@กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ ของจีนรายงานว่า ในบรรดาประเทศเอเชียทั้งหมด ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศมากที่สุด
แต่ถ้าพิจารณาจากจำนวนประชากรของจีนก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะจีนมีจำนวนประชากรมากถึง 1.34 พันล้านคน หรือมากที่สุดในโลก
แต่รายงานนี้น่าสนใจเพราะคนจีนส่วนใหญ่ของจีนมีฐานะยากจนและอยู่กระจัดกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ที่การพัฒนายังเข้าไปไม่ถึง ฉะนั้น การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก
อย่างไรก็ตาม ชาวจีนเริ่มเดินทางออกนอกประเทศเพื่อท่องเที่ยวเมื่อ 6 ปีที่แล้วนี่เอง ส่วนใหญ่เลือกที่จะเที่ยวในยุโรป พวกเขาใช้จ่ายเงินทั้งหมดกว่า 63,500 พันล้านบาทต่อปี เพื่อท่องเที่ยว ในปี 2552 ปีเดียว นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปฝรั่งเศสใช้จ่ายเงินมากกว่า 40,000 บาทต่อคน ทำให้บริษัทท่องเที่ยวจำนวนมากในยุโรปหันมาให้ความสำคัญกับชาวจีนมากขึ้น เมื่อต้นปี เทศกาลท่องเที่ยวที่นครเบอร์ลินของเยอรมันจัดงานประชุมเฉพาะเรื่องนักท่องเที่ยวจีนในหัวข้อ "นักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่" โดยหัวข้อประชุมเน้นไปที่จะทำอย่างไรให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่
นักท่องเที่ยวจีนนิยมไปเยือนสถานที่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของประเทศตนเอง เช่น เมืองเทรียร์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของ ประเทศเยอรมัน เพราะเป็นบ้านเกิดของคาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักปฏิวัติชาวเยอรมัน แนวคิดของมาร์กซ์เป็นพื้นฐานของลัทธิมาร์กซิสม์ ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์นั่นเอง เขาเป็นแรงบันดาลใจให้นักปฏิวัติคนสำคัญๆ รวมทั้ง เหมา เจ๋อ ตุง ของจีน นอกจากนี้ เมืองนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์คาร์ล มาร์กซ์ ด้วย ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวที่เมืองนี้ แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากจีนไปที่นี่ปีละประมาณ 13,000 คน
สำหรับฝรั่งเศส นักท่องเที่ยวจากจีนนิยมไปแวะเยี่ยม มองทาร์จีส์ เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของนครปารีส เพราะที่นี่ช่วยวางรากฐานให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งยังเคยเป็นที่เล่าเรียนของลูกหลานขุนนางจีนและเป็นที่ก่อกำเนิดของขบวนการของจีน เมื่อปี 2463 นักศึกษาจีนคนหนึ่งเขียนจดหมายถึงนายเหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งต่อมากลายเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อถกเถียงเรื่องการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ เรื่องราวนี้เองที่ทำให้ที่นี่กลายเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจีน
ส่วนชาวจีนที่แสวงหาความโรแมนติกก็ต้องมายืนชมต้นหลิวใน คิง คอลเลจ (King’s College) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้เพราะโซว่ ซีโหม่ว (Xu Zhimo) กวีเอกของจีนที่เคยเรียนที่นี่ได้เขียนบรรยายความงามของต้นหลิวไว้ในกลอน “Saying Goodbye to Cambridge” ของเขา โซว่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรมตะวันตก แต่ในจีน เขาเป็นเสมือนบรมครูของการประพันธ์ เขาชอบเขียนกลอนเกี่ยวกับชีวิต ความรักและความเศร้า เขาเสียชีวิตเพราะเครื่องบินตกเมื่ออายุ 34 ปีเท่านั้น หลังเขาเสียชีวิต ทางมหาวิทยาลัยนำหินสลักบทกลอนของเขามาวางไว้ใกล้ๆ ต้นหลิวด้วย
Beethoven's geburtshaus |
ชาวจีนชอบไปเที่ยวที่ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี นวนิยายหรือภาพยนตร์ เช่น ไปที่ เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของลุดวิก บีโธเฟน นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงที่ยิ่งใหญ่ของโลก ที่นั่นยังมี พิพิธภัณฑ์บีโธเฟน อีกด้วย
นอกจากนี้ เมืองเวโรนา ประเทศอิตาลี ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแสนโรแมนติกของนักท่องเที่ยวจีน เพราะที่นี่เป็นฉากหลังของโรมีโอและจูเลียต วรรณกรรมรักเลื่องชื่อของวิลเลียม เชคส์เปียร์ส ชาวจีนนิยมพากันไปยืนชื่นชมระเบียงของจูเลียตที่โรมีโอมายืนพร่ำคำรักอยู่เบื้องล่าง วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนเพราะเนื้อเรื่องคล้ายกับเรื่อง Butterfly Lovers ของจีน
นักท่องเที่ยวจีนก็บ้าชอปปิงเหมือนกับนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ คณะกรรมการการท่องเที่ยวยุโรปรายงานว่า 1 ใน 3 ของเงินที่คนจีนใช้ในระหว่างท่องเที่ยวหมดไปกับการชอปปิง เมื่อปีที่แล้ว พวกเขาใช้จ่ายไปเกือบ 2 แสนล้านปอนด์ เพื่อชอปปิงที่ย่านถนนบอนด์ในลอนดอนเพียงที่เดียวเท่านั้น
ส่วนนักท่องเที่ยวจีนกระเป๋าหนักที่ชอบชอปปิงก็พากันเฮละโลไปที่เมตชินเกน เยอรมัน เพราะมีเอาท์เล็ท (outlet) ของฮิวโก้ บอส สินค้าแบรนด์ดัง ส่วนที่ปารีส ร้านหลุยส์ วิตตอง ก็แน่นขนัดไปด้วยคนจีน จริงอยู่ สินค้าหรูหราที่ขายในยุโรปส่วนใหญ่ผลิตในจีน แต่พวกเขาชอบมาซื้อที่ยุโรปมากกว่า เพราะถ้าซื้อสินค้าแบรนด์ของยุโรปในจีน เช่น กระเป๋าและนาฬิกา พวกเขาต้องจ่ายแพงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์
เมืองบอร์กโดซ์ ของ ฝรั่งเศส ก็เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจากจีน โดยเฉพาะพวกกระเป๋าหนักที่นิยมไวน์แดงแพงๆ พวกเขาจะได้รับเชิญให้เข้าชม ชาร์โต้ ลาฟิเต้ ร็อธชายด์ (Chateau Lafite Rothschild) ซึ่งไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แต่รสนิยมนิยมไวน์แพงก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะชอบอาหารยุโรป เพราะระหว่างท่องเที่ยวพวกเขาเลือกเข้าภัตตาคารจีนเป็นส่วนใหญ่ การสำรวจเมื่อปี 2549 แสดงว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวจีน กินอาหารยุโรปเพียงครั้งเดียวระหว่างเดินทาง
....................
ที่มา เว็บไซต์ อีโคโนมิส ไชน่าเดลี่ บีบีซี บิซิเนสวีค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น