ้าแผ่นดินบรมกษัตริย์อยุธยาบางพระองค์ก็มิได้มีเชื้อสายกษัตริย์มาก่อนเช่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง สมเด็จพระเพทราชา แม้แต่หากว่าขุนหลวงที่มาขับไล่พระเจ้าตากเป็นพระเจ้าเอกทัศซึ่งดูจะหวงอะไรอยู่มากก็จะยิ่งแปลกเพราะเมื่อค้นหาพระศพได้แล้วท่านยังอุตส่าห์ขุดขึ้นมาทำพิธีถวายพระเพลิงมิให้เสื่อมพระเกียรติยศ
ความประสงค์ในการที่ทรงเล่าความฝันนี้คือ อย่ากระนั้นเลยเราควรไปหาที่อื่นสร้างกรุงใหม่กันเถิด จะลงทุนทำใหม่กันทั้งทีมาจมอยู่กับความสลดสังเวชใจรื้อไปสร้างไปบนความทุกข์ได้อย่างไร เพราะนั่นก็เรือนของพี่นี่ก็เรือนของลุงป้าน้าอา โน่นก็วัดที่เคยบวช โน้นก็วังที่เคยเห็น ไหนจะซากศพ ไหนจะซากเจดีย์ทรุดบ้างโทรมบ้าง จะรื้อทิ้งก็ไม่กล้า จะคาไว้ก็เสียดแทงใจ
ผมเข้าใจว่าบางทีพระเจ้าตากอาจทรงเกรงพม่าจะยกทัพตามมาอีกรอบก็ได้ เพราะครั้งพม่าตีกรุงแตกนั้น มีแต่ทัพเนเมียวสีหบดี ส่วนมังมหานรธาแม่ทัพอีกคนก็ตายไปก่อนเสียกรุงแล้ว หากพระเจ้ากรุงอังวะโกรธจัดโดยเฉพาะการที่สุกี้พระนายกองถูกฆ่า อาจทรงถือว่าเสียหน้าจึงยกทัพใหญ่มาเองอีกหนก็จะน่ากลัวมาก ขณะเดียวกันพระเจ้าตากทรงทราบดีว่ายามบ้านแตกเมืองเสียอย่างนี้ ใคร ๆ ก็คงคิดเป็นใหญ่กันทั้งนั้น ที่เห็น ๆ อยู่ในเวลานั้นมีเจ้าพระยานครศรีธรรมราชตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่ปักษ์ใต้ พระสังฆราชาเมืองฝางตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ภาคเหนือตอนบน เจ้าพระยาพิษณุโลกตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือตอนล่าง และกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสพระเจ้าบรมโกศ น้องคนละแม่กับพระเจ้าเอกทัศตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่พิมาย ปากทางภาคอีสาน เรียกว่าการเมืองวันนั้นมีหลายพรรค พรรคหนึ่งมีหลายมุ้ง กระจายอยู่ทุกภาค ถ้าพวกนี้ยกลงมาตีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาจะลำบาก ยิ่งถ้ายกมามะรุมมะตุ้มพร้อมกันทุกทิศจะยิ่งลำบากหลายเท่า เขมรและพม่าเองก็คงไม่อยู่เฉยแน่
การย้ายไปหาที่ตั้งกรุงใหม่จึงถูกต้องที่สุด แต่ถ้าขึ้นไปตากก็จะล้ำเข้าไปในอำนาจเจ้าพระยาพิษณุโลกและเจ้าพระฝางซึ่งอยู่ติดกัน ถ้าไปอยู่จันทบุรีก็เกรงเขมรซึ่งฮึ่ม ๆ อยู่ข้าง ๆ จะมารบกวนและคงจะมีอุปสรรคอื่นอีกเพราะอยู่ปลายสุด พระเจ้าตากจึงทรงชวนกันย้ายลงมาอยู่ที่กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรซึ่งเคยทรงยกทัพเรือจากจันทบุรีมายึดคืนจากนายทองอินคนไทยใจศัตรูที่พม่าตั้งให้ปกครองและดันซ้ำเติมความทุกข์คนไทยด้วยกัน จึงพอจะทรงคุ้นเคยกับภูมิสถานที่ตั้งและทางหนีทีไล่อยู่บ้าง ที่พอพระทัยคือกรุงธนบุรีอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งทรงสันทัดการรบทางน้ำถ้าพม่ายกมาทางเหนือหรือตะวันตกจนเราสู้ไม่ได้ก็พอจะลงเรือหนีออกปากอ่าวได้ไม่ถูกปิดล้อมเหมือนอยุธยา อีกประการหนึ่งคือชื่อกรุงธนบุรี ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งทรัพย์สินเงินทองและความมั่งคั่งนั้นดูจะถูกโฉลกพ้องกับพระนามเดิมว่า “สิน” อีกด้วย
เมื่อเสด็จลงมาถึงกรุงธนบุรีก็ทรงเลือก เอาที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ป้อมฝรั่งปากคลองบางกอกใหญ่ซึ่งทรงเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นแนวพระราชวังด้านทิศใต้ ครอบคลุมวัดท้ายตลาด (วัดโมลีฯ) วัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) จนถึงแนวคลองนครบาลทางทิศเหนือ (แถววัดเครือวัลย์ทุกวันนี้) ทรงเร่งสร้างพระราชวังขึ้นใหม่หาไม้ทองหลางทั้งต้นมาปักเป็นกำแพงเมืองชั่วคราว ตัวพระราชวังเป็นหลังคามุงจาก นิมนต์พระวัดท้ายตลาด วัดแจ้งออกไปอยู่ที่อื่น ใช้วัดท้ายตลาดเป็นที่พักทหารและยุ้งฉางเก็บข้าว ด้านหลังพระราชวังให้ขุดคลองคูเมืองอีกสายขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างกำแพงเมืองกั้นเป็นเขตพระนครไว้ นอกกำแพงเมืองแถวพรานนก เป็นที่ลุ่มจึงให้ใช้ทำนาเลี้ยงราษฎร ส่วนบางกอกฝั่งตรงข้ามให้ขุดคลองคูเมืองอีกสาย (เราเคยเรียกว่าคลองหลอด) ลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามคลองบางกอกน้อยไปออกแม่น้ำแถวโรงเรียนราชินี ปากทางออกแม่น้ำมีคนไปติดตลาดลอยเรือขายปูปลากุ้งหอย เรียกว่าปากคลองหรือปากคลองตลาด
เท่านี้ก็ได้พระมหานครใหม่พออยู่ได้ไปพลางก่อน หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็ถูกทิ้งกลายเป็นกรุงเก่า ผู้คนที่หลบหนีต่างอพยพกลับเข้ามาอยู่ธนบุรีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนกรุงเทพฯ นั้นยังไม่เกิด มีแต่บางกอกฝั่งตะวันออกเป็นไร่นาป่าสวน.
วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
ป้ายกำกับ:
ธนบุรี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น