การตั้งเมืองหลวงใหม่ในยุคนี้ขนาดมีเทคโนโลยีพร้อม ไม่มีทุนสร้างก็ยังออกบอนด์หรือพันธบัตรได้ กู้จากต่างประเทศได้แต่ก็ยังนับว่ายากนักหนา
ลองดูข้อเสนอที่ให้ย้ายเมืองหลวงหรือตั้งเมืองบริวารหนีน้ำท่วมสิ แล้วคิดดูว่าสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อ 244 ปีก่อนยากเย็นขนาดไหน จะค่อยยังชั่วอยู่บ้างก็ที่ว่าสมัยก่อนผู้คนยังมีน้อย และความเป็น “เมืองหลวง” หรือราชธานียังไม่ต้องมีอะไรพะรุงพะรังเหมือนทุกวันนี้ ไม่ต้องมีทำเนียบรัฐบาล ไม่ต้องมีอาคารกระทรวงทบวงกรม รัฐสภา ศาล ไม่ต้องมีศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย โรงเรียน สนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ อีกประการหนึ่งคืออำนาจของพระเจ้าแผ่นดินยัง “เด็ดขาด” ขีดแผนที่ให้ตรงไหนเป็นอะไรก็เป็น เกณฑ์แรงงานคนมาสร้างอะไรก็ต้องมา
เรียกว่าไม่ต้องห่วงเรื่องผังเมือง การเวนคืน สิ่งแวดล้อม ไม่ต้องกังวลเรื่องม็อบและไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 อย่างกรณีมาบตาพุด
แต่จะว่าคนสมัยก่อนไม่ต้องคิดอะไรมากก็ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าท่านคิดตามแบบของท่าน เช่น ต้องดูชัยภูมิเพื่อประโยชน์ในการทำสงคราม ต้องวางผังให้เป็นไปตามแบบในไตรภูมิ วัดอยู่ตรงไหน วังอยู่ตรงไหน ล้อมรอบด้วยอะไร และต้องคำนึงถึงโบราณประเพณี เรื่องนี้จะเห็นชัดกว่ามากเมื่อครั้งตั้งกรุงศรีอยุธยาและตั้งกรุงเทพฯ เพราะกรุงธนบุรีนั้นจะว่าเป็นเมืองหลวงก็แค่พออยู่ไปพลางก่อนเนื่องจากสงครามยังติดพัน ทุนรอนก็ไม่มี ช่างหลวงมีฝีมือก็หายากมี แม้กระนั้นท่านก็ให้มีวัดในวัง มีที่ทำนาเลี้ยงราษฎร มียุ้งฉางหลวงไว้เก็บข้าวเปลือก พระราชวังนั้นแม้จะมุงหลังคาจากแต่ก็ถือเป็นศูนย์ราชการ ทุกอย่างสั่งออกไปจากที่นี่ พวกขุนนางผู้ใหญ่ก็ให้ไปปลูกเรือนอยู่ริมแม่น้ำข้างวัง ขุนนางผู้น้อยให้หลบเข้าไปอยู่สองข้างคลองบางกอกใหญ่ ที่ตรงนั้นจึงเรียกว่าคลองบางหลวง
พวกอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและเชลยญวน มอญ ลาว เขมรก็ให้ข้ามไปอยู่ทางฝั่งบางกอก แต่ฝรั่งให้ไปอยู่แถวกะดีจีนเพราะต้องดูแลรักษาป้อม ตลาดก็ให้อยู่ท้ายวัง วัดตรงนั้นจึงได้ชื่อว่าวัดท้ายตลาด (วัดโมลีฯ)
สิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ต้องเร่งจัดทำและจัดหาในขณะนั้นคือคน และทุน คำว่าคนหมายถึงพวกที่มีฝีมือ มีความรู้เพื่อมาช่วยกันสร้างชาติ ไหนจะต้องช่วยรบ ไหนจะต้องช่วยปกครองดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย จัดระเบียบสังคมใหม่ ไหนจะต้องทำงานธุรการในวังนอกวัง ส่วนทุนหมายถึงเงินทองที่จะต้องใช้จัดหาเสบียง เลี้ยงกองทัพ ซื้อหาข้าวของมาสร้างกรุง และจัดหาอาวุธไว้สู้กับศัตรู ทั้งสองอย่างเป็นวาระแห่งชาติในขณะนั้น
บุญที่พวกข้าราชการเก่าสมัยอยุธยาหลายคนได้กลับเข้ามาสวามิภักดิ์ เช่น หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) พระสหายเก่าได้นำครอบครัวย้ายจากบางช้างเข้ามาทำราชการ โปรดฯ ให้เป็นพระราชวรินทร์ คุมตำรวจ พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำข้างวังให้ปลูกเรือน ภายหลังไปรบทัพจับศึกชนะจึงทรงตั้งเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ระดับ ผบ.ตร.) พระยายมราช (เทียบประมาณ มท.1) เจ้าพระยาจักรี (นี่เทียบระดับนายกรัฐมนตรี) และเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หลังจากนั้นจึงได้ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 1
พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด ต้นสกุลบุณยรัตพันธุ์) ก็เป็นขุนนางเก่ารู้ธรรมเนียมในวังมาก โปรดฯ ให้เป็นเสนาบดีกรมวังดูแลกิจการทั้งปวงในราชสำนัก ศาล วัดวาอารามและพิธีการต่าง ๆ
นายบุญมาน้องชายหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เคยเป็นนายสุดจินดามหาดเล็กสมัยอยุธยาได้เข้าร่วมตั้งแต่สงครามกู้ชาติ เมื่อสถาปนากรุงธนบุรีแล้วก็ได้ทำราชการต่อไปจนเป็นพระมหามนตรี พระยาอนุชิตราชา พระยายมราช และเจ้าพระยาสุรสีห์ในที่สุด ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เป็นกรมพระราชวังบวรฯ พระมหาอุปราชวังหน้า
นายบุนนาค ลูกเจ้าพระยามหาเสนา รมต.กลาโหมครั้งกรุงเก่าเชื้อสายแขกเปอร์เซียเคยทำราชการในวังก่อนเสียกรุงได้เป็นนายฉลองไนยนาถ มหาดเล็ก เมื่อกรุงแตกก็ได้ไปอาศัยอยู่กับหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ที่บางช้าง คุณนาคภริยาหลวงยกกระบัตรเห็นว่าเป็นพ่อม่ายเมียตาย มีชาติมีสกุล และซื่อสัตย์สุจริตจึงยกคุณนวล น้องสาวให้ แต่มีเรื่องผิดพ้องหมองใจกับพระเจ้าตากมาแต่เด็กจึงไม่ได้เข้าทำราชการ จนเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 1 ท่านจึงได้เข้าทำราชการด้วยจนได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนาเหมือนบิดา ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุลบุนนาค
วงศาคณาญาติฝ่ายหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ได้เข้าทำราชการหลายคน รวมทั้งพ่อทองอิน บุตรชายของคุณสา พี่สาวของหลวงยกกระบัตร ต่อมาพ่อทองอินได้เป็นพระยาสุริยอภัย เจ้าเมืองโคราช เมื่อรัชกาลที่ 1 ผู้เป็นน้าได้ครองราชย์แล้ว ท่านได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข วังหลัง ซึ่งเป็นวังหลังพระองค์เดียวในสมัยกรุงเทพฯ
พระเจ้าตากทรงเริ่มนำทัพไปปราบก๊กต่าง ๆ ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ตั้งแต่ปีแรก เริ่มจากก๊กเจ้าพิมายจับได้กรมหมื่นเทพพิพิธ ครั้งแรกจะทรงเว้นชีวิตไว้และให้มาช่วยกันทำราชการ แต่กรมหมื่นเทพพิพิธเห็นว่าตนเป็นลูกพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึง “จมไม่ลง” กลับกระด้างกระเดื่องจึงให้นำไปสำเร็จโทษเสีย พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) ทำสงครามได้ชัยชนะในครั้งนี้นี่เองจึงได้เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจ
หลังจากนั้นเสด็จลงเรือไปปราบก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราชจนจับตัวเจ้าเมืองได้ ขุนนางจะให้ประหารแต่ตรัสว่ายามบ้านแตกเมืองเสียทุกคนก็หมายตั้งตัวเป็นใหญ่ทั้งนั้น เจ้านครกับพระองค์ก็ไม่ได้เป็นเจ้าเป็นข้ากันมาก่อน จะเอาผิดฐานอะไรก็ยาก เมื่อยอมอ่อนน้อมโดยดีก็ให้ไปทำราชการในกรุงธนบุรีแล้วยังเสด็จลงไปจัดการหัวเมือง เช่น สงขลา พัทลุง ปัตตานีจนเรียบร้อย
ศึกต่อมาคือการปราบก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลกและก๊กเจ้าพระฝางจนราบคาบ ได้ผู้คนเข้ามาอยู่ใต้พระบารมีหลายหมื่นคน ต่อมายังได้ยกทัพไปปราบเขมร ลาว ทรงตีได้เชียงใหม่จากพม่าจนรวบรวมอาณาจักรล้านนาคือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน กลับมาอยู่ในพระราชอาณาเขตธนบุรีสำเร็จ
เมื่อวันเวลาผ่านไปพอจะทรงมีเวลาว่างเว้นจากการรบบ้างก็ทรงหันมาทำเรื่องเศรษฐกิจ เช่น การค้าครั่ง การขุดคูคลอง และเรื่องศิลปวัฒนธรรมอันแสดงความรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่น โปรดฯ ให้ซ่อมวัดต่าง ๆ ทรงเสาะหาช่างฝีมือมาทำข้าวของเครื่องใช้และยังมีเวลาทรงพระราชนิพนธ์หนังสือดี ๆ หลายเล่มหรือมิฉะนั้นก็ส่งเสริมกวีหลายคน เข้าใจกันว่าพระองค์เองจะทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระมงกุฎประลองศร ตอนหนุมานเกี้ยวนางวาริน ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ และตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด สำนวนนี้ว่ากันว่าเป็นพระราชนิพนธ์
เมื่อนั้น พระทรงจตุศีลยักษา
ครั้นเห็นนวลนางสีดา เสน่หาปราบปลื้มหฤทัย
อั้นอัดกำหนัดในนาง พลางกำเริบราคร้อนพิสมัย
พิศเพ่งเล็งแลทรามวัย มิได้ที่จะขาดวางตา
ชิชะโอ้ว่าสีดาเอ๋ย มางามกระไรเลยเลิศเลขา
ถึงนางสิบสองห้องฟ้า จะเปรียบสีดาได้ก็ไม่มี
และแล้วก็มาถึงเรื่องที่ทรงหันหน้าเข้าวัดเข้าศาสนา คงจะเป็นว่าชีวิตนักรบที่ผกโผนอยู่บนหลังม้าไล่ฆ่าฟันผู้คนมานานต่อให้เป็นศัตรูก็เถิด วันหนึ่งย่อมรู้สึกเกรงในบาปบุญคุณโทษอยู่เหมือนกัน หนทางจะระงับดับความรู้สึกนั้นคือการใช้ศาสนาเข้าช่วย เช่น กรณีของพระเจ้าอโศกมหาราช ผมเองก็เคยพบครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นขุนศาลตุลาการหลายคน ท่านบอกว่าแม้การตัดสินลงโทษจำคุกหรือประหารชีวิตคนจะถือว่าเป็นหน้าที่ และเราทำไปโดยสุจริตตามกฎหมาย เราไม่ได้ก่อกรรมแต่เป็นผู้ชี้กรรมเขา กระนั้นก็อดตะขิดตะขวงใจบ้างไม่ได้ว่าจะผิดพลาดหนักเบาไปบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้จึงต้องอาศัยทางพระทางเจ้าเข้าช่วย ใจจะได้สบาย
พระเจ้าตากทรงหันไปเรียนวิปัสสนา ส่วนใหญ่ก็ที่สำนักวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆัง) วัดนาค วัดกลาง (บัดนี้รวมกันเป็นวัดนาคกลาง) วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม) ราชการงานเมืองทั่วไปก็โปรดฯ ให้เจ้านายขุนนางดูแลกันเอง ตรงนี้แหละที่พงศาวดารและหนังสือหลายเล่มบรรยายว่าทรงหมกมุ่นเกินไป หรือบางทีครูบาอาจารย์ที่บอกกรรมฐานอาจพาเข้ารกเข้าพงไปด้วยก็ได้ จนทรงคิดว่าได้บรรลุธรรมอันวิเศษ ทำท่าจะศักดิ์สิทธิ์เหาะได้ คงเหมือนหลายสำนักในเวลานี้ที่พาถอดจิตไปเฝ้าพระอินทร์ ไปไหว้พระธาตุจุฬามณี ขึ้นสวรรค์ลงนรก ข้ามภพข้ามชาติอะไรทำนองนั้น
บางเล่มก็กล่าวว่าระยะหลังพระอารมณ์ชักจะแปรปรวนหงุดหงิดง่าย เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ และทรงพระพิโรธลงโทษคนได้ง่าย ๆ ทั้งที่ไม่ใช่พระอารมณ์ดังนี้มาแต่เดิม
ตัวอย่างที่มักยกขึ้นกล่าวในพงศาวดาร จดหมายเหตุและหนังสือต่าง ๆ เช่น ทรงกริ้วว่าเงินทองที่ทรงเก็บไว้สูญหายไป เข้าพระทัยว่าเจ้าจอมคนโปรดจะเม้มไว้จึงให้ประหาร เสร็จแล้วมาพบภายหลังว่าทรงเก็บไว้ในหีบที่ซ้อนกันแล้วทรงลืมเสีย ทรงให้โบยสตรีมีบรรดาศักดิ์หลายคนในวังรวมทั้งคุณสา พี่สาวสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมารัชกาลที่ 1 สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่) ทรงชุบเลี้ยงหญิงชาวบ้านร้านตลาดเป็นเจ้าจอมทำราชการซึ่งถือว่าผิดธรรมเนียม โปรดฯ ให้เชิญเจ้ามาประทับทรงพระองค์ มีพระราชสาส์นไปขอธิดาพระเจ้ากรุงจีน ที่ถือว่าแหวกแนวไปมาก เช่น โปรดฯ ให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะผู้ใหญ่มาถามว่าถ้าฆราวาสบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน พระภิกษุธรรมดาจะต้องไหว้ไหม คำถามนี้เล่นเอาพระแบ่งกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกตอบว่าต้องไหว้เพราะพระเองยังไม่บรรลุ อีกฝ่ายตอบว่าไม่ต้องเพราะถึงอย่างไรพระก็มีศีล 227 ข้อ ทรงกริ้วพวกหลังมากจับสึกหมดแล้วส่งไปทำงานหนัก
เรื่องพวกนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่น่าจะมีมูลอยู่บ้าง เพียงแต่จะสรุปว่าทรงวิกลจริตหรือ “บ้า” นั้นไม่น่าจะถึงขนาดนั้น คงแค่ “แปลก ๆ” อยู่ พงศาวดารบางเล่มจึงใช้คำว่า “จริตวิกล” ซึ่งก็คงเป็นพัก ๆ เพราะพงศาวดารเองก็กล่าวว่าบางครั้งยังทรงออกว่าราชการได้ตามปกติ เช่น คราวจะส่งคณะทูตไปเมืองจีน เป็นต้น
แต่ที่แน่ ๆ คือพระอาการและพระอารมณ์เช่นนี้ย่อมเป็นจุดอ่อนเปิดทางให้พวกฉวยโอกาสซึ่งมีอยู่ทุกสมัยเข้าแสวงหาประโยชน์ กดขี่ข่มเหงราษฎรบ้าง อ้างพระราชดำรัสตรัสสั่งบ้าง ขุนนางหลายคนกอบโกยหาผลประโยชน์ใส่ตน เช่นที่อยุธยามีการเก็บภาษีพวกลูกหลานที่กลับไปขุดหาทรัพย์ที่บรรพบุรุษฝังไว้ เมื่อในวังอ่อนแอก็เท่ากับว่ารัฐบาลอ่อนแอ ข้าราชการเข้าเกียร์ว่าง แล้วพวกนี้เองที่
ไปรีดไถประชาชน แอบอ้าง “ข้างบน” ขนาดเจ้าหน้าที่เก็บภาษียังไปเอาพระที่เป็นพรรคพวกกันมาทั้งผ้าเหลืองช่วยเก็บค่าต๋งแบ่งกัน
ในที่สุดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงเป็นจำเลยของสังคมพูดตามภาษาการเมืองสมัยนี้ก็คือเกิดวิกฤติศรัทธา โดยสรุปคือทรงมีจุดอ่อนสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ ในด้านการรบแม้ทรงมีทีมงานที่เก่งกล้าอยู่หลายคน กล้าเป็นกล้าตายทั้งนั้น แต่พอศึกสงบจะหาคนที่ช่วยดูแลการปกครองให้เรียบร้อยยากเต็มที สมเด็จเจ้าพระยาฯ และน้องชายก็ถูกใช้ให้ไปรบที่โน่นที่นี่ไม่หยุดหย่อน พระเจ้าตากเองก็มีพระราชโอรสน้อยพระองค์ ไม่พอจะช่วยราชการ ที่พอมีก็โตไม่ทันใช้ พระญาติพระวงศ์ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มี การมีลูกน้อยน้องน้อยบริวารน้อยมีข้อเสียอย่างนี้เอง
อีกเรื่องคือแม้จะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ความรู้สึกของพวกขุนนางเก่า ผู้ดีเก่าที่ว่าทรงเป็นสามัญชนมาก่อน ไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งยังมีเชื้อสายจีนเสียอีกจึงทำให้ขุนนางบางส่วนไม่ “สนิทใจ” เท่าไรนักพอมาทรงเข้าวัดคร่ำเคร่งทำวิปัสสนา แล้วมีแต่ภาพลักษณ์ด้านลบออกมาจึงทำให้ขาดความศรัทธาวางใจได้
เรื่องอย่างนี้เรียกว่าเป็น “ปัญหาการเมืองภายใน” ไม่ได้มาจากข้าศึกศัตรูที่ไหนทั้งนั้น.
วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น