หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

ปฏิบัติการเช็กบิลอาร์โรโย


คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยและคณะ เดินทางเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ หนึ่งในเพื่อนบ้านอาเซียนของเราเมื่อวันก่อน ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองระดับองศาเดือดของที่โน่น ซึ่งกรณีนี้แม้จะเป็นคนละเรื่อง คนละวาระกับการไปเยือน แต่เชื่อว่าคุณปูคงได้รับรู้สถานการณ์ รวมทั้งเบื้องหลังเบื้องลึกบ้าง ไม่มากก็น้อยวุฒิสภาฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลา เพิ่งเริ่มกระบวนการถอดถอน หรือ อิมพีชเมนต์ นายเรนาโต โคโรนา ประธานศาลฎีกา ออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ตามข้อกล่าวหาทุจริต ประพฤติมิชอบในตำแหน่งหน้าที่ รวม 8 กระทง ถือเป็นประมุขฝ่ายตุลาการคนแรก ในประวัติศาสตร์วงการยุติธรรมของประเทศ ที่ถูกดำเนินการถอดถอนจากตำแหน่งการเล่นงานโคโรนาเป็นผลพวงสืบเนื่องจากการดำเนินคดีอาญาต่ออดีตประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ผู้นำคนที่แล้ว โดยรัฐบาลของ ประธานาธิบดีเบนิกโน “นอยนอย” อาคีโน ที่ 3 ผู้นำคนปัจจุบัน ในข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นโกงการเลือกตั้งโคโรนาซึ่งถูกกล่าวหาว่าขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ช่วยเหลืออาร์โรโยเรื่องคดีความในศาลหลายคดี รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ได้รับการแต่งตั้งจากอาร์โรโยให้เป็นประธานศาลฎีกา หลังจากอาร์โรโยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2553 ได้แค่ 2 วันอาร์โรโยประธานาธิบดีคนที่ 14 ของฟิลิปปินส์ และเป็นผู้นำ 2 สมัย สมัยแรกตอนเป็นรองประธานาธิบดี ได้ขยับเลื่อนชั้นตามรัฐธรรมนูญ หลังจากประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา ถูก “พลังประชาชนภาค 2” เดินขบวนขับไล่ จนต้องลาออกจากตำแหน่ง อาร์โรโยทำหน้าที่แทนตั้งแต่ 20 ม.ค. 2544 จนครบวาระที่เหลือในปี 2547 คราวนี้เธอลงเลือกตั้งเป็นตัวหลัก และชนะได้เป็นประธานาธิบดีเต็มภาคภูมิ และอยู่ได้ครบวาระ 6 ปี ถึง 30 มิ.ย. 2553


การเล่นงานย้อนหลังอาร์โรโย เริ่มขึ้นหลังจากอาคีโนประกาศแผนกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชั่น อาร์โรโยซึ่งช่วงหลังล้มป่วยด้วยโรคกระดูกไขสันหลัง พยายามจะเดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศ แต่รัฐบาลมองว่าเธอมีแผนหลบหนีคดีความที่กำลังจะมาถึงตัว และเสนอให้รักษาในประเทศ โดยรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่าย หาหมอผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ อาร์โรโยพร้อมครอบครัวและคณะ ถูกขัดขวางขณะจะขึ้นเครื่องบินเดินทางออกต่างประเทศ ที่สนามบินกรุงมะนิลาช่วงกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และต่อจากนั้นไม่กี่วัน ตำรวจยกโขยงนำหมายจับไปมอบให้เธอ ที่โรงพยาบาลในกรุงมะนิลา ตามด้วยการตั้งข้อหาทุจริตเลือกตั้ง ส.ว. ในปี 2550 และยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลตอนนี้อาร์โรโยถูกกักบริเวณอยู่ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ในเกซอนซิตี้ รอวันนัดหมายขึ้นสู้คดีในศาล

