หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

ลุ้นศึกชิงตัวแทนพรรครีพับลิกัน


กระบวนการสรรหาตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012 ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. ปลายปีนี้ เริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันอังคาร (3 ม.ค.) ด้วยการโหวตเลือกตัวแทนพรรคแบบ “คอคัส” ที่รัฐไอโอวา ซึ่งปรากฏว่า นายมิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ เต็ง 1 “ในขณะนี้” ชนะตามคาด แต่ก็หืดขึ้นคอ เพราะเฉือนอันดับ 2 แค่ 8 คะแนนจากผู้มีสิทธิลงคะแนนในเขตรัฐไอโอวาจำนวน 122,255 คน รอมนีย์ได้เสียงสนับสนุน 30,015 คิดเป็นอัตราส่วน 24.55% อันดับ 2 นายริค แซนทอรั่ม อดีต ส.ว. รัฐเพนซิลเวเนีย ได้ 30,007 หรือ 24.54% ตามด้วยนายรอน พอล ส.ส. จากรัฐเศรษฐีน้ำมันเทกซัส 21.5%อันดับ 4 นายนิวท์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อันดับ 5 นายริค แพร์รี่ นักการเมืองปากกล้า ผู้ว่าการรัฐเทกซัส และอันดับ 6 อันดับสุดท้ายได้แค่ 5% นางมิเชล บาคมานน์ ส.ส. จากรัฐมินนิโซตา ซึ่งพอทราบผลการโหวต เธอก็ถอดใจ ประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันไปเรียบร้อย


ตามกฎเกณฑ์ของระบบคอคัส ในแต่ละสนามผู้สมัครแข่งขันต้องได้เสียงสนับสนุนจากผู้เข้าร่วมโหวต (ด้วยการยกมือ ไม่ใช่ลงคะแนน) ไม่ต่ำกว่า 15% ใครได้ต่ำกว่านี้จะถูกริบคะแนนในสนามนั้น กรณีนี้ผู้ที่ลงคะแนนให้ก็สามารถหันไปโหวตให้ผู้สมัครรายอื่นได้

ส่วนนายจอน ฮันท์สแมน อดีตผู้ว่าการรัฐยูทาห์ และเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศจีน ผู้สมัครแข่งขันอีกราย ขอสละสิทธิ์ที่ไอโอวา โดยจะรอลงแข่งที่สนาม 2 แบบ “ไพรมารี่” ที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ในวันที่ 10 ม.ค. มะรืนนี้ และมั่นใจว่าจะคว้าชัยชนะได้ หรืออย่งน้อยก็ไม่น่าจะต่ำกว่าที่ 2 ซึ่งจะทำให้การแข่งขันมีสีสัน ออกรสชาติมากยิ่งขึ้น
จบสนามแรกรัฐไอโอวา ทำให้ตอนนี้รอมนีย์มี “แต้มสะสม” จำนวน “คณะผู้เลือกตั้ง” ในกระเป๋า 13 คนแล้ว ส่วนแซนทอรั่มได้ 12 คน คู่คี่สูสี และยังเหลืออีกหลายยก ในหลายรัฐ กว่าจะรู้ผลใครคือผู้ชนะ อาจจะสู้กันมันหยดจนถึงยกสุดท้าย การประชุมใหญ่พรรคระดับชาติ ซึ่งในส่วนของรีพับลิกัน จะมีขึ้นที่เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ระหว่างวันที่ 27–30 ส.ค.

ส่วนประชุมใหญ่พรรคระดับชาติของแชมป์เก่า พรรคเดโมแครต จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 3–6 ก.ย. ที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งจนถึงขณะนี้ ตัวแทนพรรคยังคงเป็น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่จะลงป้องกันเก้าอี้ ครองประมุขทำเนียบขาวต่อเป็นสมัยที่ 2 ไอโอวา แถบภาคกลางตอนเหนือของประเทศ จุดเริ่มต้นเส้นทางสู่ทำเนียบขาว หากจะว่าไปก็ถือเป็นรัฐบ้านนอก สนามแข่งขันที่ 2 ขยับไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ นิวแฮมป์เชียร์ เป็นรัฐที่เจริญรุ่งเรืองกว่า ซึ่งจากรัฐนี้เป็นต้นไปจนถึงสนามสุดท้าย เกือบทั้งหมดหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการแพ้ชนะ อยู่ที่ “เงินทุน” ในการหาเสียง ใครมีมากกว่าได้เปรียบ

เนื่องจากต้องอาศัยสื่อสารมวลชนเป็นหลัก โดยเฉพาะการซื้อเวลาโฆษณาทางทีวี ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก ถึงขณะนี้ในบรรดาผู้สมัครแข่งขันทั้ง 6 คนของรีพับลิกัน รอมนีย์อดีตนักธุรกิจระดับมหาเศรษฐีได้เปรียบ เพราะทุนหนากว่าทุกคนที่เหลือแซนทอรั่มที่เกือบเอาชนะรอมนีย์ได้ในสนามแรก แม้จะใช้เงินหาเสียงไปไม่เท่าไหร่ ระยะยาวอาจไปไม่รอด เพราะไม่มีเครือข่ายระดมทุนระดับชาติ ขณะที่กิงริชที่ประกาศจะคว่ำรอมนีย์ที่สนามนิวแฮมป์เชียร์ เงินทุนน้อยเช่นกัน ที่กระเป๋าหนักพอจะทุ่มสู้ได้มีรายเดียวคือ แพร์รี่ ผู้ว่าการรัฐเทกซัส แต่ผลจากการโหวตสนามแรกรัฐไอโอวา ได้รองบ๊วยอันดับ 5 แสดงให้เห็นว่าความนิยมตกต่ำลง น่าจะไปได้ไม่ไกล

การตรวจสอบของสำนักข่าวเอพี รอม นีย์มีเครือข่ายผู้บริจาคอยู่ทั่วประเทศ ระดมทุนได้กว่า 32 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 จบสนามแรกไอโอวาหมดเงินค่าหาเสียงไปแล้วกว่า 17 ล้านดอลลาร์ แซนทอรั่มกับกิงริชแต่ละคนควักไม่ถึง 1 ใน 6 ของรอมนีย์ ตั้งแต่ต้นปี 2554 กิงริชระดมทุนได้แค่ 3 ล้านดอลลาร์ แซนทอรั่ม 1 ล้านดอลลาร์กว่า ๆ แต่ล่าสุดข่าวว่าเงินบริจาคทางออนไลน์ของแซนทอรั่มกำลังไหลเข้า วันที่ 4 ม.ค. วันเดียวได้กว่า 1 ล้านดอลลาร์ และตลอดสัปดาห์นี้ ระดมทุนได้มากกว่าสัปดาห์ที่แล้วราว 3 เท่าตัว โดยผู้บริจาคส่วนใหญ่อยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย และรัฐฟลอริดา รอน พอล ตอนนี้มีทุนหาเสียงราว 12 ล้านดอลลาร์ ไม่มากไม่น้อย พอไปได้อีกหลายรัฐ แต่ข้อเสียอยู่ตรงจุดยืน ที่ออกไปในทางเสรีนิยม เหมือนพรรคเดโมแครตฝ่ายตรงข้าม ทำให้พลพรรครีพับลิกันไม่ปลื้มสักเท่าไหร่การเลือกตั้งครั้งนี้มีปรากฏการณ์ใหม่โผล่ขึ้นมา กลุ่มการเมืองภายนอก เรียกกันว่า “ซูเปอร์ พีเอซี” ทุ่มเงินช่วยผู้สมัครคนใดคนหนึ่งที่กลุ่มชอบ โดยการช่วยแบบไม่ผิดกฎหมาย รักษาความเป็นอิสระจากผู้สมัคร
ช่วงก่อนถึงการโหวตคอคัสที่รัฐไอโอวา กลุ่มนี้พยายามสกัดกิงริช ที่คะแนนนิยมกำลังนำหน้า จ่ายเงินค่าโฆษณาหาเสียงให้รอมนีย์ กับแซนทอรั่ม แบบฟรี ๆ เกือบ 5 ล้านดอลลาร์ คาดว่าการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารี่ในรัฐต่อ ๆ ไป ซูเปอร์ พีเอซี จะตามช่วยผู้สมัครอีก ส่วนจะช่วยใครเป็นหลัก หรือคนกลุ่มนี้เป็นใคร อีกไม่นานคงได้เห็นโฉมหน้านักวิเคราะห์บางส่วน เช่น ซีเอ็นเอ็น มองว่า เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012 หนนี้ พรรครีพับลิกัน “มีโอกาส” เอาชนะประธานาธิบดีของเดโมแครตได้ นับตั้งแต่ โรนัลด์ เรแกน โค่นเก้าอี้ จิมมี่ คาร์เตอร์ ได้เมื่อกว่า 30 ปีก่อน

เพียงแต่โอกาสจะน้อยลง หรืออาจถึงขั้นแพ้ หากท้ายที่สุดผู้ชนะได้เป็นตัวแทนพรรค ไปแข่งขันกับโอบามาคือ มิตต์ รอมนีย์ ที่คะแนนเริ่มนำหน้าในบรรดาผู้แข่งขันในขณะนี้
เพราะตามสายตาพลพรรครีพับลิกัน บุคลิกลักษณะและการปราศรัยของรอมนีย์จืดชืด ไม่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ แถมประวัติทางการเมืองของอดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ โดยเฉพาะแผนงานประกันสุขภาพของรัฐ ที่โอบามานำเอาไปเป็นแบบอย่าง การปฏิรูประบบประกันสุขภาพของรัฐบาล ออกแนวเสรีนิยมมากเกินไป กลุ่มอนุรักษนิยมเหนียวแน่นของรีพับลิกันรับไม่ได้ อันนี้ว่ากันโดยรวมระดับชาติ

ส่วนแพร์รี่อนุรักษนิยมของแท้ ทั้งด้านนโยบายการเงินและศาสนา แต่จะยากลำบากในการดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้ลงคะแนนที่ไม่ฝักใฝ่พรรคใด ซึ่งรีพับลิกันจำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนส่วนนี้มากที่สุด เพื่อให้ชนะในการเลือกตั้งทั่วไป

อีกประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา นอกจาก 6 คนนี้แล้ว จะมีคนโดดเข้าร่วมขบวนแข่งขันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันอีกหรือไม่ ? เพราะเท่าที่เห็น ยังไม่มีใครโดดเด่นพอจะมั่นใจได้ว่า สามารถเอาชนะโอบามาได้ไม่ยาก ประเด็นนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่า โอกาสที่จะมีเพิ่มไม่ถึง 10%ชื่อที่ถูกพูดถึงมากที่สุด และเชื่อว่าน่าจะตัดสินใจโดดเข้าร่วม หากในช่วง 2-3 เดือนเดือนข้างหน้า ยังไม่มีผู้เสนอตัวแข่งขันรายใดโดดเด่นพอจะคว่ำโอบามาได้ คือนายคริส คริสตี ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ วัย 48 ปี ที่เพิ่งจะรับตำแหน่งผู้ว่าฯ เมื่อปีที่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้คริสตีให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ยังไม่พร้อมจะเป็นประธานาธิบดี และล่าสุดประกาศให้การสนับสนุนรอมนีย์แล้วข่าวว่า นายพอล ไรอัน ส.ส.รัฐวิส คอนซินวัย 41 ปี ได้รับการทาบทามจากแกนนำระดับสูงของพรรครีพับลิกัน ให้ลงสมัครแข่งขัน และเจ้าตัวกำลังพิจารณา แต่รายนี้เคยเป็นข่าวดัง จากความพยายามยกเครื่องแผนประกันสุขภาพคนชราของรัฐบาล จนถูกประท้วงในวงกว้างแถมยังเคยแหกมติพรรค ยกมือในสภาคองเกรส สนับสนุนแผนกอบกู้อุตสาหกรรมยานยนต์ และโครงการกอบกู้ธนาคารมูลค่า 700 พันล้านดอลลาร์ ของโอบามา ที่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษนิยม อีกรายที่อาจเข้าร่วมขบวนด้วย คือนายรูดี กุยเลียนี อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ซึ่งเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้วในปี 2551 หมดเงินไป 55 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่สำเร็จ ตอนนี้กำลังชั่งใจลองอีกครั้งดีหรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่า มีโอกาสน้อยที่กุยเลียนี
จะเข้าร่วม ด้วยเหตุผลหลักจุดยืนในประเด็นต่าง ๆ ทางด้านสังคมออกไปทางซ้าย สวนทางกับแนวของรีพับลิกันส่วนใหญ่.

สุพจน์ อุ้ยนอก @เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: