วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555
ธนบุรีศรีมหาสมุทร (5)
พระอารมณ์แปรปรวนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะจริงหรือไม่และหนักเบาเพียงใดยากที่ผู้ใดจะชี้ชัดได้ในบัดนี้
แต่เป็นสิ่งที่ตั้งข้อสังเกตของขุนนางและชาววังในขณะนั้นซึ่งดูจะผิดแผกไปจากพระอัธยาศัยเดิม เพราะปกติแล้วแม้จะห้าวหาญเด็ดขาดตามประสานักรบแต่ก็ทรงอ่อนโยนต่ออาณาประชาราษฎร เช่น ตรัสเรียกพระองค์เองว่า “พ่อ” ตรัสเรียกราษฎรว่า “ลูก” พระทัยเป็นธรรมโอบอ้อมอารีและยึดมั่นในศาสนา การที่ทรงคร่ำเคร่งกับวิปัสสนากรรมฐานก็เป็นเรื่องพระอัธยาศัยส่วนพระองค์ไม่น่าจะเป็นปัญหาของบ้านเมือง แต่สภาพของบ้านเมืองที่ขุนนางและข้าราชการบางส่วนฉวยโอกาสข่มเหงย่ำยีรีดไถราษฎรน่าจะมีอยู่จริง เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นข่าวอยู่แต่ในวังหากล่วงรู้ไปถึงชาวต่างชาติและเป็นปัญหาบ้านเมืองเดือดร้อนไปถึงชาวบ้านทั่วไปซึ่งย่อมย้อนกลับไปโทษผู้ปกครองได้ในที่สุด
คงเหมือนสมัยนี้ที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ซี 5 ซี 6 ทำผิด ก็เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีได้!
เรื่องพระเจ้าแผ่นดินวิกลจริตนี้ดูจะมีอยู่ในหลายประเทศ กษัตริย์พม่ายุคหลังพระเจ้าอลองพญาหลายพระองค์ก็มีพระอาการที่พงศาวดารพม่าระบุว่า “วิกลจริต” จนถูกยึดอำนาจก็มี จะว่าเป็นข้ออ้างหาเหตุยึดอำนาจก็ไม่น่าจำเป็นต้องโทษเอาขนาดนั้นเพราะลำพังข้อหาว่าไม่ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมจรรยาสัมมาปฏิบัติก็พอจะใช้ยึดอำนาจได้แล้ว
ในสมัยกรุงธนบุรี เรื่องที่สมเด็จพระสังฆราช (สี) อยู่ในฝ่ายเห็นว่าแม้ฆราวาสบรรลุโสดาปัตติผล แต่พระภิกษุก็ไม่ต้องเคารพนบไหว้ผู้นั้นเพราะพระภิกษุทรงศีลสูงกว่าจนสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวกริ้วให้จับสึกไปทำงานที่วัดหงส์รัตนารามเป็นเรื่องกล่าวถึงไว้หลายแห่ง เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 1 ยังโปรดให้กลับไปครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้วทรงสถาปนาคืนเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกในสมัยกรุงเทพฯ ด้วยทรงศรัทธาว่ามีความมั่นคงในพระสัทธรรม ไม่ตามกระแส เรื่องนี้ทางพระเองก็กล่าวถึงแสดงว่าน่าจะเป็นจริง
ในคราวที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไปจัดระเบียบการปกครองที่เวียงจันทน์ ขากลับได้นำพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์กลับจากลาวมาด้วยคือพระแก้วมรกตและพระบาง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปีติยินดีมากเพราะพระแก้วมรกตเคยอยู่ในอาณาเขตที่เป็นของไทยมาก่อนคือกำแพงเพชร เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ ต่อมาพระไชยเชษฐาธิราช เชื้อสายผู้ครองอาณาจักรล้านช้างซึ่งลงมาปกครองเชียงใหม่เสด็จกลับไปครองกรุงศรีสตนาคนหุต (หลวงพระบาง) จึงเชิญพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์คือพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ไปจากเชียงใหม่ด้วย แต่เมื่อชาวเมืองร่ำร้องขอคืนก็พระราชทานแต่พระพุทธสิหิงค์คืนมา ส่วนพระแก้วมรกตนั้นเก็บเอาไว้ที่อาณาจักรล้านช้าง (หลวงพระบาง) ภายหลังเมื่อย้ายเมืองหลวงไปอยู่เวียงจันทน์ทางลาวก็เชิญไปไว้ที่หอพระแก้วในเวียงจันทน์จนสมเด็จเจ้าพระยาฯ เชิญกลับมากรุงธนบุรีในคราวนี้