แต่ดูเหมือนการถอดถอนโคโรนา จะได้รับความสนใจจาก ชาวปินอยมากกว่า เพราะเป็นการเผชิญหน้าแบบแตกหัก ใครดีใครอยู่ ระหว่างประมุขของ 2 สถาบันหลัก ฝ่ายบริหารกับตุลาการ โดยการไต่สวนพิจารณาใช้วุฒิสภาเป็นศาล และ ส.ว. ผ่านการคัดเลือก 23 คน ทำหน้าที่เป็นองค์คณะตุลาการ กว่าจะรู้ผลคาดว่าต้องใช้เวลานานหลายเดือนความขัดแย้งเหล่านี้ มองภายนอกเหมือนจะเป็นการตามล้างตามเช็ดกันตามธรรมดา ของการเมืองต่างพรรคต่างฝ่าย แต่เบื้องหลังเบื้องลึกตามที่เพื่อนนักข่าวปินอยคุ้น ๆ กันหลายคน ที่โน่นเล่าให้ฟัง ที่จริงเรื่องนี้เป็นอีกความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ สหรัฐ-จีน ที่พยายามช่วงชิงพันธมิตรในภูมิภาคเป็นที่รู้กันดีว่าฟิลิปปินส์คือหนึ่งในพันธมิตรเหนียวแน่น ระดับซี้ปึ้กแถวหน้าของสหรัฐมายาวนานในย่านนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐเคยมีฐานทัพอากาศคลาร์ค ที่เมืองแองเจลีสในฟิลิปปินส์ เป็นฐานที่ตั้งทางทหารขนาดใหญ่สุดของกองทัพสหรัฐในต่างแดน พอฐานทัพคลาร์คปิดลงในปี 2534 ฐานทัพเรือสหรัฐที่อ่าวซูบิค ขึ้นครองตำแหน่งนี้แทนจนถึงปัจจุบันผู้นำปินอยทุกคนล้วนสนิทสนมกับวอชิงตัน จนมาถึงยุคของนางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีคนที่ 14 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป มังกรจีนรุกเข้ามาตีกิน เบียดแทรกอิทธิพลของสหรัฐในฟิลิปปินส์ได้สำเร็จ

การตั้งข้อหาคดีอาญา ฐานทุจริตคอร์รัปชั่น ชุดที่ 2 ต่ออาร์โรโย มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยหยิบยกเอาเรื่องอื้อฉาวในปี 2550 การฮั้วประมูลโครงการติดตั้งเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (เอ็นบีเอ็น) ของฟิลิปปินส์ ซึ่งรัฐบาลของนางอาร์โรโยเสนอให้สร้าง เพื่อเชื่อมต่อทุกหน่วยงานของรัฐบาลเข้าด้วยกัน

การประมูลเอ็นบีเอ็นมี 3 บริษัทเข้าร่วมแข่งขัน คือ 1. จงซิง เทเลคอมมิวนิเคชั่น อิควิปเมนต์ (เซดทีอี) ของรัฐบาลจีน 2. อัมสเตอร์ดัม โฮลดิ้ง บริษัทท้องถิ่น ที่มีบริษัท หัวเหว่ย เทค ของจีน หนุนหลัง และ 3. แอริสคอม บริษัทการสื่อสารโทรคมนาคมของสหรัฐ ซึ่งตามข่าวบอกว่าเสนอราคาต่ำกว่า 2 บริษัทคู่แข่งเยอะเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ส่งจดหมายถึงอาร์โรโย เรียกร้องให้พิจารณาทุกข้อเสนออย่างเป็นธรรมและโปร่งใส แต่สุดท้ายเซดทีอีคว้าชัยชนะ ส่งผลให้ผู้บริหารของอัมสเตอร์ดัม โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นลูกชายประธานสภาผู้แทนฯ หลายสมัย ออกมาโวยวาย มีการทุจริตเรียกรับเงินสินบน แฉถึงขั้นบรรลุข้อตกลงคว้าประมูลกันระหว่างการออกรอบเล่นกอล์ฟสื่อฟิลิปปินส์ประโคมข่าวเรื่องอื้อฉาวอยู่พักใหญ่ โดยแทบจะไม่เอ่ยถึงแอริสคอมซึ่งเงียบหาย แต่หารู้ไม่ว่า การที่อาร์โรโยให้บริษัทของรัฐบาลจีน ชนะบริษัทของสหรัฐ คว้าประมูลระบบสาธารณูปโภคมูลค่ามหาศาล เป็น “แต้มสะสม” ที่รัฐบาลสหรัฐนับบวกไว้ในใจ