ครั้งอยู่กรุงธนบุรี พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่วัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) เหลือเชื่อนะครับว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่ 417 ปี พระแก้วมรกตท่านไม่เคยแวะไปเที่ยวชมพระมหานครแห่งนั้นเลย การได้ท่านมาอยู่ที่ธนบุรีจึงเป็นการเพิ่มพูนพระบรมราชกฤดาภินิหารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างใหญ่ยิ่ง ว่ากันว่าจะทรงปูนบำเหน็จความชอบอันใดแก่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เป็นอันถึงที่สุดแล้วจึงทรงถอดพระมหาสังวาล (สร้อย) อันเป็นเครื่องทรงกษัตริย์คล้องคอพระ ราชทาน
พระแก้วมรกตนั้นวันนี้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่สุดในแผ่นดิน ส่วนพระบางนั้นเป็นพระยืนองค์ไม่ใหญ่โตนัก เคยอยู่หลวงพระบางเพราะเหตุนั้นเมืองนั้นจึงได้ชื่อว่าหลวงพระบาง ภายหลังเจ้าลาวเข้ามาเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 ขอพระราชทานคืนก็โปรดฯ ให้คืนไป ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 เรายกทัพไปตีเวียงจันทน์ก็ได้นำพระบางกลับมาอีกหน คราวนี้มาไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส แต่พอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ก็พระราชทานคืนไป บัดนี้อยู่ที่หลวงพระบาง
การคืนพระบางไปถูกต้องเป็นธรรมแล้วโดยเฉพาะถ้าคิดถึงอกเขาอกเรา
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชโอรสธิดาหลายพระองค์ ส่วนใหญ่จะทรงตั้งเป็นเจ้าฟ้าไม่ว่าจะประสูติจากพระภรรยาในลำดับชั้นใด พระภรรยาที่เป็นชั้นพระมเหสีนั้นมีอยู่หลายพระองค์ บางพระองค์เป็นภริยาดั้งเดิมมาแต่ยังทรงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก เช่น กรมหลวงบาทบริจา พระราชโอรสจากพระมเหสีพระองค์นี้จึงโตพอจะทรงใช้สอยราชการได้บ้างแต่ก็ยังอ่อนพระประสบ การณ์ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอินทรพิทักษ์ ซึ่งดำรงพระยศเสมอพระมหาอุปราช
สมเด็จเจ้าพระยาฯ เองก็ได้ถวายบุตรีคนแรกที่เกิดจากคุณนาคชื่อ “ฉิม” ซึ่งเป็นพระพี่นางร่วมพระครรภ์กับสมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม (ชื่อซ้ำกัน) ที่ต่อมาเป็นรัชกาลที่ 2 ให้เป็นบริจาริกาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย และมีพระราช โอรส 1 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์ เจ้าฟ้าพระองค์นี้จึงเป็นลูกพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นหลานตาของสมเด็จพระยาฯ และหลานน้าของรัชกาลที่ 2
การที่เจ้าต่างแดนและขุนนางจะถวายบุตรสาวเป็นบริจาริกา (แปลว่าเมีย) ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นเรื่องธรรมดาในสมัยก่อน รัชกาลที่ 2 เคยทรงแต่งล้อไว้ในเรื่องไกรทองว่า “เหล่าขุนนางต่างถวายบุตรี พวกที่มีบุตรชายถวายหลาน ปะที่เป็นหมันบุตรกันดาร คิดอ่านไกล่เกลี่ยน้องเมียมา” คือถ้าไม่มีลูกสาวก็ยกหลานสาวถวาย ถ้าเป็นหมันไม่มีลูกหลานก็ไปกล่อมน้องเมียมาถวาย!
ขุนนางผู้หนึ่งถวายแม่ปรางเป็นบริจาริกา ครั้นอุปราชพัฒน์เมืองนครศรี ธรรมราชขึ้นมาเฝ้าฯ ก็ทรงสงสารว่าเมียตายจึงพระราชทานเจ้าจอมปรางให้ไป เจ้าจอมปรางมีท้องอ่อน ๆ ติดไปก่อนแล้ว เจ้านครก็ไม่กล้าแตะต้องจนกระทั่งคลอดบุตรเป็นชายชื่อน้อย คนทั่วไปทราบว่าเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 ก็ทรงทราบภายหลังจึงได้ทรงรับมาชุบเลี้ยงในกรุงเทพฯ และให้ฝึกราชการ ครั้นโตขึ้นก็ส่งกลับไปเป็นเจ้าเมืองนครฯ จนได้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ต้นสกุล ณ นคร สกุลนี้ถือเป็นเชื้อสายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เจ้าจอมยวนอีกคนที่ได้พระราช ทานเจ้าพระยานครราชสีมา ปรากฏว่าท้องติดไปเหมือนกัน บุตรที่คลอดมานี้ต่อไปได้เป็นเจ้าเมืองโคราช ต้นสกุลอินทรกำแหง ณ ราชสีมา
คราวจะเกิดเหตุใหญ่เป็นปี 2324 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงครองราชย์มาแล้ว 13-14 ปี ทางเขมรซึ่งเคยเป็นของไทยเกิดแตกกันเองเป็น 2 ฝ่ายจนรบกันเอง ทางญวนเข้าหนุนเจ้าเขมรฝ่ายหนึ่ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเกรงว่าเราอาจเสียเขมรให้ญวนทั้งหมดจึงให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยกทัพไปปราบ แต่คราวนี้โกลาหลเป็นพิเศษทั้งที่การปราบขบถเมืองเขมรไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือบางทีอาจคิดว่าต้องรบกับญวนด้วยก็ได้ จึงให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นแม่ทัพใหญ่เหมือนคุมทัพหลวง เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) คุมทัพหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอินทรพิทักษ์คุมอีกทัพหนึ่ง พระยานครสวรรค์คุมอีกทัพ กรมหลวงรามภูเบศร์แยกไปคุมอีกทัพ และทรงสั่งการว่าถ้าจัดการเมืองเขมรเรียบร้อยแล้วก็ให้ตั้งพระมหาอุปราชเจ้าฟ้ากรมหลวงอินทร พิทักษ์เป็นกษัตริย์ครองเมืองเขมรเสียด้วย
ตรงนี้แปลก! แล้วต่อไปจะทรงตั้งผู้ใดครองกรุงธนบุรีต่อจากพระองค์!
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีหลานชายองค์หนึ่งดูจะแกล้วกล้าอยู่มากคือกรมขุนอนุรักษ์สงคราม คนทั่วไปเรียกว่าเจ้ารามลักษณ์ จัดว่าเป็นคนมีฝีมือแต่ออกจะมุทะลุห้าวหาญอยู่ ส่วนจะเป็นหลานทางไหนนั้นไม่ทราบ
สมเด็จเจ้าพระยาฯ ขอพระบรมราชานุญาตขึ้นไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่นครราชสีมาเพื่อเกณฑ์ไพร่พลและเตรียมเสบียงอาหาร โคราชในเวลานั้นเป็นหน้าด่านใหญ่ไปสู่เขมร ที่น่าสนใจคือเจ้าเมืองโคราชชื่อพระยาสุริยภักดี (ทองอิน) บุตรชายของคุณสา พี่สาวคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงเป็นหลานน้าของสมเด็จเจ้าพระยาฯ การเกณฑ์ไพร่พล การส่งแนวหน้าออกไปสืบข่าวเมืองเขมรและการเตรียมเสบียงใช้เวลาอยู่นานร่วมปีทุกทัพจึงกรีธาทัพเข้าไปตีเมืองเขมรพร้อมกัน
กรุงธนบุรีในขณะนั้นแทบจะว่างเว้นขุนทหารแม่ทัพนายกอง เรียกว่าเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจขึ้น จะพอมีเหลืออยู่บ้างคือเจ้ารามลักษณ์และพระราช โอรสรุ่นเยาว์ ตลอดจนขุนนางฝีมือรอง ๆ ท่ามกลางข่าวลือเกี่ยวกับการไม่อยู่ในธรรมของผู้ปกครอง และความไม่พอใจของราษฎรเพราะโจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้นทุกวัน ทางกรุงศรีอยุธยาราษฎร เช่น นายบุนนาคบ้านแม่ลา และขุนนางปลายแถวแท้ ๆ ยังเข้ายึดจวนจับเจ้าเมืองฆ่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงเรียกพระยาสรรค์ เจ้าเมืองสรรคบุรีลงมาสั่งให้ไปเกลี้ยกล่อมพี่น้องของตนที่กำลังซ่องสุมและทำซ่าอยู่ในอยุธยา พระยาสรรค์กลับไปถูกพวกนั้นเกลี้ยกล่อมจนคล้อยตามแล้วนำทหารไม่กี่คนบุกย้อนกลับลงมายึดพระราชวังธนบุรี
คนนำทัพยึดกรุงธนบุรีรอบแรกคือพระยาสรรค์ เจ้าเมืองบ้านนอกแถวชัยนาท นครสวรรค์ ใช้ทหารไม่กี่คนก็เข้าคุมพระองค์สมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรี พระญาติพระวงศ์ และคุมตัวขุนนางในวังได้โดยไม่ยาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าสมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรีไม่ทรงเห็นด้วยกับการจะต่อสู้ทรงเกรงว่าล้มตายเสียเปล่า ๆ
ในที่สุดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุเพื่อแสดงว่าไม่ทรงปรารถนาจะยุ่งเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองอีก พงศาวดารที่ว่าทรงขอบวชเองก็มี แต่ที่ว่าพระยาสรรค์ถวายคำแนะนำว่าควรจะเสด็จออกผนวชชำระพระเคราะห์เมืองคือสะเดาะเคราะห์แก้เคล็ดสัก 3 เดือนก็มี ผมว่าอย่างหลังนี้น่าจะถูกต้องเพราะเคยผนวชมาแล้วก่อนเป็นหลวงยกกระบัตร แต่แม้กระนั่นก็ทรงถูกกักบริเวณไว้ในพระอุโบสถวัดแจ้ง บางเล่มว่าทรงถูกจองจำสังขลิกคือโซ่ตรวนกันหลบหนีด้วยซ้ำ
เจ้านายชั้นลูกเธอ หลานเธอที่ถูกกักบริเวณอยู่ในวัดแจ้งมีหลายพระองค์ ระหว่างนั้นเจ้าจอมพระสนมคนหนึ่งประสูติพระราชกุมาร พระยาสรรค์จะให้ประโคมรับขวัญตามธรรมเนียม แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห้ามว่าสิ้นบุญวาสนาข้าแล้วไม่ต้องประโคม พระยาสรรค์ปล่อยเจ้ารามลักษณ์หลบออกไปได้ซึ่งดูแปลกอยู่ว่าปล่อยไปทำไม ข้อนี้ไปเจือสมกับข้อความในที่ต่าง ๆ กันว่าเจ้ารามลักษณ์ออกไปก่อเหตุจลาจลขึ้น ครั้งแรกได้กราบทูลชวนสมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรีให้หนีไปด้วยกันจะชิงราชสมบัติคืน แต่ก็ทรงปฏิเสธ เจ้ารามลักษณ์จึงคุมทหารที่จงรักภักดีออกไปเองเพื่อสู้กับกองทัพพระยาสุริยอภัยเจ้าเมืองโคราชซึ่งทราบข่าวขบถพระยาสรรค์ก็ยกทัพมาตั้งมั่นที่บ้านเดิมของท่านข้างโรงพยาบาลศิริราช (ตอนนั้นยังไม่มีโรงพยาบาล)คอยระวังเหตุการณ์
เจ้ารามลักษณ์ก็แปลก ไม่ยักเข้าต่อสู้ปราบพระยาสรรค์ทั้งที่เป็นคนยึดวังแต่กลับไปสู้กับพระยาสุริยอภัยซึ่งเป็นคนยกทัพมาต่อสู้กับพระยาสรรค์!
ตรงนี้ต้องเล่าว่าก่อนหน้านั้นพอมีข่าวว่าพระยาสรรค์ยึดกรุงธนบุรีได้ พระยาสุริยอภัยก็นำทหารจากโคราชควบม้าไปแจ้งข่าวให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ผู้เป็นน้าชายทราบที่เมืองเขมร สมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้พระยาสุริยอภัยกลับไปคุมสถานการณ์ก่อนเพราะท่านคุมทัพใหญ่จะเลิกทัพกลับทันทีก็พะรุงพะรัง
พระยาสุริยอภัยจึงลงมาที่ตั้งทัพที่บ้านปูนข้างวัดระฆังฯ ซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่านและเข้าก่อกวนฝ่ายพระยาสรรค์ ซึ่งพระยาสรรค์ก็ไม่ได้สู้เองแต่ทำเหมือนปล่อยเจ้ารามลักษณ์เป็นนอมินีออกไปสู้แทน
ขุนนางและชาววังไม่น้อยโดยเฉพาะผู้ที่เคยถูกพระเจ้ากรุงธนบุรีลงโทษลงทัณฑ์และถูกขุนนางเบียด เบียนพากันหันไปเข้าข้างพระยาสุริยอภัย บัดนี้ก็ทำท่าจะเกิดสงครามกลางเมืองย่อม ๆ ระหว่างเจ้ารามลักษณ์กับพระยาสุริยอภัย เจ้าศิริรจจา น้องสาวเจ้ากาวิละ ท่านเป็นเมียเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ซึ่งไปทัพเมืองเขมร สามีไม่อยู่ท่านจึง คุมเรือออกมาช่วยพระยาสุริยอภัยต่อสู้กับฝ่ายเจ้ารามลักษณ์ที่ปากคลองบาง กอกน้อย เอาว่าขณะนั้นเกิดเหตุต่อสู้กันใหญ่โตตั้งแต่ปากคลองบางกอกใหญ่ยันปากคลองบางกอกน้อย
สมเด็จเจ้าพระยาฯ เลิกทัพกลับเข้ามาธนบุรี พระยาสุริยอภัยจับเจ้ารามลักษณ์ได้แถววัดยาง พรานนก เข้าควบคุมพระราชวังธนบุรี จับพระยาสรรค์กับพวกได้โดยละม่อม แล้วรอสมเด็จ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับเข้ามาเพื่อพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป
เวลานั้นเป็นต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2325 กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรดำรงความเป็นราชธานีมาได้ 15 ปี.
วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
ป้ายกำกับ:
ธนบุรี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น