ในปีเดียวกัน บริษัทไชน่า สเตท กริด ของทางการจีน คว้าประมูลการดำเนินการโครงข่ายพลังงาน ทรานส์โค มูลค่า 3,905 ล้านดอลลาร์สหรัฐของรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้อีก โดยเอาชนะคู่แข่งคือบริษัทซาน มิเกล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งบริษัทเท็กซัส แปซิฟิก กรุ๊ป (ทีพีจี) ของสหรัฐ ขอเอี่ยวด้วย 35% ปัจจุบันทีพีจี กลายเป็น ทีพีจี แคปปิตอล หนึ่งในบริษัทหุ้นสามัญขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เชี่ยวชาญด้านใช้เงินกู้ซื้อหุ้นบริษัทต่าง ๆ เพื่อเข้าไปควบคุมกิจการบันทึกลับทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่เว็บไซต์จอมแฉ วิกิลีคส์ นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ในส่วนของฟิลิปปินส์มีการกล่าวถึงการประมูล ทรานส์โค นี้ด้วย โดยระบุว่า เออร์เนสต์ บาวเออร์ ประธานบริษัททีพีจี เข้าพบหารือกับทูตใหญ่สหรัฐประจำฟิลิปปินส์ หลังมีข่าวลือหนาหูเกี่ยวกับการทุจริตการประมูล โดยกลุ่มคนในรัฐบาลของอาร์โรโย แต่สุดท้ายความพยายามเตือนสติชี้แนะของสหรัฐ ก็ไม่เป็นผลเช่นเดียวกับการประมูลเอ็นบีเอ็น

ปัจจุบันบาวเออร์เป็น ผอ.ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) องค์กรคลังสมองสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายเอเชียของรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยเฉพาะนโยบาย “จักรวรรดินิยมเชิงรุก” ต่อต้านจีน

ยังมีอีกหลายโครงการใหญ่ ที่บริษัทจากจีนพาเหรดเข้ามาคว้าสัญญาในฟิลิปปินส์ ในจำนวนนี้รวมถึง การประมูลโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ นอร์ธเรล ระยะทาง 90 กม. ช่วงปลายปี 2547 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนใหญ่สุดของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้นอาคีโนเปิดฉากรุกเล่นงานอาจารย์เก่าอย่างหนักในรอบปีที่ผ่านมา โดยทุกเรื่องได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลสหรัฐ เจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐในฟิลิปปินส์ จะสืบเสาะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของข้าราชการทหารตำรวจระดับสูงของฟิลิปปินส์ ที่มีสายสัมพันธ์กับอาร์โรโย ส่งไปให้วอชิงตัน เพื่อทำการจัดระบบข่าวว่าวันที่อาคีโนประกาศจะฟ้องอาร์โรโย เป็นคดีอาญาฐานทุจริต ช่วงนั้นกำลังตึงเครียดรอบใหม่ ระหว่างจีนกับหลายประเทศ รวมทั้งฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับปัญหาในน่านน้ำทะเลจีนใต้ พล.ร.อ.โรเบิร์ต วิลลาร์ด ผบ.กองเรือแปซิฟิก กองทัพเรือสหรัฐ เข้าพบหารืออาคีโนในกรุงมะนิลา ให้คำมั่นจะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารเพิ่มเติมแก่ฟิลิปปินส์

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของมหาอำนาจสหรัฐอีกครั้ง ในการรักษาผลประโยชน์ และแข่งขันอิทธิพลกับคู่แข่งในต่างแดน เชื่อว่าการเล่นงานอาร์โรโย 2 ชุดนี้ถ้าเอาไม่อยู่ ยังจะมีมาตรการอื่น ๆ ที่หนักกว่าตามมาอีก ในส่วนของไทยเรา ซึ่งเป็นอีกสนามสำคัญของการแข่งอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐ กรณีการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ติดบัญชีดำของสหรัฐ ใน ครม. ปู 2 กับล่าสุดที่รัฐบาลไทยให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ รัฐบาลสหรัฐจะนับเป็น “แต้มสะสม” หรือเปล่าไม่ทราบ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า สหรัฐกับอิสราเอลต่อต้านเรื่องนี้อย่างรุนแรงมาตลอด และถือเป็นเรื่องใหญ่มากในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ.

สุพจน์ อุ้ยนอก

ไม่มีความคิดเห็น